ถอดบทเรียนข้อมูลลวงจากการเลือกตั้งจากสหรัฐฯ ถึงประเทศไทย

ในวาระวันตรวจสอบข่าวลวงโลก 2566

2  เม.ย. 2566 โคแฟค (ประเทศไทย) ร่วมกับ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) สถาบันเชนจ์ฟิวชั่น Centre for Humanitarian Dialogue (HD) มูลนิธิฟรีดริชเนามัน (ประเทศไทย) สภาการสื่อมวลชนแห่งชาติ  สภาองค์กรของผู้บริโภค และ POLITIFACT สถานทูตสหรัฐอเมริกา ประจำประเทศไทย จัดสัมมนาแลกเปลี่ยนบทเรียนระหว่าง โคแฟค (ประเทศไทย) และ PolitiFact ( Cofact x PolitiFact towards Debunking Mis/Disinformation on International Fact-Checking Day 2023)  เนื่องในวาระวันตรวจสอบข่าวลวงโลก 2566 

สุภิญญา กลางณรงค์ ผู้ร่วมก่อตั้ง โคแฟค (ประเทศไทย) กล่าวเปิดงาน ระบุว่า ทุกๆ วันที่ 2 เมษายน ของทุกปี เป็นวันตรวจสอบข่าวลวงโลก ซึ่งเป็นวันถัดมาจากวันโกหกโลก (April Fool’s Day) หรือวันที่ 1 เมษายน ของทุกปี แต่ในยุคดิจิทัล เมื่อใดที่เข้าสู่โลกออนไลน์ก็มีโอกาสถูกหลอกได้ทุกวัน   ซึ่งความสะดวกสบายของเทคโนโลยีการสื่อสาร รู้ทุกเรื่องรอบโลกได้พร้อมกัน  ต้องแลกมากับปัญหาข้อมูลลวง คำถามที่ต้องคิดต่อไปคือจะรับมือกับเรื่องนี้อย่างไร

“วันนี้เป็นโอกาสดีในการจัดงาน เพื่อที่ตระหนักในการรู้เท่าทันข้อมูลข่าวสาร โดยเฉพาะวาระวันตรวจสอบข่าวลวงโลก หรือ International Fact-Checking Day ที่ทั่วโลกก็ตื่นตัวเรื่องนี้มากขึ้น แล้ววันนี้เราจัดเป็นปีที่ 3 แล้ว   วันนี้เรามีโอกาสได้ฟังบทเรียนจากสหรัฐอเมริกา องค์กรอย่าง POLITIFACT ซึ่งก็เป็นแรงบันดาลใจให้โคแฟคทำงานการตรวจสอบข่าวด้วย แม้ว่าเรายังไม่สามารถทำได้ดีเท่า  แต่ก็หวังว่าในอนาคตเราจะได้รับความเชื่อถือ และสามารถตรวจสอบข่าวอย่างเข้มข้นเหมือน PolitiFACT ได้ เพื่อถ่วงดุลระหว่างเสรีภาพและความรับผิดชอบในการสื่อสาร” สุภิญญา กล่าว

เบญจมาภรณ์ ลิมปิษเฐียร ผู้ช่วยผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวว่า ในปีนี้มีการเลือกตั้งซึ่งก็ใกล้เข้ามาเรื่อยๆ จึงเป็นโอกาสดีของการเข้ามาช่วยกันสอดส่องเฝ้าระวังเพื่อสกัดกั้นข่าวลวง รวมถึงส่งเสริมศักยภาพคนไทยในการเป็นผู้ตรวจสอบข่าวลวง ซึ่ง สสส. สนับสนุนการทำงานของโคแฟคมาตั้งแต่ปี 2563 ถึงปัจจุบัน เพราะ สสส. เห็นความสำคัญในการพัฒนาคนทุกวัยให้เป็นพลเมืองดิจิทัล ไม่ว่าจะเป็นความรอบรู้ด้านสุขภาพ การรอบรู้เท่าทันสื่อสารสนเทศและดิจิทัล หรือที่เราใช้คำว่า MIDL ให้ทุกคนมีขีดความสามารถในด้านนี้

“ที่สำคัญคือ ผู้รับสื่อสามารถตัดสินใจเพื่อจะทำให้เกิดระบบนิเวศที่สมดุลมากขึ้น เพราะถ้ามีแต่ผู้ส่งแล้วเราไม่ช่วยกันตรวจสอบ ผู้รับจะสับสนและมึนงง  การที่ผู้รับสื่อมาร่วมเป็นส่วนหนึ่งของการดำเนินงาน Cofact  ไม่ใช่แค่ตรวจสอบข้อมูลถูกผิดจากฐานข้อมูลแต่เพียงอย่างเดียว แต่ยังทำให้ประชาชนมีศักยภาพในการเรียนรู้เป็นผู้ตรวจสอบข่าวด้วยตนเองได้เช่นกัน” ผู้ช่วยผู้จัดการกองทุน สสส. กล่าว

หลุยส์ เจค็อบสัน (Louis Jacobson) ผู้สื่อข่าวอาวุโสของ POLITIFACT บรรยายหัวข้อ หักล้างความเข้าใจผิดและการบิดเบือนข้อมูลทางการเมือง : บทเรียนของ PolitiFact ที่ได้เรียนรู้จากการเลือกตั้งของสหรัฐอเมริกา (Debunking Political Mis and Disinformation: PolitiFact’s Lessons Learned from the U.S. Election.) กล่าวว่า ในการตรวจสอบข้อเท็จจริงของข้อมูลข่าวสารที่เกี่ยวกับการเลือกตั้ง จะมีการให้คะแนนจากมากไปน้อย ตั้งแต่เป็นข้อมูลจริงและครบถ้วน (True ) , ข้อมูลจริงแต่ยังมีบางส่วนต้องชี้แจงเพิ่มเติม( Mostly True)   ข้อมูลจริงครึ่งหนึ่งแต่อีกครึ่งคือรายละเอียดสำคัญหายไป ( Half True)   ข้อมูลจริงบางส่วนแต่เพิกเฉยต่อข้อเท็จจริงสำคัญซึ่ง สุ่มเสี่ยงทำให้เกิดความเข้าใจผิดได้ (Mostly False) และ ข้อมูลเท็จทั้งหมด  (False)  แต่ยังมีอีกระดับคือ Pants on Fire หมายถึงการให้ข้อมูลอย่างประมาทเลินเล่อ

ตัวอย่างรายงานข่าวของ POLITIFACT เช่น ในช่วงการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ เมื่อเดือน พ.ย. 2563 ระหว่าง โดนัลด์ ทรัมป์ (Donald Trump) จากพรรครีพับลิกัน และโจ ไบเดน (Joe Biden) จากพรรคเดโมแครต ในวันแรกของการนับคะแนนซึ่งยังไม่สามารถชี้ชัดได้ว่าใครจะชนะการเลือกตั้ง แต่ทรัมป์ได้ประกาศไปแล้วว่าตนเองชนะการเลือกตั้ง ทำให้ต้องรีบเขียนบทความอธิบายกระบวนการนับคะแนนออกมาเผยแพร่ให้ประชาชนเข้าใจตั้งแต่ช่วงเช้ามืด ซึ่งผู้แข่งขันทั้ง 2 ยังไม่มีทางรู้ว่าใครจะชนะ ดังนั้นการประกาศชัยชนะของทรัมป์ในเวลานั้นจึงเป็นเรื่องโกหก

หรือกรณีของการกล่าวอ้างความคิดเห็นของใครสักคนในสื่อสังคมออนไลน์อย่างอินสตาแกรม แล้วมีการแชร์ต่อจำนวนมากว่า สหรัฐฯ เคยนับคะแนนได้แล้วเสร็จอย่างรวดเร็วเพียงคืนเดียวหลังวันเลือกตั้งในทุกมลรัฐ แต่เพิ่งจะมีปัญหาเมื่อช่วงไม่กี่ปีล่าสุด แต่จากการตรวจสอบให้อยู่ที่ระดับ Mostly False มีข้อมูลจริงบางส่วนแต่เพิกเฉยต่อข้อเท็จจริงสำคัญ กล่าวคือ ในอดีตการนับคะแนนทำได้รวดเร็วจริงพราะส่วนใหญ่นับจากหน่วยเลือกตั้ง แต่ระยะหลังๆ มีการใช้สิทธิ์ผ่านการส่งบัตรเลือกตั้งทางไปรษณีย์มากขึ้น จึงต้องมีขั้นตอนยืนยันตัวตนของผู้มีสิทธิ์เลือกตั้ง

“ในช่วง 3-4 สัปดาห์หลังการเลือกตั้ง เรามีการตรวจสอบข้อเท็จจริงทุกวัน เพราะทรัมป์ไปโต้แย้งในศาลด้วย แล้วก็มีทนายความออกมาพูดเรื่องนั้นเรื่องนี้อยู่ตลอดเวลาว่าใครโกงการเลือกตั้ง เราก็เลยรู้สึกว่าเป็นสิ่งสำคัญที่เราจะต้องตีพิมพ์เรื่องนี้ และควรมีอย่างน้อย 1 บทความที่สรุปทุกสิ่งของหลายๆ เดือนก่อนการเลือกตั้งแต่ระหว่างการเลือกตั้งด้วยเช่นกัน” เจค็อบสัน กล่าว

นอกจากนี้ยังมีการเสวนาในหัวข้อ ความท้าทายในการรับมือข้อมูลลวงช่วงการเลือกตั้งของไทย โดย รศ.ดร.อัศวิน เนตรโพธิ์แก้ว ผู้ช่วยอธิการบดี สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) กล่าวว่า การเลือกตั้งคือการแข่งขันทางการเมือง จึงต้องมีการทำสงครามข่าวสาร และข้อมูลลวงก็คือการชวนเชื่อผ่านการสื่อสารและการโฆษณา และผลที่ได้นำไปสู่ทิศทางที่แตกต่างกันของมุมมองระหว่างผู้แพ้กับผู้ชนะ และแม้สหรัฐฯ กับไทยจะแตกต่างกันในหลายเรื่อง แต่อย่างหนึ่งที่เหมือนกันคือต้องการให้ประชาชนได้รับข้อมูลที่ถูกต้องเพื่อประกอบการตัดสินใจลงคะแนน

ทั้งนี้ หากเป็นข้อมูลข่าวสารที่เผยแพร่ผ่านสื่อดั้งเดิม หมายถึงสำนักข่าวที่มีความเป็นองค์กรวิชาชีพชัดเจน แม้จะมีประเด็นน่ากังวลแต่ก็ยังอยู่ในระดับปานกลาง แต่หากเริ่มแปรสภาพเป็นข้อมูลที่คนส่งต่อกันเองในวงกว้าง ความน่ากังวลก็อาจเพิ่มเป็นระดับมาก แต่การเลือกตั้งของไทยที่จะเกิดขึ้นในวันที่ 14 พ.ค. 2566 ก็อาจเป็นโอกาสเพราะประชาชนตื่นตัว โดยเฉพาะคนรุ่นใหม่ที่เพิ่งมีสิทธิ์เลือกตั้ง 

หรืออาจหมายความรวมถึงประชาชนตั้งแต่กลุ่มเจนเอ็กซ์-เจนแซด (อายุ 18 ปีขึ้นไปจนถึงราว 50 ปีเศษ) ขณะที่ผู้อาวุโสมีสัดส่วนน้อย การรับรู้ข้อมูลข่าวสารจึงมากเป็นพิเศษ โดยหากย้อนกลับไปในการเลือกตั้งปี 2554 เวลานั้นเพิ่งเริ่มมีแอปพลิเคชั่นไลน์ให้ใช้  ต่อมาในการเลือกตั้งในปี 2562 พบการใช้ทวิตเตอร์กันมาก แต่ล่าสุดในปี 2566 มีทั้งไลน์ ทวิตเตอร์ ติ๊กต๊อก พื้นที่สื่อสารจึงเปิดกว้างมาก และคนรุ่นใหม่ก็จะมีโอกาสเข้ามามีส่วนร่วมมากขึ้น

“กลุ่มคนที่มีส่วนเกี่ยวข้องโดยตรง ทั้งพรรคการเมือง ผู้ลงสมัครรับเลือกตั้ง กกต. หรือหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการเหล่านี้ อยากให้ยึดถือประโยชน์ส่วนรวม ยึดถือจรรยาบรรณของการเป็นผู้สมัครแข่งขันที่ดี พรรคการเมืองที่ดี ถ้ามองในแง่นี้ทุกคนคงไม่อยากถูกตราหน้าหรือประณามจากสังคม ดังนั้นก็ต้องทำในสิ่งที่เหมาะสมและที่ถูกที่ควร” รศ.ดร.อัศวิน กล่าว 

ปณิศา เอมโอชา ผู้สื่อข่าวตรวจสอบข้อเท็จจริง สำนักข่าว AFP ประจำประเทศไทย กล่าวว่า แม้จะมีข้อมูลข่าวสารเริ่มก่อกระแสจากแพลตฟอร์มติ๊กต๊อก แต่ในบริบทสังคมไทยปฏิเสธไม่ได้ว่าความเคลื่อนไหวจำนวนมากยังอยู่บนทวิตเตอร์ เฟซบุ๊ก รวมถึงแอปพลิเคชั่นแชทอย่างไลน์ ซึ่งมีข้อสังเกตว่า ข้อมูลผิดๆ ที่ถูกแชร์ออกไปจะมีความคล้ายคลึงกัน และคนที่แชร์ก็เชื่อข้อมูลนั้นจริงๆ ไม่ใช่มีแต่การทำปฏิบัติการข่าวสาร (Information Operation-ไอโอ) 

ที่น่าสนใจคือ ข้อมูลจำนวนมากเริ่มการเผยแพร่จากกลุ่มไลน์ก่อนกระจายสู่แพลตฟอร์มสื่อสังคมออนไลน์อื่นๆ อีกทั้งข้อมูลข่าวสารการเลือกตั้งยังตั้งอยู่กับเรื่องของอารมณ์-ความรู้สึก (ชอบ-ไม่ชอบ) ซึ่ง AFP จะตรวจสอบและหักล้างเฉพาะข้อมูลที่เป็นข้อเท็จจริง (Fact) เท่านั้น ไม่รวมถึงความคิดเห็น แต่ก็ต้องยอมรับว่า หลายครั้งเนื้อหาที่ไม่เป็นความจริงแพร่กระจายได้เร็วกว่าเนื้อหาที่หักล้างข้อมูลที่ไม่จริงนั้น แต่ก็มีบางเรื่องที่ไปได้รวดเร็ว เพราะมีสำนักข่าวอื่นๆ ช่วยนำไปกระจายต่อ ซึ่งเป็นสิ่งที่ดีและอยากให้ช่วยนำฐานข้อมูลที่ AFP ทำไว้ไปใช้ให้เกิดประโยชน์

“เราต้องเข้าใจว่าผู้รับสารมี 2 แบบ อันนี้พูดถึงในภูมิทัศน์การเลือกตั้ง คือ ผู้รับสารที่พร้อมจะเชื่อตัวบุคคลใดบุคคลหนึ่งไม่ว่าเขาจะพูดอะไรก็ตาม ที่เราต้องเข้าใจว่าเขาคือใครแล้วทำไมถึงเชื่อ บุคลิกแบบไหนที่ทำให้เขาเชื่อแบบนั้น แล้วใครจะเป็นผู้อ่านงานหักล้างข้อเท็จจริงของเรา คุณต้องเข้าใจ 2 ผู้รับสารนี้ก่อนเพราะเขาไม่เหมือนกัน การนำเสนอข้อเท็จจริงไม่ได้หมายความว่าคนจะเชื่อ แล้วข้อเท็จจริงอย่างเดียวก็ไม่ได้หมายความว่าจะมีประสิทธิภาพที่สุด ดังนั้นเราต้องเข้าใจว่าจะนำเสนอเขาต้องเข้าใจว่าเขามีความเชื่อแบบนี้  ซึ่งจะมีวิธีการนำเสนอที่แตกต่างกันออกไป  เพื่อให้เข้าถึงกลุ่มผู้รับสารที่มีลักษณะความเชื่อคนละแบบ” ปณิศา กล่าว

วงศ์พันธ์ อมรินทร์เทวา The101.world กล่าวว่า ข่าวลวงไม่มีทางกำจัดให้หมดไปได้เพราะเกิดขึ้นทุกนาทีโดยเฉพาะในยุคออนไลน์ แต่การตรวจสอบข้อเท็จจริงก็เป็นสิ่งที่ควรทำ และในกระแสโลกก็เน้นความร่วมมือของหลากหลายหน่วยงานในการรับมือ เพราะไม่สามารถทำโดยลำพังได้ ทั้งนี้ ข่าวลวงหลายเรื่องมีกระบวนการทำกันแบบเครือข่ายไม่ได้ออกมาเดี่ยวๆ และปฏิบัติการข่าวสารก็มีการทำในการเลือกตั้งของในประเทศ ซึ่งนอกจากสหรัฐฯ แล้วในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (อาเซียน) เช่น ฟิลิปปินส์ กลุ่มการเมืองต่างๆ มีการทำกันอย่างแพร่หลาย 

ดังนั้นการเลือกตั้งในไทยที่กำลังจะเกิดขึ้นก็คาดว่าจะต้องมีเช่นกัน และเริ่มได้เห็นไปบ้างแล้วในการเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) เมื่อปี 2565 พบทีมปฏิบัติการข่าวสารที่ปกติจะเคลื่อนไหวในการเมืองระดับชาติลงมาทำงานในสนามเลือกตั้งท้องถิ่นด้วย และลำพังตรวจสอบข้อเท็จจริงแม้จะเป็นเรื่องดีแต่อาจไม่พอ สิ่งที่ควรเพิ่มเติมคือการตีแผ่ให้เห็นการทำงานของเครือข่ายข่าวลวงทั้งหมด

“ต่างประเทศที่เห็นชัดๆ อย่างฟิลิปปินส์ จะมีสำนักข่าว Rappler หรือทางอินโดนีเซียจะมีองค์กรวิชาการ เขาผลิตสื่อที่เป็นการเน้นตีแผ่ให้เห็นรูปแบบว่า ไอโอพวกนี้มันมีการทำงานร่วมกันอย่างไร มันมีบัญชีเพจต้นทางเผยแพร่ข่าวปลอมเป็นใคร มีการส่งต่อเผยแพร่ข้อความกันอย่างไร มีบัญชีไหนเป็นผู้เล่นบ้าง และมีความพยายามสร้างวาทกรรมโน้มน้าวความคิดคนไปทางไหน และสุดท้ายจะไปถึงว่าใครอยู่เบื้องหลัง” วงศ์พันธ์ กล่าว

พริม มณีโชติ  จาก NitiHub กล่าวว่า ปฏิบัติการข่าวสารหรือไอโอ ยังมีความเฉพาะมาก เพราะทุกคนต่างมีห้องเสียงสะท้อน (Echo Chamber) เป็นของตนเองเนื่องจากหลายคนรับรู้โลกผ่านหน้าจอ ไม่เฉพาะคนรุ่นก่อนที่เติบโตมาในยุคสงครามเย็นและถูกปลูกฝังเรื่องความรักชาติสำคัญที่สุด แต่ระยะหลังๆ โดยเฉพาะโลกยุคหลังสถานการณ์โควิด-19 (Post-COVID) สภาวะนี้เพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ ด้วยซ้ำ 

โดยหากย้อนไปในช่วงก่อนหน้านั้น คนคนหนึ่งจะมีมากกว่าแค่โลกออนไลน์ เช่น สังคมในที่ทำงาน แต่ในช่วง 3 ปีของสถานการณ์โควิด-19 คือ 3 ปีที่สูญหาย หลายคนไม่มีโอกาสได้พบปะใคร ไม่มีโอกาสได้ฝึกงานหรือเรียนหนังสือแบบที่เจอกับคนด้วยกัน ดังนั้นเรากำลังเผชิญกับไอโอแบบที่แต่ละคนมีชุดข้อมูลด้านเดียวของตนเอง หรือปรากฏการณ์ห้องเสียงสะท้อน (Echo Chamber) จริงๆ ปัญหานี้ไม่ใช่การเข้าไม่ถึงอินเตอร์เน็ต แต่เป็นการอยู่กับอินเตอร์เน็ตแทบจะทั้งวันทั้งคืน  ดังนั้น Echo Chamber ไม่หายไปไหนและมีแนวโน้มจะรุนแรงขึ้น

“อย่างไรภายใต้ต้นไม้ต้นเดียวกันมันมี Echo Chamber ตลอดเวลาจริงๆ และเราทำอะไรไม่ได้นอกจากเราต้องไปหาเรื่องราว หรือค้นคว้าสิ่งที่นอกเหนือความสนใจของเราบ้าง ซึ่งมันเป็นเรื่องการต่อสู้เชิงข้อมูลจริงๆ เราไปตามแก้ทีละ Echo Chamber ไม่ได้จริงๆ” พริม กล่าว 

ดร.พิมพ์รภัช ดุษฎีอิสริยกุล ผู้จัดการโครงการมูลนิธิ Friedrich Naumann Foundation (FNF) กล่าวปิดการเสวนา ว่า ได้ฟัง POLITIFACT ตั้งแต่แรก รวมถึงวิทยากรอีกหลายท่าน เป็นอีกวันที่ทำให้งานของโคแฟค ที่พยายามทำเรื่องข้อมูลบิดเบือนทางการเมืองได้เห็นเป็นรูปธรรมและได้มาแบ่งปันประสบการณ์ โดยวิทยากรยังได้เล่าถึงประสบการณ์ทางการเมือง มีการยกตัวอย่างข่าวลวงที่เกิดขึ้นในฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย ซึ่งจริงๆ ยังมีที่มาเลเซียด้วย

คิดว่าประสบการณ์จากต่างประเทศ เราสามารถที่จะเอามาเป็นให้เห็นเทรนด์ว่าแต่ละประเทศเขาจัดการรับมือกับข่าวลวงทางการเมืองได้อย่างไร ส่วนประเทศไทยเองเทรนด์ที่เราเห็นก็ไม่น่าจะแตกต่างกันเยอะ แล้วตอนนี้เราเริ่มเห็นข้อมูลคลาดเคลื่อน (Misinformation) ที่ออกมาในช่วงรณรงค์หาเสียงเลือกตั้ง มีนัยสำคัญ และวันนี้ก็ได้บทเรียนและให้ข้อเสนอแนะ การตั้งสติรับมือก่อน ไม่พร้อมจะเชื่อกับอะไรที่เราเห็น อันนั้นน่าจะเป็นจุดร่วมจุดหนึ่งที่วันนี้ได้ฟังวิทยากรทั้ง 4 ท่าน ดร.พิมพ์รภัช กล่าว

-/-/-/-/-/-/-/-/-/-/-