เมื่อต่างฝ่ายต่างปล่อยข่าวปลอม แล้วเราต้องรู้ทันข่าวปลอมทางการเมืองอย่างไร? [ส่องสื่อ X Cofact Ep.1]

บทความ
เนื้อหาเป็นจริง


เมื่อต่างฝ่ายต่างปล่อยข่าวปลอม แล้วเราต้องรู้ทันข่าวปลอมทางการเมืองอย่างไร? [ส่องสื่อ X Cofact Ep.1]

กฤตนัน ดิษฐบรรจง

บทความชุดนี้ได้รับความร่วมมือในการร่วมผลิตระหว่างทีมกองบรรณาธิการเว็บไซต์ส่องสื่อ , COFACT ซึ่งเป็นแพลตฟอร์มสำหรับตรวจสอบข่าวปลอมในประเทศไทย และมูลนิธิฟรีดริช เนามัน (Friedrich Naumann Foundation for Freedom) ประเทศไทย

ขอบคุณที่มา เวบไซต์ส่องสื่อ

จากสถานการณ์ทางการเมืองตั้งแต่ปี 2563 ที่ผ่านมา และในปีนี้ที่มีทีท่าที่ดุเดือดมากขึ้นเรื่อย ๆ สิ่งหนึ่งที่เราจะได้พบเจอกันเลยก็คือ “ข่าวปลอม” ที่ถูกปล่อยมาจากทั้งสองฝั่งสองฝ่าย แล้วคำถามคือเราจะรับมือกับข่าวปลอมจากทั้งสองฝั่งอย่างไร? หรือเราจะรู้ทันข่าวปลอมอย่างไร วันนี้ทีมกองบรรณาธิการเว็บไซต์ส่องสื่อ ร่วมกับ COFACT เราจะมาร่วมตรวจสอบข่าวปลอมและแนวทางของแต่ละฝ่ายต่อข่าวปลอมกันครับ

แอคปลอม – สร้างให้เหมือนแล้วปล่อยข่าวลวง

การสร้างแอคปลอม ซึ่งย่อมาจาก Fake Account นั้นเกิดขึ้นกับทุกวงการ ไม่ว่าจะเป็นวงการดารานักแสดง วงการข่าว หรือแม้กระทั่งวงการนักเคลื่อนไหวทางการเมือง ซึ่งโดยปกติเรามักจะเจอในต่างประเทศ แต่ในช่วงการชุมนุมทางการเมืองเมื่อปี 2563 เรามักจะได้พบเจอกับแอคปลอมเป็นจำนวนมาก โดยอาศัยช่องโหว่ ไม่ว่าจะเป็นการใช้ตัวสะกดที่ทำให้สับสน การสลับชื่อกัน ตลอดไปจนถึงการใช้รูปประจำตัวที่เหมือนกับทวิตเตอร์บัญชีที่เป็นทางการ และจงใจที่ปล่อยข่าวลวง

ข่าวปลอมที่กลุ่มนี้มักจะปล่อย นั่นก็คือ การทำรูปหรืออัตลักษณ์ทางกราฟิกให้เหมือนกับบัญชีอย่างเป็นทางการ และปล่อยข่าวต่างๆ ที่เกิดขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการยุติการชุมนุม การยอมแพ้ หรือแม้กระทั่งบิดเบือนคำบางอย่าง ซึ่งทั้งในการเลือกตั้งและการชุมนุมในรอบ 4 ปีที่ผ่านมา เรามักจะพบเจอกันบ่อยครั้ง

สิ่งที่บรรดานักท่องโลกออนไลน์ทำกันเลยก็คือ การที่แจ้งไปยังทุกๆ คนที่ท่องโลกออนไลน์อยู่ว่าข่าวนี้เป็นข่าวปลอม และมีการตามเช็คข้อมูลกันพอสมควร ทำให้เราเห็นว่าในโลกออนไลน์เองก็มีการรู้เท่าทันสื่อกันพอสมควร

บิดคำให้เข้าใจผิด – เอาคำคนนั้นมาที คนนี้มาที สร้างความเข้าใจผิดในวงกว้าง
อีกสิ่งหนึ่งที่ในโลกออนไลน์ทั้ง Facebook และ Twitter พบเจอกันเป็นจำนวนมาก คือการพบเจอ Quote คือการนำคำของคนที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็นนักการเมือง ผู้ชุมนุม แกนนำมาบิดคำทำให้เข้าใจผิดกัน นี่อาจจะเป็นสิ่งหนึ่งที่ใครหลายคนอาจจะไม่รู้เท่าทันข่าวปลอม จึงทำให้หลงเชื่อและเผยแพร่ข้อมูลไปโดยไม่รู้ตัว ผลกระทบที่ได้รับก็คือการถูกกลั่นแกล้ง ตลอดไปจนถึงการถูกโจมตีจากฝั่งตรงข้ามก็เป็นไปได้

สิ่งสำคัญที่ทำให้ Quote เหล่านี้ถูกเผยแพร่และได้รับความนิยม นั่นคือคำเหล่านั้นที่ถูกขึ้นอยู่บนรูปมักจะเป็นคำที่สังคมให้ความสนใจเป็นอย่างมาก ตลอดจนไปถึงคำเหล่านี้เป็นคำที่สังคมกำลังตั้งคำถามในช่วงนั้นๆ อยู่พอดี ทำให้ถูกเผยแพร่ไปในวงกว้าง โดยเฉพาะ Quote ที่ทางแต่ละสำนักข่าวได้ทำ ตลอดจนไปถึงกลุ่มต่างๆ ได้จัดทำขึ้น ซึ่งในยุคสมัยนี้นั้นการตรวจสอบว่าใครคือสื่อถือว่ายากแล้ว แต่การจะหาสื่อที่น่าเชื่อถือกลับยากยิ่งกว่า

ฉะนั้น การรู้เท่าทันสื่อที่สำคัญ คือการที่ต้องอาศัยการตรวจสอบ เช็คข้อมูลจากทุกฝั่งอย่างสม่ำเสมอ ตลอดไปจนถึงการรับฟังอย่างไม่มีอคติ แล้วใช้วิจารณญาณกลั่นกรอง ไม่กดแชร์เพียงเพราะความคิดในตอนนั้น แต่จงหาคำตอบจนแน่ใจแล้วว่าเป็นเรื่องจริง นั่นจะช่วยทำให้ข่าวปลอมประเภทนี้หายไป

รูปภาพถูกตัดต่อ – ตัดนี่ เสริมนั่น ช่วยทำให้คนเข้าใจผิดได้


อีกข่าวปลอมที่เป็นปัญหาอย่างมากเลยก็คือ การนำรูปมาตัดแต่งหรือเพิ่มบทความเข้าไป ทำให้เกิดความเข้าใจผิดได้ ซึ่งทั้งสองฝั่งที่ผ่านมามักมีการเสริมรูปบางส่วนหรือบางข้อความทำให้เกิดความเข้าใจผิดได้ และเกิดการแชร์ต่อกันในเชิงเสียดสี ซึ่งหลายคนในโลกออนไลน์ต่างก็หลงเชื่อและแชร์ต่อกันด้วยความเข้าใจผิด ทำให้ผู้ที่อยู่ในภาพเกิดผลกระทบได้

สิ่งที่เกิดขึ้นเลยก็คือ หลายคนในโลกออนไลน์ต่างก็จับผิด ตลอดไปจนถึงแก้ไขข้อมูลและนำภาพที่ถูกตัดต่อมาเปรียบเทียบกับรูปจริง ซึ่งศูนย์ตรวจสอบข่าวปลอมของสำนักข่าว AFP ประจำประเทศไทยก็ได้มีการตรวจสอบในหลายกรณี เช่น กรณีมารีญา พูลเลิศลาภ ถูกแต่งภาพทำให้เกิดความเข้าใจผิด รวมไปถึงกรณีของ พลเอก อภิรัชต์ คงสมพงษ์ อดีตผู้บัญชาการกองทัพบกที่ถูกแต่งภาพด้วยเหรียญจำนวนมากบนชุดของเขา

โพสต์ก็ปลอมได้ – พิมพ์ข่าวให้ดูน่าเชื่อถือ แล้วตบด้วยสร้างข่าวปลอม
อีกข่าวปลอมที่เกิดขึ้นเลยก็คือ การพิมพ์โพสต์ให้ดูน่าเชื่อถือ แต่แท้จริงแล้วไม่มีแหล่งอ้างอิงและเป็นข่าวปลอม ซึ่งทำให้เกิดปัญหาในการสื่อสารต่อ บางคนหลงเชื่อก็แชร์ต่อๆ ไป และยังทำให้เกิดความเข้าใจผิดในวงกว้าง โดยเฉพาะในกรณีที่มีผู้หลงเชื่อเป็นจำนวนมากนั้น ยิ่งส่งผลทำให้เกิดการเข้ามาแสดงความคิดเห็นเชิงสนับสนุนเป็นจำนวนมาก รวมไปถึงทำให้สื่อบางสำนักใช้ข้อมูลไปสร้างความแตกแยกให้เกิดขึ้น

สิ่งที่เราจะตระหนักและเท่าทันสื่อได้ก็คือ การไม่หลงเชื่อข้อมูลที่ไม่มีแหล่งอ้างอิง และตรวจสอบข่าวที่ได้รับเข้ามาเรื่อย ๆ เพื่อทำให้เราสามารถรับรู้ข่าวที่แท้จริงได้นั่นเอง เชน กรณีคำกล่าวอ้างเท็จถูกเผยแพร่ออนไลน์ว่าซีไอเอได้อนุมัติสถานะผู้ลี้ภัยทางการเมืองในสหรัฐฯ ให้กับแกนนำผู้ประท้วงไทย ซึ่งมีการตรวจสอบจาก AFP เช่นกันว่าไม่มีมูลความจริงแต่อย่างใด

รู้จักข่าวปลอมทั้ง 7 ประเภทที่ในทางการเมืองก็มีเช่นกัน
แน่นอนว่าข่าวปลอมจะเกิดขึ้นไม่ได้ ถ้าไม่มีผู้กระทำ แต่เราจะพาไปทำความรู้จักกับข่าวปลอมในแต่ละประเภทกันก่อนว่ามีความแตกต่างกันอย่างไรบ้าง?

ข่าวปลอมถูกแบ่งเป็น ข่าวล้อเลียนหรือเสียดสี ซึ่งข่าวเหล่านี้เน้นทำให้เกิดความตลก แต่ไม่ได้ตั้งใจให้เกิดความเสียหายกับใคร ซึ่งในบางครั้งก็อาจจะทำให้เกิดความเสียหายโดยที่ไม่รู้ตัวเช่นกัน เช่น กรณีที่พลเอก อภิรัชต์ คงสมพงษ์ อดีตผู้บัญชาการกองทัพบกที่ถูกแต่งภาพด้วยเหรียญจำนวนมากบนชุดของเขา นอกจากนั้นยังมีข่าวที่เชื่อมโยงมั่ว ๆ โดยเนื้อหา ภาพข่าวไม่ได้ไปด้วยกัน หรือไม่สอดคล้องกันแต่อย่างใด

ยังมีข่าวปลอมที่เกิดจากการตัดต่อ ดัดแปลง ซึ่งมีความจริงอยู่บ้าง แต่มีวัตถุประสงค์ในการลวงข้อมูลแก่ผู้รับสาร นอกจากนั้นยังมีข่าวที่สร้างความเข้าใจผิด ซึ่งข่าวนี้ส่วนใหญ่จะเกิดกับข่าวที่ยังไม่มีความแน่นอนแต่อย่างใด และมีเจตนาในการสร้างความเข้าใจที่ผิด และข่าวที่อยู่ผิดที่ ผิดทาง ผิดบริบท คือข่าวที่เชื่อมโยงเหตุการณ์ที่ไม่มีโอกาสเกิดขึ้นมานำเสนอในบริบทหนึ่ง นอกเหนือจากนั้นยังมีข่าวที่อ้างอิงจากแหล่งที่ไม่น่าเชื่อถือ และข่าวที่ปลอมมาทั้งหมด เกิดจากการมโนหรือแต่งเรื่องขึ้นนั่นเอง

ฉะนั้น สิ่งสำคัญที่ทำให้เรามีภูมิคุ้มกันต่อข่าวปลอมอย่างยิ่งโดยเฉพาะข่าวทางการเมือง คือการรู้และตรวจสอบให้แน่ใจว่าสิ่งที่เราแชร์ไปจริงหรือไม่? และใช้วิจารณญาณในการรับข่าวสารต่อไป เพื่อทำให้เราสามารถแน่ใจได้จริงๆ ว่าข่าวที่เรารับไปเป็นความจริง และไม่ตกเป็นเครื่องมือต่อกลุ่มการเมืองใดก็ตามนั่นเอง ถึงแม้ว่าเราจะมีความเชื่อทางการเมืองที่แตกต่างกัน แต่การไม่ตกเป็นเครื่องมือของข่าวปลอมย่อมดีที่สุด.

เรียบเรียงโดย กองบรรณาธิการเว็บไซต์ส่องสื่อ

คนใกล้ชิดของคุณ อาจตกเป็นเหยื่อของข่าวลวง หรือส่งต่อข่าวลวงบนอินเทอร์เน็ตโดยไม่รู้ตัว ร่วมด้วยชัวร์ก่อนแชร์ใช้ COFACT ตรววจสอบง่ายๆ ที่ https://cofact.org/ หรือ LINE Official Account : @Cofact

ที่มา :
https://factcheckthailand.afp.com/fake-twitter-accounts-impersonate-thai-pro-democracy-group-th
https://factcheckthailand.afp.com/ophstthiithamaihekhaaaicchphidthuukaechrnailnwaakhlipwidiioaesdngdiitnaaykrathmntriiphuudekiiywkabph
https://factcheckthailand.afp.com/khamphuudekiiywkabkaarprathwngttaanrathbaalainpraethsaithykhngrathmntriitaangpraethseyrmnii
https://factcheckthailand.afp.com/paayprathwngkhngdiitmisyuuniewirsaithyaelndthuuktadt
https://factcheckthailand.afp.com/image-has-been-doctored-include-more-medals-former-thai-army-chiefs-uniform-th
https://factcheckthailand.afp.com/misleading-claim-circulates-online-cia-has-granted-thai-protest-leaders-political-asylum-united-th