ทำความเข้าใจสถานการณ์โควิด-19 ก่อนช่วงเทศกาลสงกรานต์ COFACT Special Report #20

บทความ

ปัจจุบันสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ในไทยยังไม่มีทีท่าว่าจะลดลง แต่ข้อมูลผู้เสียชีวิตและป่วยหนักนับตั้งแต่ช่วงการแพร่ระบาดของสายพันธุ์โอมิครอน ตั้งแต่เดือนมกราคมที่ผ่านมาพอจะส่งสัญญาณว่า การแพร่ระบาดของโควิด-19 ระลอกนี้ ผู้ที่มีความเสี่ยงป่วยหนัก และเสียชีวิตมากที่สุด คือผู้สูงอายุ และผู้ที่มีโรคประจำตัว แต่ไม่ยอมเข้ารับการฉีดวัคซีน หรือไม่ได้รับการฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้น ส่วนประชาชนวัยหนุ่มสาวที่ฉีดวัคซีนครบแล้วเกือบทั้งหมดไม่ป่วยหนัก สามารถรักษาตัวได้เองที่บ้าน

English Summary

The COVID-19 pandemic in Thailand is still ongoing. On the bright side, most people who are fully vaccinated or boosted but got infected were not severely sick compare to those who are unvaccinated or those 60 years old or older with pre-existing conditions. Thai government and infected disease experts agree that Thailand must move forward to endemic stage, by treating COVID-19 patients who are vaccinated or have mild symptoms with home isolation and medication. Hospital beds will only be reserved for those who have severe symptoms. On March 18, Thai government announced preventive measures for tourists and Thai people to enjoy the Songkran’s holiday, by allowing outdoor events for the first time in two years. Event organizers must follow the preventive measures strictly, such as social distancing and mask wearing. The government also encourages people to get a third vaccination if they have not done so before they travel.

ด้วยเหตุนี้รัฐบาล และหน่วยงานด้านสาธารณสุขจึงค่อยๆ เริ่มปรับระบบการรักษาผู้ป่วยโควิด-19 จากเดิมที่ต้องเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล เป็นการรักษาตัวเองที่บ้าน (Home Isolation) ในกลุ่มผู้ป่วยที่อาการไม่รุนแรง และเปลี่ยนระบบรักษาผู้ป่วยโควิด-19 กลุ่มนี้แบบผู้ป่วยนอก เมื่อแพทย์พิจารณาแล้วว่าอาการไม่รุนแรง ก็สามารถรับยาไปรับประทานที่บ้านได้ (เจอ-แจก-จบ) ทำให้ระบบสาธารณสุขสามารถรองรับผู้ติดเชื้อได้มากขึ้น รวดเร็วขึ้น และการครองเตียงในโรงพยาบาลมีเฉพาะผู้ป่วยอาการหนักที่ต้องการการดูแลจากแพทย์โดยเฉพาะ ทำให้ถึงแม้ตัวเลขผู้ติดเชื้อรายวันจะสูงถึง 2 หมื่นกว่ารายต่อวัน แต่ก็ไม่ทำให้เตียงโรงพยาบาลเต็มเหมือนในช่วงที่มีการแพร่ระบาดในช่วงแรกๆ 

ดังนั้นจึงเป็นที่มาที่หน่วยงานภาครัฐเริ่มให้ประชาชนคุ้นเคยกับรูปแบบการรักษาแบบใหม่ ปรับความเข้าใจของโควิด-19 จากโรคระบาดหนัก เข้าสู่โรคประจำถิ่นเมื่อเหมาะสม 

และเมื่อเริ่มเข้าสู่ช่วงเทศกาลสำคัญ อย่างสงกรานต์ หลายๆ คนก็อยากจะทราบว่า เราจะกลับมาเล่นน้ำสงกรานต์เหมือนแต่ก่อนได้ไหม ผลการประชุมของ ศบค. เมื่อวันศุกร์ที่ 18 มีนาคม มีมติผ่อนปรนให้มีการจัดกิจกรรมช่วงเทศกาลสงกรานต์ในเดือนเมษายน ภายใต้มาตรการป้องกันโรคอย่างเคร่งครัด

คำถาม: สงกรานต์ปีนี้สามารถเล่นน้ำ และจัดกิจกรรมเฉลิมฉลองต่างๆ ได้หรือไม่

คำตอบ: ศบค. กำหนดมาตรการให้หน่วยงานต่างๆ สามารถจัดกิจกรรมสงกรานต์ในปีนี้ได้ แต่จะต้องปฏิบัติตามมาตรการด้านสาธารณสุขอย่างเคร่งครัด (เช่น การสวมหน้ากากอนามัย, เว้นระยะห่าง, จำกัดจำนวนคนตามขนาดของพื้นที่, มีการตรวจเอกสารรับรองการฉีดวัคซีน หรือ ATK เป็นต้น) โดยการจัดงานจะต้องจัดในสถานที่โล่งแจ้ง อากาศถ่ายเท ไม่อนุญาตให้จัดในอาคาร หรือสถานที่ปิด สามารถจัดแสดงดนตรีได้ โดยต้องขออนุญาตจากหน่วยงานราชการในพื้นที่

คำถาม: เมษายนนี้เราสามารถถอดหน้ากากอนามัยในสวนสาธารณะได้หรือยัง?

คำตอบ: มติของ ศบค. เมื่อวันที่ 18 มีนาคม ยังไม่อนุญาตให้ถอดหน้ากากอนามัยขณะทำกิจกรรมในสวนสาธารณะ 

คำถาม: หากเราจะเดินทางไปเที่ยวต่างประเทศในช่วงวันหยุดยาวเดือนเมษายนนี้ จะต้องเตรียมอะไรบ้าง? มาตรการ Test & Go ล่าสุดมีอะไรบ้าง

คำตอบ: มติของ ศบค. วันที่ 18 มีนาคม ปรับมาตรการเข้าประเทศ Test & Go สำหรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ และคนไทยที่เดินทางกลับประเทศ และฉีดวัคซีนครบ 2 เข็มแล้ว ไม่ต้องแสดงผลตรวจ RT-PCR ก่อนเดินทาง แต่จะต้องเข้ารับการตรวจ RT-PCR ในวันแรกที่เดินทางมาถึง และเข้าพักในโรงแรม SHA+ เพื่อรอผลตรวจจึงจะออกจากห้องพักเพื่อเที่ยว หรือเดินทางกลับบ้านหรือภูมิลำเนาได้ สำหรับการชำระค่าตรวจ RT-PCR สามารถสอบถามได้จากโรงแรม SHA+ ที่เข้าร่วมโครงการกับภาครัฐ เนื่องจากโรงแรมจะเป็นผู้รับผิดชอบในการรับผู้โดยสารจากสนามบิน และพาไปตรวจ RT-PCR กับโรงพยาบาลคู่สัญญา

คำถาม: สถานบันเทิงสามารถเปิดให้บริการตามปกติในเดือนเมษายนนี้หรือยัง?

คำตอบ: ยังเปิดไม่ได้ ศบค. ยังคงมาตรการเดิม ไม่อนุญาตให้สถานบันเทิงเปิดให้บริการ แต่สามารถปรับการให้บริการเป็นร้านอาหารได้ โดยจะต้องเปิดให้บริการตามเวลาที่ ศบค. และหน่วยงานท้องถิ่นกำหนด และจะต้องปฏิบัติตามมาตรการคัดกรองผู้เข้าใช้บริการอย่างเคร่งครัด 

คำถาม​: ถ้าช่วงนี้ฉันติดโควิด-19 จะต้องทำอย่างไร? ยังต้องไปนอนโรงพยาบาลอยู่หรือไม่?

คำตอบ: ปัจจุบันกระทรวงสาธารณสุขปรับมาตรการการตรวจรักษาโควิด-19 ใหม่ โดยเน้นการรักษาตัวเองที่บ้าน (Home Isolation) เป็นหลัก ผู้ป่วยสามารถติดต่อโรงพยาบาลในพื้นที่เพื่อขอรับยาไปรับประทานที่บ้าน หรือไปยังแผนกผู้ป่วยนอกเพื่อรับการตรวจวินิจฉัยจากแพทย์​ และรับยาไปรับประทานที่บ้าน หากผู้ป่วยเป็นกลุ่มเสี่ยง เช่น เป็นผู้สูงอายุ และมีโรคประจำตัว แพทย์จะเป็นผู้วินิจฉัยว่าจำเป็นต้องทำการรักษาต่อในโรงพยาบาลหรือไม่

คำถาม: ฉันจำเป็นต้องฉีดวัคซีนโควิด-19 เข็มกระตุ้นหรือไม่?

คำตอบ: จำเป็น เนื่องจากผลการศึกษาทางวิทยาศาสตร์หลายชิ้นระบุไปในทางเดียวกันว่า วัคซีนเข็มกระตุ้นช่วยลดอาการป่วยหนักและเสียชีวิตจากโควิด-19 สายพันธุ์โอมิครอน ซึ่งเป็นสายพันธุ์หลักที่แพร่กระจายในไทย 

คำถาม: ถ้าฉันเคยติดโควิด-19 มาแล้ว จำเป็นหรือไม่ที่ต้องฉีดเข็มกระตุ้น?

คำตอบ: จำเป็น ผลการศึกษาทางวิทยาศาสตร์หลายชิ้นระบุว่า ผู้ที่เคยติดเชื้อโควิด-19 เมื่อหายเป็นปกติแล้วจะมีภูมิคุ้มกันสูง อย่างไรก็ตามเมื่อระยะเวลาผ่านไป ภูมิคุ้มกันจะเริ่มตก โดยกระทรวงสาธารณสุขไทยแนะนำให้ผู้ที่ติดเชื้อโควิด-19 มาแล้วรับการฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นตั้งแต่ 3 เดือนขึ้นไปนับจากวันที่เคยติดเชื้อ


ที่มา: 

https://www.matichon.co.th/covid19/thai-covid19/news_3246210

https://www.komchadluek.net/covid-19/508747

https://www.bangkokbiznews.com/health/994918


เกี่ยวกับผู้เขียน

ธนภณ เรามานะชัย (ไมค์) Fact-checker และ คอลัมนิสต์ประจำ Cofact Thailand

ปัจจุบันทำหน้าที่วิทยากรด้านการตรวจสอบข้อมูลข่าวและเครื่องมือดิจิทัลด้านข่าวให้กับ Google News Initiative ก่อนหน้านี้เขาเป็นผู้ประกาศข่าวเทคโนโลยีให้กับสถานีโทรทัศน์วอยซ์ทีวี (Voice TV) และอดีตกรรมการสมาคมผู้สื่อข่าวต่างประเทศประจำประเทศไทย (FCCT) https://www.damikemedia.com