สรุปข่าวลวง ข่าวหลอก เกี่ยวกับเทคโนโลยี 5G Cofact Special Report #15
English Summary:
Major airlines around the world cancelled some flights to US last week due to the deployment of 5G technology near major US airports. Some airlines worry that the radio frequency spectrum (C-Band) the US telecommunication companies use is too close to the radio frequency uses in aircraft instrument, which is important for aircraft landing in low visibility. According to the Federal Aviation Authority, the radio band that AT&T and Verizon, two major telecommunication companies in the US use for 5G does not interfere with aircraft instrument, but many experts suggest that the FAA and Federal Communication Commission (FCC) should work together and came up with better solution earlier so both 5G and aviation safety can coexist.
เทคโนโลยี 5G เป็นเทคโนโลยีไร้สายล่าสุดที่กำลังเข้ามาแทนที่ระบบ 4G ความพิเศษของ 5G คือการรับส่งข้อมูลความเร็วสูงถึงระดับกิกะบิตต่อวินาที ช่วยให้การรับชมวิดีโอ และการถ่ายโอนข้อมูลขนาดใหญ่มีความรวดเร็วภายในพริบตา เปิดทางให้อุปกรณ์สื่อสารรูปแบบใหม่สามารถใช้งานร่วมกับเครือข่ายอินเทอร์เน็ตได้มากยิ่งขึ้น
การขยายเครือข่าย 5G อย่างรวดเร็วในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมาถูกนำไปเชื่อมโยงกับกลุ่มสร้างทฤษฎีสมคบคิด และผู้ไม่หวังดีที่แอบอ้างว่าเทคโนโลยี 5G เป็นส่วนหนึ่งของการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 หรือเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้เกิดสภาพแวดล้อมแปรปรวน ซึ่งล้วนแต่ไม่เป็นจริงทั้งสิ้น
แต่สิ่งที่บริษัทโทรคมนาคมกำลังเร่งตรวจสอบและแก้ไขก็คือคลื่นความถี่ 5G บางคลื่นอาจส่งผลกระทบต่อวิทยุการบิน และระบบนำร่องของเครื่องบิน จนเป็นเหตุให้สายการบินบางรายในสหรัฐฯ เขียนจดหมายถึงรัฐบาลกดดันให้บริษัทโทรคมนาคมขนาดใหญ่ชะลอการเปิดให้บริการคลื่นความถี่ 5G บางคลื่น โดยเฉพาะในบริเวณใกล้กับสนามบินขนาดใหญ่ เพื่อไม่ให้เป็นการรบกวนระบบนำร่องของเครื่องบิน
1. คลื่นความถี่ 5G รบกวนระบบนำร่องของเครื่องบิน: ยังพิสูจน์ไม่ได้
เมื่อไม่นานมานี้ สายการบินหลายแห่งในสหรัฐฯ และสายการบินต่างชาติบางแห่งยกเลิกเที่ยวบินเข้าสหรัฐฯ รวมทั้งเที่ยวบินเกือบทั้งหมดที่ให้บริการด้วยเครื่องแบบโบอิ้ง 777 หลังผู้ให้บริการเครือข่ายโทรคมนาคมรายใหญ่ เอทีแอนด์ที และเวอร์ไรซัน ยังคงเดินหน้าขยายโครงข่าย 5G บริเวณใกล้กับสนามบิน โดยสายการบินกังวลว่าย่านคลื่นความถี่ที่บริษัทโทรคมนาคมใช้จะรบกวนอุปกรณ์นำร่องของเครื่องบิน ซึ่งมีความสำคัญในการควบคุมเครื่องบินลงจอดในช่วงที่ทัศนวิสัยไม่ชัด
อย่างไรก็ตามสำนักงานการบินพลเรือนของสหรัฐฯ หรือ FAA ออกมายืนยันแล้วว่าคลื่นความถี่ที่บริษัทโทรคมนาคมในสหรัฐฯ ใช้ไม่ได้เป็นย่านเดียวกันกับคลื่นความถี่ที่ระบบสื่อสารและระบบนำร่องของเครื่องบินใช้ และอนุญาตให้สายการบินให้บริการเครื่องบินแบบโบอิ้ง 777 ในสนามบินของสหรัฐฯ ได้ต่อไป
แต่นั่นก็ไม่ได้ทำให้สายการบินคลายความวิตกกังวล เนื่องจากคลื่นความที่ C-Band ที่ใช้สำหรับเครือข่าย 5G ในสหรัฐฯ อยู่ในความถี่ระหว่าง 3.7-3.98 GHz ซึ่งใกล้เคียงกับย่านความถี่ที่ระบบนำร่องของเครื่องรุ่นโบอิ้ง 777 ใช้ ซึ่งเป็นความถี่ระหว่าง 4.2-4.4 GHz ด้าน FAA ระบุว่า FAA ได้ทำข้อตกลงกับสำนักงานกิจการโทรคมนาคมสหรัฐฯ หรือ FCC และผู้ให้บริการเครือข่ายมือถือให้มีการเพิ่มคลื่นความถี่บัฟเฟอร์ 200 MHz ขั้นระหว่างคลื่นความถี่ที่ใช้ส่งสัญญาณ 5G ไม่ให้รบกวนระบบนำร่องของเครื่องบิน และขอให้ผู้ให้บริการเครือข่ายติดตั้งเสาสัญญาณ 5G ห่างจากตัวสนามบินอย่างน้อย 2 ไมล์ และปรับการติดตั้งเสาสัญญาณไม่ให้ชี้ขึ้นฟ้า ซึ่งการปรับปรุงโครงสร้างเสาสัญญาณอาจจะต้องใช้เวลาสักระยะ แต่การปรับปรุงเรื่องคลื่นความถี่สามารถทำได้ทันที
ผู้เชี่ยวชาญด้านโทรคมนาคมระบุกับสำนักข่าว The New York Times และเว็บไซต์ CNET ว่า หลังจากนี้ทั้ง FCC และ FAA จะต้องทำงานร่วมกันเพื่อหาข้อสรุปที่ชัดเจน เพื่อให้การขยายโครงข่าย 5G และความปลอดภัยด้านการบินสามารถไปด้วยกันได้ เนื่องจากการขยายโครงข่าย 5G มีความสำคัญต่อเศรษฐกิจ และความเป็นอยู่ของประชาชนเป็นอย่างมาก ขณะที่ความปลอดภัยในการเดินทางอากาศก็มีความสำคัญไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากัน
สำหรับประเทศไทย และอีกกว่า 40 ประเทศทั่วโลกที่มีการใช้คลื่นความถี่ 5G อย่างกว้างขวางจะนิยมใช้ย่านความถี่ C-Band ระหว่าง 3.4-3.8 GHz ซึ่งอยู่ในย่านที่ต่ำกว่าที่สหรัฐฯ ใช้งาน ปัจจุบันยังไม่พบว่าย่านความถี่นี้ส่งผลกระทบต่ออุปกรณ์สื่อสารและอุปกรณ์นำร่องของเครื่องบินแต่อย่างใด
2. คลื่นความถี่ 5G ส่งผลเสียต่อสุขภาพ และมีสารก่อมะเร็ง: ไม่จริง
คลื่นความที่ 5G ถึงแม้จะเป็นเทคโนโลยีที่สามารถส่งข้อมูลได้รวดเร็วกว่า แต่ก็จัดอยู่ในกลุ่มคลื่นความถี่เดียวกันกับเทคโนโลยี 4G ที่เราใช้กันมานานแล้ว จากข้อมูลของเว็บไซต์ Orange ของอังกฤษ และบทความจากเว็บไซต์ The New York Times ระบุว่าคลื่นความถี่ 5G ถึงแม้จะเป็นคลื่นความถี่สูง แต่ลักษณะทางกายภาพของตัวคลื่นไม่ส่งผลเสียต่อสุขภาพ ไม่ว่าจะเป็นทางด้านสมอง และไม่มีสารก่อมะเร็ง ปัจจุบันยังไม่มีหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ใดๆ ที่พิสูจน์ได้ว่าคลื่นความถี่ 5G ส่งผลกระทบต่อสุขภาพ แต่นักวิทยาศาสตร์บางส่วนยังคงศึกษาถึงผลกระทบของคลื่นความถี่โทรคมนาคมต่อสุขภาพของมนุษย์อยู่ และยังหาข้อสรุปไม่ได้
3. คลื่นความถี่ 5G ทำให้นกและผึ้งบางสายพันธุ์เสียชีวิต: ไม่จริง
มีการแชร์ข้อมูลผ่านสื่อโซเชียลในยุโรป ระบุว่าคลื่นความถี่ 5G ส่งผลให้นกจำนวนมากในเนเธอร์แลนด์ตาย และยังทำให้ประชากรผึ้งลดลงอย่างรวดเร็ว เช่นข่าวการปล่อยคลื่นความถี่ 5G บนเรือสำราญเมื่อเดือนเมษายน 2020 จากเรือลำหนึ่ง ส่งผลให้นกที่อยู่บริเวณนั้นตายเกลื่อน สำนักข่าวรอยเตอร์ตรวจสอบแล้วพบว่าสาเหตุมาจากแสงไฟที่สาดออกมาจากตัวเรือทำให้ฝูงนกหลงทิศทาง และบินผิดไปจากเส้นทางที่พวกมันอพยพถิ่นฐานตามธรรมชาติ ทำให้พวกมันบินชนกันและตกลงมาตาย นักวิทยาศาสตร์ระบุว่าพฤติกรรมลักษณะนี้ไม่ใช่เรื่องใหม่
4. คลื่นความถี่ 5G เป็นส่วนหนึ่งในการแพร่กระจายเชื้อไวรัสโควิด-19: ไม่จริง
ในช่วงหนึ่งถึงสองปีที่ผ่านมา มีโพสในสื่อโซเชียลจำนวนหนึ่งระบุว่า เสาส่งสัญญาณ 5G มีส่วนในการแพร่กระจายเชื้อโควิด-19 โดยเฉพาะเสาส่งสัญญาณที่ใช้ชื่อว่า “เดลต้า” ซึ่งเป็นชื่อเดียวกันกับโควิด-19 สายพันธุ์เดลต้า เป็นเพียงทฤษฎีสมคบคิดที่สร้างขึ้นมา ไม่มีหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ใดๆ เชื่อมโยงกับการแพร่กระจายเชื้อโควิด-19 ทั้งสิ้น โควิด-19 เป็นเชื้อไวรัสที่แพร่กระจายทางอากาศ ผ่านละอองฝอยและสารคัดหลั่งจากคนสู่คน ไม่สามารถแพร่กระจายผ่านคลื่นความถี่ หรือคลื่นวิทยุได้
ที่มา…
https://radio-waves.orange.com/en/radio-networks-and-antennas/5g/facts-and-fiction-about-5g/
https://www.allconnect.com/blog/5g-dangers-fact-vs-fiction
https://radio-waves.orange.com/en/radio-networks-and-antennas/5g/facts-and-fiction-about-5g/
https://www.allconnect.com/blog/5g-dangers-fact-vs-fiction
https://fullfact.org/online/no-evidence-birds-found-dead-ship-were-killed-5g/
https://www.nytimes.com/2019/07/16/science/5g-cellphones-wireless-cancer.html
https://www.cnet.com/tech/mobile/how-the-faa-went-to-war-against-5g/
เกี่ยวกับผู้เขียน
ธนภณ เรามานะชัย (ไมค์) Fact-checker และ คอลัมนิสต์ประจำ Cofact Thailand
ปัจจุบันทำหน้าที่วิทยากรด้านการตรวจสอบข้อมูลข่าวและเครื่องมือดิจิทัลด้านข่าวให้กับ Google News Initiative ก่อนหน้านี้เขาเป็นผู้ประกาศข่าวเทคโนโลยีให้กับสถานีโทรทัศน์วอยซ์ทีวี (Voice TV) และอดีตกรรมการสมาคมผู้สื่อข่าวต่างประเทศประจำประเทศไทย (FCCT) https://www.damikemedia.com