ทุเรียนแกะเปลือกนำเข้า กับสารก่อมะเร็ง ความจริงที่คนรักทุเรียนต้องรู้

ประเด็นสุขภาพ

ขอบคุณที่มา ubonconnect

วันที่ 15 กรกฎาคม 2568 รายการ “โคแฟคสนทนารวมพลคนเช็กข่าว” ตอนที่ 8 ได้นำเสนอประเด็นที่กำลังถูกแชร์อย่างแพร่หลายในโลกออนไลน์เกี่ยวกับ “ทุเรียนแกะเปลือกนำเข้ามีสารก่อมะเร็ง” โดยมีคุณสุชัย เจริญมุขยนันท เป็นผู้ดำเนินรายการ พร้อมด้วยวิทยากรผู้เชี่ยวชาญ ได้แก่ คุณสุภิญญา กลางณรงค์ ผู้ร่วมก่อตั้งโครงการ COFACT, คุณณัฐฐศรัณฐ์ วงศ์เตชะ หัวหน้างานโภชนบริการและการกำหนดอาหาร สถาบันมะเร็งแห่งชาติ และคุณZaaQ คนเช็กข่าว เพื่อขุดคุ้ยข้อเท็จจริงเกี่ยวกับความปลอดภัยของทุเรียนแกะเปลือกนำเข้าและข้อควรระวังในการบริโภคทุเรียน

คุณสุภิญญา เริ่มต้นด้วยการตั้งคำถามถึงที่มาของข่าวลือเกี่ยวกับทุเรียนแกะเปลือกนำเข้า เธอชี้ว่าแม้ทุเรียนจะเป็นผลไม้ที่ได้รับความนิยม แต่ข่าวลือเหล่านี้สร้างความกังวลให้ผู้บริโภค โดยเฉพาะเมื่อเปรียบเทียบระหว่างทุเรียนในประเทศและนำเข้า เธอเน้นย้ำถึงความสำคัญของการตรวจสอบข้อเท็จจริงเพื่อให้ผู้บริโภคเข้าใจและระมัดระวังมากขึ้น โดยเฉพาะผู้ที่มีโรคประจำตัว

คุณ ZaaQ คนเช็กข่าว เผยว่าเจอโพสต์ในโซเชียลมีเดีย เช่น เฟซบุ๊ก ที่เตือนเกี่ยวกับทุเรียนแกะเปลือกนำเข้าจากเวียดนาม โดยอ้างว่ามีสารก่อมะเร็งและไม่ผ่านมาตรฐานการส่งออกไปจีน เขาตั้งคำถามถึงความน่าเชื่อถือของข้อมูลนี้ และขอให้ผู้เชี่ยวชาญช่วยชี้แจงว่าเรื่องนี้เป็นความจริงหรือเพียงข่าวลือที่ถูกขยายความ

คุณณัฐฐศรัณฐ์ จากสถาบันมะเร็งแห่งชาติ อธิบายว่าจากข้อมูลที่มีอยู่ในปัจจุบัน ทุเรียนแกะเปลือกนำเข้าบางส่วน โดยเฉพาะมีการตรวจพบสารที่อาจก่อมะเร็งจริง โดยเฉพาะสารย้อมสี Basic Yellow 2 ซึ่งใช้ย้อมเปลือกทุเรียนให้ดูสวยงามตามรสนิยมของผู้บริโภคในจีน เช่น เปลือกสีเหลืองทองสำหรับทุเรียนหมอนทอง หรือสีเขียวในบางพื้นที่ สารนี้สามารถซึมผ่านเปลือกเข้าสู่เนื้อทุเรียนได้ และถูกจัดเป็นสารที่อาจก่อมะเร็ง เนื่องจากจีนห้ามใช้สารนี้ในอาหารนอกจากนี้ ยังพบโลหะหนักอย่างแคดเมียม ซึ่งเคยก่อปัญหาสุขภาพในญี่ปุ่นมาแล้ว โดยพบในดิน น้ำหรือปุ๋ยที่ใช้ในการปลูกทุเรียน คุณณัฐฐศรัณฐ์ระบุว่าทุเรียนที่ไม่ผ่านมาตรฐานการส่งออกไปจีนอาจถูกตีกลับและลักลอบนำเข้ามาขายในไทย ซึ่งอาจไม่ผ่านการตรวจสอบสารตกค้างอย่างเข้มงวด ทำให้ผู้บริโภคต้องระวังทุเรียนนำเข้าที่อาจไม่ผ่านมาตรฐานแต่ทุเรียนในประเทศที่เราทราบแหล่งที่มาชัดเจน ไม่พบว่ามีปัญหานี้แต่อย่างใด

สำหรับข้อควรระวังในการบริโภคทุเรียน คุณณัฐฐศรัณฐ์กล่าวว่า ทุเรียนเป็นผลไม้ที่มีพลังงานและน้ำตาลสูงมาก โดยทุเรียน 100 กรัมให้พลังงาน120-200 กิโลแคลอรี เทียบเท่าข้าว 2 ทัพพี จึงไม่เหมาะสำหรับผู้ที่ควบคุมน้ำหนักหรือเป็นโรคเบาหวาน เพราะอาจทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดสูงขึ้น นอกจากนี้ ทุเรียนยังมีไขมันสูง แม้จะเป็นไขมันดี แต่ผู้ป่วยโรคหัวใจและหลอดเลือดต้องระวังการบริโภคในปริมาณมาก ผู้ป่วยโรคไตก็ควรจำกัดการบริโภคเนื่องจากทุเรียนมีโพแทสเซียมสูง ซึ่งอาจส่งผลต่อการทำงานของไต สำหรับหญิงตั้งครรภ์ การกินทุเรียนมากเกินไปอาจเสี่ยงต่อเบาหวานขณะตั้งครรภ์นอกจากนี้ การกินทุเรียนพร้อมแอลกอฮอล์เป็นสิ่งที่ต้องห้ามเด็ดขาด เนื่องจากอาจทำให้ร่างกายขาดน้ำและอุณหภูมิร่างกายสูงจนถึงขั้นเสียชีวิตได้

คุณณัฐศรัณย์แนะนำว่า การกินทุเรียนควรควบคู่กับผลไม้ที่มีน้ำเยอะ เช่น มังคุด เพื่อลดอาการร้อนในซึ่งได้รับการยืนยันทางวิทยาศาสตร์ว่าได้ผล เขายังเตือนว่า การบริโภคข้าวเหนียวทุเรียนจะเพิ่มปริมาณน้ำตาลและไขมันจากกะทิและข้าวเหนียว ทำให้เสี่ยงต่อสุขภาพมากกว่าการกินทุเรียนเปล่า ๆ

สำหรับวิธีสังเกตทุเรียนที่อาจมีสารตกค้าง คุณณัฐฐศรัณฐ์ แนะนำว่าผู้บริโภคควรเลือกซื้อจากแหล่งที่เชื่อถือได้ เช่น ทุเรียนจากจันทบุรี ระยอง หรือภาคใต้ของไทย เพื่อลดความเสี่ยงจากการบริโภคทุเรียนที่อาจมีสารตกค้าง

จากข้อมูลในรายการ ทุเรียนแกะเปลือกนำเข้าจากบางประเทศ อาจมีสารตกค้าง เช่น สารย้อมสี Basic Yellow 2 และโลหะหนักแคดเมียม ซึ่งอาจก่อมะเร็งได้หากสะสมในร่างกายในปริมาณมาก โดยเฉพาะทุเรียนที่ไม่ผ่านมาตรฐานส่งออกและถูกนำเข้ามาขายในไทยโดยไม่มีการตรวจสอบอย่างเข้มงวดอย่างไรก็ตาม ทุเรียนในประเทศไทย โดยเฉพาะจากแหล่งที่น่าเชื่อถือ ยังถือว่าปลอดภัยหากบริโภคด้วยความระมัดระวัง ผู้บริโภคควรจำกัดปริมาณการกินโดยเฉพาะผู้ที่มีโรคประจำตัว เช่น เบาหวาน โรคหัวใจ หรือโรคไต และหลีกเลี่ยงการบริโภคทุเรียนพร้อมแอลกอฮอล์หรือของหวานที่มีน้ำตาลสูง เพื่อสุขภาพที่ดีในระยะยาว การเลือกซื้อทุเรียนจากแหล่งที่เชื่อถือได้และการบริโภคอย่างพอเหมาะจะช่วยให้คนรักทุเรียนสามารถเพลิดเพลินกับผลไม้ยอดนิยมนี้ได้อย่างปลอดภัย