‘ข่าวลวง-ภัยออนไลน์’เทคโนโลยีทำให้ซับซ้อนขึ้น แต่‘อารมณ์-อคติ’ยังเป็นตัวแปรสำคัญของการตกเป็นเหยื่อ

กิจกรรม

ภาคีโคแฟค (ประเทศไทย) เข้าร่วมกับ องค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ (อพวช.) สำนักงานคณะกรรมการการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติ (สกมช.) และศูนย์ชัวร์ก่อนแชร์สำนักข่าวไทย อสมท. จัดเสวนาหัวข้อ “Cybersecurity at the Age of Fake News : Are You Ready for the Next Threat?” ที่ศูนย์ประชุมอิมแพ็ค เมืองทองธานี จ.นนทบุรี พร้อมถ่ายทอดสดผ่านเพจเฟซบุ๊ก “NSTFair Thailand” ซึ่งกิจกรรมนี้เป็นส่วนหนึ่งของงาน “มหกรรมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (NSTFair Thailand)” ระหว่างวันที่ 16-25 ส.ค. 2567

พล.อ.ต.อมร ชมเชย เลขาธิการคณะกรรมการการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติกล่าวว่า งานของ สกมช. มี 2 ส่วน คือ 1.ป้องกันไม่ให้ระบบถูกโจมตี ดูแลระบบสาธารณูปโภคต่างๆ เช่น น้ำประปา ไฟฟ้า ธนาคาร อินเตอร์เน็ต แต่ในขณะเดียวกันคนแต่ละคนก็ต้องให้ความสำคัญกับการระมัดระวังด้วย เช่น การตั้งรหัสผ่านในแพลตฟอร์มต่างๆ การไม่ติดตั้งโปรแกรมเถื่อน เป็นต้น

2.ป้องกันไม่ให้คนถูกหลอก เพราะปัจจุบันคนสัมผัสกับข้อมูลข่าวสารจำนวนมากจึงเสี่ยงถูกหลอกลวงได้ แต่โจทย์ที่ยากคือ ความจริงมีหลายชุดและตรวจสอบไม่ง่าย เช่น หากวันนี้ลองค้นหาข่าวคนขับรถตู้ข่มขืนเด็กอายุ 13 ปี ก็ยังปรากฏข่าวนั้นอยู่ แม้ในห้วงเวลาที่เหตุปรากฏเป็นข่าว อีก 3 วันหลังจากนั้นจะมีข่าวที่ให้ข้อมูลใหม่เพิ่มเติม คือเด็กอายุ 13 ปี สารภาพว่าสร้างเรื่องขึ้นมาเองไม่ได้มีการข่มขืนเกิดขึ้นจริง แต่ข่าวแรกที่คนขับรถตู้ข่มขืนเด็กอายุ 13 ปี ยังคงอยู่บนโลกออนไลน์ ไม่ได้ถูกลบออกไปแต่อย่างใด อีกทั้งยังมีเรื่อง อคติ ใครชอบสิ่งใดก็จะค้นหาแต่สิ่งนั้น  

สิ่งที่สำคัญคือ การคิดเชิงวิเคราะห์ (Critical Thinking) เห็นอะไรก็อย่าเพิ่งรีบเชื่อ แต่ให้ลองฝึกคิดแบบมองมุมต่างๆ ซึ่งเกี่ยวข้องกับการศึกษาด้วยตัวอย่างกรณีประเทศกัมพูชาเป็นเจ้าภาพจัดแข่งขันกีฬาซีเกมส์ มีข่าวปรากฏทุกช่องทางว่ารัฐบาลกัมพูชาไม่มีงบประมาณจึงต้องเปิดเว็บไซต์รับบริจาค ทั้งที่ข้อเท็จจริงคือ การเปิดรับบริจาคดังกล่าวทำเพื่อระดมเงินอัดฉีดนักกีฬาซึ่งเป็นคนละเรื่องกับการจัดการแข่งขัน 

แต่สื่อที่เผยแพร่นั้นรู้ว่าผู้รับสารจะไม่สืบค้นข้อมูลไม่สงสัยและเชื่อโดยง่าย ประกอบกับปัจจุบันการแข่งขันในวงการสื่อนั้นรุนแรงมาก ในอดีตมีคำว่า Clickbait ที่หมายถึงการพาดหัวข่าวล่อให้เข้าไปดูแต่ระยะหลังๆ หันมาใช้การพาดหัวแบบยั่วให้โมโห เพราะได้ในเชิงกระตุ้นอารมณ์ความรู้สึก (Feeling) มากกว่า เช่น หนังสือพิมพ์ฉบับหนึ่งพาดหัวข่าวว่ากีฬาประสบความล้มเหลวในการแข่งขัน แต่กลับทำให้ยอดขายหนังสือพิมพ์ที่ขายได้น้อยลงกลับพุ่งขึ้นมา นี่คือตัวอย่างของการพาดหัวข่าวแบบยั่วโมโหแต่คนก็ตะครุบเหยื่อนั้นไป

กรณีการตกเป็นเหยื่อมิจฉาชีพประเภท หลอกให้รัก (Romance Scam)” เช่น ต้องการหาเหยื่อเป็นผู้หญิง คนร้ายมักจะสร้างบัญชีปลอมในสื่อสังคมออนไลน์ เป็นฝรั่งผิวขาวหน้าตาดี อ้างว่าเป็นทหารหรือแพทย์ เมื่อเหยื่อเริ่มตกหลุมรักก็บอกว่าเดือดร้อนต่างๆ นานา เริ่มให้โอนเงินไปให้จากจำนวนน้อยๆ จนถึงครั้งที่จะลงมือโดยหวังเป้าหมายใหญ่ ด้วยการอ้างว่าเพิ่งได้รับมรดกก้อนโตและต้องการมาใช้ชีวิตในประเทศไทยแต่ติดปัญหาบางอย่างทำให้ทรัพย์สินมีค่านั้นติดค้างที่สนามบิน ต้องขอให้โอนเงินไป

หากเหยื่อเป็นผู้ชาย คนร้ายมักจะสร้างบัญชีปลอมโดยใช้ภาพของหญิงสาวหน้าตาดี เมื่อเริ่มพูดคุยกันคนร้ายก็จะส่งคลิปวีดีโอที่มีเนื้อหาล่อแหลมมาให้โดยอ้างว่าเป็นคลิปของตนเอง   พร้อมชักชวนให้เหยื่อถ่ายคลิปวีดีโอแนวล่อแหลมของตนเองส่งกลับไปให้ดูบ้าง โดยอ้างว่าเดี๋ยวจะส่งคลิปที่เด็ดกว่านั้นให้ดูอีกเป็นการแลกเปลี่ยน เมื่อเหยื่อเกิดหน้ามืดหลงเชื่อถ่ายแล้วส่งกลับไปก็จะถูกนำไปใช้ขู่กรรโชกทรัพย์ (Blackmail) และยิ่งเหยื่อโอนไปเพราะกลัวถูกเผยแพร่คลิป คนร้ายก็จะยิ่งเรียกเงินจำนวนมากขึ้น

“สิ่งที่เราต้องทำคู่กันไป ทั้งงานหลักคือ  ทำอย่างไรไม่ให้ระบบถูกแฮ็ก มาตอนนี้ทำอย่างไรให้เกิดการสร้างวัฒนธรรมความตระหนักเรื่องความปลอดภัยทางไซเบอร์ (Human Firewall) ต้องมีความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้อง  ไม่ใช่มีการเตือนภัยไซเบอร์เฉพาะเวลาที่เสียหายแล้วเท่านั้น  แต่ต้องมีการบอกกล่าวในห้วงเวลาที่เหมาะสมและสอดแทรกไปอย่างสม่ำเสมอ” พล.อ.ต.อมร กล่าว

พีรพล อนุตรโสตถิ์ ผู้จัดการศูนย์ชัวร์ก่อนแชร์ สำนักข่าวไทย อสมท. กล่าวว่า การทำงานตรวจสอบข้อมูลของศูนย์ชัวร์ก่อนแชร์ จะอ้างอิงผู้เชี่ยวชาญหรือการทดลองทางวิทยาศาสตร์ แต่เมื่อเผยแพร่ออกไปบางครั้งก็ไม่ตรงใจกับความคิดของคน เช่น เมื่อบอกว่าผลไม้ชนิดหนึ่งไม่ได้มีสรรพคุณดีเลิศตามที่ได้ยินมา ก็จะถูกโจมตีโดยกลุ่มคนขายผลไม้ กล่าวหาว่าไม่เปิดโอกาสให้ผลไม้ไทยบ้าง เป็นทาสนายทุนบ้าง แต่ก็ไม่รู้ว่าข้อกล่าวหาเหล่านั้นผ่านการตรวจสอบมาก่อนพูดหรือไม่

ความยากจึงเป็นการที่เราอยู่ในโลกที่มีข้อเท็จจริงหลายชุดและแต่ละคนมีข้อเท็จจริงที่ไม่เหมือนกัน ดังนั้นทุกคนพร้อมเปิดรับข้อเท็จจริงที่ไม่จำเป็นต้องเป็นความจริงก็ได้ แต่ขอให้รู้สึกว่าชอบหรือใช่ก็พอ จึงกลายเป็นโอกาสที่จะถูกหลอกด้วยเรื่องที่ไม่รู้ว่าจริงหรือไม่ เพราะการสร้างเรื่องจริงจากเรื่องที่ไม่จริงสามารถทำได้ง่าย อย่างไรก็ตาม การทำงานของสื่อมวลชนในการตรวจสอบว่าเรื่องใดจริง-ไม่จริง เป็นการแก้ปัญหาแบบเฉพาะหน้า หากจะแก้ปัญหาแบบยั่งยืนการศึกษาน่าจะเป็นคำตอบในระยะยาว

การศึกษาในที่นี้ หมายถึง เราจะทำอย่างไรให้คนทั้งประเทศหรือคนจำนวนมากๆ สามารถจะเรียนรู้ ไม่ใช่ได้รู้ข่าวใหม่ พรุ่งนี้ก็ลืมข่าวเมื่อวานซืนไปแล้ว แต่ต้องให้ความรู้ฝังอยู่กับทุกคน  สามารถรับมือกับความเปลี่ยนแปลงได้จริงๆ ตรงนี้ก็เป็นโจทย์ที่ท้าทายในบทบาทสื่อ ทุกวันนี้มีสื่อที่ทำบทบาทเหล่านี้ เป็การสร้างความรู้ความเข้าใจ ทักษะการตระหนักรู้ต่างๆ พีรพล กล่าว

ดร.ชนินทร์ สุริยกุล ณ อยุธยา ผู้อำนวยการกองสื่อสารวิทยาศาสตร์ อพวช. กล่าวว่า ในฐานะนักสื่อสารวิทยาศาสตร์ พบว่า ยิ่งนำเสนอความทันสมัยของวิทยาศาสตร์มากเท่าใด ด้านหนึ่งประชาชนในสังคมได้ความรู้ในการใช้วิทยาศาสตร์เป็นเครื่องมือ แต่อีกด้านหนึ่งก็ทำให้มิจฉาชีพรู้วิธีใช้เครื่องมือนี้ด้วยเช่นกัน ซึ่งความท้าทายคือประชาชนคนสุจริตทั่วไปเป็นคนกลุ่มใหญ่มีความสนใจที่หลากหลาย ในขณะที่มิจฉาชีพนั้นแม้จะมีจำนวนน้อยกว่าแต่มีเป้าหมายชัดเจน มีท่อน้ำเลี้ยงที่ดีและพร้อมจะใช้ทุกวิถีทางเพื่อก่อเหตุ ประชาชนจึงต้องมีทุนในการรับมือ  

ซึ่งสิ่งที่ อพวช. พยายามทำคือการสร้างทุนทางวิทยาศาสตร์ เชื่อมวิทยาศาสตร์เข้ากับสังคม เพราะหากคนในสังคมมีทุนนี้มากขึ้น อันประกอบด้วยความรู้ ความคิด ทัศนคติและพฤติกรรม ก็จะใช้หลักเหตุผลและวิจารณญาณในการตัดสินใจมากขึ้นแต่ก็ยอมรับว่ายังแพ้มิจฉาชีพเพราะสู้ไม่ได้เรื่องเทคนิคการสื่อสาร กลายเป็นว่าต้องเรียนรู้จากมิจฉาชีพไปด้วย  

มีครั้งหนึ่งเจอโฆษณาผลิตภัณฑ์รักษาดูแลหัวเข่า มีแหล่งอ้างอิง มีรูปถ่าย มีอ้างชื่อบุคคลและสถาบันที่มีชื่อเสียง แบบนี้หากเป็นคนทั่วไปเห็นแล้วก็คงเชื่อ แต่เมื่อลองค้นหาข้อมูลย้อนกลับไป แม้แต่ชื่อบุคคลที่ถูกอ้างถึงจะมีอยู่จริงแต่ไม่ได้เป็นแพทย์ อีกทั้งภาพถ่ายยังไม่ตรงกับภาพของบุคคลที่นำมาใช้โฆษณา และตนเชื่อว่ายังมีโฆษณาลักษณะนี้อีกมาก ทั้งนี้ ภารกิจหลักของ อพวช. ไม่ใช่การมุ่งสร้างคนให้เป็นนักวิทยาศาสตร์เพราะเป็นเรื่องยากมาก แต่มีหน้าที่หนึ่งที่อธิบายให้เข้าใจได้ง่ายๆ คือทำให้คนได้รับทุนทางวิทยาศาสตร์เพื่อใช้ดำเนินชีวิตประจำวัน ผ่านการพัฒนาสื่อทางวิทยาศาสตร์ ซึ่งจะต้องพิจารณาความเหมาะสมกับกลุ่มเป้าหมายและเรื่องที่เกิดขึ้น

ผมเห็นว่าหากมีหน่วยงานใดหน่วยงานหนึ่งมีความพยายามในการแก้ปัญหาดังกล่าว   อาจจะทำได้เร็ว  แต่ไม่มีความต่อเนื่องในระยะยาวหรือมั่นคงมาก สิ่งสำคัญในวันนี้ทุกฝ่ายต้องร่วมมือกัน นอนาคตอันใกล้อาจมีการรวมตัวกันเฉพาะกิจเพื่อที่จะสร้างสื่อหรือกิจกรรมอะไรสักอย่าง เพื่อที่จะทำให้เกิดทุนทางวิทยาศาสตร์และปลูกฝังให้คนในสังคมมีทุนของวิทยาศาสตร์ในการใช้ในการตัดสินใจ ดร.ชนินทร์ กล่าว

สุภิญญา กลางณรงค์ ผู้ร่วมก่อตั้งภาคีโคแฟค (ประเทศไทย) กล่าวว่า เรากำลังเข้าสู่ยุคที่ดูว่าเส้นแบ่งอะไรจริง-ไม่จริง เป็นเรื่องยากมากขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะในยุคปัญญาประดิษฐ์ (AI) ซึ่งยังไม่ต้องพูดถึงการถูกหลอกโดยมิจฉาชีพ ลำพังเพียงข่าวลือต่างๆ ที่ถูกส่งต่อกันมาไม่ว่าการเมือง ศาสนา สุขภาพ ฯลฯ ก็มีชุดข้อมูลจำนวนมาก ซึ่งบางส่วนอาจเป็นข้อเท็จจริง แต่ก็จะมีส่วนที่ไม่จริงอยู่ด้วย แต่คนก็พร้อมจะเชื่อไปทั้งหมดโดยที่ไม่ได้วิเคราะห์แยกแยะตรวจทาน จนนำไปสู่ความเข้าใจผิดและส่งผลต่อการตัดสินใจ

เช่น หากเป็นเรื่องสุขภาพ แทนที่จะเข้ารับการรักษากับแพทย์ในโรงพยาบาลก็ไปกินสมุนไพรต่างๆ ที่อาจไม่ถูกโรค อย่างไรก็ตาม การทำงานของโคแฟคไม่ได้ไปตำหนิหรือกล่าวโทษคนที่เชื่อเช่นนั้น เพราะเรื่องราวก็ไม่ได้เป็นจริงหรือเท็จทั้งหมด 100% อาทิ การใช้กัญชารักษาผู้ป่วยโรคมะเร็ง หากเป็นผู้ป่วยระยะสุดท้าย แพทย์ในโรงพยาบาลไม่รักษาแล้ว โดยแนะนำให้ใช้การประคับประคอง ซึ่งน้ำมันกัญชาอาจช่วยให้ผู้ป่วยรู้สึกสบายขึ้น แบบนี้ก็เข้าใจได้ แต่ไม่ใช่เป็นผู้ป่วยที่กำลังเข้ากระบวนการเคมีบำบัดแล้วไปใช้ผสมกัน

กระบวนการหาข้อมูลเหล่านี้เป็นเรื่องซับซ้อน ต้องอาศัยข้อมูลทางวิทยาศาสตร์และการคิดวิเคราะห์ ซึ่งเว็บไซต์ cofact.org จัดทำขึ้นในลักษณะกระดานข่าว (Webboard) ใครสงสัยอะไรก็มาถาม แต่คนที่ตอบต้องมีแหล่งอ้างอิงด้วย ซึ่งเป็นการฝึกทักษะพื้นฐานทางวิทยาศาสตร์ เรื่องการจะเชื่ออะไรต้องมีข้อมูลสถิติหรือมีคำอธิบายจากผู้เชี่ยวชาญ ไม่ได้มาจากความรู้สึก และนำไปสู่จุดที่มีการยอมรับร่วมกัน 

อย่างไรก็ตาม สุดท้ายก็เป็นทางเลือกของแต่ละคนว่าจะเลือกเชื่ออย่างไรหลังจากได้ข้อมูลแล้ว เป็นเรื่องส่วนบุคคลตราบเท่าที่ความเชื่อนั้นไม่กระทบต่อสาธารณะหรือสังคมโดยรวม แต่อย่างน้อยต้องมีกระบวนการกระตุ้นให้ค้นหาข้อมูลก่อนตัดสินใจ ซึ่งโคแฟคเรียกว่าการหาความจริงร่วม ฝึกให้รู้จักการตั้งคำถามและตรวจสอบ ทั้งนี้ ที่ผ่านมาโคแฟครณรงค์เรื่องการรับมือ ชีปเฟค (Cheapfake)” หรือข่าวลวงที่เกิดขึ้นโดยไม่ได้ใช้เทคโนโลยีซับซ้อน 

ปัจจุบันกำลังเข้าสู่ยุคปัญญาประดิษฐ์แบบรู้สร้าง (Generative AI) บวกกับคนยุคนี้ใช้เวลากับโทรศัพท์มือถือมากขึ้น ทำให้ยากจะรู้ได้ว่าอะไรจริง-ไม่จริง โดยปัญญาประดิษฐ์จะเรียนรู้จากข้อมูลที่มนุษย์ป้อนเข้าไป ดังนั้นโคแฟคจึงพยายามขยับประเด็น โดยการรับมือข่าวลวงแบบเดิมๆ หรือชีปเฟคยังคงต้องทำต่อไป แต่การหลอกลวงแบบใหม่ๆ เช่น ดีปเฟค (Deepfake)” ที่ใช้เทคโนโลยี AI มาช่วยตัดต่อภาพหรือเสียง ก็เป็นเรื่องที่ต้องหาทางรับมือ 

โดยนับตั้งแต่ปี 2563 เป็นต้นมา โลกได้เข้าสู่ยุคที่ปัญญาประดิษฐ์เรียนรู้จากมนุษย์ ยุคนี้ AI อาจยังไม่ค่อยฉลาดมากนัก แต่ก็จะฉลาดขึ้นเรื่อยๆ โดยมีการคาดการณ์ว่าในปี 2573  จะเป็นยุคที่มนุษย์ต้องทำงานร่วมกับ AI คนที่เป็นวัยทำงานในเวลานั้นคงต้องปรับตัวเข้ากับการมีเพื่อนร่วมงานที่เป็น AI และจะซับซ้อนยิ่งขึ้นหลังปี 2583 เพราะมนุษย์จะต้องใช้ชีวิตร่วมกับปัญญาประดิษฐ์ ดังนั้นย่อมส่งผลกระทบอย่างลึกซึ้งต่อมนุษย์ในแง่จิตวิญญาณ เช่น ความเหงา ซึมเศร้า และอาจนำไปสู่การค้นหาคุณค่าของชีวิตกลับคืนมา เพราะมนุษย์อย่างไรก็ยังมีรัก โลภ โกรธ หลง และมีความทุกข์ แต่เทคโนโลยีอาจไม่ได้ตอบโจทย์ในจุดนั้น อาจเป็นยิ่งกว่าการหลอกลวง แต่เป็นการทำให้ต้องตั้งคำถามถึงคุณค่าของความเป็นมนุษย์ เรื่องนี้อาจดูไกลตัวสำหรับคนรุ่นที่พูดอยู่ ณ ปัจจุบัน แต่กับคนรุ่นที่กำลังจะเรียนจบซึ่งหลังจากนั้นก็จะต้องมีครอบครัว-มีลูก ซึ่งในยุคนั้นสังคมจะยิ่งมีความท้าทายมากขึ้น         

อยากจะให้ทุกภาคส่วนเตรียมการตั้งแต่วันนี้ในการเตรียมสิ่งที่จะรับมือ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของทักษะ เทคโนโลยี การเท่าทันที่มันเป็นเรื่องเชิงปัญญา (Intellectualที่จะรับมือกับปัญญาประดิษฐ์ แต่ที่ลึกซึ้งไปกว่านั้นก็คือการเตรียมความพร้อมจิตใจความเป็นมนุษย์ด้วย ที่เราต้องดูแลให้เยาวชนของเรามีความเข้มแข็งทั้งร่างกายและจิตใจ พร้อมกับรับมือกับความเปลี่ยนแปลง แล้วเขาจะต้องเผชิญกับสิ่งที่มันเสมือนจริง จนกลายเป็นความจริงเสมือนมากขึ้นเรื่อยๆ แล้วเราไม่รู้ว่าผลกระทบในโลกข้างหน้ามันจะเป็นอะไรบ้างสุภิญญา กล่าว

หมายเหตุ : ผู้สนใจสามารถรับชมการเสวนาย้อนหลังได้ที่ https://www.facebook.com/nstfairTH/videos/376203455498401/?locale=th_TH

-/-/-/-/-/-/-/-/-/-/-