9 นักข่าว – นักวิชาการ ร่วมแบ่งปันไอเดียพัฒนาวงการสื่อผ่านงาน Trusted Media Summit APAC 2022

Editors’ Picks
เนื้อหาเป็นจริง

เมื่อวันที่ 21 กันยายน 2565 Google News Initiative ร่วมกับโคแฟค (ประเทศไทย) และภาคีเครือข่ายทั่วประเทศ จัดการประชุม Trusted Media Summit APAC 2022 ประจำประเทศไทย ซึ่งมีเจตจำนงในการรวมตัวของคนทำงานด้านสื่อ เพื่อค้นหาแนวทางและการตรวจสอบข้อเท็จจริงก่อนเผยแพร่ข่าวออกไป และทำให้ลดผลกระทบที่เกิดขึ้นในอนาคตอีกด้วย ซึ่งหนึ่งในช่วงที่น่าสนใจคือช่วง Lighting Talk เป็นช่วงที่นำเสนอผลงานหรือผลการศึกษาที่เกี่ยวข้องกับความน่าเชื่อถือของสื่อ ผ่านกองบรรณาธิการข่าว นักวิชาการสื่อ และนักข่าว

เริ่มต้นจาก พีรพล อนุตรโสตถิ์ – ผู้จัดการศูนย์ชัวร์ก่อนแชร์ สำนักข่าวไทย อสมท ซึ่งมาแบ่งปันการทำงานของศูนย์ชัวร์ก่อนแชร์ โดยการทำงานเริ่มต้นจากการทำงานแบบ “เนรมิต” ตั้งแต่การตั้งศูนย์ขึ้นมาตรวจสอบข่าวลวง และทำให้เกิดเนรมิตต่อๆ มา เช่น การปรับโครงสร้างการทำงานใหม่ การเปิดช่องทางให้คนเข้ามาถามตอบ การเพิ่มการทำอินโฟกราฟิก การปรับรูปแบบการทำวีดิโอ และการทำงานร่วมกัน ซึ่งความสำคัญในการทำงานไม่ใช่แค่ทำคอนเทนต์ แต่กลับเป็นการปูการศึกษาเพื่อทำให้ทุกคนสามารถรู้เท่าทันสื่อได้

คนต่อมาคือ ธนกร วงษ์ปัญญา – บรรณาธิการข่าวไทย สำนักข่าว The Standard ซึ่งได้มาแบ่งปันเรื่องราวการเป็นนักข่าวของตนเอง โดยเริ่มจากการได้ทำงานที่มติชนในสายงานการเมือง จนกระทั่งเห็นการเปลี่ยนแปลงของวงการสื่อมากมาย ทำให้ต้องปรับตัวและพัฒนางานข่าวมากขึ้น แน่นอน สิ่งหนึ่งที่ค้นหาพบก็คือความน่าเชื่อถือ ซึ่งในบางครั้งเราอาจจะต้องไปพบเจอเพื่อนๆ ที่เป็นแหล่งข่าว ตรงนี้เราก็ต้องมีเส้นกั้นระหว่างความเป็นเพื่อนและความเป็นแหล่งข่าว เพื่อหาตรงกลางของข้อมูลโดยไม่มีอคติ แต่เหนือจากความสนิทนั้นความยากมากที่สุดก็คือความท้าทายที่เกิดจากภาครัฐ ซึ่งท้ายที่สุดเราในฐานะสื่อมวลชนก็ควรที่จะเป็นกระบอกเสียง เพราะประชาชนเพียงอย่างเดียวอาจทำให้เสียงของเขาส่งไปไม่ถึงมากพอ เราในฐานะสื่อมวลชนก็ควรที่จะเป็นตัวแทนประชาชนในการส่งเสียที่ดังกว่าออกไปให้ได้มากที่สุด

ชัยวัฒน์ จันทิมา – บรรณาธิการพะเยาทีวี กล่าวต่อในเรื่องการผลักดันของสื่อชุมชนว่า สื่อชุมชนมีหน้าที่ในการกระจายข่าวให้กับชุมชน ซึ่งพะเยาทีวีเป็นพื้นที่ต้นแบบที่พยายามเป็นพื้นที่ตรงกลางในการแบ่งปันและพัฒนาเนื้อหาให้ตรงกับคนในพื้นที่ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของข่าวลวง โควิด-19 แม้กระทั่งการนำเสนอประเด็นในพื้นที่ ไม่ว่าจะเป็นประเด็นเด็กไร้สัญชาติที่สามารถผลักดันสวัสดิการได้ เป็นต้น แน่นอนว่าการมีสื่อในพื้นที่เป็นสิ่งที่ต้องพัฒนาทั้งคน ความรู้ และสื่อในการร่วมบูรณาการไปร่วมกัน

ผศ.ดร.วิไลวรรณ จงวิไลเกษม อาจารย์ประจำคณะวารสารศาสตร์และสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้กล่าวถึงการพัฒนาโครงการ “เยาวชน การเมือง ข่าวปลอม” ว่าการพัฒนาโครงการนี้เกิดจากการสนใจของตนเองต่อการเคลื่อนไหวของคนรุ่นใหม่ จึงได้เริ่มตั้งแต่ศึกษาความต้องการของคนรุ่นใหม่ ซึ่งพบว่าข่าวบันเทิงขึ้นมาเป็นอันดับ 1 ที่ผู้คนสนใจ ในขณะที่ข่าวการเมืองตกไปอยู่อันดับที่ 3 นั่นหมายถึงคนรุ่นใหม่สนใจการเมือง แต่ไม่ได้ติดตามข่าวการเมืองเป็นหลักนั่นเอง และจากการทำกิจกรรมต่างๆ ทำให้ได้เรียนรู้ว่าคนรุ่นใหม่ก็ต้องการพื้นที่ปลอดภัย และเขาก็ต้องการฟังแบบลึกๆ จริงๆ ไม่ต่างจากคนอื่นๆ ในสังคม

ผศ.ดร.ณภัทร เรืองนภากุล อาจารย์ประจำคณะสารสนเทศและการสื่อสาร มหาวิทยาลัยแม่โจ้ กล่าวถึงการสร้างสรรค์งานของโคแฟคว่า ในปัจจุบันโคแฟคแสงเหนือ (ภาคีเครือข่ายโคแฟคภาคเหนือ) ได้ขยายการรับรู้ผ่านกิจกรรมที่หลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นการเข้าร่วม Hackathon ด้านการตรวจสอบข่าวลวง และสร้างทีมกองบรรณาธิการโคแฟคขึ้นมา ซึ่งการพัฒนางานเน้นความเข้าใจภายใต้ 3 เป้าหมาย คือ เพื่อพัฒนาศูนย์ข้อมูลตรวจสอบข่าวลวงในภูมิภาค เชื่อมโยงกลุ่มเยาวชนและผู้คนต่างวัย ขยายฐานข้อมูลของโคแฟคให้มีเนื้อหาข่าวลวงที่เกิดขึ้นในภูมิภาคมากขึ้น และพัฒนาทักษะการตรวจสอบข้อมูลให้กับเครือข่ายภาคพลเมืองให้เพิ่มมากขึ้น ทั้งเชิงคุณภาพและปริมาณ จนส่งผลให้โคแฟคสามารถขยายได้หลากหลายช่องทาง หนึ่งในนั้นคือ TikTok ที่ร่วมผลิตโครงการ #โปรดใช้วิจารณญาณในการไถฟีด จนมีผู้เข้าถึงมากกว่า 1.2 พันล้านครั้ง

หลังจากนั้นในช่วงที่ 2 ของ Lightning Talk เริ่มต้นด้วย อดิศักดิ์ ลิมปรุ่งพัฒนกิจ – รองประธานกรรมการบริหาร เนชั่น กรุ๊ป (ไทยแลนด์) กล่าวถึงการสร้างความเชื่อมั่นของกลุ่มเนชั่นว่า ในช่วงที่ผ่านมาก่อนที่จะมีการปรับโครงสร้างนั้น เนชั่นประสบปัญหาความน่าเชื่อถือ เนื่องจากการปล่อยให้ผู้ประกาศข่าวอยู่เหนือกองบรรณาธิการ ทำให้ส่งผลต่อความเชื่อมั่นจนกระทบไปถึงการหารายได้ สิ่งที่เนชั่นทำคือการปรับโครงสร้างใหม่ในการทำงาน โดยให้ความสำคัญกับระบบกองบรรณาธิการมากขึ้น จนสามารถนำเนชั่นกลับคืนสู่ผิวโลกได้ในที่สุด ซึ่งไม่ใช่เรื่องง่ายเลยทีเดียวในการกอบกู้ความน่าเชื่อถือกลับมา

ฐปณีย์ เอียดศรีไชย – ผู้ก่อตั้ง The Reporters กล่าวถึงการสร้างตัวตนและความน่าเชื่อถือว่า ความเป็นตัวเองนั้นเกิดขึ้นจากการทำข่าวและลงพื้นที่อย่างหนัก ทำให้เวลาที่เกิดปัญหาต่างๆ คนมักจะเชื่อถือข่าว 3 มิติอยู่เสมอๆ แต่ด้วยเวลาที่มีจำกัดในสถานีโทรทัศน์ ทำให้เราต้องหาแนวทางการนำเสนอเพิ่มเติม และเรามีความตั้งใจอยากได้สนามข่าวสำหรับการเล่าเหตุการณ์สดจากพื้นที่ จึงทำให้เกิดเพจ The Reporters เพื่อให้นักข่าวที่ลงพื้นที่สามารถได้รับข้อเท็จจริงแบบปฐมภูมิในพื้นที่จริง ซึ่งตอบสนองความตั้งใจของตนเองที่อยากให้ The Reporters ไม่ใช่ฐปณีย์ แต่เป็นของนักข่าวในพื้นที่ทุกคนที่รายงานสดจากพื้นที่จริง และทุกคนก็เป็นนักข่าวได้เช่นกัน

ผศ.ดร.วลักษณ์กมล จ่างกมล – อาจารย์ประจำคณะวิทยาการสื่อสาร มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี กล่าวถึงการระบาดทางข้อมูลข่าวสารในช่วงสถานการณ์โควิด-19 ในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ว่า ปัญหาสำคัญในช่วงโควิด-19 คือการแพร่ระบาดของข้อมูลข่าวสารที่ทำให้เกิดความเข้าใจผิด และข้อมูลที่รับมีความล้นทะลักจนทำให้ไม่สามารถตรวจสอบได้ ซึ่งส่งผลทำให้เกิดปัญหาต่างๆ เช่น ไม่สามารถเลือกประเมินข้อมูลได้ เกิดความวิตกกังวลและเลือกเชื่อข้อมูลที่ผิด จนทำให้เกิดความเบื่อหน่าย ปฏิเสธที่จะรับข้อมูล และส่งผลทำให้เกิดการเกลียดกลัว แบ่งแยกกันในสังคม ซึ่งพอแกะต้นตอของปัญหาก็ทำให้พบว่ามีปัญหาภายในที่ซ่อนอยู่ 

โสภิต หวังวิวัฒนา – ผู้จัดการ ThaiPBS Podcast กล่าวถึงการพัฒนาสื่อเสียงของ ThaiPBS Podcast ว่า ก่อนหน้านี้ไทยพีบีเอสต้องเผชิญกับปัญหาการไม่มีคลื่นวิทยุออกอากาศ เนื่องจากการมาของ ThaiPBS อยู่ในช่วงรอยต่อการปฏิรูปของ กสทช. ทำให้ไม่สามารถจัดสรรคลื่นวิทยุให้ได้ หลังจากนั้น ThaiPBS จึงเห็นแนวทางใหม่ในการพัฒนาสื่อเสียง จึงต่อยอดเป็น ThaiPBS Podcast ซึ่งมีรายการในปัจจุบันกว่า 8 หมวดหมู่ 40 รายการ ซึ่งเราได้ใช้ข้อจำกัดจากการที่เราเกิดใหม่ในการสร้างสรรค์รายการที่แปลกใหม่ เพื่อทำให้ตรงโจทย์มากที่สุด ไทยพีบีเอสเน้นการสร้างจินตนาการและบรรยากาศให้กับคนฟังให้ได้มากที่สุด