คนกรุงเทพฯไว้วางใจสื่อข่าวการเมืองในระดับปานกลาง (ค่าเฉลี่ย 3.22 จากคะแนนเต็ม 5 คะแนน)

บทความ
เนื้อหาเป็นจริง

Cofact Thailand: Trusted Media Survey Thailand 2022

21 กันยายน  2565

โคแฟค ประเทศไทยร่วมกับเครือข่ายฯได้จัดทำรายงานการสำรวจเชิงปริมาณเกี่ยวกับทัศนะคติ ความคิดเห็นและความไว้วางใจของคนกรุงเทพฯ ที่มีต่อสื่อมวลชนไทยในการรายงานข่าวการเมืองเป็นครั้งแรกพบว่า คนกรุงเทพฯไว้วางใจในกระบวนการและเทคนิคการทำข่าวและวิธีการนำเสนอข่าวมากที่สุด (3.42) และ ความโปร่งใสและมาตรฐานทางวิชาชีพและจริยธรรมของสื่อน้อยที่สุด (2.91)

โดยมีค่าเฉลี่ยของความไว้วางใจโดยรวมอยู่ที่ระดับปานกลาง และเรียงลำดับความไว้วางใจตามดัชนีชี้วัด 8 ตัวจากมากไปหาน้อย ดังนี้ 1. กระบวนการและเทคนิคการทำข่าวและวิธีการนำเสนอข่าว Methods (3.42) 2. ความเชี่ยวชาญของผู้สื่อข่าว Journalist expertise (3.38) 3. การสะท้อนเสียงที่หลากหลายในข่าว Diverse voices (3.36) 4. ความเข้าใจสถานการณ์/การลงพื้นที่และอ้างแหล่งข่าวที่รู้จริง Locally sourced (3.27) 5. การอ้างอิงข้อมูลและแหล่งที่มาของข่าว Reference (3.26) 6. การระบุประเภทของข่าว Labels (3.25) 7. การสะท้อนเสียงจากผู้บริโภคสื่อ Actionable feedback (3) และ 8. ความโปร่งใสและมาตรฐานทางวิชาชีพและจริยธรรมสื่อ Best practices (2.91) 

อย่างไรก็ตามดัชนีกระบวนการการทำข่าวที่ได้รับคะแนนความไว้วางใจสูงสุด ยังถือว่าอยู่ระดับปานกลาง ผู้ตอบแบบสอบถามที่เป็นเยาวชนเพศชายอายุต่ำกว่า 20 ปี มีแนวโน้มที่จะมีทัศนะในเชิงบวกต่อการทำงานของสื่อฯ โดยมองว่าสื่อฯมีการพัฒนารูปแบบในการนำเสนอข่าว และรู้ที่มาที่ไปของข่าวที่นำเสนอ (ค่าเฉลี่ย 3.63และ3.23 ตามลำดับ)  แต่ในกลุ่มผู้หญิงอายุ 30 – 45 ปี และจบปริญญาตรีให้เหตุผลที่ไม่ไว้วางใจสื่อฯว่ารูปแบบการนำเสนอของสื่อยังซ้ำกัน คือ อ่านข่าวจากหนังสือพิมพ์ หรือสคริปต์ และไม่ระบุแหล่งที่มาของข่าวชัดเจน

ส่วนดัชนีความโปร่งใสและมาตรฐานทางวิชาชีพและจริยธรรมของสื่อข่าวการเมืองที่ได้คะแนนความไว้วางใจน้อยที่สุด แยกย่อยเป็นคุณสมบัติดังนี้ นำเสนอข่าวด้วยความน่าเชื่อถือ (3.48) มีจริยธรรมในการนำเสนอข่าว (3.23) นำเสนอข่าวด้วยความถูกต้อง (3.17) ซึ่งอยู่ในระดับปานกลาง ส่วนในเรื่องความซื่อตรงในการนำเสนอข่าว (2.85) ความมีอิสระในการนำเสนอข่าว (1.83) ถือว่าอยู่ในระดับต่ำ โดยให้เหตุผลว่า นำเสนอข่าวเพียงด้านเดียวโดยเฉพาะจากฝ่ายรัฐบาล และ ถูกแทรกแซงจาก “ผู้อิทธิพลในสังคม”  เช่นนักการเมือง ผู้มีชื่อเสียง คนร่ำรวย กลัวผิดกฎหมายควบคุมการนำเสนอข่าว โดยกลุ่มเยาวชนอายุระหว่าง 15-19 มีแนวโน้มที่จะเชื่อมั่นในการทำงานของสื่อฯเกือบทุกคุณสมบัติ ส่วนกลุ่มตัวอย่างวัยทำงาน (20-45 ปี) ที่มีการศึกษาระดับปริญญาตรีขึ้นไปมีความคิดเห็นที่ตรงกันข้าม

สำหรับทัศนคติและความไว้วางใจด้านอื่นตามลำดับข้างต้น พบแนวโน้มเช่นเดียวกันคือกลุ่มตัวอย่างที่อยู่ในวัยทำงานและมีการศึกษาระดับปริญญาตรีขึ้นไปมีความไววางใจต่อสื่อมวลชนในการรายงานข่าวการเมืองน้อยกว่ากลุ่มเยาวชน นอกจากนี้ ปัจจัยที่ทำให้เกิดความไม่ไว้วางใจหรือไว้วางใจในระดับต่ำ โดยรวมมาจากการที่สื่อฯยังนำเสนอข่าวตาม“กระแส” สร้างภาพ นำเสนอข่าวด้านเดียว ให้น้ำหนักกับรัฐบาลหรือผู้มีอิทธิพล แหล่งข่าวไม่หลากหลาย ใส่ความเห็นของตนเองมากเกินไป และขาดการคัดกรองตรวจสอบซึ่งส่งผลทำให้มีข้อมูลผิดพลาดหรือข้อมูลที่บิดเบือนในข่าว

จากการสำรวจความเห็นยังพบว่า เมื่อประชาชนนึกถึงสื่อมวลชน มักนึกถึงสื่อออนไลน์เป็นหลัก และมองภาพสื่อฯไปที่ตัวบุคคล เช่นผู้ประกาศข่าว หรือผู้ดำเนินรายการโทรทัศน์ที่เป็นที่นิยม หรือบุคคลที่เป็นข่าวบ่อย หรืออยู่ในกระแสข่าว 

รายงานการสำรวจความเห็นข้างต้นมีวัตถุประสงค์เพื่อต้องการทราบถึงทัศนคติ ความคิดเห็นและความไว้วางใจของประชาชนไทยที่มีต่อ “สื่อมวลชนในการนำเสนอข่าวเกี่ยวกับการเมือง” ผลที่ได้จากการวิจัยนี้จะสามารถนำไปใช้เพื่อเป็นแนวทางในการพัฒนาและปรับปรุงศักยภาพของ “สื่อมวลชนในการนำเสนอข่าวเกี่ยวกับการเมือง” เพื่อสร้างบรรทัดฐาน “ความเป็นมืออาชีพ” และยกระดับมาตรฐานความไว้วางใจของสังคมต่อสื่อในอนาคต และเพื่อส่วนเสริมบทบาทสำคัญของสื่อมวลชนในการลดทอนความขัดแย้งในสังคม โดยเป็นโครงการหนึ่งที่ทางโคแฟคจะทำงานร่วมกับเครือข่าย โดยเฉพาะสื่อมวลชนในอนาคตเพื่อต่อยอดการพัฒนาการศักยภาพสื่อ การรู้เท่าทันสื่อ เพื่อลดการแชร์ข่าวหรือข้อมูลผิดพลาดบิดเบือน และข้อมูลที่สร้างความเกลียดชัง ที่สร้างความแตกแยกและส่งผลกระทบต่อความขัดแย้งทางการเมืองที่มีอยู่ในสังคมปัจจุบัน 

ทั้งนี้ทางโคแฟคได้นำดัชนีชี้วัดความไว้วางใจในการทำหน้าที่ของสื่อมวลชน 8 ตัว The 8 Trust Indicators ที่สำนักข่าวมืออาชีพทั่วโลกใช้เป็นบรรทัดฐานในการทำงาน ภายใต้โครงการ The Trust Project ที่ริเริ่มโดยกลุ่มสื่อมวลชนในสหรัฐอเมริกา มาเป็นข้อมูลพื้นฐานในการจัดทำแบบสำรวจครั้งนี้ โดยกระบวนการทำงานเป็นการสำรวจความคิดเห็นเชิงปริมาณ มีการลงพื้นที่จริงระหว่างวันที่ 28-31 สิงหาคม เพื่อสัมภาษณ์ประชาชน 200 ตัวอย่าง ครอบคลุม 15 เขต ในกรุงเทพมหานคร แบ่งตามเพศในสัดส่วนที่เท่าๆกัน และครอบคลุม ช่วงอายุ สาขาอาชีพ และสถานะทางเศรษฐกิจ โดยเน้นกลุ่มคนที่มีอุปกรณ์สื่อสารอิเล็คทรอนิกส์ เช่นสมาร์ทโฟน โน้ตบุ๊ก คอมพิวเตอร์ และแท็บเล็ต เป็นตันและเป็นผู้สนใจและติดตามข้อมูลข่าวสาร บนแพลตฟอรม์ที่หลากหลาย และทางสื่อดั่งเดิมและสื่อออนไลน์อย่างน้อย3-4ครั้งต่อสัปดาห์

=======================