นักวิชาการ แนะสื่อ-ประชาชน คัดกรอง “ข้อมูล-ข่าวปลอม” ในวิกฤตโควิด

Editors’ Picks
เนื้อหาเป็นจริง

วงเสวนาวิชาการ ยอมรับสื่อมวลชนยุคโควิด-19 ต้องทำงานท่ามกลางพายุข่าวสาร และ Fake Newsจำนวนมาก การตรวจสอบข้อมูลมีส่วนสำคัญ ต้องผลิตข้อมูลที่น่าเชื่อถือ ตรวจสอบแหล่งที่มาได้ชัด เพื่อให้เกิดประโยชน์ต่อสาธารณะ ประชาชนรู้ข้อมูลที่ถูกต้อง ยอมรับ ประชาชนยังศรัทธา สื่อกระแสหลัก เป็นที่พึ่งในยามวิกฤต การนำเสนอข้อมูลข่าวสารต้องมีคุณภาพ

เมื่อวันที่ 3 พ.ค. 64 เป็นวันเสรีภาพสื่อมวลชนโลก World press freeedom day (WPFD) ซึ่งสื่อมวลชนทั่วโลกร่วมจัดกิจกรรมรณรงค์ในวันดังกล่าว

โดยในส่วนภาคีเครือข่ายสื่อมวลชนของไทย ในนามโคแฟคประเทศไทย Cofact Thailand ได้จัดกิจกรรมเสวนาออนไลน์ Digital Thinkers Forum เวทีนักคิดดิจิทัลครั้งที่ 15 ว่าด้วยเรื่อง “Information as A Public Good.” หนึ่งในหัวข้อเสวนาคือ “วารสารศาสตร์แห่งความจริงในยุคโควิด บทเรียนและอุปสรรค”  

ผศ.ดร.ณภัทร เรืองนภากุล อาจารย์คณะสารสนเทศและการสื่อสาร มหาวิทยาลัยแม่โจ้ และผู้ร่วมภาคีโคแฟค (COFACT) ประเทศไทย เปิดเผยในงานเสวนา (ออนไลน์) เรื่อง “วารสารศาสตร์แห่งความจริงในยุคโควิด บทเรียน และอุปสรรค” เมื่อวันที่ 3 พฤษภาคม ที่ผ่านมา ว่า ขณะนี้มี ข่าวปลอม (Fake News) ที่เกิดขึ้นภายใต้ของบรรยากาศแห่งความหวาดกลัวในช่วงที่เกิดการระบาดของไวรัสโควิด-19 ระลอกใหม่อย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะประเด็นที่เกี่ยวข้องกับวัคซีน ทั้งกรณีการบิดเบือน และการสื่อสารที่คลาดเคลื่อน (Misleading) เช่น วัคซีนฝังไมโครชิปบ้าง เปลี่ยนรหัสพันธุกรรม (DNA) บ้าง หรือทำให้คนเป็นหมันบ้าง หรือขัดต่อหลักศาสนาบ้าง

ด้วยกรณีที่เกิดขึ้นนี้ ทำให้ทีมงานของโคแฟค ต้องสืบค้นข้อมูล และพบว่าในเนื้อหาของข่าวบางส่วนก็เป็นความจริงและไม่จริงในข่าวเดียวกัน เช่น มีการอ้างถึงบุคคลทำงานในบริษัทวัคซีน ซึ่งบุคคลดังกล่าวทำงานจริงแต่ไม่ได้อยู่ในส่วนผลิตวัคซีน หรือเมื่อเข้าไปค้นฐานข้อมูลวารสารวิชาการที่ถูกอ้างถึงก็พบว่าไม่มีงานวิจัยนั้นอยู่จริง หรือมีแม้กระทั่งการสะกดชื่อวารสารแบบผิด ๆ หากไม่สังเกตก็กลายเป็นการส่งต่อข้อมูลที่ผิดได้

ส่วนความท้าทายสำคัญอีกด้านหนึ่งคือการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารทำนองนี้ มักส่งต่อในกลุ่มปิด เช่น กลุ่มไลน์ (แอปพลิเคชั่น Line) ที่ผู้ส่งต่อข้อมูลเป็นบุคคลที่ไว้วางใจ เป็นเพื่อนบ้าง ญาติบ้าง บุคคลที่เคารพนับถือบ้าง ทำให้หลายคนเกิดความเชื่อและส่งข้อมูลต่อไปอีก

ขณะเดียวกันการแชร์ข้อมูลเหล่านี้ยังพบว่า ไม่ได้มีการแชร์แค่ในกลุ่มประชาชนทั่วไป หรือแชร์ในสื่อโซเชียลมีเดีย เช่น เฟซบุ๊ก หรือทวิตเตอร์ เพราะจะมีการส่งต่อในกลุ่มปิด โดยเฉพาะแอปพลิเคชันไลน์ (Line) ซึ่งถือเป็นกลุ่มสังคม หรือเป็นบุคคลที่มีความใกล้ชิด เป็นบุคคลที่ไว้วางใจ ทั้งไลน์ของครอบครัว หรือเพื่อนร่วมงาน หรือกลุ่มของนักธุรกิจ ทำให้ผู้รับเกิดความเชื่อ และส่งข้อมูลต่อไปอีก เพราะเชื่อในข้อมูลของผู้ที่ส่งมาว่าเป็นความจริง

ประกอบกับความไว้เนื้อเชื่อใจ และทัศนคติที่มีต่อการทำงานของหน่วยงานภาครัฐที่ดูแลในเรื่องโควิด ที่มีประชาชนอาจไม่ไว้ใจมากนัก ก็ยิ่งทำให้คนเปิดรับข้อมูลข่าวสารจากแหล่งอื่น ๆ แต่ขาดทักษะในการคัดกรองข้อมูลว่าเป็นข่าวปลอม หรือปลอมบางส่วน หรือจริงบางส่วน ซึ่งสถานการณ์เหล่านี้ไมได้เกิดขึ้นเฉพาะในประเทศไทย แต่ยังเกิดขึ้นในอีกหลายประเทศ เช่น ไนจีเรีย ที่มีผู้ทำการศึกษาพบว่า มีผู้ส่งต่อข้อมูลข่าวปลอม ซึ่งไม่ได้ส่งเพราะความบันเทิง แต่มาจากความห่วงใยสุขภาพของคนใกล้ชิดที่รู้จักกัน

“ที่ผ่านมาทางยูเนสโก ซึ่งเป็นหนึ่งในผู้จัดตั้งวันเสรีภาพสื่อมวลชนโลก ก็แสดงความเป็นห่วงในเรื่องของข่าวลวงที่เกี่ยวข้องกับโควิดเช่นเดียวกัน โดยมีการเผยแพร่ข้อมูลงานวันนี้ว่า การทำงานของสื่อมวลชนก็อยู่ในสภาวะที่ค่อนข้างล่อแหลมมากขึ้นเรื่อย ๆ ในขณะที่ประชาชนก็ต้องการข้อมูลมากยิ่งขึ้น ทำให้ต้องต่อสู้กับเรื่องของข่าวลวงในยุคของโซเชียลมีเดียที่มีการส่งต่อข้อมูลกันมากมาย และยังเกิดปรากฏการณ์หั่นซอยข้อมูลด้วย จึงคิดว่า เรื่องนี้ทำให้เราไม่สามารถตรวจสอบย้อนกลับได้ว่าข้อมูลนั้นมาจากใคร ไม่มีแม้กระทั่งชื่อของแหล่งข่าว ทำให้ตรวจสอบทำได้ยากมากขึ้น”

ผศ.ดร.ณภัทร ยอมรับว่า ตามทฤษฎีนิเวศสื่อวิทยา (Media ecology) ไม่ว่าจะเป็นภาครัฐ หรือภาคการศึกษา เอกชน หรือ สื่อเองต้องทำงานอย่างสอดคล้องไปในทิศทางเดียวกัน โดยต้องมองว่าข้อมูลยังเป็นสิ่งที่จำเป็นอยู่ แม้การห้ามหรือปิดกั้นไม่ให้ส่งต่อข้อมูลเพราะกลัวจะเป็นข่าวปลอมก็ไม่น่าใช่หนทางที่ถูกต้อง สิ่งที่ควรจะเป็นคือข้อมูลนั้นต้องมีคุณภาพ ตรวจสอบแหล่งที่มาได้ และได้รับการตรวจสอบแล้วก่อนเผยแพร่หรือส่งต่อให้กันและกัน เพื่อให้ข้อมูลนั้นเป็นประโยชน์ต่อสาธารณะ

นอกจากนี้ยังมองว่า พลเมืองที่มีการรู้เท่าทันสื่อถือว่า มีความสำคัญในการสร้างและสนับสนุนเสรีภาพ รวมถึงความปลอดภัยของสื่อมวลชนในการหาข่าวและข้อมูลที่เป็นประโยชน์บนพื้นฐานของการตรวจสอบข้อมูลจากแหล่งข่าวที่น่าเชื่อถือ และสิ่งสำคัญอีกอย่าง คือ ต้องตรวจสอบเวลาของข้อมูลเหล่านั้นด้วยว่า เป็นจริง ณ เวลานั้นหรือไม่

ด้าน รศ.ธีรภัทร วรรณฤมล คณบดีคณะการสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ แสดงความเห็นว่า การทำงานของสื่อในปัจจุบันค่อนข้างลำบาก เพราะต้องเจอภาวะของ การเปลี่ยนแปลงที่เกิดจากเทคโนโลยีดิจิทัล (Digital Disruption) การปรับลดคน จนไม่สามารถทำงานกันได้อย่างเต็มที่ เช่นเดียวกับอำนาจรัฐและอำนาจทุน ก็ส่งผลให้การทำงานค่อนข้างลำบาก เช่นเดียวกับ ข่าวปลอม หรือการสื่อสารที่คลาดเคลื่อน ซึ่งการนำเสนอข่าวนั้นข้อเท็จจริง (Fact) เป็นสิ่งสำคัญที่สุด มากกว่าการใส่สีสันเพื่อเรียกเรตติ้ง เพราะจะทำให้เกิดวิกฤตศรัทธาได้มากกว่า ที่ผ่านมาได้มีโอกาสฟังเสวนาของสื่อเอเชียแปซิฟิกที่มีสำนักข่าวมารวมกันกว่า 30 แห่ง พบว่า สื่อทุกสำนักพยายามทำงานอย่างเต็มที่

ทั้งนี้ที่ผ่านมาทาง International Centre for Journalists  ได้มีการสำรวจความคิดเห็นคนทั่วโลกว่ามีความคิดเห็นอย่างไรกับความเชื่อมั่นของการนำเสนอข่าวของสื่อกระแสหลัก โดย 40% ระบุว่า สื่อกระแสหลักและสำนักข่าวต่าง ๆ มีความน่าเชื่อถือ

นอกจากนี้ การสื่อสารให้เข้าถึงกลุ่มเป้าหมายก็สำคัญไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากัน เช่น ไต้หวัน มีสถานีวิทยุแห่งหนึ่งจัดสรรเวลาเพื่อจัดรายการให้ความรู้การปฏิบัติตนในสถานการณ์การระบาดของไวรัสโควิด-19 แบบจำเพาะเจาะจงกลุ่มนักศึกษาบ้าง ชาวต่างชาติบ้าง ว่าจะต้องทำอะไรบ้าง ต้องเดินทางกลับภูมิลำเนาหรือไม่ ต้องทำวีซ่าหรือไม่ โดยให้ประชากรแต่ละกลุ่มดังกล่าวโทรศัพท์เข้ามาสอบถามและได้คำตอบอย่างชัดเจน ชี้ให้เห็นว่าในช่วงเวลาแบบนี้สื่อมวลชน โดยเฉพาะสื่อกระแสหลักสามารถเป็นที่พึ่งของประชาชนได้อย่างมาก

“หัวใจของสื่อที่จะต่อสู้ในยุคนี้ ทั้งเรื่องของโควิด-19 หรือ Digital Disruption สิ่งสำคัญ คือ จะต้องผลิตข่าวสารที่มีคุณภาพ ที่ผ่านมาเราเห็นสื่อแข่งขันกันเรื่องความเร็ว แต่ช่วงวิกฤติไปแข่งเรื่องความเร็วไมได้ ต้องแข่งในเรื่องข่าวสารที่มีคุณภาพ เน้นความถูกต้องและเน้นความน่าเชื่อถือ ถ้าเกิดเป็นข่าวที่ไม่ถูกต้อง จะเกิดอาการโกลาหลขึ้นมา บางทีอาจไปถึงขั้นชีวิตความเป็นอยู่ และความเป็นความตายได้”

รศ.ธีรภัทร ยังระบุอีกว่า ในด้านของการนำเสนอข่าวสารอย่างอิสระนั้น สิ่งสำคัญคือ ต้องแสวงหาความจริง มีการตรวจสอบข้อมูล ไม่ควรจะรอข้อมูลจากภาครัฐอย่างเดียว เพราะจะกลายเป็นเพียงการสื่อสารทางเดียวเท่านั้น ต้องรับฟังข้อมูลผู้ฟัง หรือจากประชาชนด้วย และสอบถามหาข้อเท็จจริง จะช่วยต้านทานข่าวปลอมต่าง ๆ ได้เป็นอย่างมาก