แรงงานข้ามชาติ-เชื้อชาติแตกต่าง’สังคมไทยรับได้และเข้าใจเสมอมา แต่ห่วง‘ปั่นกระแส’ทำไขว้เขวสู่ความเกลียดชัง
23 ก.ย. 2567 รายการ “Cofact Live Talk” ทางเพจเฟซบุ๊ก “Cofact โคแฟค” ชวนพูดคุยในหัวข้อ ‘Myths & Migrant workers: From Disinfo to Discrimination? จากมายาคติต่อแรงงานข้ามชาติสู่ไวรัลปั่นความเกลียดชังออนไลน์” กับวิทยากร ผศ.ดร.ลลิตา หาญวงษ์ อาจารย์ภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ โดยมี สุภิญญา กลางณรงค์ ผู้ร่วมก่อตั้งภาคีโคแฟค (ประเทศไทย) เป็นผู้ดำเนินรายการ
อาจารย์ลลิตา อธิบายรากเหง้าของปัญหาอคติ (หรือมายาคติ) ที่พลเมืองในประเทศมีต่อแรงงานข้ามชาติ ซึ่งก็มาจากทัศนคติแบบชาตินิยม โดยมองเรื่องสิทธิประโยชน์ของคนไทยต้องมาก่อนในฐานะเป็นคนจ่ายภาษี แต่จริงๆ แล้ว ไม่ว่าใครที่อยู่ในประเทศไทยล้วนจ่ายภาษีและมีส่วนร่วมในการกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านการจับจ่ายใช้สอย ขณะเดียวกัน เมื่อมองการเข้ามาของชาวต่างชาติก็ต้องแยกเป็นหลายส่วน อาทิ แรงงานที่เข้ามาอย่างถูกกฎหมาย แรงงานที่เข้ามาอย่างผิดกฎหมาย
รวมไปถึงชนชั้นกลางที่ต้องการแสวงหาโอกาสในประเทศที่มีความสงบมากกว่า เช่น ประเทศเพื่อนบ้านของไทยอย่างเมียนมา ที่ผ่านไป 3 ปีกว่าแล้วยังคงได้รับผลจากการรัฐประหารเมื่อปี 2564 จะพบว่าย่านสุขุมวิทมีชาวเมียนมาจำนวนมาก มีร้านอาหารเมียนมาที่เป็นผู้ประกอบการทั่วไปไม่ใช่ร้านแฟรนไชส์เกิดขึ้นหลายแห่ง ยังไม่ต้องนับเมืองหรือจังหวัดที่อยู่ติดชายแดน หรือที่มีข่าวว่าชาวเมียนมาเป็นลูกค้ากลุ่มใหญ่ในตลาดคอนโดมิเนียมของไทย
“ดังนั้นการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ในมิตินี้จริงๆ แล้วเขาก็เป็นคนจ่ายภาษี ตราบใดที่เขาเดินไปซื้อของตามร้านทั่วๆ ไป เขาก็ต้องจ่ายภาษี ซึ่งแรงงานเมียนมาที่เข้ามาทำงานในประเทศไทยยาวนานหลายสิบปีมาแล้ว เพราะสถานการณ์ทางการเมืองภายในประเทศของเขาไม่ค่อยมีความสงบ ครั้งใหญ่ที่สุดก็คือหลังปี 2531 (1988) พอเกิดเหตุการณ์ประท้วงใหญ่ๆ ในประเทศของเขา ประชาชนก็จะเข้ามาในประเทศไทย”
เมื่อมองย้อนไปในยุคหลายสิบปีก่อน สังคมไทยยังไม่ได้เปิดกว้างขนาดให้มีชนชั้นกลางจากประเทศเพื่อนบ้านเข้ามาทำงาน ดังนั้นชาวเมียนมาที่เข้ามาในประเทศไทยเป็นแรงงานประเภททักษะน้อย ทำงานโรงงานบ้าง อุตสาหกรรมประมงบ้าง อาทิย่านมหาชัย ใน จ.สมุทรสาคร เป็นพื้นที่ที่แรงงานชาวเมียนมาอยู่เป็นจำนวนมาก เนื่องจากเป็นที่ตั้งของโรงงานแปรรูปอาหารทะเล จนมีองค์กรภาคประชาสังคม (NGO) ที่เข้าไปดูแลด้านสิทธิและสวัสดิการต่างๆ ของแรงงานชาวเมียนมาในย่านดังกล่าวโดยเฉพาะ
ช่วงที่ อองซานซูจี ผู้นำรัฐบาลพลเรือนเมียนมา มาเยือนประเทศไทยเมื่อหลายปีก่อน ยังได้ไปพบปะกับแรงงานชาวเมียนมาในย่านมหาชัย สะท้อนถึงความสำคัญของแรงงานชาวเมียนมาต่อเศรษฐกิจไทยอย่างชัดเจน “หากไม่มีแรงงานชาวเมียนมา ย่านมหาชัยคงกลายเป็นเมืองร้าง และไม่รู้ว่าจะหาแรงงานที่ไหนมาทดแทนในอุตสาหกรรมประมงได้”ที่ผ่านมาอาจมีความเชื่อว่าชาวเมียนมาเข้ามาแย่งงานคนไทย แต่ในความเป็นจริงคือคนเหล่านี้เข้ามาทำงานที่คนไทยไม่ทำ ซึ่งก็มีปัจจัยเรื่อง “ทัศนคติของนายจ้าง” อยู่ด้วย
นั่นคือ “แรงงานข้ามชาติยอมรับการทำงานหนักแต่ได้ค่าแรงน้อยได้” พบว่าแรงงานเมียนมามีอัตราการลาออกเพราะไม่พอใจนายจ้างค่อนข้างน้อยกว่าแรงงานไทย รวมถึงแรงงานเมียนมาได้ค่าจ้างในอัตราน้อยกว่าค่าจ้างขั้นต่ำ หรือแม้กระทั่งในกลุ่มแรงงานทักษะสูง ชาวเมียนมาเรียกร้องขอเงินเดือนต่ำกว่าชาวไทยที่เรียนจบมาในสาขาเดียวกันและต้องการสมัครงานในตำแหน่งเดียวกัน
“เราลองไปดูตามกลุ่มหางานของคนเมียนมาในไทย เราจะพบว่าคนที่เป็นวิศวกรคอมพิวเตอร์ ภาษาอังกฤษคล่องมาก ขอเงินเดือน 15,000 เราจะเห็นคนที่เป็นวิชาชีพที่แบบเข้มๆ ในระดับที่ในประเทศไทยต้องเงินเดือน 5-7 หมื่น เขาขอ 15,000 หรือ 12,000 เสียด้วยซ้ำไปในบางเคส กราฟิกดีไซเนอร์เก่งๆ หมื่นกว่าบาท ขอแค่ตรงนี้ ทำอย่างไรก็ได้ให้มาอยู่ในประเทศไทย นี่คือสถานการณ์ที่เกิดขึ้น”
อาจารย์ลลิตา กล่าวต่อไปถึงกฎหมายใหม่ที่ออกโดยรัฐบาลรัฐประหารของเมียนมา กำหนดให้ชาวเมียนมาที่ไปทำงานต่างประเทศ ต้องจ่ายภาษีร้อยละ 25 ของรายได้ที่ส่งกลับมาให้ญาติพี่น้องในเมียนมา เนื่องจากผลิตภัณฑ์มวลรวม (GDP) ของเมียนมา จากเงินที่ชาวเมียนมาที่กระจายกันไปทำงานในประเทศต่างๆ ทั่วโลก ถือว่าเป็นสัดส่วนที่ใหญ่มาก อย่างในประเทศไทย ตัวเลขอย่างเป็นทางการของแรงงานชาวเมียนมาจะอยู่ประมาณ 2-3 ล้านคน แต่หากเป็นตัวเลขไม่เป็นทางการอาจจะสูงราว 6-7 ล้านคน และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นหากสถานการณ์ในเมียนมายังไม่สงบ
ทั้งนี้ สังคมไทยค่อนข้างมีขันติธรรมในเรื่องเชื้อชาติพอสมควร เพราะหลายคนก็มีบรรพบุรุษมาจากต่างแดน เช่น จีน มอญ ลาว เวียดนาม ไม่ว่ามาเป็นแรงงานแสวงหาโอกาสทางเศรษฐกิจหรือหนีภัยสงคราม เนื่องจากประเทศไทยค่อนข้างสงบกว่าเมื่อเทียบกับเพื่อนบ้าน แม้จะมีความขัดแย้งแต่ก็ไม่ถึงขั้นเป็นสงครามขนาดใหญ่ เช่น พื้นที่สู้รบในสงครามเวียดนาม หรือประเทศกัมพูชาที่เคยมีสงครามกลางเมือง เป็นต้น
ส่วนประเด็น “การปั่นกระแสสร้างความเกลียดชังบนโลกออนไลน์” ต้องบอกว่า “ในความเป็นจริงสังคมไทยเข้าใจว่าเราต้องพึ่งพาแรงงานข้ามชาติ”ผู้ประกอบการก็ต้องการแรงงานชาวเมียนมาไปช่วยขับเคลื่อนธุรกิจ “แต่มีคนบางส่วนต้องการปั่นกระแสโดยพยายามทำให้กลายเป็นประเด็นทางการเมือง”
“เราไม่ได้หมายถึงพรรคการเมืองต้องเซ็นเซอร์ตัวเอง แต่อย่างในยุโรปหรืออเมริกา ประเด็นเรื่องเชื้อชาติ เรื่องผู้อพยพลี้ภัยเป็นเรื่องใหญ่ การที่ฝ่ายการเมืองไม่คัดกรองแต่ออกมาพูดถึงเรื่องนี้ ทำให้กลายไปเป็นเครื่องมือของฝ่ายต่อต้านที่อาจจะหยิบยกข้อความมา 2-3 คำ แล้วนำมาขยายความซึ่งทำให้เกิดข้อมูลที่บิดเบือนไปหมด”
อาจารย์ลลิตา กล่าวเสริมในประเด็นนี้ว่า แม้ตนเองจะไม่ใช่นักวิชาการด้านแรงงานหรือด้านการอพยพย้ายถิ่นโดยตรง แต่จากการทำงานในคณะกรรมาธิการความมั่นคงในสภา ได้แลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับคนที่ทำงานด้านแรงงานข้ามชาติ แล้วเห็นว่า“ต้องอธิบายให้สังคมเข้าใจในสิ่งที่สังคมเข้าใจอยู่แล้ว เพียงแต่บางคนอาจจะไขว้เขวไปเพราะได้รับข้อมูลที่มาจากกระแสดรามาที่เกิดขึ้น” จึงอยากสื่อสารว่า “เชื้อชาติเป็นเรื่องละเอียดอ่อน” สามารถลุกลามไปถึงขั้นเกิดเหตุจลาจลได้ ซึ่งเคยมีตัวอย่างมาแล้วในต่างประเทศ และมีเหตุรุนแรงถึงขั้นมีผู้เสียชีวิต เช่น ความขัดแย้งระหว่างคนเชื้อสายพม่ากับเชื้อสายอินเดีย ในยุคที่เมียนมายังเป็นอาณานิคมของอังกฤษ หรือระหว่างคนเชื้อสายมาเลย์กับเชื้อสายจีนในสิงคโปร์ คำถามคือ “เราอยากให้สังคมไทยเป็นแบบนั้นจริงๆ หรือ?” เพราะที่ผ่านมาแม้จะมีบางประเด็นที่สังคมไทยไม่รับอยู่บ้าง เช่น เรื่องของชาวโรฮิงญา แต่ก็ยังรับได้กับแรงงานข้ามชาติอย่างชาวเมียนมา ซึ่งหากมีการปั่นกระแสด้วยถ้อยคำสร้างความเกลียดชัง (Hate Speech) ไปในระดับที่รุนแรงมากขึ้น จึงเป็นสิ่งที่น่ากังวล
ด้าน สุภิญญา กล่าวเพิ่มเติมว่า ตนเองมาจากครอบครัวที่อยู่ในภาคใต้ของไทย ซึ่งภาคเศรษฐกิจสำคัญของภาคใต้คือ การทำสวนยางพารา แต่ระยะหลังๆ คนทำงานในสวนยางมีน้อยมากที่จะเป็นคนใต้หรือคนไทย ส่วนใหญ่จะเป็นแรงงานข้ามชาติที่มาอยู่กันเป็นชุมชนและก็อยู่กันด้วยดี ซึ่งแม้แรงงานเหล่านี้จะมีรายได้ไม่สูง แต่ก็ถือว่าเป็นเงินที่มากพอสมควรเมื่อส่งกลับไปให้ญาติพี่น้องที่ประเทศบ้านเกิด ในมุมหนึ่งก็เข้าใจว่าการที่คนเหล่านี้มีความอดทนที่ต้องอยู่ห่างไกลครอบครัวก็เพราะไม่มีทางเลือก ไม่รู้ว่ากลับไปแล้วจะเป็นอย่างไร
“จริงๆ คนไทยกับแรงงานข้ามชาติในภาพรวมไม่ได้มีปัญหาอะไร มีความรักใคร่กันดี เพราะเขามาช่วยเราเยอะ มีแต่คนอยากได้มาทำงาน แต่ก็มีกลุ่มสุดโต่งอยู่ทั้งที่ Organic (เป็นไปเองโดยปัจเจก) และ IO (ปฏิบัติการข้อมูลข่าวสาร) ซึ่งเป็นสิ่งที่น่ากลัวว่าตอนนี้อาจจะไม่มีอะไรเกิดขึ้น แต่หากมีอะไรกระตุ้นขึ้นมา อาจจะก่อปัญหาให้บานปลายก็ได้ จากเรื่องเล็กจะกลายเป็นเรื่องใหญ่ได้”
หมายเหตุ : ยังมีอีกหลายประเด็นที่น่าสนใจ ซึ่งสามารถรับชมรายการเต็มแบบย้อนหลังได้ที่ https://www.facebook.com/CofactThailand/videos/1046760563583842?locale=th_TH
-/-/-/-/-/-/-/-/-/-/-