โควิดระบาดรอบใหม่ร้ายแรง? ชัวร์หรือมั่ว!

กิจกรรม

วันที่ 13 พฤษภาคม 2568 รายการ “โคแฟคสนทนา รวมพลคนเช็กข่าว” ออกอากาศครั้งแรกผ่านช่องทาง COFACT , UbonConnect ทั้ง Facebook และ Youtube รวมถึงเครือข่าย วารินชำราบบ้านเฮา , Vr CableTV , สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดอุบลราชธานี โดยมีเป้าหมายเพื่อให้ประชาชนร่วมตรวจสอบข่าวลวง ข่าวปลอม และข่าวเท็จที่แพร่สะพัดในสังคม ครั้งนี้ประเด็นร้อนที่นำมาพูดคุยคือข่าวลือเรื่อง “โควิด-19 ระบาดรอบใหม่รุนแรง” ซึ่งสร้างความกังวลให้ประชาชนจากข้อความที่แชร์กันในโซเชียลมีเดียและกลุ่มไลน์ โดยสุภิญญา กลางณรงค์ ผู้ร่วมก่อตั้ง COFACT นายแพทย์ธีระพงษ์ แก้วภมร นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดอุบลราชธานี คุณเบ็ญ ตัวแทนประชาชนคนเช็กข่าว ดำเนินรายการโดยสุชัย เจริญมุขยนันท

ในช่วงเริ่มรายการ คุณสุภิญญาเน้นย้ำแนวคิดของ COFACT ที่ต้องการให้ทุกคนเป็น “คนเช็กข่าว” ด้วยตัวเองในยุคที่ข้อมูลท่วมท้นและยากจะแยกแยะความจริง โดย COFACT มีฐานข้อมูลออนไลน์ให้ประชาชนตรวจสอบข้อมูล รวมถึงเปิดช่องทางให้ส่งข่าวมาพิสูจน์ผ่าน LINE @COFACT และเว็บไซต์ cofact.org ด้านคุณเบ็ญเล่าถึงข้อความในกลุ่มไลน์ที่ได้รับ เช่น ข่าวเตือนให้งดเดินทาง ระวังการระบาดรุนแรงใน 8 จังหวัด พร้อมแนะนำวิธีดูแลตัวเอง เช่น การกินวิตามินซี วิตามินอี ตากแดด และรักษาความชุ่มชื้นในลำคอ รวมถึงคำเตือนเรื่องล็อกดาวน์หรือการติดเชื้อจากการเดินสวนกัน ซึ่งสร้างความตื่นตระหนกให้ผู้รับสาร

นายแพทย์ธีระพงษ์ชี้แจงว่า ข่าวลือเรื่องโควิดระบาดรอบใหม่รุนแรงนั้นไม่เป็นความจริง ปัจจุบันโควิด-19 ถือเป็น “โรคประจำถิ่น” ที่พบผู้ป่วยได้ตลอดทั้งปีเหมือนไข้หวัดทั่วไป โดยข้อมูลจากกรมควบคุมโรคระบุว่า ในปี 2568 มีผู้ป่วยสะสม 45,958 ราย เสียชีวิต 15 ราย ซึ่งลดลงอย่างมากเมื่อเทียบกับปี 2567 ที่มีผู้ป่วย 777,730 ราย และเสียชีวิต 222 ราย ลดลงเกือบ 7 เท่า

ผู้เสียชีวิตส่วนใหญ่เป็นกลุ่มเสี่ยง 608 (ผู้สูงอายุและผู้มีโรคประจำตัว) ซึ่งมีความเสี่ยงสูงต่อการเสียชีวิตจากโรคต่าง ๆ อยู่แล้ว แม้ไม่ติดโควิด การระบาดเป็นกลุ่มก้อนหรืออาการรุนแรงก็ลดลงอย่างชัดเจน

สำหรับคำแนะนำที่แชร์กัน เช่น การดื่มน้ำอุ่น 50-80 ซีซีเพื่อรักษาความชุ่มชื้นในลำคอ หรือการหลีกเลี่ยงสถานที่แออัด คุณหมอยืนยันว่าไม่มีหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ยืนยันว่าการดื่มน้ำปริมาณเฉพาะเจาะจงป้องกันโควิดได้ การดื่มน้ำเพียงพอช่วยให้ร่างกายแข็งแรงทั่วไป แต่การป้องกันที่มีประสิทธิภาพคือการฉีดวัคซีน (ซึ่งปัจจุบันไม่ได้นำเข้าแล้ว) การสวมหน้ากากอนามัยในที่แออัด การล้างมือบ่อย ๆ และการอยู่ในที่อากาศถ่ายเทสะดวก ส่วนการหลีกเลี่ยงสถานที่แออัดเป็นคำแนะนำที่เหมาะสมสำหรับกลุ่มเสี่ยง เพื่อลดโอกาสติดเชื้อไม่เฉพาะโควิด แต่รวมถึงไข้หวัดใหญ่หรือวัณโรคด้วย

เมื่อถูกถามถึงวิธีแยกอาการโควิด-19 กับไข้หวัดใหญ่ คุณหมออธิบายว่าอาการคล้ายกันมาก เช่น ไข้ ไอ เจ็บคอ อ่อนเพลีย แต่โควิดอาจมีอาการเฉพาะ เช่น การสูญเสียการรับรสหรือกลิ่น หายใจลำบาก หรือท้องเสีย การตรวจ ATK เป็นวิธีที่แม่นยำที่สุดในการยืนยัน ส่วนกรณีที่ประชาชนกังวลเรื่องผลข้างเคียงจากวัคซีน คุณหมอชี้แจงว่าในช่วงวิกฤตโควิด ทุกประเทศต้องเร่งพัฒนาและใช้วัคซีนในเวลาจำกัดเพื่อลดอัตราการเสียชีวิต ซึ่งประเทศไทยก็ติดตามผลข้างเคียงอย่างต่อเนื่อง โดยส่งข้อมูลให้คณะกรรมการพิจารณาเป็นรายกรณี อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันไม่มีวัคซีนโควิดนำเข้าแล้ว ผู้ป่วยจะได้รับการรักษาตามอาการ

สำหรับสัญญาณที่ควรไปโรงพยาบาล คุณหมอแนะนำให้สังเกตอาการที่กระทบการใช้ชีวิตประจำวัน เช่น หายใจไม่สะดวก ท้องเสียรุนแรง หรืออาการทรุดลง โดยสามารถติดต่อหน่วยสาธารณสุขใกล้บ้านเพื่อรับคำแนะนำ โดยไม่ต้องแจ้งสถานพยาบาลเหมือนในอดีต เนื่องจากโควิดเป็นโรคประจำถิ่นแล้ว ส่วนไข้หวัดใหญ่ที่กำลังระบาด คุณหมอระบุว่ามีผู้เสียชีวิตจากปอดอักเสบทุกปี และแนะนำให้กลุ่มเสี่ยงฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ที่มีให้บริการตั้งแต่เดือนพฤษภาคมเป็นต้นไป

คุณหมอยังเตือนถึงปัญหาข่าวลวงด้านสุขภาพที่พบมากในโซเชียลมีเดีย เช่น ข่าวเท็จที่อ้างชื่ออาจารย์ประสิทธิ์จากศิริราชเตือนการระบาดรุนแรง ซึ่งได้รับการยืนยันแล้วว่าไม่เป็นความจริง แนะนำให้ประชาชนตรวจสอบข้อมูลจากแหล่งที่เชื่อถือได้ เช่น กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข หรือสอบถามเจ้าหน้าที่สาธารณสุขใกล้บ้าน แทนการเชื่อข้อมูลจาก TikTok หรือโพสต์ที่หวังยอดไลก์

สรุป: ข่าวลือโควิดระบาดใหม่รุนแรงเป็น “ข่าวมั่ว” โควิด-19 เป็นโรคประจำถิ่นที่ไม่น่ากังวลเหมือนในอดีต ประชาชนควรใช้ชีวิตตามปกติ ป้องกันตัวด้วยวิธีพื้นฐาน และตรวจสอบข้อมูลจากแหล่งที่เชื่อถือได้เท่านั้น

รับชมเพิ่มเติม คลิก