วันงดสูบบุหรี่โลก2024 : ‘บุหรี่ไฟฟ้าอันตรายน้อยกว่าบุหรี่มวน’ ความเข้าใจคลาดเคลื่อนที่น่าห่วง!!!
By : Zhang Taehun
เวียนมาถึงอีกครากับ “วันงดสูบบุหรี่โลก(World No Tobacco Day)” 31 พฤษภาคม ของทุกปี โดยองค์การอนามัยโลก (WHO) ริเริ่มให้มีวันดังกล่าวขึ้นมาตั้งแต่ปี 2531 เพื่อกระตุ้นให้ประชาคมนานาชาติทั้งภาครัฐและประชาชนเห็นถึงโทษภัยของยาสูบ ซึ่งส่งผลกระทบต่อสุขภาพและสร้างภาระทางเศรษฐกิจ ซึ่งสำหรับวันงดสูบบุหรี่โลก ประจำปี 2567 (World No Tobacco Day 2024) ตรงกับวันศุกร์ที่ 31 พ.ค. 2567 มีคำขวัญว่า “Protecting Children from Tobacco Industry Interference” หรือ “ปกป้องเด็กๆ จากการแทรกแซงของอุตสาหกรรมยาสูบ”
บทความ “World No Tobacco Day 2024: protecting children from tobacco industry interference” ขององค์การอนามัยโลก ขยายความที่มาของขวัญดังกล่าวไว้ตอนหนึ่งว่า “บุหรี่ไฟฟ้า (Electronic Cigarette)” กำลังได้รับความนิยมในหมู่เยาวชน โดยมีการประมาณการว่า ร้อยละ 12.5ของวัยรุ่นในภูมิภาคยุโรปใช้บุหรี่ไฟฟ้าในปี 2565เทียบกับร้อยละ 2 ของผู้ใหญ่ นอกจากนั้น ในบางประเทศของภูมิภาค อัตราการสูบบุหรี่ไฟฟ้าในเด็กนักเรียนสูงกว่าอัตราการสูบบุหรี่แบบดั้งเดิม (บุหรี่มวน) ถึง 2-3 เท่า
“อุตสาหกรรมนี้จงใจขายการพึ่งพาที่ร้ายแรงให้กับคนหนุ่มสาว ดังนั้นการจัดงานวันงดสูบบุหรี่โลกในปี 2567 จึงเรียกร้องให้รัฐบาลและชุมชนเครือข่ายควบคุมยาสูบ ปกป้องคนรุ่นปัจจุบันและอนาคต และให้อุตสาหกรรมยาสูบรับผิดชอบต่ออันตรายที่เกิดขึ้น” บทความขององค์การอนามัยโลก ระบุ
เมื่อพูดถึงบุหรี่ไฟฟ้า ที่ผ่านมา “ความเข้าใจคลาดเคลื่อน (Misinformation)” ที่พบทั้งในประเทศไทยและต่างประเทศ 1.บุหรี่ไฟฟ้าปลอดภัยกว่าบุหรี่มวน น่าจะเป็นความเชื่อที่ถูกพูดถึงมากที่สุดและเป็นสาเหตุให้ผู้คนที่ยังสูบบุหรี่หันมาสูบบุหรี่ไฟฟ้าแทนบุหรี่มวนมากขึ้น แต่จริงๆ แล้ว “ไม่ว่าบุหรี่ไฟฟ้าหรือบุหรี่มวน..ล้วนอันตรายไม่แตกต่างกัน” เพราะมีสารเคมที่เป็นอันตรายต่อร่างกาย
บทความ “บุหรี่ไฟฟ้า ปลอดภัยจริงหรือ? โดย 2 อาจารย์ประจำภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พญ.นันทนัช วุฒิไกรวิทย์ และ อ.นพ.อมรพันธุ์ วงศ์กาญจนา หน่วยโรคระบบการหายใจและภาวะวิกฤติการหายใจ ฝ่ายอายุรศาสตร์ ที่เผยแพร่บนเว็บไซต์ รพ.จุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย กล่าวถึงสารเคมีที่พบในบุหรี่ไฟฟ้า ที่มีทั้ง “นิโคติน” เป็นสารที่ทำให้ร่างกายเสพติดการสูบบุหรี่ และทำให้ความดันโลหิตสูงขึ้น หัวใจเต้นเร็วขึ้น , “โพรไพลีนไกลคอลและกลีเซอรีน” หากสูดดมอาจเกิดการระคายเคืองปอดได้ และเพิ่มความเสี่ยงของการเกิดหอบหืด และยังมีสารประกอบอื่นๆ สารแต่งกลิ่นและรส โทลูอึน เบนซีน นิกเกิล โคบอลต์ โครเมียม ตะกั่ว
ในวันที่ 7 มิ.ย. 2566 นพ.วีรวุฒิ อิ่มสำราญ รองอธิบดีกรมการแพทย์ (ในขณะนั้น) ได้กล่าวถึงอันตรายของบุหรี่ไฟฟ้าไว้ว่า “สารประกอบในน้ำยาบุหรี่ไฟฟ้ามีสารพิษที่อันตรายไม่ต่างกว่าบุหรี่มวนทั่วไป มีสารนิโคตินเหลวซึ่งมีความเข้มข้นมากกว่านิโคตินในบุหรี่มวนปกติ” ซึ่งนิโคตินเป็นสารกระตุ้นระบบประสาทส่วนกลาง เพิ่มความดันโลหิต เพิ่มอัตราการเต้นของหัวใจ ทําให้เกิดโรคมะเร็งปอดและโรคเกี่ยวกับทางเดินหายใจ
ขณะที่ในต่างประเทศ ซึ่งแม้จะเลือกใช้นโยบายควบคุมการใช้บุหรี่ไฟฟ้า (ต่างจากประเทศไทยที่ใช้นโยบายห้ามผลิต นำเข้าและจำหน่าย) เป็นผลิตภัณฑ์ทางเลือกแทนบุหรี่มวน ก็ยังย้ำว่า “ไม่ว่าบุหรี่มวนหรือบุหรี่ไฟฟ้า..ไม่มีผลิตภัณฑ์ใดที่ปลอดภัย”เช่น บทความ “Facts about E-Cigarettes” โดยองค์การอาหารและยาแห่งสหรัฐอเมริกา (FDA) วันที่ 26 ก.ค. 2566 ที่แม้จะให้ข้อมูลในด้านหนึ่งว่า ผลิตภัณฑ์ยาสูบที่ต้องจุดไฟให้เกิดควัน (Smoked เช่น บุหรี่มวน) ก่อให้เกิดความเสี่ยงต่อสุขภาพมากที่สุด เมื่อเทียบกับผลิตภัณฑ์ยาสูบชนิดที่ไม่ต้องจุดใฟให้เกิดควัน แต่อีกด้านหนึ่งก็ย้ำว่า ไม่มีผลิตภัณฑ์ยาสูบชนิดใดที่ปลอดภัย
บทความเดียวกันยังกล่าวต่อไปว่า “ละอองจากบุหรี่ไฟฟ้า (บางครั้งเรียกว่า “ไอ–Vapor”)ไม่ใช่ไอน้ำธรรมดา แต่อาจมีสารเคมีที่เป็นอันตราย” รวมถึงอะโครลีนและอะซีตัลดีไฮด์ (Acrolein & Acetaldehyde) ซึ่งสามารถทำลายปอดได้ ซึ่ง “การที่ FDA ควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบไม่ได้หมายความว่าผลิตภัณฑ์เหล่านั้นปลอดภัยที่จะใช้”ไม่มีผลิตภัณฑ์ยาสูบที่ปลอดภัย รวมถึงบุหรี่ไฟฟ้าและระบบนำส่งนิโคตินแบบอิเล็กทรอนิกส์ (ENDS) ประเภทอื่นๆ
สมาคมโรคหัวใจแห่งสหรัฐอเมริกา (American Heart Association) เผยแพร่บทความ “Is Vaping Better Than Smoking?” (ปรับปรุงล่าสุด 5 ม.ค. 2567) ระบุว่า บุหรี่ไฟฟ้ามีความเชื่อมโยงกับกรณีการบาดเจ็บรุนแรงที่ปอดหลายพันกรณี และบางรายส่งผลถึงขั้นเสียชีวิตได้ ซึ่งแม้ว่าสาเหตุที่แท้จริงยังไม่ได้รับการยืนยัน แต่ศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคแห่งสหรัฐอเมริกา (CDC) แนะนำว่าประชาชนไม่ควรใช้บุหรี่ไฟฟ้า
บทความเดียวกันยังกล่าวด้วยว่า บุหรี่ไฟฟ้าส่วนใหญ่มีสารนิโคติน ซึ่งเป็นสารเสพติดสูงและอาจเป็นอันตรายต่อสมองที่กำลังพัฒนาของวัยรุ่น เด็ก และทารกในครรภ์ในสตรีที่สูบไอขณะตั้งครรภ์ “บุหรี่ไฟฟ้าบางประเภททำให้ผู้ใช้ได้รับสารนิโคตินมากกว่าบุหรี่แบบดั้งเดิม” นอกจากนิโคตินแล้ว ไอบุหรี่อิเล็กทรอนิกส์ยังรวมถึงสารที่อาจเป็นอันตราย เช่น ไดอะซิติล (Diacetyl-สารเคมีที่เกี่ยวข้องกับโรคปอดร้ายแรง) สารเคมีที่ก่อให้เกิดมะเร็ง สารประกอบอินทรีย์ระเหยง่าย และโลหะหนัก เช่น นิกเกิล ดีบุก และตะกั่ว ผู้ใช้บุหรี่ไฟฟ้าจะสูดดมสารปนเปื้อนที่เป็นพิษเหล่านี้
19 มี.ค. 2567 มหาวิทยาลัยยูนิเวอร์ซิตี้ คอลเลจ ลอนดอน (UCL) ของอังกฤษ เผยแพร่รายงานผลการสึกษา “Similar DNA changes found in cells of both smokers and e-cigarette users” ที่ทำร่วมกันระหว่าง UCL กับมหวิทยาลัยอินส์บุรค (University of Innsbruck) ของออสเตรีย ที่พบว่า เซลล์เยื่อบุผิว (Epithelial Cells -เซลล์ที่มักเรียงเป็นแถวของอวัยวะและมักเป็นเซลล์ต้นกำเนิดของมะเร็ง) ในปากแสดงให้เห็นการเปลี่ยนแปลงของอีพิจีโนมิก(epigenomic) อย่างมีนัยสำคัญในผู้สูบบุหรี่
ที่สำคัญการเปลี่ยนแปลงเหล่านี้จะเพิ่มขึ้นอีกในมะเร็งปอดหรือมะเร็งระยะก่อนมะเร็ง (เซลล์หรือเนื้อเยื่อที่ผิดปกติที่มีศักยภาพในการพัฒนาเป็นมะเร็ง) เมื่อเปรียบเทียบกับเนื้อเยื่อปอดปกติ ซึ่งสนับสนุนแนวคิดที่ว่าการเปลี่ยนแปลงทางอีพีเจเนติกส์ที่เกี่ยวข้องกับการสูบบุหรี่ทำให้เซลล์สามารถ เติบโตเร็วขึ้น โดยงานวิจัยนี้พบข้อมูลใหม่ที่แสดงให้เห็นการเปลี่ยนแปลงของอีพิจีโนมิกที่คล้ายคลึงกัน ซึ่งพบได้ในเซลล์ของผู้ใช้บุหรี่ไฟฟ้าที่เคยสูบบุหรี่มวนน้อยกว่า 100 มวนในชีวิต
เชียรา เฮอร์ซ็อก (Chiara Herzog) นักวิชาการจากสถาบัน UCL EGA เพื่อสุขภาพสตรีและมหาวิทยาลัยอินส์บรุค ซึ่งเป็นผู้เขียนคนแรกของการศึกษานี้ กล่าวว่า แม้งานวิจัยของตนจะยังไม่สามารถสรุปได้ว่าบุหรี่ไฟฟ้าก่อให้เกิดมะเร็งหรือไม่แต่ก็สังเกตเห็นว่าผู้ใช้บุหรี่ไฟฟ้าแสดงการเปลี่ยนแปลงทางอีพิเจเนติกส์ที่คล้ายกันในเซลล์ช่องปากเช่นเดียวกับผู้สูบบุหรี่มวน และการเปลี่ยนแปลงเหล่านี้เกี่ยวข้องกับการเกิดขึ้นของมะเร็งปอดในอนาคตในผู้สูบบุหรี่มวน ซึ่งจำเป็นต้องศึกษาเพิ่มเติมเพื่อตรวจสอบว่าคุณลักษณะเหล่านี้สามารถใช้คาดการณ์แนวโน้มการเกิดมะเร็งในผู้สูบบุหรี่และผู้ใช้บุหรี่ไฟฟ้าเป็นรายบุคคลได้หรือไม่
2.บุหรี่ไฟฟ้าช่วยให้เลิกสูบบุหรี่ได้ ความเชื่อนี้ “ยังไม่มีอะไรยืนยันว่าเป็นความจริง” อาทิ บทความFacts about E-Cigarettes ของ FDA ระบุว่า “FDA ยังไม่มีการรับรองบุหรี่ไฟฟ้าในฐานะอุปกรณ์ช่วยเลิกบุหรี่” เพราะยังต้องการผลการศึกษาเพิ่มเติมทั้งในแง่ความปลอดภัยและประสิทธิภาพ ดังนั้นหากใครที่ไม่เคยใช้ผลิตภัณฑ์ยาสูบก็ไม่ควรริลองไม่ว่าชนิดใดๆ ส่วนคนที่สูบบุหรี่อยู่แล้วและต้องการเลิกสูบ จะมียา 7 ชนิด ที่ FDA รับรองว่าเป็นตัวช่วยได้
เช่นเดียวกับบทความ Is Vaping Better Than Smoking? ที่ระบุว่า ผู้สนับสนุนบุหรี่ไฟฟ้าอ้างว่าอุปกรณ์ดังกล่าวสามารถช่วยให้ผู้คนเลิกสูบบุหรี่ได้ แต่เรื่องนี้จำเป็นต้องมีหลักฐานอีกมากเพื่อพิจารณาว่าสิ่งเหล่านี้เป็นวิธีเลิกบุหรี่ที่มีประสิทธิภาพหรือไม่ แต่มีงานวิจัยที่ชี้ให้เห็นว่า ผู้ใช้บุหรี่ไฟฟ้ามีแนวโน้มที่จะสูบบุหรี่มวนต่อไปพร้อมกับการสูบบุหรี่ไฟฟ้า(Dual Use) หรือก็คือนอกจากจะไม่ได้เลิกสูบบุหรี่มวนแล้วยังเพิ่มการสูบบุหรี่ไฟฟ้าเข้าไปอีก
ขณะที่บทความ “E-cigarettes contain hazardous substances, addictive and harmful”ซึ่งเขียนโดย จอส แวนเดอเลียร์ (Jos Vandelaer) ผู้แทนองค์การอนามัยโลกประจำประเทศไทย เผยแพร่วันที่ 28 ก.ย. 2566 ย้ำว่า “เนื่องจากทั้งบุหรี่ไฟฟ้าและบุหรี่มวนมีสารนิโคติน จึงทำให้เสพติดได้ทั้งคู่ ดังนั้นจึงไม่ใช่ความคิดที่ดีที่จะใช้บุหรี่ไฟฟ้าเพื่อการเลิกสูบบุหรี่” แต่เป็นเพียงการเปลี่ยนรูปแบบการรับสารนิโคตินจากบุหรี่มวนไปเป็นบุหรี่ไฟฟ้าเท่านั้น
“แคมเปญต่อต้านยาสูบค่อนข้างประสบความสำเร็จในการโน้มน้าวผู้คนให้เลิกนิสัยการสูบบุหรี่ แต่ตอนนี้ บุหรี่ไฟฟ้ามักได้รับการส่งเสริมว่าเป็นผลิตภัณฑ์อุปโภคบริโภคที่ ‘ลดความเสี่ยง’ ‘ไร้ควัน’ และ ‘เป็นที่ยอมรับของสังคม’ บุหรี่ไฟฟ้าถูกวางตลาดแบบสร้างภาพว่า ‘เท่’ แต่จริงๆ แล้ว ‘บุหรี่ไฟฟ้าไม่ใช่ความเท่’ เพราะบุหรี่ไฟฟ้ายังคงทำให้เกิดการเสพติด เป็นสิ่งไม่ดีต่อสุขภาพ และทำให้เกิดปัญหาควันบุหรี่มือสองด้วย แต่กลยุทธ์ส่งเสริมการขายเหล่านี้มีศักยภาพในการทำให้การสูบบุหรี่เป็นปกติอีกครั้ง และผลักดันการใช้ผลิตภัณฑ์นิโคตินที่เสพติดได้ในระยะยาว” ผู้แทนองค์การอนามัยโลกประจำประเทศไทย กล่าวในบทความ
3.ละอองลอยจากบุหรี่ไฟฟ้าเป็นอันตรายต่อคนรอบข้างน้อยกว่าควันบุหรี่มวน ที่ผ่านมามีการเตือนภัยเรื่อง “ควันบุหรี่มือสอง (Secondhand Cigarette)” หรืออันตรายที่คนรอบข้างจะได้รับหากสูดควันบุหรี่มวนเข้าไปแม้จะไม่ได้เป็นผู้สูบบุหรี่ก็ตาม ซึ่ง “ละอองลอยมือสองจากบุหรี่ไฟฟ้าก็เป็นอันตรายต่อคนรอบข้างไม่ต่างกัน” โดยบทความ “Secondhand Electronic-Cigarette Aerosol and Indoor Air Quality” เผยแพร่โดยสำนักงานปกป้องสิ่งแวดล้อมสหรัฐอเมริกา (EPA) อธิบายว่า ละอองลอยมือสองจากบุหรี่ไฟฟ้า เป็นส่วนผสมของอนุภาคเล็กๆ และ/หรือหยดในอากาศ
“บุหรี่ไฟฟ้าจะผลิตไอระเหยโดยการให้ความร้อนกับของเหลวที่มักประกอบด้วยนิโคติน สารปรุงแต่งรส และสารเคมีอื่นๆ ซึ่งผู้สูบบุหรี่ไฟฟ้าจะสูดดมละอองนี้เข้าไปในปอด ขณะที่คนที่อยู่ใกล้กับผู้สูบบุหรี่ไฟฟ้าก็สามารถหายใจเอาละอองลอยนี้เข้าไปได้เมื่อผู้สูบบุหรี่ไฟฟ้าหายใจออกในอากาศ ละอองลอยเหล่านี้อาจมีสารที่อาจเป็นอันตราย รวมถึงนิโคติน ฟอร์มาลดีไฮด์ และสารประเภทโลหะ ซึ่งบางชนิดก่อให้เกิดมะเร็งและส่งผลเสียต่อสุขภาพอื่นๆ” บทความของ EPA ระบุ
บทความนี้ยังแนะนำด้วยว่า เพื่อลดความเสี่ยงจากละอองลอยมือสองจากบุหรี่ไฟฟ้า การห้ามสูบบุหรี่ไฟฟ้าภายในหรือใกล้อาคาร ยานพาหนะ และพื้นที่ปิดอื่นๆ เป็นวิธีเดียวที่จะกำจัดการสัมผัสละอองลอยจากมือสอง และความเสี่ยงด้านสุขภาพที่อาจเกิดขึ้นด้วย ส่วนเทคนิคการระบายอากาศ การกรอง และการทำความสะอาดอากาศอาจลดสารอันตรายที่ปล่อยออกมาจากการใช้บุหรี่ไฟฟ้าในอาคาร แต่ไม่น่าจะกำจัดสารอันตรายเหล่านั้นได้!!!
-/-/-/-/-/-/-/-/-/-/-
อ้างอิง
https://www.who.int/europe/news-room/events/item/2024/05/31/default-calendar/world-no-tobacco-day-2024–protecting-children-from-tobacco-industry-interference(World No Tobacco Day 2024: protecting children from tobacco industry interference : องค์การอนามัยโลก)
https://chulalongkornhospital.go.th/kcmh/line/are-electronic-cigarettes-really-safe/ (บุหรี่ไฟฟ้า ปลอดภัยจริงหรือ? : 12 ธ.ค. 2564)
https://pr.moph.go.th/?url=pr/detail/2/02/192625/ (บุหรี่ไฟฟ้า อันตรายพิษร้ายต่อสุขภาพ : สำนักสารนิเทศ สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข)
https://www.fda.gov/news-events/rumor-control/facts-about-e-cigarettes (Facts about E-Cigarettes : FDA 27 ก.ค. 2566)
https://www.heart.org/en/healthy-living/healthy-lifestyle/quit-smoking-tobacco/is-vaping-safer-than-smoking (Is Vaping Better Than Smoking? : American Heart Association 5 ม.ค. 2567)
https://www.ucl.ac.uk/news/2024/mar/similar-dna-changes-found-cells-both-smokers-and-e-cigarette-users (Similar DNA changes found in cells of both smokers and e-cigarette users : UCL 19 มี.ค. 2567)
https://www.who.int/thailand/news/feature-stories/detail/e-cigarettes-contain-hazardous-substances–addictive-and-harmful (E-cigarettes contain hazardous substances, addictive and harmful : องค์การอนามัยโลก 23 ก.ย. 2566)
https://www.epa.gov/indoor-air-quality-iaq/secondhand-electronic-cigarette-aerosol-and-indoor-air-quality (Secondhand Electronic-Cigarette Aerosol and Indoor Air Quality : EPA 2 มี.ค. 2567)