ภาพ ‘ทหารอิสราเอลถือธงชาติไทย’ ที่มายังไม่ชัดเจนกับความกังวลภารกิจช่วยตัวประกันในฉนวนกาซา COFACT Special Report 32/67

เป็นเวลากว่า 5 เดือนแล้ว นับตั้งแต่วันที่ 7 ต.ค. 2566 ที่กลุ่มติดอาวุธฮามาสยกพลข้ามจากฉนวนกาซา ซึ่งเป็นดินแดนปกครองของปาเลสไตน์ได้เข้าโจมตีอิสราเอล และนำไปสู่การเปิดปฏิบัติการกวาดล้างกลุ่มฮามาสโดยกองทัพอิสราเอล  แม้จะเป็นเหตุการณ์ที่ห่างไกลจากประเทศไทยมากเพราะทั้งอิสราเอลและปาเลสไตน์อยู่ในภูมิภาคตะวันออกกลาง แต่ก็มีความสำคัญเพราะมีคนไทยจำนวนมากไปทำงานเป็นแรงงานภาคการเกษตรในอิสราเอล และมีแรงงานไทยหลายคนเสียชีวิตและถูกจับเป็นตัวประกันจากเหตุการณ์นี้

ข้อมูลล่าสุด ณ วันที่ 28 มีนาคม 2567 นายปานปรีย์ พหิทธานุกร รองนายกรัฐมนตรี และ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศ ระบุว่ายังเหลือคนไทยที่ถูกจับเป็นตัวประกันอีก 8 คน ซึ่งกระทรวงการต่างประเทศยังคงติดตามสถานการณ์อยู่ทุกวัน และคาดหวังว่าการผ่านมติโดยองค์การสหประชาชาติ (UN) ให้หยุดยิงทันทีในฉนวนกาซาสมรภูมิสู้รบระหว่างกองทัพอิสราเอลและกองกำลังติดอาวุธกลุ่มฮามาส จะทำให้ตัวประกันได้รับอิสรภาพมากขึ้น

ถึงกระนั้น ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา มีรายงานข่าวที่สร้างความวิตกกังวลให้กับคนไทย เมื่อมีการแชร์ภาพ ทหารอิสราเอลถ่ายภาพพร้อมกับถือธงชาติไทย เพราะภาพดังกล่าวอาจส่งผลกระทบต่อความพยายามช่วยเหลือตัวประกันของทางการไทย และที่ผ่านมาไทยได้พยายามวางท่าที เป็นกลาง มาโดยตลอด รวมถึงการใช้ทุกช่องทางเพื่อช่วยเหลือนับตั้งแต่วันแรกที่ทราบข่าวว่ามีคนไทยถูกจับเป็นตัวประกัน จนกลุ่มฮามาสเริ่มทยอยปล่อยตัวประกันมาอย่างต่อเนื่อง

จากรายงานข่าวของ นสพ.ผู้จัดการ เมื่อวันที่ 28 มี.ค. 2567 อ้างอิงข้อมูลจาก ยูนิส ทีราวี (Younis Tirawi) นักข่าวปาเลสไตน์ด้านความมั่นคงและการเมือง ได้โพสต์ภาพทหารอิสราเอลยืนอยู่ด้านหน้ารถถังโดยถือธงชาติไทยอยู่ด้วยผ่านทวิตเตอร์ (หรือ X ในปัจจุบัน) เมื่อวันที่ 27 มีนาคม 2567 ซึ่งอ้างว่าภาพดังกล่าวนำมาจากอินสตา  แกรมของ เซกี เน็ตเซอร์ (Segi Netzerr) ซึ่งเป็นทหารอิสราเอลที่ปรากฏอยู่ในภาพ ทั้งนี้ ยูนิส ทีราวี ปรากฏชื่อว่าทำงานให้กับสำนักข่าวเบลิงแคต (Bellingcat) ของเนเธอร์แลนด์

จากนั้นในวันที่ 29 มีนาคม 2567 สำนักข่าวในไทยหลายแห่ง อาทิ สถานีโทรทัศน์ช่อง 3 , เว็บไซต์ The Standard , นสพ.ข่าวสด รายงานข่าวโดยอ้างความเห็นจากกระทรวงการต่างประเทศของไทย ซึ่งสรุปได้ดังนี้ 

1) กระทรวงการต่างประเทศสั่งการให้สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงเทลอาวีฟ ตรวจสอบข้อเท็จจริงในเรื่องดังกล่าว และแสดงความห่วงกังวลต่อผลกระทบที่อาจตามมาจากภาพดังกล่าว

2) กระทรวงการต่างประเทศอิสราเอลแจ้งว่า ไม่สามารถพิสูจน์ข้อเท็จจริงได้ว่า ภาพดังกล่าวเป็นภาพที่ถูกสร้างขึ้นเพื่อโฆษณาชวนเชื่อ (propaganda) หรือเป็นภาพจริง และหากทหารอิสราเอลถือธงชาติไทยจริงก็อาจเป็นการกระทำของทหารอิสราเอลโดยรู้เท่าไม่ถึงการณ์ ทั้งนี้ รัฐบาลอิสราเอลไม่ได้ให้การสนับสนุน แต่ยอมรับว่าไม่สามารถควบคุมการกระทำส่วนตัวของทหารทุกรายได้ 3) เอกอัครราชทูตฯ ย้ำขอให้ฝ่ายอิสราเอลตรวจสอบเรื่องดังกล่าว ซึ่งกระทรวงการต่างประเทศอิสราเอลได้ตอบรับที่จะประสานงานกับกองทัพอิสราเอล (IDF) เพื่อตรวจสอบเพิ่มเติม และ 4) หากมีความชัดเจนมากขึ้น ทางกระทรวงการต่างประเทศ จะแจ้งให้ทราบต่อไป

รวมถึงมีรายงานเพิ่มเติมว่า ตามที่กระทรวงการต่างประเทศได้ชี้แจงกรณีภาพทหารอิสราเอลถือธงชาติไทย โดยได้มอบหมายให้สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงเทลอาวีฟ ทักท้วงเรื่องดังกล่าวกับฝ่ายอิสราเอลนั้น ขณะนี้มีผู้แทนระดับสูงของฝ่ายอิสราเอลได้แจ้งสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงเทลอาวีฟ ว่า กระทรวงการต่างประเทศอิสราเอลกำลังเร่งตรวจสอบ ซึ่งขณะนี้ยังไม่สามารถพิสูจน์ได้ว่าเป็นภาพจริงหรือภาพตัดต่อ แต่เห็นด้วยว่าหากเกิดขึ้นจริงถือเป็นการกระทำที่ไม่เหมาะสมจึงได้ขอให้กองทัพอิราเอลเร่งตรวจสอบภาพดังกล่าวด้วยแล้ว  

ในการนี้ ฝ่ายไทยได้เน้นย้ำถึงความห่วงกังวลและขอให้ฝ่ายอิสราเอลได้กำชับเจ้าหน้าที่ให้ระมัดระวังมากขึ้น เพื่อไม่ให้เกิดการกระทำในลักษณะดังกล่าวขึ้นอีก เนื่องจากไทยมิได้มีความขัดแย้งกับฝ่ายหนึ่งฝ่ายใด และประสงค์ให้ความขัดแย้งนี้ยุติโดยเร็ว บนพื้นฐานของการเจรจามาโดยตลอด ทั้งนี้ประเทศไทยมีความห่วงใยต่อสวัสดิภาพของตัวประกันชาวไทยที่เหลืออีก 8 คน โดยขอย้ำคำเรียกร้องให้ทุกฝ่ายปฏิบัติตามข้อมติของคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติเมื่อวันที่25 มีนาคม 2567 ที่ผ่านมา ที่เรียกร้องให้ทุกฝ่ายหยุดยิงโดยทันทีในช่วงเดือนรอมฎอน เพื่อนำไปสู่การหยุดยิงที่ยั่งยืนในพื้นที่ฉนวนกาซา และปล่อยตัวประกันทั้งหมดโดยทันทีและไม่มีเงื่อนไข

อนึ่ง สำหรับรายงานข่าวของเว็บไซต์ The Standard นั้นยังมีการอ้างถือความเห็นของ นางออร์นา ซากิฟ (Orna Sagiv) เอกอัครราชทูตอิสราเอลประจำประเทศไทย ที่กล่าวว่า ภาพที่ปรากฏนั้นอาจเป็นภาพปลอมหรือภาพที่สร้างจากเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI) หรืออาจเป็นการกระทำส่วนบุคคลของทหารที่ชื่นชอบประเทศไทย ซึ่งตนมองว่าภาพที่ออกมานั้นไม่ได้เป็นผลลบ หรือชี้ว่าไทยเกี่ยวข้องในความขัดแย้ง

ภาพที่ 1 : โพสต์จากบัญชีแพลตฟอร์ม X หรือทวิตเตอร์ ของ ยูนิส ทีราวี นักข่าวปาเลสไตน์ วันที่ 30 มี.ค. 2567 
ภาพที่ 2 : โพสต์จากบัญชีแพลตฟอร์ม X หรือทวิตเตอร์ ของ THAI for Palestine ที่แชร์โพสต์ของ ยูนิส ทีราวี นักข่าวปาเลสไตน์ วันที่ 30 มีนาคม 2567

อีกด้านหนึ่ง บัญชี X หรือทวิตเตอร์ของ Younis Tirawi | يونس หรือ @ytirawi  ซึ่งเป็นบัญชีทางการของ ยูนิส ทีราวี นักข่าวปาเลสไตน์ต้นเรื่อง ได้โพสต์ข้อความและภาพเพิ่มเติม เมื่อวันที่ 30 มีนาคม 2567 ระบุว่า “หลังจากที่ตนโพสต์ภาพทหารอิสราเอลถือธงชาติไทย ทางกระทรวงการต่างประเทศของไทยได้เรียกร้องให้อิสราเอลเร่งตรวจสอบภาพดังกล่าว และสถานเอกอัครราชทูตไทยในกรุงเทลอาวีฟได้ประท้วงเรื่องนี้กับทางอิสราเอล”

ขณะที่ในวันเดียวกัน บัญชี X ที่ใช้ชื่อว่า THAI for Palestine ได้แชร์โพสต์ดังกล่าวของ ทีราวีพร้อมระบุข้อความว่า “ปรากฏที่มาภาพของทหารอิสราเอลถือธงชาติไทยว่า มาจาก IG ของทหารอิสราเอลนายหนึ่ง ซึ่งปัจจุบันเข้าถึงไม่ได้แล้วทางกระทรวงต่างประเทศของไทยจึงได้เรียกร้องให้อิสราเอลสืบสวนกรณีที่เกิดขึ้น” และเมื่อผู้เขียนลองนำชื่อ saginetzerr ไปค้นหา ก็ไม่พบบัญชีอินสตาแกรมชื่อนี้เช่นกัน แต่กลับพบบัญชีชื่อคล้ายกันคือ saginetzer1 ที่ตั้งค่าเป็นส่วนตัวและไม่สามารถเข้าไปดูได้ (ค้นหาล่าสุด ณ วันที่ 31 มี.ค. 2567 เวลา 15.00 น.)

อย่างไรก็ตาม บนเพจเฟซบุ๊ก “Israel in Thailand” ซึ่งเป็นเพจทางการของสถานทูตอิสราเอลประจำประเทศไทย นับตั้งแต่ที่เริ่มมีการแชร์ภาพทหารอิสราเอลถือธงชาติไทย ก็ยังไม่ปรากฏว่า มีการเผยแพร่คำชี้แจง    ใด ๆ (ค้นหาล่าสุด ณ วันที่ 1 เม.ย. 2567 เวลา 15.00 น.) ดังนั้นก็คงต้องติดตามกันต่อไปว่า ตกลงแล้วภาพนี้มีที่มาอย่างไร แต่ไม่ว่าจะเป็นภาพตัดต่อ ภาพสร้างโดย AI หรือภาพจริงของทหารอิสราเอลที่ถือธงชาติไทยไม่ว่าจะด้วยเหตุผลใด ๆ เรื่องนี้ถือเป็นความกังวลใจของไทย ที่ในปัจจุบันยังคงมีตัวประกันชาวไทยอีก 8 คน ตกอยู่กลางสมรภูมิความขัดแย้ง และในอนาคตที่จะยังมีแรงงานไทยกลับไปทำงานในอิสราเอลอีกต่อไป จึงหวังว่า จะได้ข้อสรุปที่ชัดเจนโดยเร็ว!!!

-/-/-/-/-/-/-/-/-/-/-

อ้างอิง

https://www.thaipbs.or.th/news/content/338524 (“ปานปรีย์” เชื่อช่วย 8 ตัวประกันไทยได้ หลัง “ยูเอ็น” ประกาศหยุดยิง : ThaiPBS วันที่ 28 มี.ค. 2567)

https://www.bangkokbiznews.com/world/1092705  (ไทย ‘ปรับท่าที’ เป็นกลางสงคราม ‘อิสราเอล-ฮามาส’ สนับสนุนแนวทาง 2 รัฐ : กรุงเทพธุรกิจ วันที่ 9 ต.ค. 2566)

https://www.voathai.com/a/thai-negotiator-pledge-to-continue-talk-on-freeing-thai-remaining-hostages/7398652.html  (“หน้าที่เรายังไม่หมด”: ชุดเจรจาเผยเบื้องหลังคุย ‘ฮามาส’ และการช่วยตัวประกันไทย : Voice of America ภาคภาษาไทย วันที่ 15 ธ.ค. 2566)

https://mgronline.com/around/detail/9670000027595 (ระอุ! นักข่าวปาเลสไตน์ชื่อดังโพสต์หราภาพ “ทหารอิสราเอล” ชู “ธงชาติไทย” หลังรถถัง IDF ในเขตฉนวนกาซา กระทรวงต่างประเทศโต้ “ไทย” ไม่เกี่ยวข้องมั่นใจ “ไม่กระทบตัวประกัน” ในมือฮามาส : ผู้จัดการออนไลน์ วันที่ 28 มี.ค. 2567)

https://www.bellingcat.com/author/younis/

https://ch3plus.com/news/international/ch3onlinenews/393487 (‘กต.ไทย’ จี้ ‘อิสราเอล’ เร่งตรวจสอบภาพทหารถือธงชาติไทย ชี้ยังพิสูจน์ข้อเท็จจริงไม่ได้ : 3Plus วันที่ 29 มี.ค. 2567)

https://www.khaosod.co.th/update-news/news_8163365 (กต.ห่วงภาพทหารอิสราเอล ถือธงชาติไทย เร่งตรวจสอบภาพจริงหรือตัดต่อ : ข่าวสดออนไลน์ วันที่ 29 มี.ค. 2567)

https://thestandard.co/images-of-israeli-soldiers-holding-thai-flags/  (กต. แจ้งอิสราเอลเร่งตรวจสอบภาพทหารถือธงชาติไทย ทูตชี้อาจเป็นภาพปลอม – AI : The Standard วันที่ 29 มี.ค. 2567)

https://twitter.com/ytirawi/status/1773817429530960215/photo/1

https://www.facebook.com/IsraelinThailand/

https://www.facebook.com/thaiembassytelaviv/?locale=th_TH