เอ๊ะก่อนงับ: 6 วิธีรับมือ ‘ข่าวลวง’ ในปี 2024 ที่สื่อไทยต้องรู้ COFACT Special Report 28/67

โดย ธีรนัย จารุวัสตร์ สมาชิกโคแฟค

หลายคนบอกว่า อะไรที่ลงท้ายด้วยคำว่า “งับ” ก็น่ารักไปหมด แต่เวลาสื่อมวลชน “งับ” หรือพลาดเอาข่าวลวง-ข่าวบิดเบือนมาเผยแพร่ต่อ คงไม่ใช่เรื่องน่ารักอย่างแน่นอน บทความนี้ขอนำเสนอ 6 รูปแบบข่าวลวง-ข่าวบิดเบือนที่สื่อมวลชนต้องคอยจับตา เพื่อที่จะได้ฉุกคิด หรือ “เอ๊ะ” ก่อนที่จะเอามาเล่นเป็นข่าว 

หรือพูดอย่างน่ารักก็คือ ตลอดปี 2024 นี้ สื่อต้อง “เอ๊ะก่อนงับ” 

“ผู้ประกอบวิชาชีพสื่อมวลชน พึงระมัดระวังกระบวนการหาข่าวหรือภาพจากสื่อสังคมออนไลน์ ควรมีการตรวจสอบอย่างถี่ถ้วน รอบด้าน และอ้างอิงแหล่งที่มาเมื่อนำเสนอ เว้นแต่สามารถตรวจสอบและอ้างอิงจากแหล่งข่าวได้โดยตรง” – ข้อความจาก “แนวปฏิบัติการใช้สื่อสังคมออนไลน์ของสื่อมวลชน พ.ศ. ๒๕๖๒” (ข้อที่ ๑๘) ออกโดย สภาการสื่อมวลชนแห่งชาติ 

ข้อความข้างต้น เป็นเพียงหนึ่งในความพยายามของนักวิชาการ ผู้เชี่ยวชาญด้านจริยธรรมสื่อ และองค์กรวิชาชีพสื่อ ที่พูดย้ำมาโดยตลอดว่า สื่อมวลชนมีหน้าที่ตรวจสอบข้อเท็จจริงก่อนที่จะนำเสนอข่าวสารใดๆออกไป แต่ในความเป็นจริง เรายังเห็นกรณีสื่อมวลชนเอาเรื่องที่ไม่มีมูลในโซเชียลมีเดียหรืออินเทอร์เน็ตมาเผยแพร่ต่อ โดยไม่ตรวจสอบใดๆ จนหลายคนก็รู้สึกเอือมระอา

หรือถ้าใช้ภาษาอินเทอร์เน็ต ก็คือการรีบ “งับ” เอาเรื่องไม่จริง มาเล่นเป็นข่าวใหญ่โต โดยไม่นึกสงสัย หรือ “เอ๊ะ” แม้แต่นิดเดียวนั่นเอง

วัฒนธรรมการ “งับโดยไม่เอ๊ะ” ของสื่อไทย ถือเป็นเรื่องน่ากังวล เพราะถึงแม้เราจะมีเครือข่ายผู้ตรวจสอบข้อเท็จจริง (factcheck) อย่างโคแฟคหรือ AFP Factcheck ประจำประเทศไทย คอยตรวจสอบและชี้แจงข้อเท็จจริงเวลาสื่อไทย(หรือสื่อโซเชียลมีเดีย)เอาเรื่องไม่จริงมาเผยแพร่ต่อ แต่องค์กรเช่นนี้ยังถือว่ามีจำนวนค่อนข้างน้อย และกว่าจะตรวจสอบข้อเท็จจริงได้อย่างครบถ้วน หลายครั้งๆก็ไม่ทันการณ์เสียแล้ว 

(อ่านเพิ่มเติม: มองตัวอย่าง ‘5 + 2 ข่าวลวงปี 2566’ ปัจจัยเดิมทำ ‘เชื่อชังชอบ-แชร์’ ยังอยู่ แต่ ‘ข้อท้าทายใหม่’ ทำตรวจสอบยากก็กำลังมา)

ดังนั้น ผู้เขียนมองว่าการ factcheck ที่มีประสิทธิภาพอย่างแท้จริง ควรจะเริ่มจากสื่อมวลชน ตั้งแต่ก่อนที่จะนำข้อมูลใดๆมานำเสนอเป็นข่าว เพื่อเป็นการป้องกันตั้งแต่ที่ต้นทางของกระบวนการผลิตข้อมูลข่าวสาร 

ในบทความนี้ ผู้เขียนได้สรุป 6 แหล่งที่มาของข่าวปลอม-ข่าวบิดเบือนยอดฮิตในโลกอินเทอร์เน็ต ซึ่งสื่อไทยมักจะ “งับ” เอามาเล่นเป็นข่าวบ่อยๆ พร้อมคำแนะนำวิธีการ “เอ๊ะ” สำหรับคนทำงานสื่อมวลชน 

ด้วยความหวังว่าสื่อมวลชนไทยในปี 2024 จะช่วยเสริมสร้างวัฒนธรรม factcheck และการตรวจสอบข้อเท็จจริงก่อนนำเสนอข่าวให้เข้มแข็งอย่างจริงจัง

แทนที่จะใช้วิธี “รีบๆเล่นข่าวไปก่อน แล้วค่อยว่ากันทีหลัง” และผลักภาระการ factcheck ให้ไปตกอยู่กับภาคประชาชนแต่เพียงฝ่ายเดียว แบบที่เกิดขึ้นเป็นประจำในปีก่อนๆ 

  1. เพจดัก-เพจปั่น (Parody and satire accounts) 

ในปัจจุบัน บุคคลสาธารณะและองค์กรต่างๆ มักจะมีช่องทางในโซเชียลมีเดียไว้สื่อสารกับประชาชนเป็นเรื่องปกติ แต่ขณะเดียวกัน ก็มักจะมีเหตุการณ์ผู้ใช้อินเทอร์เน็ตอื่นๆทำกัน “สวมรอย” บุคคลหรือองค์กรดังกล่าว ด้วยการเปิด “เพจปลอม” เช่นกัน 

สาเหตุของการกระทำดังกล่าวก็แตกต่างกันไป ในบางครั้งเป็นการแอบอ้างสวมรอยเพื่อแสวงหาผลประโยชน์หรือต้มตุ๋น เช่น ทำเพจปลอม อ้างว่าเป็นฝ่ายการตลาดของธุรกิจขนาดใหญ่ เพื่อหลอกลวงโฆษณาให้ประชาชนเอาเงินมาลงทุน 

แต่ในบางครั้งก็เป็นการทำเพจปลอม เพื่อล้อเลียนบุคคลชื่อดังหรือเหตุการณ์ในข่าว เป็นการเล่นตลกกันภายในกลุ่มผู้ใช้อินเทอร์เน็ต ตามที่เรียกว่า “parody” ในภาษาอังกฤษ ซึ่งในที่นี้ผู้เขียนจะขอเรียกโดยรวมว่า “เพจดัก-เพจปั่น”

ยกตัวอย่างเช่น เพจที่อ้างตัวว่าเป็นทนายความของดาราหรือบุคคลผู้มีชื่อเสียง เพจที่อ้างตัวเป็นบุคคลในข่าวฉาว เพจที่อ้างว่าเป็นตำรวจปราบปรามเว็บพนัน (แต่จริงๆ มีจุดประสงค์ล้อเลียนอินฟลูเอนเซอร์) เพจที่อ้างว่าเป็นของสมาคมคนขับรถแท็กซี่ และล่าสุด ก็มีเพจที่อ้างตัวว่าเป็นของโรงเรียนมัธยมแห่งหนึ่ง ที่เผยแพร่อินโฟกราฟิกส์เกี่ยวกับการมีเพศสัมพันธ์ในท่าต่างๆ จนกลายเป็นที่ฮือฮาและเข้าใจผิดกันว่า เป็นของโรงเรียนแห่งนั้นจริงๆ เป็นต้น 

ซึ่งแน่นอนว่าเคยมีกรณีสื่อมวลชน “งับ” เอาคอนเทนต์เชิงล้อเลียนของ “เพจดัก-เพจปั่น” มารายงานเป็นข่าวขึ้นมาจริงๆ หรือถ้าใช้ภาษาอินเทอร์เน็ตก็เรียกว่า “โดนดัก” นั่นเอง

สื่อควร “เอ๊ะ” ยังไง?

  • ตรวจสอบว่าเพจดังกล่าวเป็นของบุคคลมีชื่อเสียงหรือองค์กรนั้นๆจริงหรือไม่ เช่น สะกดชื่อถูกต้อง มีเครื่องหมายติ๊กถูก มีประวัติการใช้งานมานาน ไม่ใช่เพิ่งเปิดเพจตอนที่เป็นข่าว (ทั้งนี้ คำต่อท้ายว่า “เฟซจริง” ไม่ได้แปลว่าเพจนั้นเป็นของจริงเสมอไป)
  • เพจที่เป็นของทางการ มักจะมีจำนวนผู้ใช้สูงกว่าเพจปลอมหลายเท่าตัว
  • เพจดัก-เพจปั่น มักจะใช้สำนวนหรือคำที่เป็นมุขตลกในโซเชียลมีเดีย เช่น “พรุ่งนี้ตอนเที่ยงๆ” หรือ “จงวิเคราะห์” เป็นต้น 
  • หรือทางที่ดีที่สุด คือติดต่อสอบถามไปยังบุคคลหรือองค์กรนั้นๆด้วยตัวเอง เพื่อยืนยันว่าเพจหรือบัญชีผู้ใช้งานโซเชียลมีเดียของพวกเขาคืออันไหนกันแน่ 
  1. ภาพ-คลิปวิดิโอผิดบริบท (Out-of-context photos and videos) 

ข่าวปลอมรูปแบบนี้เกิดขึ้นบ่อยๆ (โดยเฉพาะในข่าวต่างประเทศ) เช่น สื่อไปเจอภาพที่อ้างว่าเป็นเหตุการณ์หนึ่ง แล้วสื่อเอามารายงานต่อ จริงๆแล้วเป็นเหตุการณ์อื่นที่ไม่เกี่ยวข้องกันเลยในอีกประเทศหนึ่ง หรือคลิปที่อ้างว่าแสดงให้เห็นเหตุการณ์หนึ่ง แต่ตามจริงแล้วเป็นการเอาคลิปแค่บางส่วนมาแสดง ทำให้ไม่เห็นเหตุการณ์หรือบริบททั้งหมด 

ยิ่งถ้าเป็นกรณีที่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์สงครามหรือความขัดแย้งทางเชื้อชาติ-ศาสนา ยิ่งสุ่มเสี่ยงที่จะกลายเป็นข่าวลวงที่สร้างความเข้าใจผิดอย่างร้ายแรงหรือลดทอนความเป็นมนุษย์ด้วย ดังเช่นกรณีสื่อแห่งหนึ่งในประเทศไทย เสนอข่าวว่าปาเลสไตน์จ้าง “นักแสดง” มาแกล้งเจ็บหรือเสียชีวิต โดยอ้างว่าชายชาวปาเลสไตน์คนหนึ่งถูกตัดขา ทั้งที่จริงๆแล้ว เป็นคลิปคนละบุคคลและคนละเหตุการณ์กัน 

ดังนั้น ผู้เขียนมองว่า ข่าวปลอมลักษณะนี้ถือว่าน่ากังวลที่สุด และมักจะ “หลอกตา” สื่อมวลชนได้บ่อยครั้งที่สุด เพราะความ ทำให้ดูน่าเชื่อถือยิ่งกว่าภาพตัดต่อที่ทำขึ้นเสียอีก ตามที่มีสำนวนในวงการสื่อมวลชนต่างชาติไว้ว่า “คำโกหกที่ฟังดูน่าเชื่อถือที่สุด คือคำโกหกที่มีพื้นฐานอยู่บนความจริง” (The most convincing lies are based on some truth) สื่อมวลชนจึงยิ่งต้องระมัดระวังเป็นพิเศษ

“เอ๊ะ” ยังไง?

  • พึงระลึกว่าภาพหรือคลิปที่เผยแพร่ในโซเชียลมีเดีย โดยไม่ได้ระบุที่มาชัดเจน มีความเสี่ยงว่าเป็นภาพหรือคลิปผิดบริบท ดังนั้น ควรเลือกใช้ภาพและคลิปจากแหล่งข่าวที่น่าเชื่อถือเท่านั้น เช่น สำนักข่าวต่างประเทศที่มีนโยบายเผยแพร่ภาพและคลิปเฉพาะที่ได้รับการตรวจสอบแล้วอย่าง AP, AFP, Reuters เป็นต้น 
  • ใช้วิธี “ค้นหาย้อนกลับ” (reverse image search) ของกูเกิ้ลหรือโปรแกรมอื่นๆ เพื่อตรวจสอบว่าภาพหรือคลิปดังกล่าว มีที่มาจากไหน และเผยแพร่ครั้งแรกในปีใด อ่านเพิ่มเติม: ตรวจสอบภาพลวง ด้วยวิธี “ค้นหาย้อนกลับ” ง่ายๆ ที่ทุกคนทำได้
  • หากเป็นเหตุการณ์ในต่างประเทศ สำนักข่าวหรือเว็บไซต์ที่ factcheck มักจะคอยติดตามและรายงานกรณีภาพหรือคลิปวิดิโอบิดเบือนบริบทเป็นระยะๆ  ดังนั้น สื่อควรตรวจสอบรายงานข่าวและเว็บไซต์ factcheck เหล่านี้ เพื่อดูว่าเหตุการณ์ที่ภาพหรือคลิปวิดิโอนั้นๆ อ้างถึง เป็นความจริงหรือไม่ 
  • หากไม่มีข้อมูลว่าภาพหรือคลิปนั้นๆ แสดงเหตุการณ์ตามที่อ้างจริงหรือไม่ ควรชะลอไว้ก่อนและอย่าเพิ่งเผยแพร่จนกว่าจะพิสูจน์ทราบได้
  1. คอนเทนต์ที่ทำขึ้นโดย AI (AI-generated content) 

ที่ผ่านมาเราได้เห็นกรณีการเผยแพร่ภาพตัดต่อเพื่อบิดเบือนข้อเท็จจริงกันมาแล้วหลายครั้ง และในปัจจุบัน ผู้เชี่ยวชาญและนักวิชาการจำนวนหนึ่งได้ส่งเสียงเตือนว่าเทคโนโลยี AI จะยิ่งทำให้การบิดเบือนข้อมูลข่าวสารซับซ้อนขึ้น และตรวจสอบยากขึ้นด้วย ซึ่งภายในปี 2024 นี้ เราอาจจะได้เห็นตัวอย่างในลักษณะดังกล่าวมากขึ้นตามมาด้วย เป็นอีกหนึ่งรูปแบบข่าวลวงที่สื่อมวลชนควรติดตามอย่างใกล้ชิด 

“เอ๊ะ” ยังไง?

  • ภาพที่ AI ทำขึ้นยังมีข้อจำกัดและบกพร่องอยู่หลายประการ ซึ่งสามารถเอามาเป็นจุดสังเกตได้ เช่น หน้าผู้คนคล้ายกัน, หน้าผู้คนเบลอในพื้นหลังเบลอบิดเบี้ยว, เหตุการณ์ผิดบริบท (อย่างกรณี ThaiPBS ใช้ AI สร้างภาพฉลองสงกรานต์ แต่กลับกลายเป็นเทศกาลโฮลี), ตัวหนังสือบิดเบี้ยว, นิ้วมือหรือร่างกายของมนุษย์บิดเบี้ยว เป็นต้น
  • เช่นเดียวกัน คลิปที่ AI ทำขึ้น (อย่าง deepfake) ยังมีข้อจำกัดในเรื่องใบหน้าของมนุษย์ โดยให้สังเกตว่าสีหน้า ใบหน้า และการขยับปากของผู้พูดจะไม่ค่อยตรงหรือสอดคล้องกับคำพูด หรือมักจะเป็นการใช้โทนเสียงเดียวตลอด ทำให้ฟังดูไม่เป็นธรรมชาติ 
  • อย่างไรก็ตาม วิธีป้องกันที่ดีที่สุดก็คือ ถ้าหาที่มาหรือพิสูจน์ทราบความถูกต้องของคอนเทนต์นั้นๆไม่ได้ ก็ไม่ควรนำมารายงานเป็นข่าวแต่แรก 

หมายเหตุ: ผู้เขียนไม่แนะนำให้ใช้บรรดาเว็บไซต์ที่อ้างว่าตรวจสอบได้ว่าคอนเทนต์ใด AI ทำขึ้น เพราะเท่าที่ผู้เขียนเคยทดลองใช้งาน ผลการตรวจสอบของเว็บไซต์เหล่านี้เชื่อถือไม่ค่อยได้ 

  1. ‘ชาวเน็ต’ เขาเล่าว่า… (Online anecdotes) 

คงปฏิเสธไม่ได้ว่าสำนักข่าวทุกวันนี้ มักจะเอาโพสต์จากผู้ใช้อินเทอร์เน็ตที่เล่าเหตุการณ์หรือประสบการณ์ของตนมาลงเป็นข่าว เช่นในเฟซบุ๊ก ทวิตเตอร์ (เอ็กซ์) หรือ TikTok แต่ในหลายๆครั้ง คำบอกเล่าของผู้ใช้โซเชียลมีเดียที่สื่อนำมารายงานเป็นข่าวใหญ่โต ก็กลับกลายว่าไม่ได้เกิดขึ้นจริง หรือเล่าเหตุการณ์ไม่หมด หรือไม่มีหลักฐานใดๆบ่งชี้ว่าเกิดขึ้นจริงแต่อย่างใด 

ถ้าหากใช้ภาษาสื่อมวลชนแบบเก่าหน่อย ก็คงต้องเรียกว่า “กลายเป็นเรื่องโอละพ่อ” หรือถ้าใช้ภาษาอินเทอร์เน็ตสมัยใหม่ ก็คือ “คดีพลิก” นั่นเอง ซึ่งผู้ที่มักจะเสียเครดิตหรือความน่าเชื่อถือ ก็ไม่ใช่ใครอื่นนอกจากสื่อมวลชนที่รีบ “งับ” เอาเรื่องแบบนี้มารายงานแต่แรก โดยไม่ได้ตรวจสอบเสียก่อน

“เอ๊ะ” ยังไง?

  • ใช้คำในการรายงานข่าวอย่างระมัดระวัง ใครเป็นคนพูด มีหลักฐานใดยืนยันบ้าง สื่อสามารถยืนยันข้อเท็จจริงเกี่ยวกับเหตุการณ์ดังกล่าวได้หรือไม่ แทนที่จะรีบด่วนสรุป และรายงานราวกับว่าเหตุการณ์นั้นๆ ได้รับการยืนยันหรือตรวจสอบข้อเท็จจริงจากสื่อแล้ว 
  • ติดต่อไปยังเจ้าของบัญชีผู้ใช้ต้นเรื่องโดยตรง เพื่อสัมภาษณ์และขอข้อมูลเพิ่มเติม เช่น ภาพหรือคลิปในโพสต์ ถ่ายเองหรือไม่ เหตุการณ์นั้นๆ เกิดขึ้นเมื่อใด  มีหลักฐานใดๆ ที่สามารถยืนยันเหตุการณ์ได้บ้างหรือไม่ มีข้อมูลเพิ่มเติมใดๆ ที่จะช่วยให้เข้าใจบริบทเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นมากขึ้นบ้างหรือไม่ เป็นต้น
  1. ข่าวพาดหัวยั่วให้คลิกและข่าวหวือหวาจากต่างประเทศ (Clickbait and tabloid content)

นอกจากสื่อไทยจะมีประวัติรายงานข่าวเกี่ยวกับประเทศตัวเองถูกบ้างผิดบ้าง เวอร์หรือคลิกเบตบ้าง ปัญหาดังกล่าวยังลามไปถึงข่าวต่างประเทศด้วย เพราะมีหลายกรณีที่สื่อไทยมักเอาข่าวหวือหวาจากสื่อที่ไม่มีความน่าเชื่อถือในต่างประเทศ มาแปลและรายงานต่ออีกที ทำให้ประชาชนที่อ่านหรือดูข่าวนั้นๆ รับเอาข้อมูลเท็จหรือความเข้าใจผิดไปอีกต่อด้วย 

ยกตัวอย่างเมื่อปีที่แล้ว สื่อไทยจำนวนหนึ่งรายงานข่าวใหญ่โตว่า เกิดรัฐประหารที่ประเทศจีน ประธานาธิบดีสีจิ้นผิงถูกควบคุมตัว กรุงปักกิ่งและเมืองสำคัญในจีนห้ามเครื่องบินและรถไฟเข้าออกอย่างสิ้นเชิง ฯลฯ แต่เมื่อตรวจสอบดู กลับพบว่าที่มาของข่าวดังกล่าวมาจากข่าวแทบลอยด์ในประเทศอินเดีย และบัญชีทวิตเตอร์จำนวนหนึ่งเท่านั้น

และเมื่อไม่นานมานี้ สื่อแทบลอยด์ในตะวันตกจำนวนหนึ่งรายงานว่า ‘คิมจองอึน’ ผู้นำเกาหลีเหนือ ร่ำไห้ขณะกล่าววิงวอนให้ผู้หญิงเกาหลีเหนือมีลูกให้เยอะขึ้น แต่หากตรวจสอบคลิปวิดิโอการประชุมดังกล่าว จะพบว่าคิมจองอึนร้องไห้ในช่วงที่ฟังข้อมูลเกี่ยวกับวีรกรรมและความเสียสละของผู้หญิงเกาหลีเหนือในช่วงสงครามเกาหลี ไม่ได้ร้องไห้ขณะพูดถึงนโยบายส่งเสริมการมีลูกแต่อย่างใด

“เอ๊ะ” ยังไง?

  • หลีกเลี่ยงการนำเอาข่าวจากสำนักข่าวเชิงแทบลอยด์ในต่างประเทศ เช่น The Sun, Daily Mail, Telegraph ฯลฯ มาแปลเป็นข่าวและเผยแพร่ต่อ เนื่องจากสำนักข่าวเหล่านี้มีประวัติเผยแพร่ข่าวที่เป็นเท็จ ไม่มีที่มาหรือหลักฐานยืนยันชัดเจน และมักจะใส่สีตีไข่ให้ “เวอร์” เกินความเป็นจริงอยู่บ่อยครั้ง
  • สื่อมวลชนควรเลือกแปลข่าวจากสำนักข่าวต่างประเทศที่มีความเคร่งครัดต่อจริยธรรมและความถูกต้องของข้อมูลอย่างสูง เช่น สำนักข่าวประเภท wire service อย่าง AP, AFP, Reuters หรือสำนักข่าวมืออาชีพที่ได้รับการยอมรับอย่างแพร่หลายในวงการวิชาชีพสื่อสากลอย่าง BBC, New York Times, The Guardian เป็นต้น
  • พึงระลึกว่าเมื่อเกิดเหตุการณ์ระดับ “เขย่าโลก” สื่อต่างประเทศประเภท wire service มักจะรายงานอย่างฉับไวเป็นประจำ ดังนั้น ถ้าหากเจอคลิป หรือภาพ หรือโพสต์ในโซเชียลมีเดียที่อ้างว่าเกิดเหตุการณ์สำคัญในต่างประเทศ แต่สื่อประเภท wire service มิได้รายงานหรือพูดถึงเหตุการณ์ดังกล่าวเลย ให้สันนิษฐานไว้ก่อนเลยว่า คำกล่าวอ้างนั้นๆ ไม่น่าเชื่อถือ และไม่ควรเอามารายงานเป็นข่าว
  • พึงระลึกว่าในปัจจุบัน บัญชีทวิตเตอร์ (เอ็กซ์) ที่มีเครื่องหมายติ๊กถูกสีฟ้า (bluecheck) ไม่ได้แปลว่ามีความน่าเชื่อถือเสมอไป ซ้ำร้าย บัญชีเหล่านี้มักจะเอาข่าวลวงหรือข่าวบิดเบือนมาเผยแพร่ต่อด้วย เพราะใครๆก็สามารถ “ซื้อ” เครื่องหมายดังกล่าวได้ ต่างจากทวิตเตอร์สมัยก่อนที่จะให้เครื่องหมายติ๊กถูกสีฟ้าเฉพาะกับสื่อมวลชนและผู้เชี่ยวชาญที่น่าเชื่อถือเท่านั้น
  1. คำอวดอ้างสรรพคุณเกินจริง (Pseudoscience) 

ถึงแม้ประเทศไทยเราอาจจะยังไม่ได้มีความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีและวิทยาศาสตร์เทียบเท่ากับหลายชาติมหาอำนาจ และยังไม่เคยมีคนไทยชนะรางวัลโนเบลแม้แต่คนเดียว 

แต่เรากลับเห็นกรณีบุคคลหรือธุรกิจบางประเภทที่อ้างว่าได้ค้นพบนวัตกรรมที่ท้าทายความรู้ทางวิทยาศาสตร์ในโลกสากลอยู่บ่อยครั้ง เช่น ประดิษฐ์เครื่องยนต์ที่ไม่ต้องใช้น้ำมัน, ผลิตยาสมุนไพรรักษาโรคมะเร็ง, อาหารเสริมที่ทำให้ลดความอ้วนได้ภายในเวลาไม่กี่เดือน ฯลฯ และสื่อไทยมักจะเอาคำอวดอ้างเช่นนี้มารายงานต่อโดยไม่ตรวจสอบข้อเท็จจริงเสียก่อนอยู่เป็นประจำ นับว่านอกจากจะขัดต่อหลักจริยธรรมพื้นฐานของวิชาชีพสื่อมวลชนแล้ว ยังอาจจะเป็นอันตรายต่อสุขภาพของประชาชนจำนวนมากด้วย

“เอ๊ะ” ยังไง?

  • ใช้ความรู้วิทยาศาสตร์ขั้นพื้นฐาน ตั้งข้อสังเกตว่าคำกล่าวอ้างนั้นๆ ฟังดูสมเหตุสมผลหรือเป็นไปได้หรือไม่ หรือใช้กูเกิ้ลตรวจสอบข้อเท็จจริงเบื้องต้น 
  • ติดต่อไปยังบุคคลหรือธุรกิจที่กล่าวอ้าง เพื่อขอหลักฐานเชิงประจักษ์ งานวิจัย และเอกสารการรับรองจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องว่าสินค้าหรือผลิตภัณฑ์นั้นๆ ทำงานตามอ้างได้จริง  
  • ติดต่อไปยังผู้ทรงคุณวุฒิ ผู้เชี่ยวชาญ และนักวิชาการ หรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อขอความเห็นหรือคำอธิบายเกี่ยวกับคำอวดอ้างนั้นๆ พร้อมชี้แจงข้อเท็จจริงให้ประชาชนได้รับทราบ 
  • หากเป็นคำอวดอ้างที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพ ยา หรือการรักษาโรค สื่อมวลชนควรใช้วิจารณญาณไม่เผยแพร่คำอวดอ้างนั้นๆต่อโดยไม่มีหลักฐานที่ชัดเจน เพราะอาจจะสุ่มเสี่ยงสร้างความเสียหายในวงกว้างต่อสาธารณชนได้ 

สรุปส่งท้าย 

สังเกตได้ว่าไม่ว่าข่าวลวงหรือข่าวบิดเบือนจะมาในรูปแบบใด จะเป็นแบบเก่าหรือแบบใหม่ จะเป็นภาพผิดบริบทหรือคอนเทนต์ที่ AI ทำขึ้น วิธีการรับมือที่ง่ายและชัวร์ที่สุดสำหรับสื่อมวลชนก็คือ ใช้เวลาตรวจสอบที่มาและพิสูจน์ทราบข้อเท็จจริงเสียบ้าง แทนที่จะรีบลงข่าวทันทีเพื่อแข่งขันกันอย่างเดียว

ดังที่นักวิชาการด้านสื่อมวลชนท่านหนึ่ง เคยให้คำแนะนำกับผู้เขียนไว้ว่า ผลงานของสื่อมวลชนที่มีคุณภาพและยึดมั่นตามหลักจริยธรรม มักจะเป็นงานที่ให้โอกาสคนทำงานได้ใช้เวลา ขณะที่กรณีความผิดพลาดและละเมิดหลักจริยธรรมของสื่อมวลชน มักจะเกิดจากความรีบร้อน 

ดังนั้น สื่อมวลชนควรพึ่งระลึกว่านอกจาก “ความฉับไวของข่าว” แล้ว ยังต้องมี “ความถูกต้องของข่าว” เป็นหลักด้วย

ท้ายนี้ ผู้เขียนขอเป็นกำลังใจให้คนทำงานสื่อทุกคนให้หมั่นตรวจสอบข้อเท็จจริง ยึดมั่นในหลักวิชาชีพพื้นฐาน และช่วยกันเสริมสร้างวัฒนธรรม factcheck ให้เกิดขึ้นตั้งแต่ในกองบรรณาธิการ เพื่อลดโอกาสที่จะเกิดความผิดพลาด หรือเผยแพร่ข่าวลวง-ข่าวบิดเบือนให้ได้มากที่สุด 

นะงับ