‘ทฤษฎีสมคบคิด’จับแพะชนแกะ-มโนไปเรื่อย ไฉนคนเชื่อ(และแชร์)แม้ไร้ข้อพิสูจน์?

บทความ
เนื้อหาเป็นจริง

Think-Piece by Digital Thinkers
บทความนักคิดดิจิตอล
โดย Windwalk_Jupiter

 

“3 สิงหาคม 2565” หลังจากที่ก่อนหน้านี้มีการเลื่อนส่งฟ้องมาหลายรอบ ในที่สุดอัยการจังหวัดนนทบุรี ก็นำตัว 6 ผู้ต้องหาที่พัวพันกับการเสียชีวิตของ “แตงโม-นิดา” ภัทรธิดา พัชรวีระพงษ์ นักแสดงชื่อดัง ส่งฟ้องต่อศาลจังหวัดนนทบุรี และศาลได้ให้ประกันตัวทั้งหมดในวันเดียวกัน ซึ่งหากนับจากวันที่ แตงโม-นิดา เสียชีวิต คือวันที่ 24 ก.พ. 2565 ก็ถือว่าเป็นระยะเวลาเกือบ 6 เดือน 

และด้วยความที่ผู้เสียชีวิตเป็นดาราดัง เป็นบุคคลที่มีชื่อเสียงในสังคม ทำให้นับตั้งแต่เริ่มปรากฏข่าว แตงโม-นิดา พลัดตกจากเรือสปีดโบ๊ทที่แล่นอยู่ในแม่น้ำเจ้าพระยา ทำให้เรื่องราวดังกล่าวได้รับความสนใจเป็นวงกว้าง ซึ่งเมื่อประกอบกับปัจจุบันที่เป็นยุคสื่อสังคมออนไลน์ (Social Media) ที่ทุกคนสามารถแสดงความคิดเห็นได้เต็มที่ จึงมีหลายฝ่ายตั้งข้อสังเกตการทำหน้าที่ของผู้เกี่ยวข้อง ตลอดจนเงื่อนงำต่างๆ โดยมีความพยายามสร้างกระแสทำให้เชื่อว่าคดีนี้ไม่น่าจะเป็นอุบัติเหตุตามที่ผู้ต้องหายืนยันและตำรวจก็ทำสำนวนเตรียมส่งอัยการ แต่เป็นการจงใจจัดฉากฆาตกรรม เนื่องจากผู้ตายปฏิเสธที่จะทำบางอย่างที่บางคนในเรือต้องการ

หนึ่งในเรื่องที่ร่ำลือกันในพื้นที่ออนไลน์ ชาวเน็ตเชื่อกันไปแล้วว่ามี “ผู้ใหญ่-แขกวีไอพี (VIP)” รอพบกับนักแสดงสาวอยู่ ณ โรงแรมแห่งหนึ่ง โดยที่คนบนเรือเป็นคนไปตกลงกับผู้ใหญ่คนดังกล่าวว่าจะพาไปพบ แต่เจ้าเพิ่งมารู้ต่อเมื่อลงเรือแล้วและไม่ยินยอมไปพบจึงเกิดเหตุสลดขึ้น เรื่องราวนี้ถูกแชร์ต่ออย่างกว้างขวาง จนทำให้ผู้คร่ำหวอดในแวดวงธุรกิจกลางคืนและคุ้นเคยกับเรื่องราวทำนองนี้ดีอย่าง ชูวิทย์ กมลวิศิษฎ์ ต้องออกมา “ดึงสติ” พาชาวเน็ตกลับเข้าฝั่งก่อนที่จะออกทะเลแห่งความ “มโนไปเรื่อย” ไปมากกว่านั้น 

ไม่มีผู้ใหญ่คนไหนจะมารอเด็กแบบนี้ เพราะเรื่องแบบนี้หากเกิดขึ้นจริง จะมีการทำกันเงียบๆ และรวดเร็ว ไม่มีการรอ เพราะอาจเสี่ยงต่อการถูกพบเห็นจากผู้อื่น รวมถึงเรื่องแบบนี้ทั้งสองฝ่ายต้องเกิดจากความสมัครใจ ไม่ใช่การบังคับ เพราะจะมีปัญหาตามหลังมาได้ (ชูวิทย์ กมลวิศิษฎ์ – 7 มี.ค. 2565)

ซึ่งเรื่องราวข้างต้นที่เกิดขึ้นสดๆ ร้อนๆ นี้ก็ไม่ใช่ครั้งแรกกับสิ่งที่เรียกว่า ทฤษฎีสมคบคิด (Conspiracy Theory)” หมายถึงความคิดที่เชื่อว่าเหตุการณ์หนึ่งที่เกิดขึ้นมีเรื่องราวแอบแฝงอยู่เบื้องหลัง โดยทั่วไปหมายถึงการเชื่อว่าเหตุการณ์ถูกขับเคลื่อนโดยผู้มีอำนาจและอิทธิพลที่สามารถควบคุมข้อมูลข่าวสาร แล้วใช้อำนาจหรืออิทธิพลนั้นเพื่อปิดบังข้อเท็จจริงไม่ให้คนทั่วไปรับรู้เพื่อผลประโยชน์ของกลุ่มชนชั้นนำหรือผู้มีอำนาจนั้นเอง โดยผู้ที่เชื่อในทฤษฎีสมคบคิด มักปฏิเสธข้อมูลจากหน่วยงานหรือองค์กรที่เป็นทางการ แม้จะเป็นข้อมูลที่มีคำอธิบายตามหลักการทางวิทยาศาสตร์ที่สามารถพิสูจน์ได้ก็ตาม เพราะเชื่อว่าข้อมูลเหล่านั้นถูกอิทธิพลมืดบิดเบือนข้อเท็จจริง

ย้อนไปเมื่อปี 2561 กับปฏิบัติการกู้ภัยที่เป็นการรวมตัวของผู้เชี่ยวชาญจากชาติมหาอำนาจทั่วโลก อย่างเหตุการณ์ “13 หมูป่าติดถ้ำ” ที่ถ้ำหลวงนางนอน อ.แม่สาย จ.เชียงราย ในเวลานั้นชาวเน็ตบางส่วนมีการตั้งข้อสงสัยว่า “นักฟุตบอลและโค้ชทีมหมูป่าอะคาเดมี ติดอยู่ในถ้ำเพราะน้ำท่วมถ้ำจริงหรือไม่” โดยเชื่อกันว่าจริงๆ แล้วทั้งหมดถูกแก๊งค้ายาเสพติดจับตัวไปแต่รัฐบาลปิดข่าว เพราะทั้ง 13 คนไปพบเห็นการลำเลียงยาเสพติด เนื่องจากบริเวณดังกล่าวใกล้กับจุดที่เจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงเคยตรวจยึดยาเสพติดล็อตใหญ่มาแล้ว โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อเห็นข่าว พล.ต.อ.จักรทิพย์ ชัยจินดา ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติในขณะนั้น สวมชุดสำหรับลุยงานภาคสนาม ลงพื้นที่ติดตามสถานการณ์ด้วยตนเอง ก็ยิ่งทำให้ข้อสงสัยข้างต้นถูกร่ำลือผ่านการแชร์บนโลกออนไลน์หนักขึ้น

ไม่ใช่เฉพาะคนไทยที่เชื่อถือทฤษฎีสมคบคิด แต่อาจจะเป็นกันทั้งโลกเลยก็ว่าได้ ตัวอย่างที่ชัดเจนมากในยุคนี้คือ ข่าวลือแปลกๆ ที่ทำให้ผู้คนลังเลไม่ยอมไม่ฉีดวัคซีนโควิด-19 ทำให้รัฐบาลในหลายประเทศ โดยเฉพาะโลกตะวันตกประสบความยากลำบากในการควบคุมสถานการณ์โรคระบาดดังกล่าว เช่น ฉีดวัคซีนแล้วจะถูกฝังไมโครชิปโดยสำนักข่าวออนไลน์ด้านธุรกิจในสหรัฐอเมริกาอย่าง Insider (เดิมชื่อ Business Insider) อ้างผลการสำรวจของ YouGov สำนักโพลชื่อดังของอังกฤษ ที่ระบุว่า ชาวอเมริกัน 1 ใน 5 หรือร้อยละ 20 โดยมี บิล เกตส์ มหาเศรษฐีเจ้าพ่อไอทีค่ายไมโครซอฟท์ อยู่เบื้องหลัง แม้จะไม่มีข้อพิสูจน์ใดๆ ที่ยืนยันความเชื่อนี้ได้เลยก็ตาม แต่เรื่องราวนี้ก็ยังถุกแชร์วนไป-มาบนโลกออนไลน์ซ้ำแล้วซ้ำเล่า

หรือหนึ่งในเรื่องที่มีคนเชื่อกันมากว่า อเมริกาไม่เคยส่งมนุษย์ไปดวงจันทร์ เรื่องนี้ทำเอาหนึ่งในนักบินอวกาศของยานอพอลโล 11 อย่าง บัซซ์ อัลดริน ที่ได้ไปเหยียบดวงจันทร์ในการเดินทางครั้งประวัติศาสตร์เมื่อปี 2512 ของขึ้น ง้างหมัดตะบันหน้า บาร์ท ซิเบรล เหตุการณ์เดือดครั้งนี้เกิดขึ้นในปี 2545 ซึ่งขณะนั้น ซิเบรล กำลังเดินหน้าโปรโมทสารคดี Astronauts Gone Wild ของตนที่อ้างว่าการไปดวงจันทร์เป็นเรื่องโกหก แม้จะอยู่ต่อหน้า อัลดริน ก็ตาม และในปี 2562 ที่ครบรอบ 50 ปี ภารกิจไปดวงจันทร์ของอพอลโล 11 ก็ยังมีผลการสำรวจพบว่า ชาวอเมริกันร้อยละ 6 ไม่เชื่อว่าการไปดวงจันทร์ของนักบินอวกาศสหรัฐฯ เป็นความจริง

มหาวิทยาลัยเคนท์ ประเทศอังกฤษ เผยแพร่บทความ “Explainer: Why do people believe in conspiracy theories?” โดย ศ.คาเรน ดักลาส อาจารย์ผู้เชี่ยวชาญด้านจิตวิทยาสังคม อธิบายว่า ในยามวิกฤติ ผู้คนรู้สึกถึงความไม่แน่นอน รู้สึกว่าอยู่ในสถานการณ์ที่ไม่สามารถควบคุมได้ ไม่มั่นใจหรือถูกคุกคาม จึงมองหาวิธีรับมือสถานการณ์ที่ยากลำบาก และเห็นว่าทฤษฎีสมคบคิดเป็นเครื่องบรรเทาความรู้สึกเหล่านั้น เช่น เห็นคำอธิบายที่ทำให้ความรู้สึกว่าตนเองยังสามารถควบคุมสถานการณ์ได้กลับคืนมา ไปจนถึงรู้สึกดีกับตนเองเพราะเชื่อว่าตนรู้ในสิ่งที่คนอื่นๆ ไม่รู้

มีหลักฐานเพียงเล็กน้อยที่ชี้ว่าการเชื่อในทฤษฎีสมคบคิดทำให้ผู้คนรู้สึกดีขึ้น ในทางกลับกัน ทฤษฎีสมคบคิดกลับทำให้ผู้คนรู้สึกแย่ลง เช่น หลังจากอ่านทฤษฎีสมคบคิดแล้ว ผู้คนมักจะรู้สึกมีพลังน้อยลงและยิ่งพบกับความรู้สึกไม่แน่นอนมากขึ้น การเชื่อและใช้เวลามากในการติดตามทฤษฎีสมคบคิดอาจไม่บรรเทาความรู้สึกคับข้องใจ แต่ดูจะทำให้ยิ่งหงุดหงิดขึ้นมากกว่า ศ.คาเรน กล่าว

ในช่วงต้นปี 2564 ที่อุณหภูมิการเมืองสหรัฐอเมริกากำลังร้อนระอุ กรณีกลุ่มผู้สนับสนุน โดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีที่เพิ่งพ่ายแพ้การเลือกตั้งเมื่อปลายปี 2563 และกำลังอยู่ในช่วงส่งมอบอำนาจให้แก่ผู้ชนะคือ โจ ไบเดน ก่อการประท้วงจนกลายเป็นเหตุจลาจลเพราะไม่ยอมรับผลการเลือกตั้งและความพ่ายแพ้ของทรัมป์ สำนักข่าว Voice of America เผยแพร่รายงานพิเศษ “Why Do People Embrace Conspiracy Theories?” โดยอ้างถึงเหตุการณ์ดังกล่าวว่า กลุ่มผู้ก่อจลาจลเชื่อทฤษฎีสมคบคิดเรื่องที่ไบเดนชนะทรัมป์ได้เพราะโกงการเลือกตั้ง 

รายงานฉบับนี้มีการสัมภาษณ์นักวิชาการด้านจิตวิทยาในสหรัฐฯ ว่าเหตุใดผู้คนจำนวนไม่น้อยถึงชื่นชอบทฤษฎีสมคบคิด โดย ศ.ปีเตอร์ ดิตโต ผู้เชี่ยวชาญด้านจิตวิทยาและพฤติกรรมสังคม มหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย เออร์ไวน์ รัฐแคลิฟอร์เนีย กล่าวว่า ทฤษฎีสมคบคิดเชื่อมโยงกับพฤติกรรมของมนุษย์ที่มองโลกแบบขาว-ดำ และมุมมองเชิงศีลธรรมนั้นจะกระตุ้นให้ลงมือทำอะไรบางอย่าง เช่น หากใครคนหนึ่งเชื่อว่าการโกงการเลือกตั้งเป็นความจริง คนคนนั้นอาจจะตัดสินใจเข้าร่วมการประท้วงก็ได้ แม้จริงๆ แล้วสิ่งที่เชื่อนั้นไม่เป็นความจริงเลยก็ตาม 

ทั้งนี้ ในสถานการณ์ไม่แน่นอน (ซึ่งในรายงานข่าวนี้ยกตัวอย่างโรคระบาดโควิด-19) เป็นช่วงเวลาที่เอื้อต่อการแพร่กระจายทฤษฎีสมคบคิด เพราะผู้คนรู้สึกโดดเดี่ยวและแสวงหาการเชื่อมต่อกับคนอื่นๆ โดยเฉพาะคนที่ไวต่อความรู้สึกถูกคุกคามและวิตกกังวล ก็จะยิ่งอ่อนไหวต่อทฤษฎีสมคบคิดได้ง่าย อีกทั้งผู้คนมักเชื่อทฤษฎีสมคบคิด เพราะไม่สามารถยอมรับคำอธิบายง่ายๆ ของเรื่องราวที่เกิดขึ้นได้

ขณะที่ นิกา คาบิริ ผู้เชี่ยวชาญด้านการตัดสินใจของมนุษย์ มหาวิทยาลัยวอชิงตัน รัฐวอชิงตัน กล่าวว่า ทุกคนมีโอกาสที่จะเข้าไปสนใจทฤษฎีสมคบคิด เพราะคนเรานั้นไม่ชอบความรู้สึกไม่แน่นอนหรือควบคุมไม่ได้ และสมองก็จะมองหาคำอธิบาย และยิ่งหากมีบุคคลที่มีชื่อเสียงในสังคม ร่วมแชร์เนื้อหาทฤษฎีสมคบคิดเหล่านี้ มันจะยิ่งได้รับความสนใจจากผู้คนราวกับการแพร่ระบาดแบบไฟลามทุ่ง ทั้งนี้ คาบิริ ยังกล่าวถึงการรวมกลุ่มของคนที่มีมีความเชื่อเหมือนกัน ไม่ว่าในชีวิตจริงหรือบนโลกออนไลน์ ยิ่งกระตุ้นให้ความเชื่อนั้นเข้มข้นกว่าการอยู่เพียงลำพังด้วย

ยังมีการอ้างถึงผลการศึกษาของมหาวิทยาลัยเอมอรี รัฐจอร์เจีย ที่ชี้ว่า คนที่มีแนวโน้มเชื่อทฤษฎีสมคบคิดได้ง่ายมักมีนิสัยไม่ค่อยชอบตั้งคำถาม หรือไม่ก็เป็นพวก “หลงตัวเอง (Narcissistic) มองว่าตนเองมีความสำคัญ ต้องการความสนใจและคำชื่นชมอย่างลึกซึ้ง หรือมีปัญหาด้านความสัมพันธ์ ขาดความเห็นอกเห็นใจผู้อื่น หรือความรู้สึกเห็นคุณค่าในตนเองนั้นเปราะบาง เป็นต้น

กลับมาที่ประเทศไทย รศ.ดร.เสรี พงศ์พิศ นักวิชาการด้านการพัฒนาสังคม อดีตอธิการบดีสถาบันการเรียนรู้เพื่อปวงชน ซึ่งมีอีกบทบาทเป็นคอลัมนิสต์ประจำ นสพ.สยามรัฐ เคยเขียนบทความ ทฤษฎีสมคบคิดกับข่าวปลอม เผยแพร่เมื่อเดือน ส.ค. 2563 ตอนหนึ่งระบุว่า โซเชียลมีเดียวันนี้ทำให้ทฤษฎีสมคบคิดและข่าวปลอมกระจายไปไกลและรวดเร็ว เกิดมีแอพพลิเคชั่น มีแพลตฟอร์ม มีเว็บไซต์มากมายหลายร้อยที่ใช้เผยแพร่ แม้บรรดาเจ้าของเครื่องมือสื่อใหญ่อย่างเฟซบุ๊ค ทวิตเตอร์ ไลน์ ยูทูบ จะออกมาตรการควบคุม แต่ก็ไม่สามารถจัดการลบอะไรพวกนี้ได้หมด

ทฤษฎีสมคบคิดและข่าวปลอมบ้านเราก็เป็นปัญหาไม่น้อย ที่ฝ่ายตรงกันข้ามกับรัฐสร้างขึ้นเพื่อปลุกระดมผู้คนให้ต่อต้านอำนาจรัฐ แต่บางครั้งผู้คนก็สงสัยว่า อาจเป็นรัฐเองที่สร้างทฤษฎีสมคบคิดขึ้นมา โดยอ้างความมั่นคงเพื่อจัดการกับฝ่ายตรงกันข้ามหรือไม่ ทฤษฎีสมคบคิดและข่าวปลอมมักเกี่ยวข้องกับการเมืองและศาสนา เพราะเป็นสองประเด็นที่ละเอียดอ่อน เกี่ยวกับความเชื่อศรัทธามากกว่าเหตุผล อยู่ที่รัฐบาลเองที่ต้องสร้างความไว้วางใจ (Trust) โดยแสดงถึงความจริงใจ โปร่งใส ธรรมาภิบาล ปราการใหญ่ที่ไม่มีใครทำลายได้ รศ.ดร.เสรี ทิ้งท้ายไว้ในบทความ

ซึ่งประเด็น ความไว้วางใจ ที่ประชาชนมีต่อรัฐบาล (หรือหน่วยงานภาครัฐ) นี่เอง ที่เมื่อกลับมาดูเส้นทางคดีการเสียชีวิตของ แตงโม-นิดา ก็ต้องยอมรับว่า ผู้มีอำนาจหน้าที่เกี่ยวข้องเองก็เปิดช่องให้สังคมสงสัยและคลางแคลงใจ โดยในเวทีเสวนา ปรากฏการณ์ข่าวคุณแตงโม สะท้อนการทำหน้าที่สื่ออย่างไร ซึ่งจัดโดย สภาการสื่อมวลชนแห่งชาติ เมื่อวันที่ 26 เม.ย. 2565 ตัวแทนสื่อมวลชนที่ร่วมพูดคุยในเวทีนี้ ตั้งข้อสังเกตเรื่องดังกล่าวไว้

อาทิ นพปฏล รัตนพันธ์ ผู้ช่วยบรรณาธิการบริหาร หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ มองว่า การทำงานของตำรวจในคดีนี้ไม่ได้สร้างความชัดเจนให้สังคมยอมรับว่า สิ่งที่ตำรวจนำเสนอมาจากข้อเท็จจริงตามพยานหลักฐาน กลายเป็นสื่อต้องตรวจสอบเรื่องนี้มากขึ้น อีกด้านหนึ่ง ในสื่อสังคมออนไลน์มีการนำเสนอภาพจากกล้องวงจรปิดบ้าง หรือมีบุคคลที่สังคมให้ความเชื่อถือออกมาให้ความเห็นบ้าง 

ซึ่งข้อมูลเหล่านี้ทางตำรวจอาจทำการตรวจสอบเช่นกัน แต่เมื่อไม่เป็นที่เปิดเผยกับสื่อ ทำให้สื่อก็ต้องไปไล่ตามหาข้อมูลในส่วนนี้เอง เช่น บุคคลที่ 3 ทั้งที่เกี่ยวและไม่เกี่ยวข้องแต่อ้างว่ารู้ข้อมูล คนกลุ่มนี้กลายเป็นอีกฝ่ายที่สื่อต้องตรวจสอบ นอกเหนือจากกลุ่มหลักเดิมคือตำรวจ ผู้ถูกกล่าวหา และผู้เสียหาย จนบางครั้งกลายเป็นการตรวจสอบสื่อด้วยกันผ่านสื่อ จากเดิมที่จะเป็นการพูดคุยกันภายในระหว่างคนทำงานสื่อด้วยกัน

ส่วนในประเด็นการหยิบยกข้อมูลที่เผยแพร่กันทางสื่อสังคมออนไลน์มานำเสนอข่าว พบว่า มีสื่อบางแห่งที่หยิบยกมานำเสนอทั้งหมดทันที ซึ่งอาจเป็นเพราะต้องการเรียกยอดผู้เข้าชมสื่อของตนเอง โดยไมได้ตรวจสอบที่มาที่ไป เช่น ผู้โพสต์เนื้อหานั้นเป็นใคร เชื่อถือได้มาก-น้อยเพียงใด แต่อีกด้านหนึ่ง การสอบถามไปยังผู้เกี่ยวข้อง คือตำรวจ ว่าด้วยข้อมูลที่เผยแพร่ในสื่อสังคมออนไลน์ ก็เป็นเรื่องยากเช่นกัน

ตำรวจด้วยความที่เขาอาจจะมีกรอบในการทำงานที่ค่อนข้างที่จะตึง แล้วก็ไมได้ให้คำตอบกับเราที่ชัดเจนว่าเรื่องนี้ตำรวจดูอยู่นะ วงจรปิดที่เจอในปั๊มน้ำมัน 4-5 คนที่ไปจอดรอในที่เกิดเหตุคุณได้แล้วหรือยัง เรียกเขามาสอบแล้วหรือยัง เขาว่าอย่างไรบ้าง ก็จะถูกรวบด้วยคำว่าทุกอย่างอยู่ในสำนวน แต่ในความเป็นจริง เราต้องการข้อเท็จจริงว่าหลังเกิดเหตุทำไมคุณไม่รออยู่ที่เกิดเหตุ ทำไมคุณถึงไปรวมตัวกันที่อื่น ทำไปถึงไปโน่นนี่นั่น 

ทำให้มีความน่าสงสัยมากขึ้น ตำรวจไม่ได้ให้ความชัดเจนว่าคนที่ 1 2 3 4 5 ให้การว่าอย่างนี้..จบ แต่พอไม่มีก็เกิดข้อสงสัย ตรงนี้มานั่งจับผิดของแต่ละคน คนที่ 1 2 3 ว่าอย่างไร เพราะตัวละคร 5 คนที่อยู่ในเหตุการณ์นั้น ทุกคนมีพื้นที่ มีการพูดคุยในเรื่องเดียวกันไม่เหมือนกัน นพปฏล กล่าว 

ขณะที่ พงศ์พิพัฒน์ บัญชานนท์ บรรณาธิการสำนักข่าว The Matter ให้ความเห็นว่า เหตุที่สังคมให้ความสนใจข่าวแตงโม-นิดา เพราะ 1.สังคมไทยไม่ไว้วางใจกระบวนการยุติธรรม โดยเฉพาะการทำงานของตำรวจ ซึ่งพบปัญหาการทำสำนวนตั้งแต่คืนแรกที่เกิดขึ้น นำมาสู่การถูกตั้งคำถามอย่างต่อเนื่อง 2.เป็นเรื่องของบุคคลที่มีชื่อเสียง แม้ผู้เสียชีวิตจะเป็นดาราอยู่ในวงการบันเทิงมานาน แต่คนรุ่นใหม่ก็ยังรู้จัก 3.เป็นคดีที่มีเงื่อนงำ คนที่อยู่ในเหตุการณ์แต่ละคนพูดไม่ตรงกันและข้อเท็จจริงเปลี่ยนแปลงไปเรื่อยๆ และ 4.สังคมไทยยังเชื่อว่าคนรวยหรือมีฐานะสูงในสังคมต่อให้มีคดีความก็จะหลุดรอดในที่สุด เช่น คำกล่าวที่ว่าคุกมีไว้ขังเฉพาะคนจนเท่านั้น

จากทั้งหมดที่กล่าวมา..ท้ายที่สุดแม้จะไม่มีบทสรุปว่าทำอย่างไรทฤษฎีสมคบคิดจะหายไป เพราะทฤษฎีสมคบคิดนั้นผูกเข้ากับอารมณ์ความรู้สึกของคน อีกทั้งการมาของอินเตอร์เน็ตและสื่อสังคมออนไลน์ยิ่งทำให้เรื่องราวเหล่านี้ถูกโหมกระพือกระจายได้กว้างขวาง แต่การที่ผู้มีอำนาจดำเนินนโยบายหรือกิจกรรมต่างๆ ที่มีผลกระทบต่อสาธารณะอย่างโปร่งใสตรงไปตรงมา มีหลักฐานและสามารถพิสูจน์ด้วยข้อเท็จจริงทางวิทยาศาสตร์ 

ก็ยังเป็นปัจจัยสำคัญที่จะลดอิทธิพลของทฤษฎีสมคบคิดลงได้บ้าง..ไม่ให้ก่อปัญหารุนแรงต่อสังคมจนเกินไป!!!

-/-/-/-/-/-/-/-/-/-/-

อ้างอิง

https://www.naewna.com/local/670795 (ด่วน! อัยการนนทบุรีแถลงสั่งฟ้อง 6 ผู้ต้องหา’คดีแตงโม’แล้ว คุมตัวส่งศาลทันที : แนวหน้า 3 ส.ค. 2565)

https://www.naewna.com/local/670854 (ศาลจังหวัดนนทบุรี ให้ประกันตัว 6 จำเลยคดีแตงโมนัดรายงานตัว 21 ก.ย. : แนวหน้า 3 ส.ค. 2565)

https://www.naewna.com/local/639880 (‘ชูวิทย์’โผล่ปูดซ้ำโยงนักการเมือง’ช.’เป็นกุนซือให้แก๊งสปีดโบ๊ทหลัง’แตงโม’ตกน้ำ : แนวหน้า 7 มี.ค. 2565)

https://www.naewna.com/local/642148 (อ่านฉบับเต็ม!คำแถลงผลชันสูตรร่าง‘แตงโม’รอบ2 : แนวหน้า 17 มี.ค. 2565)

https://www.posttoday.com/social/general/556248 (ผบช.ปส.สยบข่าวแก๊งยาเสพติดจับทีมหมูป่าเชื่อ13ชีวิตยังติดในถ้ำหลวง : โพสต์ทูเดย์ 30 มิ.ย. 2561)

https://www.posttoday.com/social/general/556119 (ผบ.ตร.ลุยเองนำกำลังเดินเท้าสำรวจโพรงถ้ำ3จุด : โพสต์ทูเดย์ 29มิ.ย. 2561)

https://www.insider.com/20-of-americans-believe-microchips-in-covid-19-vaccines-yougov-2021-7 (20% of Americans believe the conspiracy theory that microchips are inside the COVID-19 vaccines, says YouGov study : Insider 18 ก.ค. 2564)

https://www.voanews.com/a/usa_millions-still-believe-1969-moon-landing-was-hoax/6172262.html (Millions Still Believe the 1969 Moon Landing Was a Hoax : Voice of America 20 ก.ค. 2562)

https://www.dailymail.co.uk/news/article-7270587/Conspiracy-theorist-punched-astronaut-Buzz-Aldrin-insists-moon-landing-fake.html (Notorious conspiracy theorist punched by Buzz Aldrin still INSISTS the Apollo 11 moon landings were fake and now claims he has ‘undeniable’ proof  : Daily Mail 22 ก.ค. 2562)

https://www.kent.ac.uk/news/science/30340/explainer-why-do-people-believe-in-conspiracy-theories (Explainer: Why do people believe in conspiracy theories? : University of Kent 12 พ.ย. 2564)

https://www.voanews.com/a/usa_all-about-america_why-do-people-embrace-conspiracy-theories/6202150.html (Why Do People Embrace Conspiracy Theories? : Voice of America 20 ม.ค. 2564)

https://siamrath.co.th/n/174018 (ทฤษฎีสมคบคิดกับข่าวปลอม : สยามรัฐ 12 ส.ค. 2563)

https://www.presscouncil.or.th/7549 (สื่อมุ่งตามคดี ‘แตงโม’ จนละเลยข่าวอื่น : สภาการสื่อมวลชนแห่งชาติ 27 เม.ย. 2565)