จริยธรรมอยู่ตรงไหน ในยุคที่สื่อไทยเริ่ม “ลองของ” กับ AI? COFACT Special Report 24/66

โดย ธีรนัย จารุวัสตร์ สมาชิก Cofact 

สื่อมืออาชีพในต่างประเทศ ถอดบทเรียนจากหลายกรณีการใช้ AI ที่ผิดหลักจริยธรรมสื่อ และได้เริ่มทยอยออกแนวปฏิบัติว่าด้วยการใช้ AI อย่างชัดเจนกันบ้างแล้ว แต่การเฝ้าระวังและป้องกันในลักษณะเช่นนี้ยังไม่เกิดขึ้นในวงการสื่อไทย กลายเป็น “สุญญากาศด้านจริยธรรม” ที่ควรจะเร่งแก้ไขโดยเร็ว

ภาพประกอบโดย Yasmin Dwiputri จากเว็บไซต์ Better Images of AI

ย้อนไปเมื่อปลายเดือนพฤศจิกายน สำนักข่าว ThaiPBS World ได้จัดเวทีเสวนาในหัวข้อ “AI and the Future of Newsroom” หรือแปลได้ว่า “AI กับอนาคตของการทำงานสื่อ” มีตัวแทนจากหลากหลายภาคส่วนร่วมงานดังกล่าว ซึ่งผู้จัดได้ระบุว่า งานนี้มีขึ้นเพื่อให้คนในอุตสาหกรรมสื่อและเทคโนโลยี มาพูดคุยกันเพื่อหา “กรอบจริยธรรม” ที่เหมาะสมในการใช้ AI ของสื่อมวลชน

ในช่วงเปิดงานเสวนา รศ.ดร.วิลาสินี พิพิธกุล ผู้อำนวยการ ThaiPBS ได้กล่าวตอนหนึ่งว่า AI เป็นความท้าทายของสื่อมวลชน รวมถึงสื่อสาธารณะอย่าง ThaiPBS ในการเตรียมความพร้อมปรับตัวเพื่อรับมือภายใต้ภูมิทัศน์สื่อที่เปลี่ยนแปลง การบูรณาการเทคโนโลยีเข้ากับแนวทางปฏิบัติด้านสื่อมวลชนเดิมโดยตั้งอยู่บนข้อพิจารณาด้านจริยธรรม เพื่อให้สามารถคงเจตนารมณ์คุณค่าที่ยึดโยงกับประชาชน และมีความน่าเชื่อถือ

แต่ทว่า หลังจากที่งานเสวนาผ่านไปไม่กี่สัปดาห์ ThaiPBS ได้ตกเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์ว่าด้วยหลักจริยธรรมในการใช้ AI เสียเอง 

เหตุเกิดจากรายงานข่าวของ ThaiPBS ในวันที่ 9 ธันวาคม ในประเด็นข่าวที่ “ยูเนสโก้” ได้ขึ้นทะเบียนประเพณีการเฉลิมฉลองวันสงกรานต์ของไทยเป็น “มรดกทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้” อย่างเป็นทางการ 

แต่ผู้อ่านตาดีบางส่วนตั้งข้อสังเกตว่า ภาพประกอบข่าวชิ้นดังกล่าว กลับมีลักษณะหลายอย่างของภาพที่ทำขึ้นโดย AI (AI generated) เช่น มือและหน้าตาของบุคคลในรูปผิดธรรมชาติ อีกทั้งองค์ประกอบของรูป ดูเหมือนเป็นการเฉลิมฉลองเทศกาล “โฮลี” ของประเทศอินเดีย มากกว่าจะเป็นเทศกาลสงกรานต์ของไทย 

บุคคลในวงการสื่อมวลชนจำนวนหนึ่ง (รวมถึงผู้เขียนเองด้วย) ได้ทักท้วงการกระทำครั้งนี้ของ ThaiPBS ในทันที เพราะหมิ่นเหม่ต่อการละเมิดจริยธรรมว่าด้วยการใช้ AI ถึงสองเด้ง

เด้งที่หนึ่ง คือการใช้ภาพที่ AI ทำขึ้นมาประกอบข่าวเหตุการณ์ ทั้งที่สำนักข่าว ThaiPBS เองก็น่าจะมีแฟ้มภาพการฉลองสงกรานต์จำนวนมาก แต่ทำไมจึงกลับเลือกใช้ AI?

เด้งที่สอง คือการใช้ภาพที่ AI ทำขึ้น โดยไม่มีการเปิดเผย (disclaimer) ต่อผู้อ่านด้วย

ต่อมา ด้านทีมข่าว ThaiPBS ได้ลบภาพดังกล่าวออกอย่างเงียบๆ โดยยังไม่มีคำชี้แจงต่อสาธารณะแต่อย่างใด

รถทรงกลมกับกระดูกนก

ในห้วงเวลาเดียวกัน ได้เกิด “ดราม่า” เกี่ยวกับ AI ในสื่อไทยอีกกรณีไล่เลี่ยกัน นั่นคือโพสต์ของสำนักข่าว ThaiTribune ที่ระบุว่า “มิตซูบิชิ” เปิดตัวรถไฟฟ้ารูปแบบใหม่ที่มีรูปทรงกลม

“6 ธันวาคม 2566 ช่วงนี้มีงาน #มหกรรมยานยนต์ ครั้งที่ 40″ หรือ “MOTOR EXPO 2023” ระหว่างวันที่ 30 พ.ย. – 11 ธ.ค. 2566 ที่เมืองทองธานี ที่เห็น #มิตซูบิชิ ออกแบบรถไฟฟ้าสองที่นั่ง รัศมีการมอง 360 องศา สีหวานพาสเทลทีเดียว!” ThaiTribune ระบุ พร้อมด้วยภาพประกอบ

แต่เมื่อลองวิเคราะห์ต้นทางของภาพดังกล่าว ปรากฎว่าไม่ได้เป็นภาพจากงาน Motor Expo ตามที่ ThaiTribue กล่าวอ้าง และไม่ได้เป็นภาพจริงๆด้วยซ้ำๆ แต่เป็นภาพรถยนต์ทรงกลมที่ผู้ใช้ทวิตเตอร์ในประเทศญี่ปุ่นทำขึ้นจาก AI และนำมาเผยแพร่เท่านั้น 

ไม่แน่ชัดว่าเหตุใดกองบรรณาธิการของ ThaiTribune จึงนำภาพดังกล่าวมา แถมยังเขียนบรรยายเสร็จสรรพด้วยอีกต่างหากว่า มาจากงาน Motor Expo ที่ประเทศไทย ซึ่งในปัจจุบัน โพสต์นี้ของ ThaiTribune ยังคงเผยแพร่อยู่ และมียอดแชร์กว่า 2,000 ครั้ง

นอกจากนี้ เมื่อดูโพสต์ก่อนๆของ ThaiTribune จะพบว่าเมื่อวันที่ 18 พฤศจิกายน สำนักข่าวดังกล่าวได้เผยแพร่รูปโครงกระดูกนกพร้อมข้อความว่า “อย่าจับสัตว์ทุกชนิด ใน #ฤดูผสมพันธุ์ เพราะนี่คือผลลัพธ์ที่นำมาให้ดู!!” ซึ่งมียอดแชร์กว่า 1,700 ครั้ง พร้อมคอมเมนต์แสดงความสะเทือนใจจำนวนมาก แต่ถ้าหากลองสังเกตดีๆ จะพบว่าภาพดังกล่าวมีลักษณะเป็นรูปที่ AI ทำขึ้นอีกนั่นเอง 

คนละเรื่องเดียวกัน

กรณีทั้งสองเป็นเหตุการณ์ที่เกี่ยวข้องกับ AI และจริยธรรมของสื่อไทย แต่ผู้เขียนก็มองว่ามีความแตกต่างที่สำคัญอยู่เหมือนกัน

กรณีของ ThaiTribune นั้น ดูเหมือนจะเข้าข่ายเป็นการนำเอาภาพปลอมมาเผยแพร่ต่อ พร้อมด้วยข้อความที่ชวนสร้างความเข้าใจผิดว่าเป็นภาพเหตุการณ์จริง ซึ่งผู้เขียนเองก็ไม่ทราบว่ากองบรรณาธิการจงใจเผยแพร่ภาพปลอมเพื่อเรียกยอดไลค์-ยอดแชร์ หรือนำมาแชร์ต่อโดยไม่ทราบจริงๆว่าเป็นภาพปลอม และก็ไม่ได้ตรวจสอบข้อเท็จจริงก่อนด้วย 

ซึ่งไม่ว่าเหตุผลใด ก็ย่อมละเมิดหลักจริยธรรมพื้นฐานสื่อมวลชนเหมือนกันทั้งคู่ เพราะตามหลักจริยธรรมนั้น สื่อไม่ควรเอาสิ่งที่ทราบอยู่แล้วว่าเป็นเท็จมาเผยแพร่ต่อ และไม่ควรเอาข่าว เนื้อหา หรือภาพมาเผยแพร่ต่อโดยไม่ตรวจสอบหรือพิสูจน์ทราบที่มาเสียก่อน 

อย่างไรก็ตาม ผู้เขียนก็ยังมองว่า เคสนี้ไม่ได้เป็นเรื่องแปลกใหม่มากนักในมาตรฐานจริยธรรมสื่อแบบไทยๆ เพราะที่ผ่านๆมา สื่อมวลชนไทยก็มักจะกระทำผิดลักษณะนี้ให้เห็นกันตลอด (หากจะให้ใช้ภาษาบ้านๆ ก็คงต้องพูดว่า “ผิดแบบเดิมๆ”) ไม่ต้องเป็นภาพที่ AI ทำขึ้น สื่อไทยก็เคย “โดนดัก” หรือรีบร้อนเอามารายงานต่อโดยไม่ตรวจสอบข้อเท็จจริงกันอยู่แล้ว 

ไม่ว่าจะเป็นภาพที่ตัดต่อขึ้น (photoshopped), ภาพข่าวจากอีกเหตุการณ์หนึ่งที่ไม่เกี่ยวข้องกันเลยภาพหรือเนื้อหาข่าวที่ไม่ทราบที่มา เนื้อหาข่าวจากแหล่งข้อมูลที่เชื่อถือไม่ได้ ไปจนถึงเพจดัก-เพจล้อเลียน ฯลฯ 

แต่กรณีของ ThaiPBS ผู้เขียนมองว่ามีความแปลกใหม่อยู่มาก เพราะเป็นการนำเอาเทคโนโลยี generative AI มาใช้ในการทำงานของกองบรรณาธิการเลยทีเดียว นั่นคือเอาภาพที่ AI ทำขึ้น มาเป็นภาพประกอบข่าว แทนที่จะใช้ภาพที่ช่างภาพ(ที่เป็นมนุษย์)ถ่าย แถมยังไม่มีข้อความ disclaimer ด้วย ตามที่ได้อธิบายมาแล้ว

ผู้เขียนมองว่ากรณีนี้น่าเป็นห่วงเป็นพิเศษ เพราะในปัจจุบัน ยังไม่มีหลักการหรือแนวปฏิบัติว่าด้วยการใช้ AI ของสื่อมวลชนที่เป็นที่ยอมรับในวงกว้างในประเทศไทย แม้แต่บรรดาองค์กรวิชาชีพสื่อทั้งหลาย ซึ่งควรจะทำหน้าที่เป็นผู้ชี้แนะหลักการจริยธรรมให้แก่สื่อมวลชนอย่างแข็งขัน ก็ดูมะงุมมะงาหรากับเรื่องนี้ ยังไม่มีท่าทีหรือแนวทางปฏิบัติอย่างเป็นทางการ เรียกได้ว่าเป็นสุญญากาศทางจริยธรรมก็ว่าได้

อุทธาหรณ์จากต่างแดน

ตรงกันข้าม วงการวิชาชีพสื่อในต่างประเทศได้มีการวางแนวปฏิบัติว่าด้วยการใช้ภาพหรือเนื้อหาจาก AI กันอย่างแพร่หลายแล้ว เช่น ไม่นำเอาภาพที่ AI ทำขึ้นมาเป็นภาพประกอบข่าว เพราะจะทำให้ประชาชนเข้าใจผิด ไม่นำเอา AI มาแทนที่คนทำงาน (เช่น ช่างภาพ) ไม่นำเอาเนื้อหาที่ AI ทำขึ้นมารายงานในข่าวโดยไม่ตรวจสอบก่อน เพราะ AI มีประวัติ “หลอน” และแสดงข้อมูลผิดพลาดบ่อยครั้ง หรือถ้าหากมีการใช้ภาพหรือเนื้อหาที่ AI ทำขึ้น จะต้องระบุ disclaimer ให้ผู้อ่านได้รับทราบอย่างชัดเจน เพื่อความโปร่งใส เป็นต้น 

เมื่อมีแนวปฏิบัติและกรอบจริยธรรมปรากฎขึ้นมาเช่นนี้ สำนักข่าวและสื่อมืออาชีพในต่างประเทศจึงเริ่มมีวัฒนธรรมเฝ้าระวังการใช้ AI ที่เข้มแข็ง และช่วยเป็นเกราะป้องกันจากการใช้ AI ในทางที่ผิดจริยธรรม แบบที่บางสำนักข่าวได้เคยกระทำมาแล้ว จนถูกวิจารณ์อย่างหนักและสูญเสียความน่าเชื่อถือของตนทั้งสิ้น

เช่นสำนักข่าว CNET ที่ใช้ AI เขียนข่าวธุรกิจ แต่ AI กลับคำนวนเลขผิด (บอกว่ารายได้ดอกเบี้ย 3% ของเงินฝาก 10,000 เหรียญ คือ 10,300 เหรียญ) สื่อในเครือ G/O Media ที่ถูกจับได้ว่าใช้ AI เขียนข่าวบันเทิง เพราะมั่วข้อมูลเกี่ยวกับลำดับของภาพยนตร์ Star Wars (บอกว่า Clone Wars เกิดหลังหนังไตรภาคของดีสนีย์) บทความที่ใช้ AI เขียนขึ้นของเว็บไซต์ MSN พาดหัวข่าวนักบาสเกตบอลที่เพิ่งเสียชีวิตด้วยคำว่า “ไร้ประโยชน์”  ฯลฯ 

ดังนั้น เป็นเรื่องน่าเสียดายอยู่เหมือนกันที่ว่า เรามีอุทธาหรณ์การที่สื่อมวลชนใช้ AI อย่างผิดหลักจริยธรรมมากมายจากในต่างประเทศ แต่สุดท้ายเราก็มีอุทธาหรณ์ในลักษณะเดียวกันเกิดขึ้นในประเทศของเรา และดันมา “หวยออก” กับสื่อสาธารณะ ทั้งที่ควรจะมีบรรทัดฐานทางจริยธรรมที่เคร่งครัดกว่าสื่อทั่วๆไปด้วย

ปิดสุญญากาศทางจริยธรรม

ด้วยธรรมชาติของอุตสาหกรรมสื่อไทย ที่ผู้บริหารและฝ่ายการตลาดมักจะมองหา “ของเล่นใหม่ๆ” เพื่อตามเทรนด์หรือลดต้นทุน โดยไม่คำนึงถึงคุณภาพของเนื้อหาข่าวที่นำเสนอหรือจริยธรรมด้านสื่อมวลชนขั้นพื้นฐาน ผู้เขียนมองว่าถ้าหากการใช้ AI แบบในลักษณ​ะที่ไม่รอบคอบ​ ไม่ระมัดระวัง และ​ไม่รับผิดชอบ ดังที่กรณีต่างๆที่ยกมาข้างต้น ยังเกิดขึ้นเรื่อยๆ​ อาจทำให้ยิ่งสุ่มเสี่ยงต่อจริยธรรมการนำเสนอข้อเท็จจริง อันเป็นหัวใจสำคัญของวิชาชีพสื่อมวลชน

กล่าวคือ ในอนาคต สำนักข่าวอาจจะเริ่มใช้ภาพที่ AI ทำขึ้น มาเป็นภาพประกอบข่าวเหตุการณ์บ่อยครั้งขึ้น ซึ่งอาจจะบิดเบือนองค์ประกอบไปจากข้อเท็จจริง จนสุดท้ายผู้ที่อ่านข่าวจะเริ่มแยกไม่ออกแล้วว่าภาพไหนเป็นภาพเหตุการณ์จริง 

ต่อมา เมื่อการใช้ภาพข่าวที่ AI ทำขึ้นกลายเป็นเรื่องปกติหรือบรรทัดฐานที่ยอมรับกัน (norm) สำนักข่าวก็อาจจะเริ่มขยายไปใช้เนื้อหาข่าวที่ AI ทำขึ้นด้วย โดยที่ไม่ได้ตรวจสอบก่อน (หรือตรวจสอบไม่หมด) ว่าเนื้อหาที่ AI ผลิตขึ้น มีความแม่นยำถูกต้องมากน้อยแค่ไหน กลายเป็นการผลักภาระให้ผู้ติดตามข่าวสาร ต้องคอยตรวจสอบเองว่าเรื่องใดจริงบ้าง 

ท้ายสุด เมื่อทั้งภาพและข่าวที่ AI ผลิตขึ้น กลายเป็นบรรทัดฐานใหม่ในวงการสื่อไปแล้ว บรรดาผู้บริหารสื่อก็อาจจะเริ่มมีแนวคิดว่า ไม่จำเป็นต้องจ้างนักข่าวหรือช่างภาพไว้อีกต่อไป เพราะให้ AI ผลิตภาพและเนื้อหาข่าวก็ได้ ซึ่งถึงแม้ว่าแนวคิดดังกล่าวจะนำไปสู่วิกฤติทางคุณภาพและจริยธรรมวิชาชีพสื่อ แต่ผู้เขียนมองว่าที่ผ่านมา การลดต่ำลงทางด้านคุณภาพหรือจริยธรรมมักจะถูกมองว่าเป็น “ราคาที่ยอมรับได้” ในอุตสาหกรรมสื่อไทย​ เมื่อเทียบกับโอกาสทางรายได้หรือผลประโยชน์ทางธุรกิจ​ อันเป็นสภาพการณ์ที่พอเห็นได้ในปัจจุบัน)

พูดโดยสรุปคือ กลายเป็น “เคราะห์กรรม” ร่วมกันทั้งองคาพยพ ทั้งผู้อ่านข่าว ทั้งคนทำงาน และทั้งหลักจริยธรรมวิชาชีพสื่อ 

ดังนั้น ผู้เขียนจึงมองว่า ทั้งคนทำงานสื่อมวลชนและผู้ที่เห็นความสำคัญของหลักวิชาชีพสื่อ ควรที่จะร่วมกันยืนยันว่าการใช้ AI ใดๆก็ตามในวงการสื่อมวลชน ต้องอยู่ในกรอบจริยธรรมและไม่ฉุดให้คุณภาพสื่อยิ่งลดต่ำลง เพื่อไม่ให้ฉากทัศน์ (scenario) เหล่านั้นกลายเป็นความจริงขึ้นมา 

เริ่มต้นด้วยการปิดสุญญากาศทางจริยธรรมว่าด้วยการใช้ AI ในวิชาชีพสื่อมวลชน เช่น การออกแนวปฏิบัติอย่างเป็นทางการจากองค์กรวิชาชีพสื่อ, การร่วมกันแสดงเจตน์จำนงจากคนทำงานและผู้เชี่ยวชาญในอุตสาหกรรมสื่อ, การรณรงค์ให้ความรู้และสอดส่องจากหน่วยงานกำกับดูแลอย่าง กสทช. เป็นต้น

การแก้ไขและป้องกัน ควรเริ่มตั้งแต่วันนี้ เราไม่ควรปล่อยให้การใช้ AI อย่างผิดจริยธรรม กลายเป็นบรรทัดฐานใหม่ที่ “ใครๆเขาก็ทำกัน” ดังเช่นปัญหาด้านจริยธรรมอื่นๆ ที่กัดกินและฝังรากลึกในอุตสาหกรรมสื่อไทยมานาน

หมายเหตุ: ผู้เขียนได้เคยเขียนข้อเสนอเกี่ยวกับ “สื่อมวลชนไทย ควรมีแนวทางปฏิบัติในการใช้ ‘AI’ อย่างไร?” ไว้ในเว็บไซต์ของสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ซึ่งรวบรวมขึ้นจากแนวปฏิบัติอื่นๆในสื่อต่างประเทศ หากท่านใดสนใจศึกษาแนวทางดังกล่าว สามารถอ่านได้ที่ลิงก์นี้