รายงานพิเศษโคแฟค ตรวจสอบความจริงร่วมเรื่องวัคซีน ฉบับที่ 1

บทความ

รายงานพิเศษโคแฟค ตรวจสอบความจริงร่วมเรื่องวัคซีน ฉบับที่

CO-FACT Special Report #1 by Mike Raomanachai

CoronaVac vaccine by Sinovac is one of the major COVID-19 vaccines in Thailand. Recently there has been many news and information about the lack of effectiveness against COVID-19, especially the Delta variant. To help Thai people understand this vaccine better, we put together 10 most common myths about CoronaVac and debunk them with facts from creditable sources, including World Health Organization, medical journals, and research from well-known institutions both in the country and abroad. These myths include the effectiveness of the vaccine against Delta variant, mixing the vaccine with viral vector vaccine (e.g., AstraZeneca), health concerns among pregnant women, and misinformation about the vaccine in the news.

ถามตอบ 10 ข้อสงสัยว่าด้วยวัคซีน Sinovac

ปัจจุบันจีนมีวัคซีนโควิด-19 ที่ใช้ในประเทศ และส่งออกให้กับต่างประเทศหลักๆ 2 ชนิด ได้แก่ วัคซีน Coronavac ผลิตโดยบริษัท Sinovac และ Sinopharm วัคซีนทั้งสองชนิดผลิตด้วยเทคโนโลยีเซลล์เชื้อตาย ปัจจุบันเราจะเห็นว่าตามสื่อสังคมออนไลน์ และเว็บไซต์ต่างๆ มีผลการศึกษาหลายชิ้น และการนำเสนอข่าวสารที่ระบุถึงประสิทธิภาพของวัคซีนทั้งสองชนิดนี้ในหลากหลายทิศทาง วันนี้เรารวบรวมคำถามคำตอบที่มักพบบ่อยเกี่ยวกับวัคซีนเชื้อตาย และข้อมูลความเป็นจริง เน้นที่ Sinovac ซึ่งเป็นวัคซีนหลักที่ใช้ในไทย โดยอ้างอิงจากผลการศึกษาจากผู้เชี่ยวชาญระดับโลก

Myth: Sinovac มีประสิทธิภาพต่ำที่สุดในบรรดาวัคซีนโควิดทั้งหมด

Fact: ตัวเลขประสิทธิภาพป้องกันการติดเชื้อ COVID-19 ของวัคซีน Sinovac ที่เราเห็นทั่วไปตามสื่อต่างๆ ที่ 50-51% มาจากผลการศึกษาระยะที่ 3 ในบราซิลที่จัดทำโดยผู้เชี่ยวชาญขององค์การอนามัยโลก (WHO) อย่างไรก็ตามมีผลการศึกษาในหลายประเทศที่ใช้วัคซีนตัวนี้ได้ตัวเลขสูงกว่าผลการศึกษาในบราซิล ดังนั้นเราจึงไม่สามารถฟันธงได้ว่า Sinovac มีประสิทธิภาพต่ำกว่าวัคซีนชนิดอื่นๆ ได้แบบร้อยเปอร์เซ็นต์ เนื่องจากตัวแปร และสภาพแวดล้อม บวกกับช่วงเวลาที่ใช้ทดสอบวัคซีน Sinovac ของแต่ละประเทศนั้นแตกต่างกัน

Myth: Sinovac ไม่ได้รับความไว้วางใจในหลายประเทศ

Fact: ผลการศึกษาที่ผู้เชี่ยวชาญจากองค์การอนามัยโลกระบุว่า วัคซีน Coronavac ที่พัฒนาขึ้นโดย Sinovac มีความปลอดภัย และมีประสิทธิภาพ สามารถใช้ในการแพทย์ฉุกเฉินได้ในเวลานี้ อย่างไรก็ตามในบางประเทศอาจมีการเลือกหรือไม่เลือกใช้วัคซีนชนิดนี้ก็ได้ ในบางประเทศที่ไม่ได้เลือกใช้วัคซีน Coronavac เป็นวัคซีนหลัก เช่น สิงคโปร์ แต่ก็อนุญาตให้ประชาชนเลือกฉีดวัคซีน Coronavac เป็นทางเลือกได้หากมีความจำเป็น 

Myth: Sinovac ไม่ป้องกันการติดเชื้อ COVID-19

Fact: จากข้อมูลขององค์การอนามัยโลก ปัจจุบันยังไม่มีวัคซีนชนิดใดที่สามารถป้องกันการติดเชื้อ COVID-19 ได้แบบร้อยเปอร์เซ็นต์ วัตถุประสงค์หลักของวัคซีนคือการป้องอาการป่วยจากเชื้อ COVID-19 ซึ่งวัคซีนแต่ละชนิดให้ประสิทธิภาพในการป้องกันการป่วยแตกต่างกัน แต่ทุกชนิดสามารถป้องการกันป่วยหนักและเสียชีวิตได้ในระดับที่น่าพึงพอใจตามการประเมินขององค์การอนามัยโลก ซึ่งรวมถึง Sinovac ด้วยเช่นกัน 

Myth: วัคซีน Sinovac ไม่ป้องกันการติดเชื้อสายพันธุ์เดลต้า

Fact: รายงานจากสำนักข่าวรอยเตอร์ระบุว่า ปัจจุบันหน่วยงานของจีนยังไม่ได้เปิดเผยข้อมูลประสิทธิภาพการป้องกันการติดเชื้อสายพันธุ์เดลต้าอย่างเป็นทางการ แต่ผลการศึกษาล่าสุดของคณะแพทยศาสตร์ ศิริราชพยาบาล พบว่า วัคซีน Sinovac สร้างภูมิ (Antibody) ได้น้อยกว่าวัคซีนประเภทไวรัลเวกเตอร์ เช่น AstraZeneca และวัคซีนประเภท mRNA เช่น Pfizer-BioNTech 

Myth: ผู้สูงอายุไม่เหมาะที่จะฉีด Sinovac

Fact: ปัจจุบันองค์การอนามัยโลกแนะนำให้ใช้วัคซีน Sinovac ในกลุ่มอายุ 18 ปีขึ้นไป ผู้สูงอายุสามารถฉีดวัคซีน Sinovac ได้

Myth: สตรีมีครรภ์ไม่ควรฉีด Sinovac

Fact: รายงานขององค์การอนามัยโลกระบุว่า ปัจจุบันยังไม่มีผลการศึกษาเพียงพอถึงผลกระทบต่อสตรีมีครรภ์หลังจากฉีดวัคซีน Sinovac แต่ด้วยเทคโนโลยีเซลล์เชื้อตายที่ใช้พัฒนาวัคซีนชนิดนี้มีความคล้ายคลึงกันกับวัคซีนที่เราใช้มาก่อน อาทิ วัคซีนไข้หวัดใหญ่ และวัคซีนตับอักเสบบี ซึ่งสตรีมีครรภ์สามารถฉีดได้ แต่องค์การอนามัยโลกแนะนำให้สตรีมีครรภ์ปรึกษาแพทย์ก่อนเข้ารับการฉีดวัคซีน 

Myth: วัคซีนเชื้อตายเช่น Sinovac ให้ภูมิคุ้มกันได้ไม่เพียงไม่กี่เดือน

Fact: ผลการศึกษาที่ตีพิมพ์ในวารสารทางการแพทย์ MedRXiv ระบุว่า ผู้ที่ได้รับวัคซีน Sinovac ครบ 2 โดยไปแล้ว 6 เดือนจะเริ่มมีภูมิคุ้มกันเชื้อ COVID-19 ต่ำลง แต่ส่วนใหญ่ยังคงมีภูมิคุ้มกันอยู่ในระดับหนึ่ง ดังนั้นการฉีดกระตุ้นด้วยวัคซีนเข็มที่ 3 จะช่วยเพิ่มภูมิคุ้มกันได้มากขึ้น

Myth: การฉีดวัคซีนแบบไขว้ เช่น Sinovac ต่อด้วย AstraZeneca เป็นอันตรายมากกว่าการฉีดวัคซีนชนิดเดียวกัน 2 เข็ม

Fact: ผลการศึกษาจากมหาวิทยาลัยออกเฟิร์ด (University of Oxford) เผยผลการศึกษาว่า การฉีดวัคซีนไขว้ ระหว่าง Pfizer-BioNTech และ AstraZeneca ให้ภูมิต้านทานเชื้อ COVID-19 สูงกว่าการฉีด AstraZeneca อย่างเดียว 2 เข็ม และมีความปลอดภัย ขณะที่ไทยเป็นประเทศแรกในโลกที่ฉีดวัคซีนไขว้ ระหว่าง Sinovac หนึ่งเข็ม ต่อด้วย AstraZeneca อีกหนึ่งเข็ม ผลการศึกษาของคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดลระบุว่า สูตรการฉีดไขว้นี้ให้ภูมิคุ้มกันการติดเชื้อ COVID-19 มากกว่าการฉีด Sinovac สองเข็ม และมีความปลอดภัย สามารถฉีดให้กับผู้ที่มีอายุ 18 ปีขึ้นไปได้

Myth: การฉีดวัคซีน Sinovac เข็มที่ 3 (ต่อจากการฉีด Sinovac เข็มที่ 1+2) ให้ประสิทธิภาพใกล้เคียงกับวัคซีนประเภท mRNA เช่น Pfizer-BioNTech

Fact: ปัจจุบันผลการศึกษาการฉีดวัคซีน Sinovac เข็มที่สามยังไม่มีความชัดเจน จากรายงานของสำนักข่าว South China Morning Post ระบุว่า นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยชื่อดังของจีน เช่น มหาวิทยาลัยปักกิ่ง และสถาบันวิทยาศาสตร์แห่งชาติของจีน ระบุว่าการฉีดวัคซีน Sinovac เข็มที่ 3 ช่วยป้องกัน COVID-19 สายพันธุ์เดลต้าได้ดี แต่ผลการศึกษาดังกล่าวไม่ได้ระบุว่าผู้ที่รับการฉีดวัคซีน Sinovac เข็มที่ 3 มีภูมิต้านทานมากกว่า หรือเทียบเท่ากับวัคซีนชนิดอื่น ที่สำคัญผลการศึกษาดังกล่าวตีพิมพ์โดยนักวิจัยจากฝั่งของจีนเท่านั้น และยังไม่ผ่านการตรวจสอบจากผู้เชี่ยวชาญจากภายนอก หรือ Peer Review ดังนั้นเราจึงยังไม่สรุปได้ว่าการฉีดวัคซีน Sinovac เข็มที่ 3 ให้ประสิทธิภาพเทียบเท่ากับวัคซีนชนิดอื่นได้หรือไม่

Myth: บางประเทศ เช่น สิงคโปร์ ประชาชนนิยมฉีดวัคซีน Sinovac มากกว่าเนื่องจากมีความปลอดภัยมากกว่าวัคซีน mRNA 

Fact: รายงานของสำนักข่าว CNA ของสิงคโปร์ระบุว่า ประชาชนชาวสิงคโปร์จำนวนหนึ่ง โดยเฉพาะชาวสิงคโปร์เชื้อสายจีนต้องการฉีดวัคซีนที่ผลิตจากจีน เช่น Sinovac เนื่องจากพวกเขาเชื่อว่าวัคซีนที่ผลิตจากจีนมีความปลอดภัยกว่า และการฉีดวัคซีนที่จีนรับรองจะช่วยให้พวกเขาเดินทางในจีนสะดวก อย่างไรก็ตามรัฐบาลสิงคโปร์ยังคงยืนยันว่า Sinovac ไม่ใช่วัคซีนหลักที่ใช้ในประเทศ (วัคซีนหลักของสิงคโปร์คือ Pfizer-BioNTech และ Moderna) ประชาชนที่ต้องการฉีด Sinovac จะต้องเข้ารับการฉีดที่คลินิกเอกชน 

รัฐบาลสิงคโปร์ยืนยันว่าวัคซีนหลักที่ใช้อยู่มีผู้ทำการศึกษาวิจัยยืนยันว่าให้การป้องกันการติดเชื้อ โดยเฉพาะสายพันธุ์ใหม่ๆ ได้ดีอยู่แล้ว ประชาชนคนไหนที่อยากฉีดวัคซีนตัวอื่น เช่น Sinovac ถือเป็นสิทธิส่วนบุคคล รัฐบาลจะไม่ก้าวก่ายการติดสินใจ ส่วนผู้ที่มีความจำเป็นด้านสุขภาพ เช่นมีอาการแพ้วัคซีน Pfizer-BioNTech หรือ Moderna ให้แพทย์เป็นผู้ออกดุลยพินิจในการให้ฉีดวัคซีน Sinovac ได้โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย

ขณะที่มาเลเซีย และบางประเทศในภูมิภาคเอเชียประกาศหยุดการสั่งซื้อวัคซีน Sinovac โดยให้เหตุผลว่าวัคซีนชนิดนี้มีประสิทธิภาพต่ำกว่าวัคซีนประเภทอื่นๆ ในท้องตลาด โดยเฉพาะวัคซีนประเภทไวรัลเวคเตอร์ เช่น AstraZeneca และวัคซีนประเภท mRNA แต่เนื่องจากกำลังการผลิตของ Sinovac ที่มากกว่า และการกระจายวัคซีนที่ดีกว่าโดยเฉพาะในประเทศกำลังพัฒนา ทำให้องค์การอนามัยโลกยังคงแนะนำให้ใช้วัคซีนตัวนี้ รวมถึงรัฐบาลในบางประเทศยังคงเลือกใช้ Sinovac ไปพลางก่อน จนกว่าพวกเขาจะได้รับวัคซีนประเภทอื่น หรือจนกว่า Sinovac จะพัฒนาวัคซีนรุ่นใหม่ที่สามารถกระตุ้นภูมิคุ้มกันได้มากกว่ารุ่นปัจจุบัน

ที่มา: https://www.who.int/news-room/feature-stories/detail/the-sinovac-covid-19-vaccine-what-you-need-to-know?gclid=Cj0KCQjw-NaJBhDsARIsAAja6dOKykMlP4lXFQw2oxMqmnD45QMIkL1UqqjscuH72LJ4NWLSQA3LELMaArRPEALw_wcB

https://www.reuters.com/world/china/are-chinese-covid-19-shots-effective-against-delta-variant-2021-06-29/

https://www.reuters.com/business/healthcare-pharmaceuticals/antibodies-sinovacs-covid-19-shot-fade-after-about-6-months-booster-helps-study-2021-07-26/

https://www.scmp.com/news/china/science/article/3147852/delta-vaccine-chinese-researchers-find-sinovac-booster-aids

https://www.globaltimes.cn/page/202107/1229716.shtml

https://www.si.mahidol.ac.th/th/hotnewsdetail.asp?hn_id=2691

https://www.medrxiv.org/content/10.1101/2021.07.23.21261026v1

https://www.todayonline.com/singapore/moh-helping-private-institutions-facilitate-ordering-more-sinovac-covid-19-vaccine-doses

https://www.channelnewsasia.com/singapore/sinovac-vaccine-covid-19-recipients-national-count-evidence-data-1987511

https://thediplomat.com/2021/07/malaysia-to-phase-out-chinas-sinovac-vaccine/

https://cofact.org/article/1dkf1qsrehrti

เกี่ยวกับผู้เขียน 

ธนภณ เรามานะชัย (ไมค์) Fact-checker และ คอลัมนิสต์ประจำ Cofact Thailand 

ปัจจุบันทำหน้าที่วิทยากรด้านการตรวจสอบข้อมูลข่าวและเครื่องมือดิจิทัลด้านข่าวให้กับ Google News Initiative ก่อนหน้านี้เขาเป็นผู้ประกาศข่าวเทคโนโลยีให้กับสถานีโทรทัศน์วอยซ์ทีวี (Voice TV) และอดีตกรรมการสมาคมผู้สื่อข่าวต่างประเทศประจำประเทศไทย (FCCT)