5 ปี โคแฟค สู่แรงบันดาลใจที่ไต้หวัน “พันธมิตรชานม” รวมพลังต้านข่าวลวง
กุลธิดา สามะพุทธิ กองบรรณาธิการโคแฟค: รายงาน
กรุงไทเป, ไต้หวัน –โคแฟค ประเทศไทย ฉลองครบ 5 ปี ของการก่อตั้ง ด้วยการเดินทางไปแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับองค์กรภาคประชาสังคมด้านการตรวจสอบข้อเท็จจริงของไต้หวัน โดยคุณ ออเดรย์ ถัง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลของไต้หวัน (Ministry of Digital Affairs-MODA) ผู้เป็นแรงบันดาลใจในการก่อตั้งโคแฟค ได้ร่วมแสดงความยินดีและให้กำลังใจในการทำงาน พร้อมกับย้ำว่า “ความร่วมมือกันของคนต่างวัย” คือหัวใจของการต่อสู้ข่าวลวง
ย้อนกลับไปเมื่อเดือนมิถุนายน 2562 องค์กรภาคประชาสังคมในประเทศไทยได้จัดสัมมนาเรื่องการแก้ปัญหาข่าวลวงโดยเชิญคุณออเดรย์มาเล่าประสบการณ์ของไต้หวัน ซึ่งเป็นต้นแบบการสร้างเครือข่ายภาคพลเมืองในการตรวจสอบข้อเท็จจริงของข้อมูลข่าวสารนำโดยองค์กรอย่าง Cofacts และ Taiwan FactCheck Center ซึ่งได้จุดประกายและแรงบันดาลใจสู่การก่อตั้งโคแฟค ประเทศไทยขึ้นหลังจากนั้น โดยโคแฟคมีที่มาจากคำว่า “collaborative fact checking” หรือการแสวงหาความจริงร่วมกัน
คุณออเดรย์ อัจฉริยะด้านคอมพิวเตอร์วัย 43 ปี ที่สร้างประวัติศาสตร์ในการเมืองไต้หวันด้วยการเป็นรัฐมนตรีคนแรกของกระทรวงดิจิทัล โดยเป็นรัฐมนตรีที่อายุน้อยที่สุด (อายุ 35 ปี เมื่อเข้ารับตำแหน่งครั้งแรกในปี 2559) และเป็นรัฐมนตรีหญิงข้ามเพศคนแรกของไต้หวัน บอกว่ารู้สึกดีใจมากที่ได้ทราบว่า 5 ปีที่ผ่านมา โคแฟค ประเทศไทย ทำงานอย่างแข็งขันในการตรวจสอบข้อเท็จจริง ต่อสู้กับข่าวลวง และเสริมสร้างความรู้เท่าทันสื่อของประชาชน
“เราเชื่อมั่นอย่างยิ่งว่า การทำงานร่วมกันบนพื้นฐานความหลากหลายคือวิถีสู่การสร้างสังคมประชาธิปไตยที่เข้มแข็งและอนาคตอันเสรีร่วมกัน” คุณออเดรย์ให้สัมภาษณ์กองบรรณาธิการโคแฟคและสื่อมวลชนที่ร่วมโครงการศึกษาบทเรียนการต่อต้านข่าวลวงของไต้หวันในและการใช้เทคโนโลยีภาคพลเมือง (civil tech) ในการแก้ปัญหาสังคม ระหว่างวันที่ 2-5 พฤษภาคม 2567 ณ กรุงไทเป โดยได้รับการสนับสนุนจากมูลนิธิฟรีดิช เนามันเพื่อเสรีภาพ (FNF)
FNF เป็นหนึ่งในองค์กรภาคีที่ร่วมก่อตั้งโคแฟค ประเทศไทย องค์กรอื่นๆ ได้แก่ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ChangeFusion และ Opendream เป็นต้น
ในฐานะรัฐมนตรีกระทรวงดิจิทัลแห่งไต้หวัน คุณออเดรย์กล่าวว่ารัฐบาลไต้หวันให้ความสำคัญและสนับสนุนองค์กรภาคประชาสังคม ภาคพลเมือง ตลอดจนองค์กรไม่แสวงหากำไรในการตรวจสอบข้อเท็จจริงและหักล้างข่าวลวง และยินดีที่องค์กรภาคประชาชนอย่าง Taiwan FactCheck Center และ MyGoPen ของไต้หวันได้รับการรับรองมาตรฐานการทำงานตรวจสอบข้อเท็จจริงจากเครือข่ายองค์การตรวจสอบข่าวสากล (International Fact Checking Network)
เมื่อถามถึงทิศทางการทำงานในระยะต่อไปของเครือข่ายการตรวจสอบข้อเท็จจริงทั้งของไต้หวันและไทย คุณออเดรย์เสนอว่า “การผนึกกำลังของคนต่างวัย” (inter-generational solidarity) คือหัวใจของการต่อต้านข่าวลวง
“เราต้องเปิดโอกาสให้คนสูงวัยกับเด็กรุ่นใหม่ได้มาพบปะกัน แลกเปลี่ยนเรียนรู้วิธีการแยกแยะว่าอะไรเป็นข่าวลวง อะไรเป็นข้อมูลเท็จ และจะจัดการกับมันอย่างไร เพราะว่าคนแต่ละรุ่นต่างก็มีภูมิปัญญาและความถนัดที่แตกต่างกัน เราจึงควรส่งเสริมให้คนรุ่นเก่าและรุ่นใหม่ได้เรียนรู้ซึ่งกันและกัน” คุณออเดรย์กล่าว
นอกจากจะได้พบคุณออเดรย์ผู้เป็นแรงบันดาลใจคนสำคัญแล้ว โคแฟคและคณะสื่อมวลชนยังได้เดินทางไปพบปะแลกเปลี่ยนประสบการณ์ และอัพเดทสถานการณ์ด้านการรับมือข่าวลวงจากองค์กรภาคประชาชนในกรุงไทเปอีกหลายแห่ง นอกจากจะได้ความรู้แล้วยังเป็นการกระชับความสัมพันธ์ของ “พันธมิตรชานม” ในมิติของการสร้างสังคมปลอดข่าวลวงอีกด้วย
บทเรียนจาก Taiwan FactCheck Center:
การหักล้างข่าวลวงคือการปกป้องประชาธิปไตย
สำนักงานของศูนย์ตรวจสอบข้อเท็จจริงไต้หวัน (Taiwan FactCheck Center-TFC) เป็นห้องเล็ก ๆ บนชั้น 6 ของอาคารพาณิชย์เก่าแก่ในกรุงไทเป แม้ออฟฟิศจะเล็ก มีทีมงานประจำอยู่ไม่กี่คน แต่การทำงานในลักษณะเครือข่ายบนแพลตฟอร์มออนไลน์ พื้นที่จึงไม่เป็นอุปสรรคต่อการทำงาน
อีฟ เฉียว (Eve Chiu) ผู้อำนวยการและบรรณาธิการบริหาร TFC เล่าที่มาขององค์กรว่าก่อตั้งเมื่อปี 2561 โดยได้เงินทุนจากเฟซบุ๊ก (ปัจจุบันคือ Meta) ซึ่งมีนโยบายให้สนับสนุนการตรวจสอบข้อเท็จจริงและต่อต้านข่าวลวงซึ่งแพร่หลายอย่างมากในโซเชียลมีเดียช่วงการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ปี 2559 จนถึงขั้นบั่นทอนกระบวนการทางประชาธิปไตย Meta ยังเป็นแหล่งทุนหลักของ TFC จนถึงปัจจุบัน ซึ่งขณะนี้มีภาคีสมาชิก 16 องค์กร ที่ช่วยกันสอดส่อง-ตรวจสอบ-หักล้างข่าวลวง แม้ว่าแต่ละองค์กรจะมีนักตรวจสอบข้อเท็จจริง (fact checker) ไม่มากนัก แต่เมื่อทำงานกันเป็นเครือข่ายทั่วไต้หวัน ก็สามารถตรวจสอบข่าวลวงได้ไม่น้อย เครือข่ายนักตรวจสอบข้อเท็จจริงเหล่านี้จะช่วยกันแชร์ผลการตรวจสอบเนื้อหาของกันและกัน ทำให้ข้อมูลที่ถูกต้องเข้าถึงประชาชนในวงกว้าง
“เราทำงานร่วมกันเป็นเครือข่าย เราส่งต่อข่าวลวงที่พบให้องค์กรสมาชิกช่วยกันตรวจสอบ เมื่อใครตรวจสอบจนได้ข้อเท็จจริงแล้ว เราก็จะช่วยกันแชร์รายงานนั้นออกไปตามช่องทางการสื่อสารของแต่ละองค์กร การทำงานร่วมกันเป็นเครือข่ายเช่นนี้ทำให้เกิด ‘ระบบนิเวศของการตรวจสอบข้อเท็จจริง’ ในไต้หวัน ที่ทำให้รายงานการหักล้างข่าวลวงของเราเข้าถึงคนในวงกว้างมากกว่าต่างคนต่างทำ” คุณอีฟกล่าว และให้ข้อมูลว่า TFC หักล้างข่าวลวงไม่ต่ำกว่า 60-70 ชิ้นต่อเดือนหรืออาจมากกว่านั้นในช่วงที่มีเหตุการณ์สำคัญอย่างเช่นการเลือกตั้งประธานาธิบดีเมื่อเดือนมกราคม 2567
กองบรรณาธิการ TFC มีแนวทางในการเลือกเนื้อหาที่นำมาตรวจสอบข้อเท็จจริงอยู่ 3 ข้อ คือ ส่งผลกระทบต่อประโยชน์สาธารณะ เป็นเนื้อหาที่ถูกเผยแพร่ในวงกว้าง และมีเจตนาร้ายมุ่งสร้างเสียหายต่อบุคคล กลุ่มบุคคลและสังคมโดยรวม
การหักล้างข่าวลวงของ TFC มีทั้งข่าวลวงที่ “ดูออกง่าย” อย่างภาพล็อบสเตอร์ยักษ์หรือวิดีโอตึกระฟ้า Taipei 101 โยกเอนไปมาขณะเกิดแผ่นดินไหว ไปจนถึงข่าวลวงที่ส่งผลกระทบทางการเมืองและความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ เช่น การใช้ Generative AI สร้างวิดีโอที่มีภาพและเสียงของนายร็อบ วิตต์แมน ส.ส.สหรัฐฯ ให้สัมภาษณ์ว่าประธานาธิบดีสหรัฐฯ มีนโยบายเพิ่มการขายอาวุธสงครามให้ไต้หวัน ส่งกำลังทหารเข้าไปในไต้หวันเพื่อช่วยปกป้องดินแดน รวมทั้งเชิญทหารไต้หวันมาฝึกรบที่สหรัฐฯ ซึ่งเป็นวิดีโอเท็จที่ถูกปล่อยออกมาในช่วงการหาเสียงเลือกตั้งประธานาธิบดีไต้หวันเมื่อวันที่ 13 มกราคม 2567
เครือข่ายนักตรวจสอบข้อเท็จจริงของ TFC ทำงานกันหนักเป็นพิเศษในช่วงในการเลือกตั้งประธานาธิบดีครั้งล่าสุด ทั้งหักล้างข่าวลวงและตรวจสอบข้อเท็จจริงที่ผู้สมัครชิงตำแหน่งหรือพรรคการเมืองแต่ละพรรคพูดระหว่างหาเสียงหรือการดีเบตที่ออกอากาศสด
คุณอีฟให้ข้อมูลว่า ในการเลือกตั้งประธานาธิบดีครั้งที่ผ่านมา พรรคประชาธิปไตยก้าวหน้า (Democratic Progress Party – DPP) ตกเป็นเป้าโจมตีมากที่สุด ฝ่ายตรงข้ามเผยแพร่ข่าวเท็จที่ทำให้ประชาชนหวาดกลัวว่าจะเกิดสงครามกับจีนหากผู้สมัครจากพรรค DPP ชนะการเลือกตั้ง ที่น่าสนใจคือหลังการเลือกตั้ง มีการปล่อยข่าวลวงว่าการเลือกตั้งครั้งนี้มีการทุจริต มีการใส่ ‘บัตรผี’ ลงในหีบเลือกตั้งโดยมีซีไอเออยู่เบื้องหลัง
“เราหักล้างข่าวลวงจำนวนมากในช่วงเลือกตั้ง เพราะเมื่อใดที่ประชาชนไม่เชื่อว่าการเลือกตั้งโปร่งใสและเป็นธรรม ไม่ยอมรับผลการเลือกตั้ง เมื่อนั้นประชาธิปไตยย่อมตกอยู่ในอันตราย”
คุณอีฟสรุปว่า การหักล้างข่าวลวงและตรวจสอบข้อเท็จจริงทางการเมืองในช่วงเลือกตั้งเป็นส่วนหนึ่งของ “การปกป้องประชาธิปไตย”
เธอยอมรับว่าปริมาณข่าวลวงที่ถูกหักล้างโดยเครือข่ายนักตรวจสอบข้อเท็จจริงของ TFC นั้น ยังมีปริมาณน้อยมากเมื่อเทียบกับข่าวลวงทั้งหมดที่ถูกผลิตและเผยแพร่ออกมา เพราะข่าวลวงนั้นทำง่ายเผยแพร่ได้เร็ว แต่การพิสูจน์หาความจริงนั้นยาก ใช้เวลา และต้องลงทุนลงแรงกว่ามาก
“แต่เราจะยืนหยัดทำหน้าที่ของเราต่อไป” คุณอีฟกล่าว “เราเชื่อว่าเกราะป้องกันข่าวลวงที่ดีที่สุดคือ การที่ประชาชนรู้เท่าทันข่าวลวง หยุดเชื่อและหยุดเผยแพร่ข้อมูลต้องสงสัยโดยอัตโนมัติ เหมือนกับเวลาทึ่คนขับรถเห็นไฟแดงแล้วจะเหยียบเบรกทันที เราอยากเห็นประชาชนรับข้อมูลข่าวสารอย่างระมัดระวัง หมั่นตั้งคำถาม และรู้เท่าทันว่า เนื้อหาใดที่กระตุ้นให้เราหวาดกลัว โกรธ หรือตื่นเต้นที่ได้รับโชค มีความเป็นไปได้สูงว่าจะเป็นข้อมูลเท็จเพื่อการหลอกลวง”
บทเรียนจาก Reporters Without Borders:
ถึงเวลาที่รัฐบาลต้องคิดเรื่องกำกับดูแลการใช้ AI
องค์กรผู้สื่อข่าวไร้พรมแดน (RSF) ในไต้หวันทำงานด้านการปกป้องเสรีภาพสื่อมวลชนและช่วยเหลือผู้สื่อข่าวที่ถูกคุกคามจากการทำหน้าที่สื่อใน 33 ประเทศทั่วภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ทีมงานโคแฟคและคณะสื่อมวลชนไทยไปเยือนสำนักงาน RSF ในวันเสรีภาพสื่อมวลชนโลก 3 พฤษภาคม พอดี ซึ่งทุกปี RSF จะเผยแพร่รายงานสถานการณ์การคุกคามสื่อและดัชนีเสรีภาพสื่อใน 180 ประเทศและดินแดน
รายงานประจำปี 2567 ระบุว่าประเทศที่มีเสรีภาพสื่อสูงสุด 5 อันดับแรกอยู่ในสแกนดิเนเวียทั้งหมด คือ นอร์เวย์ เดนมารก์ สวีเดน เนเธอร์แลนด์ ฟินแลนด์ ขณะที่ประเทศไทยอยู่ในอันดับที่ 87 สูงขึ้นจากอันดับ 106 ในการจัดอันดับครั้งก่อนหน้า เป็นเพราะพัฒนาการด้านการเมือง สังคม เศรษฐกิจและความปลอดภัยของสื่อมวลชนที่มีมากขึ้น แต่ก็ยังคงมีข้อจำกัดจากกฎหมายหมิ่นประมาท กฎหมายความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ และกฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ที่อาจนำไปสู่การดำเนินคดีผู้สื่อข่าว การห้ามนำเสนอข่าวและการเซ็นเซอร์ตัวเองของสื่อไทย นอกจากนี้ผู้สื่อข่าวในจังหวัดชายแดนภาคใต้ยังต้องปฏิบัติหน้าที่ในภาวะเสี่ยงอันตราย
ชาตาอักชิ เวอร์มา (Shataakshi Verma) ผู้จัดการโครงการ RSF ประจำภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก กล่าวว่าสถานการณ์เสรีภาพสื่อโดยรวมในภูมิภาคจัดว่าน่าเป็นห่วง แม้แต่ประเทศที่นับว่าเป็นต้นแบบด้านเสรีภาพสื่อที่ติดท็อป 15 ทุกปี ก็ตกอันดับหมด อย่างเช่น นิวซีแลนด์ (อันดับ 19) ติมอร์เลสเต (อันดับ 20) และไต้หวัน (อันดับ 27)
“การเผยแพร่ข่าวลวงและข้อมูลเท็จที่เกิดขึ้นทั่วโลก เป็นปัญหาที่น่ากังวลมากและส่งผลกระทบทางลบต่อการทำงานของสื่อ เรากำลังจับตาดูเรื่องนี้อย่างใกล้ชิด” คุณชาตาอักชิกล่าวและยกตัวอย่างการเลือกตั้งประธานาธิบดีไต้หวันเมื่อเดือนมกราคม 2567 ที่พบว่ามีการใช้ข่าวลวงและข้อมูลเท็จโจมตีกันทางการเมือง
“ปี 2023 ยังเป็นปีที่มีการใช้ AI มากขึ้นอย่างก้าวกระโดด RSF และองค์กรพันธมิตรจึงได้ออกคู่มือว่าด้วยจริยธรรมการใช้ AI ในงานสื่อสารมวลชน (Paris Charter on AI and Journalism) ซึ่งเรากำลังพยายามผลักดันให้รัฐบาลของประเทศต่าง ๆ นำข้อเสนอของเราไปเป็นแนวทางในการร่างนโยบายกำกับดูแลการใช้ AI ให้เป็นไปในทางที่ก่อประโยชน์ และไม่ถูกใช้เพื่อสร้างข่าวลวงข้อมูลเท็จ”
“จริงอยู่ว่ามีหลายองค์กรที่ทำงานด้านการตรวจสอบข้อเท็จจริงและต่อต้านข่าวลวง แต่ในยุคที่มีการนำ AI มาใช้ในการผลิตและเผยแพร่ข่าวลวงอย่างกว้างขวางเช่นนี้ RSF เห็นว่าภาครัฐควรจะต้องเข้ามากำกับดูแลด้วย โดยเฉพาะการใช้ AI ในด้านข้อมูลข่าวสาร จะปล่อยให้ภาคพลเมืองรับมือเพียงลำพังคงไม่ไหว” ผู้จัดการ RSF ภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกกล่าว
ชมย้อนหลัง RSF X Cofact ไลฟ์สดจากกรุงไทเป เนื่องในวันเสรีภาพสื่อมวลชนโลก 3 พฤษภาคม 2567 ได้ ที่นี่
บทเรียนจาก Cofacts Taiwan:
ทุกคนมีศักยภาพในการหาข้อมูลที่ถูกต้องเพื่อหักล้างข่าวลวง
เกือบ 8 ปี แล้วที่บิลเลียน ลี (Billion Lee) เป็นผู้อำนวยการ Cofacts ที่เธอร่วมก่อตั้งในปี 2559 คุณบิลเลียนยังคงเปี่ยมไปด้วยพลังในการทำงานและยึดมั่นในแนวคิดตั้งต้นของ Cofacts นั่นคือ สร้างแพลตฟอร์มออนไลน์ที่เปิดให้คนทั่วไปส่งเนื้อหาที่สงสัยว่าเป็นข่าวลวง/ข้อมูลเท็จเข้ามาให้ตรวจสอบ และมีส่วนร่วมในการตรวจสอบข้อเท็จจริง รวมทั้งเผยแพร่ข้อมูลที่แต่ละคนมีต่อสาธารณะเพื่อตรวจทานซึ่งกันและกัน
Cofacts สนับสนุนให้มีข้อมูลที่หลากหลายและเชื่อว่าการตรวจสอบความถูกต้องไม่ได้เป็นหน้าที่ของนักข่าวหรือผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านเท่านั้น แต่พลเมืองทุกคนมีศักยภาพที่จะค้นคว้าหาข้อมูลที่ถูกต้องเพื่อมาหักล้างข่าวลวง
จากแนวคิดตั้งต้นนี้ ทีมโปรแกรมเมอร์อาสาได้พัฒนาระบบฐานข้อมูลและแชตบอตจนได้แพลตฟอร์มตรวจสอบข้อเท็จจริงที่ทุกคนเข้าถึงและใช้งานง่ายไม่ซับซ้อน ผู้ใช้งานส่งเนื้อหาต้องสงสัยเข้าไลน์แชตบอทหรือเว็บไซต์ Cofacts ระบบจะค้นหารายงานการตรวจสอบข้อเท็จจริงในประเด็นเดียวกันหรือใกล้เคียงกันมาตอบ ขณะเดียวกันเนื้อหาต้องสงสัยที่ผู้ใช้ส่งเข้ามานั้นก็จะถูกเผยแพร่ในทุกแพลตฟอร์มของโคแฟคเพื่อให้อาสาสมัครนักตรวจสอบข้อเท็จจริงเข้ามาช่วยตรวจสอบ โดยจะต้องอ้างอิงแหล่งที่มาของข้อมูลที่ตรวจสอบด้วยและทุกคนใน “ชุมชน Cofacts” สามารถโต้แย้ง ให้ข้อมูลเพิ่มเติม ให้ความเห็น หรือ “ตรวจสอบการตรวจสอบ” ได้อย่างเต็มที่
“หลายคนเข้าใจว่าจุดเริ่มต้นของเราเกิดจากการประเด็นไต้หวัน-จีน แต่เปล่าเลย จุดเริ่มต้นของเรามาจากความพยายามหักล้างข่าวลวงและข้อมูลเท็จที่เป็นไปเพื่อสร้างความเกลียดชังโฮโมเซ็กชวลและกลุ่มเพศหลากหลาย ซึ่งเป็นคนกลุ่มน้อยในสังคมไต้หวัน ทุกวันนี้กลุ่มเพศหลากหลายก็ยังตกเป็นเหยื่อของการสร้างความเกลียดชังด้วยข้อมูลเท็จอยู่ แม้แต่ในการหาเสียงเลือกตั้งประธานาธิบดีครั้งล่าสุด ก็ยังคงมีพรรคการเมืองที่ใช้ข้อมูลเท็จเกี่ยวกับเพศวิถีมาโจมตีคู่แข่ง” คุณบิลเลียนกล่าว
ในฐานะหนึ่งในผู้ก่อตั้ง เธอภูมิใจมากที่เครือข่ายอาสาสมัครนักตรวจสอบข้อเท็จจริงของ Cofacts เพิ่มจำนวนขึ้นเรื่อย ๆ ในช่วง 8 ปีที่ผ่านมา ปัจจุบันมีอยู่มากกว่า 2,400 คนทั่วไต้หวัน แต่นั่นยังไม่พอ
“เรายังเดินหน้าต่อไปในการทำให้ทุกคนเป็นนักตรวจสอบข้อเท็จจริง เพราะการต่อสู้กับข่าวลวง การตรวจสอบข้อเท็จจริง และการเผยแพร่ข้อมูลที่ถูกต้องไม่ใช่หน้าที่ของนักข่าวหรือผู้เชี่ยวชาญเท่านั้น เราเชื่อว่าทุกคนทำอะไรบางอย่างได้เพื่อช่วยกันให้ข้อมูลที่ถูกต้องแก่สังคม”
บทเรียนจาก Double Think Lab:
การตรวจสอบข้อเท็จจริงคือรากฐานของการต่อสู้กับไอโอ
วู มิน ซวน (Wu Min Hsuan) นักกิจกรรมเพื่อสังคม และ พูมา เชน (Puma Shen) นักวิชาการด้านกฎหมายและอาชญวิทยาร่วมก่อตั้ง Doublethink Lab (DL) ขึ้นเมื่อปี 2562 เพื่อศึกษาวิเคราะห์และเปิดโปงปฏิบัติการข้อมูลข่าวสาร (Information Operation – IO) ของทางการจีน
DL ได้รับการสนับสนุนจากแหล่งทุนต่างประเทศในยุโรปเป็นหลัก รัฐบาลพรรคประชาธิปไตยก้าวหน้า (DPP) ให้เงินสนับสนุนในบางกิจกรรม แต่หลังจากที่คุณพูมาได้รับเลือกเป็นสมาชิกสภานิติบัญญัติ สังกัดพรรค DPP ในการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 13 มกราคม 2567 DL เขาได้ลาออกจากตำแหน่งประธานบริหาร และ DL ก็มีมติไม่รับการสนับสนุนด้านงบประมาณจากภาครัฐอีก เพื่อความโปร่งใสและเป็นอิสระต่อกัน ปัจจุบันคุณวู ดำรงตำแหน่งเป็นซีอีโอของ DL
“องค์กรของเราเกิดขึ้นจากความอยากรู้ให้แน่ชัดว่าจีนใช้ปฏิบัติการข้อมูลข่าวสาร การโฆษณาชวนเชื่อ และการเผยแพร่ข้อมูลเท็จ-ข่าวลวง เพื่อมีอิทธิพลเหนือคนไต้หวันอย่างไร” คุณวูหรือที่รู้จักในแวดวงนักกิจกรรมว่า “ทีทีแคท” (Ttcat) เล่าที่มาขององค์กร
“เราไม่ได้ทำงานด้านการตรวจสอบข้อเท็จจริง แต่เราทำงานร่วมกับองค์กรด้านการตรวจสอบข้อเท็จจริงอย่างใกล้ชิด ในขณะที่องค์กรพันธมิตรของเราช่วยกันหักล้างข่าวลวงรายวัน DL มุ่งเน้นการพัฒนาโปรแกรมคอมพิวเตอร์ที่ทำให้เราสามารถกวาดเนื้อหาที่สื่อสารเป็นภาษาจีนจำนวนมหาศาลเข้ามาไว้ในฐานข้อมูลของเรา แล้วให้โปรแกรมวิเคราะห์ว่าใครบ้างที่ผลิต เผยแพร่และทำให้ข่าวลวงนั้นแพร่หลาย ใครบ้างที่ทำให้เนื้อหาเท็จเหล่านั้นกลายเป็นไวรัล เราวิเคราะห์ได้แม้กระทั่งว่าสื่อไต้หวันเจ้าไหนที่รายงานข่าวหรือใช้ถ้อยคำที่เป็นไปในทิศทางเดียวกับสื่อของทางการจีน”
งานวิจัยสำคัญชิ้นหนึ่งของ DL คือการเปิดโปง “ธุรกิจไอโอ” ที่เผยให้เห็นว่ามีผู้ที่ทำเงินจากการทำงานให้ปฏิบัติการข้อมูลข่าวสารแบบครบวงจร ทั้งคนที่ขโมยรูปถ่ายและโปรไฟล์โซเชียลมีเดียของผู้คนมาขายลูกค้าเพื่อสร้างตัวตนและบัญชีปลอม (fake persona/fake account) ที่ใช้ในการเผยแพร่ข่าวลวง, โปรแกรมเมอร์ที่พัฒนาและขายซอฟต์แวร์สำหรับบริหารจัดการบัญชีปลอมพร้อมกันในคราวเดียว ราวกับมีโทรศัพท์มือถือ 200 เครื่องอยู่ในมือสำหรับจัดการแต่ละบัญชี ซึ่งบัญชีปลอมที่คอยกดไลก์กดแชร์ข่าวลวงเหล่านี้สามารถ “หลอก” อัลกอริทึมของเฟซบุ๊กให้ดันเนื้อหานั้นให้กลายเป็นไวรัล นอกจากนี้ยังมีบริษัทการตลาด บริษัทสื่อ บริษัทประชาสัมพันธ์ที่ทำงานให้ไอโอ โดยเป็นผู้ว่าจ้างอินฟลูเอนเซอร์ในโซเชียลมีเดียและ TikTok ให้พูดตามบทที่ต้องการ
“คำถามคือใครเป็นคนจ่ายเงินให้บุคคลและบริษัทเหล่านี้ผลิตและกระจายข่าวลวง” คุณวูกล่าว “เรากำลังพยายามผลักดันให้รัฐบาลจัดการธุรกิจนี้ การหากินกับการเผยแพร่ข่าวลวง ข้อมูลเท็จนับว่าเป็นอาชญากรรม บุคคลและบริษัทเหล่านี้ควรถูกปิดและถูกดำเนินคดี”
แม้ DL จะมุ่งเน้นที่การเปิดโปงปฏิบัติการไอไอ แต่คุณวูย้ำว่า ฐานรากสำคัญของการรู้เท่าทันปฏิบัติการไอโอคือการตรวจสอบข้อเท็จจริง
“การตรวจสอบข้อเท็จจริงเป็นงานที่สำคัญมาก ปัญหาคือรายงานการตรวจสอบข้อเท็จจริงมักถูกเผยแพร่ในวงแคบ ๆ เราจะทำยังไงให้ผู้คนสนใจและช่วยกันแชร์รายงานการหักล้างข่าวลวง ทำยังไงให้ผู้บริการแพลตฟอร์มช่วยดันเนื้อหาของเราให้แพร่หลายกว่านี้”
“อีกปัญหาหนึ่งที่ผมเห็นก็คือ ผู้คนยังรู้สึกไม่ดีเมื่อถูกเตือนว่ากำลังแชร์ข่าวลวง ถ้าเราไปบอกใครว่าเนื้อหาที่คุณโพสต์นั้นมันเป็นข่าวลวงนะ เขาอาจจะรู้เสียหน้า ไม่พอใจเพราะคิดว่าโดนดูถูกเขาว่าโง่ ไม่มีความรู้ สุดท้ายก็จบลงที่การทะเลาะกัน โกรธกัน คนจำนวนมากจึงเลือกที่จะนิ่งเฉยเมื่อพบเห็นการแชร์ข่าวลวงหรือข้อมูลเท็จ” คุณวูตั้งข้อสังเกต
“เราจึงต้องช่วยกันสร้างบรรทัดฐานทางสังคมในเรื่องนี้ขึ้นใหม่ เราต้องช่วยกันสร้างสังคมที่การเตือนกันเรื่องแชร์ข่าวลวงไม่ใช่การดูถูกหรือหักหน้า ทำให้มันเป็นเรื่องธรรมดาเหมือนเวลาที่ใครมาเตือนเราว่าเชือกรองเท้าหลุด เราจะไม่โกรธ แถมยังนึกขอบคุณด้วยซ้ำที่ทำให้เราไม่สะดุดเชือกรองเท้าหกล้ม”
FNF Global Innovation Hub:
พลังหนุนประชาธิปไตยและเสรีภาพ
นอกจากสนับสนุนการเดินทางและช่วยประสานงานกับองค์กรต่าง ๆ ในการศึกษาดูงานครั้งนี้ มูลนิธิฟรีดิช เนามันเพื่อเสรีภาพ (FNF) ยังได้เปิดสำนักงานกรุงไทเปต้อนรับคณะโคแฟคและสื่อมวลชน ความพิเศษของสำนักงาน FNF ที่นี่คือเป็นที่ตั้งของ Global Innovation Hub ที่เพิ่งเปิดตัวไปเมื่อปี 2564
เซลีน นอยเออร์ (Céline Nauer) ที่ปรึกษา Global Innovation Hub นำทีมงานคนรุ่นใหม่มาเล่าถึงงานของ FNF ในไต้หวันว่า ทำงานร่วมกับองค์กรภาคประชาสังคมในไต้หวันที่ขับเคลื่อนด้านสิทธิเสรีภาพและประชาธิปไตยหลายองค์กร เช่น Open Culture Foundation และ g0v (Gov-Zero) ซึ่งเป็นชุมชนนักพัฒนาเทคโนโลยีภาคพลเมือง
“FNF Global Innovation Hub เป็นคลังสมองและคลังเครื่องมือสนับสนุนการทำงานในด้านต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับเทคโนโลยีดิจิทัล” คุณเซลีนกล่าว “เราสนใจเทคโนโลยีที่เกิดขึ้นใหม่ว่าจะส่งผลกระทบต่อสังคมอย่างไร”
ในส่วนของการรับมือกับ AI และข่าวลวงนั้น ปีที่แล้ว FNF Global Innovation Hub ได้เชิญผู้เชี่ยวชาญจากองค์กร Full Fact ของอังกฤษมาบรรยายในหัวข้อการใช้ AI เพื่อต่อต้านข่าวลวง เพื่อช่วยให้นักตรวจสอบข้อเท็จจริงและสื่อมวลชนไต้หวันใช้ AI หักล้างข้อมูลและตรวจสอบข้อมูลได้รวดเร็วและมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้นโดยใช้ AI เป็นเครื่องมือ
……………………………….
หลังจากเยี่ยมเยือนและแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับองค์กรภาคพลเมืองที่ทำงานด้านข้อมูลข่าวสารแล้ว ทีมโคแฟค ประเทศไทยและสื่อมวลชนได้ร่วมงาน g0v (Gov-Zero Summit) ซึ่งจัดขึ้นระหว่างวันที่ 4-5 พฤษภาคม 2567 ที่ Academia Sinica ชานกรุงไทเป งานนี้เป็นการรวมตัวของนักเทคโนโลยีพลเมือง ทั้งโปรแกรมเมอร์ วิศวกรคอมพิวเตอร์ นักพัฒนาซอฟต์แวร์ และนักกิจกรรมเพื่อสังคมที่เน้นการนำเทคโนโลยีภาคพลเมือง Open Data และ Open Source มาใช้ในการแก้ปัญหาสังคม
การเดินทางสู่ไต้หวันในวาระครบรอบ 5 ปี การก่อตั้งโคแฟค ประเทศไทย ครั้งนี้ จึงไม่เพียงได้กลับไปหาที่มาของแรงบันดาลใจ ได้พบปะองค์กรพันธมิตรและเพื่อนร่วมทาง แต่ยังได้อัพเดทข้อมูล สถานการณ์ข่าวลวง และแนวคิดที่เป็นประโยชน์ต่อการทำงานก้าวต่อไปของโคแฟคและภาคีเครือข่ายในการปกป้องระบบนิเวศข้อมูลข่าวสารของเราจากข่าวลวง