การแพร่กระจายข้อมูลสิ่งแวดล้อมปลอม อันตรายกว่าที่คุณคิด Cofact Special Report #6

บทความ

Cofact Special Report #6

การแพร่กระจายข้อมูลสิ่งแวดล้อมปลอม อันตรายกว่าที่คุณคิด

English Summary
The effect of global warming and climate change is now visible everywhere we go. Scientists agree that the severe storms and floods we have seen in the past few years prove that we need to do something quick to save the Earth from getting warmer. However, many fossil fuel companies and heavy industries still believe that climate change are not the cause of the natural disasters that become more severe and more frequent. These companies, along those who benefit from them are driving to spread misinformation on climate change. We look into most common misinformation and the facts on climate change.


ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมาเราเห็นความเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศอย่างเห็นได้ชัด ไม่ว่าจะเป็นภัยธรรมชาติที่พบเห็นบ่อยขึ้นอย่างพายุ น้ำท่วม หรืออากาศหลงฤดู นักวิทยาศาสตร์จำนวนมากบอกว่า สภาพอากาศที่ผิดเพี้ยนเหล่านี้มาจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศอันเนื่องมาจากอุณหภูมิของพื้นผิวโลกที่สูงขึ้น

บทวิเคราะห์ของ The Momentum เมื่อวันที่ 7 มกราคมปี 2020 ระบุว่า ประเทศไทยถึงแม้จะไม่ได้เป็นผู้ปล่อยก๊าซเรือนกระจก และคาร์บอนไดออกไซด์ออกสู่ชั้นบรรยากาศมากเมื่อเทียบกับประเทศอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ เช่น สหรัฐฯ และจีน แต่ไทยเป็นหนึ่งในสิบประเทศที่จะได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศมากที่สุด

นักวิทยาศาสตร์ทั่วโลกต่างสรุปตรงกันว่า ก๊าซเรือนกระจกจากกิจกรรมของมนุษย์เป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศอย่างมีนัยสำคัญ ถึงแม้นานาประเทศจะพยายามหาวิธีการที่จะช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและคาร์บอนไดออกไซด์ แต่ก็ไม่สามารถยับยั้งการเพิ่มของอุณหภูมิพื้นผิวโลกได้ โดยข้อมูลจากจาก ตลอด 6 ปีที่ผ่านมาโลกมีอุณหภูมิพื้นผิวสูงขึ้นกว่ายุคปฏิวัติอุตสาหกรรมถึงกว่า 1.1 องศาเซลเซียส ถึงแม้ตัวเลขจะดูไม่สูง แต่ก็สามารถทำให้ระบบนิเวศเสียหายได้

ถึงแม้ข้อมูลและหลักฐานทางวิทยาศาสตร์จะสรุปตรงกัน แต่การเผยแพร่และกระจายข้อมูลข่าวสารเท็จเกี่ยวกับสภาพภูมิอากาศบนโลกออนไลน์ก็มีมากเช่นกัน จากรายงานของสำนักข่าวเอพี เมื่อวันที่ 22 เมษายนที่ผ่านมาระบุว่า ผู้ให้บริการสื่อโซเชียลเช่นเฟซบุ๊ก ทวิตเตอร์ และยูทูบยังให้ความสำคัญเกี่ยวกับการจัดการกับเนื้อหาเท็จ และเนื้อหาลวงเกี่ยวกับความเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศเมื่อเทียบกับการจัดการกับเนื้อหาลวงเกี่ยวกับวัคซีนโควิด หรือเนื้อหาที่เกี่ยวข้องกับการเมือง ทั้งๆ ที่ปัญหาความเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศสร้างความเสียหายในชีวิตของประชาชนมากกว่า

รายงานของเอพียังบอกด้วยว่า ในสหรัฐฯ และประเทศพัฒนาแล้วมักจะเจอการแพร่กระจายข้อมูลเท็จเกี่ยวกับสภาพภูมิอากาศจากนักการเมืองฝั่งอนุรักษ์นิยมที่ยังคงเห็นความสำคัญของบริษัทน้ำมันขนาดใหญ่ และบริษัทพลังงานที่ยังคงหารายได้จากแหล่งพลังงานที่ปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์และก๊าซเรือนกระจกปริมาณมาก อย่างน้ำมันและถ่านหิน พวกเขาจะพยายามแสดงข้อมูลที่ระบุว่าการผลิตพลังงานสะอาด เช่นพลังงานลม พลังงานแสงอาทิตย์ และพลังงานน้ำไม่ได้ช่วยลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนได้ออกไซด์ หรือกังหันลมกลางทะเลเป็นตัวการทำลายฝูงนกท้องถิ่น ซึ่งข้อมูลเหล่านี้ล้วนปราศจากแหล่งที่มาทางวิชาการที่อ้างอิงได้

ข้อมูลเท็จเกี่ยวกับสภาพภูมิอากาศที่เรามักพบเห็นบ่อยครั้ง

เว็บไซต์กองทุนสัตว์ป่าโลกสากล หรือ WWF รวบรวม 10 ความเชื่อเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศที่เรามักเข้าใจผิดบ่อยครั้ง ได้แก่

  1. การเปลี่ยนแปลงของอุณหภูมิพื้นผิวโลกเป็นเรื่องปกติ
    ความจริง: ปัจจุบันอุณหภูมิพื้นผิวโลกสูงที่สุดนับตั้งแต่เคยมีการบันทึกมา สาเหตุหลักมาจากปริมาณก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในชั้นบรรยากาศที่มากขึ้นนับตั้งแต่ยุคปฏิวัติอุตสาหกรรม และปัจจุบันยังไม่มีทีท่าว่าปริมาณก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่สะสมอยู่จะลดลงแต่อย่างใด
  2. พืชล้วนต้องการก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ดังนั้นปริมาณ CO2 มากไม่ได้มีผลต่อพืช
    ความจริง: จริงอยู่ที่พืชล้วนต้องการก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในการสังเคราะห์แสง แต่ปัจจุบันมนุษย์ได้ตัดไม้ทำลายป่า ทำลายระบบนิเวศของพืชอย่างต่อเนื่องจนระบบนิเวศไม่สามารถดูดซึม CO2 ได้ทัน ส่งผลให้ปริมาณ CO2 คงค้างในชั้นบรรยากาศในปริมาณมาก
  3. สภาวะโลกร้อนไม่มีอยู่จริง มิเช่นนั้นทำไมเรายังเจอกับอากาศหนาวอยู่?
    ความจริง: อุณหภูมิพื้นผิวโลกที่สูงขึ้น ไม่เพียงแต่ทำให้เกิดภัยแล้งที่ยาวนานขึ้น แต่ยังส่งผลให้สภาวะอากาศแปรปรวน และเกิดภัยธรรมชาติที่รุนแรงมากขึ้น เช่นพายุฝนฟ้าคะนอง ไต้ฝุ่น และพายุหิมะที่เกิดบ่อยขึ้น และหลายครั้งพายุเหล่านี้กินเวลานานหลายวันกว่าจะสลายตัว
  4. สภาวะโลกร้อนเป็นปัญหาไกลตัว อีกนานกว่าเราจะเห็นผลกระทบในชีวิตประจำวัน
    ความจริง: อุณหภูมิพื้นผิวโลกที่สูงขึ้นเกือบแตะ 1.5 องศาเซลเซียสในปัจจุบัน ส่งผลให้สภาพอากาศแปรปรวน ประชาชนในหลายประเทศได้รับผลกระทบจากปัญหานี้แล้ว เช่น ประเทศในแถบแอฟริกาและตะวันออกกลางที่ประสบกับภัยแล้ง ไม่สามารถทำมาหากินในบ้านเกิดตัวเองได้ จนต้องอพยพย้ายถิ่นไปยังยุโรป และประเทศอื่นๆ ในภูมิภาค ปัญหาขาดแคลนพืชผลทางการเกษตรบางชนิด และปัญหาการแย่งชิงทรัพยากรจนเกิดการสู้รบกันในบางพื้นที่
  5. การผลิตพลังงานทางเลือกมีต้นทุนสูง
    ความจริง: หลายคนมีความเชื่อว่าการผลิตพลังงานทางเลือกมีต้นทุนสูง แต่ที่จริงแล้วการผลิตพลังงานทางเลือก เช่น พลังงานแสดงอาทิตย์ และพลังงานลมใช้ต้นทุนต่ำกว่าการผลิตพลังงานจากฟอสซิล (เช่น น้ำมัน และ ถ่านหิน) บางประเทศบริษัทพลังงานไม่สามารถแบกรับต้นทุนการผลิตพลังงานฟอสซิลได้ และจำเป็นต้องให้รัฐบาลอุ้มธุรกิจของพวกเขา เช่นสหภาพยุโรปที่รัฐบาลอังกฤษต้องอุ้มธุรกิจพลังงานฟอสซิลถึงกว่า 1 หมื่นล้านปอนด์ หรือกว่า 4.5 แสนล้านบาท
  6. ประชากรหมีขั้วโลกเพิ่มขึ้น
    ความจริง: อุณหภูมิพื้นผิวโลกที่สูงขึ้นส่งผลให้แผ่นน้ำแข็งบริเวณขั้วโลกเหนือละลายอย่างรวดเร็ว แผ่นน้ำแข็งเหล่านั้นเป็นแหล่งที่อยู่ของหมีขั้วโลก เมื่อพื้นที่อาศัยของพวกมันลดลง พวกมันก็ไม่สามารถหาอาหารได้เหมือนแต่ก่อน ทำให้ประชากรหมีขั้วโลกอดตายมากขึ้น WWF คาดการณ์ว่าภายในปี 2050 ประชากรหมีขั้วโลกจะลดลงจากปัจจุบันถึง 30%
  7. พลังงานแสงอาทิตย์ไม่สามารถใช้ได้ในพื้นที่ที่มีเมฆมาก หรือไม่มีลม
    ความจริง: เทคโนโลยีในปัจจุบันสามารถปรับรูปแบบการกักเก็บ และจ่ายพลังงานสะอาดได้ดีขึ้น ถึงแม้วันไหนที่ไม่มีแสงแดด หรือไม่มีลม ระบบการจ่ายพลังงานก็ยังคงทำงานได้ดี
  8. สัตว์สามารถปรับตัวให้เข้ากับการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศได้
    ความจริง: จริงอยู่ที่ทฤษฎีวิวัฒนาการของชาร์ลส์ ดาร์วิน จะระบุว่าสัตว์สามารถปรับตัวให้เข้ากับสิ่งแวดล้อมเพื่อการดำรงอยู่ของสายพันธุ์ตนได้ แต่ผลการศึกษาของ WWF พบว่า ไม่ใช่สัตว์หรือพืชทุกชนิดที่สามารถปรับตัวได้ พฤติกรรมต่างๆ ของมนุษย์ เช่น การตัดไม้ทำลายป่า การสร้างเขื่อน และการขยายตัวของเมืองอย่างรวดเร็ว เป็นตัวกระตุ้นให้สิ่งมีชีวิตบางประเภทไม่สามารถปรับตัวได้ตามธรรมชาติอย่างที่พวกมันควรจะเป็น
  9. การลดประชากรมนุษย์จะช่วยแก้ไขปัญหาการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศได้
    ความจริง: จริงอยู่ที่มนุษย์เป็นตัวการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์มากที่สุด แต่นักวิทยาศาสตร์หลายคนมองตรงกันว่า การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของมนุษย์จะช่วยแก้ปัญหาการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศได้ดีที่สุด โดยเฉพาะการเปลี่ยนมาใช้พลังงานสะอาด และลดการใช้ทรัพยากรที่ส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศ แต่การจะปรับเปลี่ยนวิถีชีวิตของมนุษย์ให้ไปสู่จุดนั้นได้จะต้องอาศัยความร่วมมือของทุกภาคส่วน โดยเฉพาะภาคการเมือง และภาคธุรกิจที่จะต้องมีความจริงจังและจริงใจต่อการปรับเปลี่ยนธุรกิจของตนเองให้ไปสู่การใช้พลังงานสะอาดและลดการใช้ทรัพยากรธรรมชาติอย่างฟุ่มเฟือย
  10. จีนเป็นประเทศที่ปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์มากที่สุด
    ความจริง: รายงานจากเว็บไซต์ USA Today ระบุว่า ในปี 2018 จีนเป็นประเทศที่มีการผลิตพลังงานถ่านหิน และปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จากอุตสาหกรรมพลังงานมากที่สุดเป็นอันดับหนึ่งของโลก อย่างไรก็ตามจีนกลับเป็นประเทศที่มีการลงทุนด้านพลังงานทางเลือก และพลังงานสะอาดมากที่สุดในโลก ต่างจากสหรัฐฯ ซึ่งปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์มากเป็นอันดับสอง แต่ปริมาณการปล่อย CO2 สะสมของสหรัฐฯ นับตั้งแต่ยุคปฏิวัติอุตสาหกรรมมีประมาณมากกว่าจีนหลายเท่า และนโยบายเรื่องการผลิตพลังงานทางเลือกและพลังงานสะอาดยังน้อยและล่าช้ากว่าจีนมาก

ที่มา:
https://www.wwf.org.uk/updates/10-myths-about-climate-change


https://www.cbsnews.com/news/climate-change-myths-what-science-really-says/


https://www.usatoday.com/story/money/2019/07/14/china-us-countries-that-produce-the-most-co-2-emissions/39548763/

https://apnews.com/article/joe-biden-wildfires-climate-change-misinformation-climate-d5909c4ddfb13e82174dafcef4af94ff
https://themomentum.co/5-environmental-issue-in-thailand-in-2020/

เกี่ยวกับผู้เขียน
ธนภณ เรามานะชัย (ไมค์) Fact-checker และ คอลัมนิสต์ประจำ Cofact Thailand
ปัจจุบันทำหน้าที่วิทยากรด้านการตรวจสอบข้อมูลข่าวและเครื่องมือดิจิทัลด้านข่าวให้กับ Google News Initiative ก่อนหน้านี้เขาเป็นผู้ประกาศข่าวเทคโนโลยีให้กับสถานีโทรทัศน์วอยซ์ทีวี (Voice TV) และอดีตกรรมการสมาคมผู้สื่อข่าวต่างประเทศประจำประเทศไทย (FCCT) https://www.damikemedia.com