ทำความรู้จักโควิด-19 สายพันธุ์โอมิครอน อันตรายแค่ไหน? วัคซีนป้องกันได้หรือไม่? Cofact Special Report #10

บทความ

English Summary

COVID-19’s Omicron variant has been spreading across the globe and will soon be the main variant in some parts of the world. Although the initial data suggested that this variant does not cause the severe illness, but many countries do not take a risk and start putting some restrictions back. Thailand has been reporting a few dozen Omicron cases in the past month with no significant surge. However, the government does not take a chance and encourage people who have been fully vaccinated to get boosted and those who are still unvaccinated to get their first shot. In this article, we answer frequently asked questions on Omicron situation in Thailand, such as most common symptoms and how effective the current vaccines prevent the severe diseases and hospitalization. 

โควิด-19 สายพันธุ์โอมิครอน สายพันธุ์ล่าสุดที่กำลังแพร่ระบาดมากขึ้นทั่วโลก และกำลังเป็นสายพันธุ์ที่มีการระบาดมากที่สุดในแถบแอฟริกาใต้แทนที่สายพันธุ์เดลต้า ในช่วงหนึ่งเดือนที่ผ่านมารัฐบาลในหลายประเทศเร่งศึกษาข้อมูล และใช้มาตรการต่างๆ เพื่อควบคุมไม่ให้สายพันธุ์โอมิครอนแพร่ระบาด เนื่องจากข้อมูลเบื้องต้นพบว่าสายพันธุ์นี้สามารถแพร่กระจายได้อย่างรวดเร็วกว่าสายพันธุ์อื่นๆ 

คำถาม: สถานการณ์การแพร่ระบาดของโอมิครอนเป็นอย่างไร?

คำตอบ: ปัจจุบันโควิด-19 สายพันธุ์โอมิครอนเป็นสายพันธุ์ที่มีการแพร่กระจายรวดเร็วที่สุดในประเทศแถบแอฟริกาใต้ แทนที่สายพันธุ์เดลต้าแล้ว ขณะที่ประเทศแถบยุโรป และอเมริกาเหนือเริ่มผู้ติดเชื้อมากขึ้นเรื่อยๆ ส่วนในเอเชียยังพบผู้ติดเชื้อไม่มาก อย่างไรก็ตามโควิดสายพันธุ์เดลต้า ยังคงเป็นสายพันธุ์ที่พบผู้ติดเชื้อมากที่สุดทั่วโลก แต่ผู้เชี่ยวชาญประเมินว่าโอมิครอนจะกลายเป็นสายพันธุ์หลักที่แพร่ระบาดหนักในอีกไม่ช้า

คำถาม: ลักษณะอาการของผู้ติดเชื้อโควิด-19 สายพันธุ์โอมิครอนเป็นอย่างไรบ้าง?

คำตอบ: ผู้ป่วยโควิด-19 สายพันธุ์โอมิครอนส่วนใหญ่จะมีไข้ ปวดศีรษะ กล้ามเนื้ออ่อนแรง คล้ายกับไข้หวัดใหญ่ ประมาณ 3-4 วันอาการจะดีขึ้น ผู้ป่วยส่วนใหญ่ยังคงรับรสชาติอาหาร และกลิ่นได้ดีอยู่

คำถาม: ความรุนแรงของอาการป่วยมากหรือน้อยกว่าสายพันธุ์ก่อนหน้า?

คำตอบ: จากข้อมูลของกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุขของไทย และจากศูนย์ควบคุมโรคสหรัฐฯ (CDC) พบว่าความรุนแรงของอาการป่วยของสายพันธุ์โอมิครอนมีน้อยกว่าเมื่อเทียบกับสายพันธุ์ก่อนหน้า ผู้ป่วยส่วนใหญ่มักจะหายป่วยเองโดยไม่ต้องเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาล อย่างไรก็ตามในกลุ่มนักวิทยาศาสตร์ด้วยกันเองยังไม่สามารถฟันธงได้อย่างแน่ชัดถึงความรุนแรงของเชื้อ

คำถาม: จริงหรือไม่ที่สายพันธุ์โอมิครอนเกิดจากการฉีดวัคซีนที่น้อยในประเทศแถบแอฟริกา?

คำตอบ: มีการคาดการณ์จากผู้เชี่ยวชาญหลายคน รวมถึงผู้เชี่ยวชาญในประเทศแอฟริกาใต้ว่า จำนวนผู้ที่ได้รับการฉีดวัคซีนที่น้อยในทวีปแอฟริกา ส่งผลให้ไวรัสกลายพันธุ์จนเกิดเป็นสายพันธุ์ใหม่เช่นโอมิครอน อย่างไรก็ตามผู้เชี่ยวชาญยังไม่สรุปตรงกันว่านี่คือสาเหตุหลักของการเกิดสายพันธุ์นี้

คำถาม: วัคซีนปัจจุบันสามารถป้องกันการติดเชื้อของสายพันธุ์โอมิครอนได้หรือไม่?

คำตอบ: ผลการศึกษาของไฟเซอร์ และโมเดอร์นา สองผู้ผลิตและพัฒนาวัคซีนโควิด-19 พบว่า วัคซีน 2 เข็มมีประสิทธิภาพในการป้องกันสายพันธุ์โอมิครอนค่อนข้างต่ำ แต่ยังสามารถป้องกันการป่วยหนักและเสียชีวิตได้ ขณะที่การฉีดกระตุ้นเข็มที่ 3 จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการป้องกันการติดเชื้อสายพันธุ์โอมิครอนได้ดีกว่า ทำให้หน่วยงานสาธารณสุขในหลายๆ ประเทศ เร่งการฉีดวัคซีนเข็ม 3 ให้กับประชาชนเพื่อลดความเสี่ยงการติดเชื้อ และแพร่ระบาดของสายพันธุ์โอมิครอน รวมถึงสายพันธุ์เดลต้าที่มีความรุนแรงของอาการมากกว่า อย่างไรก็ตามทั้งสองบริษัท รวมถึงผู้ผลิตวัคซีนรายอื่นๆ กำลังเร่งศึกษาและพัฒนาวัคซีนเวอร์ชั่นใหม่ที่มีประสิทธิภาพในการป้องกันสายพันธุ์โอมิครอนโดยเฉพาะ คาดว่าจะสามารถใช้กับประชาชนทั่วไปได้ภายในต้นปี หรือกลางปีหน้า

คำถาม: วิธีการป้องกันตัว เช่น การสวมหน้ากากอนามัย และการล้างมือบ่อยๆ ยังใช้ได้กับสายพันธุ์โอมิครอนหรือไม่?

คำตอบ: โควิด-19 ทุกสายพันธุ์สามารถแพร่กระจายได้ในอากาศ ดังนั้นการสวมหน้ากากอนามัยเวลาที่อยู่ในพื้นที่ที่มีคนจำนวนมากๆ และการล้างมือบ่อยๆ ด้วยน้ำสบู่ หรือเจลแอลกอฮอล์ยังเป็นสิ่งจำเป็น

คำถาม: จะมีโอกาสหรือไม่ที่โอมิครอนจะเป็นสายพันธุ์โควิด-19 หลักที่มาแทนที่สายพันธุ์เดลต้า?

คำตอบ: ปัจจุบันโควิด-19 สายพันธุ์โอมิครอนกลายเป็นสายพันธุ์หลักที่มีการแพร่ระบาดมากที่สุดในประเทศแถบแอฟริกาตอนใต้เป็นทีเรียบร้อยแล้ว จากรายงานของกระทรวงสาธารณสุขของสหราชอาณาจักรคาดการณ์ว่าภายในอีกไม่กี่เดือน โอมิครอนจะกลายเป็นโควิด-19 สายพันธุ์หลักในประเทศ เนื่องจากจำนวนผู้ติดเชื้อที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว และเปอร์เซ็นต์ของผู้ติดเชื้อต่อวันของสายพันธุ์นี้มีแนวโน้มสูงกว่าสายพันธุ์อื่นๆ อย่างมีนัยสำคัญ

คำถาม: ประเทศไทยมีการรับมือกับการแพร่ระบาดของสายพันธุ์นี้อย่างไร?

คำตอบ: ปัจจุบันรัฐบาลใช้มาตรการตรวจหาเชื้อผู้ที่เดินทางเข้าประเทศไทยทุกคนด้วยวิธี RT-PCR ซึ่งเป็นวิธีที่ละเอียดและแม่นยำที่สุด นักท่องเที่ยว และผู้ที่เดินทางเข้าประเทศไม่ว่าจะมาจากประเทศไหนก็ตาม ทั้งในกลุ่มประเทศสีเขียว (Test & Go), กลุ่ม Sandbox และกลุ่มที่ต้องกักตัว 14 วันจะต้องเข้ารับการตรวจหาเชื้อด้วยวิธี RT-PCR และต้องทราบผลเป็นลบก่อนจึงจะสามารถออกจากที่พักได้ ส่วนผู้ที่เดินทางมาจากประเทศในทวีปแอฟริกาใต้ทั้งหมดจะไม่ได้รับอนุญาตให้เข้าไทยตั้งแต่วันที่ 1 ธันวาคมนี้เป็นต้นไป ยกเว้นชาวไทยหรือผู้ที่มีใบอนุญาตพำนักในประเทศไทยที่เดินทางด้วยเที่ยวบินพิเศษที่ได้รับอนุญาตจากทางรัฐบาลเท่านั้น โดยผู้ที่เดินทางเข้าไทยจะต้องเข้ารับการกักตัวในโรงแรม AQ เป็นเวลา 14 วันทุกคน 

นอกจากการเข้มงวดเรื่องการเดินทางเข้าประเทศแล้ว ล่าสุดกระทรวงสาธารณสุข และคณะรัฐมนตรีเห็นชอบให้มีการปรับระยะเวลาการฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้น (เข็มที่ 3) ให้กับผู้ที่ได้รับวัคซีนแอสตราเซเนกาครบ 2 เข็มมาแล้วตั้งแต่ 3 เดือนขึ้นไป (จากเดิม 6 เดือน) ตามคำแนะนำของผู้ผลิตวัคซีน และกระทรวงสาธารณสุขของสหราชอาณาจักร รวมทั้งผู้ที่เคยได้รับวัคซีนสูตรไขว้ เช่น: ซิโนแวก หรือ ซิโนฟาร์ม + แอสตราเซเนกา มาแล้วตั้งแต่ 3 เดือนขึ้นไป ก็สามารถเข้ารับการฉีดเข็มกระตุ้นได้เช่นกัน โดยประชาชนกลุ่มนี้จะได้รับเข็มกระตุ้นเป็นวัคซีน mRNA ได้แก่ ไฟเซอร์ หรือ โมเดอร์นา ส่วนประชาชนที่เคยได้รับการฉีดวัคซีนซิโนแวก หรือ ซิโนฟาร์มครบ 2 เข็มมาแล้วตั้งแต่ 4 สัปดาห์ขึ้นไปสามารถเลือกวัคซีนเข็มกระตุ้นได้ 3 ชนิด ได้แก่ แอสตราเซเนกา, ไฟเซอร์, หรือโมเดอร์นา ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับการจัดสรรวัคซีนของแต่ละจังหวัด

ที่มา:

https://www.cdc.gov/coronavirus/2019-ncov/variants/omicron-variant.html

https://www.nbcnews.com/science/science-news/omicron-covid-variant-what-to-know-rcna8752

https://www.pfizer.com/news/press-release/press-release-detail/pfizer-and-biontech-provide-update-omicron-variant

https://www.bbc.com/news/health-59696499

https://www.bangkokbiznews.com/social/976984


เกี่ยวกับผู้เขียน

ธนภณ เรามานะชัย (ไมค์) Fact-checker และ คอลัมนิสต์ประจำ Cofact Thailand

ปัจจุบันทำหน้าที่วิทยากรด้านการตรวจสอบข้อมูลข่าวและเครื่องมือดิจิทัลด้านข่าวให้กับ Google News Initiative ก่อนหน้านี้เขาเป็นผู้ประกาศข่าวเทคโนโลยีให้กับสถานีโทรทัศน์วอยซ์ทีวี (Voice TV) และอดีตกรรมการสมาคมผู้สื่อข่าวต่างประเทศประจำประเทศไทย (FCCT) https://www.damikemedia.com