จริงหรือไม่? เบอร์โทรศัพท์แบบเติมเงิน ย้ายค่ายหรือยกเลิกเบอร์ ค่ายมือถือต้องคืนเงิน

จริงหรือไม่? โรคไวรัสตับอักเสบเป็นสาเหตุภาวะตับอักเสบ ตับแข็ง และมะเร็งตับ

จริงหรือไม่? กินเนื้อแดง/เนื้อแปรรูป เสี่ยงโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่

จริงหรือไม่? เด็กทารกห้ามกินน้ำผึ้ง

จริงหรือไม่? จัดฟันแฟชั่น ผิดกฎหมายและอันตราย

จริงหรือไม่? ผู้สูงวัยเคี้ยวอาหารไม่ละเอียด เสี่ยงโรคลำไส้อุดตัน อาจทำให้เสียชีวิตได้

จริงหรือไม่? อย. ยังไม่เคยอนุญาตผลิตภัณฑ์เนื้อวัวฉีดไขมัน

“เสรีภาพบนความรับผิดชอบยุคโควิด19 สื่อไทยยืนอยู่จุดไหนในสายตาประชาชน”

บทความ

เสวนาออนไลน์ “เสรีภาพบนความรับผิดชอบยุคโควิด19 สื่อไทยยืนอยู่จุดไหนในสายตาประชาชน” ภาคประชาสังคมเรียกร้องเลิกต่ออายุ “พ.ร.ก.ฉุกเฉิน” ย้ำให้สื่อเสนอข่าวสร้างสรรค์และรับผิดชอบ รับมือกับ new normal หลังไวรัสระบาด

สภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ ร่วมกับองค์กร Cofact และ Centre for Humanitorian Dialogue (HD) จัดเสวนาออนไลน์ Media Forum #11 “เสรีภาพบนความรับผิดชอบยุคโควิด19 สื่อไทยยืนอยู่จุดไหนในสายตาประชาชน”เพื่อสำรวจการทำงานของสื่อมวลชนไทยในช่วงเวลาวิกฤตที่ส่งผลกระทบต่อทั่วโลกในขณะนี้

ชวรงค์ ลิมป์ปัทมปาณี ประธานสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ  กล่าวเปิดงานว่า สภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติได้ร่วมกับองค์กรวิชาชีพสื่อ มีแนวปฏิบัติของสื่อมวลชนไว้เพื่อใช้ในการรายงานข่าวเกี่ยวกับการแพร่ระบาดของ covid-19 ซึ่งเป็นภาวะวิกฤตในเวลานี้ ขณะเดียวกันก็มีความร่วมมือกับสภาวิชาชีพของกลุ่มประเทศในตะวันออกเฉียงใต้ เช่น มาเลเซีย อินโดนีเซียและติมอร์เลสเต้ เรียกร้องให้สื่อทำงานโดยต้องระมัดระวังไม่ให้เกิดปัญหาด้านจริยธรรมและยึดแนวทางการปฏิบัติอย่างเคร่งครัด

ในภาพรวมที่ผ่านมา หากมีเรื่องร้องเรียนก็จะแจ้งสมาชิกให้แก้ไขทันที แต่ยอมรับว่ายังมีปัญหาของสื่อบางแขนงที่ไม่ได้เป็นสมาชิกสภาการฯ อย่างไรก็ตามหากเป็นสมาชิกขององค์กรวิชาชีพอื่นซึ่งมีแนวปฏิบัติเช่นเดียวกันก็ยังมีการกำกับดูแลได้ แต่อาจมีสื่อนอกเหนือจากที่กล่าวข้างต้นที่ก่อให้เกิดผลกระทบอยู่บ้าง

“ที่ผ่านมา สื่อในองค์กรวิชาชีพตรวจสอบกันเองและทำหน้าที่ได้ดีตามแนวปฏิบัติที่วางหลักเกณฑ์ไว้แล้ว ส่วนที่ทำผิดพลาดไปผมเชื่อว่าทุกสื่อยินดีรับฟังความคิดเห็นและนำไปปรับปรุงการทำงาน”   

ประธานสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติกล่าวปิดท้ายว่า หวังว่าการเสวนาในวันนี้ ซึ่งเปิดให้ได้พูดถึงสื่อทุกแพลตฟอร์ม จะได้ประโยชน์ในการนำไปปรับปรุงการทำงานให้ดีขึ้น

การเสวนาเริ่มต้นจาก พระมหานภันต์ สนติภทโท  ผู้ช่วยเจ้าอาวาส พระอารามหลวงวัดสระเกศราชวรมหาวิหาร  กล่าวว่าบทบาทของพระกับสื่อมวลชน มีหลายส่วนคล้ายคลึงกัน  เช่น การปลูกฝัง ขัดเกลา ค่านิยมและทัศนคติที่ถูกต้อง  กรณีของCOVID-19 นี้ พบว่าการควบคุมการระบาดของไวรัสจะได้ผลแค่ไหนขึ้นอยู่กับกลไกและประสิทธิภาพการสื่อสารในประเทศนั้น ๆ ทั้งสื่อและผู้รับสารที่ต้องไปด้วยกัน พร้อมตั้งข้อสังเกตให้สังคมร่วมทบทวนบทบาทการทำหน้าที่ของสื่อว่าเป็นประโยชน์หรือสร้างสรรค์เพียงใด

“จะเป็นสื่อสารมวลชนหรือสื่อสารมารชน ได้นำเสนอข้อมูลที่เป็นประโยชน์ หรือสร้างความร้าวฉานกับคนในสังคมหรือไม่ ใช้การสื่อสารด้วยความกลัวเพื่อทำให้คนตระหนักและกลัวเพื่อเตรียมพร้อมรับมือกับไวรัส ข่าวพระทำหน้ากากลงยันต์กับพระเย็บหน้ากากใช้เอง หรือสวม face shield  ออกบิณฑบาตและพระนำขยะรีไซเคิลมาทำเป็นจีวร ชวนมองว่าประชาชนรับรู้ข่าวสารเรื่องไหนมากน้อยกว่ากัน”

อีกบทบาทที่ถูกตั้งคำถามคือ สื่อมวลชนส่งเสริมให้คนเป็นผู้ศึกษาหรือผู้พิพากษา ประชาชนได้ข้อมูลอย่างเพียงพอเพื่อให้มีวิจารณญาณที่เหมาะสมมองปรากฎการณ์อย่างรอบด้านหรือวิพากษ์ ตัดสิน ตีตราไปตั้งแต่ต้นแล้ว  

“ทุกเรื่องมีสองด้านเสมอเช่นกรณีตู้ปันสุข มีผู้วิพากษ์ตำหนิการที่บางคนหยิบของออกไปจำนวนมาก เราอาจลืมหยิบประเด็นเรื่องความทุกข์ยากมาเสนอด้วยหรือไม่ สื่อจะนำเสนออย่างรอบด้านอย่างไรบนฐานของเสรีภาพและความรับผิดชอบโดยไม่เลือกข้าง”

พระมหานภันต์ กล่าวเพิ่มเติมว่าต้องการเห็นสื่อมวลชนได้เป็นกระบอกเสียงให้คนไร้สุ้มเสียง  (Being a voice of the voiceless)   อยากเห็นการทำงานข่าวสืบสวนสอบสวนเชิงลึกมากขึ้น ไม่เสนอข้อมูลที่สร้างอคติความเกลียดชัง สื่อต้องเป็นหลักประกันสำคัญว่าจะไม่ทำให้เกิดการตีตรา การแบ่งแยกและความขัดแย้งที่ใช้ความรุนแรงในสังคม ทำงานด้วยความแยบยลเพื่อให้ยั่งยืน ไม่ใช่เลือกนำเสนอแบบฉาบฉวยและฉาวโฉ่

อังคณา นีละไพจิตร  อดีตกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ กล่าวว่า สื่อมวลชนมีบทบาทสำคัญมากเกี่ยวกับสิทธิการเข้าถึงและรับรู้ข่าวสารของประชาชน   เสรีภาพสื่อยังเกี่ยวพันอย่างยิ่งกับความเป็นประชาธิปไตย เพราะเสรีภาพสื่อสะท้อนเสรีภาพของประชาชน  หากนำเสนอข่าวสารรายงานข้อเท็จจริงได้โดยไม่ถูกปิดบัง ปราศจากความกลัว ไม่ถูกข่มขู่คุกคาม ก็จะทำให้ประชาชนมีข้อมูลความรู้ที่ถูกต้อง ประเทศชาติจะเข้มแข็งด้วยเพื่อประชาชนสามารถแลกเปลี่ยนความเห็นโครงการต่าง ๆของรัฐบาลได้โดยไม่ต้องมีความหวาดกลัว

ไทยมีความร่วมมือกับองค์กรด้านสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ เป็นภาคีอนุสัญญาหลายฉบับ แต่สถานการณ์การเมืองในประเทศก็ทำให้เกิดคำถามเช่น คณะกรรมการกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง  (International Covenant on Civil and Political Rights :ICCPR)  มีความกังวลเรื่องการข่มขู่ก่อกวนต่อนักหนังสือพิมพ์ทั้งไทยและนักข่าวต่างประเทศ   คดีฟ้องร้องสื่อมวลชนและผลกระทบจากการใช้ พรก.ฉุกเฉินที่เข้มงวดทำให้เสรีภาพสื่อถูกจำกัดและเจ้าหน้าที่ต้องรับผิดด้วย  สหประชาชาติเรียกร้องให้ทุกชาติให้หลักประกันและให้ความมั่นใจว่านักข่าวจะทำงานได้อย่างมีเสรีภาพตลอดการระบาดของ covid-19 เพื่อให้มั่นใจว่าประชาชนจะเข้าถึงข้อมูลได้ โดยเฉพาะเมื่อเกิดสถานการณ์ฉุกเฉิน  

“Covid-19 กระทบต่อคนทั่วโลก ไม่เพียงสิทธิด้านการสื่อสารหรือการแสดงออกแต่กระทบมิติอื่น ๆด้วย หากประชาชนไม่มีเสรีภาพ ไม่สามารถเข้าถึงข่าวสารได้อย่างเหมาะสมก็จะส่งผลต่อการดูแลตัวเอง โดยเฉพาะกลุ่มเปราะบาง  คณะกรรมการมีข้อเสนอแนะให้ไทยมีหลักประกันอย่างเพียงพอ เพื่อป้องกันการละเมิดสิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นของสื่อมวลชน โดยเฉพาะกรณีฟ้องร้องกลั่นแกล้งหรือปิดปาก”

อดีตกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ  เห็นว่า COVID-19 ได้เปิดแผลปัญหาต่าง ๆ ความเหลื่อมล้ำและไม่เท่าเทียมในสังคมไทยให้เห็นชัดขึ้น คนจนเมืองมาก แรงงานข้ามชาติ คนเข้าไม่ถึงสวัสดิการทางสังคม กลุ่มเปราะบางทางสังคม การใช้ความรุนแรงทางเพศและการละเมิดในครอบครัว จึงต้องการเรียกร้องให้รัฐบาลไทยยุติการขยายเวลาบังคับใช้พ.ร.ก.ฉุกเฉินเพราะเห็นว่ากระทบต่อการทำงานของสื่อมวลชนและส่งผลต่อสังคมในวงกว้าง    

“รัฐบาลไม่ควรต่อเวลาการบังคับใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินอีกต่อไปแล้ว เพราะภายใต้สถานการณ์นั้นทำให้กระทบต่อสิทธิเสรีภาพประชาชน ส่วนตัวเห็นว่าการกำกับดูแลภายใต้พ.ร.บ.ควบคุมโรคติดต่อ เพียงพอแล้ว รัฐต้องเข้าใจบทบาทและไม่แทรกแซงสิทธิเสรีภาพของสื่อ”

อดีตกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติกล่าวว่า สื่อมีบทบาทและจำเป็นมากที่ต้องทำงานอย่างอิสระ เพราะสามารถสร้างความเปลี่ยนแปลงในสังคมได้ ทั้งชี้แจงข้อเท็จจริงและแก้ไขความเข้าใจผิดไม่ควรรายงานเฉพาะจำนวนคนเจ็บหรือคนตาย แต่ควรนำเสนอเรื่องความเห็นอกเห็นใจ การให้ความช่วยเหลือซึ่งกันและกันเพื่อช่วยคนด้อยโอกาส รายงานข่าวเชิงบวกมากขึ้น 

ประเด็นสำคัญคือจะกำกับดูแลจริยธรรมในสื่อให้ได้ผลอย่างไร เพราะการแข่งขันสูงในธุรกิจสื่อทำให้บางองค์กรขาดความตระหนักเรื่องจริยธรรมหรือปกป้องคนที่ตกอยู่ในข่าว สื่อจึงกลายเป็นผู้ละเมิดเสียเอง เช่นกรณีการฆ่าตัวตาย หรือกรณีอ่อนไหวทางเพศสภาพ  ดังนั้นสังคมต้องเข้ามามีส่วนร่วมช่วยดูแลกลุ่มคนเปราะบาง พร้อมตั้งคำถามว่า ทำไม กสทช.จึงไม่ดำเนินการกับสื่อที่ผลิตซ้ำความรุนแรงเหล่านี้  

นอกจาก covid-19 ยังมีประเด็นอื่น ๆที่ส่งผลกระทบต่อคนหมู่มาก สื่อมวลชนต้องเป็นปากเสียงและให้ข้อมูลประชาชนและสะท้อนข้อมูลให้ไปถึงหน่วยงานรัฐ   เช่นพ.ร.ก.กู้เงินแสนล้าน โครงการลงทุนอุตสาหกรรมขนาดใหญ่เช่นเมืองต้นแบบที่อำเภอจะนะ จังหวัดสงขลา  เรื่องลิขสิทธิ์เมล็ดพันธุ์พืช  เป็นต้น

ผศ.ดร.มรรยาท อัครจันทโชติ  คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย  กล่าวว่ากลุ่มสื่อบันเทิงถูกมองว่ามีเสรีภาพค่อนข้างมาก แม้จะมีการใช้ถ้อยคำสร้างความเกลียดชังเสียดสี ตีตรา แต่ประชาชนกลับมองว่าเป็นเรื่องล้อเลียน ขำขัน ขณะที่มีแนวโน้มจะตัดสินจากกลุ่มสื่อสาระเช่น ข่าวบันเทิง อาชญากรรมว่าสื่อมีเสรีภาพมากจนเกินไป  แต่กลุ่มข่าวหนักเช่นด้านการเมืองเศรษฐกิจ เสรีภาพลดน้อยลง คนทั่วไปกลับไม่ตระหนัก 

กรณีcovid-19 ทำให้ภาพสังคมและปัญหาเดิม ๆ เห็นได้ชัดมากขึ้น คนยินยอมให้ถูกจำกัดเสรีภาพเพราะกลัวตาย  มีความแตกแยกเกิดขึ้นในสังคมเพราะคนมีแนวโน้มจะชอบและเชื่อในสิ่งที่คล้ายคลึงกับความคิดของตนเอง รับแต่ข่าวสารประเภทเดียวกันจึงใช้สายตาและมุมมองตัวเองตัดสินคนอื่นที่คิดแตกต่าง ทำให้เพิ่มความเกลียดชังแตกแยกและเหลื่อมล้ำ

“คนกลุ่มหนึ่งกล่าวตำหนิคนที่เดินทางกลับมาจากต่างประเทศแล้วเสี่ยงติดเชื้อว่าไม่ให้ความร่วมมือ ไม่รับผิดชอบ ทั้ง ๆที่ยังไม่รู้เหตุผลแท้จริงว่าแต่ละคนไปด้วยเงื่อนไขและมีความจำเป็นใด สื่อมีส่วนช่วยขยายรอยแยกให้ร้าวลึกมากขึ้น  ผู้คนจึงเกิดความตื่นกลัวมากกว่าความตื่นตัว จึงชี้หน้ากล่าวโทษกันมากกว่าการชี้ทางออก หรือกรณีบุคลากรทางการแพทย์ ถูกห้ามเปิดเผยปัญหาความขาดแคลนอุปกรณ์ในช่วงแรก ๆของการระบาดเพราะฝ่ายบริหารเกรงผลกระทบต่อภาพลักษณ์องค์กร เราพบว่าเสรีภาพในการสื่อสารถูกจำกัดในช่วงเวลานี้แล้วก็ถูกกลบไปด้วยรายงานสถานการณ์ต่าง ๆ มากกว่า”

กรณี COVID-19 ทำให้เห็นว่าเกิดวิกฤตในการสื่อสารแล้วยังมีประเด็นอื่น ๆที่เป็นปัญหาสังคมส่งผลกระทบอย่างกว้างขวางแต่ก็ถูกกระแสนี้กลบไป เช่นสถานการณ์ไฟป่าและฝุ่นควันในภาคเหนือ การตรวจสอบนโยบายเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบที่ไม่ทั่วถึง ปัญหาการเข้าถึงการศึกษาของเด็กไทย ความเหลื่อมล้ำและความยุติธรรม ขณะเดียวกันสื่อภาคประชนมีบทบาทมากขึ้น ส่งผลต่อความน่าเชื่อถือของสื่อกระแสหลักทำให้คนพึ่งพาน้อยลง จึงตั้งคำถามว่าสื่อทุกวันนี้ทำหน้าที่เพื่อทุกคนในสังคมหรือทำหน้าที่เป็นกระบอกเสียงเพื่อสื่อสารเท่านั้น พร้อมเรียกร้องให้ทุกฝ่ายร่วมกันรับผิดชอบ ไม่ผลักภาระไปที่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง

“อยากให้นักวิชาชีพสื่อตระหนักว่านอกจากอาชีพนักข่าวแล้ว เราทุกคนก็เป็นมนุษย์ จึงควรทำงานโดยมองคนอื่นหรือผู้ที่ตกอยู่ในข่าวให้เห็นความเป็นมนุษในตัวเขาด้วยเช่นกัน มีความเห็นอกเห็นใจและเข้าใจ  เน้นการทำข่าวที่ไม่มุ่งเสนอปัญหาความขัดแย้งแต่นำไปสู่การชวนกันคิดเพื่อช่วยแก้ปัญหาในสังคม เป็นเสียงให้กับผู้ไร้เสียงแล้ว ยังต้องทำหน้าที่ “ให้เสียง” แก่คนชายขอบด้วย”

นอกจากนี้ยังเรียกร้องให้องค์กรวิชาชีพสื่อใช้มาตรการกำกับดูแลที่เป็นรูปธรรมมากกว่าการออกแถลงการณ์  หากมีการร้องเรียนเมื่อตรวจสอบแล้วก็ควรต้องรายงานผลต่อสาธารณะให้รับรู้ด้วย และต้องการให้ทุกคนในสังคมร่วมกันช่วยตรวจสอบ ไม่ฝากความคาดหวังความรับผิดชอบไว้ที่สื่อมวลชนเพียงฝ่ายเดียว

เมธา มาสขาว เลขาธิการ คณะกรรมการรณรงค์เพื่อประชาธิปไตย (ครป.)  เห็นว่า ขณะที่โลกกำลังค้นคว้าวัคซีนเพื่อรักษา COVID-19  สื่อมวลชนก็มีวัคซีนดีที่สุดของตัวเองแล้วคือ “ความรับผิดชอบ”ที่ต้องคำนึงถึงในการทำงานเพื่อสังคม  เพราะการระบาดของไวรัสนี้ได้กลายเป็นภัยคุกคามทั้งคนในสังคมและสื่อทำให้เสรีภาพลดลง 

“ไทยยังอยู่ภายใต้พ.ร.ก.สถานการณ์ฉุกเฉิน เรายินยอมถูกจำกัดสิทธิเพื่อประโยชน์ของส่วนรวมให้ภาครัฐเข้าไปช่วยแก้ปัญหาป้องกันการระบาดของไวรัส แต่สื่อก็ต้องร่วมตรวจสอบด้วย ดูผลพวงการใช้อำนาจว่ามีประสิทธิภาพแค่ไหน ใช้อำนาจอย่างเหมาะสมหรือไม่  จะสร้างความสมดุลในการดูแลเสรีภาพของประชาชนได้ โดยเฉพาะในขณะนี้ที่มีข่าวลวง ข่าวปลอมจำนวนมาก  มีข้อมูลที่สร้างความเกลียดชัง ยั่วยุ สร้างความขัดแย้ง ปฏิบัติการข้อมูลข่าวสารเพื่อหวังผลทางการเมืองจากคนบางกลุ่ม  สื่อมวลชนจะต้องทำให้ประชาชนสามารถคัดเลือกข่าวจริงได้ท่ามกลางข้อมูลเหล่านั้น   ควรต้องเพิ่มการสื่อสารเชิงบวกในสังคม  แทนที่จะเรียกยอดไลค์และยอดแชร์เท่านั้น สื่อกระแสหลักยังเป็นฐานของข่าวและความจริงที่น่าเชื่อถือมากที่สุด และควรต้องรณรงค์ตรวจสอบก่อนจะตัดสินใจแชร์และเชื่อ”

เมธาเห็นว่ามีประเด็นมากมายที่เกี่ยวกับ COVID-19 ยังรอการสืบค้นเชิงลึกให้สาธารณะรับรู้ เช่น ปัญหาการช่วยเหลือคนในระบบประกันสังคมที่ล่าช้า นโยบายเยียวยาช่วยเหลือของรัฐบาลทั่วถึงคนทุกกลุ่มหรือไม่  การแก้ปัญหาราคาสินค้าอุปโภคบริโภคที่กำไรไปตกอยู่กับกลุ่มทุนใหญ่ ควรตรวจสอบว่าเกี่ยวข้องกับการผูกขาดและมีอำนาจเหนือตลาดหรือไม่   กรณีค่าไฟฟ้าแพง สามารถโยงไปถึงปัญหาโครงสร้างเชิงระบบและตรวจสอบความโปร่งใสในการบริหารองค์กร เป็นต้น     

สื่อมวลชนมีความท้าทายหลายประการรออยู่ข้างหน้า ไม่ว่าจะเป็นการทำงานภายใต้ข้อจำกัดของรัฐและทุนทางธุรกิจ สังคมกำลังจะมีบรรทัดฐานใหม่ (new normal) ทุกคนต้องปรับตัวเช่นเดียวกับสื่อมวลชน  จะทำให้สังคม รับมือกับข่าวปลอม ข่าวลวงได้อย่างไร สื่อต้องทำหน้าที่ให้เกิดความสว่างทางปัญญาแก่สังคม  

จีรพงษ์ ประเสริฐพลกรัง เลขาธิการ สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ยอมรับว่าวิกฤตโควิดเป็นเรื่องใหม่ที่ทั้งโลกต้องเผชิญร่วมกัน นักข่าวและสื่อมวลชนก็ต้องปรับตัวเพราะทำงานภายใต้ข้อจำกัดการประกาศใช้พ.ร.ก.สถานการณ์ฉุกเฉิน เมื่อลงภาคสนามก็จะมีความเสี่ยงติดเชื้อด้วย ปัญหาการสื่อสารภายในของหน่วยงานรัฐบาลทำให้ข้อมูลแถลงข่าวไม่ตรงกัน  เมื่อสื่อรายงานไปประชาชนจึงสับสน และการระบาดของไวรัสครั้งนี้ ส่งผลกระทบให้นักข่าวจำนวนหนึ่งต้องออกจากอาชีพไป

“ผมอยากชวนคิดว่า สังคมจะสนับสนุนให้สื่ออาชีพทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้นได้อย่างไร  การชื่นชมและให้กำลังใจสื่อคุณภาพดีเรื่องหนึ่ง  แต่สังคมก็มีบทบาทในการกดดันและควบคุมให้สื่อทำงานตามหน้าที่อย่างรับผิดชอบและเสนอข้อมูลที่ถูกต้องเหมาะสมด้วย  อยากชวนทุกคนให้ติดตามตรวจสอบการทำงานของสื่อมวลชนในยามปกติด้วย ไม่เฉพาะกรณีวิกฤตเช่น กรณีข่าวเด็กถูกล่วงละเมิดทางเพศ  จะมีทั้งสื่อที่ปฏิบัติตามแนวจริยธรรมวิชาชีพและสื่อที่ต้องการแค่ยอดไลค์/แชร์  ดังนั้นสังคมต้องร่วมตรวจสอบกรณีหลังให้มากขึ้น”

เลขาธิการสมาคมนักข่าวฯ กล่าวเพิ่มเติมว่า สมาคมได้จัดทำคู่มือแนวทางการปฏิบัติงานในภาวะวิกฤต หลายกรณี เช่น โลกและภัยพิบัติ วินาศกรรม การก่อการร้าย  ประชาชนสามารถนำคู่มือดังกล่าวเป็นแนวทางเปรียบเทียบคุณภาพการทำงานของสื่อมวลชนแขนงต่าง ๆ ได้ พร้อมยกตัวอย่างกรณีกราดยิงที่โคราช ซึ่งเป็นกรณีศึกษาสำคัญมากในการทำงานของสื่อและสังคม ที่มีส่วนร่วมช่วยตรวจสอบการทำงานของสื่อ เมื่อสื่อบางแห่งรายงานไม่เหมาะสม ประชาชนแชร์ โพสต์และท้วงติง ตำหนิ วิพากษ์วิจารณ์  แพลตฟอร์มออนไลน์มีระบบการรายงานข้อมูลไม่เหมาะสม ก็ค้นพบว่าเจ้าของแพลตฟอร์มมีพลังที่จะกำกับดูแลควบคุม ซึ่งช่วยลดความรุนแรงและตรวจสอบการทำงานของสื่อได้อีกทางหนึ่งด้วย อีกตัวอย่างคือกรณีทีมนักฟุตบอลเยาวชนหมูป่าติดอยู่ในถ้ำหลวง มีหน่วยงานด้านจิตวิทยาเด็กส่งคำแนะนำการปฏิบัติในการรายงานข่าวที่เหมาะสม เมื่อสมาคมฯเผยแพร่ก็ได้กระจายข้อมูลเหล่านี้ไปสู่เพื่อนสมาชิกสื่อเพื่อให้ปฏิบัติในแนวทางเดียวกัน ซึ่งก็ได้รับความร่วมมือด้วยดีในเวลาต่อมา

ผศ.ดร.เอื้อจิต วิโรจน์ไตรรัตน์คณะทำงานคุ้มครองผู้บริโภคสื่อ สภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ กล่าวสรุปท้ายการเสวนาว่า ประเด็นที่น่าสนใจคือ นอกจากปรากฎการณ์ด้านเนื้อหาในการนำเสนอของสื่อแล้ว วิทยากรหลายคน ทำให้เห็นการตีความ “เสรีภาพ”ได้กว้างขึ้น นอกจากเสรีภาพของสื่อมวลชนในการทำหน้าที่นำเสนอข่าวสาร  การทำงานของสื่อยังสะท้อนไปถึงเสรีภาพสังคมที่จะได้รับข้อมูลข่าวสาร เชื่อมโยงถึงสถานการณ์ทางการเมือง โดยเฉพาะเมื่อกำลังมีการประกาศต่ออายุการบังคับใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินออกไปอีกหนึ่งเดือนถึงมิถุนายน 2563  มีคำถามว่าเมื่อสังคมยอมลงทุนให้ถูกจำกัดและรอนสิทธิเสรีภาพบางอย่างแล้ว รัฐใช้อำนาจนั้นอย่างไร ผลลัพธ์คุ้มค่าหรือไม่ เชื่อมโยงถึงระดับของเสรีภาพสื่อมวลชนไทยด้วย  

“COVID-19 เปิดให้เห็นสิ่งที่เป็นประเด็นซ่อนอยู่ในสังคม โดยเฉพาะความเหลื่อมล้ำ  ต่อไป new normal สำหรับสื่อ เราต้องไปไกลกว่าเรื่องจริยธรรมและความรับผิดชอบ อาจต้องเป็นการทำงานอย่างไรให้แตกต่างจากการเป็นนักเลงคีย์บอร์ด ทำอย่างไรสื่อจึงจะเป็นผู้แยกแยะข่าวสารใดเป็นเรื่องจริงหรือเท็จบนโลกออนไลน์ ยกระดับให้สังคมเห็นว่ามีความแตกต่างระหว่าง ความเป็น “สื่อสารมวลชน” กับการเป็น “ผู้สื่อสารออนไลน์ จะเกิด new normal ในแวดวงการสื่อสารมวลชนได้อย่างไร”  

ดร.เอื้อจิต กล่าวเพิ่มเติมว่า คำว่า ยั่งยืนและแยบยล  กับ mindful journalism อาจเป็นคำสำคัญของสื่อมวลชนในยุค new normal และเป็นโอกาสที่คณะทำงานฯ จะได้นำประเด็นไปพิจารณาว่า การจัดเวทีเสวนาครั้งต่อไปอาจเป็นการคุยถึง การจัดลำดับความสัมพันธ์ใหม่ระหว่างสื่อกับสังคมเพื่อให้ทั้งสองฝ่ายจับมือกัน ซึ่งอาจนำไปสู่การนำเสนอข่าวสารรูปแบบใหม่ ๆที่ไปได้ไกลกว่าการทำงานบนเงื่อนไขของทุน การดำรงอยู่และการรักษาจริยธรรม  ซึ่งรากฐานเหล่านี้เป็นสิ่งจะทำให้เราก้าวกระโดดต่อไป

การจัดเสวนาครั้งนี้ริเริ่มโดยคณะทำงานคุ้มครองผู้บริโภคสื่อ ในคณะกรรมการจริยธรรม สภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ ซึ่งเป็นกลไกทำงานเชิงรุกที่จะส่งเสริมการทำงานของสื่อมวลชน โดยเฉพาะสมาชิกสภาฯ ที่ต้องปฏิบัติหน้าที่ตามกรอบจริยธรรม   สุภิญญา กลางณรงค์ ประธานคณะทำงานฯ ,กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ สภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติและผู้ร่วมก่อตั้ง Cofact.org กล่าวว่าเสรีภาพสื่อเป็นเรื่องที่ถูกพูดถึงบ่อยๆ เพื่อกระตุ้นเตือนให้สื่อทำงานด้วยความรับผิดชอบ  แต่ภายใต้สถานการณ์ COVID-19 นี้เป็นช่วงเดือนที่ร่วมรำลึกถึงวันที่องค์การยูเนสโก้กำหนดให้เป็นวันเสรีภาพสื่อมวลชนโลก คือ 3 พฤษภาคมของทุกปี  การทำหน้าที่ของสื่อมวลชนคือการธำรงรักษาความเป็นมืออาชีพด้านวารสารศาสตร์ที่รอบด้านเพื่อให้ประชาชนได้รับข้อมูลที่เป็นประโยชน์  ยูเนสโก้ย้ำไว้ว่าต้องเป็นวารสารศาสตร์ที่เป็นความจริง  ปราศจากความกลัว ความชอบหรือชัง ความลำเอียง นั่นคือต้องทำงานอย่างเป็นอิสระและต้องทำงานด้วยความรับผิดชอบ…

สรุปข้อมูลใน Cofact.org 12 มิ.ย. 63