สรุปข่าวจริง ลวงประจำวันที่ 4 มิถุนายน 2565

จริงหรือไม่…? รับประทานผักกาดขาวหมัก รักษาตับอักเสบ

ไม่จริง

เพราะ…ยังไม่มีข้อมูลเพียงพอที่จะสรุปว่าการกินผักกาดขาวตามแบบสูตรดังกล่าว จะรักษาอาการตับอักเสบในคนได้

อ่านต่อได้ที่ https://cofact.org/article/yy0dezv5quc1


จริงหรือไม่…?  ธนาคารกรุงไทยให้ยืม 100,000 บาท ผ่อนเดือนละ 300 บาท ไม่ต้องมีผู้ค้ำ

ไม่จริง

เพราะ…ข้อมูลดังกล่าวเป็นข้อมูลเท็จ ซึ่งได้อ้างอิงมาจากชื่อสินเชื่อกรุงไทยใจป้ำของธนาคาร โดยมีการใช้ชื่อที่คล้ายคลึงกัน

อ่านต่อได้ที่ https://cofact.org/article/2z6d9aui1llpe



จริงหรือไม่…?  #ตุรกี เปลี่ยนชื่อประเทศเป็น “ตุรเคีย”

จริง

เพราะ…องค์การสหประชาชาติ (ยูเอ็น) ได้เปลี่ยนชื่อประเทศของสาธารณรัฐตุรกี เป็น “ตุรเคีย” หรือ ตูร-คีย์-เย (Turkiye) ตามคำร้องเป็นทางการแล้ว

อ่านต่อได้ที่ https://cofact.org/article/34atlqv3f0w7m


จริงหรือไม่…?  #กสทช เตือน ระวังมิจฉาชีพ ใช้เบอร์โทรศัพท์ปลอม บัญชีปลอม ติดต่อเข้ามาหลอกลวง

จริง

เพราะ…กสทช. ไม่มีนโยบายตัดสัญญาณโทรศัพท์และไม่มีการให้ประชาชนโอนเงินมาให้

อ่านต่อได้ที่ https://cofact.org/article/21qvpi9efcfv2


จริงหรือไม่…?  เช็กก่อนโอน SOS Animal แนะตรวจสอบเพจก่อนบริจาคช่วยสัตว์

จริง

เพราะ…ควรตรวจสอบความน่าเชื่อถือขององค์กรนั้น ๆ ก่อน ชื่อเจ้าของเพจ เจ้าของบัญชีว่าได้มีการขึ้นทะเบียนอย่างถูกต้องหรือไม่ ปัจจุบันสามารถตรวจสอบข้อมูลทางอินเทอร์เน็ตได้

อ่านต่อได้ที่ https://cofact.org/article/3rpybv2hnpqgp


จริงหรือไม่…? หากผู้เยาว์อายุยังน้อย ย่อมไม่สามารถดำเนินคดีเองได้ “ผู้แทนโดยชอบธรรม” จะต้องเป็นผู้ฟ้องหรือดำเนินคดีแทน

จริง

เพราะ…ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ตอนนี้ได้เปิดทำการแผนกคดีซื้อขายออนไลน์โดยเฉพาะ

อ่านต่อได้ที่ https://cofact.org/article/2jmdy07pusgco


จริงหรือไม่…? อย่าหลงเชื่อ หลอกลวงให้ร่วมลงทุน เล่นหุ้น โดยใช้แบบฟอร์มคำขอออกใบตราสารที่ใช้ในงานบริการด้านพันธบัตรของแบงค์ชาติ

จริง

เพราะ…โปรดตรวจสอบข้อมูลก่อนทำธุรกรรมทางการเงินทุกครั้ง แจ้งเบาะแส/ร้องเรียน โทร. 1213 ศูนย์คุ้มครองผู้ใช้บริการทางการเงิน

อ่านต่อได้ที่ https://cofact.org/article/i4qx374za9du


จริงหรือไม่…?  เจ็บป่วยฉุกเฉินวิกฤต ใช้สิทธิ UCEP รักษาฟรี 72 ชม.

ข่าวจริงบางส่วน

เพราะ…ในกรณีที่เกิดภาวะเจ็บป่วยเฉียบพลันหรือประสบอุบัติเหตุร้ายแรง สามารถเข้ารับบริการในโรงพยาบาลที่อยู่ใกล้ ณ จุดเกิดเหตุที่สุดได้ทันที ฟรีไม่มีค่ารักษา

อ่านต่อได้ที่ https://cofact.org/article/1hl65ta81esgk


ตรวจสอบข้อเท็จจริง “ฝีดาษลิง” COFACT Special Report #25

บทความ

“ฝีดาษลิง” โรคระบาดใหม่ที่ทั่วโลกและไทยกำลังจับตา เป็นโรคระบาดทางผิวหนังในตระกูลฝีดาษ หรือไข้ทรพิษที่เคยหายจากโลกไปกว่า 40 ปี แต่กลับมาแพร่ระบาดใหม่อีกครั้ง แต่ผู้เชี่ยวชาญหลายคนยังคงมองว่าฝีดาษลิงยังคงเป็นโรคระบาดที่ควบคุมได้ง่ายกว่าโควิด-19 เนื่องจากเป็นโรคติดต่อผ่านทางการสัมผัสร่างกาย เชื้อไม่ลอยอยู่ภายในอากาศ และผู้ติดเชื้อส่วนใหญ่อาการจะดีขึ้น และหายได้เอง

English Summary

Many countries around the world are watching the spread of monkeypox closely. Many health experts say it is too soon to tell whether monkeypox outbreak could lead to a global pandemic. On the good news, monkeypox causes less severe symptoms compare to smallpox and the current smallpox vaccine is 85% effective against monkeypox. We look at most frequently asked questions on monkeypox and the current measures to prevent the spread of the disease in Thailand.

Q: โรคฝีดาษลิงคืออะไร?

A: ฝีดาษลิง เป็นโรคที่เกิดจากเชื้อไวรัสสายพันธุ์ที่ใกล้เคียงกับฝีดาษคน และไข้ทรพิษ พบครั้งแรกในประเทศแถบแอฟริกา ลักษณะอากาศประกอบไปด้วย ไข้ ปวดหัว หนาวสั่น เจ็บคอ ปวดกล้ามเนื้อ อ่อนเพลีย รวมทั้งมีผื่นและตุ่มตามตัว ส่วนใหญ่จะพบที่ฝ่ามือและฝ่าเท้า ผื่นจะมีอาการระคายเคืองอย่างรุนแรง ในระยะสุดท้ายผื่นจะกลายเป็นตุ่มหนอง จากนั้นจะเป็นสะเก็ดแห้งและหลุดออกมา ผู้ป่วยส่วนใหญ่จะมีอาการราว 2-4 สัปดาห์จากนั้นจะหายเอง

Q: ฝีดาษลิงแพร่กระจายได้ด้วยวิธีใดบ้าง?

A: ฝีดาษลิงแพร่กระจายได้ด้วยการสัมผัสสัตว์ตระกูลลิง และสัตว์ฟันแทะหลากหลายชนิด เช่น หนู กระรอก กระต่าย โดยเชื้อจะติดมาตามสารคัดหลั่งของสัตว์ เช่น เลือด น้ำลาย หรือตุ่มหนองของสัตว์ที่ติดเชื้อ ผลการศึกษาเบื้องต้นพบว่าเชื้อสามารถแพร่กระจายจากคนสู่คนผ่านการสัมผัสสารคัดหลั่งของผู้ติดเชื้อ แต่โอกาสติดเชื้อในลักษณะนี้จะต่ำกว่าการติดเชื้อจากสัตว์สู่คน

Q: ใครคือกลุ่มเสี่ยงที่มีโอกาสติดโรคฝีดาษลิง?

A: ผลการศึกษาในแอฟริกาพบว่า ผู้ที่มีภูมิคุ้มกันต่ำ โดยเฉพาะในเด็กเล็กจะมีโอกาสติดโรคฝีดาษลิงมากกว่าผู้ใหญ่ ผู้ป่วยในกลุ่มนี้มีอัตราการเสียชีวิตที่ร้อยละ 10 นอกจากนี้ผู้ที่เดินทางมาจากประเทศกลุ่มเสี่ยง เช่น แอฟริกาตะวันตก และมีประวัติสัมผัสสัตว์ตระกูลลิงและสัตว์ฟันแทะในพื้นที่ดังกล่าวก็มีโอกาสที่จะติดเชื้อเช่นกัน

Q: ปัจจุบันเราพบการแพร่ระบาดของฝีดาษลิงในไทยหรือยัง?

A: ข้อมูลจากกรมควบคุมโรค เมื่อวันที่ 30 พฤษภาคม 2565 พบผู้ป่วยต้องสงสัยว่าจะติดเชื้อฝีดาษลิงเป็นชาวต่างชาติ เดินทางมาเปลี่ยนเที่ยวบินที่สนามบินสุวรรณภูมิ เบื้องต้นมีการเฝ้าสังเกตอาการผู้สัมผัสเสี่ยงสูง 12 คนซึ่งเดินทางมาในเที่ยวบินเดียวกัน แต่ยังไม่พบว่ามีการแพร่ระบาดในประเทศ ทั้งนี้องค์การอนามัยโลกระบุด้วยลักษณะของเชื้อทำให้เชื่อได้ว่าโรคฝีดาษลิงจะไม่แพร่กระจายจากคนสู่คนอย่างรวดเร็ว และทำให้มีผู้เสียชีวิตเป็นจำนวนมากเช่นเดียวกับโควิด-19 บวกกับเรายังคงมีวัคซีนและวิธีการรักษาโรคฝีดาษอยู่เดิม ดังนั้นขอให้ประชาชนอย่าตื่นตระหนกเพราะเรายังมีวิธีการจัดการและป้องกันการแพร่ระบาดได้

Q: การมีเพศสัมพันธ์กับเพศเดียวกันมีโอกาสติดโรคฝีดาษลิงมากกว่าจริงหรือไม่?

A: ปัจจุบันยังไม่มีผลการศึกษาใดที่ยืนยันว่าการมีเพศสัมพันธ์กับเพศเดียวกันจะเพิ่มความเสี่ยงการติดเชื้อฝีดาษลิง และฝีดาษลิงไม่ใช่โรคที่ติดต่อทางเพศสัมพันธ์ ทั้งนี้การสัมผัสสารคัดหลั่งของผู้ติดเชื้อ ไม่ว่าจะเป็นการมีเพศสัมพันธ์หรือไม่ก็ตาม ล้วนเสี่ยงต่อการติดเชื้อฝีดาษลิงทั้งสิ้น 

Q: ปัจจุบันเรามียารักษาโรคฝีดาษลิงหรือยัง?

A: ปัจจุบันเรายังไม่มียารักษาโรคฝีดาษลิงโดยตรง แพทย์จะใช้วิธีรักษาตามอาการ เช่น ให้ยาลดไข้ แก้ปวด และยารักษาผิวหนังบริเวณที่พบตุ่มหนอง ซึ่งพบว่าการรักษาด้วยวิธีเหล่านี้ได้ผลดี 

Q: การปลูกฝี หรือการฉีดวัคซีนฝีดาษ สามารถป้องกันการติดเชื้อฝีดาษลิงได้หรือไม่?

A: การปลูกฝี หรือการใช้วัคซีนฝีดาษสามารถป้องกันการติดเชื้อฝีดาษลิงได้สูงถึง 85% อย่างไรก็ตามไทยเรา รวมทั้งหลายประเทศทั่วโลกไม่ได้มีการฉีดวัคซีนฝีดาษ หรือปลูกฝีมานานกว่า 40 ปีแล้ว เนื่องจากโรคฝีดาษได้สูญหายไปจากโลกมาเป็นเวลานาน ดังนั้นการกลับมาแพร่ระบาดอีกครั้งของโรคฝีดาษลิงทำให้หลายประเทศทั่วโลกเริ่มกลับมาผลิตวัคซีนฝีดาษอีกครั้ง ซึ่งวัคซีนฝีดาษที่เคยใช้รักษาฝีดาษคนอยู่เดิมมีประสิทธิภาพในการป้องกันฝีดาษลิงได้ดี เนื่องจากเป็นไวรัสในตระกูลเดียวกัน 

Q: เราควรจะต้องไปรับการฉีดวัคซีนฝีดาษในเวลานี้หรือไม่?

A: ขณะนี้กระทรวงสาธารณสุขของไทยยังไม่แนะนำให้ประชาชนทั่วไปเข้ารับการฉีดวัคซีนป้องกันฝีดาษ เนื่องจากยังไม่พบการแพร่ระบาดในไทย และปัจจุบันกระทรวงสาธารณสุขมีระบบเฝ้าระวัง และป้องกันการแพร่ระบาดของโรคฝีดาษลิงแล้ว บวกกับธรรมชาติของเชื้อที่จะติดต่อกันผ่านทางการสัมผัสสารคัดหลั่ง อัตราการเสียชีวิตต่ำ และผู้ป่วยสามารถหายเองได้ ทำให้ฝีดาษลิงยังเป็นโรคที่ไม่น่ากังวลมากนักเมื่อเทียบกับโรคระบาดทางระบบทางเดินหายใจเช่นโควิด-19 และไข้หวัดใหญ่ที่มีความรุนแรงของโรคมากกว่า 

Q: เราจะป้องกันตัวเองจากโรคฝีดาษลิงได้อย่างไร?

A: กระทรวงสาธารณสุขแนะนำให้ประชาชนที่เดินทางมาจากประเทศ ที่พบการแพร่ระบาดของโรคฝีดาษลิงเช่นประเทศในแถบแอฟริกาตะวันตก ยุโรป สหรัฐฯ และแคนาดา ให้เฝ้าสังเกตอาการตัวเอง หากพบว่ามีไข้ ปวดเมื่อร่างกาย มีผื่นและตุ่มตามตัว ให้รีบไปพบแพทย์ ส่วนประชาชนทั่วไปให้รักษาสุขอนามัย เช่นหลีกเลี่ยงการสัมผัสสัตว์พาหะ เช่นลิง และสัตว์ประเภทฟันแทะ เช่น หนู กระรอก ล้างมือด้วยสบู่หรือเจลแอลกอฮอล์หลังสัมผัสกับสัตว์เหล่านี้ หลีกเลี่ยงการสัมผัสใบหน้า ตา จมูก ปาก และรับประทานอาหารปรุงสุก  


ที่มา:

https://www.bbc.com/thai/international-61522154

http://nih.dmsc.moph.go.th/login/showimgdetil.php?id=904

https://www.who.int/news-room/fact-sheets/detail/monkeypox

https://www.cnbc.com/2022/05/30/monkeypox-who-says-there-is-a-window-of-opportunity-to-limit-outbreak.html

https://www.cnbc.com/2022/05/23/cdc-officials-sound-alarm-for-gay-and-bisexual-men-as-monkeypox-spreads-in-community-.html

https://news.ch7.com/detail/572704


เกี่ยวกับผู้เขียน

ธนภณ เรามานะชัย (ไมค์) Fact-checker และ คอลัมนิสต์ประจำ Cofact Thailand

ปัจจุบันทำหน้าที่วิทยากรด้านการตรวจสอบข้อมูลข่าวและเครื่องมือดิจิทัลด้านข่าวให้กับ Google News Initiative ก่อนหน้านี้เขาเป็นผู้ประกาศข่าวเทคโนโลยีให้กับสถานีโทรทัศน์วอยซ์ทีวี (Voice TV) และอดีตกรรมการสมาคมผู้สื่อข่าวต่างประเทศประจำประเทศไทย (FCCT) https://www.damikemedia.com


ตรวจสอบภาพลวง ด้วยวิธี “ค้นหาย้อนกลับ” ง่ายๆ ที่ทุกคนทำได้ COFACT Special Report#24

บทความ

ภาพถ่ายและภาพข่าวต่างๆ ที่ถูกแชร์บนโลกโซเชียล ที่เราเห็นกันทั่วไปนั้น บ่อยครั้งมักจะเป็นภาพตัดต่อ หรือภาพลวงที่สร้างความเข้าใจผิด บางภาพถูกบิดเบือนจากเหตุการณ์จริง บางภาพเป็นการสร้างเหตุการณ์สมมุติ หลายครั้งภาพเหล่านี้เป็นภาพสะเทือนขวัญ หรือมีเนื้อหาหวือหวาชวนให้เรากดแชร์​หรือส่งต่อไปให้กับเพื่อนๆ และญาติพี่น้อง ก่อนที่เราจะเชื่อในภาพเหล่านั้น เราควรตรวจสอบภาพให้ดีเสียก่อนว่าที่มาของภาพมาจากไหน เป็นภาพต้นฉบับหรือไม่ และเป็นภาพที่นำเสนอจากสื่อที่น่าเชื่อถือได้ มีความเป็นไปได้จริงๆ หรือไม่ที่จะเกิดเหตุการณ์อย่างนั้น

English Summary

Many online misinformation comes with a form of manipulated photos and videos. Reverse image search is one of the several tools we can use to verify image sources or find out where are similar images on the internet. Google, Yandex, Microsoft Bing provide reverse image search function in their search engine, and they are free to use. This article will guide you how to reverse image search using these search engines, and tips to get the best result out of these tools.

วิธีหนึ่งที่จะช่วยเราสืบหาที่มาของภาพต้นฉบับ หรือภาพที่คล้ายๆ กัน ก็คือการค้นหาภาพแบบย้อนกลับ หรือ Reverse Image Search เป็นวิธีที่เราใช้ไฟล์ภาพที่เรามีบนอุปกรณ์ หรือภาพที่เราเจอบนอินเทอร์เน็ตมาใช้ในการค้นหา โดยเว็บเซิร์จเอนจิ้นที่มีฟังค์ชั่นนี้จะช่วยค้นหาภาพที่มีลักษณะคล้ายกันว่ามีในเว็บไซต์ไหนอีกบ้าง นอกจากนี้ระบบยังอาจช่วยระบุได้ด้วยว่าสิ่งของ สถาปัตยกรรม หรือบุคคลในภาพเป็นใคร ชื่ออะไร และตั้งอยู่ที่ไหน ช่วยให้เรารู้ถึงต้นตอและที่มาของภาพได้ง่ายขึ้น

ค้นหาภาพแบบย้อนกลับด้วย Google

เว็บไซต์เซิร์จเอนจิ้นยอดนิยม Google มีฟังค์ชั่นค้นหาภาพย้อนกลับ วิธีการใช้งานเริ่มจากการเข้าไปยังเว็บไซต์ images.google.com หรือเข้าไปที่เว็บไซต์ google.com แล้วคลิกเมนู Images

ในหน้าของ Google Images เราจะเห็นช่องที่เราสามารถพิมพ์คำค้นหา บริเวณด้านขวาของช่องเราจะเห็นปุ่มกล้องถ่ายรูป เมื่อเราคลิกที่ปุ่มนั้น เราจะเห็นคำสั่งให้เราอัพโหลดไฟล์ภาพจากคอมพิวเตอร์ หรือใส่ URL ของรูปภาพที่ต้องการจะค้นหา

หากเราต้องการจะค้นหาย้อนกลับภาพสักภาพที่เราเจอบนโซเชียลมีเดีย เราสามารถกดเซฟภาพนั้นลงบนเครื่อง จากนั้นก็ไปที่ Google Images แล้วอัพโหลดภาพนั้นที่ปุ่มกล้องถ่ายรูป หรือคัดลอก URL ของภาพโดยกดคลิกขวาที่รูป จากนั้นเลือก Copy Image URL แล้วเอาไปวางที่ปุ่มกล้องถ่ายรูปบน Google Images ตามที่ปรากฏในภาพ

เมื่อเรากดปุ่มค้นหา ระบบก็จะค้นหาภาพลักษณะคล้ายๆ กัน พร้อมกับเว็บไซต์ที่ปรากฎภาพเหล่านั้น นอกจากนี้เรายังสามารถดูผลการค้นหาประเภทรูปภาพเพื่อดูว่าภาพเหล่านี้มีความคล้าย หรือแตกต่างจากภาพที่เราเจอมากน้อยแค่ไหน 

อย่างไรก็ตามการใช้ฟังค์ชั่นนี้อาจจะไม่ได้นำคุณไปสู่ภาพต้นฉบับโดยตรง คุณจะต้องใช้วิจารณญาณ และประสบการณ์ส่วนตัวในการวิเคราะห์ว่าเว็บไซต์เหล่านี้มีความน่าเชื่อถือแค่ไหน เป็นเว็บที่นำเสนอข้อมูลถูกต้องรอบด้านหรือไม่ เพราะ Google ไม่สามารถให้คำตอบแบบสูตรสำเร็จว่าภาพที่คุณได้มาเป็นภาพจริงหรือภาพปลอม คุณจะต้องใช้วิจารณญาณของคุณเองในการตรวจสอบว่าผลการค้นหาที่ปรากฎนั้นสอดคล้อง หรือขัดแย้งกับภาพที่เราค้นหา

Yandex เซิร์จเอนจิ้นรัสเซียใช้ค้นหาภาพย้อนกลับได้ดี

Yandex เว็บไซต์เซิร์จเอนจิ้นจากรัสเซียเป็นอีกเว็บที่มาพร้อมฟังค์ชั่นตรวจสอบภาพย้อนกลับ คุณสมบัติเด่นของ Yandex คือความแม่นยำในการตรวจสอบภาพใบหน้าบุคคล และรายละเอียดทางสถาปัตยกรรมต่างๆ ของอาคารหรือสิ่งปลูกสร้าง และยังมีคลังข้อมูลภาพขนาดใหญ่ในกลุ่มประเทศยุโรปตะวันออก

เมื่อเราเข้าไปใน Yandex.com แล้วกดปุ่ม Images เราจะเห็นไอคอนกล้องถ่ายรูปข้างๆ กับปุ่ม Search ให้เรากดปุ่มดังกล่าวเพื่อเข้าสู่ฟังค์ชั่นค้นหาภาพแบบย้อนกลับ เราสามารถเลือกอัพโหลดไฟล์ภาพจากคอมพิวเตอร์ หรือวางลิงค์ภาพบริเวณ Enter Image URL คล้ายๆ กับบน Google Images 

แต่ฟังค์ชั่นพิเศษของ Yandex ที่ Google ไม่มีก็คือการเลือกครอปบริเวณพื้นที่ในรูปที่เราต้องการค้นหาโดยเฉพาะ เช่น ถ้าเราอยากค้นหาเฉพาะรูปตึก หรือบุคคลในภาพคนใดคนหนึ่งในภาพหมู่ เราสามารถเลือกครอปบริเวณใบหน้าของคนคนนั้น หรือตึกตึกนั้น โดยไม่จำเป็นต้องเซิร์จทั้งรูป

การตรวจสอบภาพในหลายๆ เว็บไซต์เป็นสิ่งสำคัญ

นอกจาก Google และ Yandex แล้ว เว็บไซต์เซิร์จเอนจิ้นอย่าง Microsoft Bing และ Baitu (จากประเทศจีน) ก็มีฟังค์ชั่นค้นหาภาพแบบย้อนกลับเช่นกัน ทั้งสองเว็บมาพร้อมกับฟังค์ชั่นที่คล้ายๆ กัน เราสามารถทดลองค้นหาภาพย้อนหลับจากหลายๆ เว็บไซต์ เพื่อเปรียบเทียบผลการค้นหา บางเว็บไซต์ เช่น Baitu และ Yandex อาจจะค้นหาภาพที่เกี่ยวข้องกับรัสเซียและจีนได้ดีกว่า Google และ Bing ดังนั้นเราจึงควรเลือกใช้ให้เหมาะสมกับรูปภาพที่เราต้องการจะตรวจสอบ

การใช้เครื่องมือตรวจสอบภาพถึงแม้จะช่วยให้เราทราบที่มาของภาพได้ง่ายขึ้น แต่สิ่งที่สำคัญไม่แพ้กันก็คือการใช้วิจารณญาณของเราในการคิด วิเคราะห์ผลการค้นหาของภาพนั้นๆ เพราะเครื่องมือเหล่านี้ไม่สามารถตอบเราได้แบบร้อยเปอร์เซ็นต์ว่าภาพที่เราตรวจสอบเป็นภาพจริงหรือภาพปลอม บางครั้งเราอาจจะต้องอ่านเนื้อหาที่เกี่ยวข้องกับภาพ รวมทั้งตรวจสอบว่าใครเป็นผู้ถ่ายภาพนั้น รวมทั้งองค์ประกอบต่างๆ ในภาพว่าตรงกับสถานที่ที่มีการแอบอ้างหรือไม่ ดังนั้นการเป็นคนช่างสังเกต บวกกับการใช้เครื่องมือตรวจสอบภาพ จะช่วยให้เราไม่ตกเป็นเหยื่อของข่าวลวง


เกี่ยวกับผู้เขียน

ธนภณ เรามานะชัย (ไมค์) Fact-checker และ คอลัมนิสต์ประจำ Cofact Thailand

ปัจจุบันทำหน้าที่วิทยากรด้านการตรวจสอบข้อมูลข่าวและเครื่องมือดิจิทัลด้านข่าวให้กับ Google News Initiative ก่อนหน้านี้เขาเป็นผู้ประกาศข่าวเทคโนโลยีให้กับสถานีโทรทัศน์วอยซ์ทีวี (Voice TV) และอดีตกรรมการสมาคมผู้สื่อข่าวต่างประเทศประจำประเทศไทย (FCCT) https://www.damikemedia.com

สรุปข่าวจริง ลวงประจำวันที่ 29 พฤษภาคม 2565

จริงหรือไม่…?  ใบกระท่อมสามารถต้านโควิด-19 ได้

ไม่จริง

เพราะ…ยังไม่มีการพบรายงานการวิจัยของฤทธิ์ต้านเชื้อโควิด-19 ในใบกระท่อม

อ่านต่อได้ที่ https://cofact.org/article/3o1w4qzzhmq0v


จริงหรือไม่…?  เจ้าหน้าที่อุทยานเกาะช้าง และ เจ้าหน้าที่เกาะล้าน เป็นโรคฝีดาษลิง

ไม่จริง

เพราะ…กรมควบคุมโรค ยืนยันว่า โรคที่พบการติดต่อไม่ใช่ฝีดาษลิง แต่เป็นโรคไข้มาลาเรียชนิดโนว์ไซ ที่สามารถถ่ายทอดจากลิงสู่คนได้ โดยมียุงก้นปล่องเป็นพาหะนำโรค

อ่านต่อได้ที่ https://cofact.org/article/2gnnas7nns0ov


จริงหรือไม่…? โมเดอร์นา เดือน พ.ค. หมดแล้ว ศูนย์ฉีดวัคซีนกลางบางซื่อแจ้ง

จริง

เพราะ…จากนี้ศูนย์ฯจะให้บริการ วัคซีนไฟเซอร์/แอสตร้าเซเนก้า เป็นวัคซีนหลัก หากได้รับการสนับสนุนวัคซีนเพิ่ม จะประกาศให้ทราบต่อไป

อ่านต่อได้ที่ https://cofact.org/article/1v9if4ggesh6n


จริงหรือไม่…? WHO ยืนยัน 15 ประเทศพบผู้ป่วยติดเชื้อ “ฝีดาษลิง”

จริง

เพราะ…แพทย์ระบุว่า ฝีดาษลิงไม่ได้แพร่ระบาดง่าย ๆ ระหว่างมนุษย์ และอาการก็มักจะไม่รุนแรงแนะนำผู้ที่สงสัยว่าอาจสัมผัสกับเชื้อ หรือมีอาการเข้าข่าย เช่น มีตุ่มผื่นและไข้ ให้หลีกเลี่ยงการสัมผัสใกล้ชิดกับผู้อื่น

อ่านต่อได้ที่ https://cofact.org/article/2lyo8p5pmx1ol


จริงหรือไม่…? หน้ากาก N95 และหน้ากากอนามัย ช่วยป้องกันฝุ่น PM 2.5 ได้

จริง

เพราะ…ขึ้นอยู่กับประเภทและประสิทธิภาพของหน้ากากอนามัยเพื่อการป้องกันสุขภาพแบบต่างๆ

อ่านต่อได้ที่ https://cofact.org/article/q0mc246i0hrg


จริงหรือไม่…? PDPA พ.ร.บ. จะประกาศใช้วันที่ 1 มิ.ย. นี้

จริง

เพราะ…พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล 62 หรือ  Personal Data Protection Act จะเริ่มบังคับใช้เต็มรูปแบบในวันที่ 1 มิ.ย. 2565 กฎหมาย PDPA นี้ให้ความคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล อาทิ ชื่อ ที่อยู่ เบอร์โทรศัพท์ บัญชีธนาคาร อีเมล ไอดีไลน์ ฯลฯ

อ่านต่อได้ที่ https://cofact.org/article/30xmzgwi3v7pa


จริงหรือไม่…?  เตือนเกษตรกร ระวังโดนแอบอ้างหาผลประโยชน์โครงการสานฝันสร้างอาชีพ

จริง

เพราะ…รมช. เตือน โครงการนี้ ไม่ได้ทำข้อตกลงหรือความร่วมมือกับกลุ่มบุคคล/บริษัทใดบริษัทหนึ่ง ให้เข้ามาช่วยเหลือ และเรียกเก็บค่ามัดจำล่วงหน้าใดๆ ทั้งสิ้น

อ่านต่อได้ที่ https://cofact.org/article/o0yyq8nla09f


จริงหรือไม่…? เชียงใหม่ ห้ามเผา ห้ามเข้าป่าสงวนฯ ฝ่าฝืนจำคุก 10 ปี ปรับตั้งแต่ 20,000-200,000 บาท

จริง

เพราะ…ผู้ว่าฯ ออกประกาศห้าม เข้า-เผา ในเขตป่าสงวนแห่งชาติ “ป่าสันทราย” และป่าสงวนแห่งชาติ”ป่าแม่ออน” ฝ่าฝืนโทษจำคุกตั้งแต่ 1-10 ปี และปรับตั้งแต่ 20,000-200,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

อ่านต่อได้ที่ https://cofact.org/article/3sfjyt14sjal3


จริงหรือไม่…? หลังติดเชื้อโควิด19 อาจเกิดอาการสมองเสื่อมถอย

ข่าวจริงบางส่วน

เพราะ…บางผู้ป่วยมักพบในช่วง 1-6 เดือน หลังติดเชื้อ ซึ่งเป็นภาวะที่สมรรถภาพการทำงานของสมองถดถอย ส่วนมากในด้านสมาธิ ทักษะในการตัดสินใจ การวางแผน และความจำระยะสั้น

อ่านต่อได้ที่  https://cofact.org/article/2gx0gf3nedo2g


จริงหรือไม่…?  สธ.เตรียมพิจารณาถอดหน้ากากอนามัย

ข่าวจริงบางส่วน

เพราะ… จะมีการพิจารณาหลังโควิด-19 เป็นโรคประจำถิ่น โดยพิจารณาจากตัวเลขผู้ป่วยหนักและผู้เสียชีวิตเป็นหลัก

อ่านต่อได้ที่ https://cofact.org/article/2bcida21iwmdk


สรุปข่าวจริง ลวงประจำวันที่ 21 พฤษภาคม 2565

จริงหรือไม่…?  นักเรียนต้องตรวจ ATK ก่อนไปโรงเรียนทุกวัน

ไม่จริง

เพราะ…ตรวจ ATK เมื่อมีความเสี่ยงหรือเมื่อมีอาการ เพื่อให้นักเรียนให้มีความปลอดภัย

อ่านต่อได้ที่ https://cofact.org/article/18n1mb4b7ds0s


จริงหรือไม่…?  จังหวัดยะลามีทะเล

ไม่จริง

เพราะ…เป็นจังหวัดที่มีอาณาเขตทางใต้ติดกับประเทศมาเลเซีย เป็นจังหวัดเดียวในภาคใต้ที่ไม่ติดทะเล และเป็นจังหวัดที่อยู่ใต้สุดของไทย

อ่านต่อได้ที่ https://cofact.org/article/2hquyo75cxyk9


จริงหรือไม่…? ราชกิจจาฯ ประกาศ “ยกเว้นภาษีเงินได้”โครงการเยียวยาผลกระทบโควิด-19

จริง

เพราะ…โครงการมาตรการการลดภาระ ค่าใช้จ่ายด้านการศึกษา โครงการส่งเสริมและ รักษาระดับการจ้างงานในธุรกิจ SMEs ในปีภาษี พ.ศ. 2564 เป็นเงินได้พึงประเมินที่ได้รับยกเว้น

อ่านต่อได้ที่ https://cofact.org/article/3h7nnfofilajd


จริงหรือไม่…? ศบค.อนุมัติ ยกเลิก Thailand Pass สำหรับคนไทย เริ่ม 1 มิย. 65

จริง

เพราะ…ยกเลิกสำหรับคนไทย ตั้งแต่ 1 มิ.ย. 2565 แต่สำหรับชาวต่างชาติยังคงต้องลงทะเบียนต่อไป

อ่านต่อได้ที่ https://cofact.org/article/158f4nz7466cz


จริงหรือไม่…? #เวียดนาม ยกเลิกตรวจโควิดนักท่องเที่ยวต่างชาติ เริ่ม 15 พ.ค.นี้

จริง

เพราะ…เนื่องจากจำนวนผู้ป่วยโควิดและผู้เสียชีวิตในประเทศลดลง โดยจะเริ่มตั้งแต่วันที่ 15 พ.ค. 65

อ่านต่อได้ที่ https://cofact.org/article/2b36mjslwul3d


จริงหรือไม่…? ไม่ควรซื้อฟลูออไรด์เม็ดให้ลูกกินเอง

จริง

เพราะ…ควรให้ทันตแพทย์ประเมินความเหมาะสมในเด็กเป็นรายบุคคล และวิธีการรับประทานให้ได้ประสิทธิภาพ

อ่านต่อได้ที่ https://cofact.org/article/1mykdttdh5ub8


จริงหรือไม่…?  7 อาหารกินบ่อยๆ ช่วยบำรุงข้อเข่าให้เสื่อมช้า

ข่าวจริงบางส่วน

เพราะ…ในอาหารต่างๆ จะมีแคลเซียม วิตามิน และสารอาหารอื่นๆ ที่ช่วยบำรุงกระดูก ทั้งนี้ก็ขึ้นกับปัจจัยอื่นๆ ด้วย

อ่านต่อได้ที่ https://cofact.org/article/20f5z7e4xq3a1


สรุปข่าวจริง ลวงประจำวันที่ 15 พฤษภาคม 2565

จริงหรือไม่…?  ผักชี มีสรรพคุณช่วยล้างไต

ไม่จริง

เพราะ…ผักชีมีสารทำให้เกิดการตกผลึกในไต มีโพแทสเซียมสูงมีผลให้ไตทำงานหนักมากขึ้น หากทานในปริมาณมากเกินไปเวลานาน จะมีผลต่อการเต้นของหัวใจ

อ่านต่อได้ที่ https://cofact.org/article/ldgsxscaxx90


จริงหรือไม่…? ถอนฟันคุดหลังอายุ 25 เสี่ยงกระทบเส้นประสาท

จริง

เพราะ…รากฟันจะยังไม่ยาวจนไปชิดกับเส้นประสาท อาจทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อน อย่างอาการชาบริเวณริมฝีปากล่างและคาง อาจใช้เวลานานในการรักษา

อ่านต่อได้ที่ https://cofact.org/article/1349wiomiqlwe


จริงหรือไม่…? หญิงไทยสามารถกดใช้สิทธิ์ คุมกำเนิดและตรวจคัดกรองมะเร็งผ่านแอพ #เป๋าตัง

จริง

เพราะ…#สปสช เปิดให้ลงทะเบียนตรวจคัดกรอง มะเร็งปากมดลูก และมะเร็งเต้านม ในแอปฯ เป๋าตังฟรี จนถึง 30 ก.ย. 65

อ่านต่อได้ที่ https://cofact.org/article/1ysiyoip1ss83


จริงหรือไม่…? การนอนดึกทำให้อายุขัยสั้นลง

จริง

เพราะ…หากอดนอนในระยะยาวส่งผลกระทบต่อสุขภาพ การทำงานของสมอง ส่งผลเสียต่อร่างกาย

อ่านต่อได้ที่ https://cofact.org/article/f5fzx8husn6t


จริงหรือไม่…? #ครม. อนุมัติเวนคืนที่ดินเขตบางเขน-สายไหม ขยายถนน 6 เลน

จริง

เพราะ…เพื่อขยายเส้นทางเชื่อมระหว่างถ.รามอินทรากับถ.เทพรักษ์ ระยะเวลาดำเนินการ 4 ปี มค.64-ธค.67  โดยใช้จ่ายจากงบประมาณของกทม.

อ่านต่อได้ที่ https://cofact.org/article/2njm79b4oqd70


จริงหรือไม่…? นั่งเบาะหลังต้องคาดเข็มขัดนิรภัยในขณะที่โดยสารรถยนต์ส่วนตัว และรถยนต์สาธารณะ

จริง

เพราะ…ราชกิจจาฯ ประกาศ พ.ร.บ.จราจรทางบก (ฉบับที่ 13) กำหนดให้ผู้โดยสาร “ตอนหลัง” ต้องคาดเข็มขัดนิรภัย ฝ่าฝืนปรับไม่เกิน 2,000 บาท มีผลบังคับใช้ในอีก 120 วัน

อ่านต่อได้ที่ https://cofact.org/article/1fai0v4qx919r


จริงหรือไม่…? เด็กอายุ ไม่เกิน 6 ปี สูงไม่เกิน 135 ซม. ต้องนั่ง คาร์ซีท ฝ่าฝืน ปรับ 2,000 บาท

จริง

เพราะ…ตาม พ.ร.บ.จราจรทางบก เด็กอายุไม่เกิน 6 ปี ต้องนั่งคาร์ซีท เพื่อป้องกันอันตราย หรือมีวิธีการป้องกันอันตรายในกรณีที่เกิดอุบัติเหตุฝ่าฝืนปรับไม่เกิน 2,000 บาท

อ่านต่อได้ที่ https://cofact.org/article/1zey3gq4jlh8


ไทยติดอันดับ 3 เสรีภาพสื่อในอาเซียน แต่ยังรั้งอันดับ 115 ของโลก COFACT Special Report #23

บทความ

เมื่อไม่นานมานี้ Reporters Without Borders เผยผลการจัดอันดับเสรีภาพสื่อโลกประจำปี 2022 ซึ่งไทยมีอันดับที่ดีขึ้น อยู่ที่อันดับ 115 จาก 137 เมื่อปีที่แล้ว อย่างไรก็ตามไทยยังคงอยู่ในกลุ่ม Tier 4 หรือประเทศที่เสรีภาพสื่ออยู่ในขั้นยากลำบาก สื่อยังถูกกดดันจากภาครัฐให้นำเสนอข้อมูลข่าวสารที่ตรงกับสิ่งที่รัฐต้องการจะสื่อ และยังมีกฎหมายที่ไม่เอื้อต่อการให้สิทธิเสรีภาพในการนำเสนอข้อมูลข่าวสารอย่างตรงไปตรงมา

English Summary

Thailand’s global press freedom ranking has improved, from 137 last year to 115 this year. According to Reporters Without Border, the reason for Thailand’s improved rank does not come from the domestic situation, but rather the press freedom globally has been in decline. Many countries such as Russia and China use the national security law to silence critics of the government. Myanmar is one of the countries in Southeast Asia with the lowest press freedom ranking due to the jailing of the journalists who criticize the coup, while Indonesia sees the lower ranking due to the radical Islamic movements.

ผู้จัดทำผลสำรวจดังกล่าวระบุว่า สื่อของไทยมีการเลือกข้างอย่างชัดเจน บวกกับการที่พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีบอกว่าสื่อควรทำหน้าที่นำเสนอข้อมูลที่สนับสนุนการทำงานของรัฐบาล ยิ่งเป็นการตอกย้ำว่ารัฐบาลไม่มีความไว้วางใจการทำงานของสื่อเสรี 

อย่างไรก็ตามการที่อันดับเสรีภาพสื่อของไทยดีขึ้น ส่วนหนึ่งมาจากสถานการณ์การเมืองในประเทศเพื่อนบ้าน และในภูมิภาคนั้นแย่ลง จากบทวิเคราะห์ของเว็บไซต์ The Diplomat ระบุว่า เหตุการณ์รัฐประหารและการจับกุมนักข่าวในเมียนมาอย่างโหดร้าย และการคุกคาม-ปิดสื่อที่นำเสนอข้อมูลที่วิพากษ์วิจารณ์การทำงานของรัฐบาลในฟิลิปปินส์ ส่งผลให้ทั้งสองประเทศถูกจัดอันดับให้เป็นประเทศที่เสรีภาพสื่ออยู่ในขั้นวิกฤติ โดยเมียนมาถูกจัดอันดับที่ 176 จาก 180 ประเทศ และฟิลิปปินส์อยู่ในอันดับที่ 147 จากที่เคยอยู่อันดับที่ 138 เมื่อปีที่แล้ว

ส่วนประเทศในอาเซียนซึ่งถูกจัดอันดับดีขึ้นนอกจากไทยแล้ว ก็ยังมีมาเลเซีย อยู่อันดับที่ 113 (ปีที่แล้วอยู่อันดับที่ 119) สิงคโปร์อยู่อันดับที่ 139 (ปีที่แล้วอยู่อันดับที่ 160) กัมพูชาอยู่อันดับที่ 142 (ปีที่แล้วอยู่อันดับที่ 144) และบรูไนอยู่อันดับที่ 144 (ปีที่แล้วอยู่อันดับที่ 154) 

ประเทศในอาเซียนที่มีอันดับแย่ลง นอกจากเมียนมา และฟิลิปปินส์แล้ว ยังมีอินโดนีเซียที่เมื่อปีที่แล้วเคยอยู่อันดับที่ 113 แต่ปีนี้อยู่อันดับที่ 117 โดยผู้จัดทำแบบสำรวจระบุว่าสื่อในอินโดนีเซียยังประสบกับปัญหาความหวาดกลัว และการถูกคุกคามโดยกองทัพ และกลุ่มมุสลิมหัวรุนแรงปิดกั้นการนำเสนอข้อมูลข่าวสาร ถึงแม้อินโดนีเซียจะเป็นประเทศที่มีสื่อเอกชนเสรีจำนวนมากเมื่อเปรียบเทียบกับประเทศอื่นๆ ในภูมิภาคก็ตาม

เสรีภาพสื่อในเอเชียตกต่ำลง

Reporters Without Border ผู้จัดทำแบบสำรวจนี้พบว่า ปี 2022 เป็นปีที่เสรีภาพสื่อใน

ภูมิภาคเอเชียตกต่ำลงเป็นอย่างมาก โดยเอเชียมีจำนวนประเทศที่เสรีภาพสื่ออยู่ในระดับน่ากังวลถึง 25% ของทั้งภูมิภาค โดยภูมิภาคที่เสรีภาพสื่อตกต่ำที่สุดคือตะวันออกกลาง มีประเทศที่เสรีภาพสื่ออยู่ในระดับน่ากังวลถึงกว่า 52%

ปัจจัยที่ทำให้เสรีภาพสื่ออยู่ในระดับตกต่ำในเอเชียมาจากปัญหาการเมืองภายในประเทศ ไม่ว่าจะเป็นการรัฐประหารในเมียนมา การใช้กฎหมายควบคุมการนำเสนอข้อมูลข่าวสารในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 และการคุมขังนักข่าวที่นำเสนอข้อมูลที่รัฐบาลไม่พอใจ และหลายประเทศมีสื่อในความควบคุมของรัฐบาลมากกว่าสื่อเอกชนเสรี

ประเทศ หรือเขตปกครองพิเศษที่อันดับเสรีภาพสื่อตกต่ำลงมากที่สุดจากปีที่ผ่านมาคือฮ่องกง ซึ่งปีนี้ถูกจัดอันดับที่ 148 (ปีที่ผ่านมาอยู่อันดับที่ 80) เหตุผลหลักมาจากการใช้กฎหมายความมั่นคงจับกุม และสั่งปิดสื่อเสรีเอกชนที่วิพากษ์วิจารณ์การทำงานของรัฐบาลฮ่องกง ซึ่งมีสายสัมพันธ์อันดีกับรัฐบาลกลางปักกิ่งของจีน การสั่งปิดหนังสือพิมพ์ยอดนิยมอย่าง The Apple Daily และ Stand News รวมถึงการจับกุมนักข่าว และเจ้าของสำนักพิมพ์ต่างๆ โดยอ้างว่าพวกเขาเป็นภัยความมั่นคงสร้างความหวาดกลัวให้กับสื่อเป็นอย่างมาก

สแกนดิเนเวีย ยืนหนึ่งภูมิภาคที่เสรีภาพสื่อดีที่สุดในโลก

สิบอันดับประเทศที่มีเสรีภาพสื่อมากที่สุดในโลกได้แก่ 1. นอร์เวย์ 2. เดนมาร์ก 3. สวีเดน 4. เอสโตเนีย 5. ฟินแลนด์ 6. ไอร์แลนด์ 7. โปรตุเกส 8. คอสตาริกา 9. ลิทัวเนีย 10. ลีชเทินชไตน์ ซึ่ง 4 ใน 10 ประเทศที่ระบุมาล้วนเป็นประเทศที่อยู่ในสแกนดิเนเวีย ผู้จัดทำแบบสำรวจระบุว่า ประเทศในสแกนดิเนเวียมีกฎหมายคุ้มครองการนำเสนอข้อมูลข่าวสารของสื่อมวลชน และประเทศเหล่านี้มีจำนวนสื่อเอกชนเสรีมากกว่าสื่อในกำกับของรัฐบาล

ส่วน 10 ประเทศที่เสรีภาพสื่อตกต่ำที่สุดในปี 2022 ได้แก่ 180. เกาหลีเหนือ 179. เอริเทรีย 178. อิหร่าน 177. เติร์กเมนิสถาน 176. เมียนมา 175. จีน 174. เวียดนาม 173. คิวบา 172. อิรัก 171. ซีเรีย


ที่มา:

https://rsf.org/en/index

https://thediplomat.com/2022/05/southeast-asia-nations-languish-in-annual-press-freedom-ranking/

https://rsf.org/en/rsfs-2022-world-press-freedom-index-new-era-polarisation

https://mothership.sg/2022/05/singapore-press-freedom-ranking-2022/


เกี่ยวกับผู้เขียน

ธนภณ เรามานะชัย (ไมค์) Fact-checker และ คอลัมนิสต์ประจำ Cofact Thailand

ปัจจุบันทำหน้าที่วิทยากรด้านการตรวจสอบข้อมูลข่าวและเครื่องมือดิจิทัลด้านข่าวให้กับ Google News Initiative ก่อนหน้านี้เขาเป็นผู้ประกาศข่าวเทคโนโลยีให้กับสถานีโทรทัศน์วอยซ์ทีวี (Voice TV) และอดีตกรรมการสมาคมผู้สื่อข่าวต่างประเทศประจำประเทศไทย (FCCT) https://www.damikemedia.com

สรุปข่าวจริง ลวงประจำวันที่ 8 พฤษภาคม 2565

จริงหรือไม่…?  ห้ามรับวัคซีนโควิด-19 เพราะอันตรายต่อร่างกาย

ไม่จริง

เพราะ…วัคซีนช่วยสร้างภูมิต้านทานต่อโควิด-19 ลดความรุนแรงของโรค ส่วนอาการไม่พึงประสงค์หากเกิดขึ้นสามารถรักษาได้

อ่านต่อได้ที่ https://cofact.org/article/24dzb6gooxeqn


จริงหรือไม่…? การกินยาเม็ดหรือแคปซูล ควรดื่มน้ำเย็นเท่านั้น

ไม่จริง

เพราะ…ชัวร์ก่อนแชร์ตรวจสอบ พบว่า กินได้ทั้งน้ำอุ่น-น้ำเย็น เพราะยาจะละลายในกระเพาะอาหารได้เหมือนกัน โดยต้องเป็นน้ำสะอาดในปริมาณที่เพียงพอ

อ่านต่อได้ที่ https://cofact.org/article/o5ogfxr84ibd


จริงหรือไม่…? กินเนื้อสัตว์ประเภทเนื้อ นม ไข่ แล้วจะทำให้แผลผ่าตัด หายช้า

ไม่จริง

เพราะ…โปรตีนจะช่วยซ่อมแซมร่างกายส่วนที่สึกหรอหลังการผ่าตัด สร้างเนื้อเยื่อ และผิวหนังใหม่ที่ช่วยให้แผลหาย

อ่านต่อได้ที่ https://cofact.org/article/othectk79act


จริงหรือไม่…? เด็กมีปัญหาสุขภาพจิตพุ่ง จากการระบาดของโควิด

จริง

เพราะ…จากผลการศึกษาของศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคสหรัฐฯ พบว่าวัยรุ่นหญิงมีภาวะความกังวลใจ ความตึงเครียดจากสถานการณ์รอบด้าน

อ่านต่อได้ที่ https://cofact.org/article/3c95u3o6xylr6


จริงหรือไม่…? ผู้ป่วยบางรายหายจาก #โควิด-19 พบว่ายังมีกลุ่มอาการเรื้อรังที่เกิดขึ้น คือ อาการทางสมองและระบบประสาท

จริง

เพราะ…เป็นอาการ Long COVID  ในส่วนของระบบประสาทและจิตเวชศาสตร์ เช่น ปวดศีรษะ มึนศีรษะ นอนไม่หลับ ภาวะสมองล้า ฯลฯ

อ่านต่อได้ที่ https://cofact.org/article/i5ma1wml5wif


จริงหรือไม่…? เชียงใหม่คลายล็อค เปิดพื้นที่สีฟ้าครบทุกอำเภอ

จริง

เพราะ…เพื่อเปิดรับนักท่องเที่ยวอีกครั้ง แต่ยังเน้นมาตรการป้องกันโควิด

อ่านต่อได้ที่ https://cofact.org/article/3ox9d4mh4i8fc


จริงหรือไม่…?  #วินเซฟ ผ่านแอปฯเป๋าตัง ช่วยค่าน้ำมันวินมอเตอร์ไซค์

จริง

เพราะ…รัฐร่วมจ่าย 50% ไม่เกิน 50 บาท/คน/วัน และไม่เกิน 250 บาท/คน/เดือน กับปั๊มร่วมโครงการ วินมอเตอร์ไซค์ต้องมีใบอนุญาต – จดทะเบียนกับกรมการขนส่งทางบก 106,655 คน

อ่านต่อได้ที่ https://cofact.org/article/lew2gleib772


จริงหรือไม่…? 1 พฤษภาคม 2565 นี้ เริ่มค่าไฟฟ้าอัตราใหม่

จริง

เพราะ…ที่ประชุม กกพ. มีมติปรับเพิ่มค่าไฟฟ้าผันแปร (ค่าเอฟที) รอบเดือน พ.ค.-ส.ค.65 เรียกเก็บที่ 24.77 สตางค์ต่อหน่วย ส่งผลให้อัตราค่าไฟฟ้าเฉลี่ยเพิ่มขึ้น 23.38 สตางค์ต่อหน่วย เป็น 4.00 บาทต่อหน่วย

อ่านต่อได้ที่ https://cofact.org/article/23uni8ycv2nfb


จริงหรือไม่…?  วางมือถือใกล้หัวขณะนอนหลับอันตรายต่อสมอง

ข่าวจริงบางส่วน

เพราะ…หากทำระยะยาว อาจะเกิดผลข้างเคียง อาจส่งผลต่อการนอนหลับ และความจำ

อ่านต่อได้ที่ https://cofact.org/article/2cuzaaruvj7h5


จาก‘รัสเซีย-ยูเครน’ถึง‘ชายแดนใต้’ ความท้าทายและข้อจำกัดสื่อไทย ตรวจสอบข้อเท็จจริง-แสวงหาสันติภาพ

Editors’ Picks

3 พ.ค. 2565 โคแฟค (ประเทศไทย) ร่วมกับ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) สภาการสื่อมวลชนแห่งชาติ สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย สมาคมผู้ผลิตข่าวออนไลน์ สำนักข่าวไทยพีบีเอส สถาบัน Change Fusion มูลนิธิฟรีดริช เนามัน (ประเทศไทย) และ Centre for Humanitarian Dialogue (“hd ) จัดงานสวนานักคิดดิจิทัล “สงครามข่าวสารผ่านหน้าจอ สื่อจะธำรงเสรีภาพ ความจริง และ สันติภาพได้อย่างไร” เนื่องในวาระวันเสรีภาพสื่อมวลชนโลก โดยเป็นการเสวนาออนไลน์ ผ่านโปรแกรม Zoom ถ่ายทอดสดทางเฟซบุ๊กแฟนเพจ Cofact โคแฟค , Thai PBS ,  สภาการสื่อมวลชนแห่งชาติ

ดร.จิรพร วิทยศักดิ์พันธุ์ กรรมการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวเปิดการเสวนา ระบุว่า องค์การการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ หรือ ยูเนสโก (UNESCO) กำหนดให้วันที่ 3 พฤษภาคม ของทุกปี เป็นวันเสรีภาพสื่อมวลชนโลก ซึ่งประเด็นท้าทายในปีนี้คือการเติบโตของสื่อสังคมออนไลน์ (Social Media) ทำให้ทุกคนสามารถเป็นผู้ผลิตข้อมูลข่าวสารได้ ทำให้เต็มไปด้วยข้อมูลทั้งที่เป็นข้อเท็จจริงและข้อมูลบิดเบือน โดยเฉพาะจากความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี ที่สามารถดัดแปลงภาพหรือคลิปวีดีโอให้เสมือนจริงมากขึ้น 

ทั้งนี้ มีการใช้ปฏิบัติการในการใช้ข้อมูลข่าวสารเพื่อจูงใจผู้คนในมิติการเมือง เศรษฐกิจและสังคม โดยเฉพาะในยุคที่มีความขัดแย้งทั้งในระดับประเทศและระดับโลก ตลอดจนความขัดแย้งด้านเชื้อชาติ ศาสนา จนกลายเป็นสงครามข้อมูลข่าวสารผ่านหน้าจอมือถือ สร้างความสับสน เข้าใจผิด นำไปสู่ความเกลียดชังและยั่วยุให้เกิดความรุนแรง ท่ามกลางสถานการณ์ที่เกิดขึ้นนี้ สื่อมวลชนในฐานะที่เป็นองค์กรที่สังคมมีความคาดหวังสูง จำเป็นต้องใคร่ครวญและทบทวนว่าจะธำรงบทบาทของตนอย่างไร  

“วันนี้จึงนับเป็นโอกาสสำคัญที่องค์กรทั่วโลก ร่วมฉลองให้สังคมตระหนักถึงเสรีภาพสื่อมวลชน เพราะเสรีภาพกับความจริงนั้นมีความสำคัญ และเป็นพื้นฐานสำคัญของประชาธิปไตย หากปราศจากเสรีภาพสื่อ ก็ยากที่สื่อจะค้นหาความจริงได้ ขณะเดียวกัน ถ้าการใช้เสรีภาพในการนำเสนอข้อมูลทำให้เกิดความเข้าใจผิด ก็จะส่งผลร้ายต่อสังคมเช่นกัน เป็นคำถามเชิงขบคิดว่าสื่อมวลชนจะปฏิบัติหน้าที่อย่างไร ในการค้นหาข้อเท็จจริงตามหลักเสรีภาพ และจะกลั่นกรองข้อเท็จจริงอย่างไร ให้ผู้รับสารได้รับข้อมูลที่ถูกต้องรอบด้าน” ดร.จิรพร กล่าว

ดร.พิมพ์รภัช ดุษฎีอิสริยกุล ผู้จัดการโครงการมูลนิธิฟรีดริชเนามัน (ประเทศไทย) กล่าวว่า ที่ผ่านมาสื่อมวลชนเผชิญความท้าทายหลายประการ อาทิ ความเปลี่ยนแปลงทางภูมิทัศน์สื่อจากอนาล็อกสู่ดิจิทัล จากการนำเสนอข่าวจากสำนักข่าวสู่การนำเสนอผ่านสื่อสังคมออนไลน์ ด้านหนึ่งเอื้อให้เกิดพื้นที่ส่งเสียงไปถึงวงกว้างกว่าที่เคยเป็นมา แต่อีกด้านหนึ่งก็เกิดคำถามว่าวารสารศาสตร์ยังจำเป็นอยู่หรือไม่ 

ซึ่งจากสถานการณ์วิกฤติต่างๆ เช่น การระบาดของไวรัสโควิด-19 ที่เป็นโรคอุบัติใหม่ หรือประเด็นที่มีความละเอียดอ่อน อาทิ สงคราม ความขัดแย้งระหว่างประเทศ ก็ทำให้พบว่าวารสารศาสตร์ยังคงมีความจำเป็นในการสืบค้นข้อเท็จจริงและความจริงร่วมให้กับสังคม เพื่อประกันสิทธิในการรับรู้ข้อมูลข่าวสารของปัจเจกในสังคม ทั้งนี้ มีตัวอย่างจากช่วงเวลากว่า 2 เดือน ที่เกิดสงครามรัสเซีย-ยูเครน ก็ได้เห็นสงครามข่าวสารจากทั้ง 2 ฝ่าย และมีความหลากหลายตามรูปแบบการนำเสนอของแต่ละแพลตฟอร์ม

“สงครามข่าวผ่านหน้าจอ นำไปสู่คำถามว่า สื่อจะสามารถที่จะธำรงเสรีภาพ ความจริงและสันติภาพได้อย่างไร หากต่างฝ่ายต่างปิดกั้นการเข้าถึง และแบนสื่อฝ่ายตรงข้ามไม่ให้นำเสนอข้อมูล คำขอของประธานสหภาพยุโรป (EU) ไม่ให้สื่อของรัสเซียเข้าถึงแพลตฟอร์มออนไลน์ โดยอ้างเหตุเพื่อหยุดข่าวสารที่เรียกว่าโฆษณาชวนเชื่อ ขณะที่รัสเซียเองก็ออกกฎหมาย กำหนดโทษจำคุกสูงสุด 15 ปี คนที่เผยแพร่ข่าวเท็จตามคำจำกัดความของทางรัสเซีย ตามด้วยศาลรัสเซียซึ่งสั่งแบนทั้งเฟซบุ๊กและอินสตาแกรมโดยอ้างว่าเป็นกลุ่มหัวรุนแรง อันนี้อาจจะทำให้เราเห็นว่า สงคราม สันติภาพ และสื่อสารมวลชน มีความเชื่อมโยงกัน” ดร.พิมพ์รภัช กล่าว 

รศ.ดร.วิลาสินี พิพิธกุล ผู้อำนวยการองค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย (ส.ส.ท.) กล่าวว่า เหตุการณ์สงครรมรัสเซีย-ยูเครน โดยทั่วไปแล้วในการนำเสนอข่าวต่างประเทศจะพึ่งพาสำนักข่าวต่างประเทศเพียงไม่กี่สำนักซึ่งไม่เพียงพอ คำถามคือแล้วจะตรวจสอบกับแหล่งข่าวอื่นๆ ได้อย่างไร ซึ่งสื่อสังคมออนไลน์ก็เป็นอีกแหล่งข่าวสำคัญที่สื่อหลายสำนักใช้กันอยู่ แต่สงครามครั้งนี้ก็มีการทำสงครามบนโลกเสมือน (Virtual Front) กันด้วย คนทำงานสื่อกระแสหลักจึงต้องเข้มงวดกับตนเองมากขึ้น

เช่น ในห้องข่าวของไทยพีบีเอส เท่าที่ทราบมีกระบวนการทบทวนหลังปฏิบัติงาน (After Action Review-AAR) กันแทบทุกวัน เนื่องจากไม่ได้มีเฉพาะประเด็นสงครามรัสเซีย-ยูเครน แต่เป็นทุกๆ ประเด็นที่มีความขัดแย้ง คนทำงานต้องทบทวนตนเองอยู่เสมอ อาทิ ข้อมูลที่ได้มาถูกต้องเพียงใด ได้กลายเป็นผู้เผยแพร่ข้อมูลบิดเบือน (Disinformation) บ้างหรือไม่ หากเผยแพร่ไปแล้วจะแก้ไขอย่างไร หรือการตีความสถานการณ์ต่างๆ ใช้มุมมมองแบบใด เป็นต้น จึงต้องให้เวลาทำความเข้าใจประเด็นมากขึ้น โดยเฉพาะเรื่องที่มีความอ่อนไหว

“ยิ่งเราเข้าใจและรู้เท่าทันที่มาของความขัดแย้งไม่ว่าในระดับชาติหรือระดับโลกได้มากแค่ไหน คิดว่าคนทำงานสื่อก็จะสามารถรับมือกับความท้าทาย แล้วก็สามารถเตรียมตัวที่จะป้องกันไม่ให้ผลกระทบต่างๆ มันเกิดขึ้นรุนแรงที่เราไม่อยากเห็นได้มากขึ้น” รศ.ดร.วิลาสินี กล่าว

ด้านนายอเล็กซานเดอร์ ดักลาส ผู้ช่วยผู้อำนวยการประจำภูมิภาคเอเชียใต้และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ Centre for Humanitarian Dialogue (HD) กล่าวว่า ระบบการสื่อสารมีการพัฒนาขึ้นตลอดเวลา เราได้รับข้อมูลข่าวสารเพิ่มขึ้นอย่างมาก และเรามองเห็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นรอบโลก แต่การที่สามารถส่งผ่านข้อมูลจากคนหนึ่งไปสู่อีกคนหนึ่งอย่างง่ายดาย หากเป็นข้อมูลที่ผิดย่อมแพร่กระจายได้อย่างรวดเร็วมาก 

เช่น ในช่วงที่สถานการณ์โรคระบาดโควิด-19 รุนแรง ก็มีคนที่เชื่อว่าโควิดเป็นเพียงเรื่องหลอกลวงไม่ใช่ความจริง เป็นต้น ดังนั้นระบบนิเวศที่ไม่ได้ทำหน้าที่อย่างตรงไปตรงมา ก็มีโอกาสเกิดเนื้อหาที่ดึงดูดผู้รับสาร แต่เป็นเนื้อหาที่นำไปสู่ความรู้สึกแบ่งแยกระหว่างปัจเจกบุคคล อาจส่งผลกระทบกับความขัดแย้งที่มีอยู่แล้ว กระตุ้นให้ทวีความรุนแรงยิ่งขึ้น ซึ่งภารกิจของ  HD  คือการลดความรุนแรงและแก้ปัญหาความขัดแย้งที่เกิดขึ้น ทั้งนี้ หากย้อนไปเมื่อ 10 ปีก่อน เรื่องของระบบข้อมูลหรือระบบสารสนเทศอาจอยู่เบื้องหลัง แต่ปัจจุบันได้มาอยู่เบื้องหน้าแล้ว

“เรามีการจัดการในการพลิกแพลงข้อมูลข่าวสารเหล่านี้ตลอดเวลา เราพยายามบิดเบือนข้อมูล หรือสร้างประทุษวาจา (Hate Speech) แพร่กระจายไป ฉะนั้นถ้าเกิดขึ้นไม่ว่าประเทศที่อาจจะไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับความขัดแย้ง ก็สามารถที่จะเข้ามาให้ข้อคิดเห็น แล้วก็ออกข่าวลวงมาได้ แล้วก็ไม่สามารถจะหยุดยั้งได้ เหมือนกับทำได้ตามสบายใจ ฉะนั้นความขัดแย้งใดๆ ก็ตามมันเริ่มขึ้นได้ง่าย แต่จะหยุดยั้งมันลำบาก ฉะนั้นการกระจายข้อความที่เป็นข้อมูลที่ผิดไป อาจทำให้เกิดความกระจายของความขัดแย้งอย่างมาก และรบกวนกระบวนการสันติภาพที่เราพยายามดำเนินการ” ผู้ช่วยผู้อำนวยการประจำภูมิภาคเอเชียใต้และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ HD กล่าว

ศ.ดร.พิรงรอง รามสูต กรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.)

ศ.ดร.พิรงรอง รามสูต กรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) กล่าวว่า ในการรายงานข่าวสงครามรัสเซีย-ยูเครน มักเป็นการรายงานพัฒนาการของเหตุการณ์ หรือเรื่องของความรุนแรง เช่น เทคโนโลยีอาวุธยุทโธปกรณ์ที่ถูกนำมาใช้ ความสูญเสียที่เกิดขึ้น โดยส่วนใหญ่จะมีกรอบอยู่กับนักข่าวจากสำนักข่าวต่างประเทศซึ่งเป็นแหล่งอ้างอิง เพราะไม่สามารถเข้าถึงเหตุการณ์จริงได้ แต่ไม่ค่อยได้เห็นการตรวจสอบจากหลายแหล่ง รวมถึงการวิเคราะห์ที่มา-ที่ไปและทางออกของเหตุการณ์ความรุนแรง

โดยจากการวิเคราะห์ข้อมูลเกี่ยวกับประเด็นข่าวสงครามรัสเซีย-ยูเครน จากสำนักข่าวในประเทศไทยที่เผยแพร่ผ่านแพลตฟอร์มยอดนิยมของคนไทยอย่างเฟซบุ๊ก เบื้องต้นพบ 4,512 โพสต์ นำมาคัดกรองเหลือ 3,000 โพสต์ที่เกี่ยวข้องจริงๆ ในจำนวนนี้แบ่งเป็น อันดับ 1 ผลกระทบ อันดับ 2 การรายงานสถานการณ์ อันดับ 3 การวิเคราะห์ในมิติต่างๆ และอันดับ 4 ข้อมูลที่เผยแพร่จากทางการรัสเซีย ส่วนประเด็นการเจรจาสันติภาพ มีการรายงานข่าวน้อยกว่า 4 อันดับแรกอยู่พอสมควร

ทั้งนี้ การที่สื่อจะนำเสนอเน้นประเด็นใดก็ขึ้นอยู่กับทิศทางหรือจุดยืนของสำนักข่าวแต่ละแห่ง เช่น สื่อที่เน้นข่าวธุรกิจก็จะเน้นไปที่ประเด็นด้านเศรษฐกิจ ส่วนสื่อที่ในอดีตเรียกกันว่าหนังสือพิมพ์หัวสีจะเน้นนำเสนอประเด็นที่ปุถุชนคนทั่วไปสนใจ ตามหลักเสรีภาพแล้วไม่สามารถไปกำหนดได้ว่าสื่อควรเน้นประเด็นใด แต่ไม่ว่าจะนำเสนอเรื่องใดก็ต้องอยู่ในกรอบจริยธรรมสื่อด้วย

ส่วนบทบาทขององค์การกำกับดูแลอย่าง กสทช. แม้อำนาจหน้าที่ตามกฎหมายจะว่าด้วยเรื่องการจัดสรรคลื่นความถี่และการกำกับดูแล แต่เป้าหมายคือการทำงานเพื่อประโยชน์สาธารณะ หมายถึงสิทธิเสรีภาพของประชาชนในการเข้าถึงข้อมูลข่าวสารและการแสดงออก อย่างไรก็ตาม สำหรับประเด็นข้อมูลบิดเบือน ที่ผ่านมา กสทช. ยังทำงานในส่วนนี้ค่อนข้างน้อยเมื่อเทียบกับเรื่องอื่นๆ ในขณะองค์กรกำกับดูแลทั่วโลกให้ความสำคัญกับเรื่องนี้มาก แต่อีกมุมก็ต้องยอมรับว่า ระบบกฎหมายของไทยยังไม่เอื้ออำนวย

“อย่างที่ทราบคือ กสทช. มีอำนาจกำกับดูแลแค่วิทยุ โทรทัศน์ และโทรคมนาคมในส่วนที่เป็นโครงสร้างพื้นฐาน คือ License (ใบอนุญาต) ก็เป็น License ในการประกอบกิจการให้บริการในการเข้าถึง (Access) แต่ในแง่ข้อมูลข่าวสารที่ไหลอยู่ในระบบที่เป็นออนไลน์ กสทช. ไม่ได้มีอำนาจ อันนั้นเป็น พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ ผู้ที่ถือ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ คือกระทรวงดีอี (กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม) เราไม่ได้บอกว่าจะปฏิเสธ แต่เราก็คงต้องทำอย่างไรให้เกิดการลื่นไหลในแง่ของการกำกับดูแล ที่คงจะต้เองร่วมมือกันมากขึ้น” ศ.ดร.พิรงรอง กล่าว 

ผศ.ดร.วลักษณ์กมล จ่างกมล อาจารย์สาขาวิชานิเทศศาสตร์ คณะวิทยาการสื่อสาร มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี (มอ.ปัตตานี) กล่าวว่า การรายงานข่าวความขัดแย้งที่เกิดขึ้นในประเทศไทย อย่างสถานการณ์ในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ (ปัตตานี ยะลาและนราธิวาส) สื่อยังคงเน้นการเสนอข่าวเหตุความรุนแรงเป็นหลัก ทั้งที่ระยะหลังๆ จำนวนเหตุการณ์ลดลงไปจากเดิมมาก อีกทั้งกระบวนการเจรจาสันติภาพมีความคืบหน้าขึ้น 

ขณะเดียวกัน บทบาทของผู้สื่อข่าวที่ทำงานให้สื่อกระแสหลักลดลง โดยถูกแทนที่ด้วยการสื่อสารผ่านสื่อสังคมออนไลน์ เช่น บล็อกเกอร์ เพจเฟซบุ๊ก แต่สิ่งที่พบคือ ช่องทางดังกล่าวจำนวนไม่น้อยถูกใช้เพื่อทำปฏิบัติการข้อมูลข่าวสาร หรือไอโอ (Information Operation-IO) ทั้งโดยฝ่ายรัฐและฝ่ายผู้เห็นต่างจากรัฐ ซึ่งได้รับความนิยมอย่างมาก เห็นได้จากยอดผู้ติดตามหรือแชร์โพสต์ที่มากกว่าสื่อหลักบางสำนักเสียอีก 

ผศ.ดร.วลักษณ์กมล จ่างกมล อาจารย์สาขาวิชานิเทศศาสตร์ คณะวิทยาการสื่อสาร มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี (มอ.ปัตตานี)

นอกจากนี้ แม้โลกออนไลน์เป็นพื้นที่งอกงามทางความคิดซึ่งเอื้อต่อการเข้ามาของนักสื่อสารรุ่นใหม่ๆ แต่ก็พบว่า การนำเสนอเรื่องราวของ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ มักจะเน้นกันอยู่ที่ 2 ด้าน ด้านหนึ่งคือข่าวสารเกี่ยวกับสถานการณ์ความรุนแรง ส่วนอีกด้านหนึ่งคือข่าวสารเชิงบวก อาทิ การพัฒนาเศรษฐกิจ การท่องเที่ยว วิถีชีวิตและวัฒนธรรม ในขณะที่การวิเคราะห์หาสาเหตุของความขัดแย้งและการคลี่คลายจนนำไปสู่สันติภาพ เป็นประเด็นที่หายไปทั้งในสื่อท้องถิ่นหรือแม้กระทั่งสื่อส่วนกลาง 

“เราอยากเห็นสื่อมวลชนทำหน้าที่อะไรในภาวะความขัดแย้ง ยังไม่ต้องไปถึงรัสเซีย-ยูเครน เรื่อง 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ นี่คือสิ่งที่เราอยากเห็น เรายังไม่เห็นพื้นที่การคลี่คลายความจริง ยังไม่เห็นพื้นที่ของการที่จะนำเสนอ พยายามที่จะ Set Agenda (กำหนดวาระ) บางอย่าง จริงๆ อยากให้สื่อช่วย Set Agenda เรื่องการพูดคุยสันติภาพ เพราะในเรื่องการพูดคุยสันติภาพ ถ้าในแง่ของ Peace Journalism (วารสารศาสตร์เพื่อสันติภาพ) มันเป็นข่าวที่เชื่องช้า น่าเบื่อ เป็นข่าวที่ไม่รู้ว่าจะจบเมื่อไร ไม่รู้ว่าคำตอบคืออะไร แต่ถ้าสื่อช่วย Set Agenda บอกว่ามันสำคัญ บอกว่าเราต้องให้ความสนใจ บอกว่านี่คือทางออกของความขัดแย้ง มันก็สามารถช่วยได้” ผศ.ดร.วลักษณ์กมล กล่าว

น.ส.ฐิตาภา สิริพิพัฒน์ นักข่าวอิสระ และ ที่ปรึกษา AI Company กล่าวว่า จากประสบการณ์เป็นผู้สื่อข่าวในสังกัดสถานีโทรทัศน์อยู่หลายปี การขอออกไปทำข่าวในพื้นที่ เช่น 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ จะต้องตอบคำถาม เช่น ทำแล้วจะได้เรตติ้งหรือไม่ ไปแล้วใช้งบประมาณท่าไร สถานีจะได้อะไรจากการส่งผู้สื่อข่าวลงพื้นที่ จะได้ตามเป้าหมายหรือไม่ ต้องใช้เวลาเท่าใดกว่าจะได้ เป็นต้น จนบทสรุปคืออยู่อ่านข่าวและทำข่าวในกรุงเทพฯ ดีกว่า

ซึ่งก็ต้องยอมรับว่าสื่อโทรทัศน์ต้องใช้งบประมาณค่อนข้างสูง มีการลงทุนอุปกรณ์ราคาแพง การทำข่าวก็ต้องไปกันเป็นทีม มีทั้งผู้สื่อข่าว ช่างภาพ ผู้ช่วยช่างภาพ รวมถึงต้องจ้างผู้สื่อข่าวในท้องถิ่นนั้นๆ มาช่วย และหากต้องการได้ข้อมูลเชิงลึกก็อาจต้องฝังตัวในพื้นที่กันยาวนานแรมเดือนแรมปี แต่ไม่มีอะไรรับประกันว่าผลงานที่ออกมาจะสร้างเรตติ้งให้สถานีได้ โดยเฉพาะในยุคทีวีดิจิทัลที่มีสถานีเกิดขึ้นพร้อมกันนับสิบช่อง บวกกับกว่าจะได้ช่องมาต้องเสียเงินไปมากกับการประมูลใบอนุญาต จึงไม่ผิดที่ผู้ประกอบการจะกังวลกับเรื่องการได้ทุนคืน

น.ส.ฐิตาภา สิริพิพัฒน์ นักข่าวอิสระ และ ที่ปรึกษา AI Company

“เชื่อว่านักข่าวหลายคนในยุคนี้อยากจะไปยูเครน อยากจะลงไปใต้ ไปทำ Content (เนื้อหา) เองเลย แต่โดนปฏิเสธไม่ให้ไป เพราะฉะนั้นมันก็เป็นโจทย์หลักๆ ที่นักวิชาการหรือสื่อรุ่นใหญ่อาจจะต้องมองในจุดนี้ ตราบใดที่ว่ามันไม่ใช่เรื่องของสวัสดิภาพเราอย่างเดียว สังกัดเราก็ไม่สามารถรับปากได้ว่าจะดูแลเราไปตลอดชีวิต หรือแม้แต่ว่าไม่ได้ Support (สนับสนุน) เราขนาดนั้น สุดท้ายเราสู้ไม่ได้อยู่ดี 

อิจฉาคนที่ทำสื่อรุ่นก่อนที่มีคู่แข่งน้อยมากๆ เขาถึงได้มาในชื่อฐานันดรที่ 4 เพราะเขาทำอะไรได้หลายอย่าง แล้วเขามีอำนาจต่อรองสูง แต่สมัยนี้ไม่มีคำว่าฐานันดรที่ 4 แล้ว ใครมาพูดว่าสมัยนี้สื่อคือฐานันดรที่ 4 เราเถียงใจขาด เพราะรู้สึกว่าตัวเองไมได้ Privilege (เป็นคนพิเศษ) อะไรเลย ที่สำคัญตอนเป็นสื่อทีวีก็รู้สึกว่าตัวเองไม่ค่อยได้ Privilege อยู่แล้วนะ แต่พอไปทำสื่ออิสระ กลายเป็นฐานันดรที่เท่าไรก็ไม่รู้ คนไม่ Welcome (ต้อนรับ) คุณมาจากอะไร คูณเป็นใคร” น.ส.ฐิตาภา กล่าว 

นายธีรนัย จารุวัสตร์ อุปนายกฝ่ายสิทธิเสรีภาพและการปฏิรูปสื่อ สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย กล่าวว่า ในพื้นที่สื่อสังคมออนไลน์ จะพบการ “ดัก-ปั่น” ซึ่งจุดเริ่มต้นเป็นเพียงเรื่องตลกล้อเลียนกัน แต่ในเวลาต่อมาดูเหมือนจะแยกไม่ออกว่าอะไรเป็นการดักและอะไรเป็นเรื่องจริง เช่น ฝ่ายหนึ่งสร้างเรื่องขึ้นมาว่าคนของฝ่ายตรงข้ามพูดอะไรที่ดูโง่มาก แล้วก็มีผู้หลงเชื่อ ทั้งที่จริงๆ แล้วเจ้าตัวไมได้พูด ที่ผ่านมาจึงต้องพยายามเตือนคนรอบข้างให้ลด-ละการดักหรือปั่นแบบนี้ เพราะเริ่มไม่รู้กันแล้วว่าอะไรจริง-ไม่จริง

ส่วนการทำหน้าที่ของสื่อซึ่งถูกคาดหวังให้ทำหน้าที่ตรวจสอยข้อเท็จจริง (Fact Check) ก่อนเผยแพร่ ก็ยังพบสื่อไทยบางสำนักหลุดเสนอข่าวปลอมหรือข้อมูลผิดพลาดออกมาอยู่บ้าง โดยมีต้นทางจากโลกออนไลน์แต่สื่อไม่ได้ตรวจสอบข้อเท็จจริงก่อนเผยแพร่ เช่น ข่าวสงครามรัสเซีย-ยูเครน แทนที่จะเลือกแปลข่าวโดยอ้างอิงจากสำนักข่าวต่างประเทศที่มีความน่าเชื่อถือและมีการส่งผู้สื่อข่าวลงพื้นที่จริง กลับไปเลือกแปลเนื้อหาจากบุคคลซึ่งอ้างว่าเป็นอดีตเจ้าหน้าที่ข่าวกรองบ้าง นักวิชาการอิสระบ้าง ที่อยู่ในสื่อสังคมออนไลน์ เป็นต้น

นายธีรนัย จารุวัสตร์ อุปนายกฝ่ายสิทธิเสรีภาพและการปฏิรูปสื่อ สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย

“อันนี้เป็นข้อเสนอส่วนตัว อยากให้สื่ออย่ามองเรื่องยูเครนเป็นกีฬา หรือเป็นเรื่องความขัดแย้งระหว่าง 2 มหาอำนาจ แทนที่จะดูเรื่องผลกระทบทางเศรษฐกิจอย่างเดียว อยากจะให้ Focus (มุ่งเน้น) เรื่องมนุษยธรรม เรื่องให้เห็นความโหดร้ายของสงคราม มันไม่ใช่แค่ตัวเลขว่าเศรษฐกิจปีนี้จะโตเท่าไรหรือจะหดเท่าไร ไม่ใช่ว่าน้ำมันจะขายได้ไหม เราจะมีนักท่องเที่ยวมามาก-น้อยแค่ไหน อยากให้เน้นเรื่องนี้ว่าประชาชนที่เขาเจอผลกระทบสงครามเขาอยู่กันลำบากอย่างไร มันโหดร้ายอย่างไร มีการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างไร 

ให้ประชาชนที่ผมรู้สึกว่าไม่ว่าจะเป็นชนชาติไหน พอมาเห็นเรื่องราวสิ่งที่มนุษย์ด้วยกันโดนกระทำ อันนี้มันจะเป็นอารมณ์ร่วม แล้วสุดท้ายก็อาจเป็นชื่อหัวข้อของงานนี้ Truth and Peace (ความจริงและสันติภาพ) สื่อจะนำเสนอข้อเท็จจริงเรื่องสงคราม สิ่งที่ประชาชนเจอจริงๆ ในยูเครน สุดท้ายมันทำให้คนเห็นสงครามว่ามันไม่ใช่กีฬา มันไม่ใช่การแสดงแสนยานุภาพ โห!..มิสไซล์ยิงจากเรือดำน้ำ ดูตื่นเต้น มันเป็นเรื่องชีวิตคนจริงๆ สุดท้ายอาจจะทำให้คนหันมาสนใจสันติภาพมากขึ้นก็ได้” นายธีรนัย กล่าว

นายกวี จงกิจถาวร กรรมการสภาการสื่อมวลชนแห่งชาติ

นายกวี จงกิจถาวร กรรมการสภาการสื่อมวลชนแห่งชาติ กล่าวว่า นับตั้งแต่การประชุมที่ประเทศนามิเบีย เมื่อ 30 ปีก่อน ซึ่งเป็นที่มาของวันเสรีภาพสื่อมวลชนโลกโดยยูเนสโก ปัจจุบันก็ยิ่งมีการพูดถึงกันมากว่า ยิ่งสื่อสังคมออนไลน์มีบทบาทกับสงครามข่าวสารมากขึ้นเท่าใด ยิ่งมีความจำเป็นในการรักษาชีวิตคนทำสื่อแบบดั้งเดิมมากเท่านั้น เพราะคนเหล่านี้ยังตรวจสอบข้อมูลข่าวสาร ไม่ได้อาศัยแต่ความรวดเร็ว 

แต่ท่ามกลางการแข่งขันบนพื้นที่ออนไลน์ ก็จะพบเห็นบรรดาผู้ใช้สื่อสังคมออนไลน์ หันมาตรวจสอบข้อมูลข่าวสารกันมากขึ้นด้วย โดยเฉพาะในเหตุการณ์สงครามรัสเซีย-ยูเครน ที่มีการต่อสู้กันทุกรูปแบบและแทบจะทุกวินาทีอย่างที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน จากขีดความสามารถของทั้ง 2 ชาติที่ไม่ด้อยไปกว่ากัน จึงเป็นความท้าทายของสื่อมวลชนไทย ซึ่งสังคมไทยเปิดรับสื่อทุกชนิดแต่ไม่มีการคัดกรอง หน้าที่ของสื่อจึงไม่ควรรีบด่วนตัดสินใจจากข้อมูลที่ได้มาในทันที

ส่วนประเด็นวารสารศาสตร์เพื่อสันติภาพ แม้จะมีการพูดถึงกันมา 20-30 ปีแล้ว แต่ในบริบทของประเทศไทยยังไม่เคยปรากฏ เพราะเป็นเรื่องพูดง่ายแต่ทำยาก ซึ่งตัวอย่างจากสถานการณ์ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ไม่ว่าจะเป็นข้อมูลจากฝ่ายรัฐ จากภาคประชาสังคม (NGO) จากพื้นที่ จากส่วนกลาง และอื่นๆ เป็นสิ่งที่ผู้นำเสนอข่าวต้องรับผิดชอบหากนำเสนอโดยไม่ผ่านการตรวจสอบ หรือผู้สื่อข่าวบางคนเข้าใจว่าตรวจสอบแล้วจากหลายแหล่ง แต่เอาเข้าจริงหลายแหล่งที่ว่าก็มาจากต้นตอที่ผิดซึ่งเป็นแหล่งข่าวเดียวกัน ในพื้นที่ชายแดนใต้จะพบเรื่องแบบนี้เสมอ

ดังนั้นสิ่งสำคัญคือต้องให้ความรู้กับคนเป็นผู้สื่อข่าว ซึ่งหมายถึงการปฏิรูปหลักสูตรการเรียนการสอนในมหาวิทยาลัย รวมถึงต้องให้เวลาผู้สื่อข่าวทำความเข้าใจกับภูมิหลังของแต่ละเรื่องราวที่ตนเองต้องไปทำข่าว เช่น ปัญหาในพื้นที่ชายแดนภาคใต้ ความเปลี่ยนแปลงทางภูมิอากาศ (Climate Change) โครงการรถไฟความเร็วสูงจีน-ลาว ฯลฯ ไม่ใช่สั่งงานให้นักข่าวหนึ่งคนต้องทำข่าวได้ทุกเรื่อง ประเภทวันหนึ่งวิ่งวนไปทั้งกระทรวงการคลัง รัฐสภา ทำเนียบรัฐบาล ฯลฯ กองบรรณาธิการก็ต้องเปลี่ยนวิธีคิดด้วย 

“Peace Journalism เกิดขึ้นไมได้เพราะบรรณาธิการข่าวคิดอย่างเดียวว่าพรุ่งนี้จะต้องเอาข่าว Dramatic (ดรามา-เร้าอารมณ์) ขึ้นก่อน ตามจริงแล้วที่ยูเนสโกเขามีการวางแผน บังเอิญผมเข้าไปมีส่วนร่วมด้วย เขาบอกว่าจำเป็นที่จะต้องให้ความรู้นักข่าว 4 ปี ไม่ใช่เกี่ยวกับข่าว Investigative Report (การรายงานเชิงสืบสวนสอบสวน) ให้ข่าวความรู้ General Knowledge (ความรู้ทั่วไป) Liberal Arts (ศิลปศาสตร์) 

ความสำคัญของวัฒนธรรม ความสำค้ญของประวัติศาสตร์ เพื่อที่นักข่าวจะได้มีความรอบรู้ที่ครบถ้วน เวลาเขาไปถึงที่สถานการณ์จะได้เข้าใจบริบทต่างๆ รู้มิติทางด้านสังคม วัฒนธรรม ประวัติศาสตร์ แล้วก็ชาวบ้าน แล้วก็ค่อยมาประมวล ไม่ใช่ส่งมาจากหน่วยกลางปุ๊บ เข้าไปถึงเขียนใหญ่เลย” กรรมการสภาการสื่อมวลชนแห่งชาติ กล่าว

-/-/-/-/-/-/-/-/-/-/-