ติดเชื้อเอชไอวี = ผอมซูบ ผิวคล้ำ?

ผู้ที่ติดเชื้อเอชไอวีจำเป็นต้องเป็นคนผอมซูบหรือผิวคล้ำหรือไม่?

หลายคนอาจจะเคยมีภาพจำของผู้ที่อยู่ร่วมกับเชื้อเอชไอวีว่าอาจจะมีลักษณะที่ผอมซูบ ผิวคล้ำ บางรายมีตุ่มพุพองตามตัว หรือแม้กระทั่งนอนติดเตียง จนนำไปพูดเมื่อเจอเพื่อนที่มีลักษณะผอมซูบ หรือผิวคล้ำว่าอาจจะเป็นโรคเอดส์รึเปล่า? แต่แท้ที่จริงแล้วผู้ที่อยู่ร่วมกับเอชไอวีจำเป็นต้องมีลักษณะนี้ไหม แล้วระยะเวลาของอาการที่ทำให้เป็นแบบนั้นต้องใช้มากน้อยแค่ไหน กว่าจะเป็นแบบที่ทุกคนเห็น บทความนี้มีคำตอบมาให้อานกัน

สำหรับภาพลักษณ์ที่ว่าผู้ติดเชื้อเอชไอวีต้องผอมซูบ นอนติดเตียง ผิวคล้ำ และมีตุ่มพอง เป็นความเข้าใจที่ไม่ถูกต้องเลย ในปัจจุบันผู้ติดเชื้อเอชไอวีที่ได้รับการวินิจฉัยและรักษาอย่างเหมาะสมด้วยยาต้านไวรัส สามารถมีชีวิตที่ปกติและสุขภาพดีได้ และในการรักษาด้วยยาต้านนั้นสามารถช่วยควบคุมปริมาณไวรัสในร่างกาย ลดความเสี่ยงต่อการเกิดโรคแทรกซ้อน และป้องกันการพัฒนาไปสู่ระยะเอดส์ ซึ่งอาการที่กลายเป็นภาพจำในอดีตนั้น มักเกิดขึ้นในผู้ป่วยที่ไม่ได้รับการรักษาหรือได้รับการรักษาไม่ต่อเนื่อง ทำให้ระบบภูมิคุ้มกันถูกทำลายอย่างรุนแรง 

แล้วถ้าถามว่าทำไมถึงเกิดภาพจำแบบนั้นขึ้น แท้ที่จริงแล้วเกิดจากหลายปัจจัย อันประกอบไปด้วย 

  • การรับรู้ในอดีต : ในช่วงแรกของการระบาดของเอชไอวี/เอดส์ ผู้ป่วยมักแสดงอาการรุนแรง เนื่องจากยังไม่มีการรักษาที่มีประสิทธิภาพ ทำให้สังคมจดจำภาพลักษณ์ของผู้ป่วยในลักษณะดังกล่าว
  • การนำเสนอของสื่อ : สื่อมวลชนในอดีตมักนำเสนอภาพผู้ป่วยเอชไอวี/เอดส์ในสภาพที่รุนแรง เพื่อสร้างความตระหนักรู้ แต่กลับส่งผลให้เกิดการตีตราและความเข้าใจผิดเกี่ยวกับผู้ติดเชื้อ
  • การขาดความรู้และความเข้าใจ : ประชาชนทั่วไปอาจขาดข้อมูลที่ถูกต้องเกี่ยวกับเอชไอวี/เอดส์ ทำให้เกิดความกลัวและอคติ ส่งผลให้ภาพลักษณ์เชิงลบถูกส่งต่อในสังคม

แต่ในปัจจุบันด้วยความก้าวหน้าทางการแพทย์ ผู้ติดเชื้อเอชไอวีที่ได้รับการรักษาอย่างเหมาะสมสามารถมีชีวิตที่ปกติและสุขภาพดีได้ การให้ความรู้ที่ถูกต้องและการนำเสนอภาพลักษณ์เชิงบวกของผู้ติดเชื้อในสื่อ สามารถช่วยลดการตีตราและความเข้าใจผิดในสังคมได้ ดังนั้น สำหรับผู้ที่ยังไม่พบเชื้อเอชไอวีนั้น การตรวจหาเชื้อเอชไอวีแต่เนิ่น ๆ และการรับประทานยาต้านไวรัสอย่างสม่ำเสมอหลังจากที่พบเชื้อเอชไอวีนั้น เป็นสิ่งสำคัญในการรักษาสุขภาพและคุณภาพชีวิตของเราได้

อย่างไรก็ดี อาการผอมซูบ ผิวคล้ำ และนอนติดเตียงในผู้ป่วยเอดส์มักเกิดขึ้นเมื่อการติดเชื้อเอชไอวีพัฒนาเข้าสู่ระยะสุดท้ายหรือระยะเอดส์ หากไม่ได้รับการรักษา ซึ่งการติดเชื้อเอชไอวีอาจใช้เวลาประมาณ 10 ปีในการพัฒนาไปสู่ระยะเอดส์ อย่างไรก็ตาม ระยะเวลานี้อาจแตกต่างกันไปขึ้นอยู่กับปัจจัยต่าง ๆ เช่น สุขภาพทั่วไปของผู้ป่วยและการติดเชื้อร่วมอื่น ๆ การรับประทานยาต้านไวรัสอย่างสม่ำเสมอสามารถชะลอการพัฒนาไปสู่ระยะเอดส์และลดความเสี่ยงต่อการเกิดอาการรุนแรงเหล่านี้ได้นั่นเอง


แหล่งอ้างอิง

  • ศูนย์วิจัยและสนับสนุนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
  • โรงพยาบาลเมดพาร์ค
  • คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล