‘เลือกตั้ง 2566’ สื่อพยายามทำหน้าที่เป็นกลาง-สร้างความโปร่งใส แต่คำถามใหญ่อยู่ที่บทบาทของ ‘กกต.’

Editors’ Picks

10 พ.ค. 2566 สภาการสื่อมวลชนแห่งชาติ ร่วมกับ สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย และ โคแฟค (ประเทศไทย) จัดงานเสวนา Media Forum #19 ในวาระวันเสรีภาพสื่อมวลชนโลก (World Press Freedom Day) หัวข้อ “โค้งสุดท้าย สื่อกับการเลือกตั้ง ปี 66 : แนวปฏิบัติ vs ความเป็นจริง” โดยเป็นการจัดงานในรูปแบบออนไลน์ผ่านโปรแกรม Zoom ถ่ายทอดผ่านเพจเฟซบุ๊ก Cofact โคแฟค, สภาการสื่อมวลชนแห่งชาติ ,สภาองค์กรของผู้บริโภค และ Ubon Connect 

ชวรงค์ ลิมป์ปัทมปาณี ประธานสภาการสื่อมวลชนแห่งชาติ กล่าวเปิดงาน ระบุว่า สภาการสื่อมวลชนแห่งชาติ ได้ประกาศใช้แนวปฏิบัติเรื่องการนำเสนอข่าว ภาพข่าวการเมืองและการเลือกตั้ง เมื่อวันที่ 11 เม.ย. 2566 ที่ผ่านมา  ทั้งที่คิดทำตั้งแต่ช่วงยุบสภา แต่กระบวนการยกร่างใช้เวลา เพราะต้องรับฟังความคิดเห็นจากทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง โดยสาระสำคัญจะเน้นที่การนำเสนอข่าวต้องครบถ้วนรอบด้าน ทั้งนี้คณะกรรมการสภาการสื่อมวลชนแห่งชาติ มีความกังวลกับการที่สื่อนำเสนอเนื้อหาจากสื่อสังคมออนไลน์ซึ่งผู้สมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) และพรรคการเมืองใช้ในการหาเสียงเลือกตั้ง ว่าสื่อได้มีการตรวจสอบเนื้อหามาก-น้อยเพียงใด ทั้งยังมีประเด็นการทำหน้าที่ของสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ที่ถูกวิพากษ์จารณ์อย่างมากทั้งในส่วนที่มีหลักฐานชัดเจนและที่อาจจะกล่าวหาจนเกินจริง ซึ่งสื่อก็ต้องติดตามตรวจสอบเช่นกัน รวมทั้งการจัดเวทีประชันวิสัยทัศน์ (ดีเบต) ของตัวแทนจากแต่ละพรรคการเมือง ซึ่งมีหลายเวทีและประชาชนยังสามารถเข้าไปรับชมย้อนหลังได้ ไปจนถึงการสำรวจความคิดเห็น (โพล) โดยรวมค่อนข้างทำได้ดี แม้หลายโพลจะไม่ได้ทำตามหลักสถิติ เช่น สำรวจผ่านกลุ่มไลน์ แต่ผู้จัดทำโพลก็ พยายามอธิบายวิธีการทำโพลและความน่าเชื่อถือ ไม่ได้นำเสนอแต่ผลอย่างเดียวจนอาจบิดเบือนไปจากที่ควรจะเป็นเพราะไม่ได้ทำแบบวิทยาศาสตร์

“วันนี้ที่เชิญแต่ละท่านมา อยากเชิญมาช่วยตรวจการบ้านว่าที่เราทำแนวปฏิบัติออกไป สื่อพี่น้องของเราทั้งที่เป็นและไม่เป็นสมาชิกสภาการสื่อมวลชนแห่งชาติ ได้ปฏิบัติตามแนวปฏิบัตินี้หรือไม่-อย่างไร อันนี้เป็นวัตถุประสงค์หลักที่อยากจะรับฟัง แล้วส่วนอื่น ๆ ก็อยากจะฟังความคิดเห็นของท่านทั้งหลาย อาจจะช่วยวิเคราะห์-วิจารณ์การทำหน้าที่ของสื่อ เพื่อส่งเสียงสะท้อนไปยังพี่น้องสื่อของเราให้ทำหน้าที่ของตัวเองในฐานะสื่อมวลชนอย่างเต็มที่ เพื่อให้การเลือกตั้งเป็นไปอย่างบริสุทธิ์ ยุติธรรม โปร่งใส ตรวจสอบได้” ประธานสภาการสื่อมวลชนแห่งชาติ กล่าว

ผศ.ดร.ประกายกาวิล ศรีจินดา วิทยาลัยนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา เลขานุการคณะยกร่างแนวปฏิบัติสภาการสื่อมวลชนแห่งชาติ เรื่องการนำเสนอข่าว ภาพข่าวการเมืองและการเลือกตั้ง กล่าวว่า ที่ผ่านมาตั้งแต่มีการเลือกตั้ง องค์กรวิชาชีพสื่อ ยังไม่เคยมีแนวปฏิบัติเรื่องการรายงานข่าวเรื่องนี้มาก่อน ในขณะที่ สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) มีแนวปฏิบัติเรื่องเดียวกันออกมาอาจด้วยเหตุที่ใกล้ถึงวันเลือกตั้ง 

ทั้งนี้สภาการสื่อมวลชนแห่งชาติ เห็นว่า แนวปฏิบัติทีเกิดจากการกำกับดูแลกันเองขององค์กรวิชาชีพ น่าจะมีความชัดเจนและสามารถนำไปใช้ได้ดีกว่าการกำกับดูแลร่วม อีกทั้งปัจจุบันสื่อมีรูปแบบหลากหลายและควบคุมได้ยาก การมีแนวปฏิบัติที่ชัดเจนไปในทางเดียวกันก็น่าจะทำให้สถานการณ์ดีขึ้น จึงอยากให้สื่อมวลชนร่วมกันใช้แนวปฏิบัตินี้ ที่ร่างโดยผู้เชี่ยวชาญทั้งผู้ประกอบวิชาชีพสื่อและนักวิชาการจากภายนอก แบ่งเป็น 2 ส่วน คือส่วนที่ควรทำและส่วนที่ต้องทำ 

“ใน 2 ประเด็นนี้ ไม่ว่าจะเป็นประเด็นที่ควรนำเสนอ หรือประเด็นที่ต้องนำเสนอก็ตาม อย่างเช่นการนำเสนอหรือเผยแพร่โพล หรือนำเสนอข้อมูลอย่างที่ผ่านมา อาจจะนำเสนอแค่ผล จำนวนอาจจะไม่ครบถ้วนตามหลักวิชาการ เช่น ไม่ได้บอกว่าข้อมูลการสำรวจมีความน่าเชื่อถือ หรืออ้างแหล่งข้อมูลของประชากร แต่การรายงานการสำรวจทุกครั้งควรจะชัดเจน เพื่อให้ผู้เห็นผลรู้ว่ามาจากแหล่งประชากรที่หลากหลายหรือน่าเชื่อถือเพียงพอหรือไม่” ผศ.ดร.ประกายกาวิล กล่าว

อดิศักดิ์ ลิมปรุ่งพัฒนกิจ ที่ปรึกษาพิเศษ บริษัท เนชั่น (ไทยแลนด์) จำกัด มหาชน กล่าวว่า ย้อนไปในการเลือกตั้ง ส.ส. เมื่อปี 2562 ในครั้งนั้น กกต. มีความร่วมมืออย่างหลวมๆ กับสื่อมวลชน โดยบทบาทหลักอยู่ที่ กกต. ในขณะที่สื่อแทบจะทำเพียงรับทราบเท่านั้น ซึ่งก็เป็นอย่างที่ทราบกันว่าเป็นฝันร้ายทั้งของสื่อและสังคม ทำให้ผลคะแนนเลือกตั้งที่ออกมาขาดความน่าเชื่อถือ ส่วนการเลือกตั้งในปี 2566 กกต. ประกาศแต่แรกแล้วว่าไม่ทำแอปพลิเคชั่น แต่ก็มีระบบรวบรวมคะแนนเป็นการภายใน และจะประกาศผลภายใน 5 วัน 

ซึ่งก็มีคำถามว่าระหว่าง 5 วันนั้นจะเกิดอะไรขึ้นบ้าง ในขณะที่การเลือกตั้งครั้งก่อนๆ สื่อมีการรวมตัวกันเป็นเครือข่ายเพื่อรายงานผลเลือกตั้งแบบ Real Time กันอยู่แล้วตั้งแต่ยุคที่ยังไม่มีโทรทัศน์ระบบดิจิทัล โดยได้รับการสนับสนุนจากภาคเอกชน เช่น สถาบันการเงิน บริษัทด้านโทรคมนาคม กระทั่งล่าสุดในการเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) มีการพัฒนาแอปพลิเคชั่นสำหรับรายงานคะแนนแบบ Real Time ขึ้นมา โดยผู้ใช้งานสามารถกดบันทึกคะแนนได้ทันทีที่ผู้นับคะแนนประจำหน่วยเลือกตั้งขานคะแนนจากบัตรเลือกตั้ง

จากการทดลองใช้กับการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. รวมถึงการเลือกตั้งสมาชิกสภา กทม. ในวันเดียวกัน พบว่า ไม่มีปัญหาระบบล่ม และไม่กี่ชั่วโมงก็พอจะทราบผลอย่างไม่เป็นทางการแล้ว แต่ความท้าทายอยู่ที่การเลือกตั้ง ส.ส. มีความใหญ่กว่าในแง่ของจำนวนหน่วยเลือกตั้ง โดยในการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. นั้นมีอาสาสมัครช่วยบันทึกคะแนนจำนวน 2,500 คน จาก 8,000 หน่วยเลือกตั้ง เฉลี่ย 3-4 หน่วยต่ออาสาสมัคร 1 คน แต่เอาเข้าจริงก็มีอาสาสมัครได้เพียงครึ่งหนึ่งจากที่ต้องการเท่านั้น ขณะที่การเลือกตั้ง ส.ส. จะมีหน่วยเลือกตั้งมากถึง 95,000 หน่วย

“กกต. ชุดนี้ทั้ง 6 ท่าน สื่อไม่ทราบเลยว่าแบ่งหน้าที่อย่างไรกัน เวลาติดต่อก็ไม่รู้จะถามใคร แล้วผมคิดว่า กกต. ยุคนี้สื่อเข้าถึงข้อมูลได้น้อยมาก ยกเว้นว่า กกต. จะเปิดให้ ถึงจะได้ สื่อพยายามถามทุกปัญหา แต่ยากที่จะได้ถามได้พบได้เห็นหน้า กกต. ทั้ง 6 คน ยกเว้นเห็นรูปข่าวกรณีไปทัวร์ต่างประเทศ นอกนั้นไม่เคยเจอ จะเจอท่านประธานอิทธิพร (บุญประคอง) ออกมาเป็นครั้งๆ บ้าง” อดิศักดิ์ กล่าว

ยิ่งชีพ อัชฌานนท์ ผู้อำนวยการบริหาร โครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน (iLaw) เปิดเผยว่า ปัจจุบันมีผู้ขอร่วมเป็นอาสาสมัครสังเกตการณ์การเลือกตั้งแล้วกว่า 2 หมื่นคน ซึ่งมองในอีกมุมหนึ่ง หากบ้านเมืองเป็นปกติ กกต. ตั้งใจทำงาน ก็คงไม่ต้องมีภาคส่วนอื่นๆ ไม่ว่า iLaw , Vote62 หรืออะไรก็แล้วแต่ ต้องระดมกำลังกันเพื่ออุดช่องโหว่ปัญหาที่เกิดขึ้น และต้องย้ำว่า การเลือกตั้งในปี 2566 ยังอยู่ภายใต้โครงสร้างที่ไม่ปกติ 3 ประการ คือ 

1.ระบบเลือกตั้งเปลี่ยนไป-มาถึง 5 ครั้ง เรียกว่ากว่าจะมีกฎหมายเลือกตั้งต้องรอถึงวันที่ 28 ม.ค. 2566 และกว่าจะได้มาก็เกิดปัญหาการประชุมสภาล่มอยู่หลายครั้ง การแบ่งเขตเลือกตั้งก็ต้องทำใหม่ถึง 3 รอบ กว่าจะเรียบร้อยก็เป็นวันที่ 17 มี.ค. 2566 หรือไม่ถึง 2 เดือนก่อนถึงวันเลือกตั้ง จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่ทั้งพรรคการเมือง ผู้สมัครรับเลือกตั้ง และ กกต. จะเตรียมตัวกันไม่ทัน 

2.ยังเป็นโครงสร้างที่เกี่ยวเนื่องกับรัฐบาลทหารคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เพราะคณะกรรมการในองค์กรอิสระ เช่น กกต. ศาลรัฐธรรมนูญ เป็นบุคคลที่ คสช. เลือกมา จึงต้องจับตาในประเด็นการตีความว่าอะไรทำได้-ไม่ได้ และ 

3.การจัดตั้งรัฐบาลหลังเลือกตั้งก็ไม่ง่าย เพราะการเลือกนายกรัฐมนตรีต้องอาศัยเสียงสมาชิกวุฒิสภา (สว.) อีก 250 คน นอกจากนั้นยังมีการต่อรองหลังม่านที่ประชาชนผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งมองไม่เห็นและไม่มีส่วนร่วม ดังนั้นอาจมีเงื่อนไขพิเศษที่ไม่ได้เขียนในกฎหมายและไม่ได้ประกาศก่อนการเลือกตั้งเข้ามาเกี่ยวข้อง

ขณะที่ระบบการนับคะแนนของ กกต. ในครั้งนี้ จะให้เจ้าหน้าที่ประจำหน่วยนับคะแนนให้เสร็จแล้วเขียนลงในใบสรุปผลคะแนนที่เรียกว่าใบ ส.ส.5/18 เป็นกระดาษ A4 1 แผ่น แล้วคนที่หน่วยไม่ต้องกรอกหรือส่งคะแนน แต่ให้นำเอกสารดังกล่าวไปส่งที่สำนักงาน กกต. เขต แล้วจะมีคนกลุ่มเล็กๆ ในสำนักงาน กกต. เขต กรอกข้อมูลเข้าระบบ Google Drive เพื่อแชร์ต่อให้สื่อมวลชน ตั้งแต่เวลา 18.30-23.00 น. ซึ่งมีข้อดีและข้อเสียงอย่างละ 3 ประการ

“ข้อดี 3 ประการ 1. ลดจำนวนคนทำหน้าที่กรอก จึงลดโอกาสเสี่ยงผิดพลาด 2. จะใช้ Google Drive อย่างน้อยก็น่าจะอ้างระบบล่มไม่ได้ หวังว่าคงไม่มีใครแฮ็ก Google Drive 3.มีการเขียนในระเบียบว่าหลังจากเลือกตั้ง 5 วันจะเปิดเผยเอกสารส.ส.5/18 ที่เป็นคะแนนทุกหน่วยขึ้นเว็บไซต์

 ส่วนข้อเสีย 3 ข้อ 1. เนื่องจากคนกรอกมีจำนวนลดลง ดังนั้นโอกาสทุจริตก็ง่ายขึ้น เพราะจำนวนคนน้อยและไม่รู้ว่าคนเหล่านั้นหน้าตาเป็นอย่างไร 2.กกต. แจ้งแล้วว่าในการรายงานผลตั้งแต่ 18.30-23.00 น. ไม่รายงานบัตรเสียและบัตรไม่ประสงค์ลงคะแนน  ไม่มีเหตุผลอธิบาย และเข้าใจไม่ได้ว่าอีก 2 ช่องทำไมไม่กรอกลงไป 3.กกต. ยืนยันว่าจะรายงานผลคะแนนในคืนวันเลือกตั้งแค่ 94% ส่วนอีก 6% คือประมาณ 2 ล้าน จะเก็บไว้ก่อนแล้วก็ไม่บอกว่าเมื่อไรจะบอก ดังนั้นจึงไม่มีทางเลือกนอกจากประชาชนทุกคนจะต้องช่วยกันออกไปดูการนับคะแนนหน้าหน่วย”  ยิ่งชีพ กล่าว 

ศ.ดร.สิริพรรณ นกสวน สวัสดี คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า สิ่งที่แตกต่างระหว่างการเลือกตั้งปี 2562 กับปี 2566 คือในการเลือกตั้งปี 2562 ขั้วการเมืองทั้ง 2 ฝ่ายมีจำนวนผู้สนับสนุนใกล้เคียงกันวัดจากผลคะแนนเลือกตั้งที่ออกมา แต่การเลือกตั้งปี 2566 กระแสชี้ว่าประชาชนมีแนวโน้มไม่สนับสนุนขั้วการเมืองที่เป็นรัฐบาลปัจจุบันอย่างเห็นได้ชัด นั่นทำให้ดูเหมือนสื่อมวลชนจะขยับไปทางพรรคการเมืองที่เป็นฝ่ายค้านในปัจจุบันมากขึ้น แม้สื่อจะพยายามทำหน้าที่อย่างเป็นกลางด้วยการให้พื้นที่กับพรรคการเมืองทุกขั้วก็ตาม

โดยข้อสังเกตจากการเลือกตั้งปี 2566 มี 4 เรื่อง คือ 1.มีการจัดเวทีดีเบตมากที่สุดในประวัติศาสตร์ เนื่องจากสื่อต้องแข่งขันชิงเรตติ้ง ข้อดีคือกระตุ้นการมีส่วนร่วมอีกทั้งหากพลาดช่วงออกอากาศสดก็ยังรับชมย้อนหลังได้ แต่ประเด็นชวนคิดคืออะไรเป็นโจทย์ของการดีเบต สื่ออาจไม่ได้ตั้งคำถามว่าอะไรคือเป้าหมายที่ต้องการ ระหว่างการให้ความรู้และข้อมูลกับประชาชนในแง่นโยบายกับการกระตุ้นความสนใจด้วยเรตติ้งถึงขนาดที่บางสื่อทำเหมือนเกมโชว์หรือตั้งคำถามก่อดราม่า

2.การทำโพล ในอดีตโพลมักมาจากมหาวิทยาลัย แต่การเลือกตั้งครั้งนี้มีโพลมาจากสื่อหลายสำนัก ซึ่งไม่ใช่เรื่องผิดที่สื่อจะทำโพล และทุกสำนักก็ให้ความจริงใจในการเปิดเผยว่ากลุ่มตัวอย่างเป็นอย่างไรบ้าง แต่ข้อสังเกตคือการนำผลโพลไปเสนอข่าว การพาดหัวซึ่งไม่แน่ใจว่าเป็นความตั้งใจหรือรู้เท่าไม่ถึงการณ์ ได้กลายเป็นการชูบางพรรคมากเกินไป ซึ่งทั้งสื่อและโพลมีผลโน้มน้าวการตัดสินใจของประชาชนได้ จึงอยากให้ใช้ความระมัดระวัง

3.ความเป็นกลาง เห็นได้ชัดว่าสื่อมีความพยายามอย่างมาก ทั้งการไม่ค่อยพบการสาดโคลนใส่กัน แต่มีการเปิดพื้นที่ให้มาก ซึ่งบางครั้งก็ทราบว่าบางพรรคได้พื้นที่น้อยเพราะไม่ส่งตัวแทนมาร่วมเวทีดีเบต แต่อีกมุมหนึ่งกับการที่สื่อขยับตามกระแสสังคมที่หันไปเชียร์พรรคฝ่ายค้าน ก็ทำให้สามารถมองเห็นการนำเสนอไปในทางนั้น หากตรงกับใจเราก็อาจไม่ได้คิดมาก แต่สิ่งเหล่านี้ก็ต้องทบทวน เห็นจากบางเวทีของสื่อบางสำนัก รู้ได้เลยว่าผู้สมัครจากบางพรรครู้สึกอึดอัด และทราบว่ามีบางพรรคปฏิเสธไปร่วมรายการจากเหตุเพราะพิธีกรผู้ดำเนินรายการ 

ทั้งนี้ โดยส่วนตัวเชื่อว่าสื่อไม่จำเป็นต้องเป็นกลาง สื่อมีสิทธิ์เลือกเชียร์ได้แต่ต้องชัดเจน แต่ที่เห็นคือสื่อพยายามให้พื้นที่พรรคการเมืองเท่ากันซึ่งก็เป็นสิ่งที่ชื่นชม และคิดว่า ณ วันนี้สื่อไทยพัฒนาขึ้นไปเยอะมาก และ

 4.อยากเห็นสื่อนำเสนอข้อมูลเชิงลึกให้มากขึ้น เช่น ข้อวิพากษ์วิจารณ์ประสิทธิภาพและความจริงใจในการทำงานของ กกต. หรือเหตุใดการเข้าถึงกรรมการ กกต. ทั้ง 6 ท่านจึงยากมาก โดยปัจจุบันเมื่อพูดถึง กกต. จะเห็นแต่ แสวง บุญมี เลขาธิการ กกต. เสียมากกว่า

“เราเห็นข่าวคุณชูวิทย์ (กมลวิศิษฎ์) ซึ่งก็ไม่รู้จะทำหน้าที่เป็นสื่อหรือเป็นอะไร ออกมาเปิดโปงเรื่องการขนคนสูงอายุออกมาเลือกตั้งล่วงหน้าในบางพื้นที่ ซึ่งจริงๆ เป็นคนติดพื้นที่อยู่ ทำไมต้องเลือกตั้งล่วงหน้า แต่เราไม่เห็นการสานต่อของการทำข่าวแบบนี้ อันนี้เป็นตัวอย่างที่อยากเห็น แต่ก็ไม่แน่ใจว่าขอมากไปหรือเปล่าเพราะสื่อก็ทำหน้าที่เยอะแล้ว” ศ.ดร.สิริพรรณ กล่าว

ในช่วงท้าย สุภิญญา กลางณรงค์ ผู้ร่วมก่อตั้งโคแฟค (ประเทศไทย) และประธานคณะทำงานคุ้มครองผู้บริโภคสื่อ กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ สภาการสื่อมวลชนแห่งชาติ กล่าวปิดการเสวนา ว่า การเลือกตั้งทุกครั้งมีมิติใหม่ๆ เกิดขึ้น อย่างครั้งนี้คือบทบาทของสื่อสังคมออนไลน์ที่มากขึ้นเมื่อเทียบกับเมื่อปี 2562 และแม้วงเสวนาวันนี้จะเน้นจับตาบทบาทของสื่อมืออาชีพ แต่ตัวแปรสำคัญอยู่ที่สื่อสังคมออนไลน์ อย่างล่าสุดมีสงครามเรื่องเล่าผ่านคลิปวีดีโอในยูทูบ หรือในฟิลิปปินส์ที่คลิปวีดีโอในติ๊กต๊อกมีผลกับการแพ้-ชนะการเลือกตั้ง เรื่องนี้เป็นปรากฏการณ์ที่ต้องดูกันต่อไป

“ในมหาสมุทรของข้อมูลข่าวสาร มันมีเยอะแยะไปหมด สังคมก็คาดหวังสื่อที่ตัวเองเชื่อถือได้ สื่อมืออาชีพ หรือเราจะเรียกว่าสื่อเดิมหรือสื่อหลักในการที่จะกลั่นกรอง ปัญหาข้อมูลลวงอันนี้คือเกิดขึ้นเยอะมาก แล้วอาจมีผลต่อการตัดสินใจเลือกตั้งได้เหมือนกัน แต่สื่ออาจจะรู้สึกว่าคนก็รู้อยู่แล้วว่ามันไม่จริง แต่จริงๆ มันก็ลำบากเหมือนกันเพราะว่าเขาก็อาจจะนำเสนอกันในแต่ละแพลตฟอร์ม เวทีวันนี้อาจจะไม่ได้เน้นที่สื่ออย่างเดียว เน้นที่การตรวจสอบ กกต. ไปด้วย ก็ต้องขอบคุณทุกท่านที่ช่วยเปิดมุมมองและสะท้อนแนวคิด” สุภิญญา กล่าว

-/-/-/-/-/-/-/-/-/-/-