วงเสวนา ‘Deepfake-Cheapfake’ แนะวิธีป้องกันการถูกหลอก-หวังเป็นสำนึกร่วมของสังคม
เมื่อเร็วๆ นี้ เภาคีโคแฟค (ประเทศไทย) ร่วมกับ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กรุงเทพมหานคร (กทม.) และองค์กรที่เกี่ยวข้องต่าง ๆ เปิดวงเสวนา “จาก ‘ชีพเฟค’ ถึง ‘ดีพเฟค’ การตรวจสอบรู้เท่าทันยังเพียงพอหรือไม่” ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของงานสัมมนาระดับชาติเนื่องในวันตรวจสอบข่าวลวงโลก 2567 (International Fact-Checking Day 2024) ภายใต้ธีมงาน “Cheapfakes สู่ Deepfakes: เตรียมรับมืออย่างไรให้เท่าทัน” ณ หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร พร้อมถ่ายทอดผ่านเพจเฟซบุ๊ก “Cofact โคแฟค” และช่องยูทูบ “Thai PBS”
ภิญโญ ตรีเพชราภรณ์ ผู้อำนวยการฝ่ายบริหารความเสี่ยงภาพรวม ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวว่า ความหมายของคำว่า ชีพเฟค (Cheapfake) ก็ตรงตามชื่อคือ การหลอกลวงด้วยวิธีง่าย ๆ และมีมาอย่างยาวนาน เช่น การตัดต่อภาพบุคคลมีชื่อเสียงเพื่อเอาไปใช้แอบอ้างว่าเป็นบุคคลนั้น หรือการตัดต่อคลิปวีดีโอแบบไม่ซับซ้อน อย่าง การทำภาพหน้าคนให้ขยับเฉพาะส่วนปากเท่านั้นจึงทำให้การสังเกตการหลอกลวงแบบชีพเฟคสามารถทำได้ง่าย เพราะจะไม่ค่อยเหมือนของจริงและใช้เพียงเทคโนโลยีพื้นฐานที่ทำขึ้นได้อย่างง่าย
ในขณะที่ ดีพเฟค (Deepfake) เป็นการใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่และต้องมีการศึกษาโดยละเอียด เช่น ปัญญาประดิษฐ์ (AI) ที่ทำให้เนื้อหาที่ผลิตออกมา ทั้งภาพ เสียง หรือคลิปวิดีโอมีความคล้ายกับของจริงหรือบุคคลนั้นมากขึ้น แต่การใช้เทคโนโลยีดีพเฟคเพื่อการหลอกลวงยังจำกัดอยู่ที่การใช้บุคคลที่มีชื่อเสียงเพื่อแอบอ้างในการสวมรอย จึงทำให้บุคคลมีชื่อเสียงที่ปรากฏตัวในสื่อบ่อย ๆ ถูกมิจฉาชีพนำไปใช้หลอกลวงได้ง่าย
“ถ้าเราเจอลักษณะนี้จะมีมุมมองในการสังเกตหรือเป้องกันได้อย่างไร? ให้เข้าใจแบบง่าย ๆ คือเทคโนโลยีมีอยู่จริง แต่ว่ามันก็ไม่ได้เหมือน 100% อันดับแรกให้ดูก่อนว่า คนที่พูดมีลักษณะการพูดอย่างไร ถึงแม้จะเป็นดีพเฟค มันก็จะมีลักษณะจุดบกพร่องให้เห็น คือ ต้องบอกว่าถ้าจะทำให้เหมือนจริง ๆ เทคโนโลยีต้องเป็นระดับองค์กรขนาดใหญ่ที่มีเทคโนโลยี Processer (ประมวลผล) ระดับสูง แต่ถ้าเป็นมิจฉาชีพอาจจะมีส่วนที่ไม่ได้เหมือนจริงบ้าง จึงควรดูเรื่องของการขยับปาก พูดคำที่ไม่ตรงกัน เป็นอย่างแรก
แต่ถ้าเราสังเกตตรงนี้ไม่ได้ เราต้องเริ่มใช้วิจารณญาณตัวเองเพิ่ม ด้วยการดูที่เนื้อหาว่าลักษณะที่เขาหลอกลวงให้เราไปลงทุนด้วยเงินไม่กี่บาทได้ผลตอบแทนจำนวนมาก มันสมเหตุสมผลหรือเปล่า? ให้ปรึกษาคนข้าง ๆ อย่าฟังข้อมูลเพียงคนเดียว ให้ชวนคนอื่นมาฟังด้วย ให้ตั้งข้อสังเกตไว้ว่า เวลาคนเขามาหลอกเรา เขาจะพยายามให้เราอยู่คนเดียว ด่านสุดท้ายในการสังเกต คือ ถ้าเราเชื่อแล้วต้องโอนเงินให้เขา จังหวะที่จะโอนเงินให้ดูชื่อบัญชีนิดหนึ่ง ถ้าชื่อบัญชีไม่ตรงกับเจ้าของหน้า ขอให้ระวังไว้เลยว่าอาจไม่ใช่ตัวจริง เพราะส่วนใหญ่โจรที่หลอกให้เราโอนเงินเพื่อไปลงทุน เขาจะใช้บัญชีม้า” ภิญโญ กล่าว
มาซาโตะ กาจิโมโต ศาสตราจารย์ประจำศูนย์วารสารศาสตร์และสื่อศึกษา มหาวิทยาลัยฮ่องกงได้เพิ่มเติมข้อน่ากังวลไว้ว่า ความก้าวหน้าทางเทคโนโยลีและการพัฒนาเทคโนโลยีที่ใช้ทุนน้อยลงทำให้เส้นแบ่งระหว่างชีพเฟคและดีพเฟคเกิดความเบลอมากขึ้นเรื่อย ๆ เช่น การเปิดเผยข้อมูลจาก OpenAI ที่ว่า ตอนนี้มีเทคโนโลยีที่สามารถใช้เสียงต้นแบบแปลงเป็นภาษาต่าง ๆ ได้
ทั้งนี้ ตามสถิติความเสียหายที่เกิดขึ้น พบว่า ปริมาณหรือจำนวนผู้เสียหาย อันดับ 1 คือ การหลอกลวงเกี่ยวกับการซื้อ-ขายสินค้าทางออนไลน์ ประเภทซื้อของแต่ไม่ได้ของ แต่หากดูจากมูลค่าความเสียหาย อันดับ 1 จะเป็นการหลอกลวงให้ลงทุน ซึ่งหากติดตามข่าวจะพบว่า ในระยะหลัง ๆ มิจฉาชีพใช้วิธีปลอมแปลงใบหน้าของผู้มีชื่อเสียง หรือการทำคลิปเสียงหรือคลิปวีดีโอที่เหมือนกับว่าคนคนนั้นเป็นผู้พูดจริง ๆ เพื่อชักชวนให้เข้าร่วมลงทุน ทำให้มีผู้หลงเชื่อที่นำไปสู่การถูกหลอกให้เสียเงินไปจำนวนมาก
เฟธ เฉิน ตัวแทนจาก APAC News Partnerships, Google News Initiative (GNI) เห็นด้วยกับสามหลักการในการตรวจสอบความเป็นดีพเฟคเบื้องต้นที่ให้พิจารณาดูลักษณะรูปภาพ, วิธีการพูด ดูเนื้อหาว่าเนื้อหาหลอกลวงไหม และดูบัญชีการเงินว่าเป็นของเจ้าตัวจริง ๆ หรือไม่ โดยสามารถใช้ประโยชน์จากทาง Google Search ในการเข้าไปสืบค้นข้อมูลหรือการส่งข้อมูลกลับให้กูเกิล เพื่อสร้างเป็นฐานความรู้ให้คนอื่น ๆ ต่อไป
ฐิตินันท์ สุทธินราพรรณ ผู้อำนวยการฝ่ายการตลาดประจำภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ บริษัท Gogolook และ Whoscall กล่าวว่า ตัวอย่างของการหลอกลวงแบบชีพเฟค เช่น มิจฉาชีพโทรศัพท์มาหลอกให้เปลี่ยนแพลตฟอร์มการติดต่อจากการโทรศัพท์พูดคุยไปเป็นแอปพลิเคชันไลน์ เพื่อให้สามารถวีดีโอคอลได้ การพูดคุยแบบวีดีโอคอลจะเห็นภาพของอีกฝ่ายเป็นตำรวจ ถึงแม้จะขยับเพียงริมฝีปาก แต่กลับทำให้มีผู้ตกเป็นเหยื่อได้จำนวนไม่น้อย
โดยมิจฉาชีพจะเล่นกับอารมณ์คนอยู่ 3 แบบ คือ 1) ความกลัว เช่น การหลอกว่าเป็นเจ้าหน้าที่รัฐ หรือหลอกว่าเป็นคนใกล้ตัวที่กำลังเดือดร้อน อาทิ อ้างเป็นลูกที่ไปเกิดอุบัติเหตุรถชนแล้วขอให้แม่โอนเงินช่วยเหลือ 2) ความโลภ ลักษณะที่เห็นได้บ่อย ๆ คือข้อความประเภท “ยินดีด้วยคุณได้รับรางวัล” คือใช้ความโลภของเรามาหลอกเรา และ 3) ความรัก คือการหลอกให้รักแล้วชักชวนให้ลงทุน (Romance Scam) ส่วน Deepfake หรือ Cheapfake เป็นเทคโนโลยีที่ถูกนำมาใช้ประโยชน์เพื่อตอบโจทย์ 3 อารมณ์ดังกล่าวที่นำไปสู่การถูกหลอกลวง ซึ่งถือว่าน่ากลัวทั้งคู่
“มิจฉาชีพสามารถเข้าไปในกูเกิลและค้นหา How to turn the image into Video (ทำอย่างไรเปลี่ยนรูปให้กลายเป็นคนพูดได้) ได้อย่างง่ายดายจึงทำให้ชีพเฟคน่ากลัวมาก เพราะสามารถนำมาใช้ได้ทุกคน ส่วนในของดีพเฟคต่อไปจะถูกพัฒนาขึ้นเรื่อย ๆ จนทำให้ทุกคนสามารถใช้ได้ อย่างที่เราเริ่มเห็นการเอามาใช้งานจริงที่ต่างประเทศเมื่อ 2 เดือนที่แล้ว
นั่นคือ การสร้างเป็นวีดีโอคอลของบริษัทหนึ่งที่ฮ่องกง โดยใช้วีดีโอคอลหลอกเป็น CFO (ผู้อำนวยการฝ่ายบัญชีและการเงิน) แล้วอนุมัติเงินออกไป 25 ล้านดอลลาร์ ในกรณีนี้จะเห็นว่า พอกลายเป็นดีพเฟค มิจฉาชีพเพียงแค่ลงทุนเพิ่มขึ้นนิดหนึ่ง แต่ผลกำไรกลับทวีมหาศาล ดังนั้นจึงเห็นได้ว่า ทั้งชีพเฟคและดีพเฟคต่างก็น่ากลัวทั้งคู่ ขึ้นอยู่กับว่ามิจฉาชีพจะใช้วิธีหลอกทีละเล็กทีละน้อย หลอกคนไปเรื่อย ๆ หรือหลอกทีหนึ่งเป็นหลอกองค์กรใหญ่เลย” ฐิตินันท์ กล่าว
จีรพงษ์ ประเสริฐพลกรัง เลขาธิการสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย กล่าวว่า การทำสื่อในปัจจุบันปรับเปลี่ยนมาทางแพลตฟอร์มออนไลน์มากขึ้น หลายคนออกจากอุตสาหกรรมสื่อไปเปิดเพจหรือเว็บไซต์ของตนเอง แต่องค์ความรู้กลับไม่ได้ตามไปด้วย ซึ่งเมื่อนักข่าวไม่มีความรู้ก็อาจส่งผลกับผู้ที่ติดตามสื่อนั้นด้วย ยกตัวอย่างที่ตนไปร่วมงานสัมมนาในเวทีหนึ่ง มีกรณีศึกษาภาพไดคัทหน้าคนร้องไห้และภาพบ้านพัง พร้อมคำบรรยาย “สิ้นเนื้อประดาตัว” และภาพนี้ทำให้นักข่าวถูกตำหนิว่าทำไมไม่ให้ความช่วยเหลือ ซึ่งแสดงให้เห็นว่า บางครั้งทั้งคนทำข่าวและคนติดตามข่าวต่างก็ไม่มีความรู้ในการรับสาร
ทั้งนี้ เพื่อขจัดปัญหาการไม่มีความรู้ในเรื่องชีพเฟคจึงทำให้วงการข่าวได้พยายามเติมความรู้ต่างๆ ในวงเล็ก ๆ ที่ไม่ได้ขยายกว้างในทันทีก่อนในช่วงแรก ส่วนดีพเฟคที่อาจยังไม่เกิดขึ้นในวงกว้างมากนักก็ได้มีการพูดคุยกันภายในองค์กรสื่อ เนื่องจากเห็นนวัตกรรม อย่าง การสร้างภาพใบหน้าและเสียงที่จำลองจากบุคคลที่มีชื่อเสียง ซึ่งหากเกิดขึ้นเป็นข่าวในช่วงที่กำลังมีสถานการณ์แหลมคมหรืออ่อนไหว ไม่ว่าจะเป็น การเมือง เศรษฐกิจ หรือสุขภาพ หากเทคโนโลยีถูกนำไปใช้โดยทำภาพและเสียงเลียนแบบผู้ประกาศข่าวสักคนหนึ่งออกมา นี่คือการส่งสัญญาณว่าผู้รับสื่อต้องมีวิจารณญาณมากขึ้น
“จากที่ไปอบรมในบางหน่วยงาน เช่น สำนักงานความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ ทำให้นักข่าวเผยแพร่เรื่องนี้ให้ประชาชนรู้ว่า เวลามิจฉาชีพโทรศัพท์ หรือไลน์มา อย่าเปิดกล้องนะ เพราะจะถูก Generate (สร้าง) หน้าเราไปได้ ยิ่งตอบโต้นาน หน้าไปด้วยเสียงไปด้วย หน้าเราจะถูกปลอมเป็นมิจฉาชีพ หรือพฤติกรรมการแชทในเฟซบุ๊ก เขา Inbox มาแล้วเราตอบ ๆ ไป มิจฉาชีพจะจำพฤติกรรมการตอบของเราเพื่อไปหลอกลวงญาติหรือเพื่อนของเราต่อ ผมมองว่า ในวงการสื่ออาจจะไม่รู้เรื่องดังกล่าวอย่างทั่วถึง หากองค์กรไหนจะมาเพิ่มพูนทักษะความรู้ให้กับนักข่าว เพื่อให้รู้ทันและบอกสังคมต่อได้จะเป็นสิ่งที่ดีมาก ” จีรพงษ์ กล่าว
จิรพร วิทยศักดิ์พันธุ์ ประธานคณะกรรมการบริหารแผนคณะที่ 8 สสส. กล่าวว่า หลายครั้งที่มีคำถามว่า “คนที่ตกเป็นเหยื่อมิจฉาชีพเชื่อในสิ่งที่มิจฉาชีพนำมาใช้หลอกลวงได้อย่างไร?” หากเป็นดีพเฟคอาจหมายถึง ความกลัว ความรักหรือความโลภ แต่หากเป็นชีพเฟค คือ เข้าได้กับทุกอย่าง ทั้งความโลภ อยากรวย หรือความอยากสวย-อยากหายป่วย หรืออะไรก็ตามที่จะช่วยทำให้ปัญหาปัจจุบันของตนเองลดลง
ดังนั้น “ไม่ว่าจะเป็นดีพเฟคหรือชีพเฟค คนก็พร้อมกระโจนเข้าไป เพราะมันตอบโจทย์ความต้องการของมนุษย์ปุถุชน” ที่ต้องการให้มีเวทมนต์ (Magic) อะไรสักอย่างหนึ่งมาทำให้ปัญหาของตนเองคลี่คลาย เช่น ป่วยแล้วไม่มีเงินหรือไม่มีเวลาไปหาหมอ แต่ไปเจอโฆษณาว่า กินสิ่งนั้นสิ่งนี้แล้วสามารถรักษาโรคภัยไข้เจ็บที่เป็นอยู่ได้ ก็จะมีคนที่คิดว่าลองดูก็ไม่เสียหายอยู่เป็นจำนวนไม่น้อย และคนจำนวนนี้ก็จะตกเป็นเหยื่อได้อย่างง่ายดาย
ทั้งนี้ สิ่งที่โคแฟคและภาคีเครือข่ายทำนั้นเป็นสิ่งที่ดีและช่วยเหลือสังคมได้มาก แต่หากมองว่า ความรู้เท่าทันสื่อเป็นความรู้และทักษะ ก็ต้องบอกว่ายังไม่เพียงพอ เพราะความรู้ที่กระจายไปต้องไปถึงคนที่อยากรู้ด้วย และเมื่อคนคนนั้นเปิดรับความรู้ก็จะกลายเป็นทักษะติดตัว แต่ถึงกระนั้นก็ไม่ได้กลายเป็นสิ่งที่ช่วยเหลือเกื้อกูลกัน อย่างครอบครัวไหนที่มีสมาชิกมีความรู้เรื่องนี้ก็อาจรอด สามารถเตือนผู้สูงอายุในบ้านได้ว่าให้รอก่อนอย่าเพิ่งตัดสินใจ ดังนั้นสิ่งที่ภาคประชาสังคมต้องช่วยกัน คือ การทำให้ความรู้และทักษะนี้กลายเป็นจิตสำนึกหรือสำนึกของพลเมือง
“อยากมองเป็น 2 ระดับ สำนึกพลเมืองในระดับแรกก็คือ สำนึกในเชิงสิทธิที่จะได้ข้อมูลที่ถูกต้อง ดังนั้นมันจะต้องเกิดกระแสที่เรียกร้องข้อมูลและข้อเท็จจริงที่ถูกต้อง แล้วก็ต้องพยายามลดข่าวลวง ข่าวปลอม โดยต้องสร้างกระแสเรียกร้อง ไม่ใช่แค่ภาครัฐ แต่ภาคที่เกี่ยวข้อง เช่น สื่อมวลชน ภาคธุรกิจ โฆษณาหลอกลวง ไม่ใช่เพียงรับรู้แล้วไม่ทำอะไร แต่ต้องสร้างให้มีสำนึกสาธารณะ ไม่ใช่แค่ปกป้องสิทธิของตัวฉัน แต่ปกป้องสิทธิของสังคม ของชุมชน ของท้องถิ่น ของประเทศชาติด้วย” จิรพร กล่าว
-/-/-/-/-/-/-/-/-/-/-