Cheapfakes VS Deepfakes: จาก “มะนาวโซดารักษามะเร็ง” สู่ “AI ปลอมเสียง“ พัฒนาการกลโกงออนไลน์ ภัยร้ายจากมิจฉาชีพ

เฝ้าระวัง ‘อย่าเพิ่งเชื่อ’ ร่วมกับภาคีโคแฟค สร้างโมเดลการรู้เท่าทันข้อมูลยุคดีฟเฟค 

ไฮไลต์

ชีปเฟก (cheapfakes) คือการหลอกลวงหรือบิดเบือนข้อมูลด้วยวิธีการง่าย ๆ ไม่ซับซ้อน เช่น ภาพตัดต่อ

• ดีปเฟก (deepfakes) คือการหลอกลวงหรือบิดเบือนข้อมูลโดยใช้เทคโนโลยีที่ซับซ้อน เช่น ใช้ AI ในการปลอมใบหน้าบุคคล ปลอมเสียง 

• ทั้งชีปเฟกและดีปเฟกยังคงสร้างความเสียหายให้เศรษฐกิจไทย โดยคนไทยถูกหลอกด้วย ชีปเฟกมากกว่าและยังถูกหลอกจากจากสายโทรเข้าและส่งข้อความหลอกลวงมากเป็นอันดับ 1 ในเอเชีย

ท่ามกลางข้อมูลข่าวสารที่ถาโถมผ่านสื่อต่าง ๆ ในปัจจุบันโดยเฉพาะโซเชียลมีเดีย “ข่าวปลอม” หรือ “ข่าวลวง” นับเป็นภัยสังคมที่ทวีความรุนแรงมากขึ้นทุกวัน ทั้งในแง่ของปริมาณ รูปแบบการนำเสนอ และความซับซ้อนของเทคโนโลยีที่ใช้ สร้างความเสียหายให้กับเศรษฐกิจและสังคมอย่างมหาศาล งาน สัมมนาระดับชาติเนื่องในโอกาสวันตรวจสอบข่าวลวงโลก 2567 (International Fact-Checking Day 2024) ภายใต้หัวข้อ “Cheapfakes สู่ Deepfakes: เตรียมรับมืออย่างไรให้เท่าทัน” โดยสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับภาคีโคแฟค ประเทศไทย และกรุงเทพมหานคร (กทม.) ได้สร้างความตระหนักและความเข้าใจในอันตรายที่เกิดขึ้นจากข่าวลวง ตลอดจนนำเสนอวิธีการตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลบนโลกออนไลน์ก่อนส่งต่อเพื่อป้องกันความเสียหายต่อจิตใจและทรัพย์สิน

สุขภาพกับความกลัว…เรื่องใกล้ตัวที่มักโดนหลอก

 หมาล่าพิษ น้ำประปาคลอรีนเกินมาตรฐาน และมะนาวโซดารักษามะเร็ง คือตัวอย่างหนึ่งของข่าวลวงที่ผู้คนมักตกเป็นเหยื่อและแชร์ต่อในทันที ทั้งนี้ เนื่องจากเรื่องสุขภาพเป็นเรื่องใกล้ตัวที่สร้างความกังวลใจได้มากที่สุด ยิ่งเมื่อสื่อกระแสหลักหรือผู้มีอิทธิพลบนโซเชียลมีเดีย (อินฟลูเอนเซอร์) เป็นผู้เผยแพร่เนื้อหาดังกล่าวโดยปราศจากการตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูล ข่าวลวงดังกล่าวจะยิ่งดูมีความน่าเชื่อถือมากยิ่งขึ้น 

จาก “หลอกให้เชื่อแล้วแชร์” สู่ “หลอกให้ซื้อ-โอน-กู้”

 เดิมที ข่าวลวงมักมีลักษณะ “พาดหัวยั่วให้คลิก” (clickbait) ซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อหลอกให้เชื่อแล้วแชร์หรือมุ่งสร้างความเข้าใจผิดในลักษณะ “ให้ร้าย” (bully) บุคคล หน่วยงาน หรือผลิตภัณฑ์อย่างใดอย่างหนึ่งโดยใช้ “ชีปเฟก” (Cheapfakes) ซึ่งเป็นเทคโนโลยีที่ไม่ซับซ้อน เช่น ภาพตัดต่อ คลิปปลอม แต่ปัจจุบันพบว่าข่าวลวงมักมีเป้าหมายหลอกเอาข้อมูลส่วนบุคคล (phishing) เพื่อนำไปใช้ประโยชน์ในทางทุจริต ไม่ว่าจะเป็นการหลอกให้ซื้อสินค้า หลอกให้โอนหรือกู้เงิน ตลอดจนหลอกให้ลงทุน โดยใช้ “ดีปเฟก” (Deepfakes) หรือเทคโนโลยีที่มีความซับซ้อนเสมือนจริงยิ่งขึ้น อาทิ การใช้ปัญญาประดิษฐ์ (AI) ในการปลอมภาพและเสียง โดยยังคงอาศัยความกลัวเป็นปัจจัยหลักอย่างเช่น ปลอมเสียงของเจ้าหน้าที่รัฐโดยสามารถบอกข้อมูลของเหยื่อได้ถูกต้องครบถ้วนเพื่อหลอกให้กระทำการบางอย่าง เช่น ให้ข้าราชการเกษียณกดลิงก์หรือแจ้งข้อมูลส่วนตัวโดยหลอกว่าหากไม่ทำจะไม่ได้รับเงินบำนาญเข้าบัญชี หรือปลอมหมายเลขโทรเข้าด้วยหมายเลข 191 ซึ่งไม่ใช่หมายเลข 191 จริงแต่มักมีเครื่องหมายอย่าง +191  หรือ 191. และมีตำรวจ (ปลอม) หลอกให้โอนเงินเนื่องจากญาติของเหยื่อกำลังเดือดร้อน เป็นต้น

“โลภ-หลง-เหลื่อมล้ำ-ความหวัง” ปัจจัยที่ทำให้ยังเชื่อ

 แม้ว่าปัจจุบันจะมีความตระหนักในข่าวลวงมากขึ้นกว่าเดิม แต่ปัจจัยสำคัญที่ยังคงทำให้หลายคนตกเป็นเหยื่อคือธรรมชาติที่อยู่คู่กับมนุษย์มาโดยตลอดนั่นคือ ความโลภและความหลง ไม่ว่าจะเป็นสินค้าออนไลน์ราคาถูกเกินจริง การลงทุนที่ให้ผลตอบแทนสูงเหลือเชื่อ หรือหลอกให้รักในลักษณะ “พิศวาสอาชญากรรม” (Romance scam) ผ่านแอปหาคู่หรือโซเชียลมีเดียแล้วจึงลงมือปฏิบัติการหลอกซ้ำซ้อนให้โอนเงินหรือกระทำใด ๆ ที่สร้างความเสียหาย นอกจากนี้ ปัจจัยระดับชาติอย่างความเหลื่อมล้ำทางสังคม การไม่สามารถเข้าถึงบริการด้านสาธารณสุข ยังทำให้ข่าวลวงประเภทมะนาวโซดารักษามะเร็งได้ ยังคงมีคนเชื่ออยู่ด้วยความหวัง (ลม ๆ แล้ง ๆ) ว่าจะรักษาได้ รวมทั้งความคิดที่ว่าลองดูก็ไม่เสียหาย

ป้องกันภัยด้วยสุขอนามัยทางดิจิทัล 

วิธีที่ดีที่สุดที่จะไม่ตกเป็นเหยื่อของข่าวลวงคือ การสร้างสุขอนามัยทางดิจิทัล (Digital Hygiene) ให้กับตนเอง โดยฝึกเป็นคนช่างสังเกตอย่างเช่น สังเกตว่าภาพที่สร้างขึ้นจากเอไอมักมีความบกพร่องแฝงอยู่ ไม่ว่าจะเป็นอวัยวะต่าง ๆ อย่างมือ เท้า ปาก รอยต่อหน้าผากกับเส้นผมขาดความละเอียด ศีรษะไม่ขยับ ตาไม่กะพริบ ฯลฯ การจัดระเบียบการเก็บเงินในบัญชีธนาคารโดยแบ่งเป็น “กระเป๋าร้อน” ซึ่งเป็นบัญชีสำหรับหมุนเวียนหรือเก็บเงินเฉพาะที่จำเป็นต่อการใช้จ่ายและเชื่อมต่อกับอินเทอร์เน็ตเพื่อถอนใช้ได้สะดวก กับ “กระเป๋าเย็น” ซึ่งเป็นบัญชีเงินเก็บที่ไม่เชื่อมต่อกับอินเทอร์เน็ตและการเบิกถอนมีขั้นตอนยุ่งยาก เป็นต้น

รู้เท่าทันสื่อ…สำนึกพลเมือง สำนึกสาธารณะ สติ 

 นอกจากนี้ ในระยะยาว เรายังต้องสร้างภูมิคุ้มกันให้กับตนเอง โดยทุกคนต้องมีจิตสำนึกพลเมืองด้วยการตระหนักในสิทธิที่ได้รับข้อมูลและข้อเท็จจริงที่ถูกต้องของตนเอง ผ่านการเรียกร้องให้หน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชนที่เกี่ยวข้อง ตลอดจนสื่อมวลชนให้ร่วมกันรับผิดชอบต่อข้อมูลข่าวสารที่เผยแพร่ในปัจจุบันให้มากขึ้น อีกทั้งยังต้องมีจิตสำนึกสาธารณะช่วยกันเป็นหูเป็นตาและให้ความร่วมมือกับทุกฝ่ายในการตรวจสอบและไม่เผยแพร่ข่าวลวง โดยเฉพาะในขณะที่มิจฉาชีพไม่เคยหยุดพัฒนาวิธีการหลอกลวงและกระทำได้แยบยลมากขึ้นเรื่อย ๆ ผ่านแหล่งที่น่าเชื่อถืออย่างเช่น ข้อความ SMS จากธนาคาร จดหมายจากสถาบันการเงิน เป็นต้น ดังนั้น ภูมิคุ้มกันเบื้องต้นที่ดีที่สุดคือ สติ ที่จะช่วยให้เกิดการตื่นรู้ ไหวตัวทัน และไม่ตกเป็นเหยื่อ ตลอดจนตระหนักว่า อย่าเพิ่งเชื่อ อย่าแชร์ อย่าเพิ่งโอน และตรวจสอบแหล่งที่มาของข้อมูลอย่างเคร่งครัดเสียก่อน ก็จะสามารถป้องกันไม่ให้ตนเองตกเป็นเหยื่อของข่าวลวงและมิจฉาชีพได้