เศรษฐา ทวีสิน “หลุดความลับ ชวนลงทุนคริปโตฯ” เป็นข่าวลวง อย่าแชร์-อย่ากดลิงก์

Top Fact Checks Political
เนื้อหาเป็นเท็จ

ธนาคารแห่งประเทศไทย ไทยรัฐ และอีจัน เตือนประชาชนอย่าหลงเชื่อข่าวลวงที่ระบุว่านายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยช่องทางการลงทุนในสกุลเงินดิจิทัลหรือคริปโตเคอร์เรนซี ที่ทำให้เขามีรายได้หลายสิบล้านบาทในเวลาเพียงไม่กี่เดือน

เนื้อหาเท็จดังกล่าวได้นำภาพนายเศรษฐาที่ให้สัมภาษณ์พิเศษสื่อออนไลน์ “อีจัน” ซึ่งเผยแพร่ทางยูทูปเมื่อวันที่ 12 เม.ย. 2566 มาประกอบข้อเขียนคล้ายสกู๊ปข่าว พาดหัวว่า “ธนาคารแห่งประเทศไทยกำลังดำเนินคดีกับเศรษฐา กับเรื่องที่เขาได้เปิดเผยกลางรายการทีวีถ่ายทอดสด” โดยจัดหน้าเว็บไซต์และใส่โลโกให้เข้าใจผิดว่าเป็นเนื้อหาของ “Thairath Money” ซึ่งเป็นคอลัมน์การเงินการลงทุนของสำนักข่าวไทยรัฐออนไลน์

ข่าวลวงชิ้นนี้เผยแพร่เมื่อวันที่ 12 และ 14 ก.ย. 2566 มีเนื้อหาโดยสรุปว่า ระหว่างการให้สัมภาษณ์ นายเศรษฐาได้เปิดเผยชื่อแพลตฟอร์มค้าขายเงินสกุลดิจิทัลชื่อ “XBT 3.0 Evex” ที่ทำให้เขามีรายได้มหาศาลในเวลาอันรวดเร็ว ซึ่งทันทีที่นายเศรษฐาเปิดเผยชื่อแพลตฟอร์ม เจ้าหน้าที่ธนาคารแห่งประเทศไทยก็โทรศัพท์เข้ามาในรายการและสั่งให้ยุติการถ่ายทอดสดทันที

ตัวอย่างเนื้อหาที่มีการส่งต่อกันในแอปพลิเคชันไลน์

คำเตือนจากไทยรัฐ อีจัน และแบงก์ชาติ

หลังจากข่าวปลอมนี้ถูกเผยแพร่หน่วยงานและสื่อที่ถูกแอบอ้างในเนื้อหาเท็จนี้ได้ออกมาชี้แจงและเตือนภัยต่อสาธารณะ

14 ก.ย. 2566 สำนักข่าวไทยรัฐได้เผยแพร่คำเตือนเรื่องเว็บไซต์ปลอมที่ลอกเลียนแบบเว็บไซต์ Thairath Money ระบุว่า ไทยรัฐพบ “การโคลนนิ่งรูปแบบเพื่อสร้างข่าวปลอม บิดเบือนข้อมูลอันเป็นเท็จ” โดยใช้ภาพของนายเศรษฐากำลังนั่งบนโซฟา ให้สัมภาษณ์กับสื่อออนไลน์แห่งหนึ่ง พร้อมสร้างข้อความพาดหัวเป็นเท็จว่า “ธนาคารแห่งประเทศไทยกำลังดำเนินคดีกับเศรษฐา กับเรื่องที่เขาได้เปิดเผยกลางรายการทีวีถ่ายทอดสด” เผยแพร่เมื่อวันที่ 12 ก.ย. 2566 เวลา 15.26 น. และ 14 ก.ย. 2566 เวลา 16.24 น. ซึ่งเป็นการ “นำเสนอข่าวที่ไม่ได้มีการเผยแพร่ทางไทยรัฐมันนี เอามาโพสต์ สร้างความเข้าใจผิด”

15 ก.ย. 2566 อีจันเผยแพร่ข่าวทางเว็บไซต์และเฟซบุ๊ก ระบุว่า พบเว็บไซต์ปลอมที่นำเนื้อหาการสัมภาษณ์นายเศรษฐาในรายการ “Exclusive Talk กับ แคนดิเดต นายกฯ ของพรรคเพื่อไทย” ที่เผยแพร่ทางช่องยูทูปอีจันเมื่อ 12 เม.ย. 2566 มาปลอมแปลงเนื้อหาขึ้นใหม่ ซึ่งเป็นเนื้อหาที่ไม่ได้มีอยู่ในการสัมภาษณ์ และได้ใช้ภาพประกอบจากในรายการ ซึ่งถือเป็นการสร้างข่าวปลอม นำเข้าข้อมูลเท็จในลักษณะของการชักชวนหลอกลงทุนที่อาจทำให้ประชาชนเกิดความสับสน ทั้งยังเป็นการใส่ร้ายนายเศรษฐา นายกรัฐมนตรี รวมถึงรัฐบาลอีกด้วย

อีจันได้โพสต์ลิงก์ยูทูปสัมภาษณ์ฉบับเต็มประกอบและยืนยันว่า เนื้อหาในการสัมภาษณ์ นายเศรษฐา ในฐานะแคนดิเดตนายกฯของพรรคเพื่อไทย ได้พูดถึงวิสัยทัศน์และนโยบายของพรรค ไม่ได้มีการกล่าวถึงการสร้างความมั่งคั่งด้วยการลงทุนในสกุลเงินดิจิทัลแต่อย่างใด

ล่าสุด เมื่อวันที่ 18 ก.ย. 2566 ธนาคารแห่งประเทศไทยหรือแบงก์ชาติ ได้โพสต์ข้อความในเฟซบุ๊กเตือนประชาชนอย่าหลงเชื่อข่าวปลอมจากเว็บไซต์ปลอมที่แอบอ้างชื่อแบงก์ชาติเรื่องการดำเนินคดีกับนายเศรษฐา

โคแฟคตรวจสอบ

ข่าวลวงเรื่องนายกฯ เศรษฐาชวนลงทุนคริปโตเคอร์เรนซีที่ปลอมแปลงเนื้อหาจากยูทูปอีจัน ลอกเลียนแบบเว็บไซต์ไทยรัฐ และแอบอ้างชื่อธนาคารแห่งประเทศไทย ถูกเผยแพร่ทั้งทางเว็บไซต์และทางแอปพลิเคชันไลน์ซึ่งเป็นภาพที่ถ่ายจากหน้าจอ (screen capture) จากเว็บไซต์ financeforyou.me

โคแฟคค้นหาข่าวลวงนี้ในอินเทอร์เน็ตเมื่อวันที่ 15 ก.ย. 2566 แต่ไม่พบทั้งเนื้อหาและเว็บไซต์ เมื่อนำ URL financeforyounow.me ไปสืบค้นในแพลตฟอร์มตรวจสอบความน่าเชื่อถือและความปลอดภัยของเว็บไซต์เช่น  URLVOID ได้ข้อมูลว่า เว็บไซต์ financeforyounow.me เพิ่งจดทะเบียนเมื่อวันที่ 11 ก.ย. 2566 มี IP Address อยู่บนเครือข่ายของ Cloudflare ในประเทศสหรัฐอเมริกา ส่วน Norton Safe Web จัดเว็บไซต์นี้อยู่ในระดับ “ควรระวัง” (caution) ซึ่งหมายถึงเว็บไซต์ที่อาจจะไม่ปลอดภัย แต่ยังไม่ถึงขั้นเป็นอันตราย

โคแฟคยังพบด้วยว่า มีผู้ใช้ TikTok คนหนึ่ง ซึ่งมีผู้ติดตามเกือบ 15,000 บัญชี นำข่าวปลอมนี้ไปเผยแพร่ต่อโดยเขียนข้อความเชื่อมโยงกับนโยบายแจกเงินดิจิทัล 10,000 บาท ของรัฐบาลที่ต้องใช้งบประมาณ 560,000 ล้านบาท ทำให้เกิดความเข้าใจผิดว่านายเศรษฐาชักชวนให้คนมาลงทุนในสินทรัพย์ดิจิทัลจริงเพราะมีผลประโยชน์ทับซ้อน โพสต์นี้มีผู้เข้ามาแสดงความเห็นนับร้อยคน ส่วนใหญ่เป็นไปในทางวิจารณ์และโจมตีนายเศรษฐา โดยไม่ได้ตั้งคำถามว่าเนื้อหานี้เป็นความจริงหรือไม่

ข้อสรุปโคแฟค: ข่าวลวง หยุดแชร์ อย่ากดลิงก์

ธนาคารแห่งประเทศไทย ไทยรัฐ และอีจัน ซึ่งเป็นผู้ที่ถูกแอบอ้างในข่าวลวงชิ้นนี้ ได้ออกมายืนยันชัดเจนแล้วว่า เนื้อหาที่ปรากฏเป็นข้อความเท็จที่สร้างขึ้นมา (fabricated content) ลอกเลียนแบบเว็บไซต์ (impersonated content) รวมทั้งแอบอ้างชื่อหน่วยงานของรัฐ

แม้ปัจจุบันจะไม่พบเนื้อหาและลิงก์ข่าวปลอมนี้ในอินเทอร์เน็ต แต่มีความเป็นไปได้ว่าอาจจะยังมีการส่งต่อในแอปพลิเคชันไลน์ ประชาชนจึงควรระวัง ไม่กดลิงก์ที่แนบมากับเนื้อหานี้ และไม่ส่งต่อ

ในกรณีนี้ โคแฟคมีข้อสังเกตเพิ่มเติม ดังนี้

  1. ข่าวลวงชิ้นนี้ถูกเผยแพร่ในช่วงที่สังคมกำลังให้ความสนใจกับนโยบายแจกเงินดิจิทัลของรัฐบาลเศรษฐา จึงเห็นได้ว่าผู้เผยแพร่ข่าวลวง มักเลือกจังหวะที่คนกำลังให้ความสนใจในเรื่องใดเรื่องหนึ่งในการปล่อยข่าวลวง หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งผู้ให้บริการแพลตฟอร์ม จึงควรมีการประเมินสถานการณ์และเฝ้าระวังเป็นพิเศษ
  2. สำหรับหลายคน ข่าวลวงชิ้นนี้อาจจะดูออกได้ง่ายว่าเนื้อหาเป็นเท็จ เพราะใช้ภาษาที่ไม่เป็นธรรมชาติ และข้อมูลที่ไม่สมจริง เช่น เจ้าหน้าที่แบงก์ชาติโทรศัพท์ให้ระงับการเผยแพร่ หรือ นายกฯ พูดถึงความร่ำรวยของตัวเองและชักชวนประชาชนมาลงทุน เป็นต้น แต่ก็ยังอาจมีบางคนที่หลงเชื่อ ดังนั้น การหักล้าง เตือนภัย และชี้แจงข้อเท็จจริงจากทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องอย่างต่อเนื่อง จึงมีความสำคัญ ไม่ว่าข่าวลวงชิ้นนั้นจะดูออกได้ง่ายเพียงใดว่าเป็นข้อมูลเท็จ
  3. จากการที่มีผู้นำข่าวลวงชิ้นนี้ไปเผยแพร่ต่อใน TikTok แม้ว่าจะมีการชี้แจงแล้วว่าเป็นข้อมูลเท็จ แสดงให้เห็นอันตรายของข่าวลวง ที่ไม่เพียงถูกใช้เพื่อหลอกลวงประชาชนให้เสียทรัพย์สิน แต่ยังถูกใช้เพื่อโจมตีกันทางการเมืองอีกด้วย

เรื่องแนะนำ