ฉากเกมออนไลน์-ภาพจุดบั้งไฟ ถูกอ้างเท็จว่าเป็นเหตุสู้รบอินเดีย-ปากีสถาน

กองบรรณาธิการโคแฟค

ความขัดแย้งระหว่างอินเดียกับปากีสถานดูเหมือนเป็นประเด็นที่ไกลตัวคนไทย แต่ผู้ใช้โซเชียลมีเดียในไทยกลับเผยแพร่เนื้อหาเท็จจำนวนมากเกี่ยวกับการโจมตีตอบโต้กันของสองประเทศนี้ โคแฟครวบรวม 7 เนื้อหาเท็จที่ถูกเผยแพร่นับตั้งแต่อินเดียเปิดฉากโจมตีปากีสถานเมื่อวันที่ 7 พฤษภาคม 2568 เพื่อให้เห็นรูปแบบของการเผยแพร่ข่าวลวงในบริบทความขัดแย้งระหว่างประเทศ

ความตึงเครียดระหว่างอินเดียและปากีสถานในเดือนพฤษภาคม 2568 เริ่มต้นหลังจากเหตุกราดยิงนักท่องเที่ยวในฝั่งแคชเมียร์ของอินเดียเมื่อวันที่ 22 เมษายน 2568 ทำให้มีผู้เสียชีวิต 26 ราย อินเดียกล่าวหาปากีสถานว่าอยู่เบื้องหลังเหตุรุนแรงนี้ แม้ว่าปากีสถานจะปฏิเสธ แต่อินเดียก็เปิดฉากโจมตีปากีสถานและพื้นที่บางส่วนของแคชเมียร์ที่ปกครองโดยปากีสถานเมื่อวันที่ 7 พฤษภาคม 2568 ซึ่งจุดชนวนให้เกิดการโจมตีตอบโต้กันตามแนวพรมแดนของทั้งสองประเทศเป็นเวลา 4 วัน มีผู้เสียชีวิตจากทั้งสองฝ่ายกว่า 60 ราย ก่อนที่ทั้งสองประเทศจะบรรลุข้อตกลงหยุดยิงกันได้ในวันที่ 10 พฤษภาคม 2568

แม้ว่าทั้งสองชาติมหาอำนาจนิวเคลียร์ในเอเชียใต้จะบรรลุข้อตกลงหยุดยิง แต่ข้อมูลบิดเบือนในโซเชียลมีเดียยังคงแพร่กระจายไปทั่วโลก รวมถึงบรรดาผู้ใช้โซเชียลมีเดียในประเทศไทยด้วย

โคแฟครวบรวมเนื้อหา 7 ชิ้นที่ผู้ใช้โซเชียลมีเดียในไทยให้ข้อมูลเท็จและบิดเบือนว่าเป็นภาพเหตุการณ์สู้รบระหว่างอินเดียและปากีสถาน

1. วิดีโอรถบรรทุกระเบิดในเมืองมุมไบถูกบิดเบือนว่าเป็นการโจมตีอินเดียด้วยขีปนาวุธของปากีสถาน

ผู้ใช้เฟซบุ๊กในไทยเผยแพร่วิดีโอที่เขียนข้อความบรรยายว่า “สงครามอินเดียกับปากีสถานเมื่อวาน” โดยวิดีโอดังกล่าวแสดงให้เห็นเหตุระเบิดรุนแรงบนถนน มีไฟไหม้และกลุ่มควันขนาดใหญ่ ฝังข้อความภาษาไทยว่า “ขีปนาวุธปากีสถานโจมตีอินเดีย” วิดีโอนี้ได้รับการกดถูกใจมากกว่า 5,700 ครั้ง และถูกแชร์ต่อมากกว่า 300 ครั้ง ก่อนที่โพสต์ดังกล่าวจะถูกลบ

โคแฟคตรวจสอบวิดีโอดังกล่าวโดยใช้เครื่องมือค้นหาภาพแบบย้อนหลังในกูเกิล (Google reverse image search) โดยแยกภาพนิ่งจากวิดีโอออกมาตรวจสอบ และพบว่าวิดีโอนี้ถูกเผยแพร่โดยผู้ใช้งานอินสตาแกรมรายหนึ่ง (ลิงก์บันทึก) ตั้งแต่วันที่ 26 มีนาคม 2568 มีข้อความประกอบวิดีโอว่า “มุมไบ”

การค้นหาด้วยคำสำคัญเพิ่มเติม ทำให้พบว่าวิดีโอที่คล้ายกันนี้ปรากฏในโพสต์ X (ลิงก์บันทึก) ของสำนักข่าวไทมส์ออฟอินเดีย (Times of India) เมื่อวันที่ 25 มีนาคม 2568 โพสต์ดังกล่าวระบุว่า “เกิดไฟไหม้ครั้งใหญ่ในเขตธาราวี มุมไบ จากเหตุรั่วไหลของแก๊สแอลพีจีจากรถบรรทุกที่บรรทุกถังแก๊สจำนวนมาก”

รายงานข่าวของไทมส์ออฟอินเดีย (ลิงก์บันทึก) ระบุเพิ่มเติมว่า ในช่วงเวลากลางคืนของวันที่ 24 มีนาคม 2568 เกิดเหตุถังแก๊สของรถบรรทุกระเบิดบริเวณใกล้กับท่ารถเมล์แห่งหนึ่งบนถนนไซออน-ธาราวีในเมืองมุมไบ โดยเจ้าหน้าที่ดับเพลิงใช้เวลานานกว่าหนึ่งชั่วโมงในการควบคุมเพลิง

2. คลิปจากเหตุระเบิดที่ท่าเรือดูไบปี 2564 ถูกแชร์ว่าเป็นเหตุการณ์ที่ฐานทัพอินเดียถูกโจมตีโดยปากีสถาน

วันที่ 10 พฤษภาคม 2568 ผู้ใช้เฟซบุ๊กในไทยรายหนึ่งได้เผยแพร่คลิปวิดีโอ เป็นภาพเปลวเพลิงและกลุ่มควันขนาดใหญ่จากเหตุระเบิด มีชิ้นส่วนจากแรงระเบิดเกลื่อนพื้น เจ้าของโพสต์เขียนข้อความประกอบวิดีโอว่า “ด่วน ฐานทัพอากาศอินเดียในรัฐคุชราต หลังจากปากีสถานโจมตีด้วยขีปนาวุธ” โพสต์นี้ได้รับการกดถูกใจเกือบ 900 ครั้งและถูกแชร์ต่อ 30 ครั้ง

โคแฟคตรวจสอบพบว่าวิดีโอนี้เคยถูกเผยแพร่ในบัญชี X ของทาเมียร์ อัลมิสชาล (Tamer Almisshal) ผู้สื่อข่าวของสำนักข่าวอัลจาซีรา ตั้งแต่วันที่ 8 กรกฎาคม 2564 (ลิงก์บันทึก) มีคำบรรยายเป็นภาษาอาหรับ แปลเป็นไทยได้ว่าเป็นภาพความเสียหายจากเหตุระเบิดครั้งใหญ่ที่ท่าเรือเจเบลอาลีในเมืองดูไบ ประเทศสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์

สำนักข่าวอัลจาซีราในซีเรีย (ลิงก์บันทึก) และสำนักข่าวอะราเบียนเดลี่ (ลิงก์บันทึก) ก็เผยแพร่วิดีโอเดียวกันในรายงานข่าวเหตุระเบิดครั้งนี้ โดยระบุว่าเกิดเหตุระเบิดบนเรือบรรทุกตู้คอนเทนเนอร์ที่ท่าเรือเจเบลอาลีในช่วงกลางดึกของวันที่ 7 กรกฎาคม 2564 เหตุการณ์นี้ไม่มีผู้เสียชีวิต

3. คลิปประเพณีบั้งไฟในไทยถูกบิดเบือนว่าเป็นโดรนที่อินเดียส่งไปโจมตีปากีสถาน

เมื่อวันที่ 10 พฤษภาคม 2568 ผู้ใช้เฟซบุ๊กเผยแพร่วิดีโอ บันทึกภาพวัตถุชิ้นหนึ่งหมุนเป็นวงในอากาศก่อนจะพุ่งตกลงสู่พื้นและปล่อยควันเป็นทางยาว ผู้โพสต์เขียนคำบรรยายว่า “ปากีสถาน สามารถเห็นโดรนของอิสราเอลในวิดีโอที่ส่งโดยอินเดียไปยังปากีสถาน”

โคแฟคตรวจสอบพบว่าวิดีโอนี้เป็นภาพงานเทศกาลบุญบั้งไฟในอำเภอทุ่งไชย จังหวัดศรีสะเกษ ซึ่งจัดขึ้นเมื่อต้นเดือนพฤษภาคม 2568 พบว่าถูกเผยแพร่ในยูทูบตั้งแต่วันที่ 5 พฤษภาคม 2568 (ลิงก์บันทึก)

เมื่อตรวจสอบคลิปนี้อย่างละเอียดยังพบว่ากลุ่มคนในวิดีโอสวมเสื้อสีแดง ด้านหลังมีข้อความ “ตำบลทุ่งไชย”

เมื่อโคแฟคค้นหาด้วยคำสำคัญเพิ่มเติม พบว่าสถานีโทรทัศน์ช่อง 7 (ลิงก์บันทึก) ได้รายงานเมื่อวันที่ 5 พฤษภาคม 2568 ว่าชุมชนในตำบลทุ่งไชย อำเภออุทุมพรพิสัย จังหวัดศรีสะเกษ ได้จัดเทศกาลแห่บั้งไฟตะไลยักษ์ ซึ่งเป็นประเพณีประจำปีของชาวอีสานที่จัดขึ้นเพื่อขอฝนตามความเชื่อดั้งเดิม

สำนักข่าวต่างประเทศอย่างรอยเตอร์ก็ได้ตรวจสอบวิดีโอเดียวกันนี้ โดยเขียนรายงานการตรวจสอบไว้ด้วย (ลิงก์บันทึก)

4. คลิปเหตุระเบิดในเลบานอนปี 2567 ถูกบิดเบือนว่าเป็นการโจมตีฐานทัพปากีสถาน

วันที่ 10 พฤษภาคม 2568 ในช่วงที่สถานการณ์ระหว่างอินเดียกับปากีสถานทวีความตึงเครียด ผู้ใช้เฟซบุ๊กเผยแพร่คลิปวิดีโอ เหตุระเบิดเวลากลางคืนในย่านที่อยู่อาศัย มีเปลวไฟและกลุ่มควันขนาดใหญ่ตามมา ระบุข้อความประกอบว่า “คลิปอีกมุมมองหนึ่ง ภาพกรุงอิสลามาบัด เมืองหลวงของปากีสถาน เกิดระเบิดครั้งใหญ่ ขีปนาวุธพิสัยไกลพุ่งเข้าใส่ฐานทัพอากาศปากีสถานในเมืองลาฮอร์ ระบบป้องกันของจีนในปากีสถานไม่สามารถสกัดกั้นได้”

ในความเป็นจริงแล้ว คลิปวิดีโอดังกล่าวมาจากเหตุระเบิดจากการโจมตีทางอากาศของอิสราเอลในย่านชานเมืองของกรุงเบรุต ประเทศเลบานอน เมื่อวันที่ 28 กันยายน 2567 ไม่มีความเกี่ยวข้องใด ๆ กับความขัดแย้งระหว่างอินเดียกับปากีสถานในปี 2568

โคแฟคตรวจสอบพบว่าคลิปต้นฉบับถูกเผยแพร่โดยสำนักข่าวเอพี เมื่อวันที่ 28 กันยายน 2567 โดยระบุว่าเป็นคลิปเหตุการณ์การโจมตีและระเบิดในกรุงเบรุต (ลิงก์บันทึก)  

สำนักข่าววอยซ์ออฟอเมริกา (Voice of America) ก็ได้เผยแพร่คลิปเดียวกันนี้เช่นกัน (ลิงก์บันทึก) ให้ข้อมูลตรงกันว่าเป็นการโจมตีทางอากาศของอิสราเอลในย่านชานเมืองเบรุต ประเทศเลบานอน การโจมตีครั้งนี้เป็นส่วนหนึ่งของความขัดแย้งระหว่างอิสราเอลกับกลุ่มฮิซบุลเลาะห์ในเลบานอน ซึ่งกองทัพอิสราเอลแถลงว่าได้สังหารฮัสซัน นัสรัลเลาะห์ ผู้นำของกลุ่มฮิซบุลเลาะห์ รวมถึงผู้บัญชาการแนวรบทางใต้และแกนนำระดับสูงอีกหลายคน

5. ภาพเก่าจากเหตุเครื่องบินตกในอินเดียปี 2567 ถูกบิดเบือนว่าเป็นเหตุเครื่องบินรบอินเดียตกหลังถูกปากีสถานโจมตี

วันที่ 7 พฤษภาคม 2568 ผู้ใช้เฟซบุ๊กเผยแพร่ภาพเครื่องบินที่กำลังลุกไหม้ในเวลากลางคืน โดยเขียนบรรยายภาพว่า “อินเดีย – ปากีสถาน ยิงถล่มทางอากาศ เครื่องบินร่วงแล้ว 5 ลำ หลายสายการบินแห่ยกเลิกเที่ยวบิน”

โพสต์ดังกล่าว ซึ่งได้รับการกดถูกใจมากกว่า 400 ครั้ง ถูกเผยแพร่ในช่วงที่มีรายงานการโจมตีด้วยขีปนาวุธและการยิงปืนใหญ่ระหว่างอินเดียและปากีสถาน โดยขณะนั้น กองทัพปากีสถานระบุว่าได้ยิงเครื่องบินอินเดียตก 5 ลำ  

โคแฟคตรวจสอบพบว่า ภาพดังกล่าวเป็นภาพเก่าจากเหตุเครื่องบินของกองทัพอากาศอินเดียตกระหว่างการฝึกบินเวลากลางคืนในรัฐราชสถาน ประเทศอินเดีย เมื่อเดือนกันยายน 2567  

ภาพเหตุการณ์นี้ถูกเผยแพร่ในช่องยูทูบของสำนักข่าวอินเดียทูเดย์เมื่อวันที่ 2 กันยายน 2567 (ลิงก์บันทึก) โดยรายงานระบุว่าเป็นภาพเครื่องบิน MiG-29 ของกองทัพอากาศอินเดียที่ประสบอุบัติเหตุตกในเขตบาร์เมอร์ รัฐราชสถาน ขณะกำลังฝึกบินในเวลากลางคืน

นิวเดลีเทเลวิชันหรือ NDTV สถานีโทรทัศน์ของอินเดียได้เผยแพร่ภาพจากเหตุการณ์เดียวกัน โดยระบุชัดว่าเป็นภาพอุบัติเหตุที่เกิดขึ้นระหว่างภารกิจฝึกบิน ไม่ใช่การโจมตีทางทหาร และนักบินของเครื่องบินลำดังกล่าวปลอดภัยดี (ลิงก์บันทึก)

6. ภาพเหตุระเบิดครั้งใหญ่ในกรุงเบรุตปี 2567 ถูกบิดเบือนว่าเป็นการโจมตีในแคชเมียร์และท่าเรือในปากีสถาน

วันที่ 8 พฤษภาคม 2568 ผู้ใช้เฟซบุ๊กเผยแพร่ภาพถ่ายเหตุระเบิดยามค่ำคืนที่แสดงเปลวไฟขนาดใหญ่พร้อมกลุ่มควันจำนวนมาก โดยคำบรรยายระบุว่า “Breaking News: แคชเมียร์ลุกเป็นไฟ! อินเดีย-ปากีสถานเปิดศึกปะทะหนัก จรวด-โดรนว่อนฟ้า”

ผู้ใช้เฟซบุ๊กอีกรายหนึ่งแชร์ภาพเดียวกันนี้เมื่อวันที่ 16 พฤษภาคม 2568 โดยมีข้อความฝังในภาพว่า “อินเดียโจมตีครั้งใหญ่ที่ท่าเรือการาจี”

โคแฟคตรวจสอบพบว่าภาพนี้ถูกเผยแพร่ในรายงานข่าวของสำนักข่าว ABC News (ลิงก์บันทึก) คำบรรยายภาพระบุว่า “เปลวไฟและกลุ่มควันลอยขึ้นจากเหตุโจมตีทางอากาศของอิสราเอลในเขตดาเฮีย กรุงเบรุต ประเทศเลบานอน เมื่อวันที่ 6 ตุลาคม 2567”  

สำนักข่าวเอพียังได้เผยแพร่วิดีโอของเหตุการณ์เดียวกันในช่องยูทูบ (ลิงก์บันทึก) พร้อมคำบรรยายว่า “แรงระเบิดสะเทือนกรุงเบรุตตลอดคืนจากการโจมตีของอิสราเอล”

7. คลิปจากวิดีโอเกมถูกบิดเบือนว่าเป็นภาพจากเหตุการณ์จริงที่ปากีสถานยิงเครื่องบินอินเดียตก

วันที่ 7 พฤษภาคม 2568 ผู้ใช้งานติ๊กต็อกแชร์คลิปวิดีโอ ที่มีข้อความฝังไว้ว่า “ปากีสถานยิงเครื่องบินของอินเดียตก ใกล้เมืองบาฮาวาลปูร” ส่วนคำบรรยายใต้คลิปเขียนว่า “อินเดีย-ปากีสถานล่าสุด ยิงเครื่องบินอินเดียตก #ข่าวต่างประเทศ #อินเดีย #ปากีสถาน #ขัดเเย้ง” มีผู้กดถูกใจกว่า 2,000 ครั้ง

โคแฟคตรวจสอบคลิปวิดีโอดังกล่าวและพบว่าคลิปนี้ไม่ได้มาจากเหตุการณ์จริง แต่เป็นฉากจากวิดีโอเกมแนวจำลองสถานการณ์ทหารชื่อ Arma 3 ซึ่งถูกเผยแพร่ไว้ในยูทูบตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม 2565 (ลิงก์บันทึก) โดยในคำอธิบายระบุชัดว่าเป็นวิดีโอเกมจำลองทางทหารจากเกม Arma 3  

โคแฟคเปรียบเทียบภาพในวิดีโอ และพบว่าเนื้อหาจากคลิปในติ๊กต็อกตรงกับวิดีโอในยูทูบ ตั้งแต่ช่วงเวลา นาทีที่ 3.38 เป็นต้นไป

นอกจากนี้ ผู้พัฒนาวิดีโอเกมดังกล่าวอย่างโบฮีเมีย อินเตอร์แอ็กทีฟ (Bohemia Interactive) ได้ยืนยันกับสำนักข่าวรอยเตอร์ผ่านทางอีเมลว่า คลิปดังกล่าวเป็นเนื้อหาจากเกมที่พวกเขาพัฒนาขึ้นมาจริง (ลิงก์บันทึก)

ภาพและวิดีโอส่วนใหญ่เป็นของจริง แต่ถูกนำมาบิดเบือนในบริบทความขัดแย้ง

ในช่วงสถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างอินเดียและปากีสถานในเดือนพฤษภาคม 2568 ผู้ใช้โซเชียลมีเดียในไทยได้แชร์ภาพถ่ายและคลิปวิดีโอจำนวนมากที่อ้างว่าเกี่ยวข้องกับการสู้รบระหว่างทั้งสองประเทศ ส่วนใหญ่เป็นภาพและวิดีโอจากเหตุการณ์จริงที่เกิดขึ้นเมื่อไม่นานมานี้ แต่ถูกนำมาบิดเบือนว่าเป็นภาพการสู้รบระหว่างอินเดียกับปากีสถาน นอกจากนี้ยังมีภาพอื่น ๆ ที่ไม่เกี่ยวข้องกับการสู้รบเลยอย่างเช่น ประเพณีบั้งไฟและภาพจากเกมออนไลน์มาอ้างเท็จด้วย

แม้ภาพนิ่งและภาพเคลื่อนไหวเหล่านี้จะไม่ได้ผ่านการตัดต่อหรือดัดแปลง แต่การนำมาใช้ผิดบริบท ใส่คำบรรยายที่ไม่ถูกต้องตามความเป็นจริง ทำให้ผู้รับสารเกิดความเข้าใจผิด ตื่นตระหนก และอาจส่งผลกระทบต่อการตัดสินใจสำคัญ เช่น การเดินทาง การทำธุรกิจได้  

ในช่วงที่สถานการณ์อ่อนไหวอย่างเช่นการสู้รบหรือความขัดแย้งระหว่างประเทศ จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่ประชาชนจะต้องตรวจสอบข้อมูลก่อนที่จะเชื่อหรือแชร์ เพื่อหลีกเลี่ยงการส่งต่อข่าวลวง-ข้อมูลเท็จที่อาจส่งผลกระทบรุนแรงอย่างคาดไม่ถึง

เรื่องอื่น ๆ ที่น่าสนใจ