วันตรวจสอบข่าวลวงโลกปี’67 ‘มิจฉาชีพออนไลน์’เรื่องใหญ่น่าห่วง ส่ออันตรายขึ้นในยุค‘Deepfake’
เมื่อเร็วๆนี้ ภาคีโคแฟค (ประเทศไทย) ร่วมกับ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กรุงเทพมหานคร (กทม.) และองค์กรต่างๆ ที่เกี่ยวข้องได้จัดงานสัมมนาระดับชาติเนื่องในวันตรวจสอบข่าวลวงโลก 2567 (International Fact-Checking Day 2024) ภายใต้ธีมงาน “Cheapfakes สู่ Deepfakes: เตรียมรับมืออย่างไรให้เท่าทัน” ณ หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร พร้อมถ่ายทอดผ่านเพจเฟซบุ๊ก “Cofact โคแฟค” และช่องยูทูบ “Thai PBS”
รองศาสตราจารย์ ดร.ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) กล่าวว่า ข่าวลวงหรือข่าวปลอมก็เหมือนกับเชื้อโรค เช่น ในสถานการณ์การระบาดของไวรัสโควิด-19 สมมติมีคำถามว่าโควิดจะแก้อย่างไร ในช่วงแรกบอกว่าล้างมือให้สะอาดเพื่อฆ่าเชื้อโรค แต่จริง ๆ แล้วทำอย่างไรเชื้อโรคก็ไม่หมดเพราะมันมีเยอะมาก หรือสวมหน้ากากปิดปาก-จมูกเพื่อไม่ให้แพร่เชื้อไปสู่ผู้อื่น ก็เหมือนกับตัวเราไม่เป็นผู้แพร่กระจายข่าวปลอม แต่สุดท้ายก็ต้องฉีดวัคซีนสร้างภูมิต้านทาน
“ผมว่าภูมิต้านทานของคนสำคัญที่สุด ถ้าคนมีภูมิต้านทานโอกาสที่ข่าวปลอมมันจะทำร้ายเรา มันจะน้อยลง เราอาจจะไปไล่กำจัดข่าวปลอมไม่ได้หมดหรอก เพราะว่ามันมีเยอะเหมือนกับเชื้อโรค แต่สุดท้าย ถ้าคนมีภูมิต้านทานก็จะทำให้เราสามารถป้องกันเชื้อโรคร้ายได้” ผู้ว่าฯ กทม. กล่าว
นพ.พงศ์เทพ วงศ์วัชรไพบูลย์ ผู้จัดการกองทุน สสส. กล่าวว่า เวทีครั้งนี้เป็นการมาพูดคุยกันว่า จะทำอย่างไรให้ทุก ๆ คน เป็นผู้ตรวจสอบข่าวลวง ซึ่งในวันที่ 2 เมษายนของทุกปีเป็นวันตรวจสอบข่าวลวงของโลก โดยเลือกวันที่ต่อจากวันที่ 1 เมษายน ซึ่งเป็นวัน April Fool’s Day หรือวันข่าวลวงของโลก เพื่อตรวจสอบว่าเมื่อวันข่าวลวงผ่านพ้นไปมีข่าวลวงเรื่องใดผ่านเข้ามาบ้าง ทุกคนจึงต้องมาช่วยกันทำเรื่องนี้ โดยเฉพาะกรณีการหลอกลวงทางออนไลน์มิจฉาชีพจะมุ่งเจาะเป้าหมายทุกคนที่อ่อนแอ มีภูมิต้านทานข่าวลวงต่ำ ดังนั้นจึงจำเป็นต้องมารวมพลังกันเพื่อสร้างเกราะป้องกันจากข่าวลวง เพราะหากคนที่อ่อนแอหลาย ๆ คนมารวมกันก็จะเกิดความเข็มแข็งขึ้นมาได้
อย่างไรก็ตาม มีรายงานจาก Whoscall แอปพลิเคชั่นระบุตัวตนสายเรียกเข้าที่ไม่รู้จักและป้องกันสแปม พบว่า ประเทศไทยถูกหลอกลวงเป็นอันดับ 1 ในทวีปเอเชีย โดยแต่ละคนจะได้รับ SMS หลอกลวงเฉลี่ย 20 ข้อความต่อคนต่อปี และในปี 2566 อัตราการหลอกลวงเพิ่มขึ้นร้อยละ 18 หรืออยู่ที่ 79 ล้านครั้ง หมายความว่า มิจฉาชีพมีความพยายามหลอกลวงเอาทรัพย์สินจากเหยื่อให้ได้มากขึ้น ดังนั้นเราจึงต้องยิ่งรวมกลุ่มกันให้เข้มแข็งมากขึ้น ซึ่งตนเห็นว่า โคแฟคเป็นจุดตั้งต้น ขณะที่ สสส. ก็พยายามสนับสนุน แต่ทุกภาคส่วนต้องลุกขึ้นมาร่วมมือกัน ไม่ว่าจะเป็น ประชาชน มหาวิทยาลัย นักวิชาการ และภาคประชาสังคมต้องร่วมกันสร้างความเข้มแข็ง สร้างจิตอาสาเพื่อร่วมกันช่วยเหลือในการตรวจสอบข่าวลวง และช่วยป้องกันคนที่อาจจะอยู่ในความเสี่ยงในการรับข่าวสารต่าง ๆ เช่น กลุ่มผู้สูงอายุ กลุ่มผู้ที่อยู่ห่างไกลข้อมูล เป็นต้น
“สสส. ได้ทำงานร่วมกับทีมโคแฟคตั้งแต่ปี 2563 และต้องขอบคุณอาจารย์หลาย ๆ ท่านที่ทำโครงการนี้ เพราะเครือข่ายที่สร้างขึ้นมานี้ ทำให้ สสส. ได้อาศัยเครือข่ายในการที่จะช่วยกันตรวจสอบข่าว ซึ่งการมีส่วนร่วมดังกล่าวสำคัญอย่างยิ่ง” นพ.พงศ์เทพ กล่าว
จากนั้นจึงเข้าสู่ช่วง Lightning Talks ในหัวข้อ“ภาพรวมการตรวจสอบข้อมูลลวงในรอบปี 2566”ประกอบด้วย วิทยากร 5 ท่านที่ร่วมให้มุมมอง ได้แก่ รศ.ดร.เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์ อาจารย์ภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และนักสื่อสารวิทยาศาสตร์ เจ้าของเพจ “อ๋อ มันเป็นอย่างนี้นี่เอง by อาจารย์เจษฎ์”เปิดเผยว่า สิ่งที่พบในรอบปีที่ผ่านมา คือ “ข่าวปลอมที่พบและได้โพสต์อธิบายชี้แจง มากกว่าครึ่งเป็นเรื่องเดิม ที่ถูกแชร์วนซ้ำกลับมาใหม่” วนกลับมาทุกปีบ้าง หรือบางครั้งก็กลับมาแชร์ใหม่ในรอบ 10 ปี
ขณะที่เนื้อหาข่าวลวงหรือข่าวปลอมที่พบได้บ่อยๆ คือ ข่าวที่เป็นเรื่องใกล้ตัว เช่น เรื่องสุขภาพ เพราะผู้พบเห็นจะเกิดความตกใจและอยากแชร์ต่อ แต่เนื้อหาที่สร้างผลกระทบต่อสังคมอย่างมาก คือ ข่าวปลอมประเภทแอบอ้างบริษัทที่มีชื่อเสียงเพื่อชักชวนให้ลงทุน เพราะเป็นเนื้อหาที่ทำให้ผู้หลงเชื่อสูญเสียทรัพย์สิน ซึ่งสังเกตว่า แพลตฟอร์มสื่อสังคมออนไลน์อย่างเฟซบุ๊ก นอกจากจะไม่ช่วยนำเนื้อหาทำนองนี้ออกจากระบบแล้วยังเหมือนกับสนับสนุนการเผยแพร่เสียด้วยซ้ำไป
“พวกนี้มักจะเป็นโพสต์ที่มีสปอนเซอร์หมดเลย แม้จะช่วยกันรีพอร์ตอย่างไรมันก็ไม่ออกไป เป็นสถานการณ์ที่น่าห่วงในรอบปีที่ผ่านมา ตัวแพลตฟอร์มเองทำให้เราเจอข่าวปลอม ส่วนหนึ่งที่ใกล้ชิดประชาชนอาจจะไม่ได้อยู่ในโลกโซเชียล คือกลุ่ม SMS หลอกลวง คอลเซ็นเตอร์ต่าง ๆ พวกนี้ผลกระทบสูงมาก เฉพาะที่ผมเจอกับตัวเองแล้วเอาไปโพสต์ให้ดูว่าผมเจออย่างนี้ชาวบ้านเจอไหม? เจอกันทุกคน ข่าวปลอมที่น่าห่วงคือ เรื่องที่ทำให้สูญเสียทรัพย์สิน ในช่วงรอบปีที่ผ่านมาถือเป็นอันที่เด่นชัดและอันตรายมาก” รศ.ดร.เจษฎา กล่าว
นอกจากนี้ รศ.ดร.เจษฎา ยังให้ข้อมูลว่า แหล่งที่มาของข่าวปลอมที่มาจากผู้ที่ได้รับความน่าเชื่อถือในสังคม ไม่ว่าจะเป็น หมอ อาจารย์ หรือ อินฟลูเซอร์จากแพลตฟอร์มต่าง ๆ ถือเป็นสิ่งที่น่ากังวลไม่น้อย เช่น ข่าวต่อต้านดื่มนมที่มีที่มามาจากกลุ่มแพทย์ทางเลือกที่มีชื่อเสียงและศรัทธาในสังคม รวมทั้งข่าวปลอมที่สร้างขึ้นมาจากปัญญาประดิษฐ์ (AI) ที่คนยังไม่สามารถแยกแยะความจริงกับความลวงออกจากกันได้จากข่าวเหล่านั้นได้
ณัฐกร ปลอดดี ผู้ตรวจสอบข่าวประจำภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก สำนักข่าว AFP กล่าวถึง การตรวจสอบข่าวลวง อย่าง ภาพที่ถูกดัดแปลงหรือถูกสร้างด้วยปัญญาประดิษฐ์แล้วเผยแพร่ออกไปหากเทียบระหว่างการโพสต์ภาพธรรมดา กับการโพสต์ภาพที่มาพร้อมกับคำบรรยาย หรือโพสต์ที่ถูกแชร์ออกไปโดยคนที่ทำงานสื่อ แบบใดจะส่งผลกระทบต่อสังคมมากกว่ากัน ดังนั้นสื่อจึงต้องทำหน้าที่เป็นผู้ตรวจสอบข้อเท็จจริง (Fact-checker) ที่มาของข้อมูล และต้องคัดกรอง (Gatekeeper) ระหว่างข้อมูลที่ดีกับข้อมูลที่ผิดพลาดคลาดเคลื่อน
“เมื่อสื่อกระแสหลักให้พื้นที่กับข้อมูลพวกนี้ เท่ากับเป็นการอนุญาตให้ข้อมูลชุดนี้ขึ้นไปสู่ Highway (ถนนสายหลัก) แล้วก็มีการแชร์กันต่ออย่างรวดเร็ว อีกประเด็นที่กลับมาอีกครั้งในปีนี้ ก็คือ ข้อมูลเท็จเกี่ยวกับวัคซีน อาจจะโยงไปถึงเรื่องทฤษฎีสมคบคิด และหากสื่อหลักโดยเฉพาะสื่อที่มียอดผู้ติดตามอย่างต่อเนื่องสูงๆ ให้พื้นที่กับข้อมูลเหล่านี้ จะยิ่งขยายไปอย่างเร็วเร็วมากและ Fact-check ที่ตามตรวจสอบ Viral (การแพร่กระจาย) ไม่เท่ากับตัวข้อมูลชุดที่ผิดแน่นอน” ณัฐกร กล่าว
ดร.สันติภาพ เพิ่มมงคลทรัพย์ รองผู้อำนวยการศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม กล่าวว่า ในช่วงแรกของการเปิดศูนย์ฯ ซึ่งอยู่ในช่วงที่มีสถานการณ์โควิด-19 ซึ่งมีข่าวปลอมที่เกี่ยวกับโควิดจำนวนมาก จากนั้นก็จะมีข่าวที่เกี่ยวกับอาหารเสริม แต่ปัจจุบันภัยที่เกิดขึ้น มากไปกว่าข่าวปลอมแล้ว คือ การหลอกลวงทางออนไลน์หรือแก๊งคอลเซ็นเตอร์ ทำให้ระยะหลัง ๆ จะมีข้อมูลเหล่านี้เข้ามาให้ศูนย์ฯ ช่วยตรวจสอบมากขึ้น และส่วนใหญ่เป็นการแอบอ้างหน่วยงานภาครัฐ
ส่วนใหญ่จะเป็นข่าวที่ส่งมาเป็น Link โดยที่มิจฉาชีพจะส่ง Link ไปให้กลุ่มเป้าหมายด้วยการอ้างว่ามาจากกรมที่ดิน เมื่อเป้าหมายเห็นแล้วอยากรู้ว่าใช่กรมที่ดินจริงหรือไม่ ก็กดเข้าไปดู แล้วก็พบว่า หน้าเว็บไซต์เหมือนเว็บจริงของกรมที่ดินแทบทุกอย่าง ต่างก็แต่เพียง URL ของ Link ที่ใช้เข้าไปดูเว็บไซต์เท่านั้น หรือเทคโนโลยีใหม่ ๆ เช่น แอปพลิเคชั่นแต่งภาพปรับหน้าตาของเราให้ดูดีขึ้นโดยไม่ต้องไปให้แพทย์ทำศัลยกรรม ทำให้เกิดกรณีภาพที่เห็นกับตัวจริงที่ได้พบเจอเหมือนเป็นคนละคน
“ช่วงนี้ในการที่จะตัดต่อ แต่งเติม หรือเผยแพร่ข่าวสาร ทำได้ง่ายมาก ๆ มีคนไม่น้อยสามารถเป็นนักข่าวได้ เป็น Bubble Culture (วัฒนธรรมฟองสบู่) ที่ทุกคนแห่กันผลิตสื่อ อยู่ ๆ ผมอาจจะอุปโลกน์ขึ้นมาว่าเป็นหมอคนหนึ่ง ซึ่งไม่มีใครมาโชว์ใบรับรองคุณวุฒิวิชาชีพ และพูดเนื้อหาเกี่ยวกับสุขภาพแบบผิดๆ ถูกๆ เป็นเรื่องที่พึงระวังในยุคปัจจุบัน”สันติภาพ กล่าว
พีรพล อนุตรโสตถิ์ ผู้จัดการศูนย์ชัวร์ก่อนแชร์ สำนักข่าวไทย อสมท. กล่าวว่า ปัจจุบันการทำงานของชัวร์ก่อนแชร์ล่วงเข้าสู่ปีที่ 10 แล้ว ตอนแรกที่เริ่มทำตั้งใจจะทำเพียง 10 ปี แต่วันนี้เห็นแล้วว่ายังมีอะไรต้องทำต่ออีกมาก จากความท้าทาย 3 ประการ คือ 1) ปัญญาประดิษฐ์ (AI) ที่จะหลอกประสาทสัมผัสของเรา ทำให้แยกแยะสิ่งต่าง ๆ ได้ยากขึ้น 2) ข้อมูลเก่ากลับมาแชร์วนซ้ำบนแพลตฟอร์มใหม่ ข่าวลวงหลายเรื่องเกิดมาตั้งแต่ยุคฟอร์เวิร์ดเมล ก่อนแปลงเข้าสู่สื่อสังคมออนไลน์ ล่าสุดนำไปแชร์กันในแพลตฟอร์ม TikTok และอนาคตก็อาจไปต่อที่แพลตฟอร์มอื่น ๆ อีก และ 3) การหลอกลวงสามารถแปลงเป็นเงินได้ ขณะที่แพลตฟอร์มดูเหมือนจะกลายเป็นเครื่องมือของมิจฉาชีพ
“หลายแพลตฟอร์มกลายเป็นเครื่องมือของมิจฉาชีพ ซึ่งเป็นสิ่งที่น่ากังวลมาก ถ้าเราเห็นคำว่า ‘ได้รับการสนับสนุน’ บนโพสต์เมื่อไหร่ อันดับแรกคิดไว้ก่อนว่าหลอกหรือเปล่า? เพราะคนร้ายใช้เรื่องนี้ในการหลอกลวงเราเยอะมาก” พีรพล กล่าวสิ่งสำคัญที่สุดของ Fact-checker คือ การสร้างความรู้ ความเข้าใจในการเท่าทันสื่อให้แก่ทุก ๆ คน เพื่อไม่ให้ตนเองตกเป็นเหยื่อ
สุภิญญา กลางณรงค์ ผู้ร่วมก่อตั้งภาคีโคแฟค (ประเทศไทย) กล่าวว่า โคแฟคทำงานมาจนถึงปัจจุบันซึ่งเป็นปีที่ 5 แล้ว โดยในช่วง 2-3 ปีแรกที่เริ่มทำงานตรงกับสถานการณ์โรคระบาดโควิด-19 ดังนั้นข่าวลวงที่ได้ตรวจสอบบ่อย ๆ ก็จะเป็นเรื่องเกี่ยวกับสุขภาพ เช่น เรื่องโควิด เรื่องวัคซีน กระทั่งในปี 2566 ที่ผ่านมา ข้อมูลจำนวนมากที่พบจะเป็นเรื่องการเมือง จนปัจจุบันที่ข้ามจาก Cheapfake มาเป็น Deepfake แม้เรื่องอย่างมะนาวโซดารักษามะเร็ง เรื่องทฤษฎีสมคบคิด เรื่องการเมือง หรือเรื่องศาสนาที่ทำให้เกิดความขัดแย้งเกลียดชังกันจะยังคงมีอยู่ประปราย
แต่โจทย์ที่ยากขึ้น คือ การหลอกลวงของมิจฉาชีพ ซึ่งตามสถิติของ Whoscall ในปีที่ผ่านมา ประเทศไทยขึ้นอันดับ 1 ของเอเชียในการที่ถูกหลอก ทำให้โคแฟคมีโจทย์ที่ซับซ้อนขึ้น อย่างปัจจุบันที่โคแฟคมีไลน์แชทบอทให้คนเข้ามาถามข่าว-ตรวจสอบ ยังทันหรือไม่ในยุคของ Deepfakeจึงค่อนข้างกังวล อย่างไรก็ตาม โคแฟคยังคงยืนหยัดในการทำงาน 3 เรื่อง ก็คือ
1.) สร้างนวัตกรรมเครื่องมือในการตรวจสอบง่าย ๆ ให้กับพลเมือง ที่จะสามารถใช้เช็คได้ด้วยตนเอง ต่อมา 2) การสร้างขยายเครือข่ายชุมชนที่เข้มแข็ง อย่างทุกคนที่มาร่วมงานในครั้งนี้ และ 3) งานแคมเปญเชิงนโยบาย อย่างในปี 2567 นี้เราอาจต้องทำงานกับหลายภาคส่วนมากขึ้น เช่น กสทช. ตำรวจ ธนาคารแห่งประเทศไทย องค์กรผู้บริโภค เพื่อรับมือกับ Deepfake ซึ่งไม่ว่าจะเป็น Deepfake หรือ Cheapfake ล้วนมาจากปัญหาเดียวกันคือ การตั้งใจใช้ข้อมูลเพื่อหลอกลวงผู้อื่น
“Cheapfake ก็คือ การหลอกลวงกันแบบง่าย ๆ โทร.มาหลอก ขนาดใช้ Cheapfake ยังเสียหาย 3 หมื่นกว่าล้านบาท ถ้า Deepfake จะเป็นเท่าไหร่?เป็นเรื่องที่เราต้องช่วยกันคิดในการรับมือ” สุภิญญา กล่าว
นอกจากนี้ ภายในงานยังมีวงเสวนาอีก 2 หัวข้อ คือ “จากชีพเฟคถึงดีพเฟค การตรวจสอบรู้เท่าทันยังเพียงพอหรือไม่” ประกอบด้วยผู้ร่วมเสวนา ดังนี้ภิญโญ ตรีเพชราภรณ์ ผู้อำนวยการฝ่ายบริหารความเสี่ยงภาพรวม ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.), ฐิตินันท์ สุทธินราพรรณ ผู้อำนวยการฝ่ายการตลาดประจำภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ บริษัท Gogolook และ Whoscall, จีรพงษ์ ประเสริฐพลกรัง เลขาธิการสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย, จิรพร วิทยศักดิ์พันธุ์ ประธานคณะกรรมการบริหารแผนคณะที่ 8 สสส., มาซาโต กาจิโมโต ศาสตราจารย์ประจำศูนย์วารสารศาสตร์และสื่อศึกษา มหาวิทยาลัยฮ่องกง และเฟธ เฉิน ตัวแทนจาก APAC News Partnerships, Google News Initiative (GNI)
และหัวข้อ “การรับมือกับข้อมูลลวงทั้งมวล ด้วยมิติทางจิตวิญญาณ” ประกอบด้วยผู้ร่วมเสวนา ดังนี้พระมหานภันต์ สนฺติภทฺโท ผู้ช่วยเจ้าอาวาส วัดสระเกศราชวรมหาวิหาร และประธานกรรมการ มูลนิธิสถาบันการจัดการวิถีพุทธเพื่อสุขและสันติ (สกพ.), บาทหลวงอนุชา ไชยเดช ผู้อำนวยการสื่อมวลชนคาทอลิกประเทศไทย, อันธิกา เสมสรร ผู้แทนเครือข่ายสื่อมุสลิมเชียงใหม่, ธนิสรา เรืองเดช CEO และผู้ร่วมก่อตั้ง PUNCH UP และธนกฤต ศรีวิลาศ เจ้าของช่อง The Principia
-/-/-/-/-/-/-/-/-/-/-