ข่าวลวง-คลิปเก่าระบาดทั่วเน็ต หลังอิหร่านโจมตีตอบโต้อิสราเอล COFACT Special Report 33/67

ระบบป้องกันทางอากาศของอิสราเอล สกัดขีปนาวุธและโดรนจากอิหร่าน ขณะมุ่งมายังเป้าหมายในประเทศอิสราเอล เมื่อวันที่ 13 เมษายน 2567 ภาพโดย Reuters

โดย ธีรนัย จารุวัสตร์

สมาชิก Cofact

ผู้เชี่ยวชาญพบคลิปและภาพเชิงบิดเบือนในโซเชียลมีเดียจำนวนมาก ขณะเหตุการณ์กองทัพอิหร่านยิงขีปนาวุธและโดรนนับร้อยลูกใส่อิสราเอลเมื่อช่วงสงกรานต์ที่ผ่านมา โดยส่วนใหญ่เผยแพร่โดยบรรดาบัญชีผู้ใช้ที่อ้างตัวเองว่าเป็น “แหล่งข่าว” น่าเชื่อถือ ที่มียอดผู้ติดตามรวมกันหลายล้านคน 

สถานการณ์ในภูมิภาคตะวันออกกลางขณะนี้ หากจะใช้สำนวนว่า “ความวัวไม่ทันหาย ความควายเข้ามาแทรก” ก็คงไม่ผิดนัก เมื่อสองชาติคู่อริไม้เบื่อไม้เมาตลอดกาล “อิหร่าน-อิสราเอล” กำลังเผชิญหน้ากันท่ามกลางความตึงเครียดในระดับที่ไม่เคยมีมาก่อน จนหลายฝ่ายกังวลว่าอาจจะบานปลายเป็นสงครามระลอกใหม่ในภูมิภาค

ชนวนเหตุการเผชิญหน้าครั้งนี้ เริ่มจากเหตุกองทัพอากาศอิสราเอลทิ้งระเบิดใส่สถานกงสุลอิหร่าน ณ กรุงดามัสกัส ประเทศซีเรีย เมื่อวันที่ 1 เมษายน คร่าชีวิตผู้คนกว่า 16 ราย มีทั้งเสนาธิการและเจ้าหน้าที่การทหารระดับสูงของอิหร่านจำนวนมาก และประชาชนที่ไม่เกี่ยวข้องอีก 2 ราย 

ต่อมาเมื่อกลางดึกของคืนวันที่ 13 เมษายน ถึงเช้ามืดวันที่ 14 เมษายน อิหร่านได้โต้ตอบการโจมตีดังกล่าว ด้วยการปล่อยขีปนาวุธและโดรนติดอาวุธกว่า 300 ลูก ไปยังอิสราเอล ซึ่งส่วนใหญ่ถูกสกัดโดยระบบป้องกันทางอากาศของอิสราเอลและชาติพันธมิตร ทั้งนี้ ถึงแม้จะไม่มีรายงานผู้เสียชีวิตจากการโจมตีของอิหร่าน แต่รัฐบาลอิสราเอลยืนยันว่าจะต้องโต้ตอบกลับไปยังอิหร่านอีกรอบเช่นกัน

ด้าน António Guterres เลขาธิการสหประชาชาติ ได้แถลงประณามทั้งเหตุโจมตีสถานกงสุลอิหร่านโดยอิสราเอล และประณามการโจมตีอิสราเอลโดยอิหร่าน พร้อมเรียกร้องให้ทุกฝ่ายช่วยกันใช้ความอดกลั้นต่อกัน ไม่ให้การเผชิญหน้ารุนแรงไปมากกว่านี้

ขณะเดียวกัน ข่าวสารเกี่ยวกับเหตุการณ์นี้ในโลกอินเทอร์เน็ต ยังได้มาพร้อมกับ “ข่าวบิดเบือน” ระลอกใหญ่ตามระเบียบ 

AI อาละวาดก่อนใครเพื่อน

กรณีแรกๆของข่าวบิดเบือนระลอกนี้ เริ่มต้นตั้งแต่ช่วงวันที่ 4 เมษายน หรือไม่กี่วันหลังกองทัพอิสราเอลเปิดฉากสังหารเจ้าหน้าที่อิหร่านคาสถานกงสุลในซีเรีย โดยผู้ใช้ทวิตเตอร์ (หรือที่เปลี่ยนชื่อเป็น “X”) จำนวนมาก สังเกตเห็นข่าวใหญ่ในแท็บ Explore ของทวิตเตอร์ พาดหัวว่า “อิหร่านยิงมิสไซล์ถล่มกรุงเทลอาวีฟ”  

ส่วนเนื้อหาข่าวระบุด้วยว่า การโจมตีของอิหร่านสร้างความเสียหายอย่างหนัก เกิดเพลิงไหม้ในอาคารบางแห่ง 

ข่าวดังกล่าวได้สร้างความสับสนอย่างมาก เพราะขณะนั้นไม่ได้มีการโจมตีจากอิหร่านแต่อย่างใด ประกอบกับผู้ใช้ทวิตเตอร์จำนวนมาก รีทวีตและเผยแพร่ข่าวนี้อย่างแพร่หลาย จนทำให้ข่าวการโจมตีจากอิหร่าน(ซึ่งไม่มีอยู่จริง)ติดอันดับข่าว trending ในเวลาอันรวดเร็ว ยิ่งสร้างความสับสนเข้าไปใหญ่

ต้นตนของข่าวบิดเบือนครั้งนี้มาจาก “Grok” ซึ่งเป็น AI chatbot ของทวิตเตอร์ ซึ่ง Elon Musk เจ้าของทวิตเตอร์ได้พยายามโหมโฆษณามาตลอดหลายเดือนว่าเป็น AI chatbot ที่มีประสิทธิภาพและน่าเชื่อถือ ผู้ใช้ทวิตเตอร์สามารถพูดคุยกับ Grok เพื่อติดตามข่าวสารต่างๆได้รวดเร็ว

แต่ปรากฎว่า Grok เกิดอาการ “หลอน” ขึ้นมากระทันหัน และประมวลข่าวโจมตีจากอิหร่านออกมาโดยไม่มีข้อเท็จจริงใดๆรองรับ แถมอัลกอริทึมเจ้ากรรมของทวิตเตอร์ ยังรีบดันข่าวนี้ของ Grok ให้คนจำนวนมากได้พบเห็น อันเป็นส่วนหนึ่งของความพยายามจากทีมผู้บริหารทวิตเตอร์ เพื่อเพิ่มยอดการมองเห็นของ Grok นั่นเอง

นับเป็นอีกหนึ่งอุทาหรณ์สอนใจว่าด้วยการใช้ AI ในโซเชียลมีเดีย ซึ่งมักมาพร้อมความเสี่ยงต่อความผิดพลาดของข้อมูล ดังที่เกิดขึ้นครั้งแล้วครั้งเล่า 

เรื่องเก่าเล่าใหม่

เมื่ออิหร่านเปิดฉากโจมตีตอบโต้อิสราเอลขึ้นมาจริงๆในวันที่ 13 เมษายน ข้อมูลข่าวสารบิดเบือนระลอกใหญ่ก็ถล่มโซเชียลมีเดียทันที โดยเฉพาะในทวิตเตอร์ ส่วนหนึ่งเป็นเพราะทวิตเตอร์มีบัญชีผู้ใช้จำนวนมากระบุว่าเป็นแหล่งข่าว “ข่าวกรองทางแหล่งข้อมูลเปิด” (Open source intelligence หรือ OSINT) 

บัญชีผู้ใช้เหล่านี้มักเผยแพร่ “ข่าวกรอง” ที่ได้มาจากประชาชนทั่วไปหรือข้อมูลที่รวบรวมจากสาธารณะ อย่างไรก็ตาม หลังอิหร่านโจมตีอิสราเอล บัญชีเหล่านี้กลับกลายเป็นตัวการเผยแพร่ภาพและคลิปบิดเบือนจำนวนมากเสียเอง ยกตัวอย่างเช่น 

  • คลิปวิดิโอที่ระบุว่า “ชาวอิสราเอลวิ่งหนีแตกตื่น ขณะอิหร่านยิงมิสไซล์ถล่มอิสราเอล” แท้จริงแล้ว เป็นคลิปแฟนเพลงรุมล้อมศิลปินชาวอังกฤษ Louis Tomlinson ที่กรุงบัวโนสไอเรส ประเทศอาร์เจนตินา
  • ภาพที่ระบุว่า “โดรนของอิหร่านบินไปไม่ถึงอิสราเอล เพราะเกี่ยวติดสายไฟ” แท้จริงแล้ว เป็นภาพอุบัติเหตุโดรนตกที่ประเทศซีเรีย 
  • คลิปวิดิโอที่ระบุว่า “ขีปนาวุธถล่มเป้าหมายในอิสราเอล” แท้จริงแล้วเหตุการณ์สู้รบระหว่างฮามาสกับกองทัพอิสราเอล ตั้งแต่เมื่อปี 2564 และปลายปี 2566 
  • คลิปวิดิโอที่ระบุว่าเป็นจังหวะที่กองทัพอิหร่านยิงขีปนาวุธไปยังอิสราเอล แท้จริงแล้วเป็นคลิปการสู้รบในประเทศตุรกี ตั้งแต่uเมื่อปี 2563
  • คลิปวิดิโอที่ระบุว่า “ชาวอิสราเอลแห่ไปยังสนามบิน เพื่อหนีออกนอกประเทศ หลังอิหร่านโจมตีอิสราเอล” แท้จริงแล้วเป็นคลิปในสถานีรถไฟใต้ดินกรุงปารีส ตั้งแต่เมื่อปี 2562 
  • คลิปวิดิโอที่ระบุว่าเป็นจังหวะที่ขีปนาวุธลูกใหญ่ของอิหร่าน ถล่มเป้าหมายในอิสราเอล แท้จริงแล้วเป็นคลิปขีปนาวุธยูเครนถล่มกองทัพเรือรัสเซีย เมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมา
  • คลิปวิดิโอที่ระบุว่าเป็นชาวปาเลสไตน์ออกมาเฉลิมฉลองการโจมตีอิสราเอลโดยอิหร่าน แท้จริงแล้ว เป็นคลิปชาวปาเลสไตน์ทำพิธีละหมาดร่วมกันที่มัสยิดอัล-อักซอ ในช่วงเดือนรอมฎอนที่ผ่านมา

ฯลฯ 

จะสังเกตได้ว่า กรณีเหล่านี้เป็นการเอาภาพหรือคลิปจากเหตุการณ์อื่นๆ ที่ไม่เกี่ยวข้องกัน มาเชื่อมโยงกับสถานการณ์ปัจจุบัน อันเป็นรูปแบบข้อมูลข่าวสารบิดเบือนที่ชาว factcheckers มักจะพบเจอเป็นประจำนั่นเอง 

สื่อทางการโดนดักด้วย (หรือเจตนา?)

นอกจากนี้ แม้แต่ช่องทางสื่อสารทางการของทั้งอิสราเอลและอิหร่าน ก็ได้นำเสนอข้อมูลผิดพลาดดังเช่นลักษณะข้างต้นด้วยเช่นกัน 

เช่น กองทัพอิสราเอลได้เผยแพร่คลิปวิดิโอที่ระบุว่าเป็นภาพการปล่อยจรวดซัลโวชุดใหญ่โดยกองทัพอิหร่าน แต่ปรากฎว่าเป็นคลิปเหตุการณ์กองทัพรัสเซียซ้อมรบตั้งแต่เมื่อปี 2560

ส่วนสื่อทางการของอิหร่าน ก็ได้เผยแพร่คลิปที่อ้างว่าเป็นระเบิดลูกใหญ่ในอิสราเอล หลังขีปนาวุธอิหร่านตกใส่เป้าหมายอย่างจัง แต่จริงๆแล้ว เป็นคลิปเหตุการณ์เพลิงไหม้ที่ประเทศชิลี เมื่อต้นปีที่ผ่านมาต่างหาก

ขณะเดียวกัน สื่อทางการอิหร่านยังได้เอาคลิปแฟนเพลง Louis Tomlinson ที่ประเทศอาร์เจนตินา ดังที่กล่าวมาแล้วข้างต้น มาเผยแพร่ในรายการข่าว แล้วระบุว่าเป็นความแตกตื่นโกลาหลในประเทศอิสราเอลด้วย 

ข่าวกรองหรือข่าวกลวง?

ทั้งนี้ ดังที่ผู้เขียนได้กล่าวมาแล้วว่า ภาพและคลิปเหตุการณ์ที่บิดเบือนส่วนใหญ่นั้น ล้วนแต่มาจากบรรดาแหล่งข่าว “ข่าวกรองทางแหล่งข้อมูลเปิด” หรือ “OSINT” ในทวิตเตอร์ 

บัญชี OSINT เหล่านี้ ได้รับความนิยมอย่างมากในช่วงไม่กี่ปีมานี้ เพราะมักจะนำเอาข้อมูล ภาพ คลิปวิดิโอ ฯลฯ จากบุคคลในพื้นที่การสู้รบหรือความขัดแย้งในประเทศต่างๆ มาเผยแพร่ต่อ โดยในหลายๆสถานการณ์เป็นเหตุการณ์ที่สื่อมวลชนทั่วไปไม่สามารถเข้าไปยังพื้นที่ได้ เช่น สงครามระหว่างยูเครนกับรัสเซียที่ดำเนินมาตั้งแต่ปี 2565

แต่ขณะเดียวกัน แหล่งที่มาของข้อมูลเหล่านี้ก็มักจะขาดความน่าเชื่อถือ เพราะในหลายๆครั้ง เป็นการเอาคลิปหรือภาพที่ส่งต่อกันในโซเชียลมีเดียมาเผยแพร่อีกที โดยที่ไม่ได้ตรวจสอบว่าเป็นภาพหรือคลิปเหตุการณ์อะไรกันแน่ ทำให้เสี่ยงที่จะความผิดพลาดและบิดเบือนสูง ดังที่ผู้เขียนยกตัวอย่างมาในบทความนี้

Shayan Sardarizadeh นักตรวจสอบข้อมูล (fact checker) มือฉมังจากสำนักข่าว BBC ก็ได้แสดงความเห็นไว้ด้วยว่า ผู้เสพข่าวสารในปัจจุบันควรหลีกเลี่ยงบรรดาบัญชี OSINT เกือบทั้งหมดที่เกลื่อนโซเชียลมีเดียขณะนี้ 

อีกปัจจัยหนึ่งที่ทำให้ผู้เสพข้อมูลข่าวสาร แยกแยะแหล่งข่าวที่น่าเชื่อถือได้ยากเย็นขึ้น นั่นคือการที่นาย Elon Musk เปลี่ยนนโยบายสำคัญของทวิตเตอร์ จากที่เมื่อก่อนทวิตเตอร์จะให้เครื่องหมาย blue checkmark เฉพาะกับสื่อมวลชนหรือแหล่งข่าวที่น่าเชื่อถือ เปลี่ยนมาเป็นใครก็ตามสามารถ “ซื้อ” เครื่องหมาย blue checkmark ได้ด้วยเงินเพียง 8 ดอลลาร์สหรัฐต่อเดือนเท่านั้น 

แถมบัญชีผู้ใช้ที่มีเครื่องหมาย blue checkmark ในปัจจุบันยังสามารถสร้างรายได้จากยอดการเข้าชม (views) และยอดปฏิสัมพันธ์ (engagement) กับผู้ใช้อื่นๆได้ด้วย 

ผลที่เกิดขึ้นคือ บัญชี OSINT ซึ่งมีประวัติเผยแพร่ข่าวสารบิดเบือนมาแล้วหลายครั้ง ยังสามารถมีเครื่องหมาย blue checkmark และมีแรงจูงใจทางการเงินที่จะเผยแพร่คลิปหรือวิดิโอที่ไม่ตรวจสอบให้แน่ชัดก่อน เวลาเกิดเหตุการณ์รุนแรงขึ้นในโลก เพื่อกระตุ้นยอดการเข้าชมและยอดปฏิสัมพันธ์โดยไม่ต้องสนใจต่อข้อเท็จจริงนั่นเอง

อ่านเพิ่มเติม:

As Iran attacked Israel, old and faked videos and images got millions of views on X

Shayan Sardarizadeh, BBC Verify