จากศาสนาถึงวิทยาศาสตร์! ‘มีสติ-ตั้งคำถาม-ตรวจสอบข้อมูล’ หลักคิดป้องกันภัย ‘ข่าวลวง’

Editors’ Picks

เมื่อเร็วๆ นี้ ภาคีโคแฟค (ประเทศไทย) ร่วมกับ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กรุงเทพมหานคร (กทม.) และองค์กรต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง เปิดวงเสวนา “การรับมือกับข้อมูลลวงทั้งมวล ด้วยมิติทางจิตวิญญาณ” ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของงานสัมมนาระดับชาติเนื่องในวันตรวจสอบข่าวลวงโลก 2567 (International Fact-Checking Day 2024)ภายใต้ธีมงาน “Cheapfakes สู่ Deepfakes: เตรียมรับมืออย่างไรให้เท่าทัน” ณ หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร พร้อมถ่ายทอดสดผ่านเพจเฟซบุ๊ก “Cofact โคแฟค” และช่องยูทูบ “Thai PBS”

พระมหานภันต์ สนฺติภทฺโท ผู้ช่วยเจ้าอาวาส วัดสระเกศราชวรมหาวิหาร และประธานกรรมการ มูลนิธิสถาบันการจัดการวิถีพุทธเพื่อสุขและสันติ (สกพ.) กล่าวว่า การรับมือข่าวลวง จะมีทั้งคนที่รู้และไม่รู้ ซึ่งคนที่ไม่รู้จะถูกกระทบ ดังนั้นต้องมี Mindfulness (การมีสติ) ซึ่งไม่ควรเป็นเรื่องของปัจเจกบุคคล แต่ควรเป็นเรื่องทั้งสังคม ดังนั้นจึงอนุโมทนากับโคแฟคที่สร้างชุมชนที่ทุกคนสามารถเป็นผู้ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลได้

ทั้งนี้ ชีวิตของคนเรา คือ เสียงสะท้อนของสิ่งที่เราคิด พูด และทำ และเราล้วนอยู่ในห้องเสียงสะท้อน (Echo Chamber) ที่เรียกว่า สังคม ซึ่งมีวัฒนธรรม ศาสนา ความเชื่อ หลายอย่างที่ทำให้เราคิด-เราพูด แล้วก็สะท้อนกลับมาที่ตัวเรา สิ่งที่ควรทำ คือ การทำลายห้องเสียงสะท้อนที่ทำให้เราคิดและเชื่อไปทางเดียวกันโดยไม่ได้ฟังความต่างเพราะสภาวะดังกล่าวจะทำให้ข่าวลวงหรือข้อมูลที่ไม่เป็นจริงได้ผล และสุดท้ายก็จะทำลายเรา

“บางทีข่าวลวงไม่ได้ทำลายเฉพาะปัจเจกบุคคลที่เชื่อว่า มะนาวโซดาช่วยแก้มะเร็งได้ แต่บางครั้งมันไปถึงการทำให้คนเชื้อชาตินี้ ศาสนานั้น คนภาคนั้นภาคนี้เกลียดกัน แล้วสุดท้ายก็ห้ำหั่นบีฑากัน ทั้งหมดนี้เกิดจากภาวะที่ทั้งตัวคนและตัวสังคมไม่มีกลไกในการรับรู้ต่อสู้กับข่าวลวง ฉะนั้นมุมของอาตมาที่อยากจะฝาก คือ พระพุทธเจ้าตรัสว่า สติ เตสัง นิวารณัง สติเป็นเครื่องมือที่จะปิดกั้นกระแสของกิเลส ความเชื่อความเข้าใจผิด ๆ ทิฐิที่ไม่ถูกต้อง ตลอดจนการประพฤติผิดทั้งทางการพูด การคิด การลงมือทำ ดังนั้นจึงใช้สติในการช่วยรับข้อมูลข่าวสาร ด้วยพุทโธ-รู้ว่าอะไรเป็นอะไร ตื่น-ทำในสิ่งที่ตัวเองรู้ และรับส่งข้อมูลด้วยความเบิกบาน” พระมหานภันต์ กล่าว

บาทหลวงอนุชา ไชยเดช ผู้อนวยการสื่อมวลชนคาทอลิกประเทศไทย กล่าวว่า ในศาสนาคริสต์มีคำสอนว่า เมื่อเราอยู่กับผู้คน เราต้องฟังด้วยหัวใจ” หมายถึง ไม่ใช่เพียงการฟังด้วยหู แต่ต้องแปลสารที่ได้รับฟังนั้นด้วยหัวใจของเรา ดังนั้นการอยู่ในสังคมที่มีทั้งข่าวจริงและข่าวลวง สิ่งแรกคือการเริ่มที่ตัวเรา ด้วยการฟังที่หัวใจและสัมผัสให้ได้ แล้วเวลาสื่อสารอย่าพยายามเป็นอีกคนหนึ่งที่เผยแพร่ข่าวลวงหรือข่าวที่ทำให้ไม่เกิดสันติสุข

“เราจะต้องมีโคแฟคอีกกี่หน่วยงานที่ลุกขึ้นมาต่อต้านความลวงโลก แต่ถ้าเรามีตัวตนของเราที่มี Wisdom (ปรีชาญาณ) ฟังด้วยหัวใจ เราอาจจะไม่นับถือใคร แต่อย่างน้อยนับถือตัวเองที่จะต้องสื่อสารที่ดี ศาสนาคริสต์จึงสอนให้รักเพื่อน-พี่น้อง เพราะฉะนั้นเราจึงปฏิบัติต่อพี่น้องด้วยสิ่งที่เราอยากให้เขาปฏิบัติต่อเรา” บาทหลวงอนุชา กล่าว 

อันธิกา เสมสรร ผู้แทนเครือข่ายสื่อมุสลิมเชียงใหม่ กล่าวว่า ในหลักคิดของศาสนาอิสลามมีโองการขององค์อัลเลาะห์ที่กล่าวไว้ว่า พระองค์ได้สร้างมนุษย์ด้วยรูปลักษณ์ที่สวยงามพร้อมกับให้สติปัญญาที่ดีสำหรับการไตร่ตรอง และเราเชื่อว่า ทุกการกระทำ คำพูด หรือแม้แต่ความคิดจะถูกบันทึกเสมอ ทั้งความดีและความชั่ว นอกจากนั้น ท่านศาสดายังมีคำสอนที่ว่า หากเราไม่สามารถพูดในสิ่งที่ดีได้ก็จงนิ่งเสีย นี่คือสิ่งที่มุสลิมทุกคนพึงตระหนัก

“สิ่งที่เราจะสื่อสารออกไป ในมุมของคนที่จะสร้างข่าวลวงหรือส่งต่อสิ่งที่เกิดความเสียหายกับคนอื่น ถ้าเราเชื่อในคำสั่งของพระผู้เป็นเจ้ากับคำสอนของท่านศาสดา มันก็จะช่วยให้เรายับยั้งตัวเราในการที่จะส่งต่อสิ่งที่ไม่ดี กับอีกอันหนึ่งที่เป็นโองการจากพระอัลเลาะห์ คือ ถ้ามีคนชั่วคนใดคนหนึ่งบอกกล่าวข่าวสารที่ไม่ดี แล้วเราไม่สอบสวน แล้วส่งต่อข่าวสารที่ไม่ดีนั้น จนเกิดความเสียหายกับคนอื่น นั่นคือ เราต้องรับผิดชอบเท่ากับคนที่ส่งต่อมาให้เรา เพราะพระองค์ให้สติปัญญามาแล้วหมายความว่า เมื่อเราได้รับข่าวสารมา เราจะต้องทำการตรวจสอบข้อมูลก่อน จึงจะส่งต่อข้อมูลนั้นไปให้ผู้อื่นได้” อันธิกา กล่าว

ธนิสรา เรืองเดช CEO และผู้ร่วมก่อตั้ง PUNCH UP กล่าวว่า งานที่ตนทำเกี่ยวข้องกับวิทยาศาสตร์ข้อมูล (Data Science) ซึ่งเมื่อมองข้อมูลข่าวสาร อย่างแรกที่มองคือ Pool of Resource หมายถึง ของที่มีอยู่ทั้งหมด ส่วนจะดี-ไม่ดี หรือจริง-ไม่จริงอย่างไรค่อยจำแนก ซึ่งเปรียบเทียบได้กับการเดินเข้าไปในซูเปอร์มาร์เก็ต การมีสินค้าให้เลือกจำนวนมากนั้นย่อมดีกว่าไม่มีอะไรให้เลือกเลย

ส่วนการนิยามคำว่า ความจริง-ความลวงเป็นสิ่งที่เราต้องถกเถียงกัน อย่างในมุมของวิทยาศาสตร์ก็ถกเถียงว่า ความจริงนั้นมีเพียงหนึ่งเดียวจริงหรือไม่? หรือเป็นเพียงความจริงเฉพาะ ณ เวลานั้น แต่เมื่อเวลาผ่านไป การมีเทคโนโลยีหรือวิธีวิจัยที่ดีขึ้น ก็อาจมีความจริงอีกชุดหนึ่งเกิดขึ้นได้ ในทางกลับกัน หลายครั้งความลวงก็ไม่ได้เกิดขึ้นโดยตั้งใจ แต่มาจากความไม่รู้หรือความเชื่อว่าเป็นแบบนั้น จึงสรุปออกมาเป็นหลักสำคัญ 4 ประการ คือ

1. มีสติในการรับรู้ (Mindfulness) หมายถึง เมื่อรับรู้หรือได้ข้อมูลอะไรมา อย่าเพิ่งจบเพียงตรงนั้นหรืออย่าเพิ่งเชื่อในทันที ควรใส่เครื่องหมายคำถามให้ตั้งคำถามกับข้อมูลนั้น เช่น มันเป็นแบบนั้นหรือไม่? มีทางอื่นอีกหรือเปล่า? หรือก็คือการคิดเชิงวิพากษ์ (Critical Thinking) 2. หาคำตอบ (Prove)อย่างในมุมของวิทยาศาสตร์ข้อมูล ก็ต้องไปเรียนรู้ว่ามีเครื่องมืออะไรบ้าง อย่างโคแฟคก็เป็นอีกเครื่องมือหนึ่งในการหาความรู้ของคนมารวมกัน ซึ่งไม่ได้หมายความว่า เสียงข้างมากคือความจริง แต่เป็นการหาความเป็นไปได้ รวมถึงทำให้เห็นว่าคนที่เชื่อในความจริงชุดอื่น ๆ เขามีเหตุผลเบื้องหลังอย่างไร 

3. สร้างการรู้เท่าทัน (Literacy) การแบ่งปันความรู้และการทำความเข้าใจกับกลไกการทำงานของสิ่งนั้นหรือกลลวงที่เกิดขึ้นเป็นอย่างไร เช่น เคยมีคนใกล้ตัวตกเป็นเหยื่อแก๊งคอลเซ็นเตอร์ สิ่งที่เขาทำได้คือ แชร์ประสบการณ์กับคนรอบข้างว่าไปทำอย่างไรถึงถูกหลอก ซึ่งการทำงานเรื่องความจริงความลวงก็เช่นเดียวกัน คือ การนิยามว่าอะไรคือความจริง-ความลวง หรือมีจุดประสงค์ที่ใช้เป็นอย่างไร 

และ 4.รู้เท่าทันอารมณ์ตนเอง (Emotional Awareness) สังเกตความรู้สึกของตนเอง

อย่าง “บางทีเรารู้ว่ามันอาจจะไม่ได้จริง 100% แต่เราอยากเชื่อ ทำไมเราถึงไปหาหมอดูคนเดิมทั้งๆ ที่เราไม่รู้ว่าแม่นหรือเปล่า แต่เราบอกเขาแม่นเพราะว่าเขาพูดในสิ่งที่เราอยากได้ยิน คิดว่าข้อมูลข่าวสารคล้าย ๆ กัน บางทีเราจมอยู่กับสิ่งที่เราอยากได้ยินมากกว่าสิ่งที่มาตั้งคำถามกับสิ่งที่เชื่อของเรา” ธนิสรา กล่าว

ธนกฤต ศรีวิลาศ เจ้าของช่อง The Principiaกล่าวว่า ในทางวิทยาศาสตร์มีการแบ่งชั้นข้อมูลเป็น 2 ระดับ คือ ข้อมูลปฐมภูมิ เป็นข้อมูลที่นักวิจัยลงพื้นที่ไปเก็บข้อมูลและศึกษาด้วยตนเอง เป็นข้อมูลที่มีความน่าเชื่อถือสูง กับ ข้อมูลทุติยภูมิเป็นการนำข้อมูลปฐมภูมิที่นักวิจัยทำไว้แล้วมาบอกเล่าต่อ ความน่าเชื่อถือก็อาจเชื่อไม่ค่อยได้ หรืออาจเชื่อถือได้หากมีหลักฐานอื่น ๆ มาสนับสนุน เช่น เปรียบเทียบจากผลการศึกษาหลายๆ ชิ้น

ดังนั้นเมื่อไปดูข้อมูลในสื่อสังคมออนไลน์ หลายครั้งเป็นข้อมูลที่ถูกส่งต่อกันมาหลายทอด ความน่าเชื่อถือก็อาจลดทอนลง อย่างไรก็ตาม แม้กระทั่งข้อมูลปฐมภูมิก็ใช่ว่าจะน่าเชื่อถือไปเสียทั้งหมดเช่น เคยมีนักวิจัยชาวญี่ปุ่นเคยเผยแพร่งานวิจัยที่อ้างว่าสามารถเปลี่ยนเซลล์ของหนูให้กลายเป็นสเต็มเซลล์ได้ แต่เมื่อนักวิจัยคนอื่น ๆ ลองนำวิธีการนั้นไปใช้กลับพบว่าไม่สามารถทำได้ จนเมื่อไปตรวจสอบย้อนหลังก็พบว่า งานวิจัยถูกตีพิมพ์ไปทั้งที่ไม่ใช่เรื่องจริง

จริง ๆ แล้ววิทยาศาสตร์หลักการของมันเลยคือเราจะต้อง Falsification ได้ หมายถึง เราจะต้องตรวจว่ามันผิดได้ ไม่ใช่ตรวจว่ามันถูก หมายถึง ถ้าเราดูข้อมูลแล้วเราพยายามจับผิดมันเพื่อหาข้อมูลว่ามันมีตรงไหนที่ผิดหรือเปล่า? หรือมันมีหลักฐานสนับสนุนครบถ้วนทุกส่วนเลย เพราะอย่างนี้มันถึงได้มีการต่อยอดงานวิจัยได้เรื่อย ๆ ว่าถ้าเกิดเจอช่องโหว่ของงานวิจัยก่อนหน้า เราก็จะทำการวิจัยต่อยอดจากงานวิจัยเดิม ๆ ได้ ในขณะเดียวกันการตรวจสอบข้อมูลจากหลาย ๆ แหล่งที่ตรงกันก็อาจนำไปสู่คำตอบที่น่าเชื่อถือได้ ธนกฤต กล่าว

-/-/-/-/-/-/-/-/-/-/-