ส่องข้อกังวล เมื่อสารคดี Netflix ใช้ AI จำลอง ‘ภาพจากอดีต’ 

Editors’ Picks

ธีรนัย จารุวัสตร์ สมาชิก CoFact

อุตสาหกรรมบันเทิงตะวันตกหันมาใช้เทคโนโลยี AI มากขึ้นเรื่อยๆ แต่ขณะเดียวกันก็ทำให้เกิดข้อถกเถียงว่าอะไรคือขอบเขตที่เหมาะสมของการใช้ AI ในสื่อบันเทิง หลังเริ่มมีกรณีรายการสารคดีนำเอา “หลักฐานในอดีต” ที่ AI ทำขึ้นเอง มาเสนอราวกับว่าเป็นเรื่องจริง 

ตลอดช่วงปี 2566 อุตสาหกรรมบันเทิงในสหรัฐอเมริกาต้องสั่นสะเทือนครั้งใหญ่ เมื่อสหภาพคนทำงานสื่อบันเทิง นักเขียนบท และนักแสดง รวมตัวกันหยุดงานประท้วง ติดต่อกันหลายเดือน เพื่อเรียกร้องค่าตอบแทนและสวัสดิการที่เป็นธรรมจากบรรดากลุ่มทุนเจ้าของค่ายหนังและสื่อบันเทิงต่างๆ 

ที่น่าสนใจคือ หนึ่งในประเด็นปัญหาที่นำไปสู่การนัดหยุดงานประท้วงครั้งนี้ คือการที่ผู้บริหารสื่อบันเทิงใช้ ปัญญาประดิษฐ์ หรือ Artificial Intelligence (AI) สร้างผลงานแทนคนทำงานบ่อยครั้งขึ้นเรื่อยๆ อีกทั้งยังเริ่มมีกรณีบังคับให้นักแสดงรุ่นใหม่ๆ ยินยอมให้ค่ายหนังเก็บภาพและเสียงของตน เพื่อนำไปใช้เป็น AI ในสื่อต่างๆ โดยถือสิทธิ์ขาดแต่เพียงผู้เดียว เป็นต้น

การประท้วงดำเนินต่อเนื่องตั้งแต่เดือนกรกฎาคม ก่อนจะสิ้นสุดลงในเดือนพฤศจิกายน หลังการเจรจาต่อรองระหว่างสหภาพกับตัวแทนผู้บริหารเป็นผลสำเร็จ แต่ในขณะนั้น ผู้เชี่ยวชาญหลายคนตั้งข้อสังเกตว่าประเด็นการใช้ AI ในอุตสาหกรรมบันเทิง มิได้มีข้อยุติอย่างสมบูรณ์เช่นเดียวกับข้อเรียกร้องอื่นๆ พร้อมเตือนไว้ว่าเรื่องนี้จะกลับมาเป็นปมปัญหาในอนาคตอีกอย่างแน่นอน 

ตัดภาพมาที่ปี 2567 คำเตือนเหล่านั้นดูเหมือนจะกลายเป็นจริง เพราะ AI ยังปรากฎตัวขึ้นอย่างต่อเนื่องในสื่อบันเทิง จนเสมือนว่ากลายเป็นเรื่อง “ปกติ” ไปแล้วก็ว่าได้

สร้างสรรค์หรือขี้เกียจ?

ตัวอย่างหนึ่งของการใช้ AI เมื่อไม่นานมานี้ คือโปสเตอร์โปรโมทภาพยนตร์ฟอร์มยักษ์ “Civil War – วิบัติสมรภูมิเมืองเดือด” ซึ่งได้นำเสนอภาพจินตนาการสภาพบ้านเมืองในสหรัฐอเมริกา หลังเกิดเหตุการณ์สงครามกลางเมืองระหว่างฝ่ายต่างๆ 

แต่เมื่อชาวเน็ตสายตาดีลองเพ่งดู กลับพบว่าโปสเตอร์ดังกล่าวมีรายละเอียดพิลึกๆ เช่น ทหารไม่มีขา, รถยนต์มี 3 ประตู, รูปแบบสถาปัตยกรรมที่ผิดรูปร่าง, หงส์มีสัดส่วนผิดปกติ ฯลฯ จนกระทั่งแหล่งข่าวของค่ายหนังยอมรับกับสื่อมวลชนว่า โปสเตอร์เหล่านี้เป็นผลงานของ AI ตามที่หลายคนสงสัย

ยิ่งทำให้ชาวเน็ตหลายคนเกาหัวกันแกรกๆ เพราะภาพยนตร์เรื่องนี้ใช้งบประมาณในการตลาดและโฆษณาหลายล้านเหรียญสหรัฐ แต่ทำไมค่ายหนังกลับอุตริประหยัดเงิน ด้วยการใช้ AI สังเคราะห์ภาพที่บิดเบี้ยวขึ้นมา แทนที่จะให้ศิลปินทำโปสเตอร์แบบหนังเรื่องอื่นๆ

เหตุการณ์คล้ายๆกัน เกิดขึ้นเมื่อต้นปีนี้ เมื่อแฟนคลับซีรีส์ชื่อดัง “True Detective” ของ HBO สังเกตว่าสิ่งของประกอบฉาก ของฉากหนึ่งในซีรีส์ ดูผิดเพี้ยนแบบแปลกๆ

Props ดังกล่าวคือโปสเตอร์ของวง IVE และวง Metallica แต่กลับเป็นโปสเตอร์ที่ AI สร้างขึ้นมา และผลลัพธ์ที่ได้ก็คือ ไม่ได้มีความใกล้เคียงกับโปสเตอร์ของจริงแต่อย่างใด เช่น สะกดผิด และภาพก็บิดเบี้ยวด้วย แถมหน้าตาสมาชิกวง Metallica กลับกลายเป็นหน้าของวง KISS อีกต่างหาก 

ด้านคอมเมนต์จากชาวเน็ตจำนวนหนึ่งก็ตั้งคำถามว่า ทำไมผู้ผลิตรายการถึงต้องใช้ AI ทำภาพขึ้นมา แทนที่จะใช้ภาพของจริง (ซึ่งหาได้ทั่วไปในอินเทอร์เน็ต)

“อันนี้ดูขี้เกียจโคตรๆ” ผู้ใช้ Reddit คนหนึ่งแสดงความเห็น

สารคดีกับความจริง(ที่ทำขึ้น)

การใช้ AI ในสื่อบันเทิงยังดูเหมือนจะยิ่ง “ข้ามเส้น” ไปอีกขั้น พร้อมกับสารคดีของ Netflix เรื่อง What Jennifer Did

สารคดีดังกล่าวนำเสนอชีวประวัติของ Jennifer Pan หญิงชาวแคนาดาที่กลายเป็นผู้ต้องหาในคดีฆาตกรรมสะเทือนขวัญ หลังจากที่เธอและแฟนหนุ่มจ้างมือปืนให้สังหารบิดาและมารดาของตนเอง เพราะความโลภอยากได้เงินมรดกจำนวนมหาศาล เหตุเกิดเมื่อปี 2553

อย่างไรก็ตาม มีชาวเน็ตตาดี (อีกแล้ว) สังเกตว่าสารคดีดังกล่าว เอาภาพที่ AI ทำขึ้น มาใช้ประกอบในฉากที่อ้างว่าเป็นภาพในอดีตของ Jennifer Pan

ดังนั้น เหตุการณ์นี้จึงถือว่า “ข้ามเส้น” ไปยิ่งกว่าหลายกรณีอื่นๆ เพราะ (1) กรณีอย่าง Civil War และ True Detective เป็นผลงานบันเทิง ซึ่งผู้ชมทราบดีว่าไม่ได้เกิดขึ้นจริง แต่กรณีของ What Jennifer Did เป็นสารคดี ซึ่งผู้ชมคาดหวังว่าข้อมูลต่างๆ ต้องเป็นเรื่องจริง และมีความถูกต้อง

(2) ในขณะที่กรณี Civil War และ True Detective ที่นำเอา AI มาใช้ผลิตผลงานด้านการตลาด หรือผลิตของประกอบฉาก แต่ในกรณีของ What Jennifer Did ถือได้ว่าเป็นการใช้ AI สร้างข้อมูลหลักฐานในอดีตขึ้นมาใหม่ทั้งหมดเลยทีเดียว นับเป็นมาตรฐาน “ใหม่” ของวงการสารคดีก็ว่าได้ 

เทียบเท่าได้กับว่า สมมติมีสารคดีเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ แต่ผู้ทำสารคดีกลับใช้ AI สร้างภาพหรือคลิปเก่าๆ แล้วนำเสนอว่าเป็นเหตุการณ์จริงในอดีต แทนที่จะค้นคว้าหาภาพหรือคลิปจากประวัติศาสตร์จริงๆ

นอกจากนี้ หลายคนยังวิจารณ์ว่านอกจาก Netflix จะทำผิดกระทงแรกด้วยการเอา AI มาใช้ในสารคดีแล้ว ยังทำผิดกระทงที่สองด้วย นั่นคือไม่ได้เปิดเผยว่าภาพที่นำมาใช้ประกอบในสารคดี ไม่ได้เป็นภาพจริงๆ ต่างจากการทำสารคดีทั่วๆไป ซึ่งถ้าหากมีการจำลองเหตุการณ์ หรือทำภาพและคลิปเหตุการณ์ขึ้นมาใหม่ จะขึ้นคำเตือนให้ผู้ชมได้รับทราบ 

กรณีดังกล่าวไม่ใช่ครั้งแรกที่ผู้ผลิตสารคดีทดลองการใช้คอนเทนต์จาก AI โดยก่อนหน้านี้เมื่อปี 2564 สารคดีเรื่อง “Roadrunner: A Film About Anthony Bourdain” เกี่ยวกับเชฟชื่อดัง Anthony Bourdain ซึ่งถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักมาแล้ว เพราะใช้เทคโนโลยี “deepfake” สร้างเสียงพูดของ Bourdain ขึ้นมาเอง เพื่อใช้ประกอบสารคดี และไม่ได้แจ้งให้ผู้ชมได้รับทราบว่าเป็นการใช้เทคโนโลยี ไม่ใช่เสียงของเชฟ Bourdain จริงๆ

ในครั้งนั้น ผู้กำกับสารคดีอ้างว่าได้ปรึกษากับครอบครัวของ Bourdain แล้ว รวมถึงอดีตภรรยาของเชฟคนดังกล่าวด้วย และทุกคนยินยอมให้สารคดีทำเสียงจำลองขึ้นมา แต่ปรากฎว่าอดีตภรรยาของ Bourdain เองยืนยันว่า ตนเองไม่เคยให้คำยินยอมตามที่ผู้กำกับกล่าวอ้าง

AI ความบันเทิง และความโปร่งใส

ด้วยกระแส AI ที่กำลังมาแรงตอนนี้ กรณีการใช้ AI ในธุรกิจบันเทิง คงเป็นเรื่องที่หลีกเลี่ยงยาก และที่น่ากังวลคือในขณะนี้ยังไม่มีมาตรฐานหรือจริยธรรมที่ผู้ผลิตสื่อบันเทิงตกลงร่วมกัน ว่าด้วยขอบเขตของการใช้ AI อย่างเหมาะสม

ทั้งนี้ ปฏิเสธไม่ได้ว่าเทคโนโลยี AI มีศักยภาพอย่างมากในการช่วยให้คนทำงานสื่อบันเทิง ไม่ว่าจะเป็นภาพยนตร์หรือสารคดี สามารถทำงานได้ง่ายและประหยัดเวลามากขึ้น 

แต่ผู้เชี่ยวชาญจำนวนหนึ่งก็ได้เริ่มเตือนเช่นกันว่า ถ้าหาก AI นำเอามาใช้ผิดวิธี หรือประหยัดงบประมาณ หรือใช้แทนคนทำงาน ก็จะกลายเป็นผลร้ายต่อวงการสื่อบันเทิงเช่นกัน ไม่ว่าจะเป็นคุณภาพงานที่ต่ำลง การเลิกจ้างงานหรือกดราคาคนทำงานโดยไม่เป็นธรรม หรือแม้กระทั่งกระทบต่อความน่าเชื่อถือของผลงานนั้นๆเอง

“ตอนนี้พวกเราก็ถูกกดันในเรื่องงบประมาณกันอยู่แล้ว” Dawn Porter ผู้กำกับภาพยนตร์ ให้สัมภาษณ์กับ Variety “พวกบริษัททีวีกับสตรีมเมอร์ชอบมาหาเราแล้วก็ถามว่า ‘คุณทำงานโดยใช้งบประมาณน้อยลงได้มั้ย?’ แต่วิธีเดียวที่จะทำให้งานนั้นใช้งบประมาณนั้นน้อยลงได้ ก็คือต้องตัดคนออก เพราะส่วนที่ใช้เงินมากที่สุดในการทำภาพยนตร์คือ ค่าจ้างงาน

“เพราะฉะนั้น ถ้าผมเอาเครื่องจักรมาใช้ทำงานแทนคนเขียนบท หรือผู้ช่วยโปรดิวเซอร์ แน่นอนว่าผมจะสามารถประหยัดงบประมาณได้อยู่แล้ว แต่ก็หมายความว่าสิ่งที่เสียไปก็คือคนทำงาน ซึ่งเป็นเรื่องไม่ดีสำหรับอุตสาหกรรมของเรา และหมายความว่าคุณภาพงานก็จะลดต่ำลงด้วย”

ด้านผู้กำกับอีกคนหนึ่ง Andrew Rossi ระบุว่าตนเคยใช้ AI ในผลงานมาแล้วในสารคดีเกี่ยวกับศิลปิน Andy Warhol โดยใช้ AI สร้างเสียงของ Warhol ขึ้นมาเช่นกัน แต่ขณะเดียวกัน ตนก็เปิดเผยให้ผู้ชมได้รับทราบเกี่ยวกับการใช้ AI และได้รับความยินยอมอย่างเป็นทางการจากทายาทของศิลปินคนดังกล่าวแล้วด้วย 

ดังนั้น Rossi จึงมองว่าอุตสาหกรรมบันเทิงสามารถใช้ AI ได้ในโอกาสที่เหมาะสม แต่สิ่งที่ละเลยไม่ได้เลยคือ “ความโปร่งใส” 

“ทางที่ดีที่สุดคือต้องทำอย่างจริงจัง ต้องแสวงหาคำปรึกษา และ – อันนี้สำคัญที่สุด – คุณต้องเปิดเผยอย่างชัดเจนกับผู้ชมของคุณ” Rossi กล่าวสรุป ซึ่ง Porter ก็เห็นด้วยในประเด็นนี้ 

“ผมเคยทำงานที่สำนักข่าว ABC News และเจ้านายผมย้ำอยู่ตลอดว่า ถ้าสาธารณชนไม่ไว้ใจเราอีกต่อไป เราก็จบเห่” Porter กล่าว “ผมคิดว่าสารคดีก็อยู่ในจุดนี้เหมือนกัน ผมคิดว่าตอนนี้เราควรมาตั้งหลักแล้วคิดกันใหม่จริงๆจังๆว่า อะไรคือสารคดีกันแน่?” 

อ่านเพิ่มเติม

Doc Filmmakers Debate Growing Use of AI in Non-Fiction Projects: ‘We Are Supposed to Be the Truth’

Netflix doc accused of using AI to manipulate true crime story