เตรียมจัดงาน ‘APAC Trusted Media Summit’20-21กย.นี้ ‘ไทย’ชูประเด็น‘ข้อมูล’น่าห่วง มุ่งส่งเสริมสื่อที่สังคมเชื่อถือได้
เตรียมจัดงาน ‘APAC Trusted Media Summit’20-21กันยานี้ ‘ไทย’ชู3ประเด็น‘ข้อมูล’น่าห่วง มุ่งส่งเสริมสื่อที่สังคมเชื่อถือได้
25 ส.ค. 2565 ที่โรงแรมแอทสยาม ย่านปทุมวัน กรุงเทพฯ โคแฟค (ประเทศไทย) ภายใต้การสนับสนุนของ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และมูลนิธิฟรีดริช เนามัน ร่วมกับ Google News Initiative จัดงานแถลงข่าวการประชุมสุดยอด APAC Trusted Media Summit ประจำปีครั้งที่ 5 ซึ่งงานแถลงข่าวครั้งนี้ยังถ่ายทอดสดผ่านเฟซบุ๊กเพจ “Cofact โคแฟค” ไปพร้อมกันด้วยอีกช่องทางหนึ่ง
การประชุมสุดยอดประจำปีนี้ จะจัดขึ้นระหว่างวันที่ 20-21 ก.ย. 2565 ในรูปแบบผสมผสาน โดยมีการจัดประชุมออนไลน์ระดับภูมิภาคในวันที่ 20 ก.ย. 2565 และแบบตัวต่อตัวในสถานที่ต่างๆ ทั่วทั้งภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก โดยภายในงานจะเป็นการรวมตัวกันของนักข่าว ผู้ตรวจสอบข้อเท็จจริง นักวิชาการ นักวิจัย นักเคลื่อนไหว ตลอดจนผู้กำหนดนโยบายที่ต่อสู้กับข้อมูลเท็จทั่วทั้งภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ด้วยมุ่งหวังให้เกิดการสร้างเครือข่าย รวมทั้งแบ่งปันแนวปฏิบัติที่ดีที่สุดในด้านการตรวจสอบข้อเท็จจริง การพิสูจน์ความจริง การรู้เท่าทันสื่อ
ญาณี รัชต์บริรักษ์ รักษาการผู้อำนวยการสำนักสร้างเสริมระบบสื่อและสุขภาวะทางปัญญา สสส. กล่าวว่า ข้อมูลจากรายงานผลการสำรวจพฤติกรรมผู้ใช้อินเตอร์เน็ตในประเทศไทย โดยสำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (ETDA) ในปี 2563 พบผู้ใช้สื่อออนไลน์ ร้อยละ 94.7 เคยพบเห็นข่าวลวง เช่นเดียวกับการสำรวจของโคแฟคในปี 2564 พบผู้ตอบแบบสอบถาม ร้อยละ 97 พบเห็นข่าวลวงเป็นเรื่องปกติ ขณะเดียวกัน แม้พื้นที่ออนไลน์สาธารณะจะพบการเผยแพร่ข่าวลวงลดลง แต่ยังน่าเป็นห่วงในพื้นที่ปิด เช่น กลุ่มเฟซบุ๊กหรือไลน์ ซึ่งจัดการได้ยาก
“การจัดการปัญหาข่าวลวง ต้องอาศัยคนจากหลากหลายศาสตร์เข้ามาเกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็นนักวิชาชีพด้านสื่อมวลชน ประชาสังคม นักพัฒนาเทคโนโลยี หรือแม้แต่ผู้เชี่ยวชาญในแขนงต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นแพทย์หรือเภสัชกร กลไกการทำงานแบบสหวิชาชีพ ก็จะเป็นกลไกที่เกิดขึ้นในชุมชนการตรวจสอบช่าวลวงทั้งระดับโลกและระดับประเทศ-ระดับชุมชน” ญาณี กล่าว
เฟรดเดอริก ชปอร์ หัวหน้าสำนักงาน ประเทศไทย มูลนิธิฟรีดริช เนามัน (FNF) กล่าวว่า คำว่า Trust หรือความไว้วางใจ เป็นคำที่ใหญ่มาก แต่สามารถแยกได้ 3 ประเด็น คือ 1.สังคมต้องสร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้อให้สื่อมวลชนรายงานข้อเท็จจริงได้อย่างเป็นอิสระ รวมถึงกฎหมายที่สนับสนุนให้สื่อสามารถทำงานได้โดยปราศจากแรงกดดันจากสิ่งแวดล้อมรอบข้าง
2.การรู้เท่าทันเทคโนโลยีดิจิทัล (Digital Literacy) และรู้เท่าทันสื่อ (Media Literacy) เป็นทักษะที่ทุกคนต้องมีไว้ว่าจะเป็นผู้ส่งสารหรือผู้รับสาร เพื่อให้เกิดความตระหนักรู้ว่าข้อมูลต่างๆ ที่เข้ามานั้นอะไรจริง-เท็จ ซึ่งจุดนี้โคแฟคก็เป็นเครื่องมือหนึ่งที่ช่วยให้แต่ละได้ร่วมตรวจสอบข้อเท็จจริง และ 3.อคติมีผลต่อการเลือก-ไม่เลือกรับข้อมูลข่าวสาร แต่การเข้าใจสังคมมากขึ้นจะทำให้รับข้อมูลข่าวสารได้ดีขึ้น พร้อมกับยกตัวอย่าง การมองสื่อนั้นเป็นฝ่ายเดียวกัน สื่อนี้เป็นฝ่ายตรงข้าม ก็เป็นอคติแรกของผู้รับสาร
ธนภณ เรามานะชัย, Thailand Teaching Fellow, Google News Lab กล่าวว่า Google News Initiative เป็นหน่วยงานที่ทำงานด้านข่าวในประเทศไทยรวมถึงภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก ซึ่ง กูเกิล (Google) ให้ความสำคัญกับงานข่าว เพราะเชื่อว่าการแบ่งปันความรู้ทำให้มีชีวิตที่ดีขึ้น กูเกิลจึงทำงานเพื่อสนับสนุนสื่อมวลชน ผ่าน 3 แกน คือ 1.พัฒนาคุณภาพงานข่าว โดยเฉพาะข่าวในแพลตฟอร์มดิจิทัล มีบทเรียนออนไลน์ให้คนทำงานสื่อ นักศึกษาที่เรียนด้านสื่อสารมวลชน รวมถึงบุคคลทั่วไปที่สนใจได้เข้าไปเรียนรู้กันได้ที่ g.co/newstraining
2.สร้างพันธมิตรในการพัฒนารูปแบบสื่อใหม่ มีการสนับสนุนสื่อมวลชนโดยเฉพาะกลุ่มที่เป็นสื่อออนไลน์ และ
3.สนับสนุนและสร้างชุมชนนักข่าวระดับโลก ผ่านการจัดกิจกรรมต่างๆ เช่น งาน Trusted Media Summit เป็นต้น ดังนั้น เป้าหมายของ Google News Initiative คือ การสร้างอนาคตของสื่อสารมวลชนที่เข้มแข็งไปด้วยกัน ส่วนงาน Trusted Media Summit จัดขึ้นครั้งแรกในปี 2561 โดย Google News Initiative ร่วมมือกับ First Draft และ IFCN และจัดมาอย่างต่อเนื่องทุกปี
สำหรับการจัดงาน APAC Trusted Media Summit ประจำปีครั้งที่ 5 หรือครั้งนี้ มีภาคีเครือข่ายหลากหลายชาติ ประกอบด้วย AJI (อินโดนีเซีย) , data LEADS (อินเดีย) , FactCheck Initiative Japan (ญี่ปุ่น) , Taiwan FactCheck Center (ไต้หวัน) และ โคแฟค (ไทย) เป็นผู้ร่วมจัดงานในรูปแบบออนไซต์ (Onsite) โดยปีนี้มีหลายหัวข้อน่าสนใจ ได้แก่ 1.Big Narrative การใช้ข้อมูลข่าวสารเชิงมวลชน 2.Pre-Bunking การป้องกันไม่ให้เกิดข้อมูลบิดเบือนตั้งแต่แรก เพื่อที่จะไม่ต้องมาแก้ไขในภายหลัง (Debunking) เมื่อข้อมูลเผยแพร่ไปแล้ว 3.Polarization ความแตกต่างทางความคิด เช่น ความเชื่อทางการเมือง 4.Role of Technology บทบาทของเทคโนโลยี ซึ่งรวมถึงผู้ประกอบการด้านนี้ด้วย ว่าส่งเสริมให้เกิดข้อมูลบิดเบือนหรือไม่ 5.Trust ความไว้วางใจการทำงานของสื่อ 6.Rise of Micro-Influencer ในอินเตอร์เน็ตจะพบบุคคลที่มีชื่อเสียง ซึ่งมีคนจำนวนมากติดตามความเคลื่อนไหว หรือแม้แต่ในโลกจริงก็จะมีบุคคลที่คนอื่นๆ ในชุมชนให้ความเชื่อถือ โดยคนเหล่านี้เป็นอีกกลุ่มที่มีบทบาทด้านการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสาร รวมถึงความเสี่ยงในการเผยแพร่ข่าวลวงโดยเฉพาะในกลุ่มปิด 7.Collaboration การทำงานร่วมกัน และ 8.Who is a Fact-Checker? บทบาทขององค์กรหรือหน่วยงานต่างๆ ในการตรวจสอบข้เท็จจริงของข้อมูลข่าวสาร ทั้งนี้ ไฮไลท์ในวันที่ 20 ก.ย. 2565 ซึ่งเป็นการจัดงาน APAC Trusted Media Summit ได้รับเกียรติจากวิทยากร 2 ท่าน ร่วมกล่าวปาฐกกา คือ มาเรีย เรสซา เจ้าของรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพ และผู้ก่อตั้งสำนักข่าว Rappler ในฟิลิปปินส์ กับ เอเลียต ฮิกกินส์ ผู้ก่อตั้งเว็บไซต์ Bellingcat ซึ่งโดดเด่นในการใช้ Open Source Intelligence ตรวจสอบข่าวลวง
“ครั้งนี้เป็นครั้งแรกในรอบ 2 ปี ที่เรากลับมาจัดงานในรูปแบบออนไซต์กันอีกครั้ง คือโดยปกติแล้ว ช่วงก่อนโควิด ช่วงปี 2018-2019 (2561-2562) เราจะจัดงานที่สิงคโปร์ เพราะสิงคโปร์เป็น Asia Headquarter (สำนักงานใหญ่ประจำทวีปเอเชีย) ของกูเกิล แต่เนื่องจากสถานการณ์โควิด และบางประเทศยังไม่สามารถเดินทางได้ทันที อย่างญี่ปุ่น จะไปก็ต้องพึ่งบริษัททัวร์ไป ก็จะค่อนข้างมีความยากลำบาก หรืออย่างไต้หวัน ฮ่องกง ยังต้องมีการกักตัวกันเวลาเดินทาง เพราะฉะนั้นแล้วในปีนี้ทางทีมงานก็เลยคิดว่า อย่างนั้นเราปรับรูปแบบการจัดงาน เป็นแบบให้แต่ละประเทศเป็นผุ้จัดงานในประเทศด้วยกันเอง” ธนภณ กล่าว
สุภิญญา กลางณรงค์ ผู้ร่วมก่อตั้ง โคแฟค (ประเทศไทย) กล่าวว่า สำหรับการจัดงานในประเทศไทย วันที่ 21 ก.ย. 2565 โดย โคแฟค (ประเทศไทย) ร่วมกับ Google News Initiative นั้น จะเป็นการนำเสนอ 3 ประเด็นสำคัญในรอบปีที่ผ่านมา ได้แก่ 1.ความรู้เท่าทันเรื่องสุขภาพ (Health Literacy) ซึ่งล่าสุดเพิ่งจัดเสวนาหัวข้อ “จากมะนาวโซดา ถึงกัญชารักษา (ไม่) ทุกโรค บทเรียนการรับมืออินโฟเดอมิกของสังคมไทย” ไปเมื่อวันที่ 23 ส.ค. 2565 ที่ผ่านมา โดยพูดคุยกันถึงหลากหลายเรื่องราวข่าวลวงด้านสุขภาพ ตั้งแต่มะนาวโซดา วัคซีนโควิด-19 ไปจนถึงกัญชา
2.อาชญากรรมไซเบอร์ (Cyber Crime) เช่น แก๊งคอลเซ็นเตอร์ หรือ SMS ชักชวนให้สมัครอะไรสักอย่างหนึ่ง หากหลงเชื่อก็จะเสียเงินเสียทองได้ ซึ่งล่าสุด ในวันที่ 27-28 ก.ย. 2565 โคแฟค ได้ร่วมกับตำรวจและอัยการ จัดกิจกรรมอบรมวัยรุ่นหญิงให้รู้เท่าทันการหลอกลวงหลายรูปแบบบนโลกออนไลน์ อาทิ มิจฉาชีพแสร้งรัก (Romance Scam) หรือการหลอกขายอาหารเสริม หรือหลอกลวงไปเข้าสู่วงจรการค้ามนุษย์ เช่น เมื่อมีคนใช้เฟซบุ๊กทักเข้ามาชวนพูดคุย จะตรวจสอบความน่าเชื่อถือของบัญชีเฟซบุ๊กนั้นได้อย่างไร เป็นต้น
และ 3.การบิดเบือนข้อมูลเพื่อหวังผลทางการเมือง (Political Disinformation) ซึ่งเป็นปัญหาทั้งในประเทศไทยและทั่วโลก เช่น ประเด็นวัคซีนโควิด-19 แม้จะเป็นเรื่องสุขภาพ แต่บางแง่มุมก็เชื่อมโยงกับเรื่องการเมืองเช่นกันอาทิ ข้อมูลจากหน่วยงานภาครัฐถูกสังคมตั้งข้อสงสัย โดยความจริงอาจไมได้มีเพียงชุดเดียว ขณะเดียวกัน สังคมไทยยังมีความขัดแย้งทางการเมืองที่ยืดเยื้อยาวนาน และการตัดสินว่าเรื่องใดจริง-ไม่จริงในประเด็นทางการเมืองนั้นก็ไม่ง่ายเพราะมีข้อมูลหลายชุด จึงต้องอาศัยการพูดคุยกันเพื่อหาทางออก
นอกจากนี้ ยังมีปาฐกถาหลายหัวข้อ โดยได้รับเกียรติจากวิทยากรหลายท่าน อาทิ หัวข้อ “Why trusted-media matters in a zero-trust world?” โดย ดร.สมเกียรติ ตั้งกิจวาณิชย์ ประธานสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) , หัวข้อ “Tech for Journalism : How to boost more accuracy?” โดย ดร.พณชิต กิตติปัญญางาม ประธานกรรมการผู้จัดการใหญ่ และผู้ร่วมก่อตั้ง ZTRUS , หัวข้อ “การกำกับสื่อร่วมสมัยควรเป็นเช่นไร” โดย ศ.ดร.พิรงรอง รามสูต กรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.)
อีกทั้งยังมีเสวนาหลายหัวข้อ เช่น หัวข้อ “ต้นทุนและทักษะในการนำเสนอข่าวที่น่าเชื่อถือ” โดยวิทยากรจากแวดวงสื่อมวลชน อาทิ กิตติ สิงหาปัด รายการข่าวสามมิติ สถานีโทรทัศน์ช่อง 3 HD33 , มณฑิรา รุ่งจิตรานนท์ สำนักข่าว AFP , พงศ์พิพัฒน์ บัญชานนท์ สำนักข่าวออนไลน์ The Matter และ ระวี ตะวันธรงค์ นายกสมาคมผู้ผลิตข่าวออนไลน์ (SONP) ดำเนินรายการโดย ดร.เจษฎา ศาลาทอง อาจารย์คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
รวมทั้งไฮไลท์สำคัญที่จะมีตัวแทนสื่อมาเล่าผลงานเด่นในการทำข่าวและตรวจสอบข้อมูล รวมทั้งการเสวนาจากตัวแทนองค์กรวิชาชีพสื่อทั้งที่เป็นสื่อดั้งเดิม (วิทยุ โทรทัศน์ หนังสือพิมพ์) และสื่อใหม่ รวมถึงตัวแทนจากสภาองค์กรของผู้บริโภค , หัวข้อ สรุป 3 ประเด็นปัญหาในรอบปีที่ผ่านมา รวมถึงยังมีการเปิดพื้นที่ให้กลุ่มคนที่เสียงไม่ค่อยถูกได้ยิน (Voice of Voiceless) ได้มีโอกาสสะท้อนมุมมองด้วย เช่น กลุ่มสื่อท้องถิ่น กลุ่มความหลากหลายทางเพศ กลุ่มสื่อมุสลิม คนชายชอบ ฯลฯ
“ท่านใดอยากจะมาส่งเสียง (Voice) ในเวทีช่วงนี้ หรือนำเสนอว่าสื่อที่น่าเชื่อถือกระทบต่อเขาอย่างไรหรือควรจะเป็นอย่างไร ก็จะเป็น Panel (วงเสวนา) ที่เราจะให้กลุ่มประชาชนที่หลากหลายได้มาสะท้อนความเห็น นอกนั้นที่น่าสนใจอีกอันหนึ่งคือช่วง Lightning Talk ซึ่งเราจะเชิญสื่อมาพูดสไตล์ TED Talk สรุปไฮไลท์ มาสเตอร์พีซตรวจสอบข่าวที่เขาภาคภูมิใจ เขาอยากโชว์ของ โชว์ผลงาน ซึ่งรายละเอียดเดี๋ยวเราจะเปิดเผยต่อไป” สุภิญญา กล่าว
สุภิญญา กล่าวต่อไปในช่วงเสวนาในตอนท้ายของการแถลงข่าวครั้งนี้ ว่า จากการทำงานของโคแฟคตลอด 3 ปีที่ผ่านมา 3 ประเด็นข้างต้นถือเป็นเรื่องใหญ่ที่สังคมไทยให้ความสนใจ โดยบนเว็บไซต์ cofact.org พบข่าวเรื่องสุขภาพมาเป็นอันดับ 1 เช่น เป็นมะเร็งกินอะไรรักษาได้ ก็มีตั้งแต่มะนาวโซดาจนถึงน้ำมันกัญชา แต่ผู้รับข้อมูลข่าวสารบางทีก็ไม่รู้ว่าข้อมูลจำนวนมากที่ส่งต่อกันนั้นอะไรเชื่อได้-ไม่ได้ และการที่ใครสักคนเลือกเชื่ออะไรสักอย่าง สาเหตุมีมากกว่าความไม่รู้ อาทิ เรื่องหนึ่งมีข้อเท็จจริงหลายชุด ซึ่งเข้ากับภารกิจของโคแฟค คือการหาความจริงร่วม
อย่างไรก็ตาม เรื่องที่ส่งผลกระทบมากที่สุดน่าจะเป็นข้อมูลข่าวสารประเด็นการเมือง ซึ่งที่ผ่านมายังไม่มีการตรวจสอบข้อเท็จจริงอย่างจริงจังและสม่ำเสมอ อีกทั้งเป็นประเด็นที่ทำได้ยาก ดังนั้นในงาน APAC Trusted Media Summit ครั้งนี้จะมีการมาพูดคุยกันว่าจะเป็นไปได้หรือไม่ที่จะมีองค์กรหรือหน่วยงานที่ทำหน้าที่ตรวจสอบข้อเท็จจริงในประเด็นข้อมูลข่าวสารทางการเมือง ที่เป็นอิสระและเป็นกลางครอบคลุมทุกฝ่าย สุดท้ายคือเรื่องอาชญากรรมไซเบอร์ อย่างแก๊งคอลเซ็นเตอร์ ที่ล้ำเส้นจากเรื่องข้อมูลข่าวสารไปเป็นการก่ออาชญากรรมจริงๆ
กุลชาดา ชัยพิพัฒน์ ผู้แทนจาก Centre for Humanitarian Dialogue (HD) กล่าวว่า ที่ผ่านมา HD ทำงานส่งเสริมการเปิดพื้นที่สร้างสรรค์และปลอดภัยในการพูดคุยประเด็นการเมืองหรือความขัดแย้งที่เกิดขึ้นในสังคม ซึ่งการแบ่งขั้วทางการเมืองที่ลามไปจนถึงสื่อเป็นประเด็นที่มีมานานแล้ว อีกทั้งสถานการณ์ก็ไม่ได้ดีขึ้น ทั้งนี้ เมื่อช่วงต้นปี 2565 มีผลการศึกษาหนึ่งที่สำรวจความคิดเห็นของผู้คนในหลายประเทศ พบว่า ผู้คนเชื่อมั่นใจภาครัฐและสื่อลดลง โดยไทยก็เป็นประเทศหนึ่งที่อยู่ในการศึกษานี้
“ความกังวลของคนทั่วไปในเรื่องข้อมูลข่าวสารที่บิดเบือน ประเทศไทยถือว่าเยอะที่สุดเลย 82% จากรายงานนั้น แล้วเขาก็มองว่าทั้งภาครัฐเองแล้วก็สื่อ ในบางมุมก็อาจได้รับประโยชน์จากการที่มันมีการเผยแพร่ข้อมูลลวงออกไปด้วย อันนั้นทำให้เรามาคิดว่า ในฐานะโคแฟคและองค์กรภาคี เราควรจะทำอะไรได้มากกว่านั้นหรือเปล่า มันก็เลยเป็นที่มาที่ต้องมานั่งคุยกัน แล้วทำอย่างไรที่จะเรียกความเชื่อมั่นของสื่อมาได้ อันนั้นก็จะเป็นเรื่องที่เราเอามาคุยกัน” กุลชาดา กล่าว
ดร. พิมพ์รภัช ดุษฎีอิสริยกุล ผู้จัดการโครงการ สำนักงานประเทศไทย มูลนิธิฟรีดริช เนามัน (FNF) กล่าวว่า FNF เป็นองค์กรที่ส่งเสริมเรื่องเสรีภาพและประชาธิปไตย ซึ่งสิ่งหนึ่งที่เชื่อเสมอมาคือ คนต้องได้รับข้อมูลข่าวสารที่รอบด้าน เพราะข้อมูลจะช่วยในการตัดสินใจได้ในทุกเรื่อง และการเมืองก็เป็นเรื่องที่มีผลต่อคนทุกคน คำถามคือประชาชนจะมีข้อมูลหรือข้อเท็จจริงมาประกอบการตัดสินใจได้อย่างไร ดังนั้นสือจึงมีบทบาทมาก แต่ในขณะเดียวกัน สังคมที่แบ่งขั้ว (Polarize) ก็ทำให้แต่ละคนเลือกรับเฉพาะข้อมูลข่าวสารในฝั่งที่ตนเองเชื่อเท่านั้น
“อาจไม่ใช่เฉพาะสังคมไทยเท่านั้นที่มันแตกแยก แล้วเราก็เลือกที่จะรับข้อมูลจากช่องทางที่เราอยากรับ ดังนั้นเราก็อาจจะไม่ได้แคร์ว่าข้อมูลนั้นมันจริง-ไม่จริง แต่พอเราไม่แคร์ เพียงแต่เราสนใจว่าช่องทางไหนอยากจะรับ มันก็จะทำให้เกิดความไม่น่าเชื่อถือในปลายทาง เราไม่ได้สนว่ามันจริง-ไม่จริง เราอยากจะเชื่อในช่องทางนี้เท่านั้น ดังนั้นบทบาทของสื่อ คิดว่าสื่อที่มีคุณภาพมีความสำคัญยิ่งมากขึ้นกว่าสมัยเดิม” ดร. พิมพ์รภัช กล่าว
-/-/-/-/-/-/-/-/-/-/-