เครื่องมือตรวจสอบภาพจากเอไอเชื่อถือได้แค่ไหน ?

แม้ว่าเครื่องมือตรวจสอบภาพและวิดีโอที่สร้างจากปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence: AI) จะเป็นเครื่องทุ่นแรงที่ช่วยตรวจสอบความจริงแท้ของเนื้อหาในยุคที่คนจำนวนไม่น้อยเลือกใช้เอไอในการสร้างรูปภาพและวิดีโอเผยแพร่ในโซเชียลมีเดียเพื่อเรียกยอดไลก์ยอดแชร์ แต่เครื่องมือเหล่านี้ก็ยังอยู่ในช่วงกำลังพัฒนาและยังมีข้อจำกัดหลายประการ เราจึงไม่สามารถใช้ผลการตรวจสอบจากเครื่องมือใดเครื่องมือหนึ่งเพียงแหล่งเดียวได้

ปัจจุบันมีเครื่องมือตรวจสอบภาพและวิดีโอที่สร้างจากเอไอให้เลือกใช้อย่างหลากหลายไม่ว่าจะเป็นแบบฟรีหรือมีค่าใช้จ่าย เช่น AI or Not, AI Detector, Illuminarty, Winston AI และ Fake Image Detector เป็นต้น รวมถึงโปรแกรมที่สำนักข่าวและองค์กรตรวจสอบข้อเท็จจริงส่วนใหญ่เลือกใช้อย่าง InVID-WeVerify, DeepFake-o-meter และ Hive Moderation

แต่ขณะนี้ยังไม่มีเครื่องมือตรวจสอบเนื้อหาจากเอไอใดที่มีสามารถแสดงผลการวิเคราะห์อย่างถูกต้องร้อยเปอร์เซนต์ในทุกกรณี การใช้เครื่องมือหลาย ๆ ชนิดเพื่อวิเคราะห์ภาพร่วมกันก็สามารถช่วยเพิ่มความมั่นใจได้ในระดับหนึ่ง แต่วิธีที่ได้ผลที่สุดก็ยังคงเป็นการค้นหาแหล่งที่มาของภาพต้นฉบับเพื่อตรวจสอบให้แน่ใจว่าภาพหรือวิดีโอนั้นถูกเผยแพร่เป็นครั้งแรกเมื่อไหร่ จากแหล่งที่มาและในบริบทใด และถูกตัดต่อเพิ่มเติมหรือไม่เมื่อถูกนำมาเผยแพร่ซ้ำ

แม้บางคนจะมองว่าอีกไม่นาน การสังเกตจุดผิดปกติในภาพอาจใช้ไม่ได้ผลอีกต่อไปเพราะเครื่องมือเอไอสามารถผลิตภาพและวิดีโอได้สมจริงมากยิ่งขึ้นเรื่อย ๆ แต่ผู้เขียนเห็นว่าการใช้ตาเปล่าสังเกตจุดผิดปกติในภาพยังคงเป็นวิธีที่ได้ผลดีตราบใดที่เอไอยังไม่สามารถสร้างภาพเสมือนจริงได้สมบูรณ์แบบ หรือเครื่องมือตรวจสอบเอไอยังไม่สามารถวิเคราะห์เนื้อหาจากเอไอได้ถูกต้องแม่นยำ ดังนั้น การฝึกคัดกรองเนื้อหาจากเอไอด้วยตัวเองจึงเป็นอีกหนึ่งทักษะสำคัญที่ผู้ใช้โซเชียลมีเดียยุคนี้จำเป็นต้องมีไว้เพื่อป้องกันตัวเองไม่ให้หลงเชื่อหรือกลายเป็นหนึ่งในคนที่ร่วมเผยแพร่ข้อมูลเท็จ

วิธีสังเกตรูปภาพ AI

นอกจากการสังเกตลายน้ำหรือโลโก้ของเครื่องมือเอไอต่าง ๆ ซึ่งมักปรากฏบริเวณมุมภาพ วิธีสังเกตรูปภาพที่สร้างจากปัญญาประดิษฐ์เบื้องต้นมีดังนี้

  • นิ้วมือหรือนิ้วเท้าของคนและสัตว์มีจำนวนมากหรือน้อยกว่าความเป็นจริง
  • ผิวหนังเรียบเนียนเหมือนไม่มีรูขุมขน
ภาพเอไอที่ระบุว่า “อ้างอิงจากเหตุการณ์จริงกรณีพระสงฆ์เริงรักแม่ชีกลางลานพญานาค”
  • ตัวอักษรและข้อความไม่มีความหมาย
ภาพเอไอของ “ศาลเจ้าออปติมัสไพรม์”
  • แสงและเงาไม่สอดคล้องกัน
ภาพเอไอและคำกล่าวอ้างเท็จที่ว่า “กุนุงปาดังเป็นปีระมิดที่เก่าแก่ที่สุดในโลก”
  • องค์ประกอบภาพสวยงามเกินจริง
  • สัดส่วนของคนและวัตถุไม่สัมพันธ์กัน
  • ใบหน้าคนบิดเบี้ยว
ภาพเอไอที่อ้างว่า “พบกระดูกยักษ์คอยาวที่สุดในโลก” ในป่าแอมะซอน
  • ดวงตาและฟันของคนหลาย ๆ คนในภาพมีลักษณะและการจัดเรียงเหมือนกันทุกมุม
ภาพเอไอเกี่ยวกับการค้นพบเครื่องบินมาเลเซีย MH370
  • วัตถุในภาพบางส่วนเคลื่อนไหวในขณะที่บางส่วนหยุดนิ่งอยู่กับที่

เครื่องมือตรวจสอบ AI ของกูเกิล

ในส่วนของกูเกิล เราสามารถใช้การค้นหาภาพย้อนหลัง (Reverse Image Search) และคลิกที่ “เกี่ยวกับรูปภาพนี้” เพื่อดูรายละเอียดเพิ่มเติม หรือหากพบข้อความ “สร้างด้วย Google AI” ก็หมายความว่ารูปดังกล่าวหรือส่วนใดส่วนหนึ่งของภาพถูกสร้างขึ้นด้วยเอไอของกูเกิล ซึ่งจะมีลายน้ำดิจิทัลที่มองด้วยตาเปล่าไม่เห็นแต่เครื่องมือของกูเกิลสามารถตรวจจับได้

ฟีเจอร์ “เกี่ยวกับรูปภาพนี้” (About this image) ของกูเกิล จะขึ้นข้อความ “สร้างด้วย Google AI” หากรูปภาพถูกสร้างจากเครื่องมือเอไอของกูเกิล

แม้ว่าสุดท้ายนี้เราจะไม่สามารถสรุปได้ว่าเครื่องมือตรวจสอบเอไอชนิดไหนมีประสิทธิภาพสูงสุด แต่การใช้เครื่องมือเหล่านี้ร่วมกับเครื่องมือค้นหาข้อมูลอื่น ๆ รวมถึงการฝึกฝนทักษะการตรวจสอบรายละเอียดต่าง ๆ เพื่อจับผิดภาพที่สร้างจากเอไอด้วยตัวเองโดยยึดหลัก “ตรวจสอบความถูกต้องก่อนส่งต่อข้อมูล” ก็ช่วยป้องกันตัวเองไม่ให้หลงเชื่อข้อมูลลวงในยุคสมัยที่เทคโนโลยีเอไอถูกนำมาใช้ในทางที่ผิดได้เป็นอย่างดีแล้ว

หมายเหตุ: บทความนี้ไม่มีเจตนาสนับสนุนหรือโฆษณาโปรแกรมใด ๆ ที่ถูกกล่าวถึง

อ่านเรื่องที่เกี่ยวข้อง