มอง‘AI’ในมุม‘คริสตศาสนา’ สิ่งสำคัญกว่าเครื่องมือคือ‘มโนธรรม’ของมนุษย์
13 ก.พ. 2567 ภาคีโคแฟค (ประเทศไทย) จัด Live Talk หัวข้อ “สาส์นจากพระสันตปาปาว่าด้วย AI” ณ อาสนวิหารอัสสัมชัญ บางรัก กรุงเทพฯ พร้อมถ่ายทอดผ่านเพจเฟซบุ๊ก “Cofact โคแฟค” โดย สุภิญญา กลางณรงค์ ผู้ร่วมก่อตั้งภาคีโคแฟค(ประเทศไทย) ดำเนินรายการ กล่าวว่า สืบเนื่องจากเมื่อต้นปี 2567 สมเด็จพระสันตะปาปาฟรานซิส ได้ออกสาส์นในวันสันติภาพสากล ว่าด้วยเรื่องปัญญาประดิษฐ์และสันติภาพ ข้อห่วงใย หลักธรรมของคาทอลิกที่มีต่อเรื่องพัฒนาทางการทางเทคโนโลยี ซึ่งมีความน่าสนใจและน่าศึกษาแลกเปลี่ยนเรียนรู้
นอกจากนี้ หลายคนอาจเคยเห็นสื่อต่างประเทศพาดหัวข่าวตั้งคำถามว่าเหตุใดพระสันตะปาปาจึงกลายเป็นที่นิยมในการนำไปทำภาพที่สร้างด้วยเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI) เช่น มีภาพของสมเด็จพระสันตะปาปาฟรานซิส สวมชุดแบรนด์เนมดัง ซึ่งไม่ใช่ภาพจริงแต่มีคนเชื่อด้วยความเข้าใจผิดเป็นจำนวนมาก นี่คือตัวอย่างหนึ่งของโลกเสมือนจริงที่ซับซ้อนขึ้นเรื่อยๆ จึงเป็นที่มาของการพูดคุยในครั้งนี้
โดย บาทหลวงอนุชา ไชยเดช ผู้อำนวยการสื่อมวลชนคาทอลิกประเทศไทย กล่าวว่า วันสันติภาพสากล ตรงกับวันที่ 1 มกราคม ของทุกปี หรือวันขึ้นปีใหม่ ซึ่งสมเด็จพระสันตะปาปาจะทรงออกสาส์นมาทุกปี และครั้งล่าสุดน่าจะเป็นครั้งที่ 57 ซึ่งเป็นสาส์นแห่งความห่วงใยทุกๆ คนไม่เฉพาะแต่ชาวคาทอลิกเท่านั้น เช่น เรื่องสิ่งแวดล้อม แต่ในปี 2024 (2567) เรื่องปัญญาประดิษฐ์เป็นประเด็นที่ถูกพูดถึงอย่างมาก สมเด็จพระสันตะปาปาฟรานซิส จึงออกสาส์นนี้มาเพื่อจะบอกว่า แม้ปัญญาประดิษฐ์จะเป็นพัฒนาการของโลกและมนุษย์ แต่อย่าลืมคำนึงเรื่องสันติภาพ
จากนั้นในวันที่ 24 มกราคม 2567 ตรงกับวันสื่อมวลชนสากล สมเด็จพระสันตะปาปาฟรานซิส ก็ทรงออกสาส์นมาอีกฉบับหนึ่ง ชื่อว่า “ปัญญาประดิษฐ์และปรีชาญาณแห่งหัวใจ มุ่งไปสู่การสื่อสารของมวลมนุษย์อย่างสมบูรณ์” ดังนั้นในความหมายของสาส์นที่พระองค์ทรงออกมาล้วนแสดงความห่วงใย ต้องการกล่าวถึงจิตวิญญาณของผู้คนที่ต้องดำเนินชีวิตท่ามกลางสิ่งที่เกิดขึ้น เหมือนกับพลวัติที่เคลื่อนตาม เป็นนวัตกรรมที่ต้องศึกษา แต่ขณะเดียวกัน เราจะใช้สิ่งนี้เพื่อการอยู่ร่วมกันอย่างสันติได้อย่างไร
ประเด็นสำคัญของสาส์นจากสมเด็จพระสันตะปาปาฟรานซิส เกี่ยวกับปัญญาประดิษฐ์หรือ AI มาจาก“มนุษย์ใช้ความช่วยเหลือจากเทคโนโลยี” ไม่ว่าการเรียนรู้ ความเร็ว การรวบรวมข้อมูล ดังนั้นเราสามารถใช้เทคโนโลยีเดียวกันเพื่อสร้างสันติสุข “ผลบวกและผลลบจากเทคโนโลยี” เทคโนโลยีทำให้เราสื่อสารกันได้มากขึ้น ความเร็วของข้อมูล การรวบรวมประชากร แต่ขณะเดียวกันก็มีความเสี่ยงต่อมนุษยชาติ ดังนั้นอย่าลืมคำนึงถึงผลที่จะตามมาด้วย
“เทคโนโลยีก่อให้เกิดความเปลี่ยนแปลง” และความเปลี่ยนแปลงนั้นเกี่ยวข้องกับชีวิตคนในทุกมิติเช่น การสื่อสาร การบริหารราชการ การศึกษา การบริโภค การปฏิสัมพันธ์ และในความเปลี่ยนแปลงมีความหลากหลาย ดังนั้นเราต้องเข้าใจตัวตนของปัญญาประดิษฐ์ก่อน โดยสมเด็จพระสันตะปาปา ให้ข้อคิดว่า “ปัญญาประดิษฐ์ทำได้เพียงการเลียนแบบและผลิตซ้ำการทำงานบางอย่างของปัญญามนุษย์”หากเราไม่เข้าใจก็อาจไปยกย่องเทิดทูนสิ่งที่สร้างมาจากมือเรา
“จริงๆ สาส์นที่เผยแพร่ในวันสื่อมวลชนสากลพูดชัดขึ้นไปอีก บอกว่าเราไม่ควรเรียกปัญญาประดิษฐ์ เพราะเราให้ค่ากับ AI เกินไป ท่านบอกว่าเราควรจะเรียกว่า การเรียนรู้ด้วยตนเองของคอมพิวเตอร์ การใช้คำว่า ปัญญาประดิษฐ์ ทำให้สื่อเหมือนว่ามีปัญญา (Intellectual) จริงๆ แล้วมันเป็นการเรียนรู้ที่คอมพิวเตอร์พัฒนามาจากมนุษย์ ท่านพูดแบบนั้น กลับมาที่เรื่องสาส์นวันสันติภาพสากล ที่สุดท่านก็ไล่เรียงให้เห็นถึงเทคโนโลยี ความรู้ ขีดจำกัดอะไรที่มันเกิดขึ้นไปเรื่อยๆ แล้วที่สุดท่านก็พามาถึงประเด็นร้อนแรงของสื่อ ที่อาจจะเกิดขึ้นในด้านจริยธรรม” บาทหลวงอนุชา กล่าว
บาทหลวงอนุชา กล่าวต่อไปว่า สาส์นวันสื่อมวลชนสากลให้ข้อคิดที่สำคัญว่า “แม้ปัญญาประดิษฐ์จะช่วยเรา แต่สิ่งที่อยู่เหนือปัญญาประดิษฐ์คือหัวใจของมนุษย์หรือมโนธรรม” ข้อมูลจากปัญญาประดิษฐ์คือข้อมูลที่มนุษย์ใส่เข้าไป แต่ข้อมูลที่เป็นชีวิต การปฏิสัมพันธ์ การพูดคุยสนทนากันจริงๆ เป็นของที่จริงกว่าและควรนำมาใช้ให้เกิดประโยชน์ สมเด็จพระสันตะปาปา ยังตั้งคำถามมากมาย เช่น เราจะปกป้องอาชีพและศักดิ์ศรีของผู้ทำงานด้านข้อมูลและการสื่อสารทั่วโลกได้อย่างไร จะมั่นใจในการร่วมกันของแพลตฟอร์มได้อย่างไร เป็นต้น
ขณะที่ประเด็นคนรุ่นใหม่ซึ่งเกิดและเติบโตมากับเทคโนโลยี (Digital Native) ทางศาสนจักรก็เป็นห่วง ซึ่งเรื่องการดูแลเยาวชนเป็นภารกิจของหนึ่งใน 16 หน่วยงานของศาสนจักร ซึ่งความพยายามเข้าถึงคนรุ่นใหม่ไม่ได้หมายความว่าทำให้ศาสนาอ่อนลง แต่ทำให้เปิดกว้างมากขึ้น เข้าใจคนรุ่นใหม่มากขึ้น อย่างสาส์นของสมเด็จพระสันตะปาปา ก็ยังลงท้ายว่าสันติภาพให้แก่คนรุ่นถัดไปในอนาคต
ทั้งนี้ “หากผู้ใช้เครื่องมือไม่มีมโนธรรม เครื่องมือก็จะถูกใช้เพื่อตนเอง” เช่น เพื่อผลประโยชน์ทางธุรกิจ เพื่อการบิดเบือนข้อมูล อย่างก่อนหน้านี้มีคำว่าข่าวลวง (Fake News) แต่ปัจจุบันมีคำว่าดีปเฟค (Deep Fake) ที่ปลอมแปลงได้ลึกขึ้นไปอีก (ปลอมเสียง-ภาพวีดีโอ) เรามองเห็นด้านมืดหรือความเสี่ยงของเทคโนโลยี แต่ก็คงไปบอกให้เลิกหรือปิดกั้นการใช้เทคโนโลยีไม่ได้ แต่ก็ต้องหาทางปิดหายนะที่จะตามมาจากสิ่งเหล่านี้
“ถ้าในมุมของความน่าเชื่อถือ ความถูกต้อง แน่นอนระบบป้องกันในเชิงสื่อศึกษา การรู้ต้นตอของมันก็เป็นสิ่งที่ต้องเรียนรู้ทำความเข้าใจเหมือนสังคมทั่วไป แต่ในเรื่องของจิตอารมณ์ สิ่งที่เราควรที่จะแชร์-พูดถึงก็คือความจริง เพราะจากคำสอนที่บอกว่า ‘พระองค์เป็นหนทางความจริงและชีวิต’ เราคงไม่สามารถนำเรื่องที่ไม่เป็นความจริงมาเผยแพร่ได้ เพราะผิดกฎ แต่เพื่อจะเช็คว่าตรงไหนเป็นความจริง ในแง่ของสื่อมวลชนคาทอลิก เราก็พยายามให้ข้อมูลว่าต้องกลับไปที่ต้นคอ” บาทหลวงอนุชา ระบุ
บาทหลวงอนุชา ยกตัวอย่างเรื่องการกลับไปที่ต้นตอของข่าว เช่น มีข่าวการประกาศตำแหน่งบิชอป หรือสังฆราชที่สังฆมณฑลนครสวรรค์ กลับมีการแชร์กันไปว่าบาทหลวงท่านนั้นท่านนี้จะได้เป็นโดยไม่ได้ดูแหล่งข้อมูล ดังนั้นก็ต้องสอนให้ตามกลับไปดูว่าข่าวมาจากไหน อย่างเรื่องนี้ข่าวควรมาจากสังฆมณฑลนครสวรรค์ อย่างไรก็ตาม ด้วยความที่ประชากรคาทอลิกมีจิตใจอยากช่วยเหลือสังคม รู้อะไรมาก็อยากจะเผยแพร่ ดังนั้นก็ต้องค่อยๆ บอก ค่อยๆ เรียนรู้กันไป การแบ่งปันคือเรื่องที่ดี แต่การแบ่งปันสิ่งที่ถูกต้องด้วยย่อมดีกว่า
หรือมีอีกตัวอย่างหนึ่ง เป็นคลิปวีดีโอบาทหลวงเหมือนกับมีอภินิหารทำให้คนป่วยลุกเดินได้ แต่ตนเป็นคนที่ดูภาพยนตร์มามาก เห็นคลิปทำให้รู้ทันทีว่าตัดมาจากภาพยนตร์เรื่องใด และบาทหลวงดังกล่าวไม่ได้ถูกสื่อในทางที่ดีด้วยเพราะอยู่ฝั่งปีศาจ อย่างแรกต้องเปิดใจก่อน ต้องรู้ว่าเทคโนโลยีคือสิ่งนี้ แม้แต่คนที่อยู่ในสนามสื่อก็ใช่ว่าจะรู้ทั้งหมด ต้องละเอียดอ่อนมากขึ้น ชัวร์ก่อนแชร์ ไม่ชัวร์ก็ใจเย็นๆ ไว้ก่อน
อีกด้านหนึ่ง “การที่เรามองผู้คนเหมือนเป็นพี่-น้อง ก็เป็นอีกหลักการที่สำคัญ” ซึ่งในศาสนาคริสต์มีคำสอนว่า “ทุกคนเป็นภาพลักษณ์ (Image) ของพระเจ้า” ดังนั้นเมื่อคนเรามองกันดี จะทำอะไรก็ต้องทำสิ่งดีออกมา แต่ก็ต้องใช้ข้อมูลมากขึ้น อย่างที่มีคำพูดว่าเหมือนโลกนี้จะอยู่ยากขึ้น จึงเป็นความพยายามของสมเด็จพระสันตะปาปา ที่ต้องการให้กลับไปที่หัวใจ ที่การฟังที่มโนธรรมของแต่ละคน และก้าวไปด้วยกัน ซึ่งเมื่อเราก้าวไปด้วยกันอย่างเป็นพี่เป็นน้อง ก็เชื่อมั่นว่าสันติสุขมันจะเกิดขึ้นอย่างแน่นอน
ส่วนคำถามที่ว่า “ศาสนาคริสต์ให้คุณค่ากับคำว่าเสรีภาพอย่างมาก แต่อีกด้านของเสรีภาพก็มีด้านลบ” ดังตัวอย่างก่อนหน้านี้ประมาณ 10-20 ปี หลายคนมองอินเตอร์เน็ตว่าเป็นพื้นที่แห่งเสรีภาพ แต่ระยะหลังๆ หลายคนถึงกับเลิกใช้ไปเลยก็มี เพราะทนไม่ไหวกับข้อมูลที่มีทั้งการหลอกลวงและความรุนแรง แต่ขณะเดียวกันไม่อยากให้ต้องปิดกั้นเสรีภาพจนเกินไป เรื่องนี้ บาทหลวงอนุชา ให้ความเห็นว่า ในมุมศาสนา พระเจ้าให้เสรีภาพ แต่ทั้งตัวเราและผู้อื่นต่างก็มีเสรีภาพ เราจะไปก้าวก่ายผู้อื่นก็คงไม่ได้ ดังนั้นเสรีภาพต้องตามมาด้วยความรับผิดชอบ
บาทหลวงอนุชา กล่าวสรุปจากสาส์นวันสันติภาพสากล และวันสื่อมวลชนสากล ในปี 2567 ซึ่งให้ความสำคัญกับเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ มีประเด็น 3 หัวข้อ 1.จับมือกันหน่วยงานอื่นๆ เช่น เราเป็นองค์กรศาสนา แม่นเรื่องศาสนาแต่อาจไม่แม่นเรื่องเชิงเทคนิค จึงต้องจับมือกันและสร้างความร่วมมือเพื่อทำให้เกิดสิ่งดีๆ กับสังคมและเรียนรู้ไปด้วยกัน
2.สร้างคนรุ่นใหม่ ปัจจุบันนี้เป็นเวลาของคนรุ่นใหม่แล้ว จะสร้างคนรุ่นนี้ได้อย่างไร ให้เข้าใจและส่งต่อโลกที่มีพัฒนาการและให้เข้าใจหลักศาสนาที่เราหลอมรวมกันมา และ 3.จะใช้เครื่องมือเทคโนโลยีอย่างไรให้เกิดสิ่งที่พัฒนาต่อไป ให้คนเข้าใจศาสนามากขึ้น ตอบโจทย์สังคมมากขึ้น เข้าถึงคนรุ่นใหม่ได้แต่ก็ไม่หลงลืมสิ่งเดิมๆ เช่น พระคัมภีร์ รูปภาพเก่าๆ ที่ทำให้เรามีความเชื่อและศรัทธามาตั้งแต่อดีต
“ผมชอบประโยคที่อยู่ในสาส์นมาก เขาพูดคล้ายๆ ว่าปัญญาประดิษฐ์มันเกิดขึ้นจากปัญญาของเรา มันไม่ได้อยู่ดีๆ แล้วจะดีเลิศ เราก็ใส่ข้อมูลให้เขาไปเรื่อยๆ แต่สิ่งที่ปัญญาประดิษฐ์ไม่มีคือมโนธรรม เขาไปต่อไม่ได้ เขาวาดรูปจากสิ่งที่สั่งสม เขามีข้อมูลจากการสั่งสม แต่มันเป็นการที่เขาก็พัฒนาของเขาไป แต่มมนุษย์พัฒนาไปไกลมาก แต่บางทีเราไปหยุดแต่สิ่งที่เป็นเครื่องมือ วันนี้มีปัญญาประดิษฐ์ อนาคตไม่รู้มีอะไรประดิษฐ์ต่อ ผมอยากบอกให้เชื่อมั่นว่าไม่ว่าจะนับถือศาสนาอะไรก็ตาม แต่เมื่อมีชีวิตแล้วมันเป็นสิ่งที่วิเศษที่สุดก่อน แต่ชีวิตที่จะเจริญไป อาจเจอความยากลำบาก โรคภัยไข้เจ็บหรืออะไรต่างๆ ขอให้มองว่ามันเป็นของจริง มันเป็นสิ่งที่ต้องเจออยู่แล้ว แต่ศาสนาจะช่วยเยียวยา” บาทหลวงอนุชา กล่าวในตอนท้าย
-/-/-/-/-/-/-/-/-/-/-