13 เทคนิคในการตรวจสอบการบิดเบือนข้อมูลเพื่อหวังผลทางการเมือง
ผู้ใช้โทรศัพท์มือถือสมาร์ทโฟนแทบทุกคนจะต้องมีแอพพลิเคชันแช็ตและสื่อสังคมออนไลน์ ในช่วงบรรยากาศก่อนการเลือกตั้งของประเทศไทยที่กำลังจะเกิดขึ้นในปี 2566 นี้ มีแนวโน้มว่าสื่อสังคมออนไลน์และแอพพลิเคชันแช็ตต่าง ๆ จะกลายเป็นสื่อที่ใช้กระจายข้อมูลบิดเบือนเพื่อหวังผลทางการเมือง (political information) ซึ่งสำนักนวัตกรรมประชาธิปไตย สถาบันพระปกเกล้าอธิบายว่า ข้อมูลบิดเบือนเพื่อหวังผลทางการเมือง คือ “การจงใจสร้างข้อมูลอันเป็นเท็จหรือทำให้เกิดความเข้าใจผิด และนำข้อมูลดังกล่าวออกเผยแพร่เพื่อบรรลุเป้าหมายทางการเมือง”
ในบทความนี้ โคแฟคขอแนะนำเทคนิค 13 ข้อสำหรับตรวจสอบข้อมูลข่าวสารทางการเมืองที่บิดเบือนเหล่านี้ โดยถอดประสบการณ์จากแพททริเซีย แคมปอส เมลโล (Patricia Campos Mello) นักข่าวที่ทำงานร่วมกับสำนักข่าว Folha de S.Paulo สำนักข่าวระดับชาติของบราซิลในการรายงานข่าวเกี่ยวกับสถานการณ์การบิดเบือนข้อมูลเพื่อหวังผลทางการเมืองช่วงเลือกตั้งผ่านแอพพลิเคชันแช็ต เช่น WhatsApp ที่ชาวบราซิลใช้กันอย่างแพร่หลายในช่วงการเลือกตั้งเมื่อปี 2561 แพทริเซียได้แลกเปลี่ยนชุดประสบการณ์นี้ในชั้นเรียนพิเศษ (master class) ที่จัดขึ้นโดย ICFJ Disarming Disinformation ร่วมกับ Knight Center for Journalism in the Americas แพททริเซีย แคมปอส เมลโลสรุปเทคนิค 13 ข้อในการติดตามตรวจสอบข้อมูลบิดเบือนเพื่อหวังผลทางการเมืองเพื่อเป็นเครื่องมือสำคัญสำหรับนักข่าวช่วงก่อนการเลือกตั้ง ดังนี้
- เริ่มเปิดประเด็นคุย
แพททริเซียแนะนำว่าให้เริ่มพูดคุยเพื่อหาข้อมูลก่อนการรายงานข่าว ซึ่งเธอกล่าวย้อนไปถึงช่วงก่อนการเลือกตั้งในบราซิลปี 2561 ว่าเริ่มมีการจ้างบริษัทการตลาดให้กระจายข้อมูลที่บิดเบือนด้วยการส่งข้อความถึงผู้ใช้งานจำนวนมาก (mass messaging) ผ่านแอพพลิเคชันแช็ต WhatsApp ซึ่งในตอนนั้น ผู้คนทั่วไปยังไม่รู้ว่าการส่งข้อความถึงผู้ใช้งานจำนวนมากพร้อม ๆ กันนั้นคืออะไร แม้แต่เจ้าหน้าที่ของรัฐหรือศาลสูงสุดว่าด้วยการเลือกตั้ง (TSE: Superior Electoral Court) ดังนั้น เธอจึงเริ่มพูดคุยกับผู้เชี่ยวชาญด้านการรณรงค์หาเสียงเลือกตั้งและพนักงานบริษัทการตลาดเหล่านี้ รวมถึงจัดทำบัญชีรายชื่อบริษัทที่ให้บริการการส่งข้อความถึงผู้ใช้งานจำนวนมากช่วงหาเสียงเลือกตั้งขึ้น
- ค้นหาข้อมูล
ขั้นตอนต่อมาคือการสืบค้นข้อมูล ในบราซิล นักข่าวสามารถค้นหาข้อมูลเกี่ยวกับผู้บริจาคเพื่อสนับสนุนการหาเสียง ผู้รับจ้างการทำแคมเปญหาเสียง รวมถึงข้อมูลเกี่ยวกับทรัพย์สินของนักการเมืองและอื่น ๆ จากฐานข้อมูล DivulgaCand ซึ่งเป็นฐานข้อมูลที่จัดทำขึ้นโดยศาลสูงสุดว่าด้วยการเลือกตั้ง(TSE) แพททริเซียแนะนำเพิ่มเติมว่าควรหาข้อมูลของบริษัทที่ต้องการสืบค้นด้วย เช่น ที่ตั้ง เบอร์โทรศัพท์ติดต่อ หรือรายละเอียดที่สำคัญอื่น ๆ ที่จะช่วยให้สามารถเจาะหาข้อมูลเชิงลึกได้
- เสาะหาผู้แจ้งเบาะแส (Whistleblower)
ระหว่างที่หาข้อมูลเกี่ยวกับบริษัทการตลาดเหล่านี้ อาจเป็นไปได้ว่าบางบริษัทเคยมีคดีความขึ้นโรงขึ้นศาลมาก่อน ดังนั้น นักข่าวอาจเสาะหารายละเอียดของคดีเพิ่มเติมจากผู้ฟ้องบริษัทเหล่านี้ เช่น อดีตพนักงาน เป็นต้น ส่วนใหญ่แล้วคนกลุ่มนี้จะมีแนวโน้มที่จะคุยกับสื่อหรือนักข่าวมากกว่า แพททริเซีย กล่าวว่าผู้แจ้งเบาะแส พนักงาน หรืออดีตพนักงานเป็นแหล่งข่าวที่สำคัญ เพราะมีข้อมูลมากมายให้ค้นหาแต่หากเจอแหล่งข่าวที่ช่วยแจ้งเบาะแสเพื่อเปิดโปงข้อมูลบิดเบือนเหล่านี้จะเป็นประโยชน์มาก เธอเล่าว่าเธอต้องค้นหาข้อมูลจากฐานข้อมูลของศาลแรงงานระดับภูมิภาคเพื่อวิเคราะห์คดีความต่าง ๆ ที่ฟ้องบริษัทที่ให้บริการการส่งข้อความถึงผู้ใช้งานจำนวนมากเหล่านี้ ข้อมูลที่ได้จากบันทึกคดีช่วยทำให้เธอสามารถระบุแหล่งข่าวที่สำคัญได้
- ขอเอกสารอ้างอิง
ในบางครั้ง ผู้แจ้งเบาะแสสามารถส่งข้อมูลให้ได้ทันที แต่สื่อมวลชนก็ควรเสาะหาข้อมูลและขอหลักฐานประกอบด้วย เช่น รูปถ่าย ใบงาน ประวัติการแลกเปลี่ยนข้อความ และหลักฐานอื่น ๆ จากผู้แจ้งเบาะแสเพื่อประกอบการรายงายข่าว
- ตรวจสอบแหล่งข้อมูล
สื่อมวลชนจะต้องระมัดระวังเป็นพิเศษในการตรวจสอบแหล่งข้อมูลของตนเอง แต่ควรตรวจเช็คเสมอว่าแหล่งข่าวให้ข้อมูลจริงหรือไม่ รวมถึงการปกป้องคุ้มครองแหล่งข่าวไม่ให้ได้รับอันตรายด้วย แพททริเซียยกตัวอย่างจากประสบการณ์ของตัวเองว่า หลักจากที่เธอเผยแพร่รายงานข่าวชิ้นแรกเกี่ยวกับการบิดเบือนข้อมูลเพื่อหวังผลทางการเมือง เธอได้รับข้อความที่ส่งตรงถึงเธอผ่านบัญชีสื่อสังคมออนไลน์จากบุคคลที่อ้างว่าทำงานกับบริษัทการตลาดและต้องการให้ข้อมูลเพิ่มเติมกับเธอ ดังนั้น เธอต้องเช็คก่อนว่าแหล่งข่าวคนดังกล่าวทำงานกับบริษัทนี้จริงหรือไม่และในขณะเดียวกันเธอก็ต้องให้ความมั่นใจกับแหล่งข่าวด้วยว่าเธอจะไม่เปิดเผยตัวตนของพวกเขา
- การทำงานร่วมกันเป็นภาคี
การทำงานเป็นภาคีร่วมกันสามารถสร้างความเข้มแข็งให้กับการต่อสู้กับข้อมูลที่บิดเบือน สื่อมวลชนสามารถร่วมงานกับมหาวิทยาลัยหรือสถาบันวิจัยเพื่อเพิ่มความน่าเชื่อถือให้แก่การรายงานข่าว ในการเลือกตั้งของบราซิลปี 2565 ที่ผ่านมา นักข่าวหลายคนทำงานร่วมกับมหาวิทยาลัย ริโอ เดอ จาเนโร ซึ่งเป็นมหาวิทยาลัยแห่งชาติและดำเนินงานด้านการติดตามตรวจสอบข้อความบิดเบือนต่าง ๆ ในแอพพลิเคชันแช็ต เช่น WhatsApp และ Telegram เนื่องจากมหาวิทยาลัยได้วิเคราะห์ข้อมูลเกี่ยวกับเว็บไซต์ที่ได้รับความนิยมและส่งต่อกันโดยนักการเมืองอยู่แล้ว
- รู้จักเครื่องมือช่วยทำงาน
เครืองมือที่ฟรีและสามารถช่วยในการสืบค้นหาข้อมูลที่เป็นประโยชน์สำหรับนักข่าวได้แก่
- Wayback Machine เป็นฐานข้อมูลดิจิทัลที่เป็นเสมือนคลังข้อมูลการเปลี่ยนแปลงเว็บไซต์หลายพันล้านเว็บไซต์และเผยแพร่ฟรี การลบข้อมูลการเปลี่ยนแปลงเว็บไซต์จากฐานข้อมูล Wayback Machine นั้นทำได้ยากและต้องดำเนินการทางกฎหมายเท่านั้น
- Palver คือบริษัทเทคโนโลยีที่ติดตามและตรวจสอบกลุ่ม WhatsApp ที่เปิดเป็นบัญชีสาธารณะ และเป็นบริษัทที่กำลังทำงานร่วมกับศาลสูงสุดว่าด้วยการเลือกตั้ง (TSE) ในช่วงก่อนการเลือกตั้งครั้งใหญ่ของบราซิลในปี 2565 ที่ผ่านมา เว็บไซต์นี้ใช้งานง่าย และสามารถเจาะจงคำค้นหาเฉพาะหรือค้นหาไฟล์ข้อมูลต่าง ๆ ได้
- CrowdTangle เป็นเครื่องมือจากบริษัท Meta (บริษัทแม่ของ Facebook และ Instagram) ซึ่งติดตามข้อความต่าง ๆ ที่แพร่กระจายในสื่อสังคมออนไลน์ เครื่องมือนี้สามารถช่วยให้นักข่าววิเคราะห์หัวข้อที่กำลังได้รับความนิยมและหัวข้อที่ไม่ได้รับความนิยมมากนัก ข้อมูลที่ได้จากการวิเคราะห์สามารถช่วยให้นักข่าวเลี่ยงการป่าวประกาศข้อมูลบิดเบือนแม้ตนเองจะเชื่อว่ากำลังช่วยกำจัดข้อมูลบิดเบือนเหล่านั้นอยู่ แพททริเซียกล่าวว่าหากกำลังเขียนข่าวเรื่องอะไรก็ตามที่ไม่มีคนพูดถึงมากนักก็มีความเป็นไปได้ว่าคุณกำลังช่วยกระจายข่าวให้คนปล่อยข้อมูลบิดเบือนไปยังผู้รับสารกลุ่มใหม่
- SimilarWeb เป็นเครื่องมือที่เป็นประโยชน์อีกอันหนึ่งในการติดตามที่มาของข้อมูลบิดเบือนแพททริเซียระบุว่า เธอใช้เครื่องมือนี้ในการประเมินว่ามีเว็บไซต์ไหนบ้างที่ได้รับการส่งต่อมากที่สุดในข้อความกลุ่ม WhatsApp และใช้โดยนักการเมืองฝ่ายไหน อีกทั้งยังค้นต่อว่าเว็บไซต์เหล่านี้มีผู้เข้าชมจำนวนมากหรือไม่และพบว่าเว็บไซต์หลายเว็บไซต์นำเนื้อหาข่าวจากสื่อที่มีความน่าเชื่อถือและดัดแปลงเนื้อหาใหม่จากมุมมองที่เต็มไปด้วยอคติ ซึ่งเธอกล่าวว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องที่น่ากลัว
- ติดตามตรวจสอบด้วยการสร้างแผนที่ข้อมูล
การติดตามตรวจสอบข้อมูลบิดเบือนเป็นความจริงที่ต้องเผชิญ แพททริเซียแนะนำว่าการทำแผนที่เว็บไซต์ต่าง ๆ ที่เผยแพร่ข้อมูลบิดเบือนเหล่านี้และระบุว่าแต่ละเว็บไซต์ได้รับเงินสนับสนุนมาจากไหนและมีใครทำงานอยู่เบื้องหลังเว็บไซต์นี้บ้างจะช่วยให้เห็นมุมมองที่น่าสนใจ
- ติดตามการเปลี่ยนแปลงด้านกฎหมาย
แพททริเซียระบุว่านักข่าวควรติดตามการเปลี่ยนแปลงในกฎหมายที่อาจส่งผลให้ข้อมูลบิดเบือนนั้นสามารถแพร่กระจายได้ง่ายขึ้น เธอยกตัวอย่างกรณีของบราซิลที่มีการเปลี่ยนแปลงกฎหมายหลายข้อ มติของศาลสูงสุดว่าด้วยการเลือกตั้ง (TSE) และการเปลี่ยนนโยบายที่เกี่ยวข้องกับการควบคุมสื่อสังคมออนไลน์ว่าเนื้อหาใดที่สามารถเผยแพร่ได้หรือเนื้อหาใดที่ไม่สามารถพูดถึงได้ระหว่างการหาเสียง ซึ่งในทางทฤษฎีนั้น นโยบายเหล่านี้มีกฎระเบียบที่บังคับให้กูเกิลหยุดการแพร่กระจ่ายข้อมูลเท็จเกี่ยวกับระบบการเลือกตั้งหรือข้อมูลเท็จทางการเมือง
10. ตรวจสอบข้อมูลจากหลายแหล่ง
ปัจจุบันนี้ เราสามารถตรวจสอบข้อมูลทั่วไปจากการรณรงค์หาเสียงเลือกตั้งด้วยข้อมูลที่สืบค้นได้จากเว็บไซต์ค้นหาข้อมูล เช่น กูเกิลและ Meta โดยเธอระบุว่าบริษัททั้งสองแห่งมีฐานข้อมูลการซื้อโฆษณา (ad libraries) ซึ่งนักข่าวสามารถตรวจสอบได้ว่าใครหรือบริษัทไหนซื้อโฆษณาบ้าง เธอกล่าวว่า ในกรณีของการรณรงค์หาเสียงช่วงเลือกตั้งในบราซิลนั้น มีเพียงผู้สมัครหรือพรรคการเมืองสามารถจ่ายเงินซื้อโฆษณาในสื่อสังคมออนไลน์ได้ แต่สิ่งที่เกิดขึ้นคือมีบุคคลทั่วไปที่จ่ายเงินซื้อโฆษณาเพื่อโจมตีผู้สมัครที่ตนเองไม่สนับสนุนเพื่อช่วยให้ผู้สมัครที่ตนเองสนับสนุนได้รับความสนใจ
11.ติดตามเส้นทางการเงิน
หลังการเลือกตั้งในบราซิลครั้งล่าสุดเมื่อปี 2565 เกิดการประท้วงและการถกเถียงประเด็นทางการเมืองที่ไม่เป็นประชาธิปไตยหลายเรื่อง ซึ่งผู้นำการประท้วงเหล่านี้ได้รับเงินสนับสนุนจากนักธุรกิจที่มีอำนาจในประเทศ ดังนั้น การติดตามเส้นทางการเดินทางของเงินจะช่วยให้นักข่าวสามารระบุได้ว่าใครคือคนที่ช่วยสนับสนุนการประท้วงอยู่เบื้องหลัง ใครได้รับบริจาคบ้างและสื่อมวลชนสามารถติดต่อคนเหล่านี้เพื่อขอข้อมูลได้
12.ติดตามข้อมูลจากศาลและองค์กรตรวจสอบ (watchdog)
สื่อมวลชน นักวิชาการและนักเช็คข่าวลวง (fact-checkers) ควรติดตามคำตัดสินของศาล รวมถึงองค์กรตรวจสอบของภาครัฐเพื่อใช้เป็นข้อมูลเพิ่มเติมในการรายงานข่าว แพททิเซียระบุว่าเราควรตั้งคำถามว่าใครคือผู้ที่กำกับดูแลการเลือกตั้งที่นอกเหนือไปจากสื่อมวลชน นักวิชาการและนักเช็คข่าวลวง (fact-checkers) และคำถามที่น่าสนใจคือระบบยุติธรรมนั้นดำเนินการตามกฎหมายหรือไม่ หรือหน่วยงานเหล่านั้นทำหน้าที่ตามที่กำหนดหรือไม่
13.ระมัดระวังตัวเมื่อสืบค้นข้อมูล
แพททริเซียระบุว่าการต่อสู้กับข้อมูลบิดเบือนช่วงก่อนการเลือกตั้งในบราซิลครั้งล่าสุดในปี 2565 นั้นมีความท้าทายมากกว่าการเลือกตั้งเมื่อปี 2561 มากเพราะในการเลือกตั้งครั้งนั้นข้อมูลเท็จสามารถแพร่กระจายในแพลตฟอร์มเพียงไม่กี่แห่งแต่ตอนนี้ข้อมูลลักษณะนี้สามารถแพร่กระจายได้อย่างกว้างขวาง โดยเธออธิบายว่าการเลือกตั้งของบราซิลเมื่อปี 2565 ที่ผ่านมา ข้อมูลที่ถูกบิดเบือนเพื่อหวังผลทางการเมืองแพร่กระจายอย่างกว้างขวางเนื่องจากผู้นำทางการเมืองต่าง ๆ มีอิทธิพลในสื่อสังคมออนไลน์และมีผู้ติดตามจำนวนมาก มียูทูปเบอร์จำนวนมากและมีสำนักข่าวออนไลน์ขยะมากมายที่นำเสนอว่าตนเองเป็นแหล่งข้อมูลที่เชื่อถือได้และเป็นแหล่งข่าวแห่งหนึ่ง รวมไปถึงสื่อสังคมออนไลน์อื่น ๆ เช่น TikTok, Kwai และสื่อสังคมออนไลน์ที่นำเสนอคลิปวีดีโอสั้นๆ จึงทำให้การนำเสนอเรื่องเล่าทางการเมืองเฟื่องฟูขึ้นและส่งผลกระทบอย่างมากต่อความน่าเชื่อถือของสื่อมวลชน “สื่อมวลชนมีบทบาทสำคัญในการเปิดโปงข้อมูลบิดเบือนเพื่อหวังผลทางการเมืองในช่วงการณรงค์หาเสียงเลือกตั้ง ในขณะเดียวกันสื่อมวลชนบางแห่งกลับการเป็นปัญหาเสียเอง และเราต้องลงมือทำงานร่วมกัน” เธอกล่าว
บทสรุป
ในบริบทที่ประเทศไทยกำลังเข้าสู่ศึกการเลือกตั้งครั้งใหญ่ที่กำลังจะเกิดขึ้นในวันที่ 14 พฤษภาคม 2566นี้ ประสบการณ์จากประเทศบราซิลนับว่ามีคุณค่าต่อการเรียนรู้เพื่อให้ทุกฝ่าย ไม่ว่าจะเป็นสื่อมวลชน นักวิชาการ ภาคประชาสังคม นักเช็คข่าวลวงและบุคคลทั่วไปตระหนักรู้ต่อปัญหาการบิดเบือนข้อมูลและมีเครื่องมือในการช่วยกันติดตามตรวจสอบข่าวลวงหรือการบิดเบือนข้อมูลเพื่อหวังผลทางการเมือง โดยเฉพาะในสื่อสังคมออนไลน์ต่าง ๆ ที่ใช้กันอย่างแพร่หลาย เพื่อให้การเลือกตั้งของไทยที่จะถึงนี้เป็นการเลือกตั้งที่มีความหมายและไม่นำไปสู่ความขัดแย้งทางการเมืองอย่างรุนแรงในสังคมไทย
ที่มาของบทความ: https://ijnet.org/en/story/13-tips-investigating-political-disinformation
แหล่งข้อมูลเพิ่มเติม
https://www.nationtv.tv/news/scoop/378903812 (“ศึกเลือกตั้ง66″จับตาการบิดเบือนข้อมูลเพื่อหวังผลทางการเมือง)
https://archive.org/web/ (Wayback Machine)
https://www.palver.com.br/ (Palver)
https://www.crowdtangle.com/ (Crowtangle)
https://www.similarweb.com/ (Similarweb)