‘โคแฟค’จับมือ‘Whoscall’แนะรู้ทัน‘แก๊งคอลเซ็นเตอร์-SMSอันตราย’ ชี้มุกเดิมยังหลอกได้-มีสติเลี่ยงตกเป็นเหยื่อ

1 เม.ย. 2566 โคแฟค (ประเทศไทย) ร่วมกับบริษัท Gogolook จากไต้หวัน ซึ่งเป็นผู้พัฒนาแอปพลิเคชั่น Whoscall สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และสภาองค์กรของผู้บริโภค จัดอบรมออนไลน์ผ่านระบบ Zoom หัวข้อ “อบรมเครื่องมือในการรับมือแก๊งคอลเซ็นเตอร์ยุค 5G ในวันเอพริลฟูล (April Fool’s Day)” พร้อมถ่ายทอดสดผ่านเพจเฟซบุ๊ก “โคแฟค (Cofact)”

สุภิญญา กลางณรงค์ ผู้ร่วมก่อตั้งโคแฟค (ประเทศไทย) กล่าวเปิดการอบรมว่า วันที่ 1 เมษายน ในทางสากลคือวันเอพริลฟูลเดย์ (April Fool’s Day) หรือวันโกหกในวัฒนธรรมของชาวตะวันตก ซึ่งจะอนุญาตให้มีการโกหกในเชิงล้อเลียนหรือมุกตลกได้ แต่ในยุคดิจิทัลที่ทุกคนรับข้อมูลข่าวสารผ่านหน้าจอโทรศัพท์มือถือในปัจจุบันนั้น เราต้องตรวจสอบตลอดเวลาว่าถูกใครหลอกลวงบ้างหรือไม่ทุกวันและทุกเวลา โดยเฉพาะ“แก๊งคอลเซ็นเตอร์” ซึ่งเป็นการหลอกลวงในระดับที่ทำให้ผู้หลงเชื่อสูญเสียทรัพย์สินเงินทอง

“เป็นโอกาสดีที่เราใช้วาระวันเอพริลฟูลในการที่จะนำเสนอเครื่องมือ วิธีการที่ทุกท่านจะสามารถใช้ในการป้องกันตัวได้ อย่างน้อยในขณะที่เรากำลังรอนโยบายจากภาครัฐในการแก้ปัญหาเรื่องระบบหรือการบังคับใช้กฎหมายต่อเรื่องนี้อย่างจริงจัง ในยุคนี้ประชาชนก็อาจต้องดูแลตัวเองด้วยการใช้เครื่องมือต่างๆ วันนี้เรามีความร่วมมือระหว่างภาคีโคแฟคประเทศไทยกับฮูส์คอล (Whoscall) บริษัท โกโกลุค (Gogolook) ประจำประเทศไทยและภูมิภาคคะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งเป็นความร่วมมือที่เรามีตลอด 2 ปีที่ผ่านมาในเรื่องการสร้างนวัตกรรมการตรวจสอบข่าวลวง     ผ่านไลน์แชทบอท (Line Chatbot) และการจัดสัมมนา-เสวนาต่างๆ” สุภิญญา กล่าว

ฐิตินันท์ สุทธินราพรรณ ผู้อำนวยการฝ่ายการตลาดประจำภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ บริษัท Gogolook กล่าวว่า ในช่วง 2-3 ปีล่าสุดซึ่งเป็นช่วงที่เกิดสถานการณ์โรคระบาดโควิด-19 Whoscall ได้เก็บข้อมูลใน 4 ประเทศของทวีปเอเชีย คือ ไต้หวัน เกาหลีใต้ ญี่ปุ่นและมาเลเซีย พบว่ามีการหลอกลวงที่ใช้โทรศัพท์ หรือการส่งข้อความสั้น (SMS) จำนวนมาก และแม้ระยะหลังๆ สถานการณ์โรคระบาดจะซาลงแต่มิจฉาชีพก็ยังไม่ได้ลดลงอย่างมีนัยสำคัญ แม้ว่าจะลดลงบ้างในปี 2565 เนื่องจากรัฐบาลแต่ละชาติเริ่มหามาตรการรับมืออย่างจริงจังมากขึ้นก็ตาม

ขณะที่ปัญหาข้อมูลรั่วไหล พบว่า ในปี 2565 มีข้อมูลหมายเลขโทรศัพท์ในประเทศไทยถึง 13.5 ล้านหมายเลข หรือคิดเป็นร้อยละ 45 รั่วไหลหรือถูกขายออกไปในทางที่ผิด ส่วนข้อมูลที่รั่วไหลมากที่สุดในไทยคือรหัสผ่าน ดังนั้น ผู้ใช้งานแต่ละคนก็ต้องตั้งรหัสผ่านให้รัดกุม เช่น มีทั้งอักษรตัวเล็ก-ตัวใหญ่ ตัวเลข อักษรพิเศษ ฯลฯ เพราะคอมพิวเตอร์ปัจจุบันฉลาดมาก การตั้งรหัสผ่านง่ายๆ ย่อมเสี่ยงถูกแฮ็กได้ง่ายด้วย นอกจากนั้นยังมีชื่อและหมายเลขโทรศัพท์ที่ข้อมูลรั่วไหลไปอยู่ในมือมิจฉาชีพ ซึ่งเป็นข้อมูลที่ถูกใช้ในการโทรศัพท์กลับไปหลอกลวงบุคคลนั้น

เมื่อเน้นไปที่มิจฉาชีพที่ใช้การโทรศัพท์หลอกลวงเหยื่อ หรือแก๊งคอลเซ็นเตอร์ ข้อมูลเฉพาะในประเทศไทยที่ Whoscall เก็บสถิติได้ พบว่า ในปี 2565 มีทั้งหมด 17 ล้านสาย เพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 165 จากปี 2564 ซึ่งพบเพียง 6.4 ล้านสาย ส่วนการหลอกลวงผ่าน SMS ในปี 2565 ปรากฎว่า 7 ใน 10 ข้อความที่คนไทยได้รับจะเป็นข้อความประเภทหลอกลวง (Spam หรือ Phishing) เช่น ชวนกู้เงิน ชวนเล่นการพนันออนไลน์ มีเพียง 3 ใน 10 ที่ไม่ใช่ข้อความหลอกลวง เช่น แจ้งเตือน-ใบแจ้งหนี้ (จากบริษัทหรือคนที่รู้จัก) การเข้ารหัสแบบใช้ครั้งเดียวเพื่อยืนยันเข้าสู่ระบบ (OTP)  

ตามที่มีรายงานเข้ามา ตัวอย่างของข้อความที่มิจฉาชีพมักใช้ล่อลวงเหยื่อ ได้แก่ เว็บตรง” , “รับสิทธิ์ยื่นกู้” , “เครดิตฟรี” , “แตกง่าย” , “คุณได้รับสิทธิ์และต้องบอกว่า ในประเทศไทยยังใช้มุกเดิมๆ หลอกเหยื่อได้ เช่น อ้างว่าได้รับพัสดุเก็บเงินปลายทาง ซึ่งหลายคนเห็นว่าเป็นจำนวนเงินน้อยๆ เพียง 50-100 บาทก็ไม่ได้ใส่ใจ หรืออ้างว่าเป็นเจ้าหน้าที่รัฐจากหน่วยงานต่างๆ แล้วบอกเหยื่อว่าไปพัวพันคดีความพร้อมยื่นข้อเสนอว่าจะช่วยเหลือแลกกับการโอนเงินไปให้ หรือชวนทำงานออนไลน์โดยอ้างชื่อแพลตฟอร์มต่างๆ จึงอยากให้ทุกคนระมัดระวังและตระหนักรู้เรื่องนี้

“ล่าสุดเห็นเคสในอินเตอร์เน็ต มาเป็นลิงก์ปล่อยกู้ พอกรอกข้อมูลไปหมดแล้ว มันเชื่อมไปถึงบัญชีเฟซบุ๊ก วันหนึ่งเขาเอารูปในเฟซบุ๊ก เอาข้อความที่เขาคุยกับเรามาแบล็กเมล์เราทีหลังว่าคุณต้องคืนเงินตามนี้ๆ พอคนคนนั้นกรอกข้อมูลเรียบร้อยเขาก็โอนเงินมาให้กู้ทันที พอบอกไม่กู้แล้วโอนเงินกลับ เขาบอกไม่ได้ต้องมีดอกเบี้ยเพิ่มเติมขึ้นมา SMS เป็นสิ่งที่อยากให้ระวัง อย่าไปเชื่อ อย่าคลิกลิงก์ที่เราไม่รู้จัก แล้วก็ไม่มีอะไรได้มาง่ายๆ รางวัลที่เขาบอกว่าเราได้ งานพาร์ทไทม์ที่เขาจะมาจ้างเรา สรุปเขาส่งมาเพื่อหลอกเอาข้อมูลส่วนตัวของเราไป” ฐิตินันท์ กล่าว

มนประภา รัตนกนกพร หัวหน้าฝ่ายการตลาดประจำประเทศไทย บริษัท Gogolook กล่าวว่า มิจฉาชีพมักใช้กลอุบายที่อ้างอิงกับสิ่งใกล้ตัวในชีวิตประจำวัน เช่น การส่งพัสดุ อ้างว่ามีพัสดุตกค้างบ้าง อ้างมีสมาชิกในบ้านสั่งของแล้วให้คนที่อยู่บ้าน ณ เวลาที่พัสดุไปส่งสำรองจ่ายเงินไปก่อนบ้าง หรือ การหลอกให้โอนเงิน โดยอ้างเป็นคนรู้จักบอกว่ากำลังเดือดร้อนต้องการความช่วยเหลือ หรืออ้างเป็นบริษัทบัตรเครดิตบอกว่ามีหนี้ค้างต้องชำระไม่เช่นนั้นจะถูกหักเงินจากบัญชีธนาคาร เป็นต้น 

ที่ผ่านมาหน่วยงานภาครัฐของไทย เช่น ศูนย์ปราบปรามอาชญากรรมเทคโนโลยีสารสนเทศ สํานักงานตํารวจแห่งชาติ (PCT) ได้รวบรวมกลโกงของมิจฉาชีพออนไลน์เผยแพร่บนเว็บไซต์ให้ประชาชนรับรู้ ขณะที่บทบาทของ Whoscall ในฐานะแอปพลิเคชั่นที่พัฒนาขึ้นเพื่อลดความเสี่ยงจากมิจฉาชีพก็มีคำแนะนำถึงประชาชน เริ่มจาก 1.ตั้งสติ ลองคิดดูว่าเรื่องราวที่ปลายสายโทรศัพท์กล่าวอ้างถึงนั้นเกี่ยวข้องกับตัวเราจริงหรือไม่ หรือหากปลายสายพยายามข่มขู่เร่งเร้าให้โอนเงินก็ไม่ต้องสนทนาต่ออีกเพราะให้สันนิษฐานไว้ก่อนได้เลยว่าเป็นมิจฉาชีพ

2.อย่าให้ข้อมูลส่วนตัวกับปลายสายที่ยังไม่สามารถพิสูจน์ได้ว่าเป็นใคร โดยเฉพาะข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับการทำธุรกรรมทางการเงิน 3.อย่าคลิกลิงก์แปลกๆ ที่ส่งมา ไม่ต้องอยากรู้อยากเห็นว่าคืออะไร โดยเฉพาะลิงก์ที่ส่งมาทาง SMS เพราะมิจฉาชีพสามารถเข้าถึงข้อมูลส่วนตัวในโทรศัพท์มือถือได้โดยไม่ต้องถามอะไรอีกเพียงแค่เหยื่อคลิกลิงก์เข้าไป 4.ระวังหมายเลขโทรศัพท์ที่ไม่น่าไว้วางใจ โดยเฉพาะหมายเลขที่แสดงว่าเป็นโทรศัพท์ข้ามประเทศ อนึ่ง ทุกคนสามารถดาวน์โหลดแอปฯ Whoscall ซึ่งจะช่วยคัดกรองและตรวจสอบความน่าเชื่อถือของหมายเลขโทรศัพท์ที่โทรเข้ามาได้ 

ถ้าเราเผลอตกเป็นเหยื่อแล้วสามารถทำอะไรได้บ้าง อย่างแรกคือสายด่วน 1441 สายด่วนกองบัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี สามารถโทรเข้าไปแจ้งข่าวได้เลยว่าโดนมิจฉาชีพสั่งให้ทำแบบนั้นแบบนี้ แล้วก็เครือข่ายมือถือที่ร่วมกับ กสทช. และตำรวจ สำหรับเครือข่าย AIS สามารถโทรหมายเลข 1185 DTAC หมายเลข 1678 และTRUE หมายเลข 9777 สามารถโทรเข้าไปแจ้งได้เลยว่านี่เป็นเบอร์ของมิจฉาชีพแล้วก็ให้ทางเครือข่ายบล็อกเบอร์ หรือถ้าเราพลาดโอนเงินไปแล้ว สถาบันการเงินต่างๆ ก็จะมีเบอร์เอาไว้รับแจ้งเหตุด่วนฉุกเฉินตลอด 24 ชั่วโมง หรือแจ้งผ่านเว็บไซต์ออนไลน์ cib.go.th ซึ่งเป็นเว็บไซต์ของตำรวจสอบสวนกลาง มนประภา กล่าว

สำหรับ Whoscall นั้นเปิดให้ดาวน์โหลดใช้โดยไม่เสียค่าใช้จ่ายทั้งโทรศัพท์มือถือระบบปฏิบัติการ iOS และ Android เป็นแอปพลิเคชั่นที่รวบรวมหมายเลขโทรศัพท์ที่ถูกใช้โดยมิจฉาชีพ ซึ่งหากหมายเลขใดเคยมีการรายงานไว้ในฐานข้อมูล เมื่อหมายเลขนั้นโทรศัพท์ไปหาผู้ที่ติดตั้งแอปฯ นี้ไว้ในเครื่อง ระบบก็จะแจ้งเตือนทำให้ผู้ใช้งานไม่ต้องเสียเวลารับสาย ซึ่งรวมถึงการแจ้งเตือน SMS อันตรายด้วย นอกจากนั้นยังรวมถึงหมายเลขโทรศัพท์ของบริษัทที่โทรเข้ามาขายสินค้า (เช่น ขายประกัน) ก็จะแจ้งเตือนให้ทราบเช่นกันเผื่อยังไม่สะดวกรับสายในเวลานั้น แอปฯ นี้ยังสามารถเลือกบล็อกหมายเลขโทรศัพท์ที่โทรเข้ามารบกวนบ่อยครั้งได้!!! 

-/-/-/-/-/-/-/-/-/-/-

รับชมคลิปเพิ่มเติม