‘หลักธรรมพุทธ’ในยุคดิจิทัล! รู้เท่าทันใจตนก่อนสื่อสารออกไป ลดปัญหา‘ข่าวลวง-ข้อมูลสร้างความแตกแยก’

Editors’ Picks

27 ก.พ. 2567 ภาคีโคแฟค (ประเทศไทย) จัดCofact Live Talk หัวข้อ “ธรรมะกับการรับมือข้อมูลยุค AI” เนื่องในโอกาสเทศกาลวันมาฆบูชาประจำปี 2567 ถ่ายทอดสดผ่านเพจ “Cofact โคแฟค” โดยมี พระมหานภันต์ สันติภัทโท ประธานกรรมการมูลนิธิ มูลนิธิสถาบันการจัดการวิถีพุทธเพื่อสุขและสันติ (มูลนิธิ สกพ.) ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดสระเกศ เป็นผู้นำสนทนา และมี สุภิญญา กลางณรงค์ ผู้ร่วมก่อตั้งภาคีโคแฟค (ประเทศไทย) เป็นผู้ดำเนินรายการพร้อมด้วย เพชรี พรหมช่วย ผู้ดำเนินรายการธรรมในใจ ช่อง 33 , ญาณี รัชต์บริรักษ์ ผู้อำนวยการสำนักสร้างเสริมระบบสื่อและสุขภาวะทางปัญญา สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และ พิมพ์รภัช ดุษฎีอิสริยกุล ผู้จัดการโครงการมูลนิธิฟริดิชเนามัน ร่วมตั้งคำถาม เปิดประเด็นชวนคิดเพื่อรับมือปัญหาเส้นแบ่งความจริง-ความลวง ของข้อมูลข่าวสารจำนวนมหาศาลในยุคดิจิทัลที่ถาโถมเข้ามา

พระมหานภันต์ เริ่มต้นด้วยการกล่าวถึง ศีลข้อ 4 (มุสาวาทา เวระมะณี สิกขาปะทัง สะมาทิยามิ)หมายถึง พึงงดเว้นจากการกล่าวคำเท็จ ส่อเสียด หยาบคายและเพ้อเจ้อ ซึ่งเชื่อมโยงไปถึงการแชร์ข้อมูลเท็จ หรือแม้ไม่เชิงเท็จแต่เป็นการตีความจากเพียงบางมุมมองจนอาจกลายเป็นการเสี้ยมได้ ซึ่งคนที่แสดงความคิดเห็นอาจมองว่าเป็นเสรีภาพในการแสดงออกและมีคำถามว่าทำได้หรือไม่  

แม้สิทธิในการคิด การพูด หรือการนับถือศาสนา ได้รับการรับรองในรัฐธรรมนูญ แต่เพื่อการอยู่ร่วมกันอย่างเป็นสุขในสังคมจะต้องคำนึงมากกว่ารัฐธรรมนูญ อย่างที่หลวงพ่อ สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ เคยเรียบเรียงหนังสือชื่อ ธรรมนูญชีวิตโดยภายในหนังสือจะมีธรรมะหลายหมวดที่แนะนำว่า “ธรรม” อย่างไรคนกับคนจะอยู่ด้วยกันอย่างมีความสุข ทั้งนี้แนวคิดของศาสนาพุทธ เห็นว่า มุสาวาทหักรานประโยชน์ หมายถึงเมื่อกล่าวคำเท็จทำให้คนพลาดจากความจริง 

แม้แต่คำว่า “White Lie (โกหกสีขาว)” ทำไปด้วยเจตนาดีก็ยังเป็นสิ่งที่ไม่สมควร ดังตัวอย่างของ มะนาวโซดารักษามะเร็ง จริงอยู่ที่คนส่งต่อข้อความนี้อาจทำให้ไปด้วยความหวังดีไม่ได้คิดร้าย แต่ก็ทำให้ผู้ป่วยมะเร็งเสียชีวิตเพราะไม่ได้รับการรักษาอย่างถูกวิธี แต่ไปเชื่อข้อความที่ถูกส่งมาจากบุคคลที่ตนเองคิดว่าเชื่อถือได้ หรือหากขยายระดับผลกระทบให้รุนแรงขึ้น ในศาสนาพุทธมีคำว่า สังฆเภท หมายถึงทำให้คณะสงฆ์แตกแยกกัน ซึ่งจัดเป็น อนันตริยกรรม คือกรรมที่หนักที่สุด 

โดยมีเรื่องเล่าเป็นอุทาหรณ์ในพระธรรมบท ว่าด้วยพระสงฆ์ 2 รูป เคยรักใคร่กันมากเหมือนพี่น้อง ต่อมามีพระสงฆ์รูปที่ 3 เริ่มพูดจายุแยงทีละเล็กทีละน้อย เข้าทำนอง น้ำหยดลงหินทุกวันหินยังกร่อนสุดท้ายพระทั้ง 2 รูปที่เคยรักกันก็แตกแยกกัน และนี่เป็นเหตุผลว่าทำไมศาสนาพุทธจึงย้ำเรื่องพึงงดเว้นจากการกล่าวคำเท็จ ส่อเสียด หยาบคายและเพ้อเจ้อ ซึ่งทั้งหมดนี้เป็น วจีทุจริต ทั้งสิ้น 

ขณะที่ กาลามสูตร หลักธรรมเตือนสติที่ว่าด้วยการอย่าเพิ่งเชื่อเพราะเหตุต่างๆ รวม 10 ประการ ซึ่งตามบทกวีของ เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ ศิลปินแห่งชาติ ได้เรียบเรียงจนจดจำได้ง่ายว่า หนึ่งฟังตามกันมาอย่าได้เชื่อ สองทำกันทุกเมื่อ เชื่อไม่ได้ สามตื่นข่าวป่าวมาอย่าเชื่อไป สี่อย่าไว้ใจแม้แต่ตำรา ห้าอย่าเชื่อเพราะเดาเอาเองเล่น หกกะเกณฑ์คาดคะเนไว้ล่วงหน้า เจ็ดเพราะนึกตรึกตรองหรือตรวจตรา แปดเพราะว่าต้องตามธรรมเนียมตน เก้าอย่าเชื่อเพราะเพื่อควรเชื่อเขา สิบครูเราแท้แท้มาแต่ต้น ก็ใช่จักเชื่อได้น้ำใจคน จงเชื่อผล เชื่อเหตุ สังเกตเทอญในส่วนท้ายที่ว่า จงเชื่อผล เชื่อเหตุ สังเกตเทอญ” จะมีข้อควรพิจารณา ดังนี้

1.เรียนรู้จากประสบการณ์ของผู้อื่น สิ่งที่แนะนำกันมา บัณฑิตหรือวิญญูชนมีความเห็นอย่างไรตำหนิติเตียนหรือไม่ กับ 2.เรียนรู้จากประสบการณ์ของตนเอง ลองปฏิบัติแล้วพบว่าเป็นโทษหรือเป็นประโยชน์ ส่วนคำถามที่ว่า จะวางใจอย่างไรกับข้อมูลที่เข้ามา? ขอฝากข้อคิดไว้ว่า ผู้นำต้องวางตนเป็นแบบอย่าง อย่างพระสงฆ์สมัยโบราณ เมื่อมีใครจะเข้ามานินทาคนนั้นคนนี้ ท่านจะบอกว่าไม่ขอรับฟัง เพราะไม่ต้องการสนับสนุนวัฒนธรรมการนินทาลับหลัง แต่หากมาบอกด้วยความประสงค์ดี ถามว่าจะทำอย่างไรดีก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง

แต่เมื่อได้ยินได้ทราบข้อมูลแล้ว ตัวเราเองต้องเป็นอย่างที่คำโบราณว่าไว้ 1.พกหินในอกอย่าพกนุ่น จิตใจต้องหนักแน่น 2.ดีอยู่ที่ปาก-ทุกข์ยากอยู่ที่มือ หมายถึงได้รับข้อมูลอะไรมาก็ไม่ใช่ถึงกับต้องทิ้งไปเลยในทันที แต่ต้องตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลนั้นก่อน นอกจากนั้น ยังมีหลักธรรมเรื่อง สาราณียธรรม ที่ว่าด้วยการอยู่ร่วมกันได้ดีของคน ประกอบด้วย 1.เมตตากายกรรม แสดงออกต่อกันด้วยดี 2.เมตตาวจีกรรม พูดกันดีๆ 3.เมตตามโนกรรม คิดดีต่อกัน 4.สาธารณโภคี เอื้อเฟื้อแบ่งปันกัน 5.สีลสามัญญตา ประพฤติเสมอกันไม่มีหลายมาตรฐาน และ 6.ทิฏฐิสามัญญตา ความเห็นความเข้าใจเสมอกัน

“3 ข้อแรก ปกติในพุทธศาสนาพูดถึงเรื่องใจก่อน แต่พอเป็นสาราณียธรรม พระพุทธเจ้าพูดเรื่องกายก่อน นี่คือน้ำหนักของลำดับที่เห็นว่าภายนอกต้องแสดงออกกันให้ดีก่อนนะ ต้องพูดกันดีๆ แล้วค่อยมาถึงใจ ไม่ได้เอาใจขึ้นก่อน” พระมหานภันต์อธิบาย

คำถามต่อมา ผู้ดูแลชุมชนออนไลน์ควรจะมีบทบาทอย่างไรบ้าง? เพราะปัจจุบันมีการตั้งชุมชนทำนองนี้จำนวนมาก เช่น เพจหรือกลุ่มในเฟซบุ๊ก พระมหานภันต์ให้ข้อคิดจากประสบการณ์ที่เป็นแอดมินกลุ่มแบบนี้เช่นกัน ว่า ที่ผ่านมาจะย้ำเสมอ โยมไม่จำเป็นต้องเห็นเหมือนกับอาตมา แต่เราสามารถอยู่ร่วมกันได้ โดยจะไม่บล็อกผู้เห็นต่าง เว้นแต่ว่าเป็นการแสดงความคิดเห็นด้วยถ้อยคำหยาบคายล้วนๆ โดยไม่ได้ฟังอะไรเลย แต่ก็จะให้โอกาสด้วยการเตือนก่อน หากยังทำซ้ำเป็นครั้งที่ 3 จึงจะบล็อก

หรือเมื่อเกิดกรณีสมาชิกใช้ถ้อยคำส่อเสียด ยุให้คนนั้นผิดใจกับคนนี้ ก็จะเตือนว่า อาตมาไม่อยากอยู่ในสังคมที่คนพร้อมแทงข้างหลัง แต่เราควรอยู่กันแบบกัลยาณมิตร โดยสรุปแล้ว การสื่อสารนั้นคือพลังการเปลี่ยนแปลงโลก และเราสามารถช่วยกันได้ เริ่มตั้งแต่ ในครอบครัว เช่น เมื่อลูกมาเล่าให้พ่อแม่ฟังว่าไปโรงเรียนแล้วไปพูดอะไรที่เป็นการล้อเลียนกลั่นแกล้งรังแก (Bully) ผู้อื่น ก็อาจเตือนว่าไม่ควรพูดแบบนั้น แล้วก็จะค่อยๆ ขยายวงออกไป จนทุกคนรับรู้ได้ว่าสิ่งใดไม่สมควรทำ อย่างในอดีตที่เคยมีการล้อเลียนรูปร่างหน้าตากัน แต่ต่อมาเราก็ตระหนักได้ว่าไม่ควรไปสร้างเรื่องตลกโดยทำร้ายความรู้สึกใคร

“อาตมาเชื่อว่าวันนี้ประเทศไทยเติบโตมามาก เพราะหลายเรื่องที่สมัยก่อนย้อนกลับไปเราจะไม่กล้าพูดถึงกัน วันนี้เราพูดถึงกันแล้ว ด้วยความเคารพก็มี ด้วยความเข้าใจก็มี ด้วยความไม่เข้าใจก็มี แต่อาตมาเชื่อว่าอันนี้มันเป็นแนวทางที่เห็นแล้วว่าคนเริ่มเห็นทั้งเสรีภาพและความรับผิดชอบ และในมุมอาตมา ฝากหนังสือ ‘เมื่อวินัยไม่มีเสรีภาพก็หายไป’ ของสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ป.อ. ปยุตฺโต)ท่านยกตัวอย่างง่ายๆ สมมติว่าตรงนี้ทุกคนมีเสรีภาพ แต่ถ้าทุกคนไม่ฟังกันเลย เสรีภาพในการพูดนั้นไม่มีประโยชน์เลย คือถ้าไม่มีวินัย ไม่รักษากติกาว่าพูดทีละคนจะได้ฟังกัน ถ้าทุกคนนึกอยากจะพูดอะไรก็พูด ไม่ยกมือ ไม่ฟังใคร สุดท้ายต่อให้มีเสรีภาพในการพูดมันก็ไม่มีความหมายใด” พระมหานภันต์ กล่าว

พระมหานภันต์ ยังฝากข้อคิดโดยอิงไปกับชื่อหัวข้อการสนทนาในครั้งนี้อย่าง “ธรรมะกับการรับมือข้อมูลยุค AI” ว่า คำว่า “AI” ในที่นี้ไม่ใช่ “Artificial Intelligence” หรือปัญญาประดิษฐ์ แต่อยากเสนอให้เป็น “Arahat Intelligence” หรือปัญญาของพระอรหันต์ หมายถึง พระผู้ซึ่งปราศจากกิเลส กล่าวคือ เมื่อรู้อะไรก็เพียงรู้ โดยไม่มีคำว่าชอบหรือชังเข้ามาอยู่ด้วย เพราะเมื่อเรารับรู้ว่ามีกลุ่มต่างๆ เกิดขึ้นหลากหลาย หากเราไม่ระวัง เราก็จะไม่ชอบกลุ่มที่เราไม่ชอบ 

และหากยิ่งตัวเราเป็นบุคคลที่มีชื่อเสียงหรือมีอิทธิพลในสังคม การไม่ระวังแบบนี้ก็จะกลายเป็นตัวเราที่ทำให้คนในสังคมทะเลาะกัน เช่น เราไม่ชอบคนกลุ่มนี้ ก็ยุยงให้สมาชิกในกลุ่มเกลียดแบบเดียวกับตนเองด้วย ซึ่งสิ่งเหล่านี้ก็เกิดมาซ้ำแล้วซ้ำเล่าในประวัติศาสตร์ เข้าใจได้ว่าปุถุชนอย่างไรก็ต้องมีความรู้สึกอยู่บ้าง แต่อย่าใช้ความชอบหรือไม่ชอบไปสร้างผลดีหรือผลร้ายกับคนกลุ่มอื่น อย่างไรก็ตาม การปล่อยวางก็ไม่ใช่การปล่อยปละละเลยข้อมูลที่ไม่ถูกต้องอย่างแน่นอนสามารถทักท้วงได้ แต่การทักท้วงก็ต้องมีศิลปะในการสื่อสารอีก อย่านำเรื่องการเป็นคนตรงหรือจริงใจไปปนกับการเป็นคนที่ไม่นึกถึงใจผู้อื่นหรือไม่รู้จักกาลเทศะ

พระพุทธเจ้าท่านตรัสหลักไว้ในอภัยราชกุมารสูตร ความว่า ที่ตถาคตกล่าว 1.ต้องจริง 2.ต้องมีประโยชน์ 3.คนฟังชอบใจ-ไม่ชอบใจ พระองค์ไม่ได้ถือเป็นสำคัญ บางทีถ้าจริงและมีประโยชน์ อันสุดท้ายที่เป็นตัวพิจารณาสำคัญคือดูกาลเทศะ ถ้ามันจริงและมีประโยชน์ ต่อให้พูดไปแล้วคนฟังไม่ชอบ พระพุทธเจ้าพิจารณาแล้วว่ามันเป็นเวลาที่ควรจะพูดเรื่องนี้พระองค์ก็พูด แต่ในขณะที่ที่ประชุม ไม่พูดในที่ประชุมแล้วไปพูดกันข้างนอก มันจะแก้ปัญหาอะไรได้ หรือถ้าเกิดคิดว่าการนินทาหนึ่งเป็นช่องทางในการสื่อสารไปถึงหัวหน้าหรือผู้บริหารก็ว่ากันไป แต่ถ้าถามอาตมา เราควรจะปลูกฝังวัฒนธรรมที่จริง มีประโยชน์ พระมหานภันต์ กล่าว

หมายเหตุ : สามารถรับชมคลิปการสนทนาธรรมCofact Live Talk หัวข้อ ธรรมะกับการรับมือข้อมูลยุค AI” ได้ที่ Link https://www.facebook.com/CofactThailand/videos/3364914970467853?locale=th_TH

-/-/-/-/-/-/-/-/-/-/-