คนต่างในโลก (โรค) เปลี่ยน….
1ชาญณรงค์ วงค์วิชัย ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัยและขับเคลื่อนสังคม กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์
“ในโลกนี้มีผู้ล่า และผู้ถูกล่า
ในวันหนึ่งเราอาจสนุกในการเป็นผู้ล่า
เราอาจจะรู้สึกตัวในวันที่เราเป็นผู้ถูกล่า”
สถานการณ์สงครามโรค COVID 19 นั้น ประเทศไทยมีผู้ติดเชื้อ มากกว่า 2,2202 คน โดยปัจจุบันยังไม่มีแนวทางในการรักษาและป้องกันได้อย่างหายขาด เนื่องจากต้องรอเวลาการพัฒนาวัคซีน โรคอุบัติใหม่ที่สร้างความตื่นตระหนกไปทั่วโลกนี้ไม่ได้นำมาเฉพาะโรค แต่นำพาความหวาดกลัว ความตื่นตระหนก ของคนในสังคมทั้งหมด เมื่อวันที่ 3 เมษายน 2563 ที่ผ่านมา มีข่าวที่ครึกโครมเป็นกระแสสังคม ในโลกโซเซียลมีเดีย กรณีผู้โดยสารชาวไทยจำนวน 158 คน เดินทางประเทศกลุ่มเสี่ยงถึงสนามบินสุวรรณภูมิ เมื่อช่วงค่ำของวันที่ 3 เมษายน 2563 เนื้อข่าวส่วนใหญ่ระบุการไม่ยินยอมเข้าสู่กระบวนการ กักกันตามมาตรการที่กำหนด ข่าวดังกล่าวก่อให้เกิด ปรากฏการณ์ ล่าแม่มด เปิดโปง ชี้เป้า โดยมีโซเซียลมีเดียเป็นเครื่องมือหากเปรียบเสมือนห่วงโซ่อาหารการล่านี้ไม่ใช่เพื่อ “อาหาร” แต่การล่านี้เพื่อ “รอด” ที่ผู้ล่าต้องการ มีพื้นที่ที่อุ่นใจ ปลอดภัย ไม่มีความเสี่ยง ทำให้สังคมนี้ย่างก้าวเข้าไปสู่ยุคสังคมแห่งความเสี่ยงมากขึ้นทุกที
เราเขาหรือใคร….
ในสถานการณ์ที่ประเทศเทศไทยมีผู้ติดเชื้อ COVID 19 มากกว่า 2,220 คน ความสนใจจึงมุ่งไปที่การรายงาน ตัวเลขผู้ติดเชื้อ ผู้เสียชีวิต ความพร้อมทางการแพทย์ มาตรการภาครัฐ แต่ข่าวกลุ่มหนึ่งที่น่าสนใจไม่น้อย ไม่ใช่เชิงเนื้อข่าวแต่เป็นเชิงอารมณ์ที่ก่อให้เกิดอารมณ์ร่วม ที่ทำให้ผู้รับข่าวสารเกิดการตีตรา (stigmatization) สถานการณ์ดังกล่าวพบว่าสังคมไทย กำลังเกิดกระบวนการตีตราใน 2 รูปแบบ3
- การเผชิญสถานการณ์จริงในการถูกตีตราและเลือกปฏิบัติ (Experienced Stigma) : จากท่าทีของสมาชิกชุมชน เช่น การเพ่งเล็ง การเลือกปฏิบัติ การโดดเดี่ยว การขับไล่) รวมทั้ง การคุกคามทาง social media ด้วยพฤติกรรมล่าแม่มด hate speech cyberbullying
- การตีตราตนเอง (Internalized Stigma) : โดยแยกตัวจากสังคม แยกตัวจากครอบครัว ลดทอนคุณค่าตนเองโดยมองว่าตนเองเป็นผู้แพร่เชื้อ
ช่วงระยะเวลาการระบาดของ COVID 19 ในประเทศไทย พร้อมของข้อมูลข่าวสารและการรับรู้ที่หลากหลาย ทั้งการใช้ประทุษวาจา การกลั่นแกล้งบนโลกออนไลน์ และกรณีข่าวปลอมที่เผยแพร่อย่างมากมาย ณ ขณะนี้ หากเราเชื่อในหลักคิด ปัจจัยทางด้านสังคมที่กำหนดสุขภาพ4 (Social Determinants of Health: SDH) โดยนิยามแล้ว หมายถึง สถานะของประชากรตั้งแต่เกิด ดำรงชีวิต ทำงานและมีอายุที่เพิ่มมากขึ้น สถานะดังกล่าวเป็นปัจจัยที่นำมาสู่ปัญหาความเหลื่อมล้ำทางสุขภาพของประชากรทั้งภายในประเทศและระหว่างประเทศ ซึ่งสถานะต่างๆ เหล่านี้เป็นสิ่งอยุติธรรม (unfair) และสามารถที่จะหลีกเลี่ยงได้ เพราะเรื่องโรคนั้นไม่ได้เป็นแค่โรคแต่เกี่ยวพันกับสังคมโลกที่เรารวมอยู่ ด้วย
เมื่อเริ่มติดไวรัสทางใจ
กระแสของความเกลียดชัง การหวาดระแวง เนื่องจากไวรัส COVID 19 ช่วง 1-2 เดือนที่ผ่านมา สิ่งที่น่ากลัวหนึ่งที่กำลังเกิดขึ้นรุนแรงและมีการฝังลึกคือการที่เรียกว่าพฤติกรรมการล่าแม่มด หรือการใช้ถ้อยคำ วาจา กลั่นแกล้งเสียดสี ทางโลกออนไลน์ จากเนื้อข่าวในช่วงเดือน มีนาคม-เมษายน 2563 พบปรากฏการณ์ที่หลากหลายและส่งผลต่อการเกลี่ยดชังทางสังคม ดังสามารถรวบรวมได้คือ
ช่วง 1-2 เดือนที่ผ่านมาของการแพร่ระบาดไวรัสโคโรน่า หรือ COVID 19 กระแสของความเกลียดชัง การหวาดระแวง กำลังเกิดขึ้นอย่างรุนแรงและฝังลึกคือพฤติกรรมการล่าแม่มด การใช้ถ้อยคำ วาจา กลั่นแกล้งเสียดสี ทางโลกออนไลน์ ที่พบจากเนื้อข่าวในช่วงเดือน มีนาคม-เมษายน 2563 เช่น
เนื้อข่าวที่เกี่ยวข้องกับ COVID-19 ที่ส่งผลต่อความเกลียดชังและการตีตราผู้ป่วย
กรณีข่าวที่มีการนำเสนอต่อสังคม | ผลกระทบ/พฤติกรรมที่เกิดขึ้น |
---|---|
กรณีที่ 1 การตีตรานักท่องเที่ยวชาวจีนที่มาท่องเที่ยวในไทย | hate speech, cyber-bullying, stigma |
กรณีที่ 2 พฤติกรรมการตีตราคนย้ายถิ่น/แรงงานกลับต่างจังหวัดเนื่องจากการปิด สถานประกอบการ สถานให้บริการ สถานที่จำหน่ายสินค้า และผลกระทบต่อเศรษฐกิจ | hate speech, cyber-bullying, stigma |
กรณีที่ 3 คลิปภาพ ดาวะห์ท่านหนึ่ง ถูกเข้าใจว่า จงใจไอเพื่อแพร่ เชื้อ แต่ผู้อยู่ในเหตุการณ์ยืนยันว่า เขาเข้าไปถามเรื่องการเดินทาง | Fake news, hate speech, cyber-bullying, stigma |
กรณีที่ 4 จังหวัดหนึ่งที่ไม่มีผู้ติดเชื้อหรือป่วยจาก COVID-19พอพบก็เกิดพฤติกรรมหมู่ในการตำหนิผู้ติดเชื้อหรือป่วย รวมทั้งผู้อยู่ | Fake news, hate speech, cyber-bullying |
กรณีที่ 5 การเปิดเผยข้อมูลส่วนบุคคลของ 158 ผู้เดินทาง กลับจากต่างประเทศ เกิดการใช้สังคมออนไลน์ก่นดjา กดดัน สร้างความเกลียดชังทางสังคม | Fake news, hate speech, cyber-bullying, stigma, data protection |
จากกรณีต่างๆ ที่ยกมา “ความอยู่รอด” ยามที่สังคมตอนนี้เป็นสังคมแห่งความเสี่ยง5 ถึงอาการของการหลงเข้าไปในโลกแห่งความเสี่ยงที่มองการปกป้องตนเอง เป็นไวรัสทางใจ ไวรัสแห่งความเกลียดชัง
ในความเชื่อและความเคารพในศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ กรณีผู้กลับจากต่างประเทศ 158 คน แยกออกเป็น 2 ประเด็น การไม่กักตัวนั้นผิดกฎหมายและขาดความรับผิดชอบต่อสังคมเป็นประเด็นที่หนึ่ง ประเด็นต่อมาคือ ขบวนการไล่ล่าใช้สังคมออนไลน์ที่กดดันสร้างภาพความผิด เป็นสิ่งที่เราไม่สามารถทำได้และไม่ควรทำ (ทั้งไม่มีสิทธิที่จะทำ)
ขณะที่ การทำงานที่บ้าน (work from home) หรือการอยู่บ้านเพียงอย่างเดียว (stay at home)มีราคาที่ต้องจ่าย ทั้งไม่สามารถทำได้ทุกคน ขึ้นอยู่กับสถานภาพทางเศรษฐกิจ “คนรวยและชนชั้นกลางพอที่มีเงินเดือน เก็บตัวก่อน ทยอยซื้อของและใช้เงินเก็บ แต่กลุ่มแรงงานหรือคนหาเช้ากินค่ำ ไม่มีงานคือไม่มีเงิน, ไม่มีกิน, ไม่มีค่าเช่าบ้าน” การกลับบ้านเกิดสำหรับบางกลุ่มคือทางออกให้รอด ดังนั้นในความเป็นจริงที่สังคมมีหลายชั้น การกระทำที่ต่างกันจึงบอกถึง “ไม่มีใครที่อยากจะไม่สบาย เป็นผู้ติดไวรัสโคโรน่า ป่วยด้วยโควิด 19 หรือไม่สบายป่วยไข้ด้วยสาเหตุต่างๆ” หรือ ทุกคนอยากเป็นผู้มีชีวิตรอด
อยู่รอดอยู่ร่วมอยู่ด้วยกัน….เราหาทางออกอย่างไร
แนวทางการอยู่รอดและอยู่ร่วมในสถานการณ์ COVID 19 คือการใช้สื่อรณรงค์และโฆษณาทุกช่องทาง เพื่อสร้างความเข้าใจการป้องกันและการอยู่ร่วมกัน ไม่ใช่ “การขับไล่ ไล่ล่า รังเกียจ” ผู้ที่ติดไวรัส โคโรน่า ผู้ป่วยด้วย COVID19 หรือโรคอื่น ให้เป็นคนแปลกในสังคม ทั้งที่สังคมเป็นของทุกคนครับ เรากลัวได้ แต่เราขับเขาออกจากสังคมไม่ได้ครับ กล่าวคือ
“…..การสร้างทัศนคติที่ดีของคนทั่วไปต่อผู้ป่วย เนื่องจากขณะนี้กลุ่มผู้ป่วย กำลังถูก stigmatize หรือ “ตีตรา” ว่าเป็นโรคที่น่ารังเกียจ สถานที่รองรับผู้ป่วย ถูกต่อต้านจากชาวบ้านในพื้นที่ ทั้งที่อยู่ในสถานที่ปิด มีระบบกำจัดเชื้อตามมาตรฐาน จะทำอย่างไรให้เกิดการยอมรับว่า นี่เป็นการเสียสละและช่วยชาติสู้กับวิกฤตครั้งนี้……
ทั้งนี้หากมองกระบวนการแก้ไขปัญหาในทุกมิติแล้ว เพื่อให้สังคมไทยเกิดการฝ่าฟันวิกฤตการณ์ COVID19 ไปได้ ต้องมี 4แนวทางสำคัญ6คือ
- Prevention ป้องกันอย่างเท่าทัน:Physical distancing, Isolation การแยกตัว ไม่พบปะสังสรรค์ ไม่นัดกันทำกิจกรรม, Self-Quarantine การกักตัวเอง 14 วัน เมื่อรู้ว่าตนเองเป็นกลุ่มเสี่ยงและให้ความรู้ผู้สูงอายุและเด็กไม่ออกจากบ้านในภาวการณ์ระบาดการณรงค์การปฏิบัติตนเพื่อป้องกัน COVID 19 อื่น ๆ เช่นกินร้อน ช้อนกลาง ล้างมือ ใส่หน้ากากอนามัย/หน้ากากผ้าให้มากที่สุดเมื่อต้องอยู่ใกล้กัน
- Empowerment สร้างพลังให้ด่านหน้า :หาวิธีให้กำลังใจ หาทางช่วยบุคลากรทางการแพทย์ในรูปแบบต่างๆ เพื่อให้ทำงานต่อไปได้ ตอนนี้บุคลากรหลายคนเริ่มเหนื่อยล้า จากการต่อสู้ต่อเนื่องมาหลายเดือนโดยไม่ได้พักผ่อน สร้างพลังให้บุคลากรทางการแพทย์อยู่ได้
- Social safety net โครงข่ายคุ้มกันทางสังคม :Social Cohesion ความสามัคคี ร่วมการปฏิบัติตามมาตรการของทางการ และการทำตามข้อต่าง ๆ ข้างต้น เพราะเรายังต้องอยู่กับ COVID 19 ในระยะเวลานาน, social connected สร้างการสื่อสารสังคม ครอบครัว การให้กำลังใจสำหรับผู้คนที่ต้องกักตัวเปลี่ยวเหงา หรือเหนื่อยล้า เพื่อให้สังคมเกิดการเยียวยา ไม่เกิดการแตกสลายทางสังคม ( physical distancing but social connected)
- De-stigmatization ลดการตีตรา สร้างความเป็นมนุษย์ :การสร้างทัศนคติที่ดีของคนทั่วไปต่อผู้ป่วย เนื่องจากขณะนี้กลุ่มผู้ป่วย กำลังถูก stigmatize หรือ “ตีตรา” ว่าเป็นโรคที่น่ารังเกียจ จึงเกิดปัญหาว่า การหาสถานที่รองรับผู้ป่วย (เตรียมการเผื่อในอนาคตที่ผู้ป่วยจะเพิ่มขึ้น) จะถูกต่อต้านจากชาวบ้านในพื้นที่ ทั้งที่อยู่ในสถานที่ปิด มีระบบกำจัดเชื้อตามมาตรฐาน แต่จะทำอย่างไรให้เกิดการยอมรับว่า นี่เป็นการเสียสละและช่วยชาติสู้กับวิกฤตครั้งนี้
แต่สิ่งที่สำคัญอีกประการ คือ การมองแนวนโยบายที่ดำเนินการอย่างรอบด้านของรัฐบาลที่มองภาพรวมทั้งองค์ประกอบชีวิตและสภาพแวดล้อมภายใต้สังคม (social environment) ที่แนวนโยบายนั้นมีทั้งผลเชิงลบและผลเชิงบวก การรณรงค์ส่งเสริมและให้ความรู้ต้องเป็นการสร้างความเข้าใจและวิธีการป้องกันและอยู่ร่วมอย่างไรใน COVID 19 มิใช่การรณรงค์ที่สร้างภาพความกลัวและความตระหนกเหมือนประสบการณ์ดังอดีตที่ผู้ติดเชื้อ(ผู้อยู่ร่วมกับเชื้อ) HIV/AIDS นั้น ถูกตีตราและเบียดขับออกจากสังคม สิ่งเหล่านั้นก็ไม่นักที่เราจะแก้ภาพอดีตที่ประทับไว้เรื่อยมา โจทย์นี้เป็นโจทย์สำคัญท้าทายมนุษยชาติขณะเดียวเดียวกันก็ท้าทาย
1ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัยและขับเคลื่อนสังคม กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ ข้อเขียนดังกล่าวเป็นความคิดของผู้เขียน ไม่เกี่ยวกับหน่วยงานต้นสังกัด
2ข้อมูลจาก ศูนย์ข้อมูล COVID-19 วันที่ 6 เมษายน 2563
3National AIDS Management Center. AIDS stigma and discrimination in health facility: Survey among AIDS patients. Thailand. Center of Diseases Control. Thailand, MOPH. 2015. การยกนิยามนี้มาใช้ หมายถึง การตีตราเกิดกับผู้ป่วย ผู้ติดเชื้อ มีอาการป่วย และเข้ารับการรักษา สำหรับในกรณี กลุ่มเสี่ยง อย่างกรณี คน 158 คน ณ สนามบินสุวรรณภูมิ ไม่ใช่ผู้ป่วย แต่เป็นกลุ่มเสี่ยง เดินทางมาจากประเทศ/พื้นที่เสี่ยง จึงต้องผ่านกระบวนการคัดกรองและกักกันเป็นไปตามกระบวนการ แต่การใช้การไล่ล่าทางโซเซียลมีเดียและการกดดันเปิดเผยรายชื่อ เป็นการมลทินประทับ (Stigma) และการตีตรา (Labeling) ให้ผู้โดยสารทั้ง 158 คนว่าเป็นผู้ผิด
4SDH , (World Health Organization (2018)
5จากการกระจายความเสี่ยง หรือ “สิ่งเลวร้าย”: “ตำแหน่งแห่งที่ของความเสี่ยงทางสังคมปรากฏตัวขึ้นมา” ซึ่งไม่จำเป็นต้องมีลักษณะแบบเดียวกับการแตกแบ่งรูปแบบเก่าในแง่ของชนชั้นหรือศาสนา ด้วยเหตุผลนี้เบ็คยอมรับว่า “สังคมความเสี่ยงในแง่นี้จึงเป็นโลกของสังคมความเสี่ยง” (a world of risk society) (Beck, 1992: 23)
6ดัดแปลงจากเอกสารการเสนอจัดทำประเด็นรณรงค์ COVID-19 จัดทำโดย ผศ.ดร.วรัชญ์ ครุจิต กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิด้านสื่อสารมวลชน กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ โดยมีการประสานรวบรวมจาก นายแพทย์ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกกระทรวงสาธารณสุข โดยวิเคราะห์จากสถานการณ์การระบาด COVID-19
ที่มา : https://docs.google.com/document/d/1Gp7KiLsmspjfxwAlZVKSp-Vy2tnYWZlCjkf-s1pIx3U/edit