มุมมองการนำเสนอข่าวและข้อมูลวัคซีนโควิด-19 ของนักข่าวต่างประเทศ

บทความ
เนื้อหาเป็นจริง

3 พฤษภาคม 2564 กฤตนัน ดิษฐบรรจง

ขอบคุณที่มา : เวบส่องสื่อ

นอกจากเสวนาในช่วงแรกที่เป็นการพูดคุยของสื่อมวลชนไทยหลากหลายแขนง ร่วมกับผู้ตรวจสอบข่าวลวงในประเทศไทย ในเสวนาช่วงที่สองเป็นเสวนาที่มีวิทยากรคือนักข่าวต่างประเทศมาร่วมพูดคุยถึงกรณีการนำเสนอข้อมูลเรื่องวัคซีนโควิด-19 ในหัวข้อ “How should media report on Covid19-Vaccines without fear or favor?” ซึ่งส่องสื่อได้สรุปข้อมูลมาฝากกันครับ ติดตามจากบทความสรุปนี้ได้เลยครับ

Stéphane Delfour / AFP Bureau chief, South East Asia กล่าวว่า หน้าที่ของ AFP คือการตรวจสอบข้อมูลว่าทุกข่าวที่นำเสนอออกไปต้องมีความน่าเชื่อถือ เที่ยงตรง เพราะแค่เรื่องวัคซีนโควิด-19 ก็มีหลากหลายเรื่องที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็นการเมืองหรือสุขภาพก็ตาม และยังเป็นประเด็นร้อนอีกด้วย ซึ่งทั้งหมดนี้ AFP ใช้นักข่าวจากทั่วโลกมาช่วยพัฒนาเนื้อหาให้เที่ยงตรงที่สุด ซึ่ง AFP อยากมีพื้นที่ในสื่อสังคมออนไลน์ เพื่อทำให้เข้าถึงกลุ่มผู้รับข่าวสารใหม่ๆ มากขึ้น และเอื้อมมือให้ประชาชนในทวีปเอเชียเข้าถึงข้อมูลจริง ถูกต้องมากที่สุด ฉะนั้น การนำเสนอข่าวของ AFP นั้นเน้นการนำเสนอจากพื้นที่จริง นำเสนอจากข้อเท็จจริง และการให้ความเห็นเกิดจากพื้นฐานข้อมูลที่เป็นกลาง สร้างสมดุลให้ได้ และเป็นข้อมูลที่เป็นความจริง

แน่นอนว่าเราต้องอ้างอิงจากวิทยาศาสตร์ ไม่ใช่แค่นักวิทยาศาสตร์เท่านั้น เราจำเป็นที่จะต้องระบุแหล่งข่าวที่น่าเชื่อถือในแต่ละประเทศเป็นใครบ้าง? และเขากล่าวว่าอย่างไรบ้าง? หลังจากนั้นก็จะตรวจสอบกับแหล่งข่าวอื่นๆ ด้วย เพื่อให้แน่ใจถึงข้อมูลที่ถูกต้อง นอกจากนี้ต้องเข้าใจการนำเสนอข่าวลวงว่ามีธุรกิจที่อยู่เบื้องหลังอย่างไรบ้าง? ตลอดจนการทำงานเป็นระบบของธุรกิจสื่อที่สร้างข่าวลวง เช่น การใช้พาดหัวข่าวที่ดึงกระแส ชวนให้เข้าใจผิดมากขึ้น เพื่อให้ได้เงิน ซึ่งการที่เราเข้าใจก็จะสามารถหาแนวทางเข้าถึงคนกลุ่มนี้ได้มากขึ้น

Ika Ningtyas / Secretary-General, The Alliance of Independent Journalists (AJI), Indonesia กล่าวต่อว่าในอินโดนีเซียเองมีการเข้าถึงสื่อสังคมออนไลน์มากกว่า ซึ่งจากการสำรวจพบว่าประชาชนจะเน้นการใช้สื่อสังคมออนไลน์ในการสร้างความบันเทิงมากกว่าการอ่านข่าวสารมากกว่า แต่ทว่าการปล่อยข่าวลวงในอินโดนีเซียมีมาตั้งแต่ปี 2014 และในหลากหลายเรื่องราว ทั้งการเมือง ศาสนา และสาธารณสุข จากการสำรวจพบว่าในปี 2021 พบการปล่อยข่าวลวงลงออนไลน์ไป 111 ข่าว และเผยแพร่กระจายไปในสื่อสังคมออนไลน์มากกว่า 500 ครั้ง เช่น การฉีดวัคซีนโควิด-19

สิ่งหนึ่งที่ส่งผลให้ข่าวลวงกระจายไปเร็ว คือการที่คนไม่ให้ความเชื่อถือต่อรัฐ และการไม่รู้เท่าทันสื่อ นอกจากนี้คนยังไม่รู้เรื่องทางด้านสาธารณสุขด้วย จึงทำให้ข่าวลวงถูกส่งต่อไปได้ง่ายกว่าเดิมมากๆ ซึ่งการทำให้เกิดข่าวลวงที่ทำให้เข้าใจผิดมี 4 องค์ประกอบสำคัญ ได้แก่ การสื่อสารของภาครัฐมีความอ่อนแอ, การรู้เท่าทันเรื่องวิทยาศาสตร์และสุขภาพมีน้อย, การพาดหัวข่าวและการใช้ภาพประกอบ และนักข่าวขาดความเข้าใจในเรื่องวัคซีน ซึ่งทั้งหมดนี้อยู่ในภาวะที่ท้าทายเป็นอย่างมาก

Rui Zhang / Lecturer Faculty of Journalism and Mass Communication, Thammasart University กล่าวถึงการนำเสนอข่าววัคซีนโควิด-19 ต่อว่าวัคซีนเป็นประเด็นทางวิทยาศาสตร์และสุขภาพ ซึ่งไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่ถ้าเอาเรื่องราวทางการเมืองหรือความเห็นมาครอบงำก็จะทำให้เกิดการเอนเอียง ฉะนั้นจึงไม่เห็นด้วยที่จะนำเรื่องความเห็นมาชี้นำ ทำให้เกิดความเข้าใจผิดและเป็นเครื่องมือที่ส่งผลต่อความคิด ความเข้าใจในการเสพสื่อได้ต่อไปด้วย

สำหรับในการนำเสนอควรตั้งมุมมองทางวิทยาศาสตร์เป็นสำคัญ และดูนัยยะในการนำเสนอข่าวสาร รวมไปถึงมุมมองอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องของประเทศจีนเป็นอย่างไร เพราะย่อมมีความขัดแย้งในการแบ่งขั้วทางการเมือง เกิดเป็นความละเอียดอ่อนต่อเนื้อหานั้นๆ ด้วย เพราะฉะนั้นในการนำเสนอข่าวโดยเฉพาะของประเทศจีนเอง หลายฝ่ายอาจจะมองว่าเป็นนัยยะทางการเมือง แต่ถ้ามองทางด้านวิทยาศาสตร์เอง จีนก็ถือเป็นหนึ่งในประเทศที่สามารถจัดการได้อย่างตรงจุดมากกว่า ในขณะที่สหรัฐอเมริกาก็ถูกตั้งคำถามถึงการนำนัยยะทางการเมืองมาเกี่ยวข้องกับวัคซีน ซึ่งมีผลกระทบต่อการจ่ายวัคซีนในแต่ละประเทศด้วยเช่นกัน

ในส่วนของประเด็นที่ทับซ้อนเอง สื่อไม่สามารถที่จะเปลี่ยนอุณหภูมิทางการเมืองได้ แต่เราสามารถเลือกเรื่องที่นำเสนอซึ่งต้องเน้นข้อเท็จจริงทางการแพทย์ผ่านการให้ข้อมูลร่วมกับบุคคลากรทางการแพทย์ และยังต้องให้ความรู้ ความบันเทิงแก่ประชาชนด้วย

Vanessa Steinmetz / Project Coordinator, Friedrich Naumann Foundation East and Southeast Asia กล่าวทิ้งท้ายว่า การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ส่งผลให้เกิดปัญหาในเรื่องของความเชี่ยวชาญในการทำงานข่าว และการสมดุลในการทำงานข่าว เช่น ในรายการทอล์กโชว์ที่เชิญแขกรับเชิญมาสองท่าน แต่มีท่านหนึ่งที่ใส่แค่ความเห็นตัวเองลงไป จึงทำให้ประชาชนไม่สามารถรู้เท่าทันสื่อได้จริง หรือการลงข่าวในหนังสือพิมพ์ที่พาดหัวข่าวสร้างความเข้าใจผิดให้กับประชาชนเป็นจำนวนมากอีกด้วย ซึ่งการนำเสนอข่าวเหล่านี้ ถ้าเกิดความผิดพลาดก็ควรที่จะกลับมาแก้ไขข่าวสารให้ถูกต้องได้ เพื่อที่จะสามารถทำให้ประชาชนรับรู้และรับทราบ ป้องกันการส่งต่อข่าวลวงไปมากกว่าที่เป็น

Content Creator
กฤตนัน ดิษฐบรรจง
บรรณาธิการบริหาร MODERNIST Studio : ชอบดูทีวี สนใจเรื่องราวของสื่อสารมวลชน โดยเฉพาะสื่อทีวีและวิทยุ ชอบเขียนบทความ เป็นเด็กค่าย #YWC16