ปี’67 คนไทยเจอมิจฯโทร-ส่งSMSถึง168ล้านครั้ง มุ่งโจมตีอารมณ์ความรู้สึก ชี้คนรอบข้างดึงสติก่อนตกเป็นเหยื่อได้

24 ก.พ. 2568 ที่อาคารฟอรั่ม ชั้น 2 วัน แบงค็อก (One Bangkok) บริษัท โกโกลุก ประเทศไทย ผู้ให้บริการแอปพลิเคชั่น Whoscall เปิดเผยรายงานวิเคราะห์สถานการณ์กลโกงของมิจฉาชีพในประเทศไทยตลอดปี 2567 ที่ผ่านมา โดย มนประภา รัตนกนกพร หัวหน้าฝ่ายการตลาด บริษัท โกโกลุก ประเทศไทย กล่าวว่า ในปี 2567 Whoscallพบสายโทรศัพท์และข้อความ SMS หลอกลวง 168 ล้านครั้ง เพิ่มขึ้นถึง 112% จากปี 2566 ซึ่งพบ 79 ล้านครั้ง และยังถือเป็นสถิติสูงสุดในรอบ 5 ปี


เมื่อจำแนกระหว่างสายโทรศัพท์กับข้อความหลอกลวง พบว่า ในส่วนของสายโทรศัพท์ ปี 2567 อยู่ที่ 38 ล้านครั้ง เพิ่มขึ้นถึง 85% เมื่อเทียบกับปี 2566 ซึ่งพบ 20.8 ล้านครั้ง ขณะที่ในส่วนของ SMS ปี 2567 อยู่ที่ 130 ล้านครั้ง เพิ่มขึ้นถึง 123% เมื่อเทียบกับปี 2566 ซึ่งพบ 58 ล้านครั้ง และเป็นที่น่าสังเกตว่ามิจฉาชีพใช้การหลอหลวงด้วย SMS ในปริมาณสูง เนื่องจากมีต้นทุนในการดำเนินการต่ำ อีกทั้งมิจฉาชีพยังนำเทคโนโลยีมาใช้ประดิษฐ์ข้อความ (Script) และใช้ส่ง SMS ได้ครั้งละเป็นจำนวนมาก


เมื่อจำแนกพฤติกรรมการหลอกลวง ในส่วนของสายโทรศัพท์ ปี 2567 อยู่ที่ 38 ล้านครั้ง ยังคงเป็นวิธีการเดิมๆ เช่น หลอกขายสินค้า แอบอ้างเป็นองค์กรหรือบริษัทต่างๆ หลอกว่าเป็นหนี้หรือหลอกทวงเงิน หลอกว่ามีแหล่งเงินกู้อนุมัติง่าย โดยมิจฉาชีพจะเล่นกับอารมณ์ของเหยื่อ เช่น ความโลภ ความกลัว เพื่อให้เหยื่อโอนเงินอย่างรวดเร็ว ขณะที่ ขณะที่ในส่วนของ SMS ปี 2567 อยู่ที่ 130 ล้านครั้ง สิ่งที่พบ เช่น เว็บพนัน (ให้เครดิตเล่นฟรี) หลอกส่งพัสดุ (อ้างพัสดุตกค้าง) หลอกว่ามีแหล่งเงินกู้อนุมัติง่าย แอบอ้างหน่วยงาน (เช่น การไฟฟ้า) หลอกลงทุน (อ้างผลตอบแทนสูง)

ทั้งนี้ จากการเก็บข้อมูล Link ที่มีความเสี่ยง ตามที่ Whoscall พัฒนาฟีเจอร์ Web Checker ขึ้นมาเพื่อตรวจสอบเว็บไซต์น่าสงสัย พบว่า 40% พาไปยังหน้าเว็บไซต์ที่มีลักษณะ Phishing หรือการหลอกให้ส่งข้อมูลส่วนบุคคล ส่วนอีก 60% แบ่งเป็นอย่างละ 30% เท่ากัน คือพาไปยังหน้าเว็บพนัน กับพาไปยังหน้าดาวน์โหลดแอปพลิเคชั่นอันตราย (มัลแวร์ – Malware) เพื่อขโมยข้อมูลส่วนบุคคล

นอกจากนั้นยังพบว่า ในฟีเจอร์ ID Security ที่พัฒนาขึ้นเพื่อให้ผู้ใช้งานตรวจสอบความปลอดภัยของข้อมูลส่วนบุคคลของตนเอง ยังพบว่า 41% ของผู้เข้ามาใช้ฟีเจอร์นี้ พบการรั่วไหลของข้อมูลส่วนบุคคลไปที่ Darkweb หมายถึงส่วนของอินเตอร์เน็ตที่ถูกซ่อน ต้องใช้โปรแกรมพิเศษในการเข้า และมักเกี่ยวกับความลับ ความเป็นส่วนตัวหรือสิ่งผิดกฎหมาย ซึ่งเป็นพื้นที่ที่มิจฉาชีพเข้าไปใช้ซื้อ – ขายข้อมูล และ Deepweb หมายถึงส่วนของอินเตอร์เน็ตที่ Search Engine ค้นหาไม่เจอ เช่น อิเมล บัญชีธนาคารหรือข้อมูลที่ต้องใช้รหัสผ่าน ซึ่งผู้ที่รู้ว่าข้อมูลส่วนบุคคลรั่วไหล แนะนำให้รีบเปลี่ยนรหัสผ่านโดยเร็ว เช่น แอปพลิเคชั่นทำธุรกรรมการเงิน บัญชีอีเมลและสื่อสังคมออนไลน์

“เวลาที่มิจฉาชีพเข้าไปเอาข้อมูล จริงๆ ข้อมูลมันไม่ได้แพง เขาก็สามารถซื้อข้อมูลเพื่อเอามาหลอกเราได้แบบที่สามารถระบุตัวตนได้ถูกต้อง ทำให้การหลอกแนบเนียนมากยิ่งขึ้น ทีนี้ข้อมูลที่เราเปิดให้เช็คใน ID Security จะมีข้อมูลที่เป็นเบอร์โทรศัพท์และอีเมล ถ้าดูจากตัวเลขจะเห็นข้อมูลที่เป็นเบอร์โทรศัพท์ จาก 41% มันรั่วไหลไป 97% จากโทรศัพท์ และ 88% เป็นอีเมล ทีนี้ข้อมูลโทรศัพท์กับอีเมล ที่เราให้เช็คเพราะเป็นข้อมูลที่มิจฉาชีพใช้ติดต่อเราได้ แต่จริงๆ แล้วเวลามันหลุดไป จะหลุดไปพร้อมชื่อวันเดือนปีเกิด ที่อยู่และรหัสผ่าน” มนประภา กล่าว
แมนวู จู ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท โกโกลุก ประเทศไทย กล่าวว่า นับตั้งแต่ที่บริษัทเริ่มเผยแพร่รายงานประจำปีตั้งแต่ปี 2563 ได้ติดตามสถานการณ์การหลอกลวงของมิจฉาชีพที่มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นในเกือบทุกๆ ตลาดหลักที่ Whoscall ให้บริการอย่างใกล้ชิด สำหรับประเทศไทย ในปี 2567 สามารถระบุสายโทรศัพท์และข้อความหลอกลวงได้สูงสุดในรอบ 5 ปี ถึง 168 ล้านครั้ง เพราะปัจจุบันมิจฉาชีพได้นำเทคโนโลยี AI มาใช้ในการหลอกลวงอย่างแพร่หลาย ทำให้กลโกงมีความซับซ้อนมากขึ้นและมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง
“โดยแนวโน้มการหลอกลวงที่ต้องจับตามอง ได้แก่ การแอบอ้างหน่วยงานภาครัฐและเอกชน การฉ้อโกงทางการเงินในหลากหลายรูปแบบ ทั้งผ่านการโทรศัพท์ ข้อความ SMS Link อันตราย รวมถึง การรั่วไหลของข้อมูลส่วนบุคคลที่เพิ่มขึ้นอย่างน่ากังวล” แมนวู จู กล่าว
พ.ต.อ.เกรียงไกร พุทไธสง ผู้กำกับการกลุ่มงานสนับสนุนทางไซเบอร์ กองบังคับการตรวจสอบและวิเคราะห์อาชญากรรมทางเทคโนโลยี (บก.สอท.)กล่าวว่า ธรรมชาติของสมองคนเราทำงานบนพื้นฐานการกลั่นกรองข้อมูลที่เราเชื่ออยู่แล้ว (Confirmation Bias) เช่น เมื่อเราชอบใคร ข้อมูลด้านดีของคนคนนั้นจะมาหาเราเสมอ หรือบนพื้นที่สื่อสังคมออนไลน์ เรามักจะเชื่อข้อมูลจากผู้ที่มียอดผู้ติดตามหรือยอดกด Like จำนวนมาก เป็นคนที่มีหน้ามีตาในสังคม (Social Proof) หรือเราสนใจเรื่องอะไร เทคโนโลยีก็จะป้อนโฆษณาสิ่งนั้นให้ เช่น การลงทุน ซึ่งคนร้ายก็จะแทรกสิ่งที่เป็นเหยื่อล่อเข้ามา
อย่างไรก็ตาม คนเราก็จะยังมีสติ เป็นอีกด้านไว้ถ่วงดุลกับธรรมชาติของสมอง เมื่อมีสติก็จะเกิดการคิดเชิงวิเคราะห์ เช่น คนมีชื่อเสียง มีรายได้มาก มาสอนเราลงทุนเพื่ออะไร? หรือเวลาโอนเงิน ทำไมต้องโอนไปที่บัญชีส่วนบุคคล? ถึงกระนั้นเมื่อเหยื่อกำลังถูกหลอก การคิดเชิงวิเคราะห์มักไม่ได้มีส่วนในการตัดสินใจ เพราะคนร้ายจะโจมตีที่ความรู้สึกของเหยื่อ เช่น ความอยากรวย ความกลัว ความหลง เพื่อทำลายสติของเหยื่อและเชื่อแต่ข้อมูลด้านเดียวที่คนร้ายป้อนให้
หรือการสร้างตัวตนปลอมขึ้นมา มีตัวอย่างกรณีคนร้ายนำบุคลิกของคนประเทศหนึ่งมาใช้สร้างตัวตนบนโลกออนไลน์เป็นคนอีกประเทศหนึ่ง ทำตัวเป็นนักธุรกิจแล้วมาชวนเหยื่อพูดคุยจนหลงเชื่อแล้วเป็นฝ่ายขอเข้าไปศึกษาการลงทุนกับคนร้ายเอง และแม้จะให้ความรู้กับประชาชนว่ามิจฉาชีพมีวิธีการหลอกลวงอย่างไรบ้าง แต่เมื่อถึงเวลาเผชิญกับมิจฉาชีพจริงๆ มักจะตัดสินใจจากข้อมูลด้านเดียวเสมอ
ดังนั้นอีกปัจจัยที่จะลดหรือตัดความเสี่ยงก่อนตกเป็นเหยื่อ คือ Social Safety Net (เครือข่ายความปลอดภัยทางสังคม) เช่น ขณะที่เรากำลังถูกมิจฉาชีพชักชวนโน้มน้าวให้ลงทุน มีคนอื่นเข้ามาได้ยินเรากำลังคุยกับมิจฉาชีพ ฟังแล้วรู้ได้ทันทีว่าเป็นการหลอหลวง ดังนั้นสิ่งหนึ่งที่มิจฉาชีพมักพยายามกำชับกับเหยื่อเสมอ คือ ห้ามติดต่อกับบุคคลอื่นโดยเด็ดขาด
“วิธีการข่มขู่ ห้ามพูดคุยกับคนอื่น ต้องอยู่เงียบๆ คนเดียว ต้องคุยกับผม (มิจฉาชีพ) เท่านั้น บางกรณีคนร้ายใช้เทคนิคในการควบคุมไม่ให้เหยื่อพบกับคนนอก เช่น ใช้วิธีหลอกให้ผู้เสียหายกดโอนสาย ดังนั้นระหว่างที่คนร้ายคุยกับเหยื่อ เหยื่อจะไม่มีโอกาสรับสายจากข้างนอกเพราะเหยื่อถูกหลอกให้โอนสายออกไปข้างนอก 3-4 ชั่วโมงคุยกับคนร้ายอย่างเดียว” พ.ต.อ.เกรียงไกร กล่าว
พ.ต.อ.เกรียงไกร กล่าวย้ำว่า Social Safety Netเป็นเรื่องสำคัญ หากมีโอกาสอยากจะให้ทุกคนสื่อสารกับคนรอบข้างให้มากขึ้น ซึ่งปัจจุบันเทคโนโลยีทำให้เราสื่อสารกับคนที่อยู่ที่ใดก็ได้ เราคุยกับญาติพี่น้อง คุยกันบ่อยๆ บางทีผู้ใหญ่กำลังไปลงทุนอะไรอยู่ เมื่อเราได้ฟังเรื่องราวแล้วรู้ทันทีว่าหลอกลวง ซึ่งทุกวันนี้เมื่อเราฟังข่าวเรามักสงสัยว่าเหตุใดเหยื่อจึงถูกหลอกด้วยเรื่องราวที่ฟังแล้วน่าจะรู้ แต่ต้องไม่ลืมว่า ณ เวลานั้น เหยื่อตัดสินใจจากข้อมูลด้านเดียว นี่คือข้อเท็จจริงในเชิงจิตวิทยา
-/-/-/-/-/-/-/-/-/-/-