แกะรอยข่าว “ลูกชิ้นปลาเนื้อตัวเหี้ย” อีกหนึ่งบทเรียนของสื่อไทยและผู้ใช้โซเชียลมีเดีย

.โคแฟคตรวจสอบที่มาของข่าวการนำเนื้อตัวเหี้ยไปเป็นส่วนผสมของลูกชิ้นปลา พบว่าอาจเกิดจากการนำบทสนทนาในลักษณะ “คุยกันเล่นๆ” ของผู้ที่อยู่ในเหตุการณ์จับกุมขบวนการลักลอบค้าสัตว์ป่าใน จ.สุพรรณบุรี มาเผยแพร่ในกลุ่มไลน์ จากนั้นจึงมีการนำไปโพสต์ในเฟซบุ๊กโดยไม่ผ่านการตรวจสอบที่มาและความถูกต้อง  จึงควรหยุดเผยแพร่และหยุดแชร์ต่อ

วันที่ 28 ก.พ. 2566 เจ้าหน้าที่กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (บก.ปทส.) เข้าจับกุมผู้ต้องหาลักลอบค้าสัตว์ป่าที่ อ.อู่ทอง จ.สุพรรณบุรี พร้อมของกลางคือตัวเหี้ย ทั้งที่เป็นซากและที่ยังมีชีวิตเกือบ 100 ตัว

ข่าวนี้เริ่มได้รับความสนใจและแชร์กันอย่างแพร่หลายตั้งแต่ช่วงสายของวันที่ 1 มี.ค. เมื่อมีเพจเฟซบุ๊กบางแห่งรายงานว่า เนื้อเหี้ยที่ชำแหละแล้วจะถูกส่งไปทำลูกชิ้นปลา ส่งผลให้กองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง (บช.ก.) ซึ่งกำกับดูแล บก.ปทส. ออกมาชี้แจงช่วงค่ำวันเดียวกันว่า ข้อมูลดังกล่าวไม่เป็นความจริง 

“กรณีที่มีเพจหนึ่งโพสต์รูปภาพตัวเงินตัวทอง พร้อมข้อความระบุว่า ‘บุกทลายโรงงานผลิตลูกชิ้นปลาเจ้าใหญ่ที่ดัดแปลงใช้เนื้อของตัวเงินตัวทองมาทำเป็นลูกชิ้นปลาเนื้อขาวใสไร้ความคาว ส่วนหนังน่านำไปตากแห้งทำเป็นหนังปลาทอดกรอบ จัดจำหน่ายส่งขายทั่วประเทศมานานแล้ว’…จากการสอบถามผู้ต้องหาและจากการสืบสวน ยืนยันว่า ซากตัวเงินตัวทองเหล่านี้ เตรียมนำไปขายต่อที่ตลาดชายแดนภาคตะวันออก เพื่อนำไปประกอบเป็นอาหารป่าขายแก่ผู้ชื่นชอบเท่านั้น ไม่ได้เป็นไปตามที่มีกระแสข่าวแต่อย่างใด” บช.ก. ชี้แจงทางเฟซบุ๊ก

โคแฟคตรวจสอบ

เพจเฟซบุ๊กที่โพสต์เรื่องการนำเนื้อเหี้ยไปทำลูกชิ้นปลาเมื่อวันที่ 1 มี.ค. และถูกแชร์ต่อจำนวนมาก เช่น 

• เพจ “ห้องข่าวจิตอาสา แจ้งเหตุเตือนภัย Live สด” โพสต์เมื่อ 11.45 น. ว่า “ป่าไม้เขตห้ามล่าสัตว์ป่าบึงฉวาก บุกทลายโรงงานลูกชิ้นทำจากตัวเงินตัวทองที่ อ.อู่ทอง ส่งขายทุกอำเภอและจังหวัดใกล้เคียง (แทนลูกชิ้นปลาสีขาว)” ถูกแชร์กว่า 1 หมื่นครั้ง

• เพจ “อีซ้อขยี้ข่าว 2” โพสต์เมื่อ 17.24 น. ว่า “รวบพ่อค้าตัวเงินตัวทองรายใหญ่ค้าส่งชำแหละเนื้อขายส่งขายแปรรูปเพื่อนำไปเป็นอาหาร ทำเป็นลูกขิ้นปลาเนื้อขาวใสไร้ความคาว ส่วนหนังเกรงว่าน่านำไปตากแห้งทำเป็นหนังปลาทอดกรอบ โดยชำแหละส่งไปขายทั่วประเทศทำแบบนี้มานานแล้ว” ถูกแชร์กว่า 1.5 หมื่นครั้ง 

• เพจ “ตาสว่าง” โพสต์เมื่อ 20.16 น. ว่า “ส่งขายทั่วประเทศ ทลายโรงงานผลิตลูกชิ้นปลาเจ้าใหญ่ที่ดัดแปลงใช้เนื้อของตัวเงินตัวทองมาทำเป็นลูกขิ้นปลาเนื้อขาวใสไร้ความคาว ส่วนหนังน่านำไปตากแห้งทำเป็นหนังปลาทอดกรอบ จัดจำหน่ายส่งขายทั่วประเทศมานานแล้ว” ถูกแชร์กว่า 1 หมื่นครั้ง

สื่อมวลชนกระแสหลักหลายแห่งก็เสนอข่าวลูกชิ้นปลาเนื้อตัวเหี้ยด้วยเช่นกัน เช่น เว็บไซต์มติชนพาดหัวข่าวว่า“เพจดังแฉ! ซากตัวเหี้ยรอชำแหละ แปรรูปเป็นลูกชิ้นปลา-หนังตากแห้งเป็นปลากรอบ” โดยอ้างข้อความจากโพสต์ของเพจ “อีซ้อขยี้ข่าว 2” และเพจเฟซบุ๊ก “ไทยรัฐนิวส์โชว์” พาดหัวข่าวว่า “บุกโรงงานชำแหละเหี้ย ขายเนื้อทำเมนูเปิบพิศดาร ‘ลูกชิ้นปลาเนื้อเหี้ย’” แต่ในเนื้อข่าวไม่มีข้อมูลที่เกี่ยวกับลูกชิ้นปลา

ข่าวนี้ยังถูกแชร์โดยผู้สื่อข่าวและบุคคลที่มีชื่อเสียงหลายคน เช่น เฟซบุ๊กของ Yuthana Boonorm ซึ่งมีผู้ติดตามกว่า 2 แสนคน โดยโพสต์ของเขามีผู้แชร์ต่อไปกว่า 1.4 พันครั้ง 

จากการตรวจสอบของโคแฟคเมื่อ 3 มี.ค. 2566 พบว่า เพจเฟซบุ๊กและสื่อมวลชนที่นำเสนอข่าวนำเนื้อเหี้ยไปทำลูกชิ้นปลานำเสนอคำชี้แจงของ บช.ก. โดยบางแห่งได้แก้ไขเนื้อข่าวเดิม แต่บางแห่งนำเสนอเป็นโพสต์หรือข่าวชิ้นใหม่ โดยไม่ได้นำข่าวเดิมออกจากระบบ ทำให้ข่าวเรื่องการนำเนื้อเหี้ยไปทำลูกชิ้นปลายังปรากฏอยู่ในโซเชียลมีเดีย ทั้งเฟซบุ๊กและ TikTok รวมทั้งเว็บไซต์ของสื่อมวลชนบางสำนัก

โคแฟคสอบถามไปยังแอดมินของเพจ “ห้องข่าวจิตอาสา แจ้งเหตุเตือนภัย Live สด” ซึ่งเป็นเพจแรกๆ ที่โพสต์ข้อมูลเกี่ยวกับการนำเนื้อเหี้ยไปทำลูกชิ้นปลา ได้รับคำอธิบายว่าทางเพจนำข่าวนี้มาจากกลุ่มไลน์แจ้งเหตุเตือนภัย ซึ่งมีสมาชิกจากหลายจังหวัดเป็นผู้ส่งข่าวเข้ามา สำหรับข่าวนี้ได้มาจากกลุ่ม “เรารักสุพรรณบุรี” เขายอมรับว่าไม่ได้ตรวจสอบเนื้อหาก่อนโพสต์เพราะเป็นข่าวที่มาจากสมาชิกจึงคิดว่ามีความถูกต้อง อีกทั้งเพจห้องข่าวจิตอาสาฯ ยังนำเสนอในลักษณะ “เตือนภัย” เท่านั้น

จากการตรวจสอบเพจเฟซบุ๊ก “เรารักสุพรรณบุรี” พบว่ามีการนำเสนอภาพและข่าวเหตุการณ์นี้เช่นกัน แต่ไม่ได้ระบุว่ามีการนำเนื้อเหี้ยไปทำลูกชิ้นปลา ขณะที่แอดมินเพจให้ข้อมูลกับโคแฟคว่า เนื้อหาที่โพสต์นั้นมาจากกลุ่มไลน์ผู้สื่อข่าวท้องถิ่น จ.สุพรรณบุรี ซึ่งเนื้อข่าวบอกเพียงว่าชำแหละส่งร้านอาหารป่า

ด้านผู้สื่อข่าวท้องถิ่นใน จ.สุพรรณบุรี ที่ลงพื้นที่ทำข่าวนี้ ให้สัมภาษณ์โคแฟคโดยขอไม่เปิดเผยชื่อว่า เขาได้ยินเจ้าหน้าที่คุยเล่นกันในเชิงขำขันว่าเนื้อตัวเหี้ยอาจจะถูกส่งไปโรงงานทำลูกชิ้น ผู้สื่อข่าวรายนี้จึงสอบถามตำรวจและเจ้าหน้าที่ป่าไม้อีกครั้ง ซึ่งก็ได้รับคำยืนยันว่าข้อมูลเรื่องลูกชิ้นปลานั้นไม่เป็นความจริง 

ข้อสรุปโคแฟค: ยังไม่สามารถยืนยันได้ว่าเป็นความจริง หยุดแชร์

1. การสอบสวนของเจ้าหน้าที่จนถึงขณะนี้พบเพียงว่า ผู้ต้องหาขบวนการค้าสัตว์ป่าชำแหละเนื้อตัวเหี้ยส่งร้านอาหารป่าในจังหวัดชายแดนภาคตะวันออก ข่าวที่ระบุว่าเนื้อเหี้ยถูกนำไปทำลูกชิ้นปลาจึงยังไม่มีหลักฐานยืนยันว่าเป็นความจริง อีกทั้งยังไม่มีการอ้างแหล่งที่มาหรือระบุแหล่งข่าวที่ให้ข้อมูลดังกล่าว ข่าวนี้จึงไม่มีความน่าเชื่อถือและไม่ควรเผยแพร่ต่อ เพราะอาจส่งผลกระทบอย่างกว้างขวางต่อความเชื่อมั่นของผู้บริโภคและผู้ประกอบการธุรกิจอาหาร  

2. หากการสอบสวนขยายผลของเจ้าหน้าที่พบหลักฐานว่ามีการนำเนื้อตัวเหี้ยไปผสมลูกชิ้นปลาหรืออาหารชนิดอื่นที่มีการบริโภคอย่างแพร่หลายจริง หน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องออกมาเปิดเผยข้อมูลต่อสาธารณะโดยทันที พร้อมกับมีมาตรการตรวจสอบความปลอดภัยทางอาหารเพื่อปกป้องผู้บริโภค