มอง3ข้อมูลผิดปรกติในสังคมไทย‘สุขภาพ-การเมือง-อาชญากรรมไซเบอร์’ผลร้ายมีมากแต่จัดการไม่ง่าย

Editors’ Picks
เนื้อหาเป็นจริง

21 ก.ย. 2565 วิทยากรจากสถาบันพระปกเกล้า สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และสภาองค์กรของผู้บริโภค ร่วมสรุปประเด็น “ข้อมูลผิดปรกติ (Information Disorder) ในสังคมไทย” ในเวทีประชุมสุดยอด APAC Trusted Media Summit ประจำปีครั้งที่ 5ในประเทศไทย ซึ่งจัดโดย โคแฟค (ประเทศไทย) และ Google News Initiative (GNI) ที่ชั้น 6 อาคารทรูดิจิทัลพาร์ค สุขุมวิท 101/1 ถ.สุขุมวิท กรุงเทพฯ


ญาณี รัชต์บริรักษ์ รักษาการผู้อำนวยการสำนักสร้างเสริมระบบสื่อและสุขภาวะทางปัญญา สสส. กล่าวว่า 2-3 ปีที่ผ่านมา คนไทยเผชิญกับปัญหาข่าวลวง (Fake News) อย่างมาก โดยเฉพาะในช่วงการระบาดของไวรัสโควิด-19 ซึ่งมีคำ 2 คำเดินทางมาพร้อมกัน คือ Pandemic ที่แปลว่าโรคระบาด กับ Infodemic ที่หมายถึงการระบาดของข่าวลวง โดยองค์การอนามัยโลก (WHO) จัดให้เป็นช่วงวิกฤติของการสื่อสาร และเน้นย้ำความสำคัญของการเปิดพื้นที่เพื่อค้นหาข้อมูลร่วมของสังคม


ซึ่งความรอบรู้ด้านสุขภาพ (Health Literacy) เป็นทักษะที่จะช่วยให้คนไทยมีชีวิตแบบมีสุขภาวะ รอดพ้นภยันตรายจากข้อมูลลวงด้านสุขภาพ โดยองค์ประกอบของความรอบรู้ด้านสุขภาพ มีตั้งแต่การเข้าถึงข้อมูลที่ถูกต้อง การวิเคราะห์และประเมินสื่อ สามารถตัดสินใจจัดการกับตนเองในเรื่องของสุขภาพ ตลอดจนการเท่าทันสื่อและสื่อสารข้อมูล ซึ่งส่วนหนึ่งก็คือทักษะการรู้เท่าทันสื่อ (Media Literacy) ที่มีหลักคิดว่า ต้องไม่เชื่อไว้ก่อนจนกว่าจะหาข้อมูลมายืนยันได้ว่าเรื่องนั้นถูกต้อง


ทั้งนี้ ในช่วงเวลาที่ผ่านมา มีข่าวลวงด้านสุขภาพเกิดขึ้นหลายประเด็น เช่น โควิด-19 วัคซีน ฟ้าทะเลายโจรและสมุนไพรรักษาโรค กัญชา รวมถึงอาหารเสริมต่างๆ ซึ่งมีทั้งข่าวลวง (Fake News) และข้อมูลบิดเบือน (Disinformation) โดยมีปัจจัยเสี่ยงเพิ่มเติม เช่น การสื่อสารในพื้นที่ปิด ปรากฏการณ์ห้องเสียงสะท้อน (Echo Chamber) วัฒนธรรมเกรงใจไม่กล้าเตือนกัน ไปจนถึงบุคคลที่มีชื่อเสียง (Influencer) เป็นผู้เผยแพร่ข้อมูลผิดๆ เสียเอง


อนึ่ง สถาบันเชนจ์ฟิวชั่น เคยสรุปข้อค้นพบเกี่ยวกับข่าวลวงด้านสุขภาพในรอบปีที่ผ่านมา พบว่า แม้จะมีความถี่ของข่าวลวงมากในแพลตฟอร์มเปิดเป็นสาธารณะ แต่เจ้าของแพลตฟอร์มก็พยายามใช้อัลกอรึทึมเพื่อปิดกั้นข้อมูลที่ไม่ถูกต้อง แต่ที่น่าห่วงคือในกลุ่มปิด เช่น กลุ่มไลน์ กลุ่มเฟซบุ๊ก ซึ่งมีข่าวลวงและข้อมูลบิดเบือนอย่างสูง เนื่องจากเป็นเรื่องยากในการตรวจสอบ ส่วนผู้เผยแพร่ข่าวลวงก็มีตั้งแต่พวกทำเพราะสนุก พวกที่หวังผลทางธุรกิจบ้างการเมืองบ้าง หรือพวกแอบอ้างว่าเป็นคนวงใน

ประเด็นข่าวลวงที่ต้องระวังคือเรื่องที่อาจสร้างความแตกแยกในสังคม เช่น โรคฝีดาษลิงกับกลุ่มชายรักชาย วัคซีนโควิด-19 กับศาสนา ข่าวลวงยังมีแนวโน้มเผยแพร่แบบข้ามพรมแดน มีการแปลจากภาษาหนึ่งไปเป็นภาษาอื่นๆ สุดท้ายคือการมีพื้นที่ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลและแสวงหาความจริงร่วม แต่มีความท้าทายคือ บางอย่างก็ไมได้เป็นเท็จหรือจริงทั้งหมด โดยเป็นข้อมูลที่ซับซ้อนละเอียดอ่อน เช่น การรักษาโรคด้วยสมุนไพร หากภาครัฐไปบอกว่าเป็นข่าวลวงโดยไม่ระมัดระวัง อาจผลักให้ประชาชนไปสู่การเชื่อในโฆษณาชวนเชื่อได้

“ทางออกในการแก้ข้อมูลผิดปรกติในสังคมไทย รัฐต้องสนับสนุนให้เกิดระบบข้อมูลที่เป็น Open Data (ข้อมูลเปิด) ควบคู่ไปกับการสร้างแพลตฟอร์ม เรียกว่าการสนับสนุนของแพลตฟอร์มในการสร้างแพลตฟอร์มที่มีอัลกอริทึมที่จะช่วยบล็อกข้อมูลข่าวลวงต่างๆ รวมถึงการที่สื่อมวลชน องค์กรวิชาชีพสื่อจะทำหน้าที่ในการเฝ้าระวัง ตรวจสอบข้อมูลแล้วก็เป็นที่พึ่งของสังคม และสร้าง Solution (แนวทางแก้ไขปัญหา) ให้กับสังคมได้ รวมถึงการพัฒนาศักยภาพของประชาชน ให้เป็นประชาชนที่เป็นพลเมืองดิจิทัล ช่วยกันตรวจสอบข้อมูล และสร้างวัฒนธรรทในการตรวจสอบข้อมูลร่วม เพื่อที่จะนำไปสู่สังคมแห่งปัญญาและสังคมแห่งสุขภาวะ” ญาณี กล่าว


สติธร ธนานิธิโชติ ผู้อำนวยการสำนักนวัตกรรมเพื่อประชาธิปไตย สถาบันพระปกเกล้า กล่าวว่า การบิดเบือนข้อมูลเพื่อหวังผลทางการเมือง (Political Disinformation) หนึ่งในกรณีอื้อฉาวคือการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา ครั้งล่าสุด มีการเผยแพร่ข้อมูลว่า โดนัลด์ ทรัมป์ ชนะเลือกตั้งได้เป็นประธานาธิบดีต่ออีกสมัย ทั้งที่จริงๆ แล้ว ทรัมป์เป็นฝ่ายแพ้ ทำให้ในวันที่ โจ ไบเดน ผู้ชนะเลือกตั้ง ปธน. ในการเลือกตั้งครั้งล่าสุดดังกล่าว ประกอบพิธีสาบานตนเข้ารับตำแหน่งผู้นำสหรัฐฯ ก็เกิดเหตุจลาจลขึ้นบริเวณอาคารรัฐสภา


การบิดเบือนข้อมูลกับการเมืองนั้นเป็นเรื่องที่พบได้ปกติมาก เช่น ในช่วงเลือกตั้งที่พบการใส่ร้ายป้ายสีคู่แข่งกับการโอ้อวดตนเองเกินจริง แต่พฤติกรรมเหล่านี้ยังสามารถถูกควบคุมได้โดยกฎหมาย ที่น่าห่วงกว่าคือการที่ข้อมูลชุดเดียวกันแต่มองได้หลายมุม และไม่สามารถฟันธงได้ว่าบิดเบือนหรือไม่ เช่น เมื่อพูดถึวอดีตนายกรัฐมนตรีของไทยอย่าง ทักษิณ ชินวัตร จะมีทั้งฝ่ายที่มองว่าเป็นนายกฯ ที่ดำเนินนโยบายทำให้ประชาชนกินดีอยู่ดี กับฝ่ายที่บอกว่าเป็นนายกฯ ที่ดำเนินนโยบายประชานิยมและมีผลประโยชน์ทับซ้อน


หรือเหตุการณ์รัฐประหารปี 2549 ก็มีทั้งฝ่ายสนับสนุนที่นำดอกไม้ไปให้ทหาร และฝ่ายต่อต้านที่ถึงขั้นขับรถแท็กซี่ชนกับรถถัง มาจนถึงเมื่อเร็วๆ นี้ กับเหตุการณ์ยุบพรรคอนาคตใหม่ นำมาซึ่งการเคลื่อนไหวของคนรุ่นใหม่ที่เป็นนักเรียน-นักศึกษา ครั้งนี้ประเด็นข้อมูลค่อนข้างอ่อนไหวกว่าครั้งก่อนๆ เพราะกลายเป็นความขัดแย้งระหว่างคนต่างรุ่น ซึ่งคนเราจะเติบโตมากับชุดความรู้หนึ่ง และเมื่ออายุมากขึ้นชุดความรู้นั้นก็กลายเป็นความเชื่อและเป็นสิ่งที่ต้องรักษาไว้ โดยเฉพาะเมื่อต้องเผชิญกับคนอีกรุ่นหนึ่งที่ตีความอะไรใหม่ๆ แตกต่างไปจากเดิม


“ปัญหาของข้อมูลที่ไปใช้เพื่อหวังผลทางการเมือง คือเราใช้คำว่าการตีความกฎหมาย จริงๆ ปกติการตีความกฎหมายน่าจะเป็นทางออกให้กับข้อมูลที่มันหลากหลายชุดความคิด หลากหลายการตีความ ให้มันได้ความจริงเพียงหนึ่งเดียวและเป็นที่ยอมรับ แต่ปัจจุบันท่านก็จะเห็น กฎหมายอะไรก็ไม่รู้ เรื่องแค่ว่า 8 ปีหรือไม่ 8 ปี อธิบายกันได้อย่างน้อยๆ 3 แบบ 3 ทาง ซึ่งจริงๆ อาจจะ 4 หรือ 5 ว่ามันครบ 8 ปีเมื่อไร


แล้วบทสรุปของมันอาจจะกลายเป็นว่า การตีความจนเป็นคำตอบมันอาจจะไม่เป็นที่ยอมรับก็ได้นะ แต่มันน่ากลัวตรงที่มันมีสภาพบังคับทุกองค์กร ไม่มีใครล่วงละเมิดได้ อันนี้น่ากลัว มันเป็นชุดความจริงที่ใช้เครื่องมือที่ชอบธรรมมากในทางการเมือง มาจัดการให้มันถูกต้องชอบธรรมโดยที่มันไมได้รับความชอบธรรมทางสังคม” ผอ.สำนักนวัตกรรมเพื่อประชาธิปไตย สถาบันพระปกเกล้า

ภัทรกร ทีปบุญรัตน์ เจ้าหน้าที่ศูนย์ผู้บริโภคแบบเบ็ดเสร็จ (One-stop service) สภาองค์กรของผู้บริโภค เปิดเผยว่า นับตั้งแต่การก่อตั้งสภาองค์กรของผู้บริโภค เรื่องที่ได้รับร้องเรียนอยู่บ่อยครั้งคือการถูกหลอกขายสินค้าทางออนไลน์ หรือแม้กระทั่งแอปพลิเคชั่นหลอกลวงก็ยังเข้าไปอยู่ในสโตร์ของผู้ให้บริการแพลตฟอร์มออนไลน์ ซึ่งประชาชนไม่สามารถไว้วางใจแพลตฟอร์ม และหากผู้ให้บริการแพลตฟอร์มยังเห็นแก่เม็ดเงินโฆษณาของคนเหล่านี้ก็จะไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้


นอกจากนี้ มิจฉาชีพยังมีการพัฒนากลยุทธ์ในการหลอกลวง ตั้งแต่การหลอกให้กดลิงค์ต่างๆ ซึ่งเมื่อเหยื่อหลงเชื่อมิจฉาชีพก็จะสามารถเข้าถึงข้อมูลสำหรับทำธุรกรรมทางการเงินได้ หรือมีแม้กระทั่งมิจฉาชีพรู้ว่าผู้สูงอายุรายหนึ่งมีเงินเก็บจำนวนมาก ก็ทำทีลงทุนซื้อโทรศัพท์มือถือสมาร์ทโฟนให้ใช้แทนโทรศัพท์แบบปุ่มกด แถมยังสอนการใช้แอปพลิเคชั่นธุรกรรมการเงินอีก แต่ผู้สูงอายุรายนี้ไม่รู้เลยว่า มือถือสมาร์ทโฟนที่ได้มาใช้นั้นฝังโปรแกรมที่สามารถมองเห็นและควบคุมเครื่องจากระยะไกลไว้ มารู้อีกทีก็ถูกถอนเงินไปเกลี้ยงบัญชีแล้ว เป็นต้น


โดยข้อมูลจาก ศูนย์ปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยีสารสนเทศ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (Thai Police Online-สอท.) ตั้งแต่วันที่ 1 มี.ค.-11 ก.ย. 2565 พบว่า มีการแจ้งความออนไลน์กันกว่า 8 หมื่นเรื่อง โดยมีการหลอกลวงให้ทำงาน และหลอกลวงให้กู้เงินมาเป็นอันดับต้นๆ โดยเฉพาะเรื่องการหลอกลวงให้กู้เงินแต่เหยื่อนอกจากจะไม่ได้เงินแถมยังเสียเงินเพิ่มไปอีก ซึ่งมิจฉาชีพอ้างว่าอนุมัติเงินกู้แล้วแต่ต้องจ่ายค่าดำเนินการบางอย่าง เมื่อเหยื่อหลงเชื่อก็จะโอนให้ 500 บาทบ้าง 1,000 บาทบ้าง จนบางรายเสียหายไปเป็นหลักหมื่นบาท
และการจะอายัดเงินให้ทันก่อนที่มิจฉาชีพจะโอนย้ายถ่ายเทไปหมดนั้นก็เป็นไปได้ยากมาก ดังข้อมูลจากทางตำรวจที่ระบุว่า ยอดเงินที่ขออายัดมีรวมกันมากกว่า 3 พันล้านบาท แต่อายัดได้ทันจริงๆ เพียงร้อยละ 7.6 ของจำนวนเงินดังกล่าว อนึ่ง ขณะนี้มีความพยายามทำความร่วมมือกันระหว่างตำรวจกับสภาองค์กรของผู้บริโภค เพื่อนำรายชื่อบัญชีที่ถูกอายัดเนื่องจากมีพฤติกรรมเป็นมิจฉาชีพออกมาเปิดเผย


“ทุกวันนี้โจรมันพัฒนาเป็นดิจิทัลไปหมดแล้ว มีการอัพเลเวลในการที่จะโกงต่างๆ แต่ระบบราชการ กว่าจะไปแจ้งความได้ ไปท้องที่ที่เกิดเหตุ เสร็จปุ๊บท้องที่บอกว่ามันเป็นงานออนไลน์ ต้องไปที่ สอท. ผู้เสียหายก็ไปที่ สอท. แจ้งความเรียบเร้อยเสร็จ ด้วยความเข้าใจว่าเราถูกหลอกลวงเงินก็อยากจะได้เงิน จะเอาใบแจ้งความไปอายัดบัญชี ก็กลับไปที่ สน.อีก บอกว่าคุณไม่ได้แจ้งความที่นี่” ภัทรกร กล่าว


-/-/-/-/-/-/-/-/-/-/-