สรุป 3 ข่าว “งบ-การเงิน” ที่ต้องรู้ทัน
เป็นประจำทุก ๆ ปีเมื่อถึงช่วงเวลาหนึ่ง มักมีคนหยิบข่าวสารบางเรื่องนำกลับมาฉายซ้ำ วนแล้ว วนอีก โดยเฉพาะประเด็นที่เกี่ยวข้องกับการเงิน การคลัง และการงบประมาณ ซึ่งแต่ละครั้งที่หยิบนำมาเล่าใหม่ก็สร้างกระแสสังคมให้ติดตามจนกลายเป็นเรื่องดรามาเสียแทบทุกครั้ง แม้ว่าเรื่องกังกล่าวนั้นเกือบทั้งหมดเป็นข่าวที่บิดเบือนไปจากข้อเท็จจริง
กองบรรณาธิการเฉพาะกิจ TJA&Cofact ได้รวบรวมข่าวสารที่เกี่ยวข้องกับเรื่องเงิน ๆ ทอง ๆ ที่มักถูกหยิบยกมานำเสนอในห้วงเวลาต่าง ๆ เพื่อให้ทุกท่านได้รับทราบเป็นข้อมูลว่า ข่าวในลักษณะนี้ควรตรวจสอบ และพิจารณาข้อมูล ข้อเท็จจริงให้ดีก่อนเชื่อ หรือแชร์ข้อมูลต่อ เพื่อป้องกันไม่ให้หลาย ๆ คนเกิดความสับสน และเข้าใจผิด
กรณีแรก
คือ เรื่องของการจัดทำงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ ซึ่งทุก ๆ ปีจะมีคนคอยติดตามอยู่เสมอว่างบประมาณกระทรวงใดจะได้รับมากที่สุด โดยเฉพาะงบประมาณที่เกี่ยวข้องกับด้านความมั่นคง แทบทุกครั้งมักมีผู้นำหยิบมาเล่นโดยอ้างอิงข้อมูลเพียงบางส่วน เพียงเพื่อหวังการสร้างประเด็นดราม่าให้เกิดขึ้นในสังคม และเป็นข้อมูลโจมตีในเชิงการเมืองของฝ่ายตรงข้ามรัฐบาลเสมอ ๆ
อย่างเช่น ในการจัดทำงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2565 ก็มีการนำเสนอข้อมูล เช่น โจมตีการจัดสรรงบประมาณให้กับกระทรวงกลาโหมมากกว่ากระทรวงสาธารณสุข หรือการเปิดข้อมูลงบประมาณของกระทรวงหลาโหมที่อ้างว่าตั้งงบประมาณเอาไว้ไม่เหมาะสมกับสถานการณ์การระบาดของไวรัสโควิด-19 ซึ่งกำลังระบาดอย่างหนักในประเทศไทย
จากการตรวจสอบข้อมูลกรณีข้างต้นนี้ พบว่า วงเงินงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2565 ของกระทรวงกลาโหม อยู่ที่ 203,282 ล้านบาท โดยมีวงเงินปรับลดลงเรื่อยมาตั้งแต่ปี 2563 ขณะที่กระทรวงสาธารณสุข มีวงเงินงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2565 อยู่ที่ 153,940 ล้านบาท
ทั้งนี้หากพิจารณาข้อมูลจริงของการจัดงบประมาณปี 2565 ซึ่งแยกออกเป็นภารกิจต่าง ๆ จะพบว่า ส่วนใหญ่มีวงเงินปรับลดลงจากปีงบประมาณก่อนเกือบทั้งสิ้น โดยมีการแยกวงเงินออกเป็นกลุ่ม ๆ ตามลักษณะงาน คือ
- การบริหารทั่วไป แบ่งเป็น การบริหารทั่วไปของรัฐ 1,120,424.3 ล้านบาท ลดลง 0.5% จากปี 2564 การป้องกันประเทศ 733,030.8 ล้านบาท ลดลง 4.9% จากปี 2564การรักษาความสงบภายใน 187,572.8 ล้านบาท ลดลง 7.2% จากปี 2564
- การเศรษฐกิจ 691,452.5 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 3.3%
- การบริการชุมชนและสังคม แบ่งเป็น การสิ่งแวดล้อม 8,533.8 ล้านบาท ลดลง 47.1% การเคหะและชุมชน 131,707.3 ล้านบาท ลดลง 10.8% การสาธารณสุข 606,699.4 ล้านบาท ลดลง 10.8% การศาสนา วัฒนธรรม และนันทนาการ 18,696.1 ล้านบาท ลดลง 8.5% การศึกษา 456,240.1 ล้านบาท ลดลง 5.5% การสังคมสงเคราะห์ 366,246.5 ล้านบาท ลดลง 19.8%
กรณีนี้อยู่ที่การนำเสนอ หากหยิบตัวเลขเพียงบางตัวเลขมาเล่น หรือนำเสนอสู่สาธารณะโดยไม่เอาข้อมูลทั้งหมดมาอธิบายให้ครบถ้วน อาจทำให้เกิดความเข้าใจผิด หรือเกิดความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนได้
สามารถติดตามเอกสารอ้างอิงงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2565 ได้ที่นี่ https://www.bb.go.th/topic3.php?gid=860&mid=544
กรณีที่สอง
เพิ่งเกิดขึ้นสด ๆ ร้อน ๆ คือ การนำเสนอโดยอ้างอิงข้อมูลของราชกิจจานุเบกษา ที่เผยแพร่ประกาศกระทรวงการคลังเรื่อง รายงานฐานะการเงินประจำสัปดาห์ของธนาคารแห่งประเทศไทย ทุนสำรองเงินตรา และกิจการธนบัตร เพื่ออนุวัติตามมาตรา 59 แห่งพระราชบัญญัติธนาคารแห่งประเทศไทย พุทธศักราช 2485 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติธนาคารแห่งประเทศไทย (ฉบับที่ 4) พ.ศ.2551 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังได้ประกาศรายงานฐานะการเงินประจำสัปดาห์ ของธนาคารแห่งประเทศไทยทุนสำรองเงินตรา และกิจการธนบัตร
โดยระบุ งวดประจำมสัปดาห์สิ้นสุด ณ วันพฤหัสบดีที่ 21 มกราคม พ.ศ.2564 งวดประจำสัปดาห์สิ้นสุด ณ วันพฤหัสบดีที่ 28 มกราคม พ.ศ.2564 และงวดประจำสัปดาห์สิ้นสุด ณ วันพฤหัสบดีที่ 4 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2564 โดยขาดทุนสะสม 1,069,366,246,596 บาท
ล่าสุดธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กระทรวงการคลัง ได้ตรวจสอบและชี้แจงว่า รายงานดังกล่าวที่ เป็นการแสดงรายการงบการเงินของ ธปท. และเป็นธุรกรรมที่เกิดจากการทำหน้าที่ปกติของธนาคารกลาง ในการดูแลเสถียรภาพระบบเศรษฐกิจ ไม่ถือเป็นหนี้สาธารณะของประเทศ
นางจันทวรรณ สุจริตกุล ผู้ช่วยผู้ว่าการสายสื่อสารและความสัมพันธ์องค์กร ธปท. ชี้แจงว่า รายงานดังกล่าวเป็นการแสดงรายการงบการเงินของแบงก์ชาติและเป็นธุรกรรมที่เกิดจากการทำหน้าที่ปกติของธนาคารกลาง ในการดูแลเสถียรภาพระบบเศรษฐกิจ เช่น การดูแลอัตราแลกเปลี่ยนไม่ให้ผันผวนมากจนกระทบต่อการดำเนินงานภาคเอกชนและเศรษฐกิจ การดูแลสภาพคล่องในระบบการเงินให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม ดังนั้น กำไรหรือขาดทุนที่จะปรากฏในงบดุลของธนาคารกลางจึงเป็นเรื่องปกติของการทำหน้าที่ตามพันธกิจ
ดังนั้น ฐานะการเงินของธนาคารกลางเป็นผลจากการทำหน้าที่ตามพันธกิจ ซึ่งในแต่ละปีอาจเกิดกำไรและขาดทุน เช่น จากการตีราคาสินทรัพย์ต่างประเทศเป็นเงินบาท และจากต้นทุนการออกพันธบัตรเพื่อดูดซับสภาพคล่อง ซึ่งตัวเลข 1.069 ล้านล้านบาท เป็นผลการขาดทุนสะสมที่เกิดขึ้นหลายปีไม่ใช่ของปีนี้ปีเดียว
ทั้งนี้ หนี้สินในงบการเงินของแบงก์ชาติ ไม่ถือเป็นหนี้สาธารณะของประเทศ ซึ่งเป็นแนวปฏิบัติเช่นเดียวกันทั่วโลก ตามนิยามของ IMF ที่กำหนดมาตรฐานการเผยแพร่ข้อมูลเศรษฐกิจการเงินเพื่อการเปรียบเทียบและติดตามการทำนโยบายของสมาชิก
พร้อมยังขอให้ประชาชนอย่าหลงเชื่อ และขอความร่วมมือไม่ส่ง หรือแชร์ข้อมูลดังกล่าวต่อในช่องทางสื่อสังคมออนไลน์ต่าง ๆ ให้เกิดความเข้าใจที่คลาดเคลื่อน
สามารถติดตามเอกสารอ้างอิง ประกาศกระทรวงการคลัง เรื่อง รายงานฐานะการเงินประจำสัปดาห์ของธนาคารแห่งประเทศไทย ทุนสำรองเงินตรา และกิจการธนบัตร ได้ที่นี่ http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2564/D/036/T_0002.PDF
กรณีที่สาม
เรียกว่าคลาสสิกที่สุด คือ การประกาศขึ้นภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) ข่าวนี้มีออกมาเป็นประจำทุกปีประมาณเดือนกันยายน ในช่วงเข้าสู่ฤดูการขยายระยะเวลาการลดภาษี VAT เหลือ 7% ออกไปอีก 1 ปี
สำหรับกรณีนี้ หากใครติดตามข่าวสารเป็นประจำจะรู้ได้ทันทีว่า “เป็นเรื่องปกติ” เพราะทุกรัฐบาลจะต่ออายุการลดภาษี VAT เป็นประจำทุกปี เพื่อช่วยลดผลกระทบทั้งค่าครองชีพ และรักษาการบริโภคภายในประเทศ ช่วยประคับประคองเศรษฐกิจให้ขยายตัวอยู่ได้ในระดับที่เหมาะสม
โยปัจจุบัน ตามประมวลรัษฎากร ภาษี VAT มีอัตราการจัดเก็บที่ 10% แบ่งเป็น ภาษีมูลค่าเพิ่มที่จัดเก็บจริง 9% และภาษีท้องถิ่นอีก 1% กำหนดเอาไว้ตั้งแต่ปี 2535 แต่ไม่เคยจัดเก็บจริง เพราะทุก ๆ ปี จะมีการออกออกพระราชกฤษฎีกาลดอัตราภาษี VAT ให้เหลือเพียง 7% แบ่งเป็น ภาษีมูลค่าเพิ่มที่จัดเก็บจริง 6.3% บวกภาษีท้องถิ่น 0.7% มาโดยตลอด จนถึงปัจจุบัน
ขณะเดียวกัน ณ ขณะนี้ก็มีแนวโน้มจัดเก็บในรูปแบบนี้ต่อไปเรื่อย ๆ หากสภาพเศรษฐกิจยังไม่กลับมาขยายตัวได้ดีตามศักยภาพ โดยเฉพาะช่วงที่ประเทศไทยยังมีการระบาดของไวรัสโควิด-19 อย่างหนัก การจะกลับมาเก็บภาษี VAT ในอัตราปกติ อาจเป็นเรื่องยาก หากรัฐบาลจะตัดสินใจขึ้นช่วงนี้ คงจะซ้ำเติมสภาพเศรษฐกิจและวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของทุกคนมากเลยทีเดียว