‘ทำงานต่างประเทศ’ความหวังสร้างรายได้ของใครหลายคน! เช็คก่อนเชื่อเพื่อไม่ให้ถูกหลอก
By : Zhang Taehun
“เขียนป้ายไปปักไว้ บอกคนทั้งหลายว่าอยากขายที่นา นำทรัพย์สินเงินตราจากขายที่นาตีตั๋วเครื่องบิน จะไปซาอุ” ท่อนเริ่มของบทเพลง “ซาอุดรฯ” จากวงคาราบาว ซึ่งสะท้อน “ความหวัง” ของคนไทยจำนวนไม่น้อยที่ต้องการไป “แสวงโชคในต่างแดน” ดังท่อนต่อมาที่ร้องว่า “บอกเมียและลูกน้อย คอยพี่หน่อยพ่อหน่อยเถิดหนา อีกไม่นานกลับมาเยี่ยงราชาเงินทองล้นกาย จะมีโทรทัศน์วิทยุ สเตอริโอ บ้านตึกหลังโตโต โอ้ฮะโอ นั่งกินนอนกิน” ด้วยเชื่อว่าการทำงานในต่างประเทศจะสามารถเก็บเงินส่งกลับบ้านที่เมืองไทยได้อย่างเป็นกอบเป็นกำ
บทเพลง ซาอุดรฯ เผยแพร่ครั้งแรกในปี 2528 ซึ่งเวลานั้น ซาอุดิอาระเบีย เป็นประเทศที่คนไทยนิยมไปทำงาน และหลายคนเผชิญกับสถานการณ์ที่ในเพลงบอกว่า “เกิดมาเป็นคนจนยามคบคนไม่เคยเป็นต่อ คิดคิดไปใจท้อ คนหนอคนยิ่งจนยิ่งเจ็บ เก็บเงินเราไปแล้วเรือบินแจวลงจอดบนลาน บนแผ่นดินอีสาน ขนานนามว่า ซาอุดร” ซึ่งสะท้อนถึงปัญหา “ถูกหลอกลอยแพ” นอกจากจะไม่ได้ไปทำงานต่างประเทศแล้วยังเสียเงินเสียทองอีกต่างหาก แต่ผ่านไปเกือบ 40 ปี ภัยจากมิจฉาชีพประเภทนี้ก็ยังคงดำรงอยู่ และเข้าถึงเหยื่อได้ง่ายผ่านเทคโนโลยีสื่อสังคมออนไลน์ (Social Media)
บทความนี้เขียนขึ้นเมื่อวันที่ 18 เม.ย. 2566 ซึ่งผู้เขียนลองสืบค้นในฐานข้อมูลของ “ศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม ประเทศไทย (Anti-Fake News Center Thailand) กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส)” โดยใช้คำว่า “ทำงาน” พบว่า มีการเตือนภัยการหลอกลวงคนไทยไปทำงานต่างแดนหลายครั้งและหลายประเทศ ตัวอย่างเช่นใน “เดือนธันวาคม 2562” ซึ่งเป็นผลการค้นหาเก่าที่สุดที่หาได้ พบ 1 รายการ หัวข้อ “กรมการจัดหางานเปิดโอกาสทำงานเกาหลี ญี่ปุ่น และต่างประเทศได้ง่ายๆ ไม่ยุ่งยาก พร้อมโอนเงินเพื่อจองสิทธิ์ ข่าวปลอม หลอกลวงประชาชน อย่าหลงเชื่อ!!” โดยเป็นการแอบอ้าง กรมการจัดหางาน มีการใช้โลโก้ของกรมฯ และหลอกให้โอนเงิน
ดูเหมือนข่าวลวงดังกล่าวจะเงียบหายไปนานกว่า 2 ปี เมื่อโลกเผชิญสถานการณ์โรคระบาดโควิด-19 ในช่วงต้นปี 2563 เพราะแต่ละประเทศใช้มาตรการล็อกดาวน์และคุมเข้มการเดินทางข้ามพรมแดน แต่แล้วเมื่อสถานการณ์เริ่มคลี่คลาย การเดินทางและกิจกรรมต่างๆ ทั้งในประเทศและระหว่างประเทศกลับมาสู่ภาวะปกติ ข่าวลวงประเภทนี้ก็กลับมาหลอกหลอนคนไทยอีกครั้ง และอาจกล่าวได้ว่าเป็นการ “ซ้ำเติมความทุกข์” ของคนไทยก็ว่าได้ เพราะในเวลานั้นหลายคนยังได้รับผลกระทบทางเศรษฐกิจจากสถานการณ์โรคระบาดครั้งใหญ่ นั่นคือการตกงานและกำลังมองหางานใหม่เพื่อสร้างรายได้เลี้ยงดูตนเองและครอบครัว
จากการสืบค้นในฐานข้อมูลของศูนย์ต่อต้านข่าวปลอมฯ นับตั้งแต่ “เดือนสิงหาคม 2565” พบว่ามี 3 ข่าวลวง แบ่งเป็น ข่าวลวงที่เกี่ยวข้องกับสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ 1 รายการ เกาหลีใต้ 1 รายการ และโปรตุเกส 1 รายการ “เดือนกันยายน 2565” พบ 1 ข่าวลวงที่ชวนคนไทยไปทำงานในเกาหลีใต้ , “เดือนตุลาคม 2565” พบ 6 ข่าวลวง ทั้งหมดเป็นการชวนคนไทยไปทำงานในเกาหลีใต้ , “เดือนพฤศจิกายน 2565” พบ 5 ข่าวลวง แบ่งเป็น เกาหลีใต้ 4 รายการ ไต้หวัน 1 รายการ , “เดือนธันวาคม 2565” พบ 5 ข่าวลวง ทั้งหมดเป็นการชวนคนไทยไปทำงานในเกาหลีใต้ ,
“เดือนมกราคม 2566” พบ 13 ข่าวลวง แบ่งเป็น เกาหลีใต้ 8 รายการ ฮังการี 2 รายการ โครเอเชีย โคลัมเบีย (โคลอมเบีย) และซาอุดิอาระเบีย ประเทศละ 1 รายการ , “เดือนกุมภาพันธ์ 2566” พบ 13 รายการ แบ่งเป็น ฮังการี 3 รายการ เกาหลีใต้ ไต้หวันและสิงคโปร์ ประเทศละ 2 รายการ โครเอเชีย ซาอุดิอาระเบีย โปรตุเกสและออสเตรเลีย ประเทศละ 1 รายการ , “เดือนมีนาคม 2566” พบ 6 รายการ แบ่งเป็น ฮังการี 3 รายการ คาซัคสถาน แคนาดาและญี่ปุ่น ประเทศละ 1 รายการ , “เดือนเมษายน 2566 (สืบค้นถึงวันที่ 18 เม.ย. 2566)” พบ 4 รายการ แบ่งเป็น ญี่ปุ่น 2 รายการ ฮังการีและไต้หวัน ประเทศละ 1 รายการ
ลักษณะของข่าวลวง ได้แก่ 1.เคยเป็นข่าวจริงแต่ผ่านพ้นไปแล้ว เช่น ในวันที่ 23 ส.ค. 2565 ศูนย์ต่อต้านข่าวปลอมฯ เตือนข่าวลวงเรื่อง “กระทรวงแรงงานเปิดรับสมัครไปทำงานประเทศสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ รายได้เดือนละ 40,000 บาท” ซึ่งข้อเท็จจริงคือ เป็นข่าวที่กรมการจัดหางานเผยแพร่เมื่อวันที่ 26 พ.ย. 2564 โดยมีสาระสำคัญว่า กรมการจัดหางาน เปิดรับสมัครคนหางานเพื่อไปทำงานกับนายจ้างบริษัท CROWN EMIRATES COMPANY LTD. ประเทศสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (U.A.E) จำนวน 17 อัตรา ระยะเวลาจ้างงาน 3 ปี ดูแลอาหาร 3 มื้อ สมัครฟรีตั้งแต่บัดนี้จนถึงวันที่ 3 ธ.ค. 2564 ไม่เว้นวันหยุดราชการ ดังนั้น การรับสมัครตามประกาศนี้ได้เสร็จสิ้นไปแล้ว
2.ข่าวลวงอ้างถึงงานประเภทหนึ่ง แต่ในข้อเท็จจริงเป็นการเตรียมพร้อมสำหรับการไปทำงานอีกประเภทหนึ่ง เช่น ข่าวลวงเรื่อง “เกาหลีเปิดรับคนไทยทำงานถูกกฎหมายที่ไร่ผักสลัด ค่าแรง 75,000 บาท” ที่มีการเตือนในวันที่ 26 ต.ค. 2565 หรือข่าว “เกาหลีเตรียมเปิดรับสมัครงานอุตสาหกรรม 75,000 อัตรา” ที่มีการเตือนในวันที่ 3 ธ.ค. 2565 ข้อเท็จจริงของข่าวเหล่านี้คือ กระทรวงแรงงาน และกรมการจัดหางาน ได้ตรวจสอบข้อมูลและชี้แจงว่า “ในขณะนั้นมีเพียงการรับสมัครทดสอบภาษาเกาหลีและทักษะการทำงาน (Point System) ครั้งที่ 11 เพื่อไปทำงานสาธารณรัฐเกาหลี (เกาหลีใต้) ประเภทกิจการก่อสร้างเท่านั้น” อีกทั้งได้สิ้นสุดการรับสมัครไปตั้งแต่วันที่ 20 ต.ค. 2565
3.แอบอ้างชื่อบริษัทหรือหน่วยงาน หรือไม่ระบุชื่อบริษัทจัดหางาน เช่น ข่าวลวงเรื่อง “บริษัท work and smile ประเทศฮังการี เปิดรับแรงงาน เงินเดือนสูง ถูกกฎหมายผ่านกรมการจัดหางาน” ที่มีการเตือนในวันที่ 11 ม.ค. 2566 มีการใส่ชื่อบริษัทพ่วงกับอ้างถึงกรมการจัดหางาน หรือข่าวลวงเรื่อง “กระทรวงแรงงานรับสมัครพนักงานนวดหญิงไปทำงานที่ประเทศโคลัมเบีย” ที่มีการเตือนในวันที่ 26 ม.ค. 2566 ไม่มีการระบุรายละเอียดใดๆ เลย นอกจากให้ติดต่อผ่านช่องทางแอปพลิเคชั่นไลน์ อนึ่ง ข่าวลวงหลายข่าวมักใช้คำว่า “กรมแรงงาน” แทนที่จะเป็นกระทรวงแรงงาน
หรือจะเป็นข่าวลวงเรื่อง “บริษัทจัดหางานวินซ์ เพลสเมนท์ จำกัด รับสมัครแรงงานผ่านกรมการจัดหางาน” ที่มีการเตือนในวันที่ 7 ก.พ. 2566 เนื้อหาเป็นการโฆษณาชักชวนไปทำงานต่างประเทศ (คาดว่าน่าจะเป็นประเทศสิงคโปร์ เนื่องจากระบุรายได้เป็นเงินสกุลดอลลาร์สิงคโปร์) แต่เมื่อตรวจสอบแล้วพบว่า บริษัทดังกล่าวไม่ได้มีการขอประกาศหาแรงงานในตำแหน่งที่อ้างถึงกับกรมการจัดหางาน ตามที่โฆษณาชวนเชื่อแต่อย่างใด
จากข้อมูลบนเว็บไซต์ https://lb.mol.go.th ซึ่งเป็นระบบ e-Labour บริการประชาชน โดยสำนักงานปลัดกระทรวงแรงงาน ได้เผยแพร่บทความในหมวด คนหางาน/คนว่างงาน หัวข้อ งานในต่างประเทศ เรื่อง “การไปทำงานต่างประเทศโดยถูกต้องตามกฎหมาย” ระบุว่า การไปทำงานต่างประเทศโดยถูกต้องตามกฎหมายมี 5 วิธี ประกอบด้วย
1.บริษัทจัดหางานจัดส่ง มีขั้นตอนดังนี้ 1.1 ต้องแสดงใบอนุญาตการจดทะเบียนต่อกรมการจัดหางาน ไว้ในที่เปิดเผยและเห็นชัด ณ สำนักงานที่ได้รับอนุญาต 1.2 ต้องจดทะเบียนลูกจ้างหรือตัวแทนจัดหางานที่ทำงานให้บริษัทไม่ใช้สายหรือเป็นนายหน้าเถื่อน 1.3 เรียกเก็บค่าหัวตามกฏหมายและออกใบเสร็จรับเงินให้คนหางานไว้เป็นหลักฐาน 1.4 เรียกเก็บเงินล่วงหน้าได้ไม่เกิน 30 วันก่อนเดินทาง ถ้าไม่ส่งไปทำงานตามกำหนด ต้องคืนเงินให้ทันที 1.5 ต้องส่งคนงานไปตรวจโรค ณ สถานพยาบาลตามที่กรมการจัดหางานประกาศรายชื่อไว้ 1.6 ต้องส่งคนหางานไปทดสอบฝีมือ ณ สถานทดสอบฝีมือตามที่กรมพัฒนาฝีมือแรงงานอนุญาต 1.7 ต้องพาคนงานเข้ารับการฝึกอบรมจากเจ้าหน้าที่ของกรมการจัดหางานก่อนเดินทาง และ 1.8 ต้องพาคนหางานเดินทางออกไปทำงานต่างประเทศผ่านด่านตรวจคนหางานของกรมการจัดหางาน ทั้งนี้ ปลัดกระทรวงแรงงานแนะนำให้ติดต่อบริษัทจัดหางานที่ขึ้นทะเบียนกับกรมการจัดหางาน
2.กรมการจัดหางานจัดส่ง เป็นบริการของรัฐที่ส่งคนหางานไปทำงานต่างประเทศโดยไม่ต้องเสียค่าบริการ นอกจากค่าใช้จ่ายที่จำเป็นเช่น ค่าตั๋วเครื่องบิน ค่าวีซ่า ค่าภาษี สนามบิน ค่าสมาชิกกองทุนฯ ค่าที่พักสำหรับเตรียมตัวก่อนเดินทาง สำหรับโครงการจัดส่งโดยรัฐ เช่น 2.1 โครงการจ้างตรง : ไต้หวัน 2.2 โครงการ IM : ประเทศญี่ปุ่น 2.3 โครงการ EPS : สาธารณรัฐเกาหลี 2.4 โครงการ TIC : ประเทศอิสราเอล
3.เดินทางไปทำงานด้วยตนเอง คนหางานติดต่อนายจ้างต่างประเทศด้วยตนเองหรือคนงานที่ทำงานครบสัญญาจ้างแล้วได้ต่อสัญญาจ้าง เมื่อเดินทางกลับมาพักผ่อน ในประเทศไทยและจะเดินทางกลับไปทำงานอีก ต้องแจ้งต่อกรมการจัดหางานก่อนวันเดินทางไม่น้อยกว่า 15 วัน
4.นายจ้างในประเทศไทยพาลูกจ้างไปทำงาน นายจ้างในประเทศไทยที่มีบริษัทในเครืออยู่ในต่างประเทศ หรือประมูลงานในต่างประเทศได้ ส่งลูกจ้างที่อยู่ในประเทศไทยไปทำงานต้องขออนุญาตต่อกรมการจัดหางาน
และ 5.นายจ้างในประเทศไทยส่งลูกจ้างไปฝึกงาน มี 2 ประเภทคือ กรณีไม่เกิน 45 วัน และกรณีเกิน 45 วัน สำหรับนายจ้างที่ประสงค์จะส่งลูกจ้างไปฝึกงานในต่างประเทศไม่เกิน 45 วัน ให้ยื่นแบบแจ้งตามแบบ จง.46 ดังนี้ 5.1 กรณีนายจ้างมีสำนักงานตั้งอยู่ในกรุงเทพฯ ให้ยื่นแบบแจ้ง (จง.46) ณ สำนักงานบริหารแรงงานไทยไปต่างประเทศ หรือสำนักงานจัดหางานเขตพื้นที่ที่ตั้งสำนักงาน 5.2 กรณีนายจ้างมีสำนักงานตั้งอยู่ในจังหวัดอื่น ให้ยื่นแบบแจ้ง (จง.46) ณ สำนักงานจัดหางานจังหวัดนั้น
สำหรับผู้สนใจไปทำงานต่างประเทศแล้วพบเห็นการโฆษณาที่น่าสงสัยในสื่อสังคมออนไลน์ สามารถตรวจสอบด้วยการสอบถามได้ที่หมายเลขโทรศัพท์ 02-248-4792 ของกองทะเบียนจัดหางานกลางและคุ้มครองคนหางาน กรมการจัดหางาน หรือที่สายด่วน 1694 ของกรมการจัดหางาน รวมถึงเพจเฟซบุ๊ก “กองทะเบียนจัดหางานกลางเเละคุ้มครองคนหางาน” โดย URL ที่ถูกต้องคือ https://www.facebook.com/DoeCepd/ สามารถแคปภาพหน้าจอแล้วส่งไปสอบถามได้ นอกจากนั้นยังมีเว็บไซต์ https://www.doe.go.th/prd/ipd ที่ประกาศรายชื่อบริษัทจัดหางานที่จดทะเบียนอย่างถูกต้องตามกฎหมาย โดยเลือกหมวด “ดาวน์โหลด” หัวข้อ “เกี่ยวกับบริษัทจัดหางาน”
-/-/-/-/-/-/-/-/-/-/-
อ้างอิง
https://www.antifakenewscenter.com/ ศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม ประเทศไทย (Anti-Fake News Center Thailand) กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส)
https://www.antifakenewscenter.com/เศรษฐกิจ/กรมการจัดหางานเปิดโอกา/ (กรมการจัดหางานเปิดโอกาสทำงานเกาหลี ญี่ปุ่น และต่างประเทศได้ง่ายๆ ไม่ยุ่งยาก พร้อมโอนเงินเพื่อจองสิทธิ์ ข่าวปลอม หลอกลวงประชาชน อย่าหลงเชื่อ!! : 25 ธ.ค. 2562)
https://www.antifakenewscenter.com/นโยบายรัฐบาล-ข่าวสาร/ข่าวปลอม-อย่าแชร์-กระทรวงแรงงานเปิดรับสมัครไปทำงานประเทศสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์-รายได้เดือนละ-40000-บาท/ (ข่าวปลอม อย่าแชร์! กระทรวงแรงงานเปิดรับสมัครไปทำงานประเทศสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ รายได้เดือนละ 40,000 บาท : 23 ส.ค. 2565)
https://www.antifakenewscenter.com/นโยบายรัฐบาล-ข่าวสาร/ข่าวปลอม-อย่าแชร์-เกาหลีเปิดรับคนไทยทำงานถูกกฎหมายที่ไร่ผักสลัด-ค่าแรง-75000-บาท/(ข่าวปลอม อย่าแชร์! เกาหลีเปิดรับคนไทยทำงานถูกกฎหมายที่ไร่ผักสลัด ค่าแรง 75,000 บาท : 26 ต.ค. 2565)
https://www.antifakenewscenter.com/นโยบายรัฐบาล-ข่าวสาร/ข่าวปลอม-อย่าแชร์-เกาหลีเตรียมเปิดรับสมัครงานอุตสาหกรรม-75000-อัตรา/ (ข่าวปลอม อย่าแชร์! เกาหลีเตรียมเปิดรับสมัครงานอุตสาหกรรม 75,000 อัตรา : 3 ธ.ค. 2565)
https://www.antifakenewscenter.com/นโยบายรัฐบาล-ข่าวสาร/ข่าวปลอม-อย่าแชร์-บริษัท-work-and-smile-ประเทศฮังการี-เปิดรับแรงงาน-เงินเดือนสูง-ถูกกฎหมายผ่านกรมการจัดหางาน/ (ข่าวปลอม อย่าแชร์! บริษัท work and smile ประเทศฮังการี เปิดรับแรงงาน เงินเดือนสูง ถูกกฎหมายผ่านกรมการจัดหางาน : 11 ม.ค. 2566)
https://www.antifakenewscenter.com/นโยบายรัฐบาล-ข่าวสาร/ข่าวปลอม-อย่าแชร์-กระทรวงแรงงานรับสมัครพนักงานนวดหญิงไปทำงานที่ประเทศโคลัมเบีย/ (ข่าวปลอม อย่าแชร์! กระทรวงแรงงานรับสมัครพนักงานนวดหญิงไปทำงานที่ประเทศโคลัมเบีย : 26 ม.ค. 2566)
https://www.antifakenewscenter.com/นโยบายรัฐบาล-ข่าวสาร/ข่าวปลอม-อย่าแชร์-บริษัทจัดหางานวินซ์-เพลสเมนท์-จำกัด-รับสมัครแรงงานผ่านกรมการจัดหางาน/ (ข่าวปลอม อย่าแชร์! บริษัทจัดหางานวินซ์ เพลสเมนท์ จำกัด รับสมัครแรงงานผ่านกรมการจัดหางาน : 7 ก.พ. 2566)
https://lb.mol.go.th/คนหางาน-คนว่างงาน/งานในต่างประเทศ/การไปทำงานต่างประเทศโดยถูกต้องตามกฏหมาย (การไปทำงานต่างประเทศโดยถูกต้องตามกฏหมาย : ระบบ e-Labour บริการประชาชน โดยสำนักงานปลัดกระทรวงแรงงาน)
https://www.facebook.com/DoeCepd/ (เพจเฟซบุ๊ก “กองทะเบียนจัดหางานกลางเเละคุ้มครองคนหางาน”)
https://www.doe.go.th/prd/ipd/downloads/param/site/155/cat/104/sub/0/pull/category/view/list-label (เกี่ยวกับบริษัทจัดหางาน : กองทะเบียนจัดหางานกลางและคุ้มครองคนหางาน กรมการจัดหางาน)