หาข้อมูลได้ง่ายและแม่นยำมากขึ้น ด้วยคำสั่งพิเศษบน Google : COFACT Special Report #30

บทความ

เราเชื่อว่าหลายๆ คนที่ใช้อินเทอร์เน็ต เมื่อจะหาข้อมูลอะไรสักอย่างก็มักจะพุ่งตรงไปที่เว็บไซต์ Google เป็นอันดับแรกๆ จากนั้นก็พิมพ์สิ่งที่ต้องการค้นหา แต่หลายครั้งก็มักจะพบว่า สิ่งที่ต้องการค้นหาอาจจะไม่ขึ้นมาในผลการค้นหาอันดับแรกๆ เช่น ผลการค้นหาที่ปรากฎอาจจะเก่าเกินไป หรือไม่ใช่ผลการค้นหาที่มาจากหน่วยงานที่ตนต้องการ ในเว็บ Google มีเครื่องมือค้นหาขั้นสูง (Advanced Search) ที่ช่วยกำหนดคุณสมบัติการค้นหาให้ละเอียดและแม่นยำขึ้น ช่วยให้ได้ผลการค้นหาที่ต้องการจริงๆ

English Summary

People often use Google to search for information, but only a few know how to use Advance Searches to get the exact information they need. In this article, we explain readers how get specific files and articles from official sources, using search operators and advanced search tools. 

ตั้งค่าช่วงเวลา เพื่อค้นหาข้อมูลล่าสุด หรือข้อมูลในอดีต

เมื่อเราพิมพ์คำค้นหาในช่องค้นหาของ Google แล้ว แต่ต้องการเห็นข้อมูลล่าสุด หรือข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับสิ่งที่กำลังค้นหาในวันหรือเวลาที่กำหนด ให้คลิกที่ Tools (เครื่องมือ) ซึ่งอยู่บริเวณด้านขวาของจอ จากนั้นสังเกตตรงคำว่า Any Time ให้คลิกที่ตรงนั้น และกำหนดวัน เวลาที่ต้องการ เราสามารถเลือกจากตัวเลือกที่ Google กำหนดมาให้ หรือถ้าต้องการจะกำหนดวันและเวลาด้วยตนเอง ให้ไปที่ Custom Range และเลือกกำหนดได้จากเมนูปฏิทินที่ปรากฎขึ้น

แก้ไขปัญหาคำพ้องรูปด้วยการเพิ่ม หรือตัดตัวกรองออกไป’

คำค้นหาหลายคำที่เราคุ้นเคย มักเขียนเหมือนกัน แต่อาจมีหลายความหมาย หรือที่เรารู้จักกันว่า “คำพ้องรูป” ในภาษาไทยและภาษาอังกฤษเรามีคำพ้องรูปจำนวนมาก และหลายครั้งเซิร์จเอนจิ้นอย่าง Google ก็ไม่สามารถเดาได้ว่าผู้ใช้งานต้องการค้นหาคำที่มีความหมายใดกันแน่ ดังนั้นการใช้คำสั่งพิเศษจะช่วยให้ระบบเข้าใจได้ละเอียดขึ้นถึงคำที่เราต้องการค้นหาจริงๆ ด้วยการใส่เครื่องหมายลบ (-) ตามด้วยประเภทของตัวกรองที่ต้องการตัดทิ้ง และเครื่องหมายบวก (+) ตามด้วยประเภทของตัวกรองที่ต้องการให้แสดง เช่น หากต้องการค้นหา จากัวร์ ที่เป็นรถยนต์ ให้ใส่ “จากัวร์ +รถ” แต่ถ้าต้องการค้นหาจากัวร์ที่เป็นเสือ ให้ใส่ “จากัวร์ -รถ” เป็นต้น

ค้นหาข้อมูลจากเว็บไซต์ต่างๆ โดยเฉพาะ ด้วยการค้นหาเฉพาะเว็บ/โดเมน

เราสามารถใช้คำสั่งพิเศษสำหรับคัดกรองข้อมูลเฉพาะเว็บไซต์ หรือโดเมนที่เราต้องการจะเห็น เช่น หากเราต้องการค้นหาข้อมูลเกี่ยวกับโควิด-19 จากหน่วยงานของภาครัฐในประเทศไทยโดยเฉพาะ เราสามารถใช้คำสั่ง “site:go.th” แล้วตามด้วยคำค้นหาที่ต้องการ จากนั้น Google ก็จะแสดงข้อมูลที่มาจากเว็บไซต์ของหน่วยงานภาครัฐเท่านั้น โดยโดเมนที่เรามักจะคุ้นเคยกันบ่อยๆ ได้แก่ .go.th สำหรับเว็บไซต์ของหน่วยงานภาครัฐของไทย .co.th สำหรับบริษัทเอกชนในไทย .or.th สำหรับหน่วยงานไม่แสวงหากำไรในไทย .ac.th สำหรับสถาบันการศึกษาในไทย เป็นต้น

การใช้คำสั่งนี้ยังใช้ได้กับเว็บไซต์เต็มๆ เช่น หากเราต้องการค้นหาข่าวเกี่ยวกับผู้ว่าฯ กทม. เฉพาะบนเว็บไซต์ของไทยพีบีเอส ก็สามารถพิมพ์ “site:thaipbs.or.th ชัชชาติ สิทธิพันธุ์” ระบบก็จะแสดงเนื้อหาที่เกี่ยวกับนายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ที่มาจากเว็บไซต์ไทยพีบีเอสโดยเฉพาะ 

ค้นหาไฟล์ต่างๆ และ เอกสารราชการ ด้วยการระบุนามสกุลไฟล์

Google ยังมีคุณสมบัติในการค้นหาไฟล์ที่มีการโพสเอาไว้บนหน้าเว็บต่างๆ (ที่เปิดให้อ่านได้แบบสาธารณะ ไม่ใช่อยู่ในระบบคลาวด์) เราสามารถใช้คำสั่ง “filetype:” แล้วตามด้วยคำค้นหาที่เกี่ยวข้อง เช่น หากเราต้องการค้นหาไฟล์ PDF ที่เกี่ยวกับวัคซีนโควิด-19 เราก็พิมพ์ “filetype:PDF วัคซีนโควิด-19” ระบบก็จะแสดงไฟล์ PDF ที่เกี่ยวข้องกับวัคซีนโควิด-19 ขึ้นมา 

นำตัวกรองต่างๆ มาใช้ร่วมกัน เพื่อให้ผลการค้นหาแม่นยำขึ้น

เราสามารถนำตัวกรองต่างๆ ที่ระบุมาด้านบนมาใช้รวมกัน เพื่อเพิ่มความแม่นยำในการแสดงผลการค้นหามากขึ้น เช่น หากเราต้องการค้นหาประกาศราชกิจจาฯ ที่เกี่ยวข้องกับไวรัสโคโรนา รูปแบบไฟล์ PDF ที่ประกาศภายในช่วง 30 วันที่ผ่านมา เราก็สามารถพิมพ์ “site:ratchakitcha.soc.go.th filetype:PDF ไวรัสโคโรนา” ในช่องค้นหา จากนั้นก็ไปที่เมนู Tools (เครื่องมือ) ไปตรง Any Time แล้วปรับเป็นเวลา 30 วันที่ผ่านมาจาก Custom Range เราก็จะได้เอกสารราชกิจจาฯ ไฟล์ PDF ที่เกี่ยวข้องกับไวรัสโคโรนาในช่วง 30 วันที่ผ่านมาอย่างที่เราต้องการ

เราสามารถใช้วิธีนี้กับเว็บไซต์ หรือโดเมนอื่นๆ ที่เราต้องการ และปรับคำสั่งไปตามสิ่งที่เราต้องการค้นหา โดยประเภทของไฟล์ที่เรานิยมใช้มีหลากหลาย นอกจาก PDF เรายังสามารถค้นหาไฟล์ Power Point (PPT หรือ PPTX), Word (DOC หรือ DOCX) หรือแม้แต่ไฟล์รูปภาพ เช่น JPEG, GIF หรือ PNG นอกจากนี้คำสั่งการค้นหาขั้นสูงยังมีอีกมากมาย เราสามารถไปปรับแต่งการค้นหาขั้นสูงเพิ่มเติม ในเมนู Advance Searches ซึ่งอยู่บริเวณมุมด้านล่างขวาของหน้าแรกบนเว็บไซต์ Google.com หรือ Google.co.th ได้อีกด้วย


เกี่ยวกับผู้เขียน

ธนภณ เรามานะชัย (ไมค์) Fact-checker และ คอลัมนิสต์ประจำ Cofact Thailand

ปัจจุบันทำหน้าที่วิทยากรด้านการตรวจสอบข้อมูลข่าวและเครื่องมือดิจิทัลด้านข่าวให้กับ Google News Initiative ก่อนหน้านี้เขาเป็นผู้ประกาศข่าวเทคโนโลยีให้กับสถานีโทรทัศน์วอยซ์ทีวี (Voice TV) และอดีตกรรมการสมาคมผู้สื่อข่าวต่างประเทศประจำประเทศไทย (FCCT) https://www.damikemedia.com