‘ยาความดัน’ กินแล้วเสี่ยงมะเร็ง เชื่อได้จริงหรือ? COFACT Special Report 27-66
By : Zhang Taehun
“เกือบเสียแม่ เพราะไลน์กลุ่มสวัสดีวันจันทร์ ปกติแม่จะเป็นโรคความดัน ไขมัน อยู่แล้ว ต้องกินยาควบคุมประจำ อยู่มาวันหนึ่งมีไลน์กลุ่มเพื่อนๆ แม่ส่งข้อความต่อๆ กันมาว่า ถ้ากินยาลดความดัน ลดไขมันมากๆ จะเสี่ยงเป็นมะเร็ง หลังจากได้อ่านแม่ผมหยุดกินยาเองเลยโดยไม่ปรึกษาใครทั้งสิ้น เมื่อคืน 9 ธันวาคม 2566 เกิดอาการเจ็บหน้าอก หายใจไม่ออกถูกนำส่ง รพ วัดความดันได้เกือบ 250 และมีอาการหัวใจขาดเลือดกระทันหัน (ถ้าส่ง รพ ช้าไป มีสิทธิ์หัวใจล้มเหลวเสียชีวิตได้) ปัจจุบันต้องอยู่ในห้อง icu เพราะความดันยังไม่ลง อันตรายมาก”
เรื่องเล่าข้างต้นเป็น “อุทาหรณ์” จากผู้ใช้เฟซบุ๊กท่านหนึ่งที่มีคุณแม่ป่วยเป็นโรคความดันและไขมันต้องกินยาเป็นประจำ แต่อยู่ดีๆ ก็ไปเชื่อข้อความที่แชร์กันต่อมาในกลุ่มไลน์ “กินยาความดันมากๆ เสี่ยงป่วยเป็นมะเร็ง” แล้วก็หยุดกินยาเอง ส่งผลให้ความดันขึ้นสูงมากจนต้องถูกส่งเข้ารักษาตัวในโรงพยาบาล และนี่เป็นอีกครั้งที่ “การส่งต่อข้อมูลที่ไม่ถูกต้อง” ส่งผลกระทบต่อผู้คนในระดับถึงชีวิต
ก่อนอื่นมาทำความเข้าใจก่อนว่า “โรคความดันคืออะไร?” โรคความดัน หรือชื่อเต็มๆ คือ “โรคความดันโลหิตสูง (Hypertension)” ข้อมูลจาก กรมควบคุมโรค อธิบายว่า เป็นโรคที่ตรวจพบได้จากการวัดความดันโลหิต ได้ในระดับที่สูงกว่าปกติอย่างเรื้อรังอยู่เป็นเวลานาน โดยองค์การอนามัยโลก (WHO) กำหนดไว้ตั้งแต่ พ.ศ.2542 ว่า ผู้ใดก็ตามที่มีความดันโลหิตวัดได้มากกว่า 140/90มม.ปรอท ถือว่าเป็นโรคความดันโลหิตสูง
“ผู้ที่เป็นโรคความดันโลหิตสูงและไม่รักษาให้ถูกต้องจะเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดโรคต่างๆ เช่น โรคอัมพาตจากหลอดเลือดในสมองตีบ โรคหลอดเลือดในสมองแตก โรคหัวใจขาดเลือด โรคหัวใจวาย โรคไตวาย หลอดเลือดแดงใหญ่โป่งพอง เป็นต้น โรคความดันโลหิตสูงเป็นโรคที่พบได้บ่อย โดยปัจจุบันสำรวจพบว่าคนไทยประมาณร้อยละ 20 เป็นโรคความดันโลหิตสูง
คนส่วนใหญ่ที่มีความดันโลหิตสูงมักจะไม่รู้ตัวว่าเป็นโรค แม้เมื่อรู้ตัวว่าเป็น ส่วนมากจะไม่ได้รับการดูแลรักษา ส่วนหนึ่งอาจจะเนื่องจากไม่มีอาการทำให้คนส่วนใหญ่ไม่ได้ให้ความสนใจ เมื่อเริ่มมีอาการหรือภาวะแทรกซ้อนแล้วจึงจะเริ่มสนใจและรักษา ซึ่งบางครั้งก็อาจจะทำให้ผลการรักษาไม่ดีเท่าที่ควร การควบคุมความดันโลหิตให้ปกติอย่างสม่ำเสมอ สามารถลดโอกาสเกิดโรคอัมพฤกษ์ อัมพาต หรือโรคกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด ได้อย่างชัดเจน เป็นข้อเท็จจริงทางการแพทย์ที่ได้รับการพิสูจน์แล้วและเป็นที่ยอมรับกันทั่วโลก”
สำหรับความดันโลหิตสูง แบ่งระดับความรุนแรงของโรคไว้ดังนี้ “ระดับ 1” ความดันโลหิตสูงระยะเริ่มแรก ค่าความดันโลหิต ระหว่าง 140 – 159/90 – 99 มม.ปรอท , “ระดับ 2” ความดันโลหิตสูงระยะปานกลาง ค่าความดันโลหิต ระหว่าง 160 – 179/100 – 109 มม.ปรอท และ “ระดับ 3” ความดันโลหิตสูงระยะรุนแรง ค่าความดันโลหิต มากกว่า 180/110 มม.ปรอทขึ้นไป
ปัจจัยที่ทำให้เกิดโรคความดัน คือ อายุ –ช่วงเวลา –สุขภาพจิต – เพศ – พันธุกรรม – สิ่งแวดล้อม – เกลือ
“อายุ” ส่วนใหญ่เมื่ออายุมากขึ้น ความดันโลหิตจะสูงขึ้น “ช่วงเวลา “ หากวัดความดันหลายครั้งตลอดทั้งวัน อาจเห็นค่าความดันขึ้นๆ ลงๆ ก็ได้ “สุขภาพจิต” ความเครียดทำให้ความดันโลหิตสูงขึ้น ในทางกลับกันเมื่อพักผ่อนค่าความดันที่สูงนั้นก็ลดลงไปสู่เกณฑ์ปกติได้ “เพศ” พบผู้ชายเป็นโรคความดันโลหิตสูงได้บ่อยกว่าผู้หญิง
“พันธุกรรม” เด็กที่เกิดจากพ่อแม่ซึ่งเป็นโรคความดันโลหิตสูง เมื่ออายุมากขึ้นมีโอกาสเป็นโรคนี้ได้มากกว่าเด็กที่เกิดจากพ่อแม่ที่ไม่ป่วยเป็นโรคดังกล่าว นอกจากนี้ยังพบว่า ชาวอเมริกันเชื้อสายแอฟริกัน (ชาวอเมริกันผิวดำ) มีความดันโลหิตสูงมากกว่าชาวอเมริกันผิวขาว “สิ่งแวดล้อม” หากเอื้อให้เกิดภาวะเคร่งเครียด ก็เป็นปัจจัยทำให้เกิดโรคความดันโลหิตสูงขึ้นได้ ซึ่งก็พบว่า ผู้ที่อยู่ในสังคมเมืองจะพบภาวะความดันโลหิตสูงมากกว่าผู้ที่อยู่ในสังคมชนบท และ “เกลือ” ผู้ที่กินเกลือมากจะมีโอกาสเกิดโรคความดันโลหิตสูงมากกว่าผู้ที่กินเกลือน้อย
ผศ.นพ.ภาวิทย์ เพียรวิจิตร อาจารย์สาขาวิชาโรคหัวใจ ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล อธิบายไว้ในบทความ “รู้แล้วรอดโรค ความดันเลือดสูง ภัยเงียบที่ไม่ควรมองข้าม” ว่า แม้โรคความดันเลือดสูงจะเป็นโรคที่อันตราย แต่ก็เป็นโรคที่สามารถควบคุมได้ในระยะยาว หากได้รับการรักษาที่ทันท่วงที โดยเบื้องต้นจะรักษาด้วยวิธีการให้ยาลดความดันเลือด เพื่อรักษาระดับความดันให้อยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน นอกจากการรับประทานยาแล้ว ผู้ป่วยควรปรับเปลี่ยนพฤติกรรม เพื่อให้การรักษามีประสิทธิภาพมากขึ้น ดังนี้
“สิ่งที่ควรทำ” 1.หมั่นตรวจวัดความดันเลือดอย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง 2.รับประทานอาการให้ครบ 5หมู่ เน้นผักและผลไม้ชนิดที่ไม่หวาน 3.ควบคุมน้ำหนักตัวให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ 4.ออกกำลังเป็นประจำ5.พักผ่อนให้เพียงพอ และ 6.รักษาสุขภาพจิตให้ดีอยู่เสมอ ไม่เครียด
“สิ่งที่ไม่ควรทำ” 1.สูบบุหรี่ เพราะสารพิษในควันบุหรี่ ส่งผลให้เกิดการอักเสบ การตีบตันของหลอดเลือดต่าง ๆ รวมทั้งหลอดเลือดหัวใจ และหลอดเลือดไต 2.ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เพราะทำให้มีโอกาสเป็นโรคความดันเลือดสูงถึงร้อยละห้าสิบ3.กินอาหารที่มีรสเค็ม หรืออาหารที่มีโซเดียมมากเกินไป เช่น กะปิ นํ้าปลา ของหมักดอง 4.กินอาหารที่มีไขมันสูง เช่น เนื้อติดมัน หนังสัตว์ ไข่แดง หอยนางรม อาหารประเภทผัดหรือทอด และ 5.กินอาหารที่มีรสหวานหรือมีน้ำตาลสูง เช่น น้ำหวาน ขนมหวาน
ทั้งนี้ โดยทั่วไปแล้วผู้ที่มีความดันเลือดปกติจะวัดค่าความดันได้ 120/80 มิลลิเมตรปรอท แต่ผู้ที่มีความดันเลือดสูงจะวัดค่าความดันได้ตั้งแต่ 140/90 มิลลิเมตรปรอทขึ้นไป และถือว่าเป็นสภาวะที่ต้องได้รับการควบคุมตั้งแต่เนิ่นๆ เนื่องจากอาจนำมาซึ่งภาวะแทรกซ้อนและโรคต่างๆ มากมาย เช่น โรคหัวใจขาดเลือด โรคหัวใจล้มเหลว โรคหลอดเลือดในสมอง โรคไตเสื่อม เป็นต้น
มาถึงคำถามสำคัญของเรื่องราวนี้ “กินยาควบคุมความดันมากๆ เสี่ยงเป็นมะเร็งจริงหรือ?”รศ.นพ.วีระศักดิ์ จรัสชัยศรี อาจารย์แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านนิติเวชศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ (มศว) อธิบายเมื่อวันที่ 15 ธ.ค. 2566 ว่า “ยังไม่มีข้อมูลทางการแพทย์ใดที่สรุปชัดเจนว่า การทานยาลดความดันโลหิตสูงและยาลดไขมันมากๆ เป็นเวลานานๆ จะเสี่ยงเป็นมะเร็ง”มีแต่ข้อมูลที่เคยระบุว่า
1) ยาลดความดันโลหิตสูงที่เรียกว่า “เออบีซาแทน” (Irbesartan) ได้ถูกตรวจสอบและเฝ้าระวังเนื่องจากพบการปนเปื้อนสารที่อาจก่อมะเร็งเอแซดบีที (Azidomethyl biphenyl tetrazole; AZBT) ในวัตถุดิบที่ใช้ผลิตยา ซึ่งทั้งหมดได้ถูกเรียกคืนแล้ว ปัจจุบันจึงไม่มีข้อมูลเรื่องเสี่ยงเป็นมะเร็งอีก
2) นอกจากนี้ยังมีการศึกษาที่ชี้ว่าการกินยารักษาความดันโลหิตสูง กลุ่มแคลเซียมแชนแนลบล็อกเกอร์ (calcium channel blockers) ในระยะยาว อาจทำให้ผู้หญิงเป็นมะเร็งเต้านมได้ แม้การศึกษาแสดงให้เห็นถึงความสัมพันธ์ แต่ไม่ได้พิสูจน์ให้เห็นถึงความสัมพันธ์เชิงสาเหตุและผลลัพธ์ โดยเมื่อปี 2014 Intermountain Heart Institute ในประเทศสหรัฐอเมริกา เผยผลการศึกษาว่า ยากลุ่มแคลเซียมแชนแนลบล็อกเกอร์ไม่สัมพันธ์กับมะเร็งเต้านม
3) ยาลดไขมันในเลือดกลุ่มสแตติน (statins) ที่มีบทบาทสำคัญในการลดความเสี่ยงต่อภาวะหัวใจและสมองขาดเลือดในผู้ที่ดังกล่าวหรือผู้ที่มีภาวะแอลดีแอล-โคเลสเตอรอล (LDL-cholesterol) ในเลือดสูงมาก อย่างไรก็ตาม ยานี้มีผลไม่พึงประสงค์ต่อกล้ามเนื้อจนอาจทำให้ผู้ใช้ยาบางรายเกิดความกังวลหรือเลิกใช้ยา ยาในกลุ่มสแตตินอาจทำให้เกิดอาการผิดปกติเกี่ยวกับกล้ามเนื้อได้ แต่ยังไม่มีข้อมูลที่ชัดเจนเกี่ยวกับการที่ยาลดไขมันจะทำให้เกิดมะเร็ง
“สรุปการทานยาลดความดันโลหิตสูงและยาลดไขมัน มากๆ เป็นเวลานานๆ จะเสี่ยงเป็นมะเร็ง หรือไม่ เป็นเรื่องที่ยังไม่มีข้อเท็จจริงทางการแพทย์รองรับ แต่ที่ชัดเจนคือการหยุดยาลดความดันโลหิตสูงและยาลดไขมันด้วยตนเอง มีความเสี่ยงต่อการเกิดภาวะแทรกซ้อนที่รุนแรงได้ ดังนั้นจึงควรปรึกษาแพทย์ทุกครั้งเมื่อมีข้อสงสัยหรือมีอาการไม่พึงประสงค์ ก่อนที่จะหยุดทานยา นะครับ ” รศ.นพ.วีระศักดิ์ กล่าว
อนึ่ง ผู้เขียนสันนิษฐาน (ย้ำว่าเป็นเพียงข้อสันนิษฐานโดยส่วนตัว) ว่าการโพสต์และแชร์ข้อมูลเรื่องหากกินยาลดความดัน ลดไขมันมากๆ แล้วจะเสี่ยงเป็นมะเร็ง อาจมาจากข่าวที่ “สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ตรวจสอบและเรียกเก็บคืนยาความดันที่พบการปนเปื้อนสารก่อมะเร็ง”อยู่เป็นระยะๆ เช่น ในเดือน ก.ค. 2561 มีการเรียกเก็บคืนยา “วาลซาร์แทน (Valsartan)” จำนวน 5 ตำรับ ซึ่งสืบเนื่องจากบริษัทผู้ผลิตยาในยุโรปมีการตรวจสอบพบว่า มีสารก่อมะเร็งในหนูทดลอง จึงได้ประกาศเก็บยาดังกล่าวออกจากท้องตลาด และแจ้งเตือนไปยังเครือข่าย อย.ทั่วโลก อย.ไทยก็ได้รับแจ้งและดำเนินการสั่งเก็บออกจากท้องตลาด
อย่างไรก็ตาม นพ.สุรโชค ต่างวิวัฒน์ รองเลขาธิการ อย. (ในขณะนั้น) ก็ให้คำแนะนำสำหรับผู้ป่วยที่ใช้ยาดังกล่าวอยู่ 1.ไปเปลี่ยนยา ณ โรงพยาบาล คลินิก หรือสถานพยาบาลที่ได้รับการจ่ายยา “2.หากยังไม่สามารถไปเปลี่ยนยาได้ในระยะนี้ ขออย่าได้หยุดการใช้ยา เนื่องจากผลิตภัณฑ์ยาวาลซาร์แทน (กลุ่ม Angiotensin II Receptor Blocker: ARB) เป็นยารักษาโรคความดันโลหิตสูง ซึ่งเป็นโรคเรื้อรังที่มีความจำเป็นต้องใช้ยาอย่างต่อเนื่อง”ซึ่งสารปนเปื้อนที่พบในผลิตภัณฑ์ยาดังกล่าว จากการศึกษาข้อมูลความปลอดภัยย้อนหลัง ยังไม่พบว่าผู้ป่วยมีประเด็นการเกิดมะเร็งจากยานี้ที่ใช้วัตถุดิบจากจีน
3.ผู้ป่วยที่เคยได้รับผลิตภัณฑ์ยาวาลซาร์แทนในการรักษามาอย่างต่อเนื่อง ไม่จำเป็นต้องเปลี่ยนไปใช้ยารักษาโรคความดันโลหิตสูงตัวอื่น โดยยังคงสามารถใช้ผลิตภัณฑ์ยาวาลซาร์แทน เลขทะเบียนตำรับอื่นที่ไม่มีการปนเปื้อนได้ และ 4.สามารถใช้ยารักษาโรคความดันโลหิตสูง และโรคหัวใจ ในยายี่ห้ออื่นที่ไม่ใช่ใน 5 ตำรับดังกล่าว ทั้งนี้ ในช่วงเวลาดังกล่าว มีบริษัทผู้รับอนุญาตผลิตหรือสั่งยาวาลซาร์แทนเข้ามาในประเทศไทย จำนวน 7 บริษัท และมีทะเบียนตำรับยาที่ได้รับอนุญาตให้จำหน่าย จำนวนทั้งสิ้น 16 ชื่อการค้า ซึ่งจากการตรวจสอบพบว่า มีบริษัทผู้รับอนุญาตที่ใช้วัตถุดิบจากบริษัทในปรแทศจีน เพียง 2 ราย รวมเลขทะเบียนตำรับยาของทั้ง 2 รายนี้คือ 5 ตำรับ
มีข่าวการตรวจสอบเกิดขึ้นอีกครั้งในเดือน ต.ค. 2566 คราวนี้ อย. เรียกเก็บคืนยา “เออบีซาแทน(Irbesartan)” ที่ใช้สำหรับรักษาโรคความดันโลหิตสูง ใน 42 รุ่นการผลิต เนื่องจากพบว่ามีวัตถุดิบปนเปื้อนสารที่อาจก่อมะเร็ง “เอแซดบีที(Azidomethyl biphenyl tetrazole; AZBT)” ในวัตถุดิบที่ใช้ผลิตยาเกินเกณฑ์สากลที่ยอมรับได้อย่างไรก็ตาม นายแพทย์ณรงค์ อภิกุลวณิชเลขาธิการ อย. (ขณะนั้นยังเป็นรักษาราชการแทน) ได้แนะนำว่า “สำหรับผู้ป่วยที่ใช้ยาเออบีซาแทนอยู่ไม่ควรหยุดยาทันที เนื่องจากยารักษาโรคความดันโลหิตสูงเป็นยาที่จำเป็นต้องใช้อย่างต่อเนื่อง” และขอให้ตรวจสอบยาที่ใช้อยู่ หากพบว่าเป็นรุ่นการผลิตที่เรียกเก็บคืน ควรปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกร และขอเน้นย้ำว่าผู้ป่วยยังคงสามารถใช้ผลิตภัณฑ์ยาเออบีซาแทนยี่ห้อเดิมในรุ่นการผลิตอื่นที่ไม่มีการปนเปื้อนได้
ขณะที่ พญ.มิ่งขวัญ สุพรรณพงศ์ ผู้อำนวยการองค์การเภสัชกรรม ในฐานะหนึ่งในผู้ผลิตยาที่ถูกตรวจพบสารดังกล่าว ชี้แจงว่า ปัญหาอยู่ที่วัตถุดิบที่นำมาทำเป็นยา น่าจะมีการซื้อรวมจากบริษัทเดียวกัน เป็นสารกลุ่มไนโตซามีน เดิมจะไม่มีตัว AZBT อยู่ในรายการที่ต้องเฝ้าระวัง แต่ทาง อย.เฝ้าระวังความปลอดภัยในการใช้ยาอยู่ตลอดและทราบว่ามีปัญหานี้เกิดขึ้นในต่างประเทศ จึงได้เพิ่มการตรวจสอบสาร AZBT เพิ่มเติมในประเทศไทย และพบว่าน่าจะมีในบางลอตการผลิต โดยวัตถุดิบที่นำมาทำยานั้น เป็นการนำเข้ามาจากจีนและอินเดีย
ซึ่งจะเห็นว่า “คำแนะนำจาก อย. ทั้ง 2 ครั้ง” เน้นย้ำว่า “แม้จะมีคำสั่งเรียกเก็บยาที่เสี่ยงอันตราย แต่หากผู้ป่วยกำลังใช้ยานั้นอยู่ก็ใช้ไปก่อน อย่าเพิ่งหยุดยาในทันที แล้วค่อยรีบนำยานั้นไปขอเปลี่ยนที่โรงพยาบาล เพราะโรคความดันโลหิตสูงเป็นโรคที่ต้องกินยาต่อเนื่อง” แต่ผ็เขียนขอสันนิษฐานว่า ผู้ที่เผยแพร่รวมถึงแชร์ต่อข้อมูลดังกล่าว อาจทำไปด้วยความกลัว ไม่ว่าจะด้วยการอ่านเฉพาะแต่พาดหัวข่าวแล้วรีบแชร์ หรือแม้แต่อ่านเนื้อข่าวแล้วก็ยังรู้สึกไม่เชื่อในคำแนะนำของแพทย์ก็ตาม
และพอยิ่งถูกแชร์กันใน “กลุ่มไลน์” ซึ่งมีลักษณะพิเศษคือ 1.คนในกลุ่มมักรู้จักคุ้นเคยกัน เช่น เป็นเพื่อนบ้าน ญาติพี่น้อง เพื่อนร่วมงาน ฯลฯ ก็ทำให้เชื่อโดยง่ายเพราะเห็นว่าเป็นคนรู้จักไม่ใช่คนอื่นไกล กับ 2.เป็นกลุ่มปิด ทำให้ตรวจสอบได้ยาก ยิ่งบวกกับคนในกลุ่มรู้จักกัน ทำให้บางคนแม้รู้ความจริงแล้วก็ไม่อยากหักหน้าคนที่เผยแพร่เพราะห่วงเรื่องสัมพันธภาพในกลุ่มก็อาจปล่อยเลยตามเลย ช้อมูลลวงจึงไม่ถูกหักล้างและยังแชร์กันต่อไป
-/-/-/-/-/-/-/-/-/-/-
อ้างอิง
https://ddc.moph.go.th/disease_detail.php?d=52(โรคความดันโลหิตสูง (Hypertention) : กรมควบคุมโรค)
https://www.rama.mahidol.ac.th/ramachannel/article/โรคความดันเลือดสูง/ (รู้แล้วรอดโรค ความดันเลือดสูง ภัยเงียบที่ไม่ควรมองข้าม : คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล)
https://mgronline.com/onlinesection/detail/9660000112455 (“หมอหมู” ยันยังไม่มีข้อเท็จจริงทางการแพทย์ กรณีคนไข้กินยาลดความดัน-ลดไขมัน เป็นเวลานานแล้วเสี่ยงมะเร็ง : ผู้จัดการ 15 ธ.ค. 2566)
https://www.facebook.com/photo.php?fbid=867252395403182&set=a.471900284938397&type=3&ref=embed_post (กินยาลดความดัน ลดไขมัน มากๆ นานๆ เสี่ยงเป็นมะเร็ง? : เพจเฟซบุ๊ก หมอหมู วีระศักดิ์)
https://workpointtoday.com/อย-เตือน-5-ยาความดันอันต/ (อย.เตือน “5 ยาความดันอันตราย” ปนเปื้อนสารก่อมะเร็ง เปลี่ยนคืน รพ.ได้ตามสิทธิ : Workpoint Today 16 ก.ค. 2561)
https://www.thansettakij.com/health/579213 (เช็คชื่อ “ยาลดความดัน” เสี่ยงก่อมะเร็ง 42 รุ่น อย.เรียกเก็บ : ฐานเศรษฐกิจ 23 ต.ค. 2566)
https://www.thairath.co.th/news/local/2734677(อย.ขอคืนยาความดัน ปนเปื้อนสารมะเร็ง 8 พันกล่อง ในท้องตลาด-คลินิก-โรงพยาบาล : ไทยรัฐ 22 ต.ค. 2566)
https://blog.cofact.org/cofact-press-may-27-21/(งานวิจัยพบ‘ข่าวลวง’เสี่ยงระบาดหนักใน‘กลุ่มปิด’ แนะแพลตฟอร์มหาวิธีแก้ไข-สร้างอาสาฯร่วมตรวจสอบ : Cofact 27 พ.ค. 2564)