ชำแหละข่าวลวงวนซ้ำเรื่อง “บำเหน็จบำนาญ สส.” ตัวเลข (เท็จ) นี้มีที่มา

เป็นเวลาเกือบหนึ่งปีแล้วที่ข่าวลวงว่าด้วยสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (สส.) ได้รับเงินบำนาญหลักหมื่นถึงหลายหมื่นบาท ถูกเผยแพร่ในโซเชียลมีเดียและส่งต่อกันในแอปพลิเคชันไลน์ แม้หลายหน่วยงาน รวมทั้งศูนย์ต่อต้านข่าวปลอมของรัฐบาลจะออกมาชี้แจงหลายครั้งว่าเป็นข้อมูลเท็จ แต่ดูเหมือนข้อมูลนี้จะกลายเป็นอีกหนึ่งข่าวลวงวนซ้ำที่ฆ่าไม่ตาย

ข้อมูลเท็จเรื่อง สส. ได้รับเงินบำนาญ กลับมาอีกระลอกระหว่างการประชุมรัฐสภาเพื่ออภิปรายนโยบายรัฐบาล “เศรษฐา 1” เมื่อวันที่ 11-12 ก.ย. 2566 ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่ประชาชนกำลังให้ความสนใจติดตามการทำหน้าที่ของ สส.

“สภาช่วยยกเลิกกฎหมายบำนาญ สส. ด้วย” ส่วนหนึ่งของข้อความระบุ “ข้าราชการต้องมีอายุราชการนาน 25 ปี ถึงมีสิทธิ์ได้รับบำนาญ แต่ สส.สุมหัวกันออกกฎหมายให้สิทธิ์ สส. ให้ได้รับเงินบำนาญ ตามระยะเวลาการเป็น สส.” 

ข้อมูลเท็จชิ้นนี้ให้รายละเอียดเกี่ยวกับจำนวนเงินบำนาญที่ สส. จะได้รับซึ่งจะเพิ่มขึ้นตามระยะเวลาการดำรงตำแหน่ง คือ เป็น สส. 2 ปี รับบำนาญ 22,712 บาท, 3 ปี 34,068 บาท, 7 ปี 45,424 บาท, 11 ปี 58,280 บาท, 15 ปี 68,136 บาท และเป็น สส. 20 ปี รับบำนาญ 79,492 บาท

“ผมรับราชการนาน 33 ปี มีสิทธิ์ได้รับบำนาญ 15,000 บาท มันยุติธรรม กันดีอยู่หรือ…” เจ้าของข้อความซึ่งใช้ชื่อว่า “พัน มโนเทพ” ระบุ ลงวันที่ 15 ก.พ. 2566

ศูนย์ต่อต้านข่าวปลอมฯ ชี้แจงแล้วไม่ต่ำกว่า 4 ครั้ง

ศูนย์ต่อต้านข่าวปลอมประเทศไทย ภายใต้กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม โพสต์เฟซบุ๊กชี้แจงข้อมูลเท็จเรื่องบำนาญ สส. ไม่ต่ำกว่า 4 ครั้ง ครั้งแรกโพสต์เมื่อวันที่ 11 ธ.ค. 2565 ระบุว่า “ตามที่มีการส่งต่อข้อมูลในสื่อสังคมออนไลน์ต่าง ๆ ประเด็นเรื่อง สส. ที่มีอายุงาน 4 ปี มีสิทธิได้รับเงินบำนาญตลอดชีพ ทางศูนย์ต่อต้านข่าวปลอมได้ตรวจสอบข้อเท็จจริงโดยกรมบัญชีกลาง กระทรวงการคลัง พบว่าข้อมูลดังกล่าวนั้น เป็นข้อมูลเท็จ”

สำหรับข้อความที่เขียนโดยผู้ที่ใช้ชื่อว่า “มโน พันเทพ” ที่ระบุจำนวนเงินบำนาญนั้น ทางศูนย์ต่อต้านข่าวปลอมฯ ชี้แจงเมื่อวันที่ 2 มี.ค. , 2 เม.ย. และ 19 ก.ค. 2566 อ้างอิงการตรวจสอบข้อเท็จจริงโดยกรมบัญชีกลาง กระทรวงการคลัง สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร และสำนักงานเลขาธิการวุฒิสภา สรุปประเด็นสำคัญได้ดังนี้

  • สส. หรือ สว. ไม่มีสิทธิได้รับบำเหน็จหรือบำนาญ ยกเว้น 2 กรณี คือ 1) กรณีที่ สส. หรือ สว. ผู้นั้นเคยเป็นข้าราชการและได้รับบำนาญมาแต่เดิมก่อนมาเป็น สส. หรือ สว. และ 2) กรณีที่ สส. หรือ สว. นั้นเป็นข้าราชการการเมือง  

ตามพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการการเมือง พ.ศ. 2535 มาตรา 4 ข้าราชการการเมือง ได้แก่ บุคคลซึ่งรับราชการในตําแหน่งข้าราชการการเมือง ดังต่อไปนี้ นายกรัฐมนตรี, รองนายกรัฐมนตรี, รัฐมนตรีว่าการกระทรวง, รัฐมนตรีประจําสํานักนายกรัฐมนตรี, รัฐมนตรีว่าการทบวง, รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวง, รัฐมนตรีช่วยว่าการทบวง, ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี, ที่ปรึกษารองนายกรัฐมนตรี, ที่ปรึกษารัฐมนตรี และที่ปรึกษารัฐมนตรีประจําสํานักนายกรัฐมนตรี, เลขาธิการนายกรัฐมนตรี, รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง, โฆษกประจําสํานักนายกรัฐมนตรี, รองโฆษกประจําสํานักนายกรัฐมนตรี, เลขานุการรัฐมนตรีประจําสํานักนายกรัฐมนตรี, ประจําสํานักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี, เลขานุการรัฐมนตรี, และผู้ช่วยเลขานุการรัฐมนตรี

  • สำหรับ สส. หรือ สว. ที่ได้รับแต่งตั้งให้เป็นข้าราชการการเมือง เมื่อพ้นจากตำแหน่ง สามารถรับบำเหน็จบำนาญได้แต่ต้องเป็นไปตามเงื่อนไขและสูตรการคำนวณตามพระราชบัญญัติบำเหน็จบำนาญข้าราชการ

ตัวเลขบำเหน็จบำนาญ (เท็จ) มาจากไหน?

หากไม่นับความกระตือรือร้นในการตรวจสอบนักการเมืองที่ทำให้ข้อมูลเท็จนี้ “โดนใจ” ใครหลายคนที่พร้อมจะส่งต่อโดยไม่ตรวจสอบความถูกต้อง สาเหตุหนึ่งที่ทำให้ข้อความนี้ดูน่าเชื่อถืออาจอยู่ที่การให้ข้อมูลเชิงตัวเลขที่ละเอียด เพิ่มจำนวนเป็นขั้นบันไดตามระยะเวลาการเป็น สส.

คำถามก็คือตัวเลขนี้มาจากไหน? โคแฟคตรวจสอบพบว่า ข้อมูลเท็จนี้ประกอบสร้างขึ้นจากข้อมูล 2 เรื่อง

1) ร่างพระราชกฤษฎีกาบำเหน็จบำนาญสมาชิกรัฐสภาที่เสนอในสมัยรัฐบาลทักษิณ ชินวัตร

ในสมัยรัฐบาลทักษิณ ชินวัตร ได้มีการยกร่างได้ยกร่างพระราชกฤษฎีกา (พ.ร.ฎ.) บำเหน็จบำนาญ หรือผลประโยชน์ตอบแทนอย่างอื่นของประธาน และรองประธานวุฒิสภา ผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร และสมาชิกรัฐสภา พ.ศ. …. มีสาระสำคัญคือกำหนดให้ สส. และ สว. มีสิทธิได้รับบำเหน็จบำนาญเมื่อสิ้นสุดสมาชิกภาพ โดยคณะรัฐมนตรีมีมติเมื่อวันที่ 23 พ.ย. 2547 เห็นชอบสูตรการคำนวณเงินบำเหน็จบำนาญให้ สส. แล สว. ที่สิ้นสุดสมาชิกภาพหรือพ้นจากตำแหน่ง ดังนี้ 

  • ดำรงตำแหน่ง 2-3 ปี       มีบำเหน็จหรือบำนาญ 20% ของเงินประจำตำแหน่งเดือนสุดท้าย
  • ดำรงตำแหน่ง 3-7 ปี       มีบำเหน็จหรือบำนาญ 30% ของเงินประจำตำแหน่งเดือนสุดท้าย
  • ดำรงตำแหน่ง 7-11 ปี     มีบำเหน็จหรือบำนาญ 40% ของเงินประจำตำแหน่งเดือนสุดท้าย
  • ดำรงตำแหน่ง 11-15 ปี   มีบำเหน็จหรือบำนาญ 50% ของเงินประจำตำแหน่งเดือนสุดท้าย    
  • ดำรงตำแหน่ง 15-20 ปี   มีบำเหน็จหรือบำนาญ 60% ของเงินประจำตำแหน่งเดือนสุดท้าย      
  • ดำรงตำแหน่ง 20 ปีขึ้นไป มีบำเหน็จหรือบำนาญ 70% ของเงินประจำตำแหน่งเดือนสุดท้าย          

ต่อมาในปี 2548 สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาได้พิจารณาร่าง พ.ร.ฎ. ฉบับนี้แล้วเสร็จและเผยแพร่ต่อสาธารณะ ซึ่งยังคงสามารถเข้าถึงได้ ที่นี่ ร่างกฎหมายนี้ถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวางในขณะนั้น และสุดท้ายก็ไม่ได้ไปต่อ

2) ข้อมูลเงินเดือนและเงินประจำตำแหน่งของ สส.

หลังการเลือกตั้ง 14 พ.ค. 2566 ไอลอว์ได้เผยแพร่บทความเรื่อง “เปิดค่าตอบแทน สส.ผู้ทรงเกียรติ เงินเดือนหลักแสน ผู้ช่วยพร้อม สวัสดิการครบ” ให้ข้อมูลเกี่ยวกับเงินเดือนและเงินประจำตำแหน่งของ สส. ที่อ้างอิงจาก พระราชกฤษฎีกาเงินประจำตำแหน่งและประโยชน์ตอบแทนอย่างอื่นของประธานและรองประธานสภาผู้แทนราษฎร ประธานและรองประธานวุฒิสภา ผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร สมาชิกวุฒิสภา และกรรมาธิการ พ.ศ. ๒๕๕๕ ซึ่งกำหนดว่า สส. ได้เงินประจำตำแหน่ง 71,230 บาท/เดือน และเงินเพิ่มสำหรับตำแหน่ง สส. 42,330 บาท/เดือน รวมเป็น 113,560 บาท/เดือน

เมื่อนำสูตรการคำนวณบำเหน็จบำนาญที่ระบุในร่าง พ.ร.ฎ. บำเหน็จบำนาญ หรือผลประโยชน์ตอบแทนอย่างอื่นของ สส.ฯ ที่ยกร่างสมัยรัฐบาลทักษิณและตกไปแล้ว มาคำนวณกับรายรับต่อเดือนของ สส. ปัจจุบัน คือ 113,560 บาท/เดือน โคแฟคพบว่าได้ตัวเลขที่ตรงกับข้อมูลเท็จเงินบำนาญ สส. ที่เขียนโดย “มโน พันเทพ” เกือบทั้งหมด ดังนี้

สรุปได้ว่า ข้อมูลเท็จว่าด้วยเงินบำนาญ สส.-สว. นี้ น่าจะเกิดจากเอาข้อมูล 2 ส่วนมาเชื่อมโยงและคำนวณแบบผิด ๆ รวมทั้งให้ข้อมูลที่สร้างความเข้าใจผิดว่า กฎหมายบำเหน็จบำนาญสมาชิกรัฐสภานั้นมีผลบังคับใช้แล้ว

บทเรียนจากข่าวลวง

ข่าวเท็จเรื่องบำเหน็จบำนาญ สส. เป็นกรณีศึกษาที่น่าสนใจในหลายประเด็น

  1. ข่าวลวงหรือข้อมูลเท็จมักมีส่วนผสมของความจริงหรือข้อมูลที่เป็นจริงบางส่วน ทำให้ดูน่าเชื่อถือและคนคิดว่าเป็นข้อมูลจริงจึงเผยแพร่ต่อ ข้อมูลเท็จเรื่องบำเหน็จบำนาญ สส. นี้มีส่วนประกอบของเนื้อหาจากร่าง พ.ร.ฎ. บำเหน็จบำนาญ สส.-สว. ที่ยกร่างขึ้นในสมัยรัฐบาลทักษิณ และข้อเท็จจริงเกี่ยวกับเงินประจำตำแหน่งของสมาชิกรัฐสภา จึงอาจทำให้ผู้ที่ได้รับข่าวลวงนี้เชื่อว่าเป็นข้อมูลจริง
  2. ข่าวลวงบางชิ้น แม้จะมีการชี้แจงหรือหักล้างจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องแล้ว แต่ก็ยังกลับมาวนซ้ำ  โดยผู้เผยแพร่จงใจอาศัยช่วงจังหวะเวลาที่ผู้คนจะสนใจในเรื่องนั้น ๆ เช่น ข่าวลวงชิ้นนี้กลับมาแพร่หลายอีกระลอกในช่วงที่ สส. และ สว. ทำหน้าที่อภิปรายในการประชุมรัฐสภาเพื่ออภิปรายนโยบายรัฐบาลนายเศรษฐา ทวีสิน เมื่อวันที่ 11-12 ก.ย. 2566 ดังนั้นการประเมินสถานการณ์ล่วงหน้าเพื่อช่วงชิงให้ข้อมูลข้อเท็จจริงในบางเรื่องก่อนหรือที่เรียกว่า pre-bunking จึงมีความสำคัญ
  3. บางครั้ง การชี้แจงหรือหักล้างข้อเท็จจริงด้วยการปฏิเสธและให้ข้อมูลที่ถูกต้องอาจไม่เพียงพอ แต่ควรมีการวิเคราะห์อย่างละเอียดเพื่อชี้ให้เห็นอย่างชัดแจ้งว่าข้อมูล/ข่าวลวง/ความเท็จนั้นถูกประกอบสร้างขึ้นมาอย่างไร

เรื่องแนะนำ