ฮามาสบิดเบือน ยอดผู้เสียชีวิต ในกาซา ดังที่สหรัฐกล่าวหาจริงหรือไม่? Cofact Special Report 21/66
ธีรนัย จารุวัสตร์ สมาชิกเครือข่าย Cofact Thailand
รายงานยอดผู้เสียชีวิตจากการโจมตีของกองทัพอิสราเอลใน “ฉนวนกาซา” ถูกวิจารณ์จากรัฐบาลสหรัฐอเมริกาว่า “ไม่น่าเชื่อถือ” เพราะเป็นสถิติที่กลุ่มฮามาสจะปั้นอย่างไรก็ได้ ทำให้สื่อมวลชนถูกตั้งคำถามตามมาด้วยว่า ทราบได้อย่างไรว่าตัวเลขผู้เสียชีวิตกาซาเชื่อถือได้จริง?
เชื่อว่าใครที่ตามข่าว “ศึกกาซา” รอบล่าสุดระหว่างอิสราเอลกับกลุ่มฮามาส ซึ่งปะทุขึ้นตั้งแต่วันที่ 7 ตุลาคมที่ผ่านมา คงทราบว่ายอดผู้เสียชีวิตทั้งในอิสราเอลและฉนวนกาซาพุ่งสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง
รายงานข่าวระบุว่าประชาชนในอิสราเอลถูกสังหารจากเหตุโจมตีของฮามาสในอิสราเอลกว่า 1,400 ราย อีก 200 กว่าคนถูกจับเป็นตัวประกัน ขณะที่ชาวปาเลสไตน์ในฉนวนกาซาที่ถูกปิดล้อมจากกองทัพอิสราเอลเสียชีวิตแล้วไม่ต่ำกว่า 7,800 ราย (ข้อมูล ณ วันที่ 29 ตุลาคม)
นับว่าเป็นยอดความสูญเสียที่แซงหน้าการสู้รบระหว่างอิสราเอลกับฮามาสครั้งก่อนๆ อย่างสิ้นเชิง โดยเฉพาะในฉนวนกาซา ซึ่งขณะที่เขียนบทความนี้อยู่ยังถูกตัดขาดจากโลกภายนอก อาหาร-ยา-เชื้อเพลิงขาดแคลนอย่างหนัก ท่ามกลางปฏิบัติการทิ้งระเบิดปูพรมโดยกองทัพอิสราเอลที่คร่าชีวิตพลเรือนจำนวนมาก ทำให้องค์กรด้านสิทธิมนุษยชนจำนวนมากทั่วโลกเรียกร้องให้อิสราเอลประกาศ “หยุดยิง” เพื่อหลักมนุษยธรรมโดยด่วน
อย่างไรก็ตาม รัฐบาลสหรัฐอเมริกา พันธมิตรและผู้สนับสนุนยุทโธปกรณ์รายใหญ่ของอิสราเอล ยังยืนกรานว่าอิสราเอลมีสิทธิ์ในการ “ป้องกันตัวเอง” และดำเนินปฏิบัติการทางทหารต่อไปตามที่เห็นสมควรเพื่อปราบปรามกลุ่มฮามาส นอกจากนี้ ประธานาธิบดี “โจ ไบเดน” ยังตั้งคำถามกับรายงานผู้เสียชีวิตชาวปาเลสไตน์ที่เผยแพร่ในสื่อมวลชนขณะนี้ด้วย
“ผมไม่คิดว่าชาวปาเลสไตน์กำลังพูดความจริงว่ามีผู้เสียชีวิตกี่คนกันแน่” ประธานาธิบดีไบเดนกล่าวเมื่อวันที่ 25 ตุลาคม “ผมเชื่อว่ามีผู้บริสุทธิ์เสียชีวิตแน่นอน และนั่นคือราคาของการทำสงคราม … แต่ผมไม่มีความเชื่อมั่นในตัวเลข [ผู้เสียชีวิต] ที่ชาวปาเลสไตน์รายงานอยู่ตอนนี้”
วันต่อมา “จอห์น เคอร์บี” เจ้าหน้าที่ระดับสูงของทำเนียบขาวก็ย้ำความเห็นในลักษณะเดียวกัน โดยระบุว่ายอดผู้เสียชีวิตที่ทางการกาซารายงาน อาจจะไม่สามารถเชื่อถือได้ทั้งหมด แถมยังกล่าวสำทับด้วยว่า “กระทรวงสาธารณสุขกาซาเป็นเพียงฉากหน้าหนึ่งของกลุ่มฮามาสเท่านั้น”
หลังจากผู้นำสหรัฐมีวาทะเช่นนี้ออกมา ทำให้ฝ่ายอนุรักษนิยมและผู้สนับสนุนรัฐบาลอิสราเอลในโซเชียลมีเดียนำไปขยายความต่ออย่างกว้างขวาง บ้างก็กล่าวว่ายอดผู้เสียชีวิตในกาซาขณะนี้เป็น “โฆษณาชวนเชื่อ” ของกลุ่มฮามาส บ้างก็ตั้งคำถามกระทบชิ่งกับสื่อมวลชนด้วยว่า ทำไมจึงยังเอาข้อมูลที่ไม่น่าเชื่อถือเช่นนี้มารายงาน?
เราลองมาดูกันว่าการเปิดประเด็นครั้งนี้ของประธานาธิบดีสหรัฐ มีมูลมากน้อยเพียงใด
สธ. ในกาซาเป็น ‘หุ่นเชิด’ ฮามาสจริงหรือ?
สกู๊ปของ AP อธิบายว่า ถึงแม้กลุ่มฮามาสจะเป็นแกนหลักของการบริหารราชการภายในฉนวนกาซาหลังก้าวขึ้นสู่อำนาจในปี 2006 แต่ “กระทรวงสาธารณสุข” ของฉนวนกาซาไม่ได้ควบคุมโดยฮามาสอย่างเบ็ดเสร็จตามที่หลายคนอาจจะเข้าใจ
ตามความจริงแล้ว หน่วยงานดังกล่าวอยู่ภายใต้ “อริ” ทางการเมืองของกลุ่มฮามาสด้วยซ้ำ นั่นคือรัฐบาลปาเลสไตน์ (Palestinian Authority) โดยรัฐบาลปาเลสไตน์เป็นผู้บริหารจัดการกระทรวงสาธารณสุขของปาเลสไตน์ ทั้งในเขตเวสต์แบงก์และในฉนวนกาซา ไม่ว่าจะเป็นการจ่ายเงินเดือนข้าราชการ การแจกจ่ายเวชภัณฑ์ให้แก่เจ้าหน้าที่ในกาซา การถ่ายโอนผู้ป่วยจากกาซามารักษาในเขตเวสแบงก์ และรวบรวมข้อมูลผู้เสียชีวิตจากเหตุสู้รบในกาซา
นอกจากนี้ ข้าราชการของกระทรวงสาธารณสุขในกาซา ก็มีทั้งคนจากกลุ่มฮามาส และเจ้าหน้าที่ของกลุ่มฟาตาห์ ซึ่งเคยปกครองกาซาก่อนที่จะแตกหักกับฮามาสในปี 2006 แต่ยังคงปฏิบัติหน้าที่ต่อในกระทรวง ขณะที่บางส่วนก็ไม่ได้ขึ้นตรงกับฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง
AP ตั้งข้อสังเกตด้วยว่า ถึงแม้กลุ่มฮามาสได้ควบคุมการเข้าถึงข้อมูลข่าวสารต่างๆ ในกาซาอย่างเคร่งครัด แต่เจ้าหน้าที่สาธารณสุขในกาซาให้สัมภาษณ์ยืนยันว่า กลุ่มฮามาสไม่ได้เข้ามาก้าวก่ายหรือชี้นำการบันทึกสถิติผู้เสียชีวิตในกาซาแต่อย่างใด
ทางการกาซามีวิธีบันทึก ยอดผู้เสียชีวิต อย่างไร?
เมื่อเกิดเหตุสู้รบและมีผู้เสียชีวิตหรือบาดเจ็บส่งมายังโรงพยาบาลแต่ละแห่งในกาซา เจ้าหน้าที่โรงพยาบาลจะเป็นผู้บันทึกข้อมูล ระบุถึงชื่อ เลขประจำตัวประชาชน วันที่เข้าโรงพยาบาล ลักษณะบาดแผล และอาการล่าสุดของผู้ป่วย ก่อนที่จะส่งให้กับโฆษกกระทรวงสาธารณสุขกาซา โดยกระทรวงจะรวบรวมข้อมูลเพิ่มเติมจากหน่วยงานด้านการแพทย์อื่นๆด้วย เช่น สภาเสี้ยววงเดือนแดง (ซึ่งก็คือ “กาชาด” นั่นเอง)
แน่นอนว่าการรวบรวมข้อมูลในสถานการณ์ปัจจุบันเป็นไปอย่างยากลำบาก เนื่องจากฉนวนกาซาถูกกองทัพอากาศอิสราเอลทิ้งระเบิดใส่อย่างไม่หยุดยั้ง บางครั้งเจ้าหน้าที่โรงพยาบาลก็นับจำนวนผู้บาดเจ็บและศพผู้เสียชีวิตไม่ทัน สัญญาณโทรศัพท์มือถือมักจะถูกตัดขาดบ่อยๆ ทำให้ติดตามตัวผู้สูญหายเพื่อยืนยันสถานะได้ล่าช้า และยังไม่นับผู้บาดเจ็บหรือผู้เสียชีวิตที่ติดอยู่ภายใต้ซากอาคารจำนวนมาก ซึ่งเจ้าหน้าที่สาธารณสุขเข้าไม่ถึง
กระทรวงสาธารณสุขกาซาเผยแพร่อัพเดตข้อมูลผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตรายชั่วโมง โดยแบ่งเป็นจำนวนผู้บาดเจ็บหรือเสียชีวิต เพศชาย เพศหญิง และเด็ก ขณะที่รายละเอียดอื่นๆ เช่น ชื่อ อายุ และสถานที่ที่เสียชีวิต มักจะเผยแพร่ต่อสื่อมวลชนโดยกองประชาสัมพันธ์ของกลุ่มฮามาส
อย่างไรก็ตาม หลังจากที่ประธานาธิบไบเดนแสดงท่าทีกังขาต่อตัวเลขผู้เสียชีวิตในกาซา กระทรวงสาธารณสุขกาซาได้เผยแพร่ข้อมูลผู้เสียชีวิตทั้งหมดอย่างละเอียดเป็นครั้งแรก ผ่านเอกสาร 200 กว่าหน้า แสดงชื่อ อายุ และเลขประจำตัวประชาชนของผู้เสียชีวิตทั้งหมด 6,747 ราย และผู้เสียชีวิตที่ยังระบุชื่อไม่ได้อีก 281 ราย
แม้กระทรวงจะไม่ได้ระบุเหตุผลที่ตัดสินใจปล่อยข้อมูลดังกล่าวมาโครมใหญ่ แต่ก็พอจะอนุมานได้ว่าเป็นการ “สวนกลับ” คำปรามาสของประธานาธิบดีสหรัฐนั่นเอง
ข้อด้อยทางสถิติ
ปัญหาหนึ่งของการรวบรวมข้อมูลผู้เสียชีวิตในกาซา คือความสับสนด้านข้อมูลและการติดต่อสื่อสารที่จำกัดท่ามกลางสถานการณ์สู้รบตามที่กล่าวมาแล้ว ซึ่งไม่ต่างจากศึกสงครามครั้งอื่นๆ มากเท่าไหร่
เหตุการณ์ระเบิดปริศนาที่ “โรงพยาบาลอัลอาห์ลี” เมื่อวันที่ 17 ตุลาคม เป็นตัวอย่างหนึ่งของปัญหานี้ โดยกระทรวงสาธารณสุขกาซาเผยแพร่ข่าวเกือบจะทันทีว่ามีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 500 ราย ทั้งที่รายละเอียดต่างๆของเหตุระเบิดยังไม่นิ่งคงที่ ต่อมา กระทรวงได้ปรับลดยอดเสียชีวิตลงมาเป็น 471 ราย แต่ก็ไม่มีใครทราบแน่ชัดว่ามีผู้เสียชีวิตในเหตุดังกล่าวมีกี่รายกันแน่ (ด้านหน่วยข่าวกรองสหรัฐประเมินเบื้องต้นว่า ยอดเสียชีวิตน่าจะอยู่ที่ประมาณ 200 ราย)
(อ่านเพิ่มเติม: เบื้องหลังการแกะรอยหาต้นตอ ระเบิดสังหารหมู่ ‘โรงพยาบาลกาซ่า’ COFACT REPORT 20/66)
อีกปัญหาหนึ่งที่ข้อมูลของกระทรวงสาธารณสุขกาซามักถูกวิจารณ์เป็นประจำ คือการที่ทางการกาซามิได้ระบุว่าเหยื่อแต่ละรายเสียชีวิตอย่างไร เช่น เสียชีวิตจากการทิ้งระเบิดของกองทัพอิสราเอล หรือถูกกระสุนปืนใหญ่ หรือถูกยิง หรือโดนจรวดที่ยิงผิดพลาดของฮามาสตกใส่ ฯลฯ แต่ระบุเพียงกว้างๆทั้งหมดว่าเป็นการเสียชีวิต “จากการรุกรานของอิสราเอล”
นอกจากนี้ ทางการกาซายังไม่ได้แบ่งแยกระหว่าง “พลเรือน” กับ “กลุ่มติดอาวุธ” ดังนั้น เป็นไปได้สูงว่าตัวเลขผู้เสียชีวิตที่รายงานในปัจจุบันมีทั้งนักรบของฮามาส กองกำลังติดอาวุธอื่นๆ และประชาชนที่ไม่เกี่ยวข้องกับฝ่ายใด รวมๆอยู่ปนกันไป
ความน่าเชื่อถือและแม่นยำของข้อมูล
อย่างไรก็ตาม ผู้เชี่ยวชาญและองค์กรที่เคลื่อนไหวด้านสิทธิมนุษยชนหรือสังเกตการณ์การสู้รบในฉนวนกาซาจำนวนมาก ประเมินตรงกันว่า ข้อมูลผู้เสียชีวิตที่ทางการกาซารายงานมีความน่าเชื่อถือค่อนข้างสูงทีเดียว
เช่น ผู้แทนองค์การอนามัยโลก (WHO) ที่ให้สัมภาษณ์ Reuters ว่าถึงแม้ข้อมูลที่ปรากฎออกมา จะไม่ได้แม่นยำสมบูรณ์แบบ แต่ก็สะท้อนภาพรวมยอดผู้เสียชีวิตได้พอสมควร
ขณะที่ผู้แทน Human Rights Watch ประจำปาเลสไตน์ ก็ระบุว่าถึงแม้ข้อมูลของทางการกาซาจะมีความบกพร่องทางสถิติอยู่บ้าง (เช่น ไม่แยกแยะระหว่างพลเรือนกับกลุ่มติดอาวุธ) แต่ตัวเลขผู้เสียชีวิตที่รายงานก็สอดคล้องกับการประเมินด้วยวิธีอื่นๆ เช่น ภาพถ่ายความเสียหายทางดาวเทียม คำบอกเล่าของพยานผู้เห็นเหตุการณ์ ฯลฯ
ทั้งนี้ น่าสังเกตด้วยว่าในเหตุการณ์สู้รบครั้งก่อนๆระหว่างกองทัพอิสราเอลกับกลุ่มฮามาสในฉนวนกาซา ยอดผู้เสียชีวิตที่ทางการกาซาเผยแพร่ต่อสื่อมวลชน มักจะค่อนข้างตรงกับสถิติที่หน่วยงานอื่นๆอย่างสหประชาชาติ (ยูเอ็น) เข้าไปเก็บข้อมูลหลังการสู้รบสิ้นสุดลง ยกตัวอย่างเช่น
สงครามกาซาปี 2008 ทางการกาซาระบุว่าผู้เสียชีวิต 1,440 ราย ยูเอ็นนับได้ 1,385 ราย
สงครามกาซาปี 2014 ทางการกาซาระบุว่าผู้เสียชีวิต 2,310 ราย ยูเอ็นนับได้ 2,251 ราย
สงครามกาซาปี 2021 ทางการกาซาระบุว่าผู้เสียชีวิต 260 ราย ยูเอ็นนับได้ 256 ราย
ที่สำคัญ แม้แต่รัฐบาลอิสราเอลและกลุ่มสิทธิมนุษยชนในอิสราเอล ก็เคยประเมินตัวเลขชาวปาเลสไตน์ที่เสียชีวิตจากการสู้รบในฉนวนกาซาได้ใกล้เคียงกับตัวเลขของทางการกาซาเองด้วย เช่นในสงครามกาซาปี 2014 กระทรวงต่างประเทศของอิสราเอลนับยอดผู้เสียชีวิตได้ 2,125 ซึ่งเกือบจะเท่ากับสถิติที่รวบรวมโดยกระทรวงสาธารณสุขกาซา เป็นต้น
สอดคล้องกับตัวเลขของสถาบันวิจัย Jerusalem Center for Public Affairs ในอิสราเอล ที่นับยอดได้ 2,100 ราย และกลุ่มเฝ้าระวังสิทธิ์ในอิสราเอล B’tselem สรุปยอดได้ 2,202 ราย
รัฐบาลสหรัฐเองก็ใช้ข้อมูลนี้
ด้วยประวัติความน่าเชื่อถือดังกล่าว ทำให้สถิติผู้เสียชีวิตของกระทรวงสาธารณสุขกาซาเป็นที่ยอมรับในวงกว้าง… และแม้แต่รัฐบาลสหรัฐอเมริกาเองก็นำเอาข้อมูลของทางการกาซาไปประกอบในรายงานเป็นประจำด้วย (!)
หลังจากที่ประธานาธิบดีไบเดนเปิดประเด็นต่อความน่าเชื่อถือของยอดผู้เสียชีวิตที่ทางการกาซารายงาน สำนักข่าว Huffington Post นับได้ว่า ตั้งแต่การสู้รบระหว่างอิสราเอลกับฮามาสเปิดฉากขึ้นในวันที่ 7 ตุลาคม กระทรวงการต่างประเทศและสถานทูตสหรัฐอ้างอิงข้อมูลผู้เสียชีวิตที่เผยแพร่จากกระทรวงสาธารณสุขกาซาถึงอย่างน้อย 12 ครั้งด้วยกัน
โดยครั้งล่าสุดที่อ้างอิงข้อมูลดังกล่าว อยู่ในรายงานสรุปสถานการณ์ของกระทรวงต่างประเทศสหรัฐในวันที่ 25 ตุลาคม ก่อนที่ไบเดนจะวิจารณ์กระทรวงสาธารณสุขกาซาเพียงไม่กี่ชั่วโมง
ดังนั้น จึงน่าไม่แปลกใจที่หลายคนตั้งคำถามว่า ในเมื่อหน่วยงานราชการของสหรัฐใช้ข้อมูลจากทางการกาซามาตลอดโดยไม่มีประเด็นติดใจอะไร แล้วทำไมรัฐบาลสหรัฐเพิ่งจะมาพยายาม “ด้อยค่า” ตัวเลขผู้เสียชีวิตชาวปาเลสไตน์ตอนนี้?
…หรือเป็นเพียงการพยายามกลบเกลื่อนความสนใจของประชาชนและสื่อมวลชนทั่วโลกต่อวิกฤติมนุษยธรรมในฉนวนกาซา ท่ามกลางปฏิบัติการทางทหารของชาติพันธมิตรอย่างอิสราเอลเท่านั้น?
ข้อมูลสำหรับอ่านเพิ่มเติม:
What is Gaza’s Ministry of Health and how does it calculate the war’s death toll? | AP
Despite Biden’s doubts, humanitarian agencies consider Gaza toll reliable | Reuters
What experts say about Palestinian death toll figures | TIME