‘อีโบลา’โรคนี้น่ากังวลเพียงใด? หลังไทยเตรียมพร้อมเฝ้าระวัง COFACT Special Report #37

บทความ
เนื้อหาเป็นจริง

 บทความโดย : Zhang Taehun

หมายเหตุ : บทความนี้เขียนเมื่อวันที่ 2 พ.ย. 2565 ดังนั้นข้อเท็จจริงอาจเปลี่ยนแปลงได้หากมีข้อมูลใหม่ๆ ที่ค้นพบเพิ่มเติมในภายหลัง จึงขอให้ผู้อ่านติดตามข้อมูลข่าวสารจากแหล่งที่น่าเชื่อถืออย่างต่อเนื่อง

เป็นอีกโรคที่ต้องจับตามองสำหรับ “อีโบลา (Ebola)” ที่เกิดการกระบาดระลอกล่าสุดในประเทศยูกันดา ในภูมิภาคแอฟริกาตะวันออก ตั้งแต่เมื่อเดือน ก.ย. 2565 ที่ผ่านมาและยังไม่สามารถควบคุมสถานการณ์ได้ โดยสำหรับประเทศไทย แม้ยังไม่มีรายงานพบผู้ติดเชื้อ แต่ด้วยความที่ปัจจุบันสถานการณ์โรคระบาดโควิด-19 คลี่คลายลงจนสามารถกลับมาเปิดประเทศต้อนรับชาวต่างชาติอย่างเต็มรูปแบบได้อีกครั้ง หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจึงต้องติดตามสถานการณ์และเฝ้าระวังการเดินทางเข้าประเทศอย่างใกล้ชิด

โดยเมื่อช่วงเย็นของวันที่ 24 ต.ค. 2565 Hfocus สำนักข่าวออนไลน์ที่เน้นนำเสนอเนื้อหาด้านสุขภาพ รายงานว่า กรมควบคุมโรค(คร.) เข้มมาตรการด่านควบคุมโรคติดต่อระหว่างประเทศที่ท่าอากาศยานนานาชาติสุวรรณภูมิ เพื่อคัดกรองผู้ที่เดินทางมาจากประเทศเสี่ยง หลังองค์การอนามัยโลก (WHO) ประกาศให้โรคอีโบลา เป็นสถานการณ์ฉุกเฉินระหว่างประเทศ อย่างไรก็ตาม ในเวลา 23.56 น. ของวันเดียวกัน มีรายงานเพิ่มเติมว่า กรมควบคุมโรค ได้ขอแก้ไขเพื่อความถูกต้องของข้อมูล เนื่องจากองค์การอนามัยโลก ยังไม่ได้ประกาศให้อีโบลา เป็นสถานการณ์ฉุกเฉินระหว่างประเทศ

ในรายงานข่าวดังกล่าว ยังอ้างถึง นพ.โสภณ เอี่ยมศิริถาวร รองอธิบดีกรมควบคุมโรค ซึ่งระบุว่า องค์การอนามัยโลก ยังไม่แนะนำให้จำกัดการเดินทางหรือการค้าระหว่างประเทศสำหรับผู้ที่จะเดินทางไปยังประเทศที่มีการระบาดของโรค ซึ่งได้ประเมินว่านักเดินทางระหว่างประเทศยังมีความเสี่ยงในระดับที่ต่ำมาก เนื่องจากผู้ที่ติดเชื้อส่วนใหญ่มีการติดเชื้อโดยตรงจากการสัมผัสกับของเหลวในร่างกาย หรือสารคัดหลั่งของผู้ป่วย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในโรงพยาบาล จากการใช้อุปกรณ์ทางการแพทย์ (เข็มและหลอดฉีดยา) ที่ปนเปื้อนเชื้อ รวมถึงไม่มีการป้องกันเมื่อมีการสัมผัสกับสารคัดหลั่งที่ติดเชื้อ พร้อมกับให้คำแนะนำในการป้องกันการติดเชื้อ ดังนี้

1.หลีกเลี่ยงการสัมผัสสัตว์ป่า ทั้งที่ป่วยหรือไม่ป่วย 

2.หลีกเลี่ยงการรับประทานสัตว์ป่าที่ป่วยตายโดยไม่ทราบสาเหตุ โดยเฉพาะสัตว์จำพวกลิง หรือค้างคาว หรืออาหารเมนูพิสดารที่ใช้สัตว์ป่าหรือสัตว์แปลกๆ มาประกอบอาหาร

3.หลีกเลี่ยงการสัมผัสกับสารคัดหลั่ง เช่น เลือดจากผู้ป่วย สิ่งของเครื่องใช้ของผู้ป่วยที่อาจปนเปื้อนกับสารคัดหลั่งของผู้ป่วย หรือศพ 

4.หลีกเลี่ยงการสัมผัสโดยตรงกับผู้ป่วย หากมีความจำเป็นให้สวมอุปกรณ์ป้องกันร่างกายและล้างมือบ่อยๆ

5.หากมีอาการเริ่มป่วย เช่น มีไข้สูง อ่อนเพลีย ปวดศีรษะ ปวดกล้ามเนื้อ เจ็บคอ อาเจียน ท้องเสีย ภายหลังกลับจากประเทศที่มีการระบาด ให้รีบพบแพทย์ทันที หากประชาชนมีข้อสงสัยสามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร.1422

รวมถึง นพ.ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ รักษาราชการอธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า ข้อมูลของกระทรวงสาธารณสุขประเทศยูกันดาและองค์การอนามัยโลก ณ วันที่ 24 ตุลาคม 2565 มีรายงานพบผู้ป่วยติดเชื้อในประเทศยูกันดาหลายเมือง จำนวน 90 ราย และมีผู้ป่วยเสียชีวิต 44 ราย อัตราป่วยตาย ร้อยละ 49 ในจำนวนนี้มีเจ้าหน้าที่ทางการแพทย์และสาธารณสุขติดเชื้อ 11 ราย และเสียชีวิต 5 ราย ซึ่งการระบาดครั้งนี้เป็นการระบาดของไวรัสอีโบลาสายพันธุ์ซูดาน (Sudan-อัตราป่วยตายเฉลี่ยร้อยละ 53) ซึ่งมีความรุนแรงเป็นอันดับสอง รองมาจากสายพันธุ์ซาอีร์ (Zaire-อัตราป่วยตายเฉลี่ยร้อยละ 68) 

สำหรับการระบาดในครั้งนี้ ถึงแม้จำนวนผู้ป่วยยังไม่มากแต่เป็นที่จับตาอย่างใกล้ชิดโดยมีการยกระดับมาตรการป้องกันควบคุมการระบาดในประเทศยูกันดาอย่างเข้มข้น จากการตรวจสอบข่าวพบว่าองค์การอนามัยโลก ยังไม่ได้ประกาศ ให้การระบาดครั้งนี้ เป็นภาวะฉุกเฉินทางสาธารณสุขระหว่างประเทศ (Public Health Emergency of International Concern: PHEIC) แต่ปกติจะมีการประเมินสถานการณ์ระบาดเป็นระยะ  

อย่างไรก็ตาม ตั้งแต่เดือนกันยายน 2565 กรมควบคุมโรคได้ยกระดับมาตรการป้องกันที่ด่านควบคุมโรคติดต่อระหว่างประเทศ เนื่องจากโรคอีโบลาเป็นโรคติดต่ออันตราย ตามพระราชบัญญัติโรคติดต่อ พ.ศ. 2558 โดยดำเนินการตรวจคัดกรองผู้เดินทางมาจากประเทศยูกันดา ทุกรายจะต้องได้รับการคัดกรองสุขภาพ และลงทะเบียน ณ ด่านควบคุมโรคติดต่อระหว่างประเทศก่อนเข้าประเทศไทย ทั้งนี้หากประชาชนมีข้อสงสัยสามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร.1422

ต่อมาในช่วงเช้าของวันที่ 25 ต.ค. 2565 ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า อนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ได้รับรายงานจากกรมควบคุมโรค ถึงการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสอีโบลา (Ebola virus) ในประเทศโซนทวีปแอฟริกาซึ่งเริ่มตั้งแต่เดือน ก.ย. 2565 ที่ผ่านมา ล่าสุดพบผู้ติดเชื้อในประเทศยูกันดาหลายเมือง จำนวน 90 ราย และมีผู้ป่วยเสียชีวิต 44 ราย

ซึ่งแม้จำนวนผู้ป่วยยังไม่มาก และองค์การอนามัยโลก (WHO) ยังไม่ได้ประกาศให้การระบาดครั้งนี้เป็นภาวะฉุกเฉินทางสาธารณสุขระหว่างประเทศ แต่กระทรวงสาธารณสุขไทยไม่ประมาท ได้ติดตามสถานการณ์โรคอย่างใกล้ชิด และตั้งแต่เดือน ก.ย. เป็นต้นมาได้ยกระดับมาตรการป้องกันที่ด่านควบคุมโรคติดต่อระหว่างประเทศ เนื่องจากโรคอีโบลาเป็นโรคติดต่ออันตราย ตามพระราชบัญญัติโรคติดต่อ พ.ศ. 2558 โดยตรวจคัดกรองผู้เดินทางมาจากประเทศยูกันดาทุกคน โดยต้องลงทะเบียน ณ ด่านควบคุมโรคติดต่อระหว่างประเทศก่อนเข้าประเทศไทย

ด้าน นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ เปิดเผยเมื่อวันที่ 1 พ.ย. 2565 ว่า กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ได้มอบหมายให้สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์สาธารณสุข ซึ่งเป็นห้องปฏิบัติการ (แล็บ) อ้างอิงของประเทศด้านวิทยาศาสตร์การแพทย์และสาธารณสุข มีหน้าที่ยืนยันสาเหตุและสถานการณ์ของโรคที่เป็นปัญหาด้านสาธารณสุข และเตรียมความพร้อมการตรวจวิเคราะห์เชื้ออีโบลาทางห้องปฏิบัติการ ด้วยเทคนิคทางอณูชีววิทยา ที่มีความไวและความจำเพาะสูง สามารถทราบผลภายใน 8 ชั่วโมง 

มีห้องปฏิบัติการชีวนิรภัย ระดับ 3 สำหรับการปฏิบัติงานกับเชื้อ ที่ก่อให้เกิดโรคที่มีอันตรายถึงแก่ชีวิต ที่ออกแบบพิเศษ ทำให้ความดันภายในห้องปฏิบัติการน้อยกว่าความดันภายนอก กรองอากาศเข้า-ออก เน้นการป้องกันการปนเปื้อนของเชื้อไม่ให้หลุดออกมาสู่สิ่งแวดล้อมภายนอก บุคลากรมีความพร้อมรับสถานการณ์การระบาดตลอด 24 ชั่วโมง ผู้ปฏิบัติงานในห้องปฏิบัติการชีวนิรภัย ระดับ 3 ผ่านการฝึกอบรม ความปลอดภัยทางห้องปฏิบัติการ และมีความชำนาญในการตรวจวิเคราะห์เป็นอย่างดี 

รวมถึงบุคลากรที่เกี่ยวข้อง ในการขนส่งตัวอย่างตรวจได้ผ่านการฝึกอบรมเรื่องความปลอดภัย มีการสวมอุปกรณ์ป้องกันการติดเชื้อ และสามารถทำลายเชื้อหากเกิดการปนเปื้อนระหว่างการขนส่ง นอกจากนั้นยังได้จัดทำคู่มือการตรวจวิเคราะห์และจัดการสิ่งส่งตรวจจากผู้ป่วยสงสัยโรคติดเชื้ออีโบลา โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้ห้องปฏิบัติการของโรงพยาบาล และห้องปฏิบัติการอ้างอิงใช้เป็นคู่มือในการเตรียมความพร้อมทางห้องปฏิบัติการ เนื้อหามีทั้งวิธีการตรวจวิเคราะห์และรายการทดสอบของงานประจำห้องปฏิบัติการโรงพยาบาล วิธีการเก็บ วิธีการนำส่งตัวอย่าง และการวิเคราะห์เชื้ออีโบลาสำหรับห้องปฏิบัติการอ้างอิง

ก่อนหน้าการยกระดับมาตรการของไทย สหรัฐอเมริกา ได้เตรียมพร้อมรับมือไปแล้วตั้งแต่เมื่อช่วงต้นเดือน ต.ค. 2565 โดยสถานีโทรทัศน์ CNBC วันที่ 12 ต.ค. 2565 ระบุว่า ทางการสหรัฐฯ กำหนดให้เที่ยวบินที่เดินทางมาจากยูกันดา ต้องลงจอดในสนามบิน 5 แห่ง ประกอบด้วย New York’s JFK , Newark , Atlanta , Chicago O’Hare และ Washington Dulles ซึ่งถูกจัดตั้งเป็นจุดคัดกรอง อีกทั้งยังมีการติดตามตรวจสอบเป็นเวลา 21 วัน นับตั้งแต่บุคคลนั้นเดินทางถึงสหรัฐฯ โดย)ศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคแห่งชาติสหรัฐฯ (CDC) ได้รับข้อมูลรายชื่อผู้เดินทางมาจากยูกันดาจากผู้ให้บริการสายการบิน ข้อมูลดังกล่าวจะถูกเชื่อมโยงกับหน่วยงานสาธารณสุขทั้งส่วนกลางและส่วนท้องถิ่น เพื่อให้สามารถติดตามตรวจสอบได้อย่างต่อเนื่อง นอกจากนั้น CDC ยังออกประกาศเตือนหน่วยงานสาธารณสุขทั่วประเทศเพื่อสังเกตอาการที่น่าสงสัยว่าอาจเป็นผู้ติดเชื้ออีโบลา และหากพบควรสอบถามประวัติการเดินทางโดยละเอียด

– รู้จัก “โรคอีโบลา”

“Ebola virus disease” บทความที่เผยแพร่บนเว็บไซต์ขององค์การอนามัยโลก (เลือกหมวด Health Topics ตามด้วย Fact sheets อยู่ในหมวดอักษร E วันที่ปรับปรุงล่าสุดคือ 25 ก.พ. 2564) อีโบลาเป็นไวรัสที่ถูกพบครั้งแรกในปี 2519 โดยมีการระบาดใน 2 พื้นที่ คือเมือง Nzara (ปัจจุบันอยู่ในประเทศซูดานใต้) และที่เมือง Yambuku (ปัจจุบันอยู่ในประเทศสาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโก) ในหมู่บ้านที่อยู่ใกล้กับแม่น้ำอีโบลา จึงมีการนำชื่อของแม่น้ำสายนี้มาตั้งเป็นชื่อไวรัส โดยไวรัสอีโบลามี 6 สายพันธุ์ที่ค้นพบ คือ Zaire, Bundibugyo, Sudan, Taï Forest, Reston และ Bombali 

– ช่องทางการติดต่อ (หรือแพร่เชื้อ)

เชื่อกันว่าไวรัสอีโบลามีอยู่ในค้างคาวผลไม้ในตระกูล Pteropodidae ซึ่งเป็นพาหะของเชื้อตามธรรมชาติ โดยการติดเชื้อระหว่างสัตว์สู่คนเกิดขึ้นเมื่อมนุษย์สัมผัสกับเลือด สารคัดคลั่ง อวัยวะภายใน หรือของเหลวอื่นๆ ในร่างกายของสัตว์ที่ติดเชื้อ เช่น ค้างคาวผลไม้ ลิง (ซึ่งรวมถึงชิมแปนซีและกอริลลา) ละมั่งป่า หรือเม่นที่ป่วยหรือตาย หรือในพื้นที่ป่าฝน (Rainforest) จากนั้นจึงนำไปสู่การติดต่อจากคนสู่คน โดยทางการสัมผัสโดยตรง (ผ่านผิวหนังที่มีรอยแตกหรือเป็นเยื่อเมือก) กับเลือดหรือของเหลวของผู้ติดเชื้อหรือผู้เสียชีวิตจากเชื้อ หรือสัมผัสกับวัตถุที่ปนเปื้อนของเหลวของผู้ติดเชื้อหรือผู้เสียชีวิตจากเชื้อ (เช่น เลือด , อุจจาระ , อาเจียน)

– พฤติกรรมเสี่ยงต่อการติดเชื้อ (หลีกเลี่ยงหากสามารถเลี่ยงได้ หรือหากหลีกเลี่ยงไม่ได้ต้องระมัดระวังเป็นพิเศษ)

1.การปฏิบัติหน้าที่ของบุคลากรสาธารณสุข มีรายงานพบบุคลากรสาธารณสุขติดเชื้ออีโบลาเนื่องจากต้องดูแลผู้ป่วยติดเชื้อดังกล่าว ซึ่งเกิดจากการสัมผัสใกล้ชิดกับผู้ติดเชื้อโดยไม่ปฏิบัติตามแนวทางป้องกันการติดเชื้ออย่างเคร่งครัด 2.การประกอบพิธีศพ ในขั้นตอนการฝังศพอาจติดเชื้อได้หากสัมผัสโดยตรงกับศพของผู้เสียชีวิตจากไวรัสอีโบลา 3.การสัมผัสกับเลือด การแพร่เชื้อยังเกิดขึ้นได้เรื่อยๆ ตราบเท่าที่ในผู้ติดเชื้อยังมีไวรัสอีโบลาอยู่ 

4.การติดเชื้อจากแม่สู่ลูกในกรณีหญิงตั้งครรภ์หรือให้นมบุตร สตรีที่ติดเชื้ออีโบลาระหว่างตั้งครรภ์ แม้ภายหลังจะได้รับการรักษาจนหายแล้วยังมีความเสี่ยงในการแพร่เชื้อสู่ทารกและคนอื่นๆ เนื่องจากอาจยังมีไวรัสหลงเหลืออยู่ในน้ำนมแม่ ของเหลวหรือเนื้อเยื่อที่เกี่ยวข้องกับการตั้งครรภ์ อย่างไรก็ตาม สตรีที่หายป่วยจากอีโบลาแล้วและมาตั้งครรภ์ในภายหลังจะไม่มีความเสี่ยงในการเป็นพาหะนำโรค ทั้งนี้ การให้นมบุตรในกรณีแม่ที่เพิ่งหายป่วยจากอีโบลา ต้องผ่านการตรวจสอบก่อนว่าปลอดเชื้อหรือไม่

– อาการของผู้ติดเชื้ออีโบลา

ไวรัสอีโบลามีระยะฟักตัวตั้งแต่ติดเชื้อจนถึงแสดงอาการได้ตั้งแต่ 2-21 วัน ผู้ติดเชื้อจะยังไม่แพร่เชื้อจนกว่าจะเริ่มแสดงอาการ โดยผู้ติดเชื้อจะมีอาการเริ่มต้น เช่น มีไข้ อ่อนเพลีย ปวดกล้ามเนื้อ ปวดศีรษะ เจ็บคอ ตามด้วยอาเจียน ท้องเสีย มีผื่นขึ้นตามร่างกาย การทำงานของตับและไตบกพร่อง ผู้ป่วยบางรายยังพบเลือดออกทั้งภายในและนอกร่างกาย (เช่น เลือดออกทางเหงือกหรือมีเลือดออกปนกับอุจจาระ) เมื่อตรวจในปฏิบัติการ จะพบจำนวนเม็ดเลือดขาวและเกล็ดเลือดต่ำ และมีระดับเอ็นไซม์ตับสูง

– การรักษา ยาและวัคซีน

ในเบื้องต้นเป็นการรักษาแบบประคับประคองตามอาการ อย่างไรก็ตาม ในปี 2561-2563 เกิดการระบาดของไวรัสอีโบลาที่ประเทศสาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโก มีการทดลองยาหลายชนิดแบบสุ่มเป็นครั้งแรกเพื่อประเมินประสิทธิภาพและความปลอดภัยในการรักษาผู้ป่วย ตามกรอบจริยธรรมที่ถูกพัฒนาขึ้นภายใต้การหารือร่วมกันระหว่างทางการสาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโกกับผู้เชี่ยวชาญ 

จนกระทั่ง ในปี 2563 องค์การอาหารและยาแห่งชาติสหรัฐฯ (FDA) อนุมัติให้ใช้ยาโมโนโคลนอล แอนติบอดี (monoclonal antibody) 2 ชนิด คือ อินมาเซ็บ (Inmazeb) และ อีบังกา (Ebanga) สำหรับการรักษาโรคอีโบลา ซึ่งเกิดจากการติดเชื้อไวรัสอีโบลาสายพันธุ์ซาอีร์ (Zaire) โดยสามารถใช้ได้ทั้งในเด็กและผู้ใหญ่ ส่วนวัคซีนนั้น ในปี 2563 เช่นเดียวกัน FDA ได้รับรองวัคซีน เออร์เวโบ (Ervebo) สำหรับใช้ในประชากรอายุ 18 ปีขึ้นไป (ยกเว้นสตรีมีครรภ์และสตรีที่ต้องให้นมบุตร) เนื่องจากได้รับการพิสูจน์แล้วว่าสามารถช่วยปกป้องชีวิตผู้คนจากไวรัสอีโบลาสายพันธุ์ซาอีร์ได้ 

โดยอีเวอร์โบเป็นวัคซีนที่แจกจ่ายให้กับประชาชน 3.5 แสนคนในประเทศกินีและในสถานการณ์ไวรัสอีโบลาระบาดในสาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโก ช่วงปี 2561-2563 และเริ่มจำหน่ายทั่วโลกอย่างเป็นทางการตั้งแต่เดือน ม.ค. 2564 ขณะที่ยังมีวัคซีน 2 องค์ประกอบ (2-component vaccine) ซึ่งเรียกว่า ซับดีโน-และ-เอ็มวาบี (Zabdeno-and-Mvabea) ได้รับการรับรองจาก องค์การยาแห่งสหภาพยุโรป (EMA) ในปี 2563 ให้ใช้กับประชากรได้ตั้งแต่อายุ 1 ปีขึ้นไป โดยฉีดซับดีโนเป็นเข็มแรกก่อน แล้วเว้นระยะ 8 สัปดาห์จึงตามด้วยเอ็มวาบีเป็นเข็มที่ 2 แต่ข้อเสียของวัคซีนสูตรนี้คือไม่เหมาะสมกับการตอบโต้สถานการณ์โรคระบาดที่เกิดขึ้นในทันที

– การป้องกันการติดเชื้อและการควบคุมการระบาดของไวรัสอีโบลา

1.ระมัดระวังการสัมผัสกับสัตว์ โดยเฉพาะสัตว์ป่า เช่น ค้างคาวผลไม้ ลิง (ซึ่งรวมถึงชิมแปนซีและกอริลลา) ละมั่งป่า เม่น ต้องไม่บริโภคเนื้อดิบของสัตว์เกลุ่มนี้ ขณะที่การบริโภคเนื้อสัตว์และเลือดสัตว์ต้องปรุงให้สุกทุกครั้งก่อนบริโภคเสมอ การสัมผัสกับสัตว์ควรใช้ถุงมือหรือชุดป้องกันอื่นๆ ที่เหมาะสม 

2.ระมัดระวังการสัมผัสใกล้ชิดกับผู้ติดเชื้อ โดยเฉพาะการสัมผัสกับสารคัดหลั่ง การดูแลผู้ติดเชื้อควรใช้ถุงมือหรือชุดป้องกันอื่นๆ ที่เหมาะสม และต้องล้างมือให้สะอาดทุกครั้งหลังจากดูแลหรือเยี่ยมผู้ติดเชื้อแล้ว สำหรับบุคลากรสาธารณสุขที่ต้องดูแลผู้ติดเชื้อหรือกลุ่มเสี่ยงสงสัยว่าอาจติดเชื้อ หากต้องเข้าใกล้ผู้ติดเชื้อต้องสวมอุปกรณ์ป้องกัน เช่น เฟซชิลด์ หน้ากากอนามัยสำหรับใช้ทางการแพทย์ แว่นตา ชุดคลุมและถุงมือที่สะอาด ป้องกันการสัมผัสกับกับเลือดหรือของเหลวจากร่างกายผู้ติดเชื้อ และการพื้นผิวหรือวัตถุที่ปนเปื้อน อาทิ เสื้อผ้าหรือเครื่องนอน

ควรมีการให้ความรู้ในแนวปฏิบัติกับบุคลากรที่ต้องดูแลผู้ติดเชื้อ บุคลากรที่ต้องทำงานกับของเหลวที่เกี่ยวข้องกับการตั้งครรภ์ รวมถึงการตรวจหาเชื้อจากตัวอย่างทั้งจากคนและสัตว์ ควรทำโดยบุคลากรที่ผ่านการฝึกอบรมและดำเนินการในห้องปฏิบัติการที่มีอุปกรณ์ครบถ้วน อนึ่ง มีรายงานการพบเชื้อตกค้างในผู้ติดเชื้อที่หายจากอาการป่วยแล้ว ซึ่งเชื้อสามารถอยู่ในของเหลวในร่างกาย เช่น น้ำอสุจิ น้ำคร่ำและเยื่อบุต่าง ๆ รวมถึงน้ำนมแม่ มีการพบเชื้อหลบซ่อนอยู่ในบางจุดของร่างกาย อาทิ บริเวณลูกอัณฑะ ด้านในของดวงตา ระบบประสาทส่วนกลาง 

สำหรับสตรีมีครรภ์แล้วติดเชื้อ ไวรัสสามารถอยู่ในรก น่ำคร่ำ ในตัวทารก การกลับมามีอาการป่วยซ้ำหลังได้รับการรักษาจากหายแล้วเนื่องจากไวรัสแม้จะเกิดขึ้นได้ยากแต่ก็พบการรายงาน การค้นพบนี้ยังไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัดและต้องศึกษากันต่อไป และในการตรวจหาเชื้ออีโบลาด้วยวิธี RT-PCR จากผู้หายป่วย ในจำนวนนี้มีไม่กี่เปอร์เซ็นต์ที่ยังตรวจพบเชื้อแม้เวลาจะผ่านไปนานแล้วถึง 9 เดือน 

3.ลดความเสี่ยงในการระบาด มาตรการความปอลดภัยในการประกอบพิธีศพ การระบุตัวบุคคลที่เป็นกลุ่มเสี่ยงเนื่องจากสัมผัสใกล้ชิดกับผู้ติดเชื้อรายก่อนหน้าเพื่อติดตามตรวจสอบอย่างต่อเนื่องเป็นเวลา 21 วัน ควรให้ความสำคัญกับการแยกผู้ติดเชื้ออกจากคนปกติทั่วไปเพื่อป้องกันไม่ให้โรคระบาดกระจายตัวออกไป และการส่งเสริมสุขอนามัยที่ดีตลอดจนสภาพแวดล้อมที่สะอาด

4.ลดความเสี่ยงการติดเชื้อจากการมีเพศสัมพันธ์ จากการวิเคราะห์เพิ่มเติมของการวิจัยและการพิจารณาอย่างต่อเนื่องโดยคณะที่ปรึกษาขององค์การอนามัยโลก ในกรณีของเพศชาย หากติดเชื้ออีโบลาและได้รับการรักษาจนหายป่วยแล้ว แนะนำให้ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมไปสู่การมีเพศสัมพันธ์และการดูแลสุขอนามัยในแนวทางที่่ปลอดภัยยิ่งขึ้นเป็นเวลา 12 เดือน นับตั้งแต่เริ่มมีอาการจนถึงการตรวจคัดกรองหาเชื้ออีโบลาในน้ำอสุจิได้ผลเป็นลบ (ไม่พบเชื้อ) จำนวนรวม 2 ครั้ง ควรหลีกเลี่ยงการสัมผัสของเหลวจากร่างกาย และแนะนำให้ล้างด้วยสบู่และน้ำทันทีหลังสัมผัสกับน้ำอสุจิ ซึ่งรวมถึงการสำเร็จความใคร่ด้วยตนเองด้วย 

การมีเพศสัมพันธ์ทุกครั้งต้องใช้ถุงยางอนามัยอย่างเคร่งครัด (หรืองดเว้นการมีเพศสัมพันธ์หากสามารถทำได้) จนกว่าผู้ติดเชื้อซึ่งเป็นเพศชายจะมีผลตรวจหาเชื้ออีโบลาในน้ำอสุจิเป็นลบจำนวน 2 ครั้ง การตรวจคัดกรองหาเชื้ออีโบลาในน้ำอสุจิควรดำเนินการเมื่อเวลาผ่านไป 3 เดือนนับจากวันที่เริ่มมีอาการป่วย ในกรณีที่พบว่าน้ำอสุจิยังมีผลเป็นบวก (พบเชื้อ) ให้ตรวจอย่างต่อเนื่องทุกเดือน จนกว่าจะมีผลเป็นลบ 2 ครั้ง การตรวจให้ใช้วิธี RT-PCR 

5.ลดความเสี่ยงการแพร่เชื้อจากของเหลวและเนื้อเยื้อที่เกี่ยวข้องกับการตั้งครรภ์ สตรีที่รอดชีวิตจากการติดเชื้ออีโบลา ควรได้รับการสนับสนุนจากชุมชนเพื่อเข้าถึงบริการตรวจและฝากครรภ์ (ANC) บ่อยครั้ง เพื่อจัดการกับภาวะแทรกซ้อนของการตั้งครรภ์และการดูแลสุขภาวะทางเพศและอนามัยเจริญพันธุ์ รวมถึงการส่งตัวเพื่อรักษาต่ออย่างปลอดภัย ควรมีการวางแผนร่วมกันระหว่างสูตินรีแพทย์และผู้เชี่ยวชาญด้านอีโบลา สตรีมีครรภ์ควรได้รับความเคารพต่อการตัดสินใจเรื่องสุขภาวะทางเพศและอนามัยเจริญพันธุ์เสมอ

– การระบาดของไวรัสอีโบลาจากอดีตถึงปัจจุบัน

นับตั้งแต่ไวรัสอีโบลาถูกค้นพบในปี 2519 การระบาดส่วนใหญ่เกิดขึ้นในทวีปแอฟริกา แต่มีบ้างที่พบผู้ติดเชื้อในทวีปอื่นๆ เช่น ในปี 2557 พบผู้ติดเชื้อในทวีปอเมริกา โดยพบใน สหรัฐอเมริกา 4 คน (เสียชีวิต 1 ราย) รวมถึงในทวีปยุโรป เช่น ในปี 2557 พบในอังกฤษ 1 คน สเปน 1 คน และในปี 2558 พบในอิตาลี 1 คน (ทั้ง 3 ประเทศไม่มีผู้ติดเชื้อเสียชีวิต) สายพันธุ์ที่พบการระบาดบ่อยครั้งคือสายพันธุ์ซาอีร์ (Zaire) มีบางปีที่พบการระบาดของสายพันธุ์ซูดาน (Sudan) ส่วนสายพันธุ์อื่นๆ ที่เหลือ พบได้น้อยมาก อย่างไรก็ตาม อัตราการเสียชีวิตของผู้ติดเชื้อค่อนข้างสูง จากสถิติการระบาดตั้งแต่ปี 2519-2563 ที่องค์การอนามัยโลกบันทึกไว้ พบอัตราการเสียชีวิตตั้งแต่ประมาณร้อยละ 25-80

– อะไรคือความกังวลในการระบาดระลอกล่าสุด

ความกังวลได้เกิดขึ้นกับการระบาดระลอกล่าสุดในปี 2565 ซึ่งเริ่มมาตั้งแต่วันที่ 20 ก.ย. 2565 เนื่องจาก “ครั้งนี้เป็นการระบาดของเชื้ออีโบลาสายพันธุ์ซูดาน ซึ่งปัจจุบันยังไม่มีวัคซีนสำหรับใช้กับสายพันธุ์นี้โดยตรง” ทำให้การควบคุมโรคทำได้ยาก โดยเมื่อวันที่ 16 ต.ค. 2565 สำนักข่าว BBC รายงานว่า ประธานาธิบดียูกันดา โยเวรี มูเซเวนี (Yoweri Museveni) ประกาศเมื่อวันที่ 15 ต.ค. 2565 ใช้มาตรการล็อกดาวน์ใน 2 เมือง คือ คาสซานดา (Kassanda) กับ มูเบนเด (Mubende) เป็นเวลา 3 สัปดาห์ หรือ 21 วัน ห้ามบุคคลและยานพาหนะเข้า-ออกพื้นที่ (ยกเว้นรถบรรทุกสินค้า) ปิดสถานบันเทิง ศาสนสถาน และจำกัดเวลาออกนอกเคหสถาน (เคอร์ฟิว)

21 ต.ค. 2565 The Observer นสพ.ท้องถิ่นในยูกันดา พบผู้ติดเชื้อรายแรกในเมือง มิทยานา (Mityana) ทำให้ตอนนี้ ยูกันดามี 6 เมืองแล้วที่พบผู้ติดเชื้อ ก่อนหน้านี้ 5 เมืองคือ คากาดี (Kagadi) , มูเบนเด (Mubende) , ไควา (Kyegegwa) , คาสซานดา (Kassanda) และ บันยันกาบู (Bunyangabu) จากนั้น 23 ต.ค. 2565 สำนักข่าวรอยเตอร์ อ้างการเปิดเผยของ เจน รูธ อาเซ็ง (Jane Ruth Aceng) รัฐมนตรีกระทรวงสาธารณสุขยูกันดา ว่า เมื่อวันที่ 22 ต.ค. 2565 โรงพยาบาลมูลาโก ในกรุงคัมปาลา เมืองหลวงของยูกันดา ซึ่งเป็นสถานที่กักตัวกลุ่มที่ต้องสงสัยว่าอาจติดเชื้อ พบผู้ติดเชื้ออีโบลายืนยันแล้ว 5 ราย ทั้งหมดติดเชื้อจากการสัมผัสใกล้ชิดกับผู้ติดเชื้อรายก่อนหน้าจากเมืองคาสซานดา 

สำนักข่าวบลูมเบิร์ก รายงานเมื่อวันที่ 27 ต.ค. 2565 อ้างการเปิดเผยของ อาเซ็ง ในวันที่ 26 ต.ค. 2565 ว่า รัฐบาลยูกันดาเตรียมทดสอบวัคซีนสำหรับไวรัสอีโบสา จากผู้พัฒนา 3 ราย เป็นวัคซีนสัญชาติอังกฤษ 1 รายจากมหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ด และวัคซีนสัญชาติสหรัฐอเมริกา 2 ราย จากสถาบันวิจัยซาบิน และบริษัทเมิร์ค โดยคาดว่าภายใน 2 สัปดาห์ จะเริ่มฉีดให้กับกลุ่มตัวอย่างประมาณ 3,000 คน 

-/-/-/-/-/-/-/-/-/-/-

อ้างอิง

https://www.hfocus.org/content/2022/10/26248 (กรมควบคุมโรค ปรับข้อมูลใหม่กรณี WHO ให้ “อีโบลา” เป็นสถานการณ์ฉุกเฉินระหว่างประเทศ ล่าสุดยังไม่ประกาศแต่อย่างใด : Hfocus 24 ต.ค. 2565)

https://www.thairath.co.th/news/politic/2535428 (“อนุทิน” ยันไทยไม่ประมาท “โรคอีโบลา” คัดกรองเข้มทุกคนที่มาจากยูกันดา : 25 ต.ค. 2565)

https://www.who.int/news-room/fact-sheets/detail/ebola-virus-disease (Ebola virus disease : องค์การอนามัยโลก 25 ก.พ. 2564)

https://www.bbc.com/news/world-africa-63273603 (Ebola in Uganda: Three-week lockdown announced for two districts : BBC 16 ต.ค. 2565)

https://www.observer.ug/news/headlines/75585-mityana-district-confirms-first-ebola-case (Mityana district confirms first Ebola case : The Observer 21 ต.ค. 2565)

https://www.reuters.com/world/africa/uganda-says-two-more-ebola-cases-confirmed-kampala-hospital-2022-10-23/ (Uganda says two new Ebola cases confirmed in Kampala hospital : รอยเตอร์ 23 ต.ค. 2565)

https://www.bloomberg.com/news/articles/2022-10-26/uganda-to-start-ebola-vaccine-trials-in-two-weeks-as-cases-rise (Uganda to Start Ebola Vaccine Trials in Two Weeks as Cases Rise : บลูมเบิร์ก 27 ต.ค. 2565)

https://www.cnbc.com/2022/10/12/who-calls-for-more-international-aid-to-prevent-ebola-from-spreading-beyond-uganda.html (WHO calls for more international aid to prevent Ebola from spreading beyond Uganda : CNBC 12 ต.ค. 2565)

https://www.matichon.co.th/local/quality-life/news_3649142 (กรมวิทยาศาสตร์ฯ ห่วงอีโบลาเข้าไทย เตรียมพร้อมห้องแล็บตรวจหาเชื้อรู้ผลใน 8 ชม. : มติชน 1 พ.ย. 2565)